ก่อนจะบูรณะอาคารเก่าอายุกว่า 200 ปี บนผืนดินที่ทิ้งร้างมานาน 40 ปี ให้กลายเป็นร้านกาแฟสุดฮิปในวันนี้ พี่สาวและน้องชายทั้งสองต้องผ่านอะไรกันมาบ้าง 

“กว่าคุณแม่จะยอมให้ทำร้านกาแฟ ผมใช้เวลาโน้มน้าวท่านเกือบ 10 ปีเต็ม” น้องชายเอ่ย มองไปทางคุณแม่ 

“ก็ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินในฝันที่ดิฉันตามหามาทั้งชีวิต จึงมีคุณค่าต่อจิตใจมาก ๆ จะลงมือทำอะไร ก็ต้องคิดดูให้ดี” คุณแม่ให้เหตุผล มองกลับมาที่ลูกชาย

“มีคนบอกว่าที่นี่เป็นขยะ เขาใช้คำนี้เลยนะครับ วันหนึ่งผมพากลุ่มเพื่อน ๆ มา หลายคนไม่กล้าเดินเข้าไป มันรกมาก ๆ ตัวเงินตัวทองขนาด 2 เมตรนอนอยู่ตรงที่ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่” เมื่อน้องชายกล่าวประโยคนี้จบ ผมชักเท้าขึ้นโดยไม่รู้ตัว เกือบจะกรี๊ดออกมาแล้ว

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
ซ้ายไปขวา – คุณทอง คุณอิม (ยืนบนบันไดวน) คุณปุ่น และคุณตุ๊

“เหมือนบ้านผีสิงค่ะ อาคารทรุดโทรมมาก ๆ ฝาผนังมีรอยกราฟฟิตี้และน้ำมันเครื่อง กลิ่นเหม็นสุด ๆ โอย แทบแย่” พี่สาวเล่าต่อ ผมเผลอย่นจมูก

“ต้นไม้ขึ้นครึ้ม มีต้นไทรใหญ่ปกคลุมไปทั่วบริเวณ ใบไม้ร่วงเต็มพื้น รกมาก ผมต้องให้ลูกน้องเอาไม้มาช่วยกันเขี่ย ๆ ไปตามทาง กลัวงูกัด ใครมาก็ส่ายหัว นี่คิดจะทำอะไรกันเหรอ” น้องชายบรรยายต่อ

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วคุณจะเลือกถอดใจหรือไปต่อ ? แต่พวกเขาเลือกไปต่อ ด้วยพันธสัญญาทางใจที่ต้องการสร้างของขวัญชิ้นสำคัญให้สำเร็จก่อนที่จะสายเกินไป

“ผมดีใจมากที่ทำร้านกาแฟเสร็จทันก่อนพ่อเสีย อย่างเวลาพระอาทิตย์ตก เราจะเห็นโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สงบสวยงามมาก ๆ ท้องฟ้าเป็นสีส้ม ดวงอาทิตย์เป็นสีแดงเข้มตัดกับเงาเจดีย์จีนฝั่งตรงข้าม ผมดีใจที่พ่อได้มีโอกาสเห็นวิวนี้ก่อนท่านจะเสียไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พ่อชอบที่นี่มาก ๆ ผมคิดว่าเป็นช่วง 6 เดือนสุดท้ายที่พ่อมีความสุขกับของขวัญชิ้นนี้” เมื่อจบประโยคนี้ ผู้สัมภาษณ์อย่างผมก็รู้สึกร้อนรื้นขึ้นที่ขอบตา

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
ภาพพระอาทิตย์ตกดินที่ฮงเซียงกง
ภาพ : เกศรินทร์ แซ่เบ๊

“วันแรกที่ประตูร้านเปิดก็มีคนมารอแล้ว เป็นสิ่งที่ผมประทับใจมาก ลูกค้าบางคนบอกว่าฮงเซียงกงเป็นร้านกาแฟร้านหนึ่งที่สวยที่สุดในโลกเท่าที่เขาเคยไปมา” น้องชายจบประโยคนี้พร้อมกับรอยยิ้มภูมิใจของสมาชิกทุกคนในครอบครัว

น้องชาย คือ คุณตุ๊-เดชา แซ่เบ๊ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งร้านฮงเซียงกงร่วมกันกับพี่สาว คุณปุ่น-เกศรินทร์ แซ่เบ๊ และน้องชายคนเล็ก คุณทอง-ทองดี แซ่เบ๊ วันนี้ทั้งสามคนชวนคุณแม่ คุณอิม-เย็นจิตต์ แช่ตั้ง มาถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าประทับใจของร้านกาแฟที่บูรณะขึ้นจากความเชื่อที่ว่า ความไม่สมบูรณ์คือความสมบูรณ์ – Imperfection is perfect

ผืนดินติดน้ำทรงน้ำเต้าที่เฝ้ารอ

“ตอนนั้นดิฉันหาซื้อที่ดิน ก็ใช้วิธีเดินหาไปเรื่อย ๆ พอเห็นที่ผืนนี้แล้ว รู้ทันทีว่าเป็นที่ดินในฝัน สามีชื่อว่าธารา แปลว่าน้ำ เลยอยากได้ที่ติดน้ำ ที่ดินผืนนี้นอกจากอยู่ติดน้ำแล้วยังมีรูปทรงเหมือนน้ำเต้าอีกด้วย คือปากเล็กแต่แผ่กว้างภายใน ซึ่งเป็นมงคล แถมอยู่ใกล้ศาลเจ้าโจวซือกงอีกด้วย พอดิฉันมาเห็นก็ยืนสงบใจนิ่งประมาณ 10 นาที เพื่อถามใจตัวเอง ในที่สุดก็ได้คำตอบว่าใช่ แต่กว่าจะซื้อสำเร็จก็นอนไม่หลับไปสองสามปีเลย (หัวเราะ)” คุณอิมเอ่ยถึงที่ดินที่เป็นดั่งรักแรกพบ

คุณธารา แซ่เบ๊ สามีคุณอิม ดำเนินธุรกิจร้านฮงวัตถุโบราณ (Hong Antiques) อยู่ที่ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก แต่ในวันนั้น ความฝันของคุณอิมยังไม่ได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด

“สามีไม่ชอบเลย เพราะต้องเข้าซอยลึก แต่ดิฉันยืนกรานว่าถ้าอยากได้ที่ติดน้ำ ก็ต้องยอมเข้าซอยหน่อยสิ (หัวเราะ) หลังจากวันที่ได้เห็น ดิฉันก็เฝ้าแต่คิดถึงที่ผืนนี้ตลอด หลับตาเห็นภาพแทบทุกวัน” คุณอิมรำลึกเหตุการณ์เมื่อสิบกว่าปีก่อน

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
ภาพถ่ายในกรอบรูปคือคุณธารา

ประวัติความเป็นมาของที่ดินผืนนี้ สามารถสืบสาวไปสู่อดีตเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว ด้วยเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของครอบครัวชาวจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากในสยาม ขณะนั้นในบริเวณตลาดน้อยมีเจ้าสัวสำคัญอาศัยอยู่ 2 ท่าน ท่านหนึ่งคือเจ้าสัวสาด เจ้าของบ้านโซวเฮงไถ่ ชาวจีนฮกเกี้ยนผู้เป็นนายอากรรังนก ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระอภัยวานิช สันนิษฐานว่าบ้านโซวเฮงไถ่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2340 สมัยรัชกาลที่ 1 

