Fresh from Farm 

คือแนวคิดของ Hom แบรนด์น้ำมะพร้าวน้ำหอมอายุหนึ่งปีที่มีความแตกต่างชัดเจนจากน้ำมะพร้าวอื่นๆ ในตลาด

ความตั้งใจคือทำให้รสชาติสดใหม่เหมือนเฉาะลูกมะพร้าวแล้วดื่มเลยทันทีในสวน น้ำมะพร้าวทั้งหมดจึงมาจากฟาร์มของตัวเอง โดยไม่ผ่านขั้นตอนแปรรูปใดๆ เพื่อฆ่าเชื้อหรือยืดอายุ

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

แบรนด์เล็กๆ นี้ทำ Research & Development อย่างจริงจังถึงขั้นส่งสินค้าไปตรวจหาเชื้อปนเปื้อนในห้องแล็บจนมั่นใจว่าค่าเหลือศูนย์ สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับพนักงานถึง 2 ครั้ง พร้อมแจกข้อสอบให้ทำเหมือนระบบในเฟิร์มใหญ่ และพิถีพิถันกับการขนส่ง เพราะเป็นขั้นตอนชี้เป็นชี้ตายว่าสินค้าจะคงรสชาติเหมือนเดิมหรือไม่

Hom ก่อตั้งโดยหุ้นส่วน 3 คนที่มีแบกกราวนด์ด้านวิศวกรรม การเงิน และธุรกิจ

นุ่น-ทิษฏยา จุลชาต เรียนจบสาขา Material Science Engineering ก่อนเรียนต่อปริญญาโทด้านไฟแนนซ์ มีประสบการณ์ทำงานในสาย Investment Banking และเคยเป็น Management Trainee ของ Central Group

ปอง-พสิษฐ์ จุลชาต วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาเคมี ผันตัวไปเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจที่บริษัท Roland Berger แล้วไปเรียนต่อ MBA ที่สหราชอาณาจักร

โบว์-ชลิตา จุลชาต ผ่านประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทใหญ่อย่าง PWC และ McKinsey & Company หลังจากจบปริญญาโท MBA ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็ทำงานที่ปรึกษาต่อที่อังกฤษอยู่พักใหญ่

เมื่อประมาณ 7 ปีก่อน พ่อแม่ของปองและนุ่นวางแผนเกษียณ โดยการมองหาโอกาสใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ไม่ต้องลงแรงมาก และไม่จำเป็นต้องกู้ธนาคารมากมายเพื่อมาทำ เมื่อก่อนตอนครอบครัวทำธุรกิจพลาสติกมีโรงงานอยู่แถวอัมพวา ทำให้คุ้นชินกับพื้นที่ เห็นสวนมะพร้าวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนวันหนึ่งมีลูกค้าประจำแนะนำธุรกิจสวนมะพร้าว

สวนที่ราชบุรีของบ้านจุลชาตมี 3 แปลงหลักๆ แปลงแรกเป็นสวนที่เขาปลูกมาอยู่แล้ว แปลงที่สองเพิ่งเริ่มปลูก ส่วนแปลงที่สามเริ่มเตรียมพื้นที่

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

กว่าจะเป็นสวนมะพร้าวที่เก็บลูกเพื่อขายได้ต้องใช้เวลาหลายปี ทุกคนใช้ทฤษฎีที่ทำกันมารุ่นต่อรุ่น ต้องเริ่มจากขุดร่องก่อน ร่องเว้น 3 เมตร หนึ่งร่องให้ปลูกต้นมะพร้าวเรียงกันไปเรื่อยๆ หรือจะปลูกสลับฟันปลาก็ได้เช่นกัน ต้องคำนวณให้พื้นที่รับแสงแล้วได้ผลดีที่สุด ปลูกให้ได้จำนวนต้นเยอะแต่ไม่แน่นจนเกินไป ในหนึ่งไร่ควรปลูกได้ 30 – 40 ต้น 

