“เราเริ่มจากตระเวนสัมภาษณ์ชาวนาไปเขียนลงบทความ”

เตรียมตัวเปิดสนทนามาคุยกับชาวนาเรื่องพันธุ์ข้าวเต็มที่ แต่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าหนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชน เจ้าของแบรนด์ข้าวหอมดอกฮัง จะเคยเป็นนักเขียนสายสิ่งแวดล้อมที่ได้รางวัลนายอินทร์ อะวอร์ด และเคยเขียนลง National Geographic ด้วย

บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ที่นี่คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้านหอมดอกฮัง ซึ่งเป็นบ้านของ แอ้ว-บำเพ็ญ ไชยรักษ์ และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 20 ครัวเรือน

นาข้าวที่นี่ไม่เหมือนที่ไหน เพราะเป็นนาที่ล้อมรอบด้วยป่า ปลูกข้าวพื้นบ้านหลากหลายสายพันธ์ุในหมู่บ้านภายใต้ชื่อแบรนด์ ‘ข้าวหอมดอกฮัง’ 

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

‘ฮัง’ หรือ ‘รัง’ ที่เป็นชื่อไม้ยืนต้นใน ‘ป่าเต็งรัง’ หรือ ‘ป่าโคก’ นั่นเอง

จากต้นฮังนี่เองที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เป็นที่มาของชื่อเดิมของหมู่บ้านอย่าง ‘บ้านน้อยเลิงฮัง’ ก่อนทางการจะเปลี่ยนชื่อให้เป็นบ้านโคกสะอาด และลูกฮังนี่เองที่นำมาเป็นเป็นโลโก้แบรนด์ข้าวหอมดอกฮัง โดยมีบทกลอนที่เล่าถึงความหอมของข้าวมาไว้ในแพ็กเกจ

“หอมดิน หอมน้ำ หอมกอข้าว
หอมดอกฮัง บ้านเฮา หอมยวนใจ
หอมหมอก หอมแดด หอมข้าวใหม่
หอมบ่วาย ฮักหอม… แสนสีฮอม”

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

แม้ใครจะมองว่าอีสานแล้งซ้ำซากยากจน แต่หากมองให้ดี ที่นี่อุดมสมบูรณ์กว่านั้น แม้ในฤดูแล้งยิ่งแล้งจัด ดอกไม้ป่าบ้านเรายิ่งออกดอกงดงาม ดอกจานสีส้มจัดจ้า ดอกตะแบก ดอกเสลา หรือดอกอินทนิล ดอกไม้ประจำจังหวัดสกลนครออกดอกสีม่วงแพรวพราวเต็มต้น และในช่วงฤดูร้อนที่ร้อนจัด ป่าโคกทิ้งใบร่วงเหลือแต่กิ่งก้าน ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ดอกฮังออกดอกสีเหลืองและหอมบานสะพรั่ง 

มีความพิเศษซ่อนอยู่ในหมู่บ้านที่ดูแสนธรรมดา คล้ายเรื่องราวของข้าวหอมดอกฮัง ที่วันนี้ The Cloud จะพามาหาคำตอบกันว่าอะไรทำให้นาข้าวที่นี่หอมเป็นพิเศษ 

จากปลายปากกาสู่คันนา 

“เราเริ่มจากตระเวนสัมภาษณ์ชาวนาไปเขียนลงบทความ”

แอ้วเริ่มชีวิตทำงานหลังเรียนจบที่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแถบภาคอีสาน เธอตั้งใจไม่ทำงานไกลบ้าน แต่เลือกทำงานวิจัยและศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ในชุมชนใกล้บ้าน

หนึ่งในบทความที่เธอเขียน คือเรื่องราวของชาวนาเมื่อครั้งมีปัญหาเรื่องจำนำข้าว โดยแวะไปสัมภาษณ์ชาวนาในภาคอีสาน และที่ภาคกลางด้วย 

จากการสัมภาษณ์และทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้แอ้วเห็นปัญหาของชาวนาหลายอย่าง เช่น ชาวนาภาคกลางไม่มีสิทธิ์ในที่ดิน ต้องทำนาเช่า ขายข้าวได้ราคาถูก ทำนาปีละ 3 ครั้งแต่กลับเป็นหนี้จากการทำนา 

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

“เราเห็นครอบครัวชาวนาที่ลำบาก เห็นวัฏจักรที่ข้าวถูกกดราคา”