ส่วนเจ้าสัวอีกท่านคือเจ้าของที่ดินผืนนี้ ซึ่งเป็นทำธุรกิจโรงเลื่อย ทายาทสันนิษฐานว่าบ้านในที่ดินผืนนี้สร้างขึ้นหลังจากบ้านโซวเฮงไถ่ประมาณ 20 ปี (ประมาณ พ.ศ. 2360 สมัยรัชกาลที่ 2)

“ตามข้อมูลที่พี่ได้รับทราบมาจากเจ้าของเดิมก็คือ บรรพบุรุษของท่านตั้งถิ่นฐานและดำเนินธุรกิจโรงเลื่อยจนประสบความสำเร็จเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พอถึง พ.ศ. 2457 นายหลิมจุนเบง หรือนายลิ้ม ธรรมจรีย์ ผู้เป็นทายาทของท่านเจ้าสัว ได้ตัดสินใจละมือจากธุรกิจโรงเลื่อย หันมารับตำแหน่งกัมประโดของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้” คุณปุ่นอธิบาย

คำว่ากัมประโดมีรากศัพท์มาจากคำว่า Comprador ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส อ่านว่า กง-ประ-ดอรฺ แปลว่าผู้ซื้อ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (Bowring Treaty) ได้เปิดโอกาสทางการค้าระหว่างสยามกับนานาประเทศ ส่งผลให้มีธนาคารต่างชาติเข้ามาตั้งกิจการเป็นจำนวนมาก กัมประโดทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างนายธนาคาร ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ กับผู้กู้เงินที่มักเป็นชาวจีนหรือไทย ทั้งนี้เพราะนายธนาคารเหล่านั้นขาดความเชี่ยวชาญทางด้านภาษา ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมปฏิบัติกับคนท้องถิ่น กัมประโดจึงเป็นผู้ช่วยประสานทั้งสองฝ่ายเข้าหากัน จนสามารถทำธุรกรรมได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
สนธิสัญญาเบาว์ริง 
ภาพ : Thai Wikipedia

นายลิ้มได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เคยทำงานเป็นเสมียนที่โรงเลื่อยจักรบอร์เนียว พูดภาษาต่างประเทศได้ดี จึงเป็นกัมประโดที่มีความสามารถ และอยู่ในอาชีพนี้ต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2484 เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งส่งผลให้ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ต้องหยุดกิจการในไทย ขณะนั้นรัฐบาลได้ตั้งธนาคารขึ้นใหม่ มีชื่อว่าธนาคารมณฑล และได้เชิญนายลิ้มให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการเป็นคนแรก ก่อนที่ท่านจะลาออกในเวลาต่อมา เมื่อเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารกรุงไทย

“บุตรชายของนายลิ้มคือคุณจุมพล ธรรมจรีย์ และลูกชายของท่าน เป็นผู้ที่ตัดสินใจขายที่ดินของบรรพบุรุษผืนนี้ให้คุณแม่ในเวลาต่อมา แต่ไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่ง่ายเลยนะคะ” คุณปุ่นเล่าต่อ

“ตอนที่ติดต่อไป ท่านเจ้าของที่บอกว่ายังไงก็ไม่ขาย ไม่ต้องติดต่อมาอีก แต่ดิฉันก็หมั่นไปเยี่ยมท่านถึงบ้านอยู่บ่อย ๆ ถึงแม้จะไม่ขายก็ไม่เป็นไร ดิฉันแค่อยากมาหา มาคุย มาเป็นเพื่อนกัน ตอนนั้นดิฉันไม่เคยเอ่ยปากพูดถึงการซื้อที่ดินเลย ความที่สามีไม่สนับสนุน เวลาจะไปแต่ละที ก็ต้องออกอุบายบอกสามีและคนในร้านว่า “ขอไปตลาดหน่อยนะ” แต่ความจริงไปคุยกับท่านเจ้าของที่ ก่อนกลับ ดิฉันก็แกล้งไปหาซื้อผักผลไม้หิ้วกลับร้าน สามีจะได้ไม่สงสัย ก็บอกว่าไปตลาด จะให้กลับไปมือเปล่าได้ยังไง” คุณอิมเล่าให้ฟัง ส่วนผมฮาครืน

“ตอนนั้นคุณจุมพลท่านมีอายุ 90 กว่าแล้ว พอท่านเห็นดิฉันครั้งแรก ท่านก็ถูกชะตา ลูกชายท่านมาเล่าให้ฟังทีหลังว่าท่านเคยเปรยว่า ถ้าจะขายที่ ก็ให้ขายให้คนนี้” คุณอิมเล่าต่อ

“เมื่อคราวที่คุณจุมพลนอนป่วยอยู่โรงพยาบาล ดิฉันก็ไปเยี่ยม ท่านคุยกับดิฉันอยู่พักใหญ่ พอเล่าให้ลูกชายท่านฟัง ลูกชายท่านก็บอกว่าประหลาดมาก เพราะขณะนั้นท่านสื่อสารด้วยการกะพริบตา แทบไม่พูด จนวันหนึ่งท่านถามดิฉันว่าชอบที่ผืนนี้จริง ๆ ใช่ไหม ดิฉันตอบว่าใช่ ท่านจึงบอกกับลูกว่าจะขายที่ให้ดิฉัน แม้จะดีใจมากแต่ก็ไม่มีเงิน ทำได้แค่วางเงินมัดจำไว้ก่อน แล้วกำลังหาวิธีหยิบยืมใคร เพื่อจะได้ชำระเงินเต็มจำนวนและโอนได้ แต่เชื่อไหมคะว่าลูกชายท่านกรุณาโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ดิฉัน โดยที่ไม่ทราบเลยว่าดิฉันจะชำระเงินเต็มจำนวนได้เมื่อไหร่ ลูกชายท่านบอกว่า “ผมโอนให้แล้วนะ หน้าที่ผมจบแล้ว พ่อสั่งไว้ให้ผมโอนให้คุณ” เป็นไปได้อย่างไร”

“แล้วในช่วงเดียวกัน สามีของดิฉันก็ได้เปรยเรื่องซื้อให้เพื่อนฟัง เล่าว่ากำลังหาเงินไปชำระค่าที่ เพื่อนคนนั้นบอกว่าเอาเงินเขาไปจ่ายเลย แล้วค่อยมาผ่อนทีหลัง ก็เป็นอันว่าทางเราก็หาเงินชำระท่านได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นไปได้อย่างไร”

นั่นสิครับ เป็นไปได้อย่างไร

ร้านกาแฟ แม่ไม่ปลื้ม

ครอบครัวคุณอิมได้รับกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินผืนนี้เมื่อ พ.ศ. 2554 ก่อนจะกลายมาเป็นร้านกาแฟฮงเซียงกงใน พ.ศ. 2564 ทั้งที่ดินและอาคารต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในสภาพรกร้างมานาน