นั่นคือขั้นตอนการเตรียมพื้นที่ที่ดูเหมือนจะกินเวลานานโข แต่การหาต้นพันธุ์ดีๆ นั้นนานกว่า

“พันธุ์มะพร้าวดีๆ ต้องจองกันข้ามปี มะพร้าวที่เราเอามาปลูกได้ต้องมาจากต้นแก่อายุยี่สิบปีขึ้น พอได้ลูกแก่ๆ พวกนี้มา แทนที่เขาจะตัดลูกเพื่อมากิน เขาก็เอาไปเพาะ ต้นที่ออกมาจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่เราไปเลือกจากสวนเพาะพันธุ์ พันธุ์ที่ดีๆ ดังๆ แท้ๆ มีไม่เยอะ จะซื้อของเขาปีหน้า ต้องจองตั้งแต่ปีนี้ หลังปลูกต้องรออีกสองสามปีถึงจะเก็บผลผลิตได้”

เมื่อสวนที่มีเริ่มออกดอกออกผล โมเดลธุรกิจแรกคือขายลูกให้คนอื่นเป็นหลัก แต่เพราะพ่อและแม่ลงทุนกับการทำสวนไปมาก จึงน่าเสียดายหากจะไม่ต่อยอดต่อไปอีก ไอเดียของ Hom เลยเกิดขึ้น

Quality และ Convenience

มะพร้าวเป็นผลไม้ที่หากินได้ทุกฤดู ทุกพื้นที่ พันธุ์อื่นๆ ปลูกได้ทั่วประเทศ รวมไปถึงต่างประเทศอย่างเวียดนาม บราซิล หรืออินโดนีเซีย ขณะที่มะพร้าวน้ำหอมในประเทศไทยปลูกได้แค่ 4 จังหวัด คือ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม เพราะอยู่ใกล้ทะเล ดินเหนียว ดินเค็ม สภาพอากาศก็เหมาะกับการปลูก

นุ่นเริ่มดูตลาดน้ำมะพร้าวอยู่ที่เมืองไทย ตอนที่ปองกับโบว์ยังทำงานอยู่อังกฤษ ทั้งคู่ตระเวนไปทุกซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อชิมน้ำมะพร้าวทุกยี่ห้อ ทำตารางในโปรแกรม Excel ออกมาให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อน ราคา และรูปแบบของแพ็กเกจจิ้ง

“มะพร้าวส่วนใหญ่ที่เราเจอที่โน่นรสชาติไม่เหมือนที่เราเคยกินเลย” ปองเน้น “เราเลยว่า ถ้าเราทำน้ำมะพร้าวที่ยังคงรสชาติเดิมได้น่าจะเป็นโอกาส”

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

โจทย์ 2 ข้อแรกของ Hom คือ 

หนึ่ง Quality น้ำมะพร้าวที่มีเชื้อเจือปนจะทำให้รสชาติเปลี่ยนและเสียเร็ว คุณภาพที่ดีต้องปราศจากเชื้อ Hom จึงตั้งใจไม่ผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อคงรสดั้งเดิมไว้ ให้เหมือนกับเฉาะกินที่หน้าสวน

สอง Convenience เพราะมะพร้าวเป็นผลไม้ขนาดใหญ่ กินยาก เฉาะยาก ถือยาก พกยาก ดังนั้น แพ็กเกจจิ้งต้องสะดวกต่อการบริโภค

ทุกขั้นตอนสำคัญหมด ไม่มีขั้นตอนไหนสำคัญไปกว่ากัน

โมเดลธุรกิจสวนมะพร้าวที่เห็นได้ชัดคือ การขายส่งล้งที่จะมารับตัดเป็นประจำ ถ้าล้งไม่นำไปส่งขายปลีก ก็นำไปควั่นแล้วส่งออกประเทศจีน วิธีนี้ทำให้ชาวสวนมีรายได้สม่ำเสมอแต่ไม่แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับจำนวนที่ตัดได้และปัจจัยหลายๆ อย่าง

