10 กุมภาพันธ์ 2022
4 K

เทียน 6 เล่ม คือสัญลักษณ์แทนความทรงจำของมนุษยชาติต่อชาวยิวบริสุทธิ์ทั้ง 6 ล้านคน ผู้ไม่เพียงถูกสังหารหมู่อย่างโหดร้ายทารุณในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ถูกทำลายความเป็นมนุษย์ลงอย่างเลวทราม ชนิดรุนแรงที่สุดที่เพื่อนมนุษย์บนโลกใบนี้ด้วยกันจะมอบให้ได้

เทียน 6 เล่มค่อย ๆ ทอแสงส่องประกายชัชวาลขึ้นบนดาดฟ้าทำเนียบทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย โดยมี ชิฮิโร ซึกิฮาระ เป็นตัวแทนพวกเราในงาน ‘Remember Us’ งานวันรำลึกโฮโลคอสต์สากล (International Holocaust Remembrance Day) ที่จัดขึ้นโดยสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยประจำปีนี้ มอบแสงสว่างแก่พวกมัน เพื่อส่งความอาลัยสุดขั้วหัวใจแด่ทุกดวงวิญญาณที่ได้รับผลกระทบน้อยใหญ่จากเหตุการณ์นี้ทั้งปวง

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต
นางออร์นา ซากิฟ ว่าที่เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวตอนรับแขกผู้ร่วมงาน

ชิฮิโร ซึกิฮาระ ได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ เพราะเขาคือทายาทของ ชิอูเน ซึกิฮาระ รองกงสุลญี่ปุ่นประจำลิทัวเนียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้เป็นวีรบุรุษของชาวยิวในลิทัวเนีย เพราะเขาออกวีซ่าให้ชาวยิวหลายพันคนได้หลบลี้หนีตายออกนอกประเทศอย่างอาจหาญ ถึงขั้นลงนามในเอกสารระหว่างเดินทางจากโรงแรมไปสถานีรถไฟ และโปรยออกไปทางหน้าต่างสู่ฝูงชนผู้เฝ้ารอทางรอดสุดท้ายในชีวิตอย่างสิ้นหวัง ซึ่งขัดคำสั่งตรงจากรัฐบาลญี่ปุ่น

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต
ชิฮิโร ซึกิฮาระ (คนกลาง)

7 วันก่อนหน้า เมื่อ 20 มกราคม สหประชาชาติ (United Nations) มีมติรับรองข้อเสนอของประเทศอิสราเอล เกี่ยวกับปัญหาการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทั้งต่อต้านและประณามการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ไม่ว่าจะในระดับบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ลดทอนตัวเลขผู้เสียชีวิต หรือปฏิเสธอย่างสมบูรณ์ทีเดียวว่า เหตุการณ์แสนวิปโยคซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงลิ่วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติไม่เคยเกิดขึ้นจริงอย่างไม่มีข้อยกเว้น โดยเฉพาะในโลกดิจิทัลที่ข้อมูลข่าวสารไหลเชี่ยวกราก ทว่าปราศจากผู้คัดสรรเนื้อหา ประเด็นอ่อนไหวเช่นนี้ยิ่งอาจถูกละเลยหรือบิดเบือนได้อย่างง่ายดาย

เทียนทั้ง 6 เล่มยังสุกสกาวสาดแสงแข่งกับดาวในคืนฤดูหนาว เสมือนห้วงกระแสแห่งความรับรู้ของคนกลุ่มหนึ่งที่ส่องประกายต่อสู้กับอวิชชา ‘I Cannot Forget.’ กวีนิพนธ์โดย อเล็กซานเดอร์ กิเมล (Alexander Kimel) ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถูกขับขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสงบงัน เป็นสัญลักษณ์อนุญาตว่าบทสนทนาเริ่มขึ้นได้