“เมื่อที่ดินยังอยู่ในความครอบครองของทายาทท่านเจ้าสัว ก็ไม่มีใครอาศัยอยู่ประมาณ 30 ปี เพราะครอบครัวท่านย้ายออกไปอยู่ที่อื่นกันหมด อาจให้คนอื่นมาเช่าอยู่เป็นระยะสั้น ๆ เท่าที่ทราบคือมีผู้มาเช่าทำโกดังเก็บข้าวกับเก็บถ่านอยู่สักพัก เมื่อคุณแม่ซื้อมา คุณแม่ก็ไม่ได้ทำอะไรอีกนานราวสิบปี เบ็ดเสร็จแล้วที่ผืนนี้รกร้างไปนานถึงสี่สิบปี” คุณตุ๊กล่าว

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
คุณตุ๊และคุณแม่

“ตอนแรก ๆ ก็เคยคุยกันว่าจะทำธุรกิจโรงแรมริมแม่น้ำ แต่ผมกลับมีความคิดว่าเราน่าจะทำร้านกาแฟ ย่านนี้จะเป็น Café Hopping ในอนาคต แล้วผมก็อยากนำวัตถุโบราณจากโกดังมาตั้งแสดงไว้ในร้านกาแฟด้วย เราเก็บวัตถุโบราณไว้เยอะมาก สวย ๆ ทั้งนั้น ผมอยากให้คนทั่วไปมีโอกาสศึกษา และเห็นว่าของเก่ามีคุณค่า เพื่อที่เขาจะกลายเป็นนักอนุรักษ์ที่ดีได้” คุณตุ๊เริ่มอธิบายภาพในใจ แต่คุณแม่ก็ยังไม่ปลื้มกับความคิดนี้

“ก็อาจจะไปโทษคุณแม่ไม่ได้นะครับ ผมอาจอธิบายไม่ชัด เวลาบอกว่าทำร้านกาแฟ คุณแม่อาจจินตนาการว่าเป็นร้านโกปี๊เล็ก ๆ (หัวเราะ)” ลูกชายโทษตัวเอง

แล้วการเลือกปรับปรุงอาคารเก่าเป็นร้านกาแฟนั้น เกิดขึ้นเพราะคุณตุ๊เป็นผู้ที่หลงใหลการดื่มกาแฟหรือไม่

“เอ่อ.. ไม่ใช่เลยครับ ผมแพ้กาแฟ ดื่มแล้วท้องเสีย” คุณตุ๊ส่ายหัวรัว ๆ ผมได้แต่ร้องอ้าว….. 

“แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว ผมยอมท้องเสียเลยนะ เอาวะ ผมตะลุยดื่มกาแฟตามที่ต่าง ๆ ท้องเสียก็ช่างมัน ผมหันมาศึกษาและทดลองกาแฟประเภทต่าง ๆ ดื่มไป ท้องเสียไป จนเรียนรู้ว่ากาแฟที่ดีเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ผมชนะเรียบร้อยแล้วนะครับ (หัวเราะ) แถมยังเป็นคนหลงใหลกาแฟเอามาก ๆ”

คุณตุ๊และพี่น้องพยายามโน้มน้าวคุณแม่และคุณพ่ออยู่นานเกือบ 10 ปี จนในที่สุดฟ้าก็เป็นใจ

“ถึงจุดหนึ่งคุณแม่ก็ใจอ่อน คงเห็นด้วยกับผมและพี่น้องว่าการสร้างให้เป็นอะไรสักอย่างดีกว่าปล่อยให้รกร้างไปเฉย ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดระบาด ร้านที่ริเวอร์ซิตี้ก็ซบเซา เราเลยมีเวลาว่างมากขึ้น คุณแม่เห็นว่าควรไปลองหาอะไรใหม่ ๆ ทำ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือคุณพ่อไม่สบาย และเปรยกับคุณแม่ว่าให้ตุ๊ทำร้านกาแฟไปเถอะ ฉันอยากเห็นที่นี่เสร็จก่อนตาย จากนั้นผมลุยเลย” 

ฮงเซียงกงคือของขวัญ

“ที่ผมอยากสร้างให้เป็นของขวัญสำหรับพ่อแม่ ก็เพราะว่าคุณแม่ผูกพันกับที่ดินแปลงนี้มาก และผมนำชื่อของคุณพ่อมาเป็นชื่อร้าน นั่นคือคำว่าฮงเซียงกง” 

คำว่า ฮง เป็นชื่อเล่นของคุณธารา และเป็นชื่อของร้านฮง วัตถุโบราณ อันเป็นธุรกิจของครอบครัว ส่วนคำว่า เซียงกง นั้น คุณตุ๊เล่าว่าเดิมออกเสียงว่า เซียนกง (น. หนู) ตามชื่อศาลเจ้าเซียนกง ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์คู่ย่านตลาดน้อยมาร่วม 200 ปี แต่ต่อมาเกิดการกร่อนเสียง จึงกลายเป็น เซียงกง (ง. งู) เช่นปัจจุบัน

“การใช้ชื่อพ่อยิ่งเป็นสิ่งผลักดันให้ผมพยายามทำทุกอย่างให้สำเร็จ เพราะผมนำชื่อของท่านมาใช้ ต้องทำให้ดีที่สุด”

แต่ประสบการณ์การสำรวจพื้นที่ในวันแรก ๆ กลับตั้งคำถามว่า “จะไหวหรือ”

“ต้นไม้ขึ้นรกเหมือนป่า ข้างนอกอุณหภูมิ 35 แต่ข้างใน 20 อาคารเป็นปูนลุ่ย ๆ หลังคาโหว่ สังกะสีก็ผุ พอเดินลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จนถึงบริเวณเรือนไม้ โอ้โห สุด ๆ เดินสำรวจไปก็คิดว่าไม้มันจะร่วงลงมาเสียบเราหรือเปล่า (หัวเราะ) ตอนนั้นเราพี่น้องก็หวั่น ๆ อยู่ว่าจะมีใครแอบอยู่ในนี้ จะเป็นโจรมาปล้นเราไหม (หัวเราะ) ความรู้สึกคือมือเย็นเท้าเย็นตลอดเวลา ความคิดอย่างหนึ่งที่แล่นเข้ามาในสมองก็คือ เราจะปรับปรุงที่นี่ให้สวยงามได้อย่างไร” คุณตุ๊และคุณปุ่นร่วมกันรำลึกความหลัง

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

คุณตุ๊เองก็ไม่ใช่สถาปนิก แต่ต้องมารับหน้าที่สำคัญ ด้วยเป็นผู้ที่มีภาพร้านฮงเซียงกงอยู่ในจินตนาการแจ่มชัดที่สุด

