เจ้าก้อนจิ๋วสีขาวหน้าตาน่างับนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นขุมโปรตีนชั้นยอดซึ่งบริโภคทดแทนเนื้อสัตว์ได้ นอกจากเป็นอาหารบ้านๆ ประจำครัวเรือนคนจีน ยังเป็นวัตถุดิบทางเลือกให้คนรักสุขภาพที่อยากเลี่ยงโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรือจะเป็นวัตถุดิบสำหรับคนนอกสายมังแต่รักเต้าหู้แสนอร่อย ก็ได้ทั้งนั้น
แม้ว่าเต้าหู้จะมีให้เห็นทั่วไปและง่ายดายตามท้องตลาด แต่เพราะสารปรุงแต่งในระบบอุตสาหกรรมอาจทำให้กลิ่นหอมอันเป็นเสน่ห์ของความอร่อยหายไป
ไหนๆ เมื่อรู้ว่าเต้าหู้แผ่นของหาง่ายทำได้ไม่ยากนัก และใช้เวลาเพียงน้อยนิด เราจึงอยากชวนผู้อ่านหาซื้อเมล็ดถั่วเหลืองออร์แกนิก เข้าครัวทำเต้าหู้แผ่น Homemade ที่เราจะได้คัดสรรวัตถุดิบที่ปลอดภัยเองกับมือ ทำเอง กินเอง ทั้งดีต่อสุขภาพและอร่อยหอมมัน โดยชวน ครูอุษา-กัญญ์ณัทพัชร บุณยะโหตระ สมาชิกกลุ่มสวนผักคนเมือง เจ้าของเพจสวนผักดาดฟ้า บ้านรังษี by ครูอุษา มาแบ่งปันวิธีทำและสูตรที่ครูบอกว่า “ง่ายๆ” ให้เป็นวิทยา ‘ทาน’ ประจำครัวเรือน

อุปกรณ์

- แม่พิมพ์เต้าหู้แผ่น (หาซื้อได้ที่ร้านแถวหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร)
- กระชอนใหญ่
- ชาม 1 ใบ (เพื่อแช่ถั่วเหลือง)
- ชาม 1 ใบ (เพื่อใส่น้ำถั่วเหลืองปั่น)
- หม้อ
- ทัพพี
- เครื่องปั่น
- ผ้าขาวบางผืนใหญ่ 1 ผืน / ผ้าขาวบางผืนเล็ก (ขนาดใหญ่กว่าชิ้นเต้าหู้ขนาดมาตรฐาน เพื่อห่อมิดได้ทั้งชิ้น) ตามจำนวนเต้าหู้แผ่น
วัตถุดิบ
- ถั่วเหลืองออร์แกนิก 1 กิโลกรัม (ทำเต้าหู้ได้ 9 แผ่น)
- น้ำสะอาดประมาณ 8 ลิตร (เพื่อเฉลี่ยใส่ตอนปั่นเมล็ดถั่วเหลืองทั้ง 3 ครั้ง)
- ดีเกลือ 1 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำส้มสายชู
วิธีทำ (ระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง)
1. ล้างถั่วเหลืองแล้วแช่ในน้ำสะอาดพอท่วม 3 – 4 ชั่วโมง

2. ตักถั่วเหลืองขึ้นใส่ในเครื่องปั่น
3. เติมน้ำพอท่วม ปั่นจนละเอียด

4. กรุผ้าขาวบางผืนใหญ่บนกระชอน วางบนชาม แล้วเทถั่วเหลืองปั่นลงไป
5. บีบน้ำออก รอบแรกอาจบีบยากสักหน่อย เพราะความเข้มข้น


6. นำกากถั่วเหลืองกลับไปใส่เครื่องปั่น เทน้ำพอท่วม ปั่น 30 วินาทีเป็นอันใช้ได้

7. เทถั่วเหลืองปั่นใส่ผ้าขาวบางบนกระชอน บีบน้ำออก
8. ทำซ้ำอีกครั้ง

9. นำน้ำถั่วเหลืองที่ได้มาต้ม และคอยคนเรื่อยๆ ไม่ให้ติดก้นหม้อ
10. เมื่อเดือดแล้วทิ้งให้เดือดต่ออีก 15 นาที เพราะในถั่วเหลืองมีเอนไซม์ที่ขัดขวางการย่อย จึงต้องให้ความร้อนช่วยสลายเอนไซม์นี้ เพื่อที่เมื่อกินแล้วท้องจะได้ไม่อืด

11. ครบ 15 นาทีก็ปิดเตา *หากใครอยากกินน้ำเต้าหู้ จบที่ขั้นตอนนี้แล้วโปรยน้ำตาลใส่นิดหน่อยก็เอี่ยมอ่อง
12. ละลายดีเกลือ 1 ช้อนโต๊ะในน้ำสะอาด หากไม่มี ให้ใช้น้ำส้มสายชู


13. ค่อยๆ รินน้ำละลายดีเกลือ สลับคนให้ทั่ว จนกว่าจะหมด หากใช้น้ำส้มสายชู ค่อยๆ เทใส่สลับคนจนกว่าน้ำถั่วเหลืองจะเซ็ตตัวเป็นเนื้อเต้าหู้
14. คนเรื่อยๆ เพียงไม่นานน้ำถั่วเหลืองก็จะเริ่มแปรสภาพเป็นเนื้อๆ เหมือนนมบูด

15. กรุผ้าขาวบางผืนเล็กในช่องแม่พิมพ์ตามแนวทแยง
16. ตักหรือเทเนื้อเต้าหู้ กะให้ล้นแม่พิมพ์ขึ้นมานิดหน่อย
17. ตลบชายผ้าขาวบางห่อเต้าหู้ในแม่พิมพ์

18. ใช้ฝาแม่พิมพ์กดลงบนห่อเต้าหู้ ใครใคร่กินนิ่มหน่อย ก็กดเบาหน่อย ให้ยังคงเหลือน้ำในเต้าหู้ ใครใคร่กินเนื้อแน่นหน่อย ก็กดได้เต็มที่


19. ทิ้งไว้ให้เย็นนิดก็แกะห่อผ้าขาวบางแล้วนำไปประกอบอาหารได้ หรือใครอดใจไม่ไหว ทิ้งพอให้อุ่นๆ ก็จะได้กินเต้าหู้แผ่นเนื้อนิ่มๆ กลิ่นหอมสดใหม่ ถ้าทำปริมาณมาก หลังจากขั้นตอนนี้สามารถนำไปนึ่งต่อประมาณ 10 นาทีเพื่อช่วยยืดระยะเวลาของเต้าหู้แผ่น ทั้งยังช่วยขจัดดีเกลือที่อยู่ในเนื้อเต้าหู้อีกด้วย วิธีเก็บรักษาเต้าหู้แผ่นคือนำใส่กล่อง เทน้ำให้ท่วม เอาเข้าแช่ตู้เย็น คอยเปลี่ยนน้ำทุกสองสามวัน จะอยู่ได้เป็นเดือนโดยไม่มียางบนผิวเต้าหู้