เราร่วมล้อมวงกันเล่าเรื่องโฮโลคอสต์กันในมิติที่ทั้งหลากหลาย ทั้งการขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตแห่งสันติภาพด้วยประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว โดย ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถานการณ์และทางออกของปัญหาการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในโลกออนไลน์จาก ปั๊บ-พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ และเรื่องลับในครอบครัวเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ท่านทูตออร์นา ซากิฟ ครอบครัวเหยื่อผู้รอดชีวิต

ทั้งหมดไม่ใช่เหตุผลทางบันเทิงคดี แต่เพื่อรฦกถึงผู้บริสุทธิ์ผู้โชคร้าย และย้ำเตือนไม่ให้เหล่ามนุษยชาติละเลยบทเรียนอันมีค่าอนรรฆเรื่องนี้

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

01 “จะมีสังคมอารยะได้ก็ต่อเมื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์”

“ผมมักเริ่มต้นคลาสเรียนด้วยคำถามว่า ‘นิสิตคิดว่าสังคมที่ดีควรเป็นอย่างไร แล้วอะไรควรเป็นคุณค่าแก่นแท้ในสังคมอารยะ’

“แน่นอนว่ามีคีย์เวิร์ดอย่าง สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในคำตอบ แต่ไม่มีนิสิตคนไหนตอบได้เลยว่าเราต้องทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง ผมเฉลยว่า พวกเราจะมีสังคมอารยะได้ ก็ต่อเมื่อได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งผ่านมา 2 ช่วง ช่วงแรกคือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และช่วงที่สองคือสังคมเยอรมันยุคหลังสงคราม”

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เปิดประเด็นการสนทนาจากประสบการณ์ตรง ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้สอนรายวิชาสัมมนานาซีเยอรมัน

ในฐานะช่วงเวลาหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ที่เราต่างยอมรับว่า ‘จำไม่ได้’ และ ‘ลืมไม่ลง’ ไปพร้อมกัน เหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวนาซี คือสะพานที่เชื่อมโยงไปสู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในโลกยุคหลังสงคราม แต่เราจะไม่เข้าใจความสัมพันธ์นี้อย่างถ่องแท้ถึงแก่นได้เลยหากไม่ศึกษาประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์ ไม่ใช่เพียงในแง่ความทุกข์ทนของชาวยิว เหยื่อผู้อับโชค แต่หมายรวมไปถึงทุกรายละเอียดทั้งหมดในประวัติศาสตร์เหตุการณ์นี้

“เพราะระบอบการปกครองแบบนาซีปฏิเสธศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ พวกนาซีคิดว่าชาวยิว ทาส คนรักเพศเดียวกัน เด็กพิการ คนพิการ รวมทั้งนักการเมือง ทั้งฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายสังคมนิยม จนถึงฝ่ายคอมมิวนิสต์ และทุกคนที่แตกต่างไปจากอุดมคติของพวกนาซี เป็น ‘พวกที่มีชีวิตอันไร้ค่า’ นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมนักปรัชญาชาวเยอรมันอย่าง ฮันนา อาเรนต์ (Hannah Arendt) บอกว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวคืออาชญากรรมต่อทั้งมนุษยภาพและมนุษยชาติ ไม่ใช่เฉพาะชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น’

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต
เหล่าเด็ก ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ เดินทางจากค่ายกักกันนาซีโดยรถไฟสู่ค่ายช่วยเหลือที่เมืองอัตลิต (Atlit) ตอนใต้ของอิสราเอล
ภาพ : Israel Government Press Office

หลังสิ้นสงครามเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1945 นายแพทย์วิลเฮ็ล์ม เบเยอร์ (Dr.Wilhelm Bayer) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองฮัมบูร์ก ผู้รับหน้าที่กำจัดเด็กพิการหลายพันคน เมื่อถึงคราวแพ้สงครามและต้องขึ้นศาล เขาถูกตัดสินความผิดด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยภาพ เจ้าตัวยอมรับจริงว่าได้ฆ่าเด็กพิการไปหลายพันคน ซึ่งดูเหมือนแฟร์ แต่เขาปฏิเสธค้านว่า ‘สิ่งมีชีวิตพวกนี้’ ไม่ใช่มนุษย์ ศาลจึงเอาผิดเขาด้วยข้อหานี้ไม่ได้