“ผมเรียนทางด้านบริหารธุรกิจและมีธุรกิจค้าวัตถุโบราณเช่นเดียวกับคุณพ่อ ร้านผมชื่อว่า DECH Gallery ซึ่งผมเน้นการค้าวัตถุโบราณเพื่อนำมาตกแต่งสถานที่ เลยมีลูกค้ามากมายที่เป็นทั้งสถาปนิกและมัณฑนากรที่ต้องการสินค้าไปตกแต่งโรงแรม ออฟฟิศ หรืออาคารต่าง ๆ จากประสบการณ์ในอาชีพนี้ ทำให้ผมเรียนรู้เรื่องการจัดแบบแปลน การกำหนดพื้นที่ เรียกว่าเป็น On the Job Training (หัวเราะ) แล้วผมก็เข้ามาที่นี่แทบทุกวัน คือมาจนจำพื้นที่ได้หมดทุกซอกทุกมุม

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

“ตอนบูรณะ ผมไม่มีแปลนนะครับ ไม่มีกระดาษเลยสักแผ่น แต่ผมมีช่างคู่ใจ นั่นคือพี่พร พี่พรไปไหนก็จะมีดินสอใหญ่ ๆ แท่งหนึ่ง ผมก็ใช้ดินสอนั้นร่างแบบลงบนพื้นซีเมนต์เลย (หัวเราะ) พี่พรก็เก่งสุด ๆ พอเห็นปั๊บก็บอกว่า “อ๋อ… คุณตุ๊ต้องการอย่างนี้ใช่ไหม” แล้วก็แกะแบบไปทำต่อ ออกมาก็เป๊ะเลย”

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

คุณชุมพร ช่างคู่ใจคุณตุ๊ เกิดในครอบครัวช่าง คุณพ่อเป็นช่างไม้ที่ดำน้ำลงไปปักเสาเข็มตามวิธีโบราณ รวมทั้งเคยซ่อมบ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยามาหลายหลัง ตัวคุณชุมพรเองก็เคยดำน้ำลงไปช่วยคุณพ่อปักเสาเข็มด้วยวิธีนี้มาแล้ว

แม้จะไม่มีแปลน แต่ก็มีช่างรู้ใจ และมีหลักการบูรณะที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ความไม่สมบูรณ์คือความสมบูรณ์” หรือ Imperfection is perfect

“ตอนที่ผมซ่อม ก็มีหลายคนบอกว่า ทำไมทำทั้งทีไม่ทำให้กริบไปเลย ทำไมไม่ดัดอาคารให้มันตรงล่ะ หรือเก็บรายละเอียดให้เรียบร้อยกว่านี้อีกไหม ผมยืนยันคำเดียวเลยว่าไม่ ผมอยากได้ผนังหยาบ ๆ ผนังที่มองเห็นอิฐเดิมซ่อนอยู่ภายใน เห็นต้นไม้ขึ้นบนกำแพง อาคารจะเอียงก็ไม่เป็นไร แต่ต้องไม่เป็นอันตรายนะ ปูนจะแตก กระเบื้องจะวิ่น ปล่อยไว้แบบนั้น รักษาทุกอย่างให้คงสภาพเดิมมากที่สุด คือเรามีหน้าที่เพียงทำให้เขาแข็งแรงขึ้น อยู่ได้ต่อไปได้นาน ๆ เราต้องรักษาสิ่งที่ทั้งมนุษย์และธรรมชาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์มาแต่เดิมให้ดีที่สุด”

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

ฮงเซียงกงจัดเป็นการอนุรักษ์อาคารโบราณประเภท Adaptive Heritage หมายถึงการรักษาอาคารดั้งเดิมเอาไว้ให้คงอยู่ตามสภาพเดิมมากที่สุด แต่นำมาใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าอาคารนั้นมีอายุและสภาพเสียหายเกินกว่าจะนำกลับมาใช้งานตามวัตถุประสงค์เดิมได้อีกต่อไป

“ส่วนการนำวัตถุโบราณมาประดับนั้น เป็นการตกแต่งให้อาคารสวยงามยิ่งขึ้น การอนุรักษ์ฮงเซียงกงคือการเปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนโรงเลื่อยและโกดังโบราณ ให้กลายมาเป็นร้านกาแฟและแกลเลอรี่ วัตถุโบราณที่นำมาตกแต่งช่วยสร้างความรื่นรมย์ให้กับลูกค้าตามวัตถุประสงค์ใหม่ของที่นี่ด้วย” คุณตุ๊อธิบาย

ฮงเซียงกงประกอบไปด้วยอาคารโบราณ 6 หลังบนพื้นที่กว้าง การบูรณะใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปีเต็ม เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 สิ้นสุดลงในเดือนเดียวกันเมื่อ พ.ศ. 2564 แล้วจึงนำวัตถุโบราณเข้ามาตกแต่ง พร้อมเก็บรายละเอียดจนเรียบร้อยก่อนเปิดให้บริการในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

เรามาเดินไปพร้อม ๆ กันกับคุณตุ๊ เพื่อชมของขวัญชิ้นงามนี้ไปด้วยกัน

ร้านกาแฟ (Coffee Building)

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

เริ่มกันที่อาคารร้านกาแฟ อาคารสีครามฝรั่ง (Indigo Blue) ที่เป็นเสมือนห้องรับแขกของฮงเซียงกง

“อาคารกาแฟมีสภาพดีที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำ สิ่งแรกที่อยากชวนให้ชมคือผนังปูนซึ่งหนามาก ๆ ประมาณ 40 – 60 เซนติเมตร นี่คือลักษณะของอาคารสมัยก่อน”

 “สิ่งที่อยากชวนให้ใช้จินตนาการก็คือ เมื่อขุดลงไปใต้ดินจะเจอไหน้ำปลาวางเรียงไว้ทั่วบริเวณ เมื่อขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ จะเจอท่อนซุงวางเรียงกันอยู่อีกด้วย เมื่อก่อนช่างจะวางท่อนซุงไว้ล่างสุด ตามด้วยไหน้ำปลา ก่อนจะถมดินและเทปูนทับ” 

“สำหรับการบูรณะอาคารนั้น ผมแค่ทำให้แข็งแรงขึ้น ภายในผนังปูนจะมีตะแกรงเหล็กเสริมด้านใน ก็นำมาเคลือบกันสนิม เพื่อให้ใช้ได้นาน ๆ ส่วนผนังปูนก็ทำความสะอาด ส่วนไหนที่สึกหรอ ก็ฉาบให้อยู่ในลักษณะเดิมมากที่สุด ตรงไหนที่มีปูนกะเทาะ เราก็จะทำความสะอาดแบบค่อย ๆ เช็ดเบา ๆ จากนั้นเคลือบด้วยสีล่องหน เพื่อรักษาสภาพพื้นผิวเอาไว้”

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

“สิ่งที่ต้องเปลี่ยนใหม่ก็คือเสา 3 ต้น ซึ่งเดิมเป็นเสาขนาดเล็กมาก ผมก็ให้ช่างก่อเสาใหม่ เพื่อให้รองรับน้ำหนักได้มากขึ้น อีกอย่างคือกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ซึ่งผมเลือกใช้กระเบื้องว่าว โดยสั่งจากโรงงานที่ทำตามวิธีแบบโบราณ”