อีกโมเดลคือ ชาวสวนหาคนมาตัดแล้วควั่นเอง คัดคุณภาพก่อนแล้วค่อยปล่อยขาย

ปัจจัยสำคัญของคุณภาพที่ดีของสินค้าคือการรู้ที่มาที่ไป มะพร้าวส่วนใหญ่ที่เรากินในประเทศเป็นมะพร้าวที่ถูกคัดออกจากมาตรฐานส่งออก ไม่ลูกเล็กมากก็ใหญ่ไปเลย

Hom ใช้โมเดลที่ทำเองตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้มะพร้าวจากสวนของตัวเอง เพื่อจะได้เลือกลูกที่มีคุณภาพก่อน 

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

ความท้าทายแรกคือขั้นตอนการบรรจุ เชื้อจะเจือปนในขั้นตอนนี้ได้ตั้งแต่การล้าง เจาะน้ำออก บรรจุใส่ภาชนะ น้ำมะพร้าวในลูกที่มาจากสวนไม่มีเชื้อ ดีที่สุดคือเฉาะแล้วดื่มหรือบรรจุเลยโดยไม่ผ่านอากาศ แต่มันต้องชิม

“เราอยากให้ของอร่อยไปถึงมือลูกค้า พอเรามีของอร่อยอยู่ในมือ อุตส่าห์เลี้ยงลูกมาดีแล้ว เราก็ไม่อยากทำอะไรให้รสชาติเปลี่ยนไป เสียดาย น้ำมะพร้าว Hom เลยไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป ไม่ใส่สารกันบูด เช่น ถ้าพาสเจอร์ไรซ์ใช้ความร้อน อยู่ได้นานขึ้นจริง แต่รสชาติเปลี่ยนแน่นอน คนส่วนใหญ่จึงไม่ใช้วิธีนี้กับมะพร้าวน้ำหอม เพราะรสชาติจะเปลี่ยนจนไม่เหลือความหอมแล้ว พอเราเลือกวิธี Non-processed ก็ต้องมั่นใจว่าทุกวิธีการจะสะอาดไม่มีเชื้อปน ถ้ามีเชื้อเมื่อไหร่ อายุสินค้าจะลดลงเท่าตัว”

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

ทั้งสามให้ความสำคัญกับ R&D เป็นที่หนึ่ง ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตและบรรจุให้น้ำมะพร้าวสะอาดและอยู่ได้นานที่สุด วิธีการคือค่อยๆ ปรับตัวแปร (Variable) ทีละส่วน ปรับแล้วก็เก็บตัวอย่างนำส่งห้องแล็บเพื่อตรวจหาเชื้อ ถ้ายังตรวจเจอก็กลับมาปรับใหม่

ความสะอาดรวมไปถึง แพ็กเกจจิ้ง ที่นอกจากเอื้อให้การบริโภคสะดวกขึ้น ยังต้องผ่านการทำความสะอาดด้วยความร้อนก่อนใช้อีกครั้ง ทั้งถุง ขวด และฝาปิด เข้มงวดชนิดที่ซัพพลายเออร์ยังกุมขมับ บอกว่าขวดเป่าร้อนมาแล้วหลายร้อยองศาเซลเซียส ไม่มีลูกค้าเจ้าไหนเขาขอทำความสะอาดอีกรอบสักคน

“วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ เฉาะหนึ่งลูก เทใส่หนึ่งขวด อันนี้สะอาด แต่รสชาติแต่ละขวดเหวี่ยง ไม่เท่ากัน ถ้าอยากใช้หลายลูก โอกาสที่จะมีอะไรปนเปื้อนก็ยิ่งสูงขึ้น เลยเป็นความท้าทายว่าจะทำยังไงให้ได้คุณภาพเดิม นิ่งขึ้น แต่ขยายใหญ่ขึ้นได้ ถ้าสะอาดจริงๆ จะอยู่ในตู้เย็นได้ถึงหนึ่งเดือน”

นำมาสู่ความท้าทายที่สอง เมื่อไม่แต่งรสชาติและไม่ใส่สารกันบูด จะวัดความอร่อยให้คงที่ตามมาตรฐานแบรนด์ได้อย่างไร