“นี่คือตัวอย่างสำคัญว่าทำไมเราควรศึกษาเรื่องโฮโลคอสต์ เพราะถ้าเราอนุญาตให้ใครคนใดคนหนึ่งชี้ขาดว่าใครคือมนุษย์ ใครไม่ใช่มนุษย์ ชีวิตใครมีค่า ชีวิตใครไร้ค่า หรือชีวิตใครมีค่ามากกว่าใคร ก็เหมือนกลับไปเดินตามรอยประวัติศาสตร์นี้อีกครั้ง”

02 “ขอให้โลกนี้ได้สัมผัสเพียงเศษเสี้ยวแห่งความทรมานที่เราได้รับ”

“แล้วเราจะใช้ประวัติศาสตร์ขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตอันสดใสได้อย่างไร”-อาจารย์ตุลย์ตั้งคำถามต่อมา

เพราะลำพังการรู้จักข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ มีอารมณ์เศร้าสร้อยไปกับความสูญเสีย ไม่ได้นำพามนุษยชาติไปสู่จุดใดมากกว่าการรำลึกอดีต เราจึงควรทำความรู้จักสังคมเยอรมันยุคหลังสงคราม ที่ซึ่งสมาชิกพร้อมใจกันตระหนักรู้และยอมรับความผิดพลาดในอดีตอย่างไม่บิดพริ้ว พร้อมเยียวยาชดใช้แก่ผู้เสียหายอย่างสุจริตจริงใจและเป็นรูปธรรม

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต
ภาพ : www.dw.com/en

อย่างกรณีนายกรัฐมนตรี วิลลี่ แบรนดต์ (Willy Brandt) เดินทางไปยังโปแลนด์และคุกเข่าลงเพื่อแสดงสัญลักษณ์การยอมรับผิดของชาติเยอรมันอย่างไร้เงื่อนไข ในเดือนธันวาคมปี 1970 หรือนโยบาย ‘Financial Compensation to the Victims’ ซึ่งไม่ได้ชดเชยให้แค่เงินทองทรัพย์สิน แต่ไปไกลถึงปรัชญาชีวิตของมนุษย์ที่ถูกความอยุติพรากไป ทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนแนวคิด ‘The Acceptance of Jew’ หรือการยอมรับในเกียรติและศักดิ์ศรีชาวยิวในฐานะเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นลักษณะประการสำคัญของสังคมเยอรมันยุคหลังสงคราม

อีกสิ่งหนึ่งที่เยอรมันทำและควรค่าแก่การเอาเยี่ยง คือการรื้อทิ้งวิธีการปลูกฝังค่านิยมในยุคสงคราม ซึ่งนำไปสู่ความเกลียดชังและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอย่างเลือดเย็น จัดระบบการศึกษาใหม่โดยใส่ไอเดีย ‘Menschlichkeit’ หมายถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสามัคคี ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยสันติภาพ และขันติธรรม ซึ่งเป็นผลิตผลจากยุครุ่งเรืองในหน้าประวัติศาสตร์อารยธรรมตะวันตก-The Age of Enlightenment ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ลงไปในหลักสูตร

“ทำไมเยอรมัน ชาติแห่งอารยธรรมอันสูงส่งซึ่งสามารถผลิตปราชญ์อย่างเกอเธ่ ชิลเลอร์ บีโธเว่น โมซาร์ต นิตซ์เช และอีกหลากหลายท่าน ซึ่งล้วนเป็นหัวกะทิแห่งอารยธรรมตะวันตก จึงได้ตกต่ำลงถึงเพียงนี้” 

คำตัดพ้อส่วนหนึ่งในบันทึกส่วนตัวของ มากาธ่า แมธีสัน สุภาพสตรีชาวเยอรมัน ผู้เดินทางกลับมายังบ้านและพบไดอารี่บันทึกอารมณ์อันท่วมท้นของเธอไว้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