ซ้ำร้ายภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่รัฐมองว่าแห้งแล้ง ไม่มีที่ราบลุ่มเหมาะแก่การปลูกข้าว ควรเปลี่ยนจากปลูกข้าวไปปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย ที่มีการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกมากกว่า 10 ล้านไร่

แม้ภาพจำของชาวนาจะเป็นแบบนี้ แต่แอ้วบอกว่าความจริงแล้ว “บ้านเรามีดีนะ” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นเมื่อเธอเห็นปัญหาจนอยากกลับมาชักชวนญาติพี่น้องในหมู่บ้านร่วมกันฟื้นฟูและพัฒนาข้าวพื้นบ้านที่หมู่บ้านของเธอเอง 

นาที่มีป่าล้อมรอบ 

แม้ปัจจุบันจะมีความต้องการใช้รถไถปรับนาให้เป็นที่ราบลุ่ม เพื่อปลูกข้าวหนักหรือข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวนาน เช่น ข้าวหอมมะลิ หรือข้าวพันธุ์ กข 6 ซึ่งเป็นข้าวยอดนิยมที่ตลาดต้องการ แอ้วบอกว่า “โชคดีที่หมู่บ้านเราเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า”

บ้านโคกสะอาด เดิมชื่อ บ้านน้อยเลิงฮัง เพราะมีต้นรังและป่าเต็งรังแทรกอยู่ตามชุมชนและในนาเต็มไปหมด 

นาโคก คือ นาข้าวที่มีป่าเต็งรังล้อมรอบและมีน้ำไหลมาจากป่าลงมาในแปลงนา ไม่ใช่นาทุ่งบนที่ราบแปลงใหญ่ๆ

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

“บรรพบุรุษเราใช้จอบเสียมขุดก่นด้วยมือ เพื่อดูว่าน้ำไหลไปทิศทางไหนจะทำคัดนาเป็นแนวบังคับและกักน้ำไว้ได้ นาในความทรงจำของเราตั้งแต่เด็ก คือมีเหมืองนาที่เชื่อมกับป่าโคกเป็นที่เล่นน้ำ หน้าฝนน้ำไหลลงมาจากป่า ชาวบ้านจะขุดทางน้ำจากโคกเพื่อนำน้ำมาใช้ในนาตัวเอง”

ชาวนาที่นี่เรียนรู้วิถีชีวิตและการทำนาโคกกับป่าโคกและสายห้วย ฮ่อง (ร่องน้ำ) สายเล็กๆ จากป่าโคกมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ที่นี่ไม่มีระบบชลประทาน ต้องทำนาโดยอาศัยรอน้ำฝนทำนาเพียงปีละครั้ง

“นาแปลงหนึ่งเหมือนฝ่ามือเรา ลองคิดว่าอุ้งมือคือที่ลุ่มที่สุด ก็จะปลูก ‘ข้าวหนัก’ ที่มีอายุเก็บเกี่ยวนานกว่าเพื่อน เพราะมีน้ำไหลลงไปเยอะ ส่วนที่สูงขึ้นมาหน่อย น้ำจะน้อยเพราะน้ำไหลลงไปที่ลุ่มกว่าก็ปลูก ‘ข้าวกลาง’ ที่เนินหรือโคกมากๆ ก็จะปลูก ‘ข้าวเบา’ ที่ระยะเก็บเกี่ยวสั้น”

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ชนิดของข้าวไม่ได้แยกตามสายพันธ์ุเท่านั้น แต่ยังแบ่งตาม ปริมาณน้ำ แสง และระดับความสูงต่ำของพื้นที่ที่ปลูก เช่น ข้าวหนักที่แอ้วเล่าไป หากเป็นข้าวเบาจะมีอายุสั้น ปรับตัวได้ดีในหน้าแล้ง ข้าวระยะกลาง ทั้งสองแบบนี้สามารถปลูกในที่ดอนที่ขังน้ำในนาได้น้อย และที่สำคัญข้าวที่ปลูกในนาโคกเพียงปีละครั้งนั้น จะมีความหอมเป็นพิเศษเพราะข้าวพยายามปรับตัวตามธรรมชาติเข้ากับสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีข้าวที่แบ่งประเภทตามแสง เรียกว่าข้าวไวแสง เป็นข้าวที่จะออกรวงก็ต่อเมื่อช่วงแสงเปลี่ยนตามฤดูกาล เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อไหร่ข้าวก็จะเริ่มตั้งท้อง 