มาตรฐานคงที่แต่อร่อยเหมือนเฉาะดื่มในสวน

นุ่นเปรียบเทียบให้ฟังว่า เวลาซื้อมะพร้าวเหมือนเล่นเกมเสี่ยงดวง เฉาะลูกนี้ออกมาอร่อย อีกลูกอาจจะไม่อร่อยเลยก็ได้ แค่ในสวนของตัวเองรสชาติมะพร้าวแต่ละฤดูยังรสชาติไม่เหมือนกันเลย 

“เราพยายามทำให้มันเป็น Batch ใหญ่มากขึ้น ควบคุมได้มากขึ้น มาตรฐานหลักๆ ที่วัดได้ด้วยเครื่องมือก็มีเครื่องตรวจเชื้อโรค วัดค่าความหวาน (Brix) วัดค่า pH และสินค้าเราผ่าน USDA Organic แต่น้ำมะพร้าวไม่ว่าจะโรงงานเล็กหรือโรงงานใหญ่ ทุกคนชิม มันเป็น Sensory กลิ่นกับรส บางถังวัดมาได้ Brix สูง แต่ไม่อร่อย ไม่หอม เราก็ขายไม่ได้”

ทั้งสามค่อยๆ ศึกษากึ่งลองผิดลองถูก ผ่านประสบการณ์และลูกค้าที่เป็นครูคนสำคัญ บทเรียนเรื่องรสชาติคือน้ำมะพร้าวที่สดอร่อยที่สุดไม่ใช่น้ำมะพร้าวที่ลงจากต้นแล้วรีบใส่ขวดส่งให้ลูกค้า แต่ต้องทิ้งไว้ 2 – 3 วันก่อนเพราะมันยังไม่ลืมต้น

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

Hom จึงไม่ได้ชิมแค่ก่อนบรรจุ แต่เก็บตัวอย่างไว้ชิมก่อนวันส่งด้วย ถ้าพบรสชาติหรือเชื้อแปลกปลอมถือว่าไม่ผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพทั้งชุด

“จริงๆ เราก็ขายความที่มันรสชาติไม่เหมือนกันทั้งหมด เพราะของเราสดร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ แต่เราไม่สามารถทำให้รสชาติมันเหมือนกัน ให้มันหวานหอมเท่ากันทุกขวด ไม่อย่างนั้นก็ต้องปรุงรส เราเลยพยายามลิมิตโอกาสที่จะเจอของที่ไม่ได้มาตรฐานให้เหลือน้อยที่สุดก่อนจะถึงมือลูกค้า ในส่วนที่เราควบคุมได้ จังหวะที่ไปถึงเขาเก็บยังไง เขากินโดยที่เปิดฝาทิ้งไว้ไหม อันนั้นเราควบคุมไม่ได้ แต่เราการันตีว่าจากประตูโรงงานที่ออกไป มันผ่านมาตรฐานเราแล้ว”

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

ข้อจำกัดทางเวลาและการจัดเก็บทำให้ Hom ไม่สามารถวางขายในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าทั่วไป การขนส่งจึงเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญมาก และอาจทำให้น้ำมะพร้าวทั้งหมดเสียรสชาติ ถ้าใช้บริษัทขนส่งทั่วไป Hom จะควบคุมคุณภาพไม่ได้ว่าเขาจะเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม แถมราคาค่าส่งยังแพงเมื่อเทียบกับโปรดักต์น้ำมะพร้าวราคาตั้งแต่หลักสิบ 

แบรนด์จึงส่งเองทุกถุง ทุกขวด โดยการรวบรวมออเดอร์จากลูกค้าเป็นยอดใหญ่ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และส่งในวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ โดยใช้มอเตอร์ไซค์พร้อมถังควบคุมอุณหภูมิ และรถเย็นสำหรับระยะทางที่ไกลขึ้น