ส่วนสีครามฝรั่งที่ใช้ฉาบอาคารนั้น เป็นสีที่คุณตุ๊เลือกใช้เพื่อให้ได้เฉดสีที่ใกล้เคียงกับสีต้นฉบับมากที่สุด ซึ่งการสืบค้นนั้น ได้มาจากรอยแตกของสีที่ปรากฏอยู่บนประตูบานพับหน้าอาคารนั่นเอง

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

“ผมถมพื้นที่ให้สูงขึ้นไปเมตรกว่า ๆ ซึ่งเดิมอาคารนี้จะมีช่องลมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขาดใหญ่ติดตั้งอยู่เหนือประตู แต่พอถมพื้นที่สูงขึ้นมากขนาดนั้น ก็เลยต้องแกะช่องลมออก ไม่อย่างนั้นทางเข้าร้านจะเตี้ยมาก ๆ ส่วนช่องลมโบราณนั้น ผมย้ายไปตั้งแสดงไว้ในร้าน เวลามาซื้อกาแฟหรือสั่งขนม ก็อย่าลืมสังเกตนะครับ หรือจะมองขึ้นไปบนชั้นสองก็ได้ ช่องลมแบบโบราณยังติดอยู่เหมือนเดิม” 

คุณตุ๊ชี้เป้าให้แล้วนะครับ หากไปเยี่ยมฮงเซียงกง ก็อย่าลืมสังเกตดูนะครับ

เรือนไม้ (Wooden Hall)

เมื่อสั่งเครื่องดื่มและขนมที่ร้านกาแฟเรียบร้อยแล้ว ลูกค้ามักจะเดินเข้ามานั่งในเรือนไม้ ซึ่งเป็นบริเวณโปร่งโล่ง ใต้เพดานสูง รับลมแม่น้ำเย็นสบาย บางเวลายังมีดนตรีสดบรรเลงเพลงเพราะ ๆ ให้ฟังกันอีกด้วย

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

“บริเวณนี้เป็นส่วนที่ผมต้องรื้อออก เพราะผุพังเสียหายหมด สิ่งที่ผมอยากให้สังเกตคือเสาไม้จำนวน 18 ต้น ที่ค้ำหลังคาอยู่ล้อมรอบบริเวณนี้ เสาเหล่านี้เป็นเสาไม้แดง ขนาด 8 นิ้ว เป็นเสาที่ต้องสั่งมาใหม่ แต่วิธีฝังเสานั้น ผมขอเรียกว่าเป็นวิธีแฮนด์เมดครับ” คุณตุ๊อธิบาย 

วิธีการฝังเสาไม้นั้น ช่างพรได้เลือกใช้วิธีแบบโบราณ นั่นคือเปิดปากหลุมขนาดพอดีกับเสา แล้วค่อย ๆ โกยเศษดิน เศษอิฐ ฯลฯ ที่อยู่ในหลุมออกมาให้หมด แต่ละหลุมจะลึกราว ๆ 3 เมตร ที่สำคัญคือกระบวนการนี้ทำด้วยมือมนุษย์ทั้งสิ้น ปราศจากความช่วยเหลือจากเครื่องจักรใด ๆ จากนั้นจึงใช้รอกกดเสาลงไปในหลุม แล้วค่อยกลบดินอัดให้แน่น ก่อนโบกปูนรัดเสาอีกครั้ง

“ตอนผมเห็นพี่พรทำวิธีนี้ ผมยังถามพี่พรว่า “พี่ครับ นี่พี่จะไม่เอาเครื่องมาขุดหน่อยเหรอ ทำไมใช้มือล้วงล่ะครับ” (หัวเราะ) พี่พรก็บอกผมว่า “ไม่ต้องห่วง พ่อผมก็ทำแบบนี้เวลาสร้างและซ่อมบ้านโบราณ ทำวิธีนี้ดีแล้ว คุณตุ๊ไม่ต้องห่วงหรอก ไม่พังแน่ (หัวเราะ)” สมเป็นงานแฮนด์เมดจริง ๆ

เพดานของเรือนไม้นั้นอยู่สูง จึงต้องมีการต่อเสาค้ำให้สูงพอดีด้วย ซึ่งช่างพรก็เลือกใช้วิธีโบราณเช่นกัน นั่นคือบากเสาไม้เป็นตัว L (แอล) แล้วนำเสาทั้งสองต้นมาสบกันให้สนิท ก่อนใช้สลักเหล็กยึดเข้าไว้ด้วยกัน เท่านี้ก็จะได้เสาค้ำสูงจรดเพดาน

ส่วนวัตถุโบราณที่ประดับบริเวณเรือนไม้นั้น 

“ต้องบันไดวนเลยครับ เป็นวัตถุโบราณที่ลูกค้าชอบที่สุด บันไดวนนี้มาจากพม่า อายุกว่าร้อยปี เป็นไม้สักทอง ผมชอบบันไดวนอันนี้มาก ลักษณะเด่นคือเป็นงานโคโลเนียล (Colonial) ที่สร้างอย่างประณีต ขอให้สังเกตแผ่นปิดใต้ขั้นบันไดนะครับ ช่างจะค่อย ๆ เอาไม้สักทีละแผ่นมาตัด ดัด รีด แล้วนำมาเรียงต่อ ๆ กันอย่างประณีต พี่พรบอกผมว่าบันไดวนแบบนี้อาจใช้เวลาสร้างตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี และเราอาจหาช่างทำงานไม้ลักษณะนี้ไม่ได้อีกแล้ว”

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ
ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

“บันไดวนจะเชื่อมกับระเบียง ซึ่งความจริงบริเวณนั้นไม่มีระเบียงมาแต่เดิมนะครับ ผมนำมาตกแต่งเพิ่มเติม โดยระเบียงนี้คุณพ่อคุณแม่ได้มาจากวังเก่า แล้วเข้ากันได้ดีกับดีไซน์ของบันไดวนมาก เมื่อจะนำระเบียงมาเชื่อมกับบันไดวนนั้น ตอนแรกผมก็กังวลกับเรื่องของความสูงว่าจะเข้ากันไหม ปรากฏว่าเกือบพอดี คือผมต้องเพิ่มบันไดวนขึ้นอีกเพียงขั้นเดียว ก็เชื่อมกับระเบียงได้อย่างลงตัว ผมไม่แน่ใจว่าควรจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Destiny หรือความฟลุ๊ก (หัวเราะ)”

บริเวณเรือนไม้เป็นมุมโปรดของลูกค้าหลายต่อหลายคน และเป็นบริเวณที่มีการบันทึกภาพและเผยแพร่กันในสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุดบริเวณหนึ่งของร้าน

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

ฮงเฮาส์ (Hong House)

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

“ฮงเฮาส์เป็นอาคารเก่าแก่ที่สุดและอยู่ใกล้ริมน้ำ สิ่งแรกที่ผมให้ความสำคัญคือเรื่องน้ำท่วม ผมเกรงว่าถ้าน้ำท่วมหนัก ๆ จะกระทบอาคารนี้ ตอนแรกผมคิดว่าจะถมดินและเทปูนเพื่อเพิ่มระดับพื้นที่ให้สูงขึ้น แต่ถ้าทำเช่นนั้น ห้องด้านล่างจะเตี้ยมาก ใช้การไม่ได้ ช่างก็เลยแนะนำว่าไม่ต้องถม ปล่อยส่วนนี้ให้เป็นแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ ริมแม่น้ำมีกำแพงที่กรุงเทพมหานครสร้างอยู่แล้ว ดังนั้น น้ำที่ไหลจากแม่น้ำเข้าสู่พื้นที่ตรง ๆ เลยแทบจะไม่มี แต่น้ำที่ไหลเอ่อขึ้นมาจากใต้ดินหรือจากท่อจะมีโอกาสเกิดขึ้นแน่ ๆ ผมกับช่างก็เลยออกแบบระบบท่อให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

ฮงเฮาส์เป็นอาคารประธานของพื้นที่ และเป็นบ้านหลังแรกที่เจ้าสัวสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงใช้ไม้สักทองคุณภาพดีเยี่ยม และไม้อายุกว่า 200 ปีก็ยังทำหน้าที่ได้อย่างดีจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับป้ายสีแดงประดับอักษรจีนอ่านออกเสียงว่า ‘ปอสือกี่’ ซึ่งเป็นป้ายประดับอาคารนี้มาแต่ดั้งเดิม

ฮงเซียงกง : พลิกโฉมที่ดินเก่าและอาคาร 200 ปีในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่และร้านแอนทีกริมน้ำ

ฮงเฮาส์เป็นอาคารสำคัญที่สุด และคุณตุ๊ก็เลือกแสดงวัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางจิตใจของสมาชิกในครอบครัวมากที่สุด

“บานประตูโบราณขนาดแปดแผ่นอายุกว่าร้อยปี เป็นของสะสมที่คุณพ่อคุณแม่รักมาก เก็บรักษามา 40 ปี สันนิษฐานว่าเคยตั้งอยู่ในบ้านของคหบดีจีนที่เมืองเฉาโจว”

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

เมืองเฉาโจวคือเมืองแต้จิ๋ว ตั้งอยู่ทางใต้ใกล้ ๆ มณฑลกวางตุ้ง บรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายจีนเดินทางมาจากที่นั่นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น พื้นที่ของฮงเฮาส์จึงเน้นจัดแสดงศิลปวัตถุจากเมืองนี้ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับตึงหนังเกี้ยชาวไทย

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
งานศิลป์จากเฉาโจว (แต้จิ๋ว)

“นอกจากประตูแล้วก็มีหน้าต่างและไม้แกะสลักอื่น ๆ ความโดดเด่นของงานเฉาโจวคือฝีมือสลักอันประณีต มักเป็นภาพสลักที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตผู้คน หรือภาพอันเป็นมงคลอย่างมงคลแปดประการตามคติจีน แต้จิ๋วเป็นแหล่งไม้เอมซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน แกะสลักง่าย จึงสามารถสร้างสรรค์งานละเอียดเช่นนี้ และเพื่อรักษางานศิลป์บนไม้ให้อยู่ทน จึงลงแลคเกอร์ เล่นสีดำแดงตัดสีทองให้เด่นชัด”

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
งานศิลป์จากเวียดนาม

นอกจากงานศิลป์จากจีนแล้ว ยังมีเครื่องเรือนเป็นชุดโต๊ะเก้าอี้จากเวียดนามที่ทำจากไม้ปุ่มประดู่ เป็นงานฝังไม้แทนฝังมุก อย่างที่นักสะสมเรียกกันว่างานอินเลด (Inlaid) และเป็นงานศิลป์ชิ้นสวยควรคู่อาคารสำคัญอย่างฮงเฮาส์เช่นกัน

ริเวอร์ รูม 1 และ 2 (River Room 1 & 2)

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

อาคารริเวอร์ รูม 1 เป็นอีกอาคารที่ใคร ๆ มาเห็นเข้าก็อยากบันทึกภาพ เพราะมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นคลุมทั้งกำแพงและตัวตึก ดูสวยงามโดดเด่น ส่วนอาคารริเวอร์ รูม 2 นั้น มีจุดเด่นอยู่ที่ผนังปูนดั้งเดิม ซึ่งเป็นผนังปูนฉาบ เผยให้เห็นก้อนอิฐโบราณอยู่ภายใน การบูรณะอาคารริเวอร์ รูม ทั้ง 1 และ 2 นั้นถือว่าไม่ยาก เพียงแต่เสริมอาคารให้แข็งแรง และรักษาผนังดั้งเดิมเอาไว้ให้คงสภาพที่สุด สิ่งที่ท้าทายคือการผลิตหน้าต่างที่ปรับแต่งให้มีขนาดพิเศษ พอเหมาะสำหรับนำไปใส่บนผนัง ระหว่างแนวรากไม้อันระเกะระกะ

สิ่งที่น่าสนใจคือวัตถุโบราณที่นำมาจัดแสดง ซึ่งมาไกลจากอินเดียเลยทีเดียว

“เสาทั้งหมด 14 ต้นในริเวอร์ รูม 1 และ 2 เป็นวัตถุโบราณที่ผมก็ทึ่งว่านำมาประดับได้ลงตัวมาก ดูไม่ขัดตาเลย ทั้ง ๆ ที่ศิลปวัตถุอินเดียไม่น่าจะใช้ประดับอาคารแบบจีนได้ เสาอินเดียกลุ่มนี้มีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือฐานเป็นหินแข็งมาก ๆ แล้วก็เสาไม้ทรงกลมมนท่อนใหญ่และหนักมาก ๆ ด้านบนสุดคือหัวเสา ซึ่งทำจากไม้สลักลวดลายละเอียดงดงาม ในอดีตเมื่อนำมาใช้งานจริง ๆ นั้น เขาก็แค่นำฐานมาตั้ง แล้ววางเสากับหัวเสาไว้บนฐานหิน ปล่อยให้น้ำหนักของหลังคากดทับลงมาเท่านั้น ไม่ต้องยึดส่วนประกอบด้วยเดือยแต่อย่างใด” 

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

“แต่เมื่อผมตัดสินใจนำเสาอินเดียมาตั้งประดับไว้ตรงนี้ ความสูงของอาคารนั้นเกินความสูงของเสา ผมก็เลยให้ช่างใช้เดือยเหล็กขนาดใหญ่เชื่อมฐานกับเสา และเชื่อมเสากับหัวเสาไว้ด้วยกัน ซึ่งตอนที่เจาะหินเพื่อใส่เดือยนั้นยากมาก เพราะเป็นหินที่แข็งสุด ๆ ช่างบอกผมว่ากว่าจะเจาะหินฝังเดือยได้สำเร็จ หัวเจาะหักไปไม่รู้เท่าไหร่ (หัวเราะ)” 

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

หน้าริเวอร์ รูม มีบริเวณให้ลูกค้านั่งเล่นมองแม่น้ำเจ้าพระยาเพลิน ๆ อยากกระซิบว่าโต๊ะและเก้าอี้ไม้ที่เตรียมไว้รับรองลูกค้านั้นก็ทำมาจากไม้โบราณที่ค้นพบอยู่ในพื้นที่ขณะทำการบูรณะ 

เรือนปั้นหยา (Gallery)

