เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน น้ำอัดลมโดยเฉพาะโคล่าคงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มช่วยดับกระหาย นอกจากยี่ห้อดังไม่กี่ยี่ห้อแล้ว เทรนด์ของการทำ ‘คราฟต์โคล่า’ หรือโคล่าที่ทำขึ้นเองจากวัตถุดิบธรรมชาติก็กำลังเป็นที่นิยมกันในหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น 

และน่าดีใจที่บ้านเราก็เริ่มสนใจกันมากขึ้นเหมือนกัน เท่าที่เห็นก็เริ่มมีร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ หลายร้านที่เริ่มทำคราฟต์โคล่าขึ้นเองแล้ว

ให้บาร์เทนเดอร์ Wasteland สอนต้มโคล่าดื่มเอง โดยตั้งโจทย์จากของที่มีอยู่ในครัว

ข้อดีข้อแรกที่มีคนผลิตคราฟต์โคล่ามากขึ้น คือเพิ่มทางเลือกรสชาติเครื่องดื่มน้ำดำชนิดนี้ เราอาจชิมแล้วพอแยกออกว่าโคล่าที่มีอยู่ไม่กี่ยี่ห้อรสชาติต่างกัน แต่คราฟต์โคล่าสร้างรสชาติแตกต่างอีกเยอะมาก จากส่วนผสมที่นักทำโคล่าแต่ละคนจินตนาการและผสมเข้าไป 

เพราะการทำคราฟต์โคล่าต้องใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติจริงๆ เป็นส่วนผสม และส่วนใหญ่ไม่ผสมสารสังเคราะห์ แต่ก็แลกมาด้วยข้อเสียเรื่องราคาที่อาจจะสูงกว่าหลายเท่า แต่เราก็สามารถทำโคล่าดื่มด้วยตัวเองได้ จากของที่หาซื้อได้ตามร้านทั่วไป หรืออาจจะง่ายกว่านั้นถ้ามีวัตถุดิบอยู่แล้วในครัว

ให้บาร์เทนเดอร์ Wasteland สอนต้มโคล่าดื่มเอง โดยตั้งโจทย์จากของที่มีอยู่ในครัว

หนึ่งในนักปรุงคราฟต์โคล่าคือ กอล์ฟ-กิติบดี ช่อทับทิม Co-founder และบาร์เทนเดอร์ของ Wasteland ค็อกเทลบาร์ที่มีแนวคิดการใช้วัตถุดิบที่ต้องทิ้งจากครัวของร้านอาหารมาทำเป็นเครื่องดื่ม 

กอล์ฟใช้ก้านพริก ก้านสมุนไพร ที่ไม่ได้ใช้ในการปรุงอาหารของร้าน Bo.Lan มาทำเป็นส่วนผสมของ Cacao Cola โคล่าจากเปลือกโกโก้ที่มีรสเป็นของตัวเองไม่เหมือนใคร

เราให้กอล์ฟสอนการทำคราฟท์โคล่า โดยโจทย์คือต้องใช้ของที่หาได้ในครัว

กอล์ฟเล่าว่าวิธีทำโคล่ามีอยู่หลายวิธี แบบหนึ่งคือการหมัก เพื่อให้เกิดความซ่าโดยธรรมชาติ ซึ่งวิธีที่นิยมกันมากและง่ายคือการต้มไซรัปโคล่า ต้มเครื่องเทศรวมกันในหม้อเดียวกันเลย หรือต้มส่วนผสมแต่ละชนิดแยกกัน แล้วนำน้ำที่ได้มาผสมกันตามสัดส่วนทีหลังก็ได้ จะอัดแก๊สเข้าไปในขวด หรือจะมาเติมโซดาก่อนดื่มก็แล้วแต่ใครสะดวกแบบไหน 

เวลาดื่ม สิ่งที่เรารับรู้ว่าคือโคล่า มีโครงสร้าง 5 อย่างประกอบกัน 

1. น้ำโคล่า

ส่วนประกอบหลักของไซรัปโคล่า โดยปกติใช้สารสกัดได้จากถั่วโคล่า (Kola Nut) เป็นที่มาของคำเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ โคล่ามีคาเฟอีนอยู่ด้วย เดิมสารสกัดจากถั่วโคล่ามีรสขม เลยต้องผสมกับความหวานจากน้ำตาลเคี่ยวหรือกากน้ำตาล (Molasses) สีน้ำตาลของเครื่องดื่มโคลามีที่มาจากสีน้ำตาลไหม้นี่เอง ดังนั้น น้ำโคล่าจึงทดแทนด้วยวัตถุดิบที่มีลักษณะคล้ายกันได้ตามจินตนาการ นักทำโคล่าบางคนเลือกใช้กาแฟ ชา น้ำที่สกัดจากผลโกโก้มาทดแทนถั่วโคล่า มาผสมกับน้ำตาลเคี่ยว 

จากโจทย์ที่ใช้ของในครัว กอล์ฟเลือกใช้ซีอิ๊วดำหวานเป็นหนึ่งในส่วนผสม เพราะซีอิ๊วดำหวานมีองค์ประกอบเป็นกากน้ำตาลเคี่ยว ผสมกับกาแฟดำ

ให้บาร์เทนเดอร์ Wasteland สอนต้มโคล่าดื่มเอง โดยตั้งโจทย์จากของที่มีอยู่ในครัว

2. กลิ่นเครื่องเทศ

เครื่องเทศ 3 ชนิดที่เมื่อรวมกันแล้วเราจะคิดถึงโคล่าขึ้นมาได้ทันที คือ อบเชย ลูกจันทน์ และลูกผักชี เครื่องเทศที่เกือบครบเครื่องพะโล้ให้กลิ่นหลักของโคล่าได้แล้ว แต่ถ้าในครัวของใครมีก้านพริก ก้านตะไคร้ หรือก้านโหระพา เหลือ ก็นำมาเพิ่มกลิ่นให้กลายเป็นโคล่าแบบของเราเองได้เช่นกัน 

ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว

3. กลิ่นซิตรัส

กลิ่นของผลไม้ตระกูลส้ม มะนาว เป็นกลิ่นสำคัญของโคล่า เราจะใช้กลิ่นน้ำมันที่สกัดได้จากผิวมาใช้ ผลไม้ตระกูลซิตรัสให้กลิ่นมากกว่าเลมอนหรือมะนาว ใช้มะปี๊ด ส้มจี๊ด ทดแทนการใช้เลมอนทำโคล่าก็ได้ แต่ควรเป็นกลิ่นโทนเปรี้ยวแหลม หากใครกล้าใช้น้ำมันมะกรูดก็ได้ ไม่ผิดเลย 

4. กลิ่นหอมหวาน

ส่วนนี้เป็นส่วนเสริมให้โคล่ามีมิติขึ้น นี่คือคำตอบว่าทำไมกลิ่นวานิลลาหรือเชอร์รี่ถึงเป็นกลิ่นเย้ายวน ซึ่งทำให้โคล่ายี่ห้อดังใช้เป็นกลิ่นพิเศษ 

5. กรดคาร์บอนิก​ 

กรดคาร์บอนิกเกิดจาก​คาร์บอนไดออกไซด์​ทำปฏิกิริยากับน้ำ​ เป็นส่​วนประกอบเพื่อให้เกิดฟองและความซ่า​สดชื่น ระบบอุตสาหกรรม​ใช้วิธีอัดแก๊สให้ละลายไปในของเหลว​ แต่ถ้าทำที่บ้าน ใช้โซดาแทนก็ได้

วิธีง่ายและสะดวกที่สุดที่กอล์ฟเลือกใช้ตามโจทย์ ว่าต้องทำเองได้จากของในครัวที่บ้าน คือการต้มส่วนผสมรวมกันในหม้อเดียว เพื่อให้ได้ไซรัปโคล่ามาชงกับโซดา  

อุปกรณ์ 

  1. เปลือกมะนาว​คั้น 150 กรัม (ประมาณ8 – 10ลูก)
  2. อบเชยแท่ง​ 20 กรัม
  3. ลูกจันทน์ (หรือรกจันทน์) 10 กรัม
  4. ลูกผักชี​ 10 กรัม
  5. ก้านตะไคร้​ 5 กรัม
  6. ก้านโหระพา​ 5 กรัม
  7. วานิลลา (ถ้ามี) 1 ฝัก
  8. กาแฟ​ 50 มิลลิลิตร
  9. ซีอิ๊วดำหวาน​ 50 มิลลิลิตร
  10. น้ำตาล​ 200 กรัม
  11. ถุงกรองชา
  12. หม้อแบบมีฝาปิด

วิธีทำ 

ทำน้ำกลิ่นน้ำมันมะนาว

1. คั้นน้ำมะนาว เก็บน้ำไว้ก่อน เอาแต่เปลือกที่คั้นน้ำหมดแล้วใส่หม้อ

2. เทน้ำเดือดลงในหม้อเปลือกมะนาว 

3. ปิดฝาทิ้งไว้ 10 นาที เพื่อเก็บกลิ่นเอาไว้ให้มากที่สุด

4. กรองเอาเฉพาะน้ำแช่เปลือกมะนาว 

ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว

ทำไซรัปโคล่า

1. คั่วก้านตะไคร้กับก้านโหระพาด้วยหม้ออบความร้อน หรือคั่วในกระทะให้ร้อน ระวังอย่าให้ไหม้

3. ใส่ก้านโหระพาและตะไคร้ในถุงกรองชา เพราะต้องแยกออกจากหม้อระหว่างการต้ม

4. ใส่ถุงเครื่องเทศ รวมกับลูกผักชี อบเชย ลูกจันน์ ลงไปในหม้อ (ใส่วานิลลาต้มรวมไปได้ แต่ต้องกรีดฝักก่อน)

ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว
ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว

5. เติมน้ำ 500 มิลลิลิตร

6. ใส่ซีอิ๊วหวาน 50 มิลลิลิตร

7. ใส่กาแฟ 50 มิลลิลิตร

ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว

8. ต้มด้วยไฟอ่อนแบบปิดฝาหม้อ ใช้เวลาต้ม 15 นาที เมื่อครบ 5 นาทีแรก ตักถุงก้านตะไคร้และก้านโหระพาออก ส่วนอบเชยให้นำออกเมื่อถึงนาทีที่ 10  

9. ปิดไฟ ใส่น้ำตาล 200 กรัม คนจนละลาย

ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว

10. ใส่น้ำกลิ่นน้ำมันผิวมะนาวที่ต้มไว้​ในตอนแรก 200 มิลลิลิตร และเพิ่มน้ำมะนาว​ประมาณ​ 10 มิลลิลิตร

11. กรองส่วนที่เหลือด้วยผ้าขาวบาง เก็บใส่ขวดแก้วปิดฝาสนิทใส่ตู้เย็นไว้ 

วิธีชง 

ชงไซรัปโคล่า 1 ส่วน ต่อโซดา 3 ส่วน หากต้องการลดกลิ่นและความหวานของไซรัปลง ให้เติมน้ำมะนาวเพิ่มเข้าไปประมาณครึ่งช้อนชา

ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว
ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว
ทำโคล่าดื่มเองจากก้านตะไคร้ ก้านโหระพา ซีอิ๊วหวาน และสารพัดของในครัว

Writer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