แบรนด์ขายน้ำมะพร้าวที่ตั้งใจจะไม่ให้มีส่วนใดในมะพร้าวเหลือทิ้ง

มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำทุกส่วนไปใช้ประโยชน์ น้ำนำมาบริโภค เนื้อแปรรูปหรือสกัดน้ำมัน เปลือกเอาไปเป็นเชื้อเพลิง หรือชาวต่างชาติมักเอาไปพัฒนาเป็นพาเลตขนส่งสินค้า กะลาเป็นได้ตั้งเชื้อเพลิงและออกแบบต่อเป็นของตกแต่งบ้าน

“เราคิดต่อว่าจะเอาเนื้อไปทำอะไรดี พยายามคิดค้นสินค้าอื่นๆ ที่ใช้เนื้อเป็นส่วนผสมก็เลยมีโปรดักต์พุดดิ้งและเนื้อมะพร้าว แต่ก็ใช้เนื้อค่อนข้างอ่อน แล้วเนื้อหนาเอาไปทำอะไรดีล่ะ มันไม่เหมือนเนื้อมะพร้าวกะทิ มันหอมไม่เท่า คว้านมาก็เสียดาย พอไปขายทุกคนก็อยากได้เนื้อนิ่ม ไม่ค่อยมีใครอยากได้เนื้อแข็ง”

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

และด้วยความไม่แน่นอนของผลผลิต มะพร้าวในหน้าแล้งจะมีลูกแค่ 3 – 5 ลูกต่อหนึ่งทลาย ในขณะที่หน้าฝนมีตั้งแต่ 20 ลูกขึ้นไป ในฐานะสวนที่มีแบรนด์ของตัวเอง Hom จึงต้องหาวิธีการปรับตัวตามสถานการณ์ ช่วงผลผลิตเยอะเกินที่ใช้จริงต้องหาที่กระจายออก ช่วงที่ขาดต้องมีสวนมาตรฐานเดียวกันเพื่อดึงมาใช้ได้

“นอกจากขายน้ำมะพร้าวในแบรนด์ของตัวเอง เรามีลูกค้าแบบ B2B ที่เขารับไปเป็น Raw Material ของตัวเอง จะเป็นแบรนด์ที่ใช้มาตรฐานอินเตอร์เนชันแนลที่ใช้น้ำมะพร้าวเราเพราะไม่มีเชื้อ บางทีเอาไปทำเป็นส่วนผสมบ้าง เป็นสมูทตี้บ้าง บางทีใช้เนื้อมะพร้าวของเราทำโปรดักต์ ทำเป็นเยลลี่ ตอนนี้ลูกค้า B2B กับ B2C ครึ่งๆ เลย”

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

ในอนาคต Hom ตั้งใจปรับเปลี่ยนสวนให้เป็น Smart Farming เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน หาวิธีการผลิตที่จะทำให้น้ำมะพร้าวสด อยู่ได้นาน และไม่มีเชื้อเจือปน เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ และเมื่อธุรกิจขยายไปอีกขั้น Fresh from Farm อาจจะไม่ได้มาจากแค่ฟาร์มของพวกเขา แต่มาจากฟาร์มของคนอื่นๆ ที่ทำงานบนพื้นฐานเดียวกันก็ได้

ธุรกิจเล็กๆ ที่ทำงานเหมือนเฟิร์มใหญ่

โบว์ดูแลฝ่ายขายและการตลาด

ปองรับผิดชอบส่วนของโรงงานและสวน

ส่วนนุ่น ช่วยปองดูโรงงานกับฟาร์ม พร้อมการเงิน การบัญชี และจัดซื้อ

วิธีการทำงานของแบรนด์เล็กๆ ที่มีพนักงานไม่ถึง 15 คน ไม่ต่างจากระบบการทำงานในเฟิร์มใหญ่ที่ทั้งสามเคยมีประสบการณ์มาก่อน ยังต้องวิเคราะห์ยอดขายว่าบริษัทควรลงทุนหรือไม่ลงทุน ยังต้อง Leverage ต้นทุนทางสังคม (Social Capital) โบว์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า สมมติเจอลูกค้าร้องเรียน ทีมต้องนำ Supply Chain มากางดูให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน อยู่ที่ใคร เกิดขึ้นเพราะอะไร และจะแก้ไขยังไง