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

เรือนปั้นหยาเป็นอีกบริเวณที่เมื่อขุดลงไปใต้ดินแล้วพบไหน้ำปลาและซุงวางเรียงอยู่ทั่วไป อาคารนี้ถือว่าเป็นอาคารที่ใหญ่ที่สุด ชั้นล่างจัดสรรเป็นพื้นที่ใช้สอยสำหรับลูกค้า อย่างเช่นห้องน้ำ ส่วนชั้นบนเป็นแกลเลอรี่แสดงงานศิลป์

“การบูรณะเรือนปั้นหยาค่อนข้างยาก เพราะมีกำแพงที่อยู่ติดกับเรือนไม้ (Wooden Hall) แล้วมีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกระหว่างกลาง เป็นต้นโพธิ์ที่ดันกำแพงจนแทบจะล้ม และปรากฏรอยร้าวไปทั่ว พี่พรเสนอว่าให้เสริมเหล็กเส้นใส่ไว้ในแนวกำแพง ช่วงที่รื้อกำแพงเพื่อเสริมเหล็กเส้นก็เก็บอิฐเดิมเอาไว้ด้วย แล้วพอใส่เหล็กเส้นเสร็จแล้ว จึงค่อย ๆ นำอิฐเดิมมาก่อคืนกลับไปทีละก้อน แล้วค่อยฉาบปูนทับให้แข็งแรงขึ้น”

สิ่งที่ควรสังเกตนั้นคือระเบียงบนชั้นสอง ซึ่งคุณตุ๊บอกว่าเป็นระเบียงที่ทำขึ้นพิเศษเพื่ออาคารโบราณหลังนี้

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

“ผมเลือกนำกระเบื้องปรุสีเขียวมาประดับบนระเบียงไม้ เป็นกระเบื้องปรุที่คุณพ่อสะสมมานานกว่า 50 ปี กระเบื้องปรุลักษณะนี้พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมจีน ทั้งหมดเป็นงานทำมือ จึงมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ไม่เท่ากันเป๊ะ ๆ นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักมาก เวลานำมาอัดลงบนเนื้อไม้ จำเป็นต้องเจียไม้และกระเบื้องให้มีขนาดพอดีกันทุก ๆ แผ่น เพื่อถ่ายน้ำหนักได้พอดี” 

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

ในแกลเลอรี่ยังแสดงโบราณวัตถุที่น่าสนใจอีกหลายชิ้น สิ่งที่เตะตาผมมากที่สุดคือดาวเพดาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกไม้ และเคยประดับเพดานวัดในพม่ามาก่อน

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
ดาวเพดานตั้งเรียงอยู่ด้านซ้าย

เมนูแนะนำตำรับฮงเซียงกง

เมื่อดื่มด่ำกับอาคารเก่าและโบราณวัตถุที่นำมาแสดงอยู่ทั่วบริเวณฮงเซียงกงแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะดื่มด่ำกับเมนูเครื่องดื่มและขนมที่มีไว้พร้อมบริการอยู่หลากหลายละลานตา

“เราพยายามสร้างสรรค์เมนูเครื่องดื่มและอาหารที่ช่วยเล่าเรื่องราวย่านตลาดน้อย รวมทั้งความเป็นลูกหลานไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานและอาศัยอยู่ในย่านนี้เป็นหลัก ที่สำคัญคือครอบครัวเราชอบทานของอร่อย เราจึงทดลองเมนูต่าง ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนแน่ใจว่าได้รสชาติที่ลงตัวที่สุด” คุณปุ่นและคุณทอง ผู้เป็นพี่สาวและน้องชายคุณตุ๊ ช่วยกันเล่า และผมก็เลยขอให้ช่วยคัดสรรเมนูเด็ดเพื่อแนะนำผู้อ่าน The Cloud สักหน่อย

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
กาแฟที่รินลงในถ้วยบรรจุเกล็ดน้ำแข็งที่ทำจากนมสด คือเมนู Icy Dirty พร้อมด้วยเครื่องดื่มและขนมต่าง ๆ
  • Taladnoi Orange Coffee น้ำส้มมะปี๊ดในโซดาซ่า ท็อปอัปด้วยอเมริกาโนช็อต เครื่องดื่มยอดฮิตที่ช่วยเรียกความสดชื่นได้ดี ส้มมะปี๊ดคือส้มลูกเล็ก มีรสเปรี้ยวนำ ที่เราคุ้นเคยกันดีในนาม ‘ส้มจี๊ด’ มีถิ่นกำเนิดจากจีน ชาวแต้จิ๋วเรียกส้มชนิดนี้ว่ากำกั๊ดหรือกิมกิก นอกจากรสอร่อยแล้ว ส้มยังเป็นผลไม้มงคลตามคติความเชื่อจีนอีกด้วย
  • Sieng Kong Pudding Tea เครื่องดื่มสุดป๊อปที่ลูกค้ารักลูกค้าหลง พุดดิ้งเต้าฮวยรสละมุน ผลิตจากวัตถุดิบระดับออร์แกนิก เข้ากันได้ดีกับชาไทยที่ใส่ไซรัปขิงหอมชื่นใจสไตล์จีน โรยหน้าด้วยน้ำตาลทรายแดงและปาท่องโก๋ตัวเล็กให้กรุบกรอบสะดุ้งลิ้น เมนูเครื่องดื่มสร้างสรรค์ใหม่ที่ยังรักษาจุดเด่นดั้งเดิมของย่านตลาดน้อย
  • Sparkling Red Peach Tea ใครไม่ใช่คอชาหรือกาแฟคราวนี้มีเฮ น้ำเชื่อมสีแดงเข้มรสพีชจะนำความหวานหอมมาให้ เมื่อคนเคล้าให้ละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับพรายฟองโซดา พีชคือผลท้ออันสื่อถึงความเป็นอมตะตามคติความเชื่อจีน สีแดงคือสีมงคลและเป็นสีที่เป็นภาพจำของย่านตลาดน้อยด้วยเช่นกัน
  • Icy Dirty คือเครื่องดื่มที่คอกาแฟผู้แคร์การถ่ายรูปลง IG จะต้องกรีดร้อง กาแฟคั่วกลางหอมกำลังดี มาในช็อตแก้วแยกต่างหากจากนมสดเข้มข้นที่แช่แข็งจนเกิดประกายเกล็ด เมื่อเทกาแฟระอุให้ไหลเอื่อย ๆ ลงสู่เกล็ดฟู ๆ ของนมสด ภาพที่สวยงามจะปรากฏจนอยากจะบันทึกเอาไว้ จะใช้เวลาถ่ายหรือโพสต์กันกี่รูปก็สบายใจ เพราะเกล็ดนมสดเย็นยะเยือกจะยังไม่ละลายหายไปง่าย ๆ เมื่อโพสต์ภาพเสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยมาละเลียดทีละคำ ความรู้สึกเหมือนดื่มด่ำไอศกรีมชั้นดี แถมยังนึกถึงร้านโกปี๊ กาแฟแบบโบราณคู่ย่านตลาดน้อยอีกด้วย
  • Flourless Orange Cake เค้กส้มไร้แป้งสาลีเพราะมีแป้งอัลมอนด์เป็นตัวชูโรง อัลมอนด์เป็นวัตถุดิบหลักในการทำเห่งยิ้ง เต๊ หรือน้ำอัลมอนด์ที่มีรสและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ ชาวจีนนิยมดื่มเพื่อสุขภาพกันมารุ่นสู่รุ่น เมื่อนำเค้กเนื้ออัลมอนด์มาผสมผสานกับส้มหอมหวานจะน่าทานขนาดไหน แล้วส้มยังเป็นผลไม้ที่ใคร ๆ ก็มักนำมาไหว้ศาลเจ้ากันเสมอ เมนูนี้คือความอร่อยที่แฝงร่องรอยแห่งวัฒนธรรม
  • Custard Tart ด้วยแรงบันดาลใจจากทาร์ตไข่หน้าเหลืองนวล ที่มักเสิร์ฟมาเป็นของหวานล้างปากหลังติ่มซำมื้ออร่อยแบบแต้จิ๋ว ทางฮงเซียงกงจึงเลือกประดิดประดอยออกมาเป็นเมนู Custard Tart โดยคัดสรรไข่สด ๆ ทั้งฟองมาผสมกับน้ำเชื่อมวานิลลาที่จะพารสหวานหอมละมุนละไมมาให้คุณได้ดื่มด่ำ
  • Croffle with Cream Cheese นำแป้งครัวซองต์จากฝรั่งเศสมาผสมผสานกับวัตถุดิบชั้นดี แล้วอบในพิมพ์รวงผึ้งให้กลายร่างเป็นวาฟเฟิล เมื่อได้ที่แล้วเสิร์ฟร้อน ๆ ทันที เพื่อให้ได้ลิ้มรสสัมผัสกรอบนอกนุ่มใน เวลาทานให้ประจงป้ายครีมชีสนัว ๆ แล้วตัดรสด้วยมิกซ์เบอร์รี่ซอส พร้อมผลไม้สด เมนูนี้ต้องสั่งก่อนแล้วถึงลงมือทำเท่านั้น เพื่อการันตีความสด
เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
Custard Tart

ผมฟังคุณปุ่นและคุณทองร่ายมนต์เมนูเด็ดจนเคลิ้ม และแล้วก็มาถึงคำถามสุดท้ายที่ผมถามสองพี่น้องว่า อะไรคือประสบการณ์ของร้านฮงเซียงกงที่หาจากที่อื่นไม่ได้

“ฮงเซียงกงเป็นพื้นที่ที่เชื่อมคนหลายวัยเข้าด้วยกัน มาที่นี่จะพบคนทุกรุ่น ตั้งแต่อากง อาม่า ที่มากับพ่อ แม่ ลูก-หลานวัยรุ่น จนกระทั่งเด็กทารก อากงอาม่ามาเล่าให้ลูกหลานฟังถึงความทรงจำที่มีต่อสิ่งของต่าง ๆ ที่ท่านเคยใช้มาก่อน อย่างรถเจ๊กหรือรถลากที่เราจัดแสดงอยู่ มารำลึกถึงวันวานเมื่อวิ่งเล่นในย่านเยาวราช ตลาดน้อย เป็นการถ่ายทอดความทรงจำจากรุ่นสู่รุ่น” 

“โต๊ะหรือเก้าอี้แต่ละตัวเป็นของเก่าทั้งนั้น และเป็นของจริง เวลานั่งอาจมีโยกมีคลอนกันได้บ้าง เพราะเป็นเครื่องเรือนโบราณที่ยังใช้วิธีเข้าลิ่ม ไม่ได้ตอกตะปู และเราอยากให้ลูกค้าได้สัมผัสสิ่งของเหล่านี้ ถ้าโต๊ะหรือเก้าอี้ตัวไหนเริ่มคลอนมากเข้า ก็ฝากมาบอกเราด้วย จะได้รีบไปซ่อมให้ (หัวเราะ)” คุณทองกับคุณปุ่นช่วยกันตอบ

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
คุณปุ่น พี่สาวคนโต คุณทอง น้องชายคนเล็ก

ฮงเซียงกงบูรณะขึ้นโดยยึดหลักการที่ว่า “ความไม่สมบูรณ์คือความสมบูรณ์ – Imperfection is perfect” วันนี้ผมคิดว่าลูก ๆ ทั้งสามคนได้มอบของขวัญอันงดงามสมบูรณ์แบบให้กับคุณพ่อคุณแม่แล้ว ย่อมจะนำความภาคภูมิใจมาสู่ท่านอย่างแน่นอน

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน
ฮงเซียงกงคือของขวัญสำหรับคุณพ่อและคุณแม่

“คุณแม่มาที่นี่แทบทุกวัน มานั่งดูผู้คน ซึมซับบรรยากาศ มาจนเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของร้านไปแล้ว” วันนี้ฮงเซียงกงคือร้านกาแฟที่คุณแม่ปลื้มที่สุด ผมขออนุญาตบอกใบ้ให้นิดหนึ่งว่า ที่ประจำของคุณแม่นั้นอยู่ตรงบริเวณโถงเรือนไม้นะครับ ไปพบปะสนทนากับท่านได้”

นอกจากนี้ฮงเซียงกงยังเป็นของขวัญสำหรับผู้ที่หลงใหลในสถาปัตยกรรมเก่าอันงดงาม รวมทั้งโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าอีกด้วย สำหรับผม ฮงเซียงกงคือกรณีศึกษาเรื่อง Adaptive Heritage ที่สมควรได้รับคะแนนระดับ Perfect 10 !

เบื้องหลังการบูรณะที่ดินรูปน้ำเต้าในตลาดน้อย เป็นคาเฟ่ Adaptive Heritage ที่ปรับปรุงอาคารโบราณให้ใคร ๆ เข้ามาใช้งาน

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

1. คุณเย็นจิตต์ แช่ตั้ง – คุณอิม เจ้าของพื้นที่ฮงเซียงกง

2. คุณเดชา แซ่เบ๊ – คุณตุ๊ ผู้ก่อตั้งฮงเซียงกง

3. คุณเกศรินทร์ แซ่เบ๊ – คุณปุ่น ผู้ร่วมก่อตั้งฮงเซียงกง 

4. คุณทองดี แซ่เบ๊ – คุณทอง ผู้ร่วมก่อตั้งฮงเซียงกง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1. บทสัมภาษณ์ของคุณนวพร เรืองสกุล กรรมการสาขาเศรษฐศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ ในวีดิทัศน์เรื่องก้าวแรกสู่เส้นทางสายใหม่ จัดทำและเผยแพร่โดยธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2018 (www.youtube.com/watch?v=qjEQRdSBmQc)

2. บทความเรื่อง “นายหลิมจุนเบง” ผู้ใจบุญที่มั่งคั่ง ผจก.คนแรกของธนาคารมณฑล ก่อนเป็น “ธนาคารกรุงไทย” โดยคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ เผยแพร่ในนิตยสารออนไลน์ศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2564 (นายหลิมจุนเบง ผจก.คนแรกของธนาคารมณฑล ก่อนเป็น ธนาคารกรุงไทย (silpa-mag.com))

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน