The Cloud x Pruksa
บ้านที่ออกแบบมาอย่างดี เหมาะกับทุกคนทุกช่วงอายุ ทำให้เราอยู่อาศัยได้อย่างสบาย โดยไม่ต้องกังวลทั้งในเรื่องความปลอดภัย การบำรุงรักษา หรือว่าการใช้ชีวิตในทุก ๆ ตารางเมตร ความสุขสบายทางกายย่อมส่งผลต่อความสุขสบายทางใจ ซึ่งบ้านจากพฤกษา เรียลเอสเตท คิดถึงเรื่องเหล่านี้ไว้หมดแล้ว แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่เตรียมตัวสำหรับการมีผู้สูงอายุในบ้าน
สำหรับวัยนี้ การดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอเป็นเรื่องสำคัญกว่าการรักษา เพราะการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ดังนั้นการได้อยู่ในบ้านที่เตรียมพร้อมทุกด้านจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจ ไม่ใช่แค่การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ออกแบบรองรับผู้สูงอายุให้เดินเหินสะดวก เช่น ประตูที่มีขนาดกว้างพอให้รถเข็นเข้า-ออกได้ บันไดกว้างให้เหยียบได้ถนัดเท้า พื้นแบบ Non Step Floor ช่วยลดการเกิดเหตุไม่คาดฝันและเอื้อต่อความสบาย หรือมีมุมหย่อนใจที่ออกแบบอย่าง Universal Design เป็นมิตรกับทุกคนเท่านั้น การมีพื้นที่ในบริเวณบ้านให้ได้ทำกิจวัตรประจำวันไปพร้อม ๆ กับดูแลสุขภาวะของตัวเอง จะช่วยให้พวกเขาแข็งแรงแจ่มใสได้ทุกวัน
แล้วจะทำอย่างไรให้กายใจไม่เศร้าซึม และทำให้การอยู่บ้านสุขสนุกขึ้นกว่าเคย
The Cloud และ พฤกษา เรียลเอสเตท จึงอยากชวนทั้งคุณลูก คุณหลาน และ สว. ที่บ้าน ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมบำบัดกายใจอย่างถูกวิธี ตั้งแต่การเล่นโยคะ ออกกำลัง ทำกายภาพ ไปจนถึงการฟื้นฟูจิตใจ จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ด้าน โดยเน้นสร้างสมดุลการทรงตัวและยืดเหยียดร่างกาย เน้นป้องกันการหกล้มและบาดเจ็บจากการใช้ชีวิตประจำวัน ป้องกันภาวะสมองเสื่อม กล้ามเนื้อฝ่อลีบ แถมยังทำเองที่บ้านได้ง่าย ๆ ไม่เป็นอันตราย จะทำเองคนเดียวหรือชวนลูกหลานมากระชับความสัมพันธ์ทำไปด้วยกันก็ตามแต่จะเลือกสรร รับรองว่านอกจากสุขภาพดีทุกวันแล้ว การอยู่บ้านของทุกคนในครอบครัวจะอบอุ่นอีกเป็นกอง
01 เปลี่ยนบ้านเป็นยิมส่วนตัว
ภายในบ้านของพฤกษาอย่างโครงการ The Palm แจ้งวัฒนะ-ชัยพฤกษ์ มีห้องสำหรับผู้สูงวัยอยู่ชั้นล่าง และขนาดพื้นที่มากพอให้แบ่งไว้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ทั้งวัน แถมยังมีบันไดขนาดพิเศษให้เดินลงขึ้นสะดวก ฉะนั้น มาเตรียมบอกลาความเหงาแล้วเปิดประตูต้อนรับสุขภาพและชีวิตดี ๆ ในทุกส่วนของบ้านกัน
ก่อนอื่นใด เราขอแจก 3 สูตรสุขภาพดีสำหรับสูงวัย ให้จดไว้เลยว่า ‘ทรงตัวดี ร่างกายยืดหยุ่น กล้ามเนื้อแข็งแรง’ อธิบายเพิ่มอีกนิดนั่นก็คือ ผู้สูงอายุควรออกกำลังกาย 3 ประเภท ได้แก่ ฝึกการทรงตัว ฝึกความยืดหยุ่น ฝึกความแข็งแรง
มาเริ่มกันที่ข้อแรก เรื่องการทรงตัว หลายคนประสบปัญหานี้จากความเสื่อมของข้อกระดูกต่าง ๆ จึงทำให้ล้มง่าย สำหรับวิธีฝึกที่ง่ายกว่าล้ม เราเตรียมมาให้ทั้งท่ายืนและท่านั่ง เพียงใช้อุปกรณ์ในบ้านอย่างโต๊ะ เก้าอี้ และกำแพง แล้วทำตามนี้ได้เลย
ท่ายืน ให้ยืนจับพนักเก้าอี้หรือโต๊ะ กางขาแล้วปล่อยมือดูว่ายืนตรงได้ไหม ถ้ายืนได้ ค่อยเพิ่มความยากมากขึ้น ด้วยการปล่อยมือ ยืนเท้าชิด ถ้าทรงตัวได้อีก ลองยกขาข้างเดียวให้สูงประมาณเข่าค้างไว้ 10 วินาที สลับข้างทำทั้งหมด 5 ยก
ท่าที่ 1 ผ่านฉลุย ถัดไปให้เดินต่อเท้า โดยพาตัวเองไปยืนริมผนังฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เผื่อรู้สึกว่าทรงตัวไม่ไหวจะได้มีที่จับ ปลายเท้าขวาแตะหน้าเท้าซ้ายช้า ๆ เริ่มต้นทำ 10 ก้าว พัก แล้วทำต่ออีก 5 ยก
ส่วนท่าเดินสไลด์ ให้หันหน้าเข้ากำแพง กางขาออก เดินก้าวชิดก้าว 10 ครั้ง หรือไปจนสุดทางแล้วเดินกลับ ทำ 5 ยกเช่นเดียวกัน
02 โยคะในบ้าน
ทรงตัวดีแล้ว ต่อไปก็มาฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันการฝ่อลีบ เพิ่มมุมองศาการทำงานและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ป้องกันข้อยึดติด สำหรับการยืดเหยียดที่ไม่เป็นอันตราย บริหารกล้ามเนื้อได้ทุกสัดส่วน เราก็ชวนครูสอนโยคะ มาแนะนำท่าเบสิกสำหรับสูงวัยให้แล้ว
เสน่ห์ของโยคะคือการเชื่อมโยงกันระหว่างร่างกาย อารมณ์ และสมาธิ การฝึกโยคะบ่อย ๆ จึงช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายไปด้วย ความลับอีกข้อ โยคะช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งและชะลอวัย จึงฝึกได้ทุกเพศทุกวัย ก่อนเริ่มมาวอร์มร่างกายให้พร้อมด้วยท่าสุขอาสนะ นั่งขัดสมาธิ จัดกระดูกสันหลังให้ตรง หงายมือสองข้างบนเข่า หายใจเข้าออกลึก ๆ 5 ครั้ง กำหนดสติที่ลมหายใจ ทบทวนการรับรู้ไปในตัว จากนั้นยกแขนเหนือศีรษะค้างไว้ 10 วินาที ทำสัก 5 เซ็ต
เมื่อพร้อมแล้ว ยืนขึ้นช้า ๆ ทำ ท่าต้นไม้ หรือ Tree Pose ท่านี้สร้างสมดุลให้ร่างกาย ช่วยในการทรงตัว ช่วยให้ข้อเท้า น่อง กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรง ช่วยเหยียดไหล่ ยืดสะบักด้านหลัง แถมยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นได้ด้วย
เริ่มจากยืนให้แขนชิดกัน ทิ้งน้ำหนักไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนเท้าอีกข้างยกขึ้นมาวางชิดระดับข้อเท้า เมื่อรู้สึกว่ายืนได้อย่างมั่นคงแล้ว ประกบฝ่ามือที่อก หายใจเข้า ยืดแขนขึ้นจนสุด ค้างไว้ 10 วินาที หายใจออกพร้อมลดมือลง จากนั้นสลับข้างเท้า ทำข้างละ 5 ครั้ง
ท่าแมวและวัว (Cat and Cow Pose) ท่านี้เป็นการยืดกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง บริหารเอวและหน้าท้องให้แข็งแรง เหมาะกับคนที่ชอบปวดหลังปวดเอวบ่อย ๆ ทำท่าคลานเตรียมไว้ มือแยกกว้างโดยใช้นิ้วกดไว้ ให้นิ้วโป้งหันฉาก นิ้วกลางหันตรง จิกจมูกเท้าตั้ง หายใจเข้า หย่อนท้องลงมา ยกกระดูกก้นกบ เกร็งหน้าท้อง ยืดอกและเงยหน้า เรียกว่า Cat Pose จากนั้นทำ Cow Pose ก้มหน้า หายใจออก ยกหลังบนขึ้นในลักษณะโก้งโค้ง แอ่นสะโพก ทำ 8 – 10 ครั้งตามลมหายใจเข้า-ออก
ท่าเต่า (Tortoise Pose) แก้ปวดหลังล่าง กระเบนเหน็บ และนวดอวัยวะภายในช่องท้อง ท่านี้ให้นั่งลงเอาฝ่าเท้าประกบกัน ก้มหน้ายืดหลังลงไป พร้อมหงายฝ่ามือผ่อนคลายหัวไหล่ทั้งสองข้าง ให้ศีรษะแตะลงไปที่ปลายเท้า (ไม่ถึงไม่ต้องฝืนเอาเท่าที่ไหว)
ท่าบิดตัว หรือ มัสเยน ช่วยให้ขาพับ เส้นใต้สะโพก กระดูกสันหลัง ต้นแขน ไปจนถึงหัวไหล่ได้ยืดหยุ่น มีของแถมเป็นการนวดอวัยวะช่องท้อง ระบบย่อยอาหาร และลดไขมันที่เอวด้วยนะ เริ่มจากจัดท่านั่ง เก็บเท้าข้างหนึ่งไว้ที่สะโพก ชันหัวเข่าขึ้น เท้าชิดติดสะโพก เอาศอกข้างตรงข้ามไปขัดหัวเข่าให้ลึกที่สุด มือข้างหนึ่งดึงไปประกบและยืดหลังล่างขึ้น มือออกแรงต้าน มืออยู่ตรงกลางระหว่างร่องอก ค้างไว้ 10 วินาทีแล้วเปลี่ยนข้าง
ข้อควรระวัง หากเล่นโยคะภายในบ้าน ควรสวมเสื้อผ้าที่เคลื่อนไหวสะดวก มีอุปกรณ์เช่นเสื่อหรือบล็อกโยคะ และต้องให้ความใส่ใจเรื่องพื้นเป็นพิเศษ บ้านที่มีพื้น Absorption Floor จะช่วยคลายความกังวลให้เล่นโยคะได้อย่างสบายใจ และลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน หรือหากต้องฝึกท่ายากขึ้น ควรมีครูฝึกคอยให้คำแนะนำอย่างถูกต้องจะดีกว่านะ
นอกจากโยคะ เรายังใช้พื้นที่อื่น ๆ ในบ้านออกกำลังในส่วนของการยืดเหยียดได้อีก เช่น ยืดเส้นรักแร้ ต่อมน้ำเหลือง หลังกับราวบันได โดยกางขาออก ใช้มือจับราวไว้ และก้มตัวลงไป ส่วนการหมุนหัวไหล่ แก้ไหล่ติดก็ทำได้ คือมือหนึ่งจับค้างไว้ และยกอีกมือขึ้นหมุนมาจับราว ทำสลับข้างไปเรื่อย ๆ
ส่วนตรงกำแพง เราขอเสนอท่าชื่อน่ารักอย่าง ‘แมงมุม’ หันข้างชิดกำแพง แยกเท้าเพื่อการทรงตัว ยืดแขนขึ้นจนสุด ใช้วิธีไต่ไปข้างหลังแล้วกลับมาข้างหน้า ทำ 8 – 10 ครั้งแล้วสลับข้างได้เลย
สำหรับใครที่ยืนไม่ไหว มีท่ายืดเส้นบนเก้าอี้ ทำได้โดยนั่งหลังชิดพนัก ยกขาขึ้น กระดกเท้าค้างไว้ 10 วินาที ทำ 5 ครั้ง ท่านี้จะได้ทั้งขาและน่อง ส่วนลำตัว วางเท้าติดพื้น บิดซ้ายขวาไปมา ต่อด้วยมือจับที่พนักแขน แล้วยกเข่าขึ้นมาชิดอก ทำ 5 เซ็ตกำลังดี
03 ออก (กำลังกาย) นอกบ้าน
ข้อสุดท้าย มาที่การออกกำลังสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายและสูดอากาศดี ๆ นอกบ้านกันบ้าง ยิ่งในหมู่บ้านของพฤกษามีสวนส่วนกลางที่เต็มไปด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่แสนร่มรื่น มีลู่ทางเดินพร้อมอุปกรณ์หลายหลาก ก็ยิ่งน่าสนุกเข้าไปใหญ่
ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้สูงวัยควรมีกิจกรรมรอบบ้าน ควรออกมาข้างนอกเพื่อเจอสังคม ได้เจอเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน ให้พูดคุยอย่างเข้าอกเข้าใจและคลายเหงา
ถ้าให้คะแนนความเหนื่อยในการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงวัย เต็ม 10 ควรเหนื่อยแค่ 4 – 6 คะแนนก็พอ ไม่เน้นหนัก แต่เน้นเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ 30 – 40 นาทีต่อวัน และถ้าเหนื่อยหรือรู้สึกหน้ามืด เวียนหัว ก็พักเป็นยก ๆ ได้
การออกกำลังกายที่เหมาะ ให้เน้นการเดินหรือจ๊อกกิ้งเบา ๆ เน้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อก้น กล้ามเนื้อหน้าขา เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่คอยพยุงร่างกายเรา ยิ่งแข็งแรงก็ยิ่งเดินเหินต่อไปได้สะดวก รวมถึงกล้ามเนื้อแขน ให้ยังมีเรี่ยวแรงหยิบจับสะดวก
วันไหนอากาศดี ลองออกกำลังกายด้วยการหายใจ สำหรับคนที่เหนื่อยง่าย วิตกกังวล และคนที่นอนนาน ๆ ไม่ได้ขยับ ปอดจะขยายน้อย ให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ แล้วหายใจเข้าช้า ๆ ให้สุด ยกแขนลงหายใจออกช้า ๆ เพิ่มการไหลเวียน แลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอด ก็จะเหนื่อยน้อยลง มีเลือดมาเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น ยิ่งไปทำในสวนก็ยิ่งสดชื่น
อีกวิธี กำหนดลมหายใจไปพร้อมกับการผ่อนคลายเท้า คล้ายการเดินจงกรม เปลือยเท้าเปล่าเดินให้ธรรมชาติช่วยบำบัดไปในตัว บริเวณส่วนกลางของที่นี่มีโซนหินบำบัด การเดินอย่างช้า ๆ ช่วยกระตุ้นการรับรู้สัมผัสของเท้า ช่วยเรื่องเท้าชา กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยให้หลับง่าย อย่างที่รู้กันว่าเท้าเป็นจุดศูนย์รวมของเส้นประสาท เส้นเลือด ถ้าพบว่าจุดไหนเจ็บมาก ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกาย เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยที่เริ่มมีปัญหาการทรงตัว ควรย่ำอยู่กับที่และเกาะราวตลอดเวลา สามารถเกาะราวและยืดเส้นไปด้วยได้นะ โดยใช้เท้าพาดราวข้อต่ำที่สุด มือจับราวแล้วยืดหลังก้มตัวลงไปให้ตึง
04 ลงสระ (ไม่) ว่ายน้ำ
นอกจากไปที่สวนส่วนกลางแล้ว ที่ Clubhouse โครงการของพฤกษามีสระว่ายน้ำทั้งสระผู้ใหญ่และสระเด็กด้วย ซึ่งการออกกำลังกายในน้ำก็มีข้อดีน่าสนใจหลายอย่าง ทำได้ทุกวัย ทั้งยังเพิ่มความหลากหลายในการออกกำลังกาย โดยใช้คุณสมบัติของน้ำที่มีทั้งแรงต้านและแรงพยุงไม่ให้รับน้ำหนักมาก ช่วยให้ไม่บาดเจ็บ และลดแรงกระแทก ลดน้ำหนัก ผู้สูงวัยที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม พอรับน้ำหนักมากจะปวด น้ำจะเป็นตัวช่วยพยุงร่างกายปวดลดลง
น้ำช่วยลดน้ำหนักเราลง ถ้ายืนระดับสะดือ น้ำหนักจะลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้ายืนระดับอก น้ำหนักจะลดลงไป 3 ใน 4 ของร่างกาย ระดับน้ำยิ่งสูง แรงกดยิ่งลดลง สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากก็ช่วยได้เพราะยิ่งมีแรงกด ถ้าออกกำลังกายบนบกจะยิ่งทำให้ปวดข้อเข่า พอมีน้ำก็ช่วยลดอาการปวดเท้า ปวดเข่าได้ หรือคนที่มีปัญหายกแขนสุดไม่ได้ ลองย่อตัวในน้ำให้ถึงระดับคอ แล้วปล่อยให้แขนลอยขึ้นเอง บางคนกางแขนไม่ไหว เอามือจับโฟม ขยับวาดแขนซ้ายขวาเพื่อช่วยเพิ่มมุมของข้อต่อและเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว เพราะคนสูงวัยมักมีปัญหาข้อต่อ งอเหยียดไม่ค่อยได้ ซึ่งการทำในน้ำเราจะกางแขนได้ง่ายและนานขึ้น
น้ำเป็นแรงต้าน เช่น ถ้าเราอยากให้มีอะไรต้าน แทนที่จะไปยกน้ำหนักหรือเวทเทรนนิ่ง ใช้แรงต้านของน้ำช่วยกด พอเรากดมือลงน้ำ จะมีแรงดันของน้ำเป็นน้ำหนักแทน ขาก็เช่นเดียวกัน ถ้านั่งขอบสระแล้วเตะขาออกไปจะรู้สึกยาก จึงเหมือนได้ออกกำลังขา
ท่าบิด ท่าสำหรับคนไหล่ติด และได้บริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องด้วย สอดโฟมไปไว้ข้างหลังใต้รักแร้ แยกเท้ากว้าง ๆ ย่อลง ให้หัวไหล่จมน้ำ แล้วบิดหมุนขวาหมุนซ้าย ช่วยปรับแนวกระดูกสันหลัง ปรับหมอนรองกระดูกให้เข้าที่ เพิ่มความยืดหยุ่นตั้งแต่ช่วงเอวขึ้นมาถึงสะบักหัวไหล่ด้านบน การออกกำลังกายในน้ำมีแรงต้านของน้ำช่วยซัพพอร์ต และออกได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะผ้สูงวัยที่มีน้ำหนักตัวมาก สำหรับคนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม น้ำจะช่วยพยุงไม่ให้บาดเจ็บ และสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ สร้างความยืดหยุ่นสำหรับคนที่ตึงมาก ๆ ยืดบนบกไม่ออก
ท่าขี่ม้าก้านกล้วย ให้สอดโฟมไปที่หว่างขา ย่อลง แล้วก้าวกระโดดเบา ๆ ไปข้างหน้า เหมาะกับคนที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งทำท่านี้บนบกไม่ได้ หัวเข่าจะมีแรงกระแทก
ท่าหมุนหัวไหล่ในน้ำ สำหรับคนไหล่ติดมาก ๆ ท่านี้ช่วยคลายได้ ให้ยืนแยกปลายเท้าออกเหมือนยักษ์วัดแจ้ง ย่อตัวให้หัวไหล่จมน้ำ มือแตะหัวไหล่ หุบศอก เปิดศอก หมุนจากด้านหลังมาด้านหน้าแล้วก็หมุนกลับ
และเรายังฝึกการทรงตัวในน้ำได้ด้วยนะ ทำท่าเดียวกับการฝึกทรงตัวบนบกที่แนะนำไปแล้วได้เลย
ข้อควรระวัง ความลึกของสระก็มีผลต่อการออกกำลังกาย สระน้ำควรอยู่ในระดับที่ยืนได้หรือระดับเอวถึงอก ถ้าต่ำกว่าเข่าก็ไม่ช่วย และควรมีอุปกรณ์ช่วยซัพพอร์ต ใส่ห่วงยาง หรือทางที่ดีควรมีลูกหลานอยู่ด้วยเพื่อความปลอดภัย
ก่อนลงควรยืดเส้น โดยออกกำลังกายแบบยืดหยุ่นไปก่อน หรือวอร์มร่างกาย ยืดแขน ขา แขน น่อง กันตะคริว โดยนั่งกับพื้นเอามือแตะปลายเท้า ถ้าไม่ถึงก็จับแค่หัวเข่า พอรู้สึกตึงก็กระดกเท้าขึ้น ยืดค้างไว้ 10 วินาที วอร์ม 5 – 10 ครั้งต่อท่า
05 บริหารสุขภาพจิต
เพราะเป็นวัยที่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ และสังคม มักจะเสียความมั่นใจในตัวเองได้ง่ายมาก และรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียคุณค่า วิตกกังวล ซึ่งการที่อารมณ์เปลี่ยนมาจากสมองและร่างกายที่ระดับฮอร์โมนลดลง ถ้าเป็นผู้หญิง ก็อย่างที่เราเรียกกันว่าเข้าวัยทอง ส่วนผลจากสุขภาพจิตก็จะมีผลต่ออารมณ์ วนกันเป็นลูป ยิ่งวิตกกังวลมากก็ยิ่งส่งผลต่อกันเป็นห่วงโซ่ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ การมอบความอบอุ่นและความเข้าอกเข้าใจภายในบ้านเป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้
แต่ถ้ามีอาการเจ็บป่วยไม่ทราบสาเหตุ ต้องไปเช็กว่าเกิดจากปัญหาในร่างกายหรือเกิดจากปัญหาสภาพจิต เพราะถ้าเกิดความเครียดขึ้นก็จะเกิดการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย ไปลดภูมิคุ้มกัน อาจสะสมไปทำปวดตึงเกร็งกล้ามเนื้อตามมา และความจริงอีกข้อที่ต้องยอมรับคือ การที่อายุเรามากขึ้น จะมีวงจรการนอนหลับยาวที่สั้นลง ไม่ต้องแปลกใจหากง่วงเหงาหาวนอนในตอนกลางวัน เพราะผู้สูงวัยมักตื่นเช้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีที่จะนอนเก็บสะสมพลังงานไว้ แต่ไม่ใช่ง่วงซึมทั้งวัน อันนั้นต้องปรึกษาแพทย์
การจะเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างแฮปปี้นั้น นักจิตวิทยาแนะนำว่าต้องฝึกการพึ่งพาตัวเองได้ และอนุญาตให้ตัวเองพึ่งพาคนอื่นอย่างบาลานซ์ คือ มีความสุขเองได้ ทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และเมื่อถึงเวลาที่ต้องพึ่งพา ก็ควรให้ลูกหลานได้ทำหน้าที่ดูแล ไม่ใช่คิดว่าจะเป็นภาระใคร เพราะการพึ่งพาคนอื่นเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้ามีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน ก็จะผ่านวัยสูงอายุไปสู่วัยชราได้อย่างมีพลัง มีความสุข เพราะสิ่งนี้คือความเข้าใจต่อความจริง ธรรมชาติ และยอมรับความเป็นมนุษย์
นอกจากนั้น การพึ่งพาตัวเองได้ ยังช่วยเรียกคืนความมั่นใจและสร้างคุณค่าในตัวเองให้กลับมา เพราะแท้จริงแล้ว การเป็นคนสูงวัยยังมีความฝันได้ อย่ามองว่าตัวเองเป็นสิ่งของหมดอายุ เรายังเป็นคนคนหนึ่งที่มีศักยภาพเหมือนเดิม เพียงแค่ว่าอายุเยอะขึ้น ยังตั้งเป้าหมายและลงมือทำได้ แม้จะอยู่ในบ้านก็สร้างกิจกรรมใหม่ ๆ ให้ตัวเอง เช่น ทำกับข้าว ทำงานบ้าน เล่นดนตรี จัดดอกไม้ ปลูกต้นไม้ ทำในสิ่งที่ชอบ หรือแม้แต่จะลองศึกษาหาความรู้ใหม่ เรียนรู้เทคโนโลยี ขายของออนไลน์ก็ยังได้
จงเชื่อว่าคนเรายังมีไลฟ์สไตล์ได้ ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ แต่ต้องค้นหาว่าอะไรคือสิ่งที่จะใช้ชีวิตบทใหม่อย่างมีความสุขให้เจอ
ข้อสำคัญ การได้ทำอะไรอยู่เสมอยังช่วยป้องกันภาวะอัลไซเมอร์ได้ด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าเราหรือลูกหลานไม่ปล่อยให้ทำอะไรเลย ก็จะไม่มีทางรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น จากที่เคยทำอาหารเมนูนี้ได้ ถ้าเกิดจำสูตรไม่ได้ เราก็จะรับรู้ได้ทันทีและพาไปพบหมอได้ทันเวลา
และมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่ว่าใครเจนไหนก็ต้องการคอมมูนิตี้ เมื่อต้องอยู่บ้านเป็นหลัก หมู่บ้านจะเป็นคอมมูนิตี้ที่ดีและปลอดภัย หมู่บ้านที่ปลอดภัยก็เอื้อให้กล้าออกไปเดินเจอเพื่อนบ้าน ยิ่งเป็นสังคมสูงวัยด้วยกัน ยิ่งมีความเข้าอกเข้าใจกัน ช่วยคลายเหงาได้อีกทาง
การมีพื้นที่ปลอดภัยจึงสำคัญต่อการก้าวสู่วัยสูงอายุด้วยเช่นกัน ทั้งพื้นที่ปลอดภัยทางกายภาพและพื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์
พื้นที่ปลอดภัยทางกายภาพ คือที่อยู่อาศัยที่ซัพพอร์ตให้คุณภาพชีวิตดี มีคุณภาพชีวิตที่ออกแบบได้ ถ้าที่อยู่ปลอดภัยก็ไม่ต้องกังวลชีวิตที่กำลังจะเป็นไป เช่น ออกแบบบันไดกว้างขึ้นมาอย่างดี ขึ้นลงทีก็ไม่หงุดหงิด ไม่ต้องมาคอยกลัวตก พื้นไม่มีสเต็ปสำหรับรถเข็นก็เข้าห้องน้ำเองได้ บ้านอากาศถ่ายเทไหลเวียนดี โปร่งโล่งไม่อึดอัด และกล้าออกไปส่วนกลางที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวก ยิ่งในอนาคตโครงการบ้านของพฤกษาร่วมมือรับโรงพยาบาลวิมุต บริการพิเศษสำหรับลูกบ้าน โดยมีแผนจะเปิดศูนย์สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้โครงการ ตลอดจนรับดูแลระยะยาวเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ (Nursing Home) ก็ตัดความกังวลเรื่องความปลอดภัยทางกายภาพ ช่วยซัพพอร์ตการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น
ส่วนในครอบครัวหรือสังคม คือความปลอดภัยทางอารมณ์ การแชร์ความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความรักต่อกันอยู่เสมอ รับฟัง พูดคุย เคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกมีคุณค่า
ทั้งสองพื้นที่คือแรงซัพพอร์ตให้เกิดการพึ่งพาตัวเองและอนุญาตให้ตัวเองได้รับการดูแล
การที่ผู้สูงวัยได้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยทางกายภาพ ก็เหมือนยอมรับว่าตัวเองมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย แล้วต้องกลับมาดูแลตัวเองด้วยตัวเอง ด้วยลูกหลาน หรือดูแลตัวเองด้วยการออกแบบอย่างไม่ฝืนธรรมชาติ บางครั้งคนแก่จะไม่เลือกสิ่งที่ออกแบบมาเพื่อตัวเอง เพราะรู้สึกว่ามันทำให้ดูแก่ ทั้งที่จริง ๆ มันคือยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ เราแค่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต อนุญาตให้เราใช้ชีวิตได้ตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การอยู่บ้านที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องของคนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ ยอมรับและฉลาดเลือก
และเมื่อไหร่ก็ตามที่สุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็ดีด้วย เช่นเดียวกัน สุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็จะดีนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก
เรืออากาศตรีธิษณุพงศ์ ชาญกิจ นักกายภาพบำบัด
ดร.กัณฐรัตน์ เหลืองอ่อน นักจิตวิทยาการปรึกษา
รัศมี เอกทัต ครูสอนโยคะอิสระ
สำหรับผู้สนใจ บ้านที่ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ นัดหมายเยี่ยมชมโครงการบ้านของพฤกษา ได้ที่ Pruksa โทร. 1739 เว็บไซต์ www.pruksa.com