“คำตอบสำหรับผมคือ เพราะปลาสนาการของปรัชญาสูงส่งที่สุดซึ่งสังคมยุโรปได้เคยให้กำเนิดไว้ The Philosophy of Enlightenment เราจึงไม่ควรศึกษาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเพียงเพื่อระลึกถึงเท่านั้น แต่ควรศึกษาให้เห็นถึงแก่นแท้ของอารยธรรม และตระหนักถึงนานาปัจจัยที่แผ้วทางให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวขึ้นด้วย

“ดัง ซัลแมน กราดอฟสกี (Zalman Gradowski) เหยื่อชาวยิวผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ ได้เขียนจดหมายสั้น ๆ ไว้เมื่อวันที่ 5 กันยายน ปี 1944 แล้วใส่ขวดฝั่งลงดินไว้ใกล้สุสานในค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ว่า ‘อย่างน้อยที่สุด ขอให้โลกนี้ได้สัมผัสเพียงเศษเสี้ยวแห่งความทรมานที่เราได้รับ’

03 “เสรีภาพในคำพูดไม่ได้มีเพื่อทำลายเสรีภาพของมนุษย์”

ไมโครโฟนเดินทางส่งต่อไปยังวิทยากรคนที่สอง ปั๊บ-พงศ์ศรณ์ ภูมิวัฒน์ จากเพจเล่าประวัติศาสตร์ชื่อดัง The Wild Chronicle ที่เคยถูกลดการเข้าถึงเพราะเขาเขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับนาซี คีย์เวิร์ดและภาพถ่ายของผู้นำนาซีทำให้ AI ของเฟซบุ๊กตรวจสอบพบอย่างผิดพลาด จนถูกเฟซบุ๊กลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม กระทั่งหลายเดือนต่อมา ปั๊ปได้รับจดหมายชี้แจงจากเฟซบุ๊ก ทว่าปราศจากคำขอโทษ

“One thing that is important for all of us is how to teach our children that hatred and phobia can actually lead to Holocaust.”-ปั๊ปเริ่มเรื่อง

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

ในฐานะบล็อกเกอร์สายประวัติศาสตร์ผู้มีภารกิจหลักในการให้ความรู้ผ่านข้อเขียนและสื่อดิจิทัล และสอดส่องโซเชียลมีเดียอยู่เป็นนิตย์ ปั๊บยืนยันว่ามีหลักฐานมากมายในประเทศทั้งชนิดออนไลน์และออฟไลน์ ที่บ่งบอกว่ามีการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอยู่จริง หรืออย่างน้อยที่สุด สังคมไทยก็เพิกเฉยเรื่องนี้ในระดับที่มากอย่างมีนัยยะสำคัญ

“ไม่นานมานี้ยังมีขบวนพาเหรดของนักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ใส่ชุดเครื่องแบบนาซี เพราะคิดว่ามันดูคูลเท่ ยังมีโรงแรมที่แขวนรูป อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตกแต่งไว้ในห้อง โดยใช้ชื่อว่า ‘Nazi Room’ เรื่องตลกคือเขาแขวนไว้กับตราสัญลักษณ์คอมมิวนิสต์ มีคนเล่นวิดีโอเกม World War 2 แล้วบอกว่าชุดนาซีดูเท่ ยังรักนาซีเพียงเพราะเครื่องแต่งกาย หลักฐานใหม่ในอินเทอร์เน็ตอีกมากมายผุดขึ้นมาทุกวัน นี่แหละคือปัญหา”

และปัญหาก็ดูจะไม่ได้สิ้นไป เนื่องจากธรรมชาติของสื่อสังคมออนไลน์ที่เราพูดอะไรก็ได้ที่อยากพูด แชร์อะไรก็ได้ที่อยากแชร์ และตามหากลุ่มคนที่เชื่อเหมือนกันได้ไวดั่งใจนึก เราจึงสร้างห้องแห่งเสียงสะท้อนไว้ซุกซ่อนตัว โดยมีกำแพงแห่งอัตตาล้อมวงเป็นปราการได้โดยไม่ต้องรับรู้ข้อเท็จจริงหรือความเห็นต่าง

