เสียงจิงเกิ้ลเพลงคริสต์มาส เสียงระฆัง และกระดิ่งดังกริ๊ง ๆ ในเพลงของมารายห์ แครี ค่อย ๆ ดังกังวานไปตามสถานที่ต่าง ๆ 

ไฟประดับประดาสีส้มบนต้นไม้เริ่มเปล่งแสงสว่างในความมืด 

ต้นสนประดิษฐ์ถูกนำออกมาปัดฝุ่น และตกแต่งด้วยลูกบอลแก้ว สายรุ้ง และพู่หลากสีสัน 

หมวกปาร์ตี้ทรงกรวยถูกนำมาสวมใส่ 

เป็นสัญญาณบอกว่า วันคริสต์มาสกำลังจะมาถึง ก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดส่งท้ายปีเก่า และเราต่างกำลังเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ศักราชใหม่

สำหรับหลายคน การเตรียมตัวก่อนออกเดินทางช่วงวันหยุดยาวกับครอบครัว เป็นงานหนักที่เอาเรื่องอยู่พอตัว ผมเชื่อว่าในหนึ่งครอบครัวจะมีสมาชิกในบ้าน 1 คน รับผิดชอบเตือนทุกคนว่าจะลืมอะไรก่อนออกจากบ้านไปนานหรือไม่ ไหนจะต้องเก็บบ้านในช่วงเวลาที่ไม่มีคนอยู่ ปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดวาล์วแก๊สหุงต้ม ปิดประตูหน้าต่าง ถอดปลั๊ก และใส่กุญแจลงกลอนรอบด้านเพื่อตามปลอดภัยแล้ว ยังจะต้องเตรียมจัดกระเป๋าและสัมภาระ เช็กสภาพรถและเอกสารทางเดินอื่น ๆ อีก 

และแน่นอน ไม่ว่าคุณอาจจะหลงลืมอะไรไป ก็คงไม่มีอะไรน่าตกใจไปกว่าเผลอลืมทิ้งลูกตัวเองไว้ที่บ้านคนเดียว

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

ย้อนกลับช่วงก่อนวันคริสมาสต์ใน ค.ศ. 1990 ที่บ้านของครอบครัว McCallister จากภาพยนต์ เรื่อง Home Alone (หรือแฟนหนังชาวไทยรู้จักในชื่อ ‘โดดเดี่ยวผู้น่ารัก’) เรื่องราวสุดวุ่นวายของครอบครัวแมคคาลิสเตอร์ ที่เผลอลืมทิ้งน้องชายคนสุดท้อง เควิน แมคคาลิสเตอร์ เด็กชายวัย 8 ขวบไว้ที่บ้านเพียงลำพัง ในขณะที่คนอื่น ๆ ได้ออกเดินทางจากเมืองชิคาโกไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

โดดเดี่ยวผู้น่ารัก

ฉากบ้านสุดคลาสสิกของครอบครัวแมคคาลิสเตอร์ เป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยถ่ายเรื่องราวของภาพยนตร์ออกมา สถาปัตยกรรมถ่ายทอดบริบทและกลิ่นอายของพื้นที่อยู่อาศัยในยุค 90 การอยู่ร่วมกันโดยแบ่งปันพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวมของสมาชิกในครอบครัวใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองแบบนี้ พร้อมซ่อนแง่คิดเรื่องความปลอดภัยในทรัพย์สิน เมื่อปล่อยบ้านทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแลไว้ในช่วงวันหยุดยาว 

ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายนอกและภายใน ต่างสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศอบอุ่น ขณะที่ขนาดตัวบ้านบวกกับภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ใช้ ก็ทำให้ภายนอกของบ้านดูน่าเกรงขามไปในเวลาเดียวกัน เหมือนกำลังบอกเป็นนัย ๆ ให้ผู้มาเยือนรู้ว่าที่นี่เป็นที่ส่วนบุคคล

เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ผู้ชมจะสัมผัสได้ถึงการก้าวผ่านวัยของเควิน การก้าวผ่านความกลัวในพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านเมื่อถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว เขาเปลี่ยนบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นสวนสนุก ซึ่งเต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องเล่นทันสมัย มากไปกว่านั้น เควินยังกลายเป็นฮีโร่ของบ้าน ผู้ช่วยปกป้องบ้านจากการโจรกรรม โดยการนำเครื่องใช้ต่าง ๆ มาดัดแปลงเป็นอาวุธ สร้างกับดักเพื่อสกัดการบุกรุกของสองหัวขโมย

และไม่ต่างกับการคัดสรรนักแสดง ทีมงานใช้เวลานานกว่าที่บ้านเลขที่ 671 ในเขตชานเมืองชิคาโก Lincoln Avenue จะได้รับเลือกให้เป็นฉากบ้านสุดไอคอนิก อันเป็นสัญลักษณ์ของช่วงคริสต์มาสที่ผู้คนจดจำ และแวะเวียนมาเยี่ยมในช่วงเวลานี้ของทุก ๆ ปีทั้งในจอและนอกจอ

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

Home Alone เข้าฉายครั้งแรกวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1990 ในสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดย คริส โคลัมบัส (Chris Columbus) เขียนบทและอำนวยการสร้างโดย จอห์น ฮิวจ์ส (John Hughes) ซึ่งสเก็ตช์ไอเดียของหนังเรื่องนี้ตอนที่เขากำลังจัดกระเป๋าเพื่อเตรียมตัวไปพักผ่อน ความห่วงหน้าพะวงหลังของการทิ้งบ้านไว้โดยไม่มีคนดูแล เขาจึงเขียนรายการสิ่งต่าง ๆ ที่ห้ามลืมเด็ดขาด แต่ทว่าในรายการเหล่านั้น ไม่มีชื่อของลูกเขาอยู่ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียทั้งหมด จากคำถามสั้น ๆ ว่า

‘ถ้าฉันลืมลูกชายวัย 10 ขวบไว้ที่บ้านล่ะ ?’

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่
สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

แม้ว่าตัวบ้านจะมีอยู่จริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกซีนในเรื่องที่ถ่ายทำภายในบ้านหลังนี้ เนื่องจากพื้นที่บางห้องไม่ใหญ่พอสำหรับอุปกรณ์และจำนวนทีมงาน ฉากของพื้นที่ภายในบ้านตั้งแต่ชั้นหนึ่งไปจนชั้นสอง ห้องทุกห้อง เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหมด ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในโรงยิมของโรงเรียนมัธยมที่อยู่ห่างออกไป 

ส่วนฉากที่ถ่ายทำในสถานที่จริง ได้แก่ โถงทางเข้าบ้าน บันไดหลักของตัวบ้าน ห้องใต้ดิน และห้องใต้หลังคา

ด้วยความโด่งดังที่เป็นอมตะของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้ราคาประเมินล่าสุดของบ้านหลังนี้ทะยานไปสูงกว่า 1.9 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (หรือ 57 ล้านบาทโดยประมาณ) และล่าสุดในวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา Airbnb ได้ประกาศเปิดบ้านหลังนี้ให้ผู้โชคดีที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าพักในวันที่ 12 ธันวาคม โดยภายในบ้านจะถูกปรับโฉมตกแต่งให้เหมือนฉากในภาพยนตร์เมื่อ 31 ปีที่แล้ว 

แคมเปญชั่วคราวนี้น่าจะเกิดขึ้นเพื่อโปรโมตหนังแฟรนไชส์ ‘Home Sweet Home Alone’ ที่สามารถรับชมได้ผ่านการสตรีมมิ่งของ Disney+

บ้านแมคคาลิสเตอร์

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

บ้านแมคคาลิสเตอร์สร้างขึ้นใน ค.ศ.1920 เป็นบ้านครอบครัวเดี่ยวขนาดใหญ่ 3 ชั้น รวมชั้นใต้หลังคาและห้องเก็บของชั้นใต้ดิน ตัวบ้านประกอบด้วย 5 ห้องนอน 3 ห้องน้ำส่วนตัว 1 ห้องน้ำรับแขก 1 ห้องครัว 2 ห้องรับประทานอาหาร 2 ห้องนั่งเล่น 1 ห้องทำงาน และยังมีชานระเบียงยื่นออกไปรับวิวสวนหลังบ้าน รวมพื้นใช้สอยภายในราว ๆ 390 ตารางเมตร และมีเนื้อที่กว่า 2,000 ตารางเมตรเมื่อรวมที่ดินรอบบ้าน ซึ่งถือเป็นบ้านที่กว้างขวางทีเดียว

หากสังเกตละแวกบ้าน จะพบว่าโซนที่อยู่อาศัยนี้ไม่มีรั้วเหล็กหรือกำแพงกั้นระหว่างกัน ขอบเขตของบ้านแต่ละหลังแบ่งด้วยพุ่มไม้ ต้นไม้ใหญ่ ทำให้วิสัยทัศน์และทัศนียภาพร่มรื่นกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

ในทางกลับกัน แต่ละบ้านก็อาจต้องลงทุนกับการติดตั้งสัญญานกันขโมยหรือตัวล็อกไฟฟ้า เพื่อแลกมากับความปลอดภัยในการอยู่อาศัย

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

ภายนอกบ้านเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมพลัดถิ่น หรือที่มักเรียกกันว่า สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล หยิบเอาองค์ประกอบสถาปัตยกรรมในยุคคลาสสิกของชาวกรีกและโรมันมาใช้ อาทิ ความสมมาตรของรูปทรง สัดส่วนการจัดวางของประตูหน้าต่างหรือเสาโรมัน เป็นต้น ทั้งหมดนี้อยู่บนความเชื่อที่ว่า ความสวยงามเกิดขึ้นได้จากสมดุลทางตัวเลขและคณิตศาสตร์ 

บ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ Georgian Colonial ซึ่งเป็นยุคหนึ่งของราชวงศ์อังกฤษ ที่มีจุดเด่นในการใช้อิฐแดงและหลังคาจั่ว

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่
สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

จากแปลนของบ้าน พื้นที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ของชั้นแรกนั้นเป็นพื้นที่ส่วนรวม สมาชิกครอบครัวใช้ร่วมกัน ห้องนอนและห้องน้ำจะอยู่บนชั้นสอง ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น 

และแม้ว่าการตกแต่งภายในของทั้งบ้านจะคุมด้วยโทนสีและลวดลายในภาพรวม แต่ห้องนอนของสมาชิกแต่ละคนก็แสดงให้เห็นถึงบุคลิกและลักษณะนิสัย ผ่านสีวอลเปเปอร์ ผ้าปูที่นอน ของเล่น โปสเตอร์ หนัง ดารา หรือนักกีฬาที่ชื่นชอบ กระทั่งของใช้ที่แตกต่างกันไป

ใครกลัวสีแดง สีเขียว สีทอง กันเล่า ?

ฉากในบ้านแมคคาลิสเตอร์ออกแบบมาเพื่อสร้างบรรยากาศของวันคริสต์มาส พรมสีแดงฉาน วอลเปเปอร์สีขาวนวลลายดอกไม้ ผนังสีเขียวต้นสน และโคมไฟติดผนังสีทองอร่าม โทนสีแดงเขียวสุดคลาสสิก แสดงออกถึงความอบอุ่นที่อบอวลและแผ่ซ่านไปทั่วทั้งบ้าน 

หนึ่งในทีมออกแบบฉาก Eve Cauley ได้เผยถึงแรงบันดาลใจการเลือกสี ซึ่งอ้างอิงมาจากภาพวาดวินเทจของ นอร์มัน ร็อกเวลล์ (Norman Rockwell) ศิลปินผู้มีเอกลักษณ์เรื่องการสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอเมริกัน

"Merry Christmas, Grandma...We Came in Our New Plymouth!" 1950 โดย Norman Rockwell 
“Merry Christmas, Grandma…We Came in Our New Plymouth!” 1950 โดย Norman Rockwell 

ในซีนเปิดตัวของภาพยนตร์ เราได้เห็นบรรยากาศในบ้านที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เสียงดัง ความอลหม่าน และความวุ่นวายที่เกิดจากการวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัวทั้ง 15 คนก่อนวันออกเดินทาง 

ในนาทีแรกของเรื่อง เรารู้สึกว่าบ้านหลังนี้คับแคบไปรึเปล่า

แต่ต่อมาในฉากเดียวกันนี้ หนังได้พาเราไปรู้สึกถึงความเงียบและความว่างเปล่าของบ้าน เมื่อเควินต้องอยู่โดดเดี่ยวในบ้านหลังนี้

การตกแต่งภายในเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของการมีอยู่และการไม่มีอยู่ของสมาชิกในครอบครัว เป็นความทรงจำแบบ Nostalgic ที่ผู้ชมต่างหวนคิดถึง

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

มาจนถึงวันนี้ Home Alone กลายเป็นแคปซูลเวลาของวัฒนธรรมของปลายยุค 80 และต้นยุค 90 ไม่ว่าจะเป็นพร็อพ ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไมโครเวฟ โทรทัศน์ขาวดำ เครื่องเล่นวิดีโอ เครื่องเสียงสเตอริโอ โทรศัพท์พร้อมเครื่องตอบรับอัตโนมัติ และของกินของใช้จากแบรน์สปอนเซอร์ต่าง ๆ ที่นำมาประกอบฉากในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่ดีและทันสมัยของครอบครัวแมคคาลิสเตอร์ ที่คุณเองก็ซื้อหามาเป็นเจ้าของได้เช่นกัน

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่
สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่
สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

เป็นช่วงเดียวกับที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบางครั้ง เราพึ่งพาและเชื่อใจมันมาก เหมือนกันกับในเรื่อง Home Alone ที่พอไฟดับ นาฬิกาปลุกไฟฟ้าจึงไม่ทำงาน จนทำให้เกิดเรื่องวุ่น ๆ ทั้งหมดนี้ ทั้งบ้านหลังนี้ยังเต็มไปด้วยอุปกรณ์สุดไฮเทคครบครัน ล่อตาล่อใจสองหัวขโมย Harry และ Marv หรือที่รู้จักในนาม ‘โจรเปียก’ ที่กำลังอยากได้เครื่องวิดีโอคาสเซ็ตมูลค่าสูงในสมัยนั้น

แผนต่อสู้กับโจรเปียก

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

อีกความน่ารักที่ Home Alone ถ่ายทอดออกมาผ่านการอยู่บ้านคนเดียวของเควิน คือการเติบโตไปพร้อมไปเรื่องราวที่เกิดขึ้นของเขา เขาได้ก้าวผ่านความกลัวของตนเอง จากเด็กเล็กกลายเป็นเด็กโตที่มีความผู้ใหญ่มากขึ้น

ในช่วงแรกของภาพยนตร์ เควินยังไม่มีห้องนอนเป็นของตัวเอง เหมือนว่าเขาชินกับการนอนในห้องพ่อแม่ เขาไม่รู้วิธีจัดกระเป๋าเดินทาง เขากลัวเสียงและหน้าตาเครื่องทำความร้อนและหุ่นจำลอง Mannequin ที่เก็บอยู่ในชั้นใต้ดิน เขาไม่ชอบนอนในห้องใต้หลังคา และเกรงกลัวชายชราหน้าดุข้างบ้าน เพียงเพราะเรื่องราวที่เขาได้ฟังมาอีกที

การก้าวผ่านวัยของเควินสอนให้เขาหัดใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง ทำอาหาร ล้างจาน ซักผ้า ออกไปซื้อของ โทรสั่งพิซซ่า และตกแต่งบ้านเพื่อรอฉลองวันคริสต์มาสกับครอบครัวในวันที่พวกเขากลับมา

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่
สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังดึงความเป็นสถาปนิกในตัวของเควินออกมาอย่างที่เราคาดไม่ถึง ในสเก็ตช์แปลนแผนผังที่เขาวาดเพื่อเตรียมการรับมือหัวขโมยคู่หู โดยเขาตั้งชื่อว่า Battle Plan

แผนต่อสู้ของเขาคือการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมสกัดกั้นการบุกรุก การวางขอบเขตพื้นที่แต่ละห้อง ปิดล้อมทางเข้าทางออก วางกับดักที่ลูกบิดเพลิงทางประตูทางเข้าหลัก วางอุปสรรคตามทางเดิน โรยตะปูและเศษแก้วจากลูกบอลประดับ วางรถของเล่นเกลื่อนกลาด ใช้ช่องส่งเสื้อผ้าใช้แล้วระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นใต้ดินให้เป็นประโยชน์ วางกับดักเตารีด ไปจนถึงการวางแผนหลบหนีจากตัวบ้านไปยังบ้านต้นไม้ที่อยู่ถัดออกไป

เควินกลายเป็นฮีโร่ของบ้านแมคคาลิสเตอร์ในชั่วข้ามคืน เขาเปลี่ยนเครื่องใช้และสิ่งของต่าง ๆ ให้กลายเป็นอาวุธในการถ่วงเวลาหัวขโมย ปกป้องทรัพย์สินในบ้านของเขาได้สำเร็จ ในขณะที่บ้านอื่น ๆ ในละแวกนั้นถูกปล้นยกเค้า แถมยังปล่อยให้น้ำท่วมไปหลายหลัง

โดยสรุปแล้ว เควินอยู่บ้านคนเดียวเป็นเวลา 2 คืน 3 วัน ก่อนสมาชิกในครอบครัวจะกลับมาในวันคริสต์มาส และร่วมฉลองวันแห่งความสุขด้วยกัน

สถาปัตยกรรมใน Home Alone บ้านกับการรอคอย และการกลับไปหาคนที่รักในช่วงปีใหม่

หากมองไปในอนาคต ก็อดคิดว่าไม่ได้ว่าบรรยากาศของบ้านจะเป็นอย่างไร เมื่อลูก ๆ แต่ละคนเติบโตและย้ายออกไปเรียนต่อหรือมีที่อยู่ของตนเอง การมีบ้านที่ใหญ่และห้องจำนวนมาก ในบางครั้งอาจจะทำให้เหงากว่าเดิมก็เป็นได้…

แต่ละคนในแต่ละปีก็ให้ความหมายกับเทศกาลวันหยุดส่งท้ายปีในรูปแบบที่ต่างแตกกันไป บางปีเราอาจจะอยากหนีออกจากความวุ่นวายและใช้เวลาอยู่กับตัวเอง บางปีเราอาจจะวางแผนจองตั๋วล่วงหน้า จดจ่อที่จะได้ออกเดินไปพักผ่อนท่องเที่ยวกับเพื่อนฝูง หรือสำหรับบางคน ช่วงวันหยุดสิ้นปีของทุก ๆ ปีนั้น อาจจะเป็นเรื่องของส่วนร่วมมากว่าส่วนตัว นั่นคือการใช้เวลาร่วมฉลองกับครอบครัว เป็นการรวมญาติพี่น้องให้ได้กลับมาเจอกัน

ความรู้สึกของการเดินทางกลับไปหาใครสักคน หรือการรอใครสักคนกลับมาอย่างมีความหวัง คือสิ่งที่ทำให้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่พิเศษกว่าเทศกาลอื่น ๆ หรือเปล่า

เหมือนกับเควินที่รอแม่ และแม่ของเขาที่ทำทุกวิถีทางเพื่อจะกลับไปหาลูกชายให้เร็วที่สุด 

ท้ายที่สุด ผมขอทิ้งท้ายประโยคสั้น ๆ สำหรับใครที่มีความรู้สึกไม่ดีกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

อย่าลืมว่า ‘แสงจะส่องสว่างที่สุดในความมืดมิด’ นะครับ 

โชคดีปีใหม่ครับ

Citation and Image References:

Hughes, J. (1990). Home alone. United States; Twentieth Century Fox.

“Light shines brightest in the deepest dark!” Quote by Jim Butcher from Grave Peril, 2010

www.archdaily.com/577316/interiors-home-alone

mccallisterhouse.com/making-the-mccallister-house/

time.com/4105161/home-alone-1990/

www.hunker.com/13723464/things-you-didnt-know-about-home-alone-set

www.airbnb.com

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