แม้ผลผลิตข้าวต่อไร่อาจจะไม่สูงเพราะเกี่ยวข้าวปลายปีแค่ครั้งเดียว โดยต้องอาศัยเพียงน้ำฝน (บางแปลงอาจจะมีบ่อน้ำสระที่สำรองไว้กรณีที่แล้งจัดมาก) และการทำนาด้วยความเข้าใจธรรมชาติและระบบนิเวศในนาของตัวเองทำให้สามารถปลูกข้าวได้หลายชนิด หลายสายพันธุ์ ไม่จำกัดว่าต้องปลูกแค่ข้าวหอมมะลิที่ต้องปลูกในที่นาลุ่มเท่านั้น 

แอ้วสังเกตว่า ยิ่งปีไหนแล้งจัด ข้าวได้ผลผลิตน้อย แต่หอมมากเวลาไปหุง ซึ่งข้อมูลความหอมมาจากลูกค้าที่ซื้อไปทานจริง รวมทั้งชาวนาเองก็บอกเช่นนี้

เราอาจต้องหันมามองภาคอีสานกันใหม่ว่า ภาพจำที่คนอื่นนิยามว่า “แล้งซ้ำซากยากจน” เป็นคำนิยามของใคร แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่นิยามของคนในหมู่บ้านเราแน่นอน

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

สายพันธ์ุข้าวที่หายไป

“ข้าวเป็นพืชที่ปรับตัวได้ตั้งแต่นิเวศบนภูเขาจนถึงชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพื้นบ้านจะปรับตัวได้ดีกับพื้นที่นิเวศเฉพาะของข้าวนั้นๆ” 

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ความรู้ใหม่จากแอ้วบอกว่า ข้าวปลูกในนาที่มีป่าล้อมรอบได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกแค่ในที่ราบลุ่มหรือนาลุ่มเท่านั้นทำให้ภาพจำข้าวที่ได้ฟังตอนนี้กับข้าวที่เรียนจากตำราต่างกันลิบลับ

“เราไปเห็นจากศูนย์วิจัยข้าวหลายที่ว่าในไทยมีข้าวตั้งห้าพันสายพันธุ์ที่เคยปลูก เลยกลับมามองว่าที่หมู่บ้านเรามีข้าวพันธุ์ไหนบ้าง” แอ้วเล่าย้อนความเมื่อตอนแรกเริ่มสำรวจพันธุ์ข้าว เธอพบว่าในความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เคยปลูกข้าวไว้เกือบ 40 สายพันธุ์ แต่ตอนนี้กลับเหลือไม่ถึง 5 สายพันธุ์

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ด้วยความรู้สึกว่าพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกำลังสูญหายไป ทำให้แอ้วเริ่มออกเดินทางรวบรวมพันธุ์ข้าวจากเครือข่ายชาวบ้านที่รู้จัก 

แรกเริ่มได้มาอย่างละนิดอย่างละหน่อย สายพันธุ์ละ 5 เมล็ดบ้าง 10 เมล็ดบ้าง จากนั้นจึงทดลองปลูกในนาแปลงเล็ก ๆ ของตัวเอง ศึกษาการคัดเมล็ดร่วมกับชาวบ้าน เด็ก ๆ จากโรงเรียนและวัดในชุมชน จนปีแรกรวบรวมได้ทั้งหมด 20 สายพันธุ์ 

ปีที่ 2 ได้เพิ่มมาอีก 10 – 20 พันธุ์ จนรวมเป็น 40 พันธุ์ ได้เพิ่มมาทีละไม่กี่เมล็ดมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้รวบรวมพันธุ์ข้าวได้ทั้งหมด 250 สายพันธุ์จากหลายจังหวัด ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ร่วมมือร่วมใจในแปลงอนุรักษ์

หลังจากได้เมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมาปลูกขยายมากมาย ชาวบ้านก็เริ่มทดลองปลูกข้าวในนาแปลงอนุรักษ์พันธุ์ข้าวที่ทุกคนเรียนรู้และลงแรงร่วมกัน  

หนึ่งปี ทุกคนมาทำงานร่วมกันในแปลงอนุรักษ์ 5 ครั้ง

เริ่มจากหว่านกล้า เรียนรู้ด้วยกันก่อนว่าเมล็ดพันธุ์ที่ดีคืออะไร จากนั้นตกกล้าเป็นรวงเพื่อคัดสรรต้นที่ดีไปปลูกต่อ และเฝ้าสังเกตว่าข้าวพันธุ์ไหนแตกกอดีมาก เช่น เมล็ดเดียวแตกเป็น 10 – 20 ต้น หรือบางพันธุ์ถึง 60 ต้น ก็จะได้ข้าวหลายรวงในแต่ละรวงลักษณะการจับเมล็ดเป็นอย่างไร ถี่ ห่าง สวยไหม เพื่อที่จะคัดว่าพันธุ์ไหนให้ผลผลิตดี 

พอข้าวโตขึ้น แตกกอ ก็มาเจอกันอีกรอบเพื่อจำกัดหญ้า คัดข้าวที่ไม่อยากได้ พันธุ์ที่หลงปนอยู่ในแปลงออก และท้ายสุดคือมาเกี่ยวคัดเลือกเอารวงที่ดีที่สุดด้วยกัน เพื่อเก็บไว้ขยายในนาของสมาชิกเอง ต่อไป 

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เมื่อลองผิดลองถูก ศึกษาด้วยกันครบทั้งกระบวนการ สมาชิกก็เริ่มเรียนรู้และเลือกข้าวพันธุ์ที่ตัวเองชอบเห็นว่าเหมาะกับนาของตัวเอง และนำข้าวจากแปลงอนุรักษ์ไปปลูกขยายในนาของตัวเอง 

“เรามีกิจกรรมไปเยี่ยมแปลงของสมาชิกไปเรื่อยๆ ทุกคนตื่นเต้นกับพันธุ์ข้าวที่ตัวเองมี บางคนมีนาหนึ่งแปลงราว 10 ไร่ ปลูกข้าวได้เป็นสิบสายพันธุ์” แอ้วเล่าว่าชาวบ้าน “คิดถึง” พันธุ์ข้าวดั้งเดิม และด้วยวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ของชาวบ้านทำให้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเริ่มกระจายไปเรื่อย ๆ ทั้งในหมู่บ้านตัวเองและหมู่บ้านใกล้เคียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“เวลามีงานบุญกองข้าว ซึ่งเป็นงานที่เอาข้าวเปลือกมาทำบุญหลากหลายสายพันธุ์มาก ข้าวเหล่านี้จะนำมารวมกันที่วัด บางส่วนขายราคาถูกสำหรับคนที่ต้องการบางส่วนอาจจะเก็บไว้ที่ธนาคารข้าวให้คนมายืมยามวิกฤตเมื่อข้าวไม่พอกินในปีที่แห้งแล้งหรือน้ำท่วม ถ้าไม่มีใครยืมก็ขาย นำเงินมาใช้สำหรับประโยชน์สาธารณะ”

เสน่ห์ของข้าวพื้นเมือง สเปกของคนบ้านน้อยเลิงฮัง 

เมื่อถามว่าข้าวพันธ์ุพื้นเมืองเหล่านี้มีดียังไง แอ้วบอกว่าข้าวแต่ละพันธ์ุมีเรื่องเล่าและเสน่ห์ไม่เหมือนกัน อร่อยคนละแบบ

“ข้าวพื้นเมืองบางพันธ์ุก็ไม่อร่อยนะ เม็ดใหญ่ แข็ง แต่เอาไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ดี อย่างข้าวก่ำบางพันธุ์ ถ้านึ่งกินจะแข็ง แต่เอาไปทำแป้งขนมจีน โคตรดีเลย เหนียวหนึบ ทำขนมข้าวเหนียวดำ ข้าวต้มมัดก็อร่อย”

แม้ไม่ใช่ ‘ข้าวพิมพ์นิยม’ ที่เม็ดยาว ขาว สวย แต่ข้าวที่มีเอกลักษณ์ย่อมเป็นสเปกของใครบางคน

ถ้าชอบความเหนียวหนึบต้องถูกใจข้าวก่ำน้อย เม็ดเล็ก สีดำออกม่วง คล้ายข้าวญี่ปุ่น ข้าวกล้องสามารถหุงด้วยหม้อหุงข้าวได้ ข้าวสีขัดหรือสีซ้อมมือนึ่งเป็นข้าวเหนียวทานอร่อย หลายภัตตาคารนิยมสั่ง

หากแพ้ทางความหอม ต้องลองข้าวหอมนางนวลที่หอมตั้งแต่เป็นต้นกล้า มีกลิ่นหอมใบข้าวอ่อนๆ และยิ่งทวีความหอมมากเวลานึ่ง เช่นกันกับข้าวหอมสกล หรือข้าวหอมภูพานนั้นปลูกให้ได้ต้นอ่อนเวลาเอาไปคั่วทำชาเขียวใบข้าวจะได้กลิ่นหอมละมุน เหมือนชาเขียว แต่เป็นกลิ่นหอมจากใบข้าวที่ไม่ขม ไม่เฝื่อน

สำหรับคนรักสุขภาพ น่าจะชอบข้าวมะลิแดง เป็นข้าวจ้าวที่ข้างในเป็นสีแดง เวลาหุงมีสีเข้มขึ้น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับคนเป็นเบาหวาน เช่นกันกับข้าวทับทิบชุมแพ ที่เมล็ดสีน้ำตาลแดง เมื่อนำมาสุกจะได้สีเหมือนทับทิม และนุ่มมากด้วย

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

หากชอบกินข้าวสวย สีขาว ที่ทั้งนุ่มทั้งหอม ก็แนะนำข้าวโสมมาลี ซึ่งเจ้าของพันธุ์ข้าวเล่าว่าข้าวชนิดนี้เป็นพี่สาวของข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวเจ้าสีขาว เม็ดไม่ยาวมาก หุงแล้วนุ่ม หนึบ หอมอร่อย เช่นกันกับข้าวหอมใบเตย ข้าวหอมจำปา

หรือใครที่ชอบข้าวหอมสีสวย ก็ข้าวหอมนิล

ข้าวหลากหลายสายพันธุ์อย่างข้าวโสมมาลี เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองจากที่อื่น ผู้ที่ให้เมล็ดพันธุ์มาบอกว่าได้มาจากชาวนาแถวทะเลสาบเขมร แต่เมื่อเอามาปลูกที่หมู่บ้านก็ปรับตัวได้ดีและหอมเป็นพิเศษ ในขณะที่บางพันธุ์ก็เป็นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ปรับปรุงพันธุ์โดยนักวิชาการด้านข้าว เช่น ข้าวหอมภูเขียว เป็นข้าวเหนียวสีดำ สีเป็นข้าวกล้องนำมาหุงได้

แอ้วเล่าเรื่องราวของข้าวแต่ละพันธุ์แบบที่ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับข้าวนั้น ๆ มากขึ้น เธอบอกว่า “เราค้นพบอะไรแบบนี้ จากการอยู่กับนาข้าวมาตลอด”

พอได้ยินคนรักข้าวตัวจริงบอกสเปกข้าวของตัวเองแบบนี้ คนเมืองอย่างเราก็เริ่มรู้สึกว่าข้าวพื้นเมืองที่เคยมองผ่านตาไปนั้น ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

หอมแบบไม่ใส่น้ำหอม

การทำความรู้จักกันย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งศึกษาพันธุ์ข้าวไปเรื่อยๆ ชาวบ้านก็ยิ่งค้นพบคุณสมบัติพิเศษของข้าวหลายสายพันธุ์ เช่น สารป้องกันแสงแดด รวมทั้งความหอมจากธรรมชาติของข้าว ที่ทำให้คนในหมู่บ้านปิ๊งไอเดียนำข้าวมาแปรรูปเป็นสบู่ แชมพู ครีมบำรุงผิวต่างๆ

แอ้วบอกว่าเพราะหอมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องใส่น้ำหอม

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

“ปกติเราจะคัดข้าวไปขายและมีข้าวที่เราคัดออกอยู่แล้ว เช่น ปลายข้าวหัก รำข้าว จมูกข้าว ความจริงแล้วจมูกข้าวมีคุณสมบัติดีมาก เราแค่ไม่กินเพราะมันอยู่ในข้าวหัก บางทีเหลือเอาไปเลี้ยงหมูบ้าง เหลือเยอะขึ้นราบ้าง ก็เสียดาย เลยมานั่งคิดว่าเราจะเอาข้าวเหล่านี้ไปทำอะไรได้บ้าง”

เดิมทีคนอีสานเอาน้ำซาวข้าวมาล้างหน้า สระผม อาบน้ำอยู่แล้ว ว่ากันว่าน้ำแช่ข้าวเหนียวหรือที่เรียกว่า “น้ำข้าวหม่า” ถ้าเอามาล้างหน้าแล้วจะสะอาด ผิวจะนุ่มไม่ตึง ไม่แห้งกร้าน

การนำภูมิปัญญาดั้งเดิมผสมผสานกับศาสตร์วิธีการทำสบู่ที่เรียนรู้ใหม่ทำให้ได้สูตรเฉพาะของตัวเอง แอ้วบอกว่าการพัฒนาสินค้าแบบคิดไปแก้ไปนั้น “ช้า แต่เจอสูตรของเราเอง”

ที่ช้าเพราะมีการทดลองใช้พืชและสมุนไพรอื่นๆ มาผสมในสูตรด้วย เช่น ใบหมี่ที่ดีต่อเส้นผม หรือการประยุกต์ใช้ครามผสมกับข้าว ทำให้ผมนุ่มลื่นขึ้น ส่วนสูตรพิเศษที่ไม่ใช้ข้าวเลยก็มี เช่น แชมพูจากมะกรูดของชาวบ้านที่ปลูกหัวไร่และปลายนา 

เนื่องจากแชมพูต้นทุนไม่สูง แต่ราคาขวดสูงมาก จึงมีการคิดค้นแชมพูบาร์แบบก้อนเพื่อลดต้นทุน เหมาะสำหรับพกพาและลดพลาสติกอีกด้วย

แต่ละสูตรที่เรียนรู้มาก็จะทดลองผสมสัดส่วนต่าง ๆ แล้วนำไปให้สมาชิกกลุ่มฯ ทดลองใช้กันเองก่อนจนรู้สึกว่าดีพอ จึงเริ่มขายผ่านเพจบ้าง ขายที่ตลาดในจังหวัดสกลนคร เช่น งานสกลเฮ็ดบ้าง

ผลตอบรับจากการไปขายออกงาน คือขายหมดเกลี้ยง 

อยู่กับป่า

การที่หยิบจับพืชพันธ์ุต่างๆ มาผสมในสบู่และแชมพูได้ เกิดจากการรู้จักป่าเต็งรังเป็นอย่างดี

คนสกลนครมีโครงการเรียกว่าป่าเศรษฐกิจครอบครัว คือการรู้จักพึ่งพิงป่าเต็งรังในทุกฤดู หมดฤดูนาก็ค้าขายหาอย่างอื่นกินจากป่า ในป่าโคกมีทั้งเห็ด แมลงที่กินได้ เช่น แมงทับ หอยหอม หอยทากขาว มีพืชสมุนไพรที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ในป่าบ้านเรารวมทั้งหมด 110 ชนิด

นอกจากทำนา คนที่นี่จึงมีงานอดิเรกมากมายอย่างเลี้ยงหอย เพาะเห็ด ปลูกมะนาวโดยใช้น้ำบาดาล ทำอาหารจากผักหวาน ผักกระเจียว เปลี่ยนไปตามฤดูกาล

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

“เราอยู่รอดและใช้ชีวิตร่วมกับป่าเพราะเราปรับตัวได้ เหมือนที่ข้าวพื้นเมืองปรับตัวได้ดีกับระบบนิเวศของเรา ปีที่แล้งที่สุด เราก็ยังได้ผลผลิต” 

รวมถึงเวลาเกิดวิกฤต เช่น โรคระบาดหรือความผันผวนทางเศรษฐกิจ การอยู่บ้านทำให้กดดันน้อยกว่ามาก เพราะที่บ้านมีข้าว มีธรรมชาติให้พักพิง 

การทำงานสายสิ่งแวดล้อมมาก่อนของแอ้วยังช่วยให้มีความรู้ทางนิเวศท้องถิ่นได้ละเอียดขึ้น มองความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งชัดขึ้น เข้าใจว่าถ้าสร้างเขื่อน ปลาก็จะว่ายน้ำข้ามเขื่อนไม่ได้ หากทำเหมืองเกลือเหมืองแร่โปแตชใต้ดินเอามาทำปุ๋ยเคมี ดินก็จะเสีย ดินก็จะเค็ม และการทำอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยวก็ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เธอเชื่อว่าทางออกในการเอาตัวรอดของโลกในคนาคต คือการทำเกษตรที่ไม่ทำลายอย่างอื่น ซึ่งช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ รักษาอาหารในธรรมชาติไว้ได้ด้วย 

กำไรอยู่ในดิน 

การเกษตรแบบไม่ทำลายอย่างอื่นนี้ย้อนกลับไปสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ชาวบ้านทำกันมาอยู่แล้ว “เรามีวัวควายอยู่ในนาหกสิบตัว ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการปลูกเลย ใช้เศษอาหารในครัวเรือน ขี้วัวขี้ควายที่เรามีมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด”

แรกเริ่มผลผลิตไม่มาก เพราะนายังไม่มีอินทรียวัตถุ พอทำมา 3 – 4 ปี แค่เหยียบ นาก็นุ่ม เพราะมีฟางและปุ๋ยที่ใส่สะสมมาโดยตลอด 

“ถ้าใส่ปุ๋ยเคมี ต้นข้าวก็ดูดซึมเอาแต่ได้ไปโดยไม่เหลืออะไรไว้ในนาเลย แต่ทุกครั้งที่เราทำนาอินทรีย์ ก็จะมีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้นทุกปี”
นี่คือสูตรการลงทุนของชาวนา 

เมื่อใช้น้ำฝน น้ำจากป่าโคก มีปุ๋ยจากมูลสัตว์ กำไรก็อยู่ในดิน ไม่ต้องลงทุนซื้อปุ๋ยเคมีหรือหาน้ำจากเขื่อนมาเพิ่มเติม และกำไรในดินย่อมหวนคืนเป็นกำไรของหมู่บ้าน

ในฐานะคนที่ชักชวนชาวบ้านมาเริ่มรวมกลุ่มข้าวหอมดอกฮัง แอ้วมองว่า “ก่อนหน้าปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมเพื่อขาย เราก็ทำเกษตรกันอย่างนี้อยู่แล้ว แค่เอาเรื่องนี้มาคุย ชวนคนอื่นให้มาเรียนรู้ มาลองปฏิบัติการจริงในแปลงนามากขึ้น เราไม่ใช่คนเดียวที่ขับเคลื่อนให้กลุ่มดำเนินไป ทุกคนในหมู่บ้านช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น” 

ความภาคภูมิใจของเธอ คือการรักษาวิถีนาโคกไว้ได้ รักษาที่ดินนาโคกของเราไว้ได้

“พ่อแม่เรารักษาวิถีชีวิตแบบนี้ส่งต่อมาให้เรา ใช้ชีวิตโดยไม่เคยทำลายนิเวศธรรมชาติ เราว่าเขาเก่งที่สุดแล้ว คนหมู่บ้านเรายากจนแค่ไหนก็ยังเป็นเจ้าของที่ดิน มีนา มีข้าว”

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เรื่องเล่าจากสายสัมพันธ์ในหมู่บ้าน

“ชาวนาจากกลุ่มเราไม่ต้องไปเข้าคิวขายข้าวให้โรงสีกดราคาอีกต่อไป ขายที่บ้านเรา ขายเรื่องเล่าของเรา สมาชิกรู้สึกตื่นเต้นที่เดิมทีขายข้าวให้โรงสีได้กิโลกรัมละสิบสองบาท ตอนนี้ขายได้กิโลกรัมละแปดสิบบาท”

นี่คือความภาคภูมิใจอีกอย่างในฐานะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของแอ้ว 

มูลค่าข้าวที่เพิ่มขึ้นมาจากคุณค่าที่ชาวบ้านลงทุนลงแรงเสาะหาเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองหายาก ศึกษาขั้นตอนการปลูกที่ดีที่สุดทีละขั้น เรียนรู้ คิดค้นวิธีการแปรรูปใหม่ๆ โดยไม่แยกมันออกจากระบบนิเวศท้องถิ่นของตัวเอง เมื่อกำหนดราคาข้าวและพันธุ์ข้าวของตัวเองได้ ก็ทำให้เป็นอิสระจากระบบที่กดทับชาวนา และสร้างผลิตภัณฑ์จากเรื่องราวของชุมชนขึ้นมาได้ 

ชุมชนมีสมาชิก 20 หลังคาเรือน ทั้งช่วยกันคิดและเล่าเรื่องราวของหมู่บ้าน โดยคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง ขายผ่านเพจเฟซบุ๊กและขายโดยตรงให้ลูกค้า มีทั้งโรงพยาบาลและร้านค้าในจังหวัดที่สั่งซื้อข้าวเป็นประจำ 

แพ็กเกจของข้าวหอมดอกฮังนั้นก็ทำกันเอง เล่าเรื่องประวัติหมู่บ้าน ความเป็นมาของข้าว ชื่อคนปลูก และ ชื่อข้าว ออกแบบแพ็กเกจให้ไม่แพงเกินไป เลือกใช้กระดาษมาทำเพื่อให้ชาวบ้านทำได้ด้วยตัวเอง เพราะชาวนาหลายคนก็อายุมากแล้ว ทำงานหนักไม่ได้

แม้สมาชิกในหมู่บ้านมีไม่เยอะและนาโคกไม่ใช่นาแปลงใหญ่ แต่ทุกคนต่างรู้สึกเป็นเจ้าของแบรนด์ข้าวหอมดอกฮังร่วมกัน ทำโรงสีขนาดไม่ใหญ่โต ไม่สีขาวสต็อกไว้เยอะ เลือกทำแต่พอที่กำลังสมาชิกทำไหว ทำให้ข้าวที่ขายต้องสีสดใหม่เสมอ 

กลุ่มวิสาหกิจก็ไม่ได้เน้นหาเงินทำกำไรส่วนกลาง แต่เน้นเรียนรู้ร่วมกันและให้ผลกำไรตกไปถึงสมาชิกแต่ละคนโดยตรง

ข้าวหอมดอกฮัง แบรนด์ชุมชนโคกสะอาดที่ขายข้าวจากนาล้อมด้วยป่าและรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เส้นทางแห่งการเติบโต 

ทุกวันนี้บ้านโคกสะอาดหรือบ้านน้อยเลิงฮัง เริ่มเชิญชวนหมู่บ้านรอบๆ มาปลูกข้าวแทนการปลูกอ้อยที่ทำลายป่า แต่การพัฒนาแบรนด์ก็ยังมีความท้าทายอยู่ เช่น การวางระบบควบคุมมาตรฐานให้ดี เพราะมีสมาชิกหลายคนที่ร่วมปลูกและขายเองทั้งหมด รวมทั้งมีข้อจำกัดด้านความรู้เรื่องการตลาด 

สิ่งที่แอ้วตั้งคำถาม คือ “การค่อยๆ ทำแบรนด์โดยไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการตลาด จะโตตามธรรมชาติได้มากน้อยแค่ไหน” 

ถ้าอยากให้ระบบธุรกิจที่เอื้อต่อธรรมชาตินี้อยู่ต่อจะทำยังไง

ถ้าหมู่บ้านโคกสะอาดและหมู่บ้านรอบๆ ยืนยันการปลูกข้าวแบบนี้ จะต้องควบคุมมาตรฐานมากขึ้นแค่ไหน

หากส่งออกกำลังผลิตจะไหวไหม

พัฒนาชุมชนอย่างไรให้ในอนาคตลูกหลานยังอยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

ทำยังไงให้ลูกหลานมีบ้านนอกให้กลับอย่างภาคภูมิใจ 

“โจทย์ที่อยากพัฒนาต่อ คือความยั่งยืนในโลกปัจจุบัน ทำยังไงให้เราโตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เข้มแข็งจากข้างใน โตไปด้วยกัน ไม่ได้โตเฉพาะคนใดคนหนึ่ง… ต้องเรียนรู้กันต่อไป” แอ้วทิ้งท้าย


Lesson Learnt 

หนึ่ง การสร้างความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในแบรนด์ “ใส่ใจในการทำข้าว แต่ละถุง แต่ละเมล็ด แต่ละกิโลฯ ให้ลูกค้าเชื่อมั่นในเรา” 

สอง การทำให้คนในชุมชนเชื่อใจ “การกลับไปทำที่บ้านตัวเองมันยาก เพราะเราเป็นเด็กคนหนึ่งในสายตาพ่อแม่พี่ น้อง เราไม่ใช่ผู้นำที่พูดชี้นำอะไรได้ มีมุมที่เหนื่อย มุมที่มีความขัดแย้ง แต่ก็ประนีประนอม” 

สาม เหนือสิ่งอื่นใด การเชื่อมั่นในชุมชนและเล่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สินค้าชุมชนจากหมู่บ้านเล็กๆ เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมาได้

ภาพ : กลุ่มข้าวหอมดอกฮัง, บำเพ็ญ ไขยรักษ์ และฉันทนา คำนาค

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