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

ในการประชุมทุกครั้ง ลำดับก็ยังเหมือนสมัยทำงานบริษัท เริ่มจากการขายการตลาด ตามมาด้วยการเงิน และการดำเนินการ อาจต่างกันที่รูปแบบของธุรกิจ แต่วิธีคิดเหมือนกันหมด

“ตอนเด็กๆ เรียนวิทยาศาสตร์ ต้องตั้งโจทย์ว่า อยากได้อะไร ถ้าเราแก้อันนี้ ผลมันจะต่างไปยังไง ทุกวันนี้พอเราจะแก้อะไร เราก็ยังทำเหมือนเดิมเหมือนที่ทำตอนปอสี่ ถ้าอยากทดลองอะไร ในหนึ่งขั้นตอนมันเปลี่ยนได้เยอะมาก เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนอุณหภูมิ ครูปอสี่จะบอกเสมอว่าให้ค่อยๆ เปลี่ยนทีละอย่าง ถ้าเปลี่ยนพร้อมกันจะรู้ได้ไงว่าสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาคืออะไร

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

“เราใช้วิธีคาดการณ์ดีมานด์ พยายามเก็บออเดอร์ให้ได้มากที่สุด อันที่คาดการณ์ได้ก็คาดการณ์ เราทำ Forecast ทุกอาทิตย์เพื่อเตรียมสินค้า ใครที่เป็นเจ้าใหญ่ๆ อย่าง B2B จะโทรถามเลยว่ามีแผนจะใช้โปรดักต์ของเราไหม หลังจากนั้นก็พยายามทำทุกขั้นตอนให้เรียลไทม์ที่สุด ลูกค้าจะได้ไม่ต้องรอนาน”

สัมภาษณ์พนักงาน 2 ครั้งก่อนรับเข้าทำงานพร้อมข้อสอบข้อเขียน

วันนี้ Hom มีพนักงาน 14 คน อยู่โรงงานราชบุรี 8 คน ที่ศูนย์กระจายสินค้ากรุงเทพฯ 3 คน การสื่อสารกับพนักงานเป็นสกิลล์ที่หุ้นส่วนทั้งสามต้องเรียนรู้ใหม่ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ ตระหนัก และให้ความร่วมมือเพื่อเป้าหมายเดียวกัน

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

“แต่ละคนมีจุดแข็งที่โดดเด่นมาก พอเราเป็นสตาร์ทอัพ พนักงานเลยต้องได้ทำหลายๆ อย่าง เรารับสมัครงานช่วง COVID-19 ตำแหน่ง Admin มีคนสมัครสองร้อยคน คนเรียกสัมภาษณ์เจ็ดสิบคน คัดโหดมาก มีสัมภาษณ์สองรอบ รอบแรกเป็น Fit Interview ทำความรู้จักกันก่อน หลังๆ มามีให้ทำเคสเลขด้วย เพราะบางคนพูดเก่งแต่ทำเลขไม่ได้ แบรนด์เราต้องการคนที่มีเซนส์ทางธุรกิจ แล้วค่อยเรียกกลับมาเจอตัวอีกหนึ่งรอบ

“ส่วนฝั่ง Operation ก่อนรับใครเราจะบอกก่อนว่า เรายังเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ อยากได้คนที่จะโตไปด้วยกัน ช่วยคิดได้ นำเสนอได้ คุณอยู่หน้างาน คุณเห็นมากกว่าเรา คนหนึ่งคนก็อยากให้ยินดีทำหลายหน้าที่ น้องที่รับมาเลยเป็นคนไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ อย่างเดียว เขาสนุกที่ได้ลองทำหลายๆ อย่าง ส่วนหน้าที่เราก็พยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาด้วย”

เรียนรู้จากลูกค้า พนักงาน และประสบการณ์ของตัวเอง

Hom บอกว่าตัวเองโชคดี

โชคดีที่เจอลูกค้าที่เข้าใจแบรนด์ สิ่งที่ทำ และกลายเป็นครูคนสำคัญที่ทำให้แบรนด์เดินทางมาถึงวันนี้

“ลูกค้าเข้าใจว่าเป็นสินค้าธรรมชาติ ข้อดีคือคุณได้ทานของสด มีคุณค่าทางสารอาหารครบ ข้อเสียคืออาจจะไม่ได้รสชาติเหมือนเดิมทุกขวด แต่มันผ่านมาตรฐานที่เราตั้งไว้สูงมาก ส่วนใหญ่ลูกค้าต้องการคำอธิบายตรงไปตรงมา และถ้ามีปัญหา เราจะเรียกล็อตนั้นกลับมาชิมว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า แล้วจะแก้จากตรงไหน กระบวนการผลิตที่คงที่ก็ได้มาจากฟีดแบ็กของลูกค้า ทำไมครั้งนี้มีตะกอนมากกว่าปกติ เราก็มาหาที่มา พบว่าลูกไซส์เล็ก ตะกอนจะเยอะขึ้น หรืออาจมีโปรตีนเติบโตเมื่อเวลาผ่านไป”

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

แม้แต่การสื่อสารทางการตลาด แบรนด์ก็ได้ไอเดียมาจากลูกค้าหลายต่อหลายครั้ง อย่างแคมเปญชวนซื้อน้ำมะพร้าวไปให้เป็นของขวัญ หรือระบบ Subscription รายเดือนสำหรับคนที่ดื่มเป็นประจำ

หนึ่งปีที่ผ่านมา Hom เติบโตไปอย่างช้าๆ และแข็งแรง แม้แต่ละสัปดาห์จะมีแบรนด์ใหม่เข้ามาในตลาดน้ำมะพร้าวแบบ Non-processed ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางการสื่อสารอันดับต้นๆ และการหาแหล่งผลิต OEM ไม่ได้ยากจนเกินไป ทำให้ตลาดนี้ไม่มีอุปสรรคในการเข้าถึง (Barrier to Entry) แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการเริ่มธุรกิจคือการทำให้มันดำเนินต่อไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

นั่นแหละคือสิ่งที่่ยาก

Hom น้ำมะพร้าว Fresh from Farm รสชาติเหมือนดื่มสดๆ จากผล ที่ลงทุนกับ R&D เป็นอันดับต้นๆ

Lesson Learned

Hom ทำธุรกิจแบบ Fact-based ใช้ข้อมูลเป็นที่ตั้งและตัดสินใจทุกอย่างบนพื้นฐานของข้อมูลที่มี โดยต้องมั่นใจว่าแหล่งที่มามีความน่าเชื่อถือ ก่อนจะเริ่มต้องดูคู่แข่งและขนาดของตลาดเพื่อให้มั่นใจที่สุด

เมื่อเริ่มทำแล้วต้องอดทน ยิ่งเป็นสตาร์ทอัพที่ไม่ใช่ด้านเทคโนโลยีอาจต้องใช้เวลา 

โบว์บอกว่า “แต่ก่อนตอนทำงานเฟิร์มใหญ่ๆ เราชอบพูดว่าถ้าอยากได้ลูกเก้าคน ก็ให้ผู้หญิงท้องพร้อมกันเก้าคน ไม่ต้องรอ แต่สำหรับเราตอนนี้ ถ้าอยากได้ลูกเก้าคน เราต้องรอให้มีแม่พันธุ์ที่ดีคนหนึ่งก่อน พอธุรกิจเล็ก อำนาจการตัดสินใจทุกอย่างมีข้อจำกัดเยอะขึ้น”

แต่ถ้าใช้เวลานานและระหว่างทางเจอสิ่งรบกวนใดๆ ก็ตาม จงเชื่อมั่นไว้ว่า การตัดสินใจของเราเกิดจากข้อมูลที่เราศึกษามาอย่างดีแล้ว ไม่มีอะไรต้องสงสัย

Facebook : HOM Coconut

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล