หยิบพู่กัน วางจานสี และคลี่กระดาษให้พร้อม เพราะ Staycation รอบนี้ จะชวนทุกคนมาทำสีโปสเตอร์จากธรรมชาติใช้เอง โดยใช้วัตถุดิบอุปกรณ์ที่มีทุกบ้าน พร้อมทั้งของเหลือใช้ที่ไม่อยากให้แปรเปลี่ยนไปกลายเป็นขยะ
เป็นธรรมดาที่ด่านสุดท้ายของสิ่งที่ไม่ใช้แล้วหรือผลิตภัณฑ์หมดอายุ คือ ถังขยะ เพราะในเมื่อหมดวาระการใช้งานหรือกินไม่ได้ เราก็มักจะทิ้งมันไป ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ของเหล่านั้นยังมีคุณค่าอีกมากมายที่ถูกมองข้าม
หนึ่งในนั้นคือการนำมาแปรรูปเป็นสิ่งใหม่ เราอาจจะคุ้นตาถ้าหากว่าเป็นการรีไซเคิลจากขวดน้ำ หรือกล่องพัสดุต่าง ๆ แต่ถ้าพูดถึงดอกไม้และอาหารที่หมดอายุแล้ว คงจะนึกไม่ถึงว่าสิ่งของพวกนี้จะนำมาทำอะไรได้อีก ครั้งนี้เราจะมาเปลี่ยนภาพจำให้กับของที่ถึงหมดอายุบนฉลากรอวันทิ้งไป ให้กลายมาเป็นสีโปสเตอร์พร้อมผ่อนคลายในซัมเมอร์อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

สีโปสเตอร์จากธรรมชาติอาจจะต่างจากสีโปสเตอร์ที่ทุกคนรู้จักไปสักเล็กน้อย ในเรื่องของความบางเบากว่าของเฉดสี และที่สำคัญคือกระบวนการทำกว่าจะได้แต่ละสีมา ความสนุกอยู่ที่การตามหาวัสดุที่มีสีสันถูกใจ และเราจะไม่มีทางรู้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าสีที่ออกมาจะเป็นไปตามที่คิดหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ สิ่งของเหล่านั้นจะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
ก่อนอื่นก็ต้องพาไปทำความรู้จักกับเจ้าของไอเดียในวันนี้ก่อน ลูกยาง-วีรพล วงศ์เทวัญ คือคนที่มาเปิดโลกเราเรื่องของสีโปสเตอร์ และยังถ่ายทอดมุมมองความคิดที่น่าสนใจเช่นเดียวกับการทำสีอีกด้วย

รักแรกพบ
“เราชอบคาแรกเตอร์ของสีโปสเตอร์” เจ้าของบ้านเริ่มต้นเล่าที่มาของสิ่งนี้ให้เราฟังด้วยท่าทีสบาย ๆ และเป็นกันเอง แต่เต็มไปด้วยประกายความตื่นเต้นเมื่อได้พูดถึงสิ่งที่เขาสนใจ สีโปสเตอร์ก็มีมากมายทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งนั่นทำให้เราอยากรู้ต่อว่า แล้วทำไมต้องเป็นสีที่มาจากธรรมชาติจากของที่ไม่ใช้แล้ว
“เรามองว่าการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ว่าคนอาจจะห่างเหินไป”
ความสนใจเรื่อง Eco ของลูกยาง เริ่มต้นมาจากการเรียนจบมาทางด้าน Product Design จึงต้องรู้ที่มาที่ไปของวัสดุ ไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายว่านำไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นเพียงทฤษฎี แต่สำหรับลูกยาง เขาปฏิบัติสิ่งนี้เป็นประจำในชีวิตประจำวัน ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญและรักมากพอ ๆ กับการออกแบบ จริงอยู่ที่สังคมปัจจุบันหันมาตระหนักและชวนกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่บางวิธีปฏิบัติก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน

“เราเลือกหยิบจับอะไรที่เหมาะสมกับเรา และเราทำได้ดีกว่า บางทีถ้าให้ถือกล่องข้าวไปที่ร้านค้าให้เขาใส่มา มันทำไม่ได้ทุกวัน” นี่เองจึงเป็นที่มาว่าทำไมลูกยางถึงสนใจการทำสีจากธรรมชาติ เพราะเขามองว่าเป็นการลดขยะ และเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วในสไตล์ของเขา
“สุดท้ายเราก็รู้ว่า Eco มันคืออะไรก็ได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แค่เพียงได้ฟังคอนเซ็ปต์เหล่านี้ พร้อมกับสังเกตสิ่งของในบ้านที่มีทั้งปากกาจากหลอดทดลอง หรือแจกันหุ้มกระดาษจากดอกดาวเรือง เราก็รู้สึกเลยว่าบ้านหลังนี้ต้องเป็นที่ที่สนุก และเต็มไปด้วยความผูกพันของบ้านกับธรรมชาติแน่ ๆ
ลูกยางเล่าว่า ในช่วงแรกที่อยู่บ้านนาน ๆ ก็เบื่อเหมือนกัน มองไปในบ้านก็เห็นแต่ทีวีที่คุ้นตา โซฟาที่คุ้นเคย จนเมื่อเหลือบไปเจอกาแฟและผงชาเขียวที่หมดอายุ จึงเกิดไอเดียอยากนำมาแปรรูปไม่อยากทิ้งไปให้สูญเปล่า ประกอบกับความรู้ด้านการเรียนออกแบบและความชอบสีโปสเตอร์ จึงลองนำกาแฟและผงชาเขียวมาสกัดทำสีจากการดูสูตรและพลิกแพลงเอง เมื่อผลลัพธ์ออกมาดีเป็นที่น่าพอใจ จึงขยับขยายไปที่อัญชันหน้าบ้าน ชบาบ้าง ตามมาด้วยปูนแดงและขมิ้นผงที่ซ่อนตัวอยู่ในครัวมานาน
ตกหลุมรัก ขึ้นไม่ไหว
จากการลองผิดลองถูกในครั้งแรก สู่การค้นพบความสนุกบทใหม่ของชีวิต รู้ตัวอีกทีก็มีสีหลากหลายเต็มไปหมดแต่ก็ไม่สามารถมีครบทั้งวงจรสีได้ เพราะข้อจำกัดของความเป็นวัสดุจากธรรมชาติ แต่ถึงจะมีไม่ครบ ก็เพียงพอที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ ได้โดยไม่รู้สึกขาดอะไรไป ส่วนสีที่ได้มา เนื้อสีส่วนใหญ่จะค่อนไปทางเอิร์ธโทน พาสเทล เพราะสกัดมาจากธรรมชาติ บวกกับการผสมกาวและแป้งซึ่งเป็นสีขาว เลยทำให้สีอ่อนจางลง
ถึงตรงนี้บางคนอาจจะมีคำถามในใจว่า แล้วถ้าเราต้องการสีที่เข้มมาก ๆ การใช้สีที่มีขายอยู่แล้วจะไม่ตอบโจทย์กว่าเหรอ ซึ่งลูกยางก็ได้ไขข้อข้องใจตรงนั้นไว้ว่า
“สิ่งที่ได้จากการทำสีจากธรรมชาติ เราว่ามันสนุก และสีอุตสาหกรรมเลียนแบบไม่ได้” ความโปร่งแสง มิติ ความอ่อนโยน และความเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สีอุตสาหกรรมแทนที่ไม่ได้ สีอุตสาหกรรมระบายสีไหนก็เป็นสีนั้นเลย แต่สีธรรมชาติเมื่อระบายลงไปบนกระดาษ สีก็จะแปรเปลี่ยนไปตาลกาลเวลา
เจ้าดอกไม้ตอนนี้เธอไปอยู่ไหน
ดอกไม้ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในแจกันอีกต่อไป แต่กลับกลายมาเป็นสีสันตระการตาอยู่ตรงหน้า เมื่อสักครู่เจ้าของบ้านเพิ่งพาเราไปเก็บดอกอัญชันที่ปลูกไว้หน้าบ้านเพื่อมาสาธิตการทำสีในวันนี้ นอกจากดอกอัญชันที่อยู่ตรงหน้าเรา ยังมีชาร์ตสีแผ่นใหญ่ ที่รวมสีทั้งหมดที่ลูกยางเคยทำทั้งจากดอกไม้และอาหาร ไม่ว่าจะเป็นดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ กระเจี๊ยบ หรือว่าใบเตย เมื่อเราเห็นเฉดสีมากมาย เลยอดสงสัยไม่ได้ว่ามีดอกไม้อะไรที่นำมาทำไม่ได้บ้างหรือเปล่า
“ที่ไม่เวิร์ก เราว่ามันไม่มี เพราะว่าสีมันแตกต่างกัน แล้วมันก็เป็นคาแรกเตอร์ของเขา” ก็จริง แต่ละดอกไม่เหมือนกันฉันใด สีที่ออกมาก็มักจะต่างกันฉันนั้น แต่ลูกยางก็แนะนำว่าก็มีบ้างบางดอกที่ไม่ค่อยออกสี อย่างเช่น ใบเตยและชงโค เคยลองทำชงโคแล้วสีจะออกตุ่น ๆ ทึบ ๆ แต่ก็แล้วแต่ความชอบของคน หรืออย่างบางกลุ่มจะเป็นดอกที่ต้มเฉย ๆ ไม่ได้ เพราะจะไม่ออกสี จึงต้องมีการบดกลีบลงไปด้วย เช่น ชบาและกุหลาบ ซึ่งพอใส่กลีบลงไปก็จะทำให้สีเข้มขึ้น และเพิ่มเท็กซ์เจอร์ให้เนื้อสี ทำให้การสร้างสรรค์สนุกสนานยิ่งขึ้น แต่ข้อเสียของการใส่กลีบคือจะขึ้นราไว

การทำสีนี้ จึงเหมาะสำหรับเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง รวมทั้งกับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เหมาะสำหรับทำร่วมกันแล้วใช้ ณ ตอนนั้นเลย แต่ถ้าหากจะทำเก็บไว้ใช้เองก็ทำได้ แต่ต้องระวังเรื่องเชื้อรา ข้อที่ต้องคำนึงอยู่เสมอเลยคือ อากาศมีผลต่อสีธรรมชาติ ฉะนั้นถ้าทำเสร็จ เราขอแนะนำให้เก็บใส่ขวดโหลเล็ก ๆ หรือกระปุกที่มีฝาปิดอย่างแน่นหนา ไม่ให้อากาศเข้าไปด้านใน ซึ่งอาจจะทำให้สีเกิดเชื้อราได้
ตอนนี้ลูกยางกำลังจะจัดเวิร์กชอปสอนทำสีโปสเตอร์จากธรรมชาติเป็นครั้งแรกแบบออนไลน์ในงาน Bangkok Design Week 2022 มาในคอนเซ็ปต์ Home Economy โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการคหกรรมและการอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อม สามารถติดตามรายละเอียด วันและเวลา ได้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก ‘Lukyang’
ถ้าใครสนใจเราขอแนะนำให้กดติดตามและส่องเช้าส่องเย็นที่เพจได้เลย แต่ถ้าอยากทำสีไปพลางในกลางวันว่าง ๆ ตอนนี้ ก็เตรียมหยิบวัตถุดิบอุปกรณ์ให้พร้อม แล้วไปทำพร้อมกันตามวิธีทำด้านล่างนี้ได้เลย!

ก่อนเตรียมวัตถุดิบอุปกรณ์ทำสี เรามีข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับการเลือกดอกไม้และอาหารหมดอายุมาฝาก
วิธีเลือกดอกไม้ : เลือกดอกที่มีสีสันชัดเจนในตัวเอง จะเป็นดอกไม้สดหรือแห้งก็ได้หมด เพราะสีที่ออกมาจะไม่ได้ต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับชนิดของดอกไม้ เลือกได้ตามความสะดวก และเลือกจากสิ่งที่มีใกล้ตัวได้เลย
วิธีเลือกอาหาร : ถ้าอาหารที่หมดอายุ แนะนำเป็นพวกผง ๆ ชา กาแฟ หรือผงผักก็ใช้ได้ สิ่งแรกที่ต้องสังเกตคือสิ่งนั้นต้องให้สีและต้องเป็นผง ข้อดีของสีจากอาหารคือสีจะไม่ค่อยจางแม้เวลาผ่านไป
วัตถุดิบ
- ดอกไม้สดหรือดอกไม้แห้ง
- ผงกาแฟ (ยี่ห้อใดก็ได้ แต่ไม่แนะนำแบบ 3 in 1 เพราะนมมีผลต่ออายุการใช้งานของสี)
- น้ำสะอาด
- กาวลาเท็กซ์
- แป้งมันสำปะหลัง

อุปกรณ์
- หม้อต้มน้ำหรือกาน้ำร้อน
- ถ้วย / ชามทนความร้อน สำหรับสกัดสีจากดอกไม้และกาแฟ
- ถ้วย / ชาม สำหรับคนส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากัน
- ถ้วยตวง / ช้อนตัก
- ช้อนคน / ไม้พาย
- พู่กัน
- ขวดโหล / กระปุก / ตลับ ที่มีฝาปิดแน่นหนา สำหรับใส่สีโปสเตอร์ที่ทำเสร็จแล้ว
วิธีทำสีจากดอกอัญชันสด

- ต้มน้ำเดือดพร้อมใส่ดอกอัญชันลงไป (ถ้าไม่สะดวก ใช้กาน้ำร้อนแทนได้ตามขั้นตอนถัดไป) ปริมาณขึ้นอยู่กับความต้องการสีเข้มหรือสีอ่อน ถ้าอยากได้เข้มให้ใส่ดอกไม้หลายดอกกับน้ำนิดหน่อย แต่ถ้าอยากได้อ่อนให้ใส่ดอกไม้นิดเดียว และเติมน้ำตามต้องการ
- นำดอกอัญชันสดใส่ภาชนะ แล้วรินน้ำร้อนตาม แช่ทิ้งไว้สักครู่

- ใส่กาวลาเท็กซ์ประมาณ 10 ml.

- ใส่แป้งมันสำปะหลังประมาณ 10 กรัม

- เทน้ำสกัดสีที่ได้การการแช่น้ำร้อนใส่ชามว่าง (ในที่นี้ประมาณ 10 ml.) ใส่แป้ง กาว และสี ในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน กะเอาจากความรู้สึกได้เลย ไม่มีสูตรตายตัว แป้งทำให้สีเกิดความข้น ซึ่งแป้งเป็นหนึ่งในส่วนผสมของสีโปสเตอร์อยู่แล้ว ส่วนกาวทำให้สีแห้งและเกาะกระดาษ

- คนส่วนผสมทั้ง 3 อย่าง สี แป้ง กาว ให้เข้ากัน

- ลองทาลงบนกระดาษได้เลย เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ถ้าอยากได้เข้มขึ้นก็เติมสีเพิ่ม ถ้าอยากได้อ่อนลงก็เติมแป้งและกาวเข้าไป สามารถปรับเฉดและพลิกแพลงได้ตามต้องการ

- เทสีที่ได้เก็บใส่ขวดแล้วปิดฝาให้สนิท
วิธีทำสีจากกาแฟ

- ตักกาแฟใส่ถ้วย

- รินน้ำร้อนลงไปเหมือนเวลาชงกาแฟดื่มแต่ไม่ต้องใส่น้ำเยอะ ปริมาณขึ้นอยู่กับความต้องการสีเข้มหรือสีอ่อน ถ้าอยากได้เข้มให้ใส่กาแฟหลายช้อนกับน้ำนิดหน่อย แต่ถ้าอยากได้อ่อนให้ใส่กาแฟนิดเดียวและเติมน้ำตามต้องการ

- ใส่แป้งมันสำปะหลังประมาณ 10 กรัม

- ใส่กาวลาเท็กซ์ตามลงไปประมาณ 10 ml.

- เทกาแฟที่ชงแล้วใส่ถ้วยเปล่าประมาณ 10 ml. ใส่แป้ง กาว และสี ในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน กะเอาจากความรู้สึกได้เลย ไม่มีสูตรตายตัว แป้งทำให้สีเกิดความข้น ซึ่งแป้งเป็นหนึ่งในส่วนผสมของสีโปสเตอร์อยู่แล้ว ส่วนกาวทำให้สีแห้งและเกาะกระดาษ

- คนส่วนผสมทั้ง 3 อย่าง สี แป้ง กาว ให้เข้ากัน

- ทดลองทาลงบนกระดาษได้เลย ถ้าอยากได้เข้มขึ้นก็เติมสีเพิ่ม ถ้าอยากได้อ่อนลงก็เติมแป้งและกาวเข้าไป สามารถปรับเฉดและพลิกแพลงได้ตามต้องการ

- เมื่อได้สีที่ชอบ เทสีใส่ขวดปิดฝาให้แน่น

- ทดลองกับวัตถุดิบต่าง ๆ แล้วเก็บสีโปสเตอร์ทำเองไว้เป็นคอลเลกชันสีส่วนตัวได้เลย