บ้านสีขาวหลังนี้ตั้งตระหง่านคู่ถนนเทพกระษัตรีมานานเกือบศตวรรษ มุขโค้งมนช่วยขับอาคารให้ดูสวยงามโดดเด่น และดึงดูดใจ จนผมต้องลอบเหลียวมองทุกครั้งที่สัญจรผ่านเมื่อยามมาเยี่ยมเยือนภูเก็ต 

ด้วยความกรุณาของ คุณนลินี หงษ์หยก ปัจฉิมสวัสดิ์ และ คุณปิยะนุช หงษ์หยก ทายาทตระกูลหงษ์หยกรุ่นที่ 3 วันนี้ผมจึงได้รับโอกาสพาผู้อ่าน The Cloud ทุกท่านไปชมบ้านหลังนี้กันแบบเจาะลึก บ้านที่ไม่เพียงแต่งดงามด้วยคุณค่าทางสถาปัตยกรรม แต่ยังอุดมไปด้วยเรื่องเล่านานัปการ จากลูกหลานบาบ๋าที่จะพร้อมจะเปิดเผยเรื่องราวของบรรพชนด้วยความภาคภูมิใจ

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต
บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ทายาทรุ่นที่ 4 อันประกอบด้วย คุณธนาภูมิ หงษ์หยก, คุณมนต์ทวี หงษ์หยก, คุณเพียงพร สุวรรณประทีป, คุณสุทธาธิณี สุทธิภู, คุณจุฑามาส สุทธิภู และ คุณสุวพัชร หงษ์หยก ได้สละเวลามาร่วมต้อนรับในชุดบาบ๋าหลากรูปแบบ ผมได้โอกาสสัมผัสวัฒนธรรมการแต่งกายงดงามขณะร่วมสนทนาไปพร้อมกัน

มุขโค้งที่โอบอาคารนั้นเปรียบเสมือนอ้อมแขนที่เชิญชวนผมและผู้อ่าน The Cloud ทุกท่านเข้าสู่บ้านอันอบอุ่นของครอบครัวหงษ์หยกด้วยไมตรีจิตที่เปี่ยมล้นในวันนี้   

ลูกหลานบาบ๋า

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

“ครอบครัวหงษ์หยกเป็นลูกหลานบาบ๋าที่สืบตระกูลมาจาก ‘ตันเช็กอุด’ ชาวจีนฮกเกี้ยนผู้เดินทางเข้ามายังภาคใต้ของสยามสมัยต้นรัชกาลที่สี่ ตันเช็กอุดไม่ได้เป็นแรงงานในเหมืองแร่ดังเช่นชาวจีนส่วนใหญ่ แต่ท่านเป็นเหมือนผู้นำทางจิตวิญญาณและได้รับสมญานามว่า พระจีนเสื้อดำ” คุณปิยะนุชเริ่มการสนทนา

อาจารย์จรินทร์ นีรนาทวโรดม ประธานที่ปรึกษาชมรมชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน อำเภอตะกั่วป่า ผู้มาร่วมคุยกับเราในเช้าวันนี้ได้กรุณาเล่าเสริมว่า

“ใน พ.ศ. 2369 สยามได้ลงนามในสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ เนื้อหาหลักของสัญญาคือการเชื่อมพระราชไมตรีและการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม ได้ทรงเล็งเห็นว่าดีบุกจะเป็นทรัพยากรสำคัญที่นำเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก ด้วยขณะนั้นดีบุกเป็นสินค้าที่ทั่วโลกกำลังต้องการ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตเหล็กวิลาส จึงทรงสนับสนุนการทำเหมืองแร่ดีบุกจนเฟื่องฟูขึ้น”

ขณะนั้นชายฉกรรจ์ชาวสยามยังเป็นแรงงานที่ถูกกะเกณฑ์ให้ทำงานรับใช้หลวงเพียงปีละไม่กี่เดือน ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวของเหมืองแร่ดีบุก จึงได้มีการตั้งทนายจากสยามไปเจรจาถึงมณฑลฮกเกี้ยน โดยสยามได้ยื่นข้อเสนอต่อกลุ่มแรงงานชาวจีนไว้ 5 ประการ คือ 

  1. จะมอบเงินก้อนหนึ่งให้ทันทีเพื่อเป็นทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่แม่ ลูก และเมียที่ไม่ได้เดินทางมาด้วย
  2. จะออกค่าโดยสารเพื่อให้เดินทางมากับสำเภาสินค้า
  3. จะเตรียมที่พักอาศัย พร้อมข้าวสามมื้อรอไว้บนแผ่นดินสยาม
  4. จะได้รับค่าแรงเป็นรายวันหรือรายเดือนแล้วแต่กรณี
  5. และแรงงานทั้งหมดต้องทำงานอย่างต่ำให้ครบสามปี จึงจะเปลี่ยนนายจ้างได้

เมื่อข้อเสนอของสยามเป็นที่ต้องตา แรงงานชาวจีนจำนวนมากจึงหลั่งไหลสู่ภาคใต้ โดยมีการประเมินไว้ว่ามีมากกว่า 1,000 นายที่เดินทางมาพร้อมกับสำเภาสินค้าในแต่ละเที่ยว

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

“เมื่อชาวจีนเดินทางเข้ามาเป็นแรงงานในเหมืองมากเช่นนี้ จึงต้องมีผู้นำทางจิตวิญญาณเดินทางเข้ามาด้วย ตันเช็กอุดเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องศาสนา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมตามขนบจีน สามารถนำสวดมนต์ เขียนกลอนและบทอวยพรได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ท่านจึงเป็นผู้ที่อพยพเข้ามาเพื่อช่วยประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อให้กับแรงงานจีนในเหมือง เช่น มาประกอบพิธีแต่งงาน พิธีศพ พิธีบูชาต่างๆ ตามประเพณี โดยอาศัยอยู่ที่ตำบลกะไหล จังหวัดพังงาเป็นที่แรก” คุณปิยะนุชเล่าถึงบรรพบุรุษคนแรกของตระกูล

ต่อมาตันเช็กอุดได้แต่งงานกับนางขอม แห่งสกุล ณ พัทลุง ผู้สืบเชื้อสายมาจากสุลต่านสุไลมาน มีบุตรธิดารวม 6 คน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความเป็นลูกหลานบาบ๋า

“เมื่อแรงงานจีนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่คิดกลับบ้านเกิดอีกต่อไป แต่เลือกที่จะแต่งงานกับสตรีพื้นถิ่น นั่นคือที่มาของวัฒนธรรมเปอรานากัน (Peranakan) โดยรากศัพท์แล้ว คำว่าเปอรานากันแปลว่าเกิดที่นี่ เมื่อสร้างครอบครัวแล้วจึงมีลูกหลานที่ ‘เกิดที่นี่’ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมผสมผสาน ทำให้มีภาษา อาหาร เสื้อผ้า และจารีตที่แตกต่างไปจากเดิม 

“แต่สำหรับคนภูเก็ต เรามักเลือกใช้คำว่าลูกหลานบาบ๋ามากกว่า คำว่าเปอรานากันเป็นคำที่เน้นเรื่องเชื้อชาติต้นกำเนิด แต่คำว่าลูกหลานบาบ๋าจะเน้นถึงการปลูกฝังคติความเชื่อของบรรพชน รวมถึงความมุ่งมั่นในการสืบทอดประเพณีของลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มาอย่างภาคภูมิใจ” อาจารย์จรินทร์กล่าว

ตระกูลหงษ์หยก

ตันเช็กอุดและนางขอมมีบุตรด้วยกัน 6 คน หนึ่งในนั่นคือ ‘ตันจิ้นหงวน’ ผู้ที่ได้ดำเนินการขอรับการขนานนามสกุลว่า ‘หงษ์หยก’ จากสมุหเทศาภิบาลภูเก็ตร่วมกับตันจิ้นฮ้องผู้เป็นพี่ชายเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2458

คำว่าหงษ์หยก ถ่ายทอดมาจากคำว่า ‘เฟิ่งหวง’ ในภาษาจีน ซึ่งหมายถึงหงส์ นกที่มีศักด์ศรีเป็นดั่งราชาในมวลหมู่สัตว์ปีก ปรากฏตัวเฉพาะแผ่นดินที่มีความสงบร่มเย็น นอกจากนี้ยังมีเสียงหวานแว่วไพเราะประดุจเสียงขลุ่ย ทั้งยังเชื่อว่ามีอายุยืนยาวอีกด้วย หงษ์หยกจึงเป็นมงคลนามอย่างยิ่ง

ตันจิ้นหงวนเป็นผู้ที่ก่อร่างสร้างฐานะด้วยการทำเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตอย่างมีมานะและอดทน ผ่านทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จทุกรูปแบบโดยไม่เคยย่อท้อ จากเหมืองหาบ เหมืองแล่น เหมืองรู มาสู่เหมืองสูบ

“ใน พ.ศ. 2470 คุณปู่ตันจิ้นหงวนนำวิธีทำเหมืองสูบจากมาเลเซียมาใช้จนประสบความสำเร็จ และใน พ.ศ. 2473 ก็ได้นำเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามาใช้ในเหมืองสูบของท่าน โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยความพอพระทัย และได้ประทานลายพระหัตถ์ชื่อเหมืองสูบนี้ว่า ‘เจ้าฟ้า’ คุณปู่จึงเป็นคนไทยรายแรกที่ทำเหมืองสูบโดยใช้พลังงานจากเครื่องปั่นไฟฟ้า และไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเหมืองเจ้าฟ้ายังส่งมาให้ชาวเมืองภูเก็ตได้ใช้ร่วมกัน” คุณปิยะนุชเล่าถึงคุณปู่ด้วยความภูมิใจ

ตันจิ้นหงวนมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกของภูเก็ต เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และดำรงตำแหน่งนายกอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นคนแรกจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงอนุภาษภูเก็ตการ’ เมื่อ พ.ศ. 2474 ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการกุศลมากมายเพื่อตอบแทนสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานศึกษา การบริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงพยาบาล รวมทั้งการสร้างวัดและศาลเจ้าซึ่งครอบครัวหงษ์หยกยังดูแลอย่างดีจนถึงทุกวันนี้

“คุณปู่สอนให้ลูกๆ หลานๆ รักสามัคคีกัน รู้จักเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำอะไรตอบแทนสังคมได้ก็ให้ทำ เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม” คุณปิยะนุชกล่าว

คฤหาสน์ฝรั่ง อั้งม้อหลาว 

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

หลวงอนุภาษภูเก็ตการได้สมรสกับนางหลุยฮุ่น และอาศัยอยู่ในห้องแถวหรือ ‘เตี้ยมฉู่’ บนถนนกระบี่กลางเมืองภูเก็ต แต่บ้านหงษ์หยกหลังนี้ได้สร้างขึ้นแบบอั้งม้อหลาวใน พ.ศ. 2473 เพื่อเป็นเรือนหอของบุตรชายคนโตกับสะใภ้ นั่นคือคุณวิรัชและคุณบุญศรี หงษ์หยก รวมทั้งเป็นที่สังสรรค์ของสมาชิกในครอบครัวด้วย โดยใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3 ปี

คำว่าอั้งม้อแปลว่าพวกฝรั่งผมแดง หลาวหมายถึงตึกหรือคฤหาสน์ คำว่าอั้งม้อหลาวจึงแปลได้ง่ายๆ ว่าคฤหาสน์แบบฝรั่งนั่นเอง

บ้านหงษ์หยกถือเป็นอั้งม้อหลาวรุ่นหลังๆ เพราะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ขณะที่อั้งม้อหลาวหลังอื่นมักสร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2445 – 2460 

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

แม้ว่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงที่สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern) และอาร์ตเดโค (Art Deco) กำลังเฟื่องฟู แต่บ้านหลังนี้กลับเลือกรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (Neo Classic) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เคยได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 นับได้ว่าเป็นการสร้างบ้านในยุคหนึ่ง แต่กลับเลือกนำรูปแบบสถาปัตยกรรมในอีกยุคหนึ่งมาใช้ ทั้งนี้ สันนิษฐานได้ว่าหลวงอนุภาษภูเก็ตการเคยเห็นและประทับใจกับความงามของอั้งม้อหลาวยุคก่อนๆ เมื่อมีโอกาสสร้างเรือนหอให้บุตรชายด้วยตนเอง จึงตัดสินใจเลือกสร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เคยประทับใจมาก่อนก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม อั้งม้อหลาวหลังนี้มีความสนุกซุกซ่อนอยู่มากมาย และมีความเป็นจีนที่สอดแทรกอยู่กับความเป็นฝรั่งได้อย่างลงตัว

มุขโค้ง ที่นี่ที่เดียว

ลักษณะสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของบ้านหงษ์หยก คือมุขโค้งขนาดใหญ่ที่ประดับด้านหน้าอาคาร ทำหน้าที่เป็นทั้งระเบียงและมุขเทียบรถยนต์ นวัตกรรมการก่อสร้างที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนั้นคือคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งอำนวยให้ช่างออกแบบและก่อสร้างมุขโค้งขนาดกว้างถึง 3 ช่วงเสาเช่นนี้ได้ ส่งผลให้พื้นที่ด้านหน้าดูโอ่โถงสง่างาม สมเป็นบ้านคหบดีที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

พื้นเฉลียงหน้าบ้านประดับด้วยกระเบื้องโมเสกดินเผาแบบวิกตอเรียน (Victorian Encaustic Tile) ที่นำเข้าจากอังกฤษผ่านทางปีนัง ซึ่งเป็นกระเบื้องย้อนยุคที่ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ซึ่งเราสามารถพบกระเบื้องลักษณะเดียวกันกับอาคารเก่าในปีนังหลายแห่ง เช่น Blue Mansion และ Penang Peranakan House เป็นต้น

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

การปูพื้นด้วยโมเสกเป็นงานประณีตที่ต้องอาศัยการวางแผนเป็นอย่างดี ต้องออกแบบลวดลายไว้ล่วงหน้าว่าจะใช้โมเสกสีอะไร รูปทรงไหน และจะนำมาประดับที่ตำแหน่งใด ต้องมีการคำนวณอย่างแม่นยำ เพื่อสั่งซื้อโมเสกหลากสีหลายทรงได้อย่างถูกต้อง ก่อนจะนำมาจัดวางให้ได้ลวดลายงดงามตามแบบที่วางไว้

ประตูหน้าบ้านถือเป็นงานศิลป์ลูกผสม กล่าวคือเป็นประตูไม้เป็นทรงฝรั่งที่ใช้บานพับเหล็ก มีการแบ่งช่องลูกฟักออกเป็น 4 ช่วงอย่างได้สัดส่วน โดยด้านบนเป็นกระจกสีลายดาวกระจาย (Star Burst) ด้านล่างก็เป็นลูกฟักแบบฝรั่ง แต่ลวดลายที่ปรากฏอยู่ภายในลูกฟักนั้นกลับเป็นการแกะไม้แบบจีน ซึ่งคือลายนกเฟิ่งหวง อันเป็นลายที่มีความสัมพันธ์กับนามสกุล

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการฉลุบานประตูให้เป็นซี่ๆ เพื่อเป็นดั่งบานลับแลแบบจีนสำหรับใช้มองลอดจากภายในไปสู่ภายนอก แต่ลายฉลุนั้นกลับกลายเป็นลายวงรีแบบฝรั่งไปเสียนี่

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ความจริงประตูหน้าบ้านนั้นเป็นประตูสองชั้นที่มีบานชั้นนอกทำหน้าที่เสมือนบานลับแล ส่วนบานชั้นในเป็นไม้หนาปิดทึบ ลักษณะประตูสองชั้นเช่นนี้พบได้ที่เตี้ยมฉู่ทั่วไปในเขตเมืองเก่า การที่เตี้ยมฉู่จะมีประตูสองชั้นนั้นก็ไม่แปลก เพราะอยู่ตั้งริมถนน ปราศจากรั้วรอบขอบชิด การมีบานลับแลก็เพื่อความปลอดภัย เพราะมองลอดบานประตูออกไปดูได้ว่ามีใครมาพบและสมควรจะเปิดรับหรือไม่ ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าบ้านหงษ์หยกนั้นอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล มีรั้วกั้น แต่ก็ยังมีบานลับแลด้วย 

“ประตูบ้านทั้งสองชั้นจะล็อกจากภายในเท่านั้น ใครมาก็ต้องให้คนภายในบ้านเปิดประตูให้ ดังนั้นสามีกลับบ้านมากี่โมงก็ต้องเรียกภรรยามาเปิด จะรู้เลยว่ากลับดึกหรือไม่ดึก ถ้ากลับดึกก็ซักได้ทันทีว่าไปไหนมา” คุณนลินีเล่าเสียงใส

“แต่บ้านไม่สูง ความจริงก็ปีนขึ้นเสาแล้วแอบเข้าบ้านทางระเบียงก็น่าจะได้นะ” คุณปิยะนุชตั้งข้อสังเกต ส่วนพวกเราฮากันครืน

โถงทางเข้าหลัก

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

จุดเด่นของโถงทางเข้าหลักคือเป็นห้องโถงที่มีผังรูปแปดเหลี่ยม ซึ่งไม่มีอั้งม้อหลาวใดในภูเก็ตที่มีโถงลักษณะนี้ จัดว่าเป็นการออกแบบที่ ‘ฝรั่งจ๋า’ มากๆ 

โถงที่มีเหลี่ยมมากขึ้นกระจายคนไปยังส่วนต่างๆ ของบ้านได้รอบทิศอย่างสะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้เพราะบ้านหงษ์หยกเป็นบ้านที่มีสมาชิกครอบครัวหลายคนอาศัยอยู่ อีกทั้งมีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยือนหรือมีคู่ค้ามาเจรจาธุรกิจอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องกระจายคนออกจากพื้นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการกระจุกตัว 

ด้านหน้าเป็นด้านที่ขึ้นจากมุขเทียบรถนำเข้ามาสู่โถง ส่วนด้านตรงข้ามเป็นเส้นทางทอดไปยังบริเวณหลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว ด้านขวานำไปยังห้องทำงาน ไปยังกระไดที่พาขึ้นไปสู่ชั้นบน และไปยังห้องทานอาหารอย่างเป็นทางการรวมทั้งห้องตั้งเครื่องอีกด้วย ส่วนด้านซ้ายจะช่วยนำไปสู่ห้องรับแขกขนาดใหญ่

เครื่องเรือนที่ประดับอยู่โถงทางเข้าคือกระจกบานใหญ่ขอบสีไม้โอ๊คสองบาน ทั้งนี้เพราะคนในสมัยก่อนจะระมัดระวังเรื่องการแต่งตัวมาก ก่อนออกจากบ้านจึงต้องสำรวจเครื่องแต่งกายว่าสุภาพเรียบร้อยแล้วหรือยัง นอกจากนี้ยังมีที่เสียบไม้เท้า ที่เสียบร่ม ที่แขวนหมวกและเสื้อนอก จะได้ถอดสูทและหมวกออกทันทีที่เข้ามาในบ้านเพื่อให้สบายตัวขึ้น

“เครื่องเรือนแทบทุกชิ้นของบ้านล้วนเป็นของเดิมและวางอยู่ในตำแหน่งเดิมมาโดยตลอด เราแทบไม่เคยเคลื่อนย้ายอะไรเลย” คุณนลินีเอ่ย

ห้องรับแขกและห้องร้องเพลง

จากโถงทางเข้า ครอบครัวหงษ์หยกนำผมไปทางซ้ายสู่ห้องรับแขกที่ตกแต่งไว้อย่างงดงาม ความน่าสนใจของห้องรับแขกคือการตกแต่งภายในด้วยซุ้มโค้งสามซุ้ม โดยมีซุ้มเล็กอยู่ทางด้านซ้ายและขวาขนาบซุ้มใหญ่ตรงกลาง ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า ซุ้มขนาดเล็กนั้นเป็นสัณฐานครึ่งวงกลม (Semicircle Arch) ในขณะที่ซุ้มขนาดใหญ่มีสันฐานเป็นครึ่งรูปไข่ (Semi Oval Arch) การตกแต่งพื้นที่ด้วยซุ้มโค้งเป็นการตกแต่งภายในที่สอดประสานกับมุขโค้งภายนอกได้อย่างลงตัว 

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ทีนี้ขอเชิญให้ทุกท่านลองแหงนหน้าขึ้นมองเพดานนะครับ ปกติเพดานบ้านในภูเก็ตจะไม่มีฝ้าปิด และเปิดเปลือยไว้ให้เห็นโครงสร้างตงและท้องไม้พื้นชั้นบนได้ถนัด แต่หากมองกลับไปยังบริเวณโถงทางเข้าแปดเหลี่ยมที่เราเพิ่งผ่านมา จะพบว่าเพดานบริเวณนั้นตีฝ้าเรียบและตกแต่งด้วยคิ้วไม้งดงาม เพราะว่าเป็นทางเข้าหลักของบ้าน จึงต้องทำให้ดูโก้ยิ่งขึ้น

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

เครื่องเรือนทั้งหมดเป็นเครื่องเรือนเก่าที่คงอยู่ในตำแหน่งเดิม ทั้งหมดผลิตโดย ‘บางกอก เฮาซ์ เฟอรนิชิ่ง กัมปนี’ (Bangkok House Furnishing Company) ห้างเครื่องเรือนที่มีชื่อเสียงของสยามในยุคนั้น แต่สันนิษฐานว่าสั่งมาจากปีนัง เพราะใกล้กว่าและมีสาขาอยู่ที่นั่นด้วย และถ้าตาดีพอก็จะเห็นตราของห้างดังกล่าวสลักไว้บนแผ่นโลหะที่ตอกยึดไว้บนเครื่องเรือนแทบทุกชิ้น

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ห้องรับแขกเป็นห้องสำคัญที่นอกจากจะรับรองผู้มาเยือนแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดพิธี ‘ผั่งเต๋’ หรือพิธียกน้ำชาในวันแต่งงานด้วย

“ครอบครัวเรามีประเพณีที่ยึดถือสืบต่อกันมาว่าลูกหลานที่ยังอาศัยอยู่ในภูเก็ตจะต้องมาแต่งงานที่บ้านหลังนี้ มีประเพณีผั่งเต๋ที่ห้องนี้ ก่อนจะยกน้ำชาก็ต้องออกไปบูชาเทวดาฟ้าดินกลางสนามหน้าบ้าน ตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นตามประเพณีและมีกระดาษทองรองขาโต๊ะทั้งสี่มุมด้วย เพราะถือว่าเครื่องเซ่นเป็นของสูง จึงไม่อาจปล่อยให้โต๊ะสัมผัสพื้นดินได้ การบูชาเทวดาฟ้าดินเป็นการประกาศให้ทวยเทพและบรรพบุรุษได้รับรู้ว่าทายาทบ้านนี้กำลังประกอบพิธีมงคล ขอเชิญท่านมาร่วมอวยพรกันด้วย 

“จากนั้นจึงเข้ามาคารวะผู้ใหญ่ด้วยการยกน้ำชา โดยเริ่มจากผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดลดหลั่นกันไป ผู้ใหญ่ก็จะมอบอั่งเปาซึ่งเปรียบเสมือนเงินขวัญถุงให้คู่บ่าวสาวนำไปก่อร่างสร้างฐานะ เมื่อประกอบพิธีเสร็จก็จะมีห้องส่งตัว ซึ่งบ่าวสาวต้องอาศัยอยู่ที่ห้องนั้นอย่างต่ำสามวัน เป็นห้องส่งตัวกันมาหลายคนหลายรุ่นจนถึงปัจจุบัน” 

คุณปิยะนุชและอาจารย์จรินทร์ร่วมกันเล่า

บ้านหงษ์หยกไม่ได้เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งงานเพียงเฉพาะคนในสายตระกูลเท่านั้น แต่ยังได้แบ่งปันพื้นที่ให้กับลูกหลานบาบ๋ารายอื่นๆ อีกด้วย โดยผ่านสมาคมเปอรานากัน ซึ่งเป็นองค์กรสืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น ครอบครัวหงษ์หยกจัดพิธีให้ลูกหลานอย่างไร ก็จะจัดให้คู่สมรสอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกัน เพื่อรักษาประเพณีการแต่งงานอันทรงคุณค่าไว้ไม่ให้สูญหาย

เมื่อเดินผ่านซุ้มโค้งไปยังพื้นที่ที่เชื่อมอยู่ถัดไปก็จะพบเปียโนตั้งอยู่ มีสมุดจดเนื้อเพลงภาษาไทยและภาษาต่างประเทศวางอยู่หลายเล่มบนโต๊ะกลมกลางห้อง

“ห้องนี้เป็นห้องร้องเพลงค่ะ” คุณนลินีเฉลย “ครอบครัวเรามีสมาชิกหลายคนที่ไปเรียนต่อที่ปีนัง ไปเรียนโรงเรียนคริสต์ที่นั่น ทุกคนจึงได้รับการปลูกฝังให้รักดนตรี คุณลุงวิรัชก็เล่นแซ็กโซโฟนกับคลาริเน็ต คุณป้าบุญศรีรวมทั้งคุณแม่ซึ่งเป็นสะใภ้ก็ไปใช้ชีวิตเป็นนักเรียนคอนแวนต์ที่ปีนังอยู่หลายปี ดนตรีจึงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหงษ์หยก ก็เลยมีประเพณีรวมตัวกันร้องเพลงที่บ้านเรา ตอนบ่ายวันศุกร์จะมีเพื่อนๆ มาร่วมร้องเพลงกันที่นี่ มีคนมาเล่นเปียโนให้ท่านได้ร้องเพลงที่ชอบ คิดว่าคาราโอเกะอาจจะไม่เหมาะกับท่าน เปียโนน่าจะเหมาะกว่าเพราะดนตรีต้องเล่นตามคนร้องนะคะ (หัวเราะ)

“กิจกรรมนี้ก็ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่อาจไม่บ่อยเท่าเดิม แม้คุณป้าจะอายุเก้าสิบหกปี ส่วนคุณแม่เก้าสิบห้าปี ก็ยังร้องเพลงอยู่ แม้ท่านจะสื่อสารได้น้อยลง แต่ท่านก็ยังจำเนื้อเพลงและร้องเพลงได้เกือบหมด สมุดจดเนื้อเพลงที่เห็นล้วนเป็นลายมือของท่านที่บันทึกไว้เมื่อนานมาแล้ว พอร้องเพลงเสร็จก็จะชวนกันมาทานของว่างที่ห้องทานข้าว เมนูประจำคือขนมจีนปีนังหรือที่เรียกกันว่าลักซา ใส่ใบผักแพวปักษ์ใต้อร่อยมากๆ” ฟังแล้วผมแอบยิ้มตามด้วยความรู้สึกว่า โอย น่ารักจัง

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ในห้องรับแขกและห้องร้องเพลงจะมองเห็นการใช้กระจกสีผสมกันหลายๆ สีเพื่อตกแต่งพื้นที่ สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นที่อั้งม้อหลาวอื่นๆ ไม่มี และเป็นการตกแต่งที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่บ้านหงษ์หยกมีการใช้กระจกหลากสีตกแต่งอยู่แทบทุกห้อง นับเป็นลูกเล่นที่สร้างความตื่นเต้นให้กับตัวอาคาร และกระจกที่ใช้ล้วนเป็นกระจกลายฝรั่ง

ผมลองหลับตาจินตนาการถึงเสียงเปียโนที่บรรเลงคลอเสียงร้องเพลงหวานแว่ว แสงที่ส่องผ่านกระจกสีช่วยย้อมบรรยากาศให้ห้องนี้ดูงดงาม แล้วผมก็แอบมองเห็นความสุขของสมาชิกครอบครัวหลากรุ่นพร้อมมิตรสหายรู้ใจที่ร่วมร้องเพลงด้วยกันในบ่ายวันศุกร์

ห้องทานอาหารแบบทางการ

หลังจากเดินเยี่ยมชมบ้านหงษ์หยกมาสักพัก ครอบครัวได้ชวนผมไปชมห้องทานอาหารแบบทางการพร้อมจิบน้ำอัญชันผสมมะนาวและน้ำผึ้งแก้กระหาย ซึ่งคุณนลินีแอบกระซิบว่าเป็นดอกอัญชันที่ปลูกในบริเวณบ้าน และเป็นเครื่องดื่มสำหรับรับรองแขกที่เป็นสัญลักษณ์ของบ้านด้วย อ้า อร่อยชื่นใจจัง

ห้องทานข้าวมีโต๊ะยาวแบบฝรั่งตั้งอยู่ตรงกลาง พร้อมเก้าอี้อีก 18 ตัว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นชุดดั้งเดิมที่ผลิตโดยห้างบางกอก เฮาซ์ เฟอรนิชิ่ง กัมปนี เช่นเดียวกัน

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ในห้องทานข้าวมีช่องลมช่วยระบายอากาศ ปรากฏเป็นช่องสี่เหลี่ยมกรุมุ้งลวดอยู่ทั่วไปหมด หากสังเกตดีๆ ตลอดช่วงเวลาที่เดินชมบ้านก็จะพบช่องลมทรงสี่เหลี่ยมเช่นนี้อยู่ทั่วไป ภูเก็ตเป็นเมืองชื้นมีฝนชุก ช่องลมช่วยเรื่องการระบายอากาศและความชื้น ทำให้ผู้อยู่รู้สึกสบาย และยังช่วยรักษาอาคารให้ปลอดความชื้นอีกด้วย เวลากลางคืนประตูหน้าต่างก็ปิดหมด ช่องลมจึงช่วยระบายความร้อนออกจากบ้านและนำความเย็นจากภายนอกเข้ามาแทนที่โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ

หลังบ้าน

ผมเดินตามสมาชิกครอบครัวหงษ์หยกต่อไปบริเวณหลังบ้านซึ่งปรากฏโถงใหญ่โปร่งโล่งอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สมาชิกครอบครัวใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน และจัดว่าเป็นพื้นที่สำคัญของบ้านเลยทีเดียว

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

“ห้องทานอาหารที่แวะชมไปเมื่อสักครู่ สงวนไว้สำหรับแขกเท่านั้น ส่วนพวกเราทานข้าวกันที่นี่และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทานข้าวกลางวันร่วมกัน ความที่สำนักงานตั้งอยู่ตรงข้ามบ้าน มีพี่ๆ น้องๆ ลูกหลานทำงานกันที่นี่ หรือบางคนอาจจะทำงานอยู่ที่สำนักงานสาขาซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป แต่ถ้ามีโอกาสผ่านมาก็จะแวะเข้ามาทานข้าวกลางวันด้วยกันเสมอ 

“ผู้ใหญ่จะนั่งโต๊ะหนึ่ง เด็กก็จะนั่งอีกโต๊ะหนึ่ง ถ้ายังไม่อาวุโสพอก็จะยังไม่มีโอกาสไปร่วมทานกับผู้ใหญ่ การทานอาหารกลางวันร่วมกันทำให้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันจนสนิทสนม และได้รับการอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ทุกคนในครอบครัวจะรู้ดีว่าบ้านหลังนี้มีอาหารกลางวันไว้รอต้อนรับเสมอ เวลาญาติๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ กลับมาภูเก็ตก็จะต้องรีบมาทานข้าวด้วยกัน 

“ส่วนใหญ่เราไม่ออกไปทานอาหารนอกบ้าน หากอยากทานอะไรเป็นพิเศษก็สั่งแล้วไปรับมา คิดว่าประเพณีแบบนี้ไม่จำกัดแต่เฉพาะบ้านหงษ์หยก แต่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในภูเก็ต ถ้ามาที่นี่แล้วไปถามคนภูเก็ตว่าควรไปทานอะไรที่ไหนแล้วเขาตอบไม่ได้ก็อย่าตกใจนะคะ เพราะบางทีคนภูเก็ตก็ไม่รู้จริงๆ” คุณปิยะนุชเอ่ย

อาจารย์จรินทร์เล่าเสริมว่า “วัฒนธรรมบาบ๋าชอบให้ลูกหลานสามัคคีกัน ทำอะไรร่วมกันตั้งแต่สมัยก๋งสมัยเตี่ยแล้ว ถือเป็นธรรมเนียมว่าลูกหลานต้องมานั่งกินข้าวด้วยกันให้ครบจำนวน ถ้าใครไม่มานี่ต้องถามแล้วว่า มันไปไหน!” อาจารย์เอ่ยเสียงเข้มก่อนหัวเราะ

“แล้วต้องมีคนตอบให้ได้ด้วยนะครับ เพราะผู้ใหญ่จะซักต่อทันทีว่าไม่สบายหรือเปล่า ป่วยเป็นอะไร ต้องให้ช่วยอะไรไหม ด้วยความห่วงใย”

นอกจากจะเป็นที่ทานข้าวแล้วที่นี่ยังเป็นที่สังสรรค์ของครอบครัวอีกด้วย

“พวกเราหัดเต้นรำกันตรงนี้ เมื่อก่อนต้องซ้อมเต้นรำก่อนไปออกงาน ก็เลื่อนโต๊ะทานข้าวออกไปแล้วใช้บริเวณนี้แหละ หรือเวลามีเต้นรำกันในบ้านก็เต้นกันตรงนี้ อากาศถ่ายเท ลมก็เย็นสบายกว่าในบ้านเยอะ” คุณนลินีรำลึกด้วยรอยยิ้ม

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ตรงจุดนี้ผมอยากให้ลองสังเกตกระเบื้องที่ใช้ตกแต่งบริเวณหลังบ้านว่าเป็นวัสดุที่ต่างกับด้านหน้าบ้าน ด้วยเป็นวัสดุที่ราคาย่อมเยาลงมา ถ้าจำได้ บริเวณหน้าบ้านจะใช้กระเบื้องโมเสกดินเผาแบบวิกตอเรียน (Victorian Encaustic Tile) ซึ่งเป็นงานประณีต นำเข้าจากอังกฤษ เพราะหน้าบ้านเป็นพื้นที่รับแขก หลังบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวจึงเลือกใช้กระเบื้องซีเมนต์พิมพ์ลายแบบวิกตอเรียน (Victorian Cement Tile) ที่ผลิตขึ้นในแถบเอเชียอาคเนย์ 

ห้องครัวและเทพเตาไฟ

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

“ครัวก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิมและคงสภาพเดิม เพียงแต่ดัดแปลงบางอย่างตามยุคสมัย เดิมจะเป็นแท่นเตาถ่านสามหลุมเรียงกัน ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาติดหัวเตาแก๊สแทน เชื่อกันว่าห้ามย้ายเตาเพราะเป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของบ้าน และมีโพสถิตอยู่” คุณนลินีพาผมไปยืนอยู่หน้าแท่นเตาที่ปูกระเบื้องสีขาวสะอาดในปัจจุบัน

“สัญลักษณ์ของเทพเตาไฟจะเป็นสีแดงเสมอ บริเวณพื้นที่ทำครัวก็จะทาสีแดงด้วยเช่นกัน บ้านเก่าๆ ในภูเก็ตก็ยังเป็นแบบนี้”

‘โพ’ หรือเทพเตาไฟเป็นเทพประจำบ้านตามความเชื่อของชาวจีนฮกเกี้ยน กล่าวกันว่าเทพเตาไฟมีหน้าที่จดบันทึกความประพฤติของคนในบ้านเพื่อนำกลับไปรายงานต่อเทพเจ้าสูงสุดนามว่า ‘หยกอ๋องซ่งเต่’ ในวันแรกของเทศกาลตรุษจีน จึงต้องมีการเซ่นไหว้เอาใจเทพเตาไฟด้วยขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู ขนมเต่า อ้อย และผลไม้รสหวาน เพราะจะทำให้รายงานแต่เรื่องดีงาม ไม่ก็ทำให้แป้งเหนียวติดปากรสหวานติดลิ้นจนรายงานไม่คล่อง มีการเผากระดาษและเปลี่ยนป้ายชื่อแผ่นใหม่เพื่อรอรับเทพเตาไฟองค์ต่อไปที่จะมาสถิตในวัน ‘เฉี่ยสีน’

วัสดุดั้งเดิมที่อยู่คู่ครัวมาแต่แรกเริ่มคือโอ่งกรองน้ำโบราณที่เคยบรรจุชั้นหินและทรายไว้ภายใน ตู้กับข้าวนั้นก็เป็นตู้มุ้งลวดดั้งเดิมเช่นกัน

แล้วเมนูเด็ดที่ถือว่าเป็นเมนูคู่ครัวบ้านหงษ์หยกล่ะครับ มีอะไรบ้าง ผมเอ่ยปากถาม

“หมูฮ้องค่ะ เป็นเมนูที่มีทุกเทศกาล อาหารจานหนึ่งจะต้องมีหมูฮ้องเสมอ ลูกหลานตั้งตาคอย เป็นสูตรของที่บ้านที่มีมานาน เนื้อหมูนิ่มหอมและหวานซีอิ๊ว อร่อยมาก แล้วก็น้ำชุบหยำกุ้งสด ซึ่งเป็นอาหารชาติพันธุ์บาบ๋าที่ชัดเจน เพราะสามีที่เป็นชาวจีนทานเผ็ดไม่ได้เท่ากับคนพื้นถิ่น ภรรยาก็พยายามจะออกแบบอาหารที่มีรสชาติเบาลง เลยเอากุ้งแชบ๊วยที่มีรสออกหวานอยู่แล้ว มาลวก สับและขยำกับกะปิ ปรุงรสไม่จัดมากเพื่อให้สามีทานได้ 

“อีกเมนูคือแกงตูมี้ เป็นแกงจากมาเลเซีย ไม่ใส่กะทิ ส่วนมากจะใช้เนื้อปลาเก๋า ส่วนผสมมีกระเจี๊ยบเขียว ดอกดาหลาหรือกาหลาในภาษาภูเก็ต ผัดกับน้ำมัน รสออกเปรี้ยวๆ ทานทีต้องตะแคงจานวักน้ำแกงกันเลย” 

คุณปิยะนุชเล่าเสียจนผมเริ่มหิว คราวหน้าคงต้องขอลองบ้างนะครับ

กระเบื้องแกร่งจากฝรั่งเศส

อั้งม้อหลาวในภูเก็ตมักจะใช้กระเบื้องดินเผารูปตัว V ที่ผลิตในท้องถิ่นมามุงหลังคาเช่นเดียวกับปีนังและสิงคโปร์ แต่บ้านหงษ์หยกแตกต่างจากที่อื่น เพราะเลือกใช้กระเบื้องดินเผาที่ผลิตจากโรงงานกีชารด์ การ์แว็ง เอต์ ซี (Guichard Carvin et Cie) เมืองมาร์เซย (Marseille) ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแสดงถึงความพิถีพิถันของช่างเป็นอย่างยิ่ง 

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

กระเบื้องชนิดนี้เป็นกระเบื้องเผาแกร่ง (เผาในอุณหภูมิสูง) ทำให้เนื้อเนียนละเอียดกว่า ทนกว่า เกิดตะไคร่ได้ยาก จึงมีอายุการใช้งานนาน กระเบื้องที่มุงหลังคาอยู่ในปัจจุบันคือกระเบื้องชุดเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2473 เกือบทั้งหมด ตามขอบด้านข้างของกระเบื้องแต่ละแผ่นจะมีรางลิ้นรูปตัว U เพื่อให้เชื่อมประกบกันได้สนิท จึงจัดเป็นกระเบื้องประเภท Terracotta Interlocking Roof Tile ที่ป้องกันการรั่วซึมได้ดีกว่ากระเบื้องตัววีแบบโบราณที่เรียงทับกันเฉย ๆ

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

เรามักพบการใช้กระเบื้องกระเบื้องชนิดนี้กับอาคารโบราณต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น โบสถ์กาลหว่าร์ ตำหนักใหญ่ในวังลดาวัลย์ และบ้านพระอาทิตย์ เป็นต้น

แฟชั่นบาบ๋า

และแล้วก็ถึงเวลาที่ผมต้องอำลาสมาชิกครอบครัวหงษ์หยก แต่ก่อนจะจากกันนั้น สิ่งที่ผมสนใจคือเครื่องแต่งกายพื้นเมืองอันงดงามหลากสีสันที่ทายาทรุ่นที่ 4 ร่วมกันสวมใส่มาในวันนี้

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

“ถ้าจะเล่าเรื่องเครื่องแต่งกายคงต้องเขียนหนังสือขึ้นอีกเล่มเพราะมีรายละเอียดมาก เล่าสั้นๆ ได้ว่า การแต่งตัวแบบบาบ๋าเป็นการแต่งตัวแบบผสมผสาน บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เครื่องแต่งกายชายที่เห็นนี้เรียกว่า ‘ปั่วตึ่งจ่วง’ ซึ่งเป็นเสื้อแบบจีนสวมใส่กันโดยทั่วไป 

“สำหรับผู้หญิงนั้นมีหลายแบบตามวัยและลักษณะการใช้งาน ปกติจะเป็นมีเสื้อคอตั้ง แขนจีบ เอวสั้น นั่นคือคอเสื้อตั้งแบบจีน ปลายแขนรวบจีบแบบมาเลย์ และตัวเสื้อสั้นลอยแบบพม่าและมอญ ใส่กับผ้าปาเต๊ะแบบอินโดนีเซีย คาดเข็มขัดทองที่เวลาเคลื่อนไหวก็จะเห็นทองวับๆ แวมๆ” อาจารย์จรินทร์กรุณาสรุปให้เป็นข้อมูลเบื้องต้น

“นอกจากนี้ยังมี ‘หมิ่นป่อ’ คือผ้าเช็ดหน้าเหน็บสะเอวข้างหนึ่ง เพราะคนสมัยก่อนไม่มีกระดาษทิชชู แล้วก็มีกระเป๋าเล็กๆ เหน็บไว้ด้วย ที่สะเอวอีกข้างจะเหน็บ ‘ส่อซี่เลียน’ หรือพวงกุญแจไว้ เด็กๆ ลูกหลานบาบ๋าจะคุ้นเคยกับเสียงเกี๊ยะกอบแกบเดินมาพร้อมเสียงส่อซี่เลียนกระทบกันดังกรุ๊งกริ๊ง นั่นคือเสียงแห่งอำนาจ แปลว่าอาม่ามาแล้วเฮ้ย เพราะอาม่าคือคนสำคัญ เป็นผู้เก็บกุญแจไว้ทุกดอก ใครมีคดีกับอาม่าก็เตรียมเผ่นหนีได้เลย” อาจารย์จรินทร์เล่าได้อารมณ์จนผมแอบเกร็งอาม่าขึ้นมานิดๆ

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

“อีกสิ่งหนึ่งคือ ‘เสี่ยหนา’ ที่เป็นอับใส่ของมีหูหิ้ว ถ้ามีขนาดเล็กก็จะนำมาใช้เหมือนกระเป๋าถือ ส่วนใบใหญ่ๆ ก็ใช้สำหรับใส่ของไหว้ในงานพิธี เช่น พิธีแต่งงาน พิธีไหว้เจ้า เพราะพอเราไหว้เจ้าที่บ้านเสร็จ ก็จะไปไหว้กันต่อที่ศาลเจ้าด้วย หรือเวลาเชงเม้งก็จะนำอาหารใส่เสี่ยหนาไปตั้งไหว้บรรพบุรุษกันที่สุสาน” อาจารย์จรินทร์และคุณปิยะนุชช่วยกันเล่าแบบกระชับที่สุด

แม้ว่าบ้านหงษ์หยกจะมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว แต่อาคารและเครื่องเรือนทั้งหมดยังอยู่ในสภาพดีมาก ทั้งนี้เพราะสมาชิกทุกคนใส่ใจบำรุงรักษาเพื่ออนุรักษ์อั้งม้อหลาวหลังนี้ให้คงอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับการยึดมั่นและน้อมนำวัฒนธรรมบาบ๋ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิดและการดำรงชีวิต โดยยังคงถ่ายทอดสู่ทายาทรุ่นต่อๆ ไป และเผื่อแผ่ไปยังชุมชนด้วย

ผมว่านั่นคือวิถีแห่งการอนุรักษ์ที่งดงามที่สุด

บ้านหงษ์หยก อดีตเรือนหอ ‘อั้งม้อหลาว’ ที่กลายเป็นเรือนจัดงานแต่งงานลูกหลานบาบ๋าในภูเก็ต

ขอขอบพระคุณ

ผู้ให้สัมภาษณ์

  • คุณนลินี หงษ์หยก ปัจฉิมสวัสดิ์ ทายาทครอบครัวหงษ์หยกรุ่นที่ 3
  • คุณปิยะนุช หงษ์หยก ทายาทครอบครัวหงษ์หยกรุ่นที่ 3
  • อาจารย์จรินทร์ นีรนาทวโรดม ประธานที่ปรึกษาชมรมชาวบาบ๋าฝั่งทะเลอันดามัน อำเภอตะกั่วป่า
  • คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์ ผู้มอบความรู้ทุกด้านเกี่ยวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านหงษ์หยก

เอกสารอ้างอิง

  • www.hongsyokfamilytree.in.th
  • ย้อนอดีตเหมืองเจ้าฟ้า จัดทำโดยกองทุนอนุสรณ์หลวงอนุภาษภูเก็ตการ
  • การแต่งกายของผู้หญิงบาบ๋าภูเก็ต โดยฤดี ภูมิภูถาวร
  • www.museumthailand.com
  • หนังสือโฆษณาไทย เล่ม 2 ยุค พ.ศ. 2470 โดยอเนก นาวิกมูล (สำหรับภาพโฆษณาห้าง บางกอก เฮาซ์ เฟอรนิชิ่ง กัมปนี ที่ใช้ประกอบในบทความ)

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographers

Avatar

อธิวัฒน์ สุขคุ้ม

เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ทำเพจรีวิวชื่อ ‘วาดแสง’ ชอบในการท่องเที่ยว เขา ทะเล ถ่ายภาพ กล้องฟิล์ม แคมปิ้ง รักอิสระ เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด