บ่ายแก่ ๆ ในยุคที่ต้องเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส เธอทั้งสองที่เรามาสัมภาษณ์ในวันนี้เดินยิ้มหวานมาพร้อมน้ำมะพร้าวแช่เย็นเจี๊ยบในขวดแก้ว พร้อมส่งให้เราดื่มดับกระหายจากแดดเปรี้ยงที่สาดส่องระหว่างเดินทาง หนึ่งในนั้น คือ ณัฐ-ภัทรพร สาลีรัฐวิภาค เธอเริ่มร่ายถึงที่มาที่ไปของน้ำมะพร้าวจากราชบุรีสุดอร่อยขวดนี้ พร้อมกับ เทส-ณัฐณิชา บูรพชัยศรี ที่เล่าเสริม ทั้งสองคือผู้ก่อตั้ง ‘Homeland’ แบรนด์ไลฟ์สไตล์ออร์แกนิกที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้ซื้อสินค้า วัตถุดิบ ผลไม้ และผัก จากเกษตรกรโดยตรงและโปร่งใส

ทั้งสองเป็นเพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก ณัฐร่ำเรียนด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนเทสเรียนด้านการตลาดศิลปะ พอจบปริญญาตรีที่อเมริกา ต่างก็แยกย้ายไปเรียนในสิ่งที่ชอบ แต่ยังติดต่อกันอยู่ตลอด แม้จะเชี่ยวชาญคนละด้าน แต่ความแตกต่างนั้นกลับส่งเสริมในส่วนที่ขาดของกันและกัน จนออกมาเป็นแบรนด์ที่มาจากความสนใจของเธอทั้งคู่

Homeland ร้านชำออนไลน์เล็ก ๆ ขายของดีจากเกษตรกรทั่วไทย เพื่อการกินและผลิตที่ยั่งยืน
Homeland ร้านชำออนไลน์เล็ก ๆ ขายของดีจากเกษตรกรทั่วไทย เพื่อการกินและผลิตที่ยั่งยืน

กระดูกสันหลังของชาติ

“เกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” 

ณัฐเกริ่นประโยคคลาสสิกที่ไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ยิน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือความจริง

“ขณะเดียวกันประเทศเราเป็นประเทศแห่งการส่งออกอาหาร แต่พอเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกอย่างกลับแปลกประหลาด เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นผู้ผลิต ต่างจากตอนอยู่เมืองนอก เราได้ไปตลาดเกษตรกร ได้เจอ ได้คุยกับเกษตรกรจริง ๆ แต่พอเป็นเมืองไทย เรารู้ว่าเรื่องพวกนี้มันใกล้ตัวมากเลยนะ แต่ก็ยังรู้สึกไกลตัวและเข้าถึงยาก” ณัฐเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง ชวนเราร่วมสงสัย

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อนสนิททั้งสองเลยช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลลง Rice Milk สื่อเล็ก ๆ ที่เป็นช่องทางให้คนเรียนรู้ข้อมูลที่ดีต่อการใช้ชีวิต การบริโภคอย่างยั่งยืน ทำไปทำมาจากพื้นที่นี้ก็ขยายผลสู่การลงพื้นที่จริง ไปพบกับต้นน้ำอย่างเกษตรกรไทย

“เหมือนที่ณัฐบอก ประเทศเราเป็นประเทศที่ผลิตอาหารอยู่แล้ว ไหน ๆ เรามีโอกาสคุยกับเกษตรกร ทำไมเราไม่ทำ เลยขอลองดูสักตั้ง” เทสกล่าวขึ้น คลายข้อสงสัยว่าทำไมถึงเริ่มมาพูดถึงเรื่องเกษตรกรไทย จากนั้นทั้งสองจึงเริ่มตระเวนลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรในสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ (Thai Organic Consumer Association – TOCA) ทำให้ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของเกษตรกรเก่ง ๆ ที่ทำเกษตรแบบออร์แกนิกมากมาย

โดยมีความฝันว่าอยากเปลี่ยนเเปลงระบบอาหารของประเทศไทย ให้ดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และโลกใบนี้

Homeland ร้านชำออนไลน์เล็ก ๆ ขายของดีจากเกษตรกรทั่วไทย เพื่อการกินและผลิตที่ยั่งยืน

ส่วนหนึ่งของสายน้ำ 

มีการลงพื้นที่ครั้งแรกก็ต้องมีครั้งถัดไป เมื่อลงพื้นที่ไปเรื่อย ๆ ทั้งสองเริ่มพบเจอปัญหาการเกษตรที่เกษตรกรทั้งที่เป็นออร์แกนิกและเคมีในไทยต้องพบเจอ พอเกิดการพูดคุยกันมากขึ้น พวกเธอจึงเริ่มอยากช่วยเกษตรกรเหล่านั้นด้วยสิ่งที่ตัวเองเองสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์กับเหล่าเกษตรกรด้วย จนสุดท้ายออกมาเป็น Homeland ร้านชำออนไลน์ที่นิยามตนเองว่าเป็น ‘Conscious Grocer’ เป็นส่วนหนึ่งของสายธารแห่งผลผลิตทางเกษตรในประเทศไทย ที่ตอบโจทย์ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

“เราเรียกตัวเองว่า Conscious Grocer เป็นร้านชำที่ย้อนกลับไปเหมือนสมัยก่อนนิดหนึ่ง ตรงที่บรรจุภัณฑ์ไม่ค่อยมี และทำงานกันกับพี่ ๆ เกษตรกรโดยตรง สิ่งที่เราทำคือการสร้างคอมมูนิตี้ และเป็นพื้นที่ให้คนที่กำลังสนใจเหมือนกัน” ณัฐเล่า

“เราเน้นความเป็นไลฟ์สไตล์ด้วยค่ะ และอยากมอบเกร็ดความรู้ให้เขา มากกว่าแค่การขายของเฉย ๆ” เทสเสริม

“เพราะเราคิดว่าการบริโภคอย่างยั่งยืนและการผลิตอย่างยั่งยืนควรเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ซึ่ง Homeland ไม่ได้มองตัวเองเป็นสายกรีน หรือคนสายกรีนเท่านั้นถึงจะเป็นส่วนหนึ่งกับเรา ไม่ใช่ เราเปิดรับทุกคนที่อยากเป็นคอมมูนิตี้เดียวกัน” ณัฐอธิบาย

โจทย์ที่พวกเธอได้รับหลังจากลงพื้นที่ คือปัญหาเกษตรกรโดนกดราคา และได้รับสัญญาณความต้องการตลาดแบบผิด  ๆ เกษตรกรจึงแห่กันปลูกพืชผักชนิดเดียวกันจนพืชผักล้นตลาดและราคาตก เพื่อแก้ไขปัญหานั้น ทั้งสองตั้งหมุดหมายของ Homeland ไว้ว่า จะเป็นหนึ่งในช่องทางอันโปร่งใสให้แก่เกษตรกรที่เปลี่ยน และกำลังเปลี่ยนมาสู่การเกษตรยั่งยืน ส่งเสริมให้เกษตรกรยืนด้วยตัวเอง รู้ความต้องการของตัวเองและความต้องการของตลาด ยั่งยืนในแง่ของสุขภาพที่ดีขึ้นจากการลดและงดการปลูกแบบพึ่งพาสารเคมี

ร้านชำออนไลน์ของสองเพื่อนรักที่ฝันอยากเปลี่ยนเเปลงระบบอาหารของไทยให้ดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และโลกใบนี้

ต้นน้ำ

จนถึงตอนนี้ Homeland มีพันธมิตรกลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ที่มาเป็นคู่ค้าให้เธอหลากหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ศรีสะเกษ มีสินค้าอย่างกระเทียมศรีสะเกษ มะนาวไร้เมล็ด และน้ำผึ้งจากเชียงราย มะพร้าวจากราชบุรี ผักสลัดจากนครปฐม ข้าวจากอำนาจเจริญและอุบลราชธานี กล้วยหอมทองจากโคราช กะหล่ำปลีจากป่าละอู นอกจากจับมือกับเกษตรกรแล้ว ยังจับมือกันระหว่างธุรกิจ อย่างสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย, Wasteland และ Kad Kokoa ที่ร่วมมือกันออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและช็อกโกแลต ให้เหล่าผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าการเกษตรปลอดสารเคมีและยั่งยืน 

ซึ่งในเว็บไซต์ พวกเธอก็เล่าที่มาที่ไปของผลผลิตและเรื่องราวของเกษตรกรอย่างน่ารัก จนคนกินรู้สึกอุ่นใจทันที

นอกจากมีสินค้าให้เลือกซื้อแล้ว เธอทั้งสองยังตั้งใจจะกระจายความรู้การบริโภคอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคได้รู้ว่าตัวเองกำลังกินอะไรอยู่ การกินและอุดหนุนผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ในประเทศนั้นดีต่อสุขภาพอย่างไร

ร้านชำออนไลน์ของสองเพื่อนรักที่ฝันอยากเปลี่ยนเเปลงระบบอาหารของไทยให้ดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และโลกใบนี้

บ้านเกิด

Homeland อยากแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก็มีวัตถุดิบชั้นดีที่ไม่ควรมองข้าม จึงอยากสร้างความตระหนักให้คนไทยรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องซื้อพืชพันธ์ุผักผลไม้นำเข้า แต่ควรหันมาสนับสนุนผลผลิตปลอดภัยและรู้ที่มาจากเกษตรกรไทยด้วยกันเอง 

“ชื่อ Homeland มาจากไอเดียของการกลับมาดูแลบ้านเกิด บ้านเกิดของเราคือที่นี่ เราจะตอบแทนบ้านเกิดด้วยวิธีไหน จะทำอย่างไรให้บ้านเกิดเราดีขึ้น เพื่อคนในประเทศจะได้มีอนาคตที่มั่นคงขึ้นไม่มากก็น้อย” ณัฐกล่าวถึงเจตนารมณ์ของ Homeland

  สุดท้ายแล้วหมุดหมายของ Homeland ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรไทยกับผู้บริโภค แต่อยากเป็น Conscious Grocer แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคทุกประเภทหันมาสนใจการบริโภคอย่างยั่งยืน

ร้านชำออนไลน์ของสองเพื่อนรักที่ฝันอยากเปลี่ยนเเปลงระบบอาหารของไทยให้ดีต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และโลกใบนี้

ติดตามและสั่งซื้อสินค้า ได้ที่ homelandgrocer.com/th/

Writer

Avatar

ปุณณ กาญจนะโภคิน

นักฝึกเขียน ผมไม่ค่อยมีเวลาว่างเพราะไม่ได้หวี ศิลปะยืนยาว ชีวิตขอนั่งก่อนเมื่อย เป็นคนชอบกิน เพื่อนเลยไม่ให้เป็นเจ้ามือ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