“หลากหลายหน่วยงานได้พยายามจัดการเรื่องนี้ อย่างองค์การสหประชาชาติที่ยืนยันว่าการปฏิเสธโฮโลคอสต์ การลดทอนผลกระทบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การโทษชาวยิวว่าเป็นต้นเหตุ ไม่อาจนับเป็นฟรีสปีชได้ เพราะฟรีสปีชมีขึ้นเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วยตัวมันเอง เสรีภาพในคำพูดไม่ได้หมายรวมไปถึงการพูดเพื่อกดคน หรือเพื่อทำลายเสรีภาพของมนุษย์ อย่างเมื่อปี 2020 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) กล่าวว่าตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เฟซบุ๊กจะไม่นับการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่าเป็นฟรีสปีช และจะลงโทษทุกคนที่พูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี”

ประวัติศาสตร์ Holocaust ในโลกดิจิทัล และเรื่องลับจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

แต่ในขณะเดียวกันเฟซบุ๊กและอีกหลากหลายแพลตฟอร์มออนไลน์กลับยังเผชิญปัญหาสำคัญ คือการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบเนื้อหา ซึ่งพบความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง AI แยกแยะเนื้อหาเหยียดผิวกับเนื้อหาการสอนประวัติศาสตร์ตามความเป็นจริงได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

“หลายเพจถูกแบนเพราะพูดถึงนาซี แต่เพจนีโอนาซีจริง ๆ กลับยังมีอยู่เสมอ อินเทอร์เน็ตจึงเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคในการศึกษาประวัติศาสตร์ เราต้องทำให้เยาวชนรู้สึกว่าโฮโลคอสต์ไม่ใช่เรื่องเก่า เพราะตราบใดที่ความเชื่อว่าบางคนดีกว่าบางคนโดยกำเนิดยังมีอยู่ โฮโลคอสต์ก็ยังเกิดขึ้นจริงได้เสมอ”

ในฐานะเพจให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ปั๊ปแนะเคล็ดวิชาทิ้งท้ายไว้ว่า ควรทำสื่อให้น่าสนใจ สั้นกระชับ สอดแทรกมัลติมีเดียลงไปเยอะ ๆ พยายามเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ ตั้งคำถามชวนคิด ตอบรับกับพฤติกรรมผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนแปลงไป

ในยุคที่ทุกคนเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ได้อย่างอิสระเพียงปลายนิ้วจิ้ม ปราศจากคนกลางคอยสอดส่องดูแลอย่างที่ปั๊ปว่า การศึกษาอันมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งต้องคอยให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง และปลูกฝังแนวคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงเป็นเพียงทางออกเดียวที่เรามองเห็นขณะนี้ สำหรับปัญหาการปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งการสร้างวาทกรรมยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดการเกลียดชัง ทั้งในทางเชื้อชาติ ศาสนา และเพศ

04 Family Secret

เทียนทั้ง 6 เล่มยังทำหน้าที่ของพวกมันได้ดียิ่ง ไม่ใช่พันธะในการส่องสว่างแก่อาณาบริเวณโดยรอบ แต่เป็นกิจในการย้ำเตือนเรา-มนุษยชาติรุ่นหลัง ถึงประวัติศาสตร์อันแสนรวดร้าว

ไมโครโฟนเดินทางจากวิทยากรคนที่สองสู่ห้วงจับของวิทยากรท่านถัดไป ว่าที่เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นางออร์นา ซากิฟ เธอไม่ได้กำลังเล่าเรื่องโฮโลคอสต์จากมุมมองการทูต หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่กำลังเล่าเรื่องส่วนตัวของครอบครัวเธอ ในฐานะ ‘เหยื่อ’ และ ‘ผู้รอดชีวิต’ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ที่ทางประวัติศาสตร์ Holocaust อันโหดร้ายในโลกยุคดิจิทัล และเรื่องลับผิดฝาผิดตัวจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

เราขอใช้ เรเนตา-แม่ของท่านทูต เป็นแกนหลักในการเล่าเรื่องและเป็นบุคคลอ้างอิง

เรเนตาเกิดเมื่อปี 1941 ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมัน เธอเป็นน้องสาวคนเล็กของบ้าน มีอีเรนาผู้เป็นแม่ เลี้ยงเธอและพี่สาวมาคนเดียวหลังจากโจเซฟ ผู้เป็นพ่อ เข้าร่วมกับกองทัพรัสเซียและหายสาบสูญ

อีเรนายังมีพี่น้องอีก 3 คน ได้แก่ อับราฮัม ซึ่งไม่ได้แต่งงานเลยตลอดชีวิต ลุดวิก น้องชายอีกคน แต่งงานกับอันดาและไม่มีลูก ส่วนโลราคือน้องสาวคนสุดท้อง โชคร้ายที่ทั้งอันดาและโลราไม่รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อีเรนา อับราฮัม มีเรียม และเรนาตา ซึ่งมีอายุเพียง 9 ขวบ อพยพมายังอิสราเอล ส่วนลุดวิกที่รอดชีวิตยังคงอาศัยอยู่ในโปแลนด์ และนั่นคือเรื่องราวทั้งหมดในความรับรู้ตลอดชีวิตของเรเนตา

ครอบครัวฝ่ายแม่ท่านทูตยังมีญาติเป็นสามีภรรยาอีกคู่หนึ่ง ที่มักเดินทางจากออสเตรเลียมาเยี่ยมแม่ของท่านทูตอยู่บ่อย ๆ แต่ตัวท่านทูตเองไม่เคยเชื่อมโยงได้ว่าพวกเขาเป็นญาติฝ่ายไหน

ให้หลังมาหลายปี ท่านทูตจึงได้รู้ความจริงที่พ่อเธอเก็บงำมากว่า 45 ปีว่า แท้จริงแล้ว เรเนตา แม่ท่านทูต เป็นลูกของลุดวิกกับอันดา ผู้ซึ่งเธอรับรู้มาตลอดว่าเป็นน้าและน้าสะใภ้ แต่เรื่องราวผิดฝาผิดตัวเกิดขึ้นเมื่ออันดา แม่แท้ ๆ ของเรเนตาเริ่มรับรู้สถานการณ์ดีเวลาอันตรายมากแค่ไหน และพวกเขาเองก็น่าจะไม่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็คงถูกนำตัวไปค่ายกักกันเอาท์ชวิตซ์ อันดาจึงนำลูกในไส้ไปฝากไว้กับพี่สาวของสามี–อีเรนา เนื่องจากเธอมีเอกสารปลอมจากสามียืนยันว่าพวกเขาไม่ใช่ชาวยิว

แม้เหตุการณ์เป็นไปดั่งคาด และลุดวิกผู้เป็นพ่อแท้ ๆ ของเรเนตารอดชีวิตกลับมา แต่เขาไม่เคยรับลูกกลับไปเลี้ยงเลย อีเรนาจึงเลี้ยงดูเรเนตานับแต่นั้นมา โดยไม่มีใครในครอบครัวพูดถึงเรื่องนี้อีก

พ่อท่านทูตได้ฟังเรื่องนี้มาจากอับราฮัมอีกทอดหนึ่ง แต่ยิ่งไปกว่านั้น คู่สามีภรรยาจากออสเตรเลีย ญาติห่าง ๆ ที่ท่านทูตไม่เคยยึดโยงความสัมพันธ์ด้วยได้ ก็เผยความลับฉบับเดียวกันนี้ให้เขารู้เช่นกัน แถมเฉลยว่าพวกเขาคือลุงและป้าของอันดา แม่ที่แท้จริงของเรเนตา เรเนตาจึงเป็นสายเลือดเพียงคนเดียวของพวกเขาที่ยังมีลมหายใจอยู่

ความจริงทั้งหมดนี้ แม่ของท่านทูตได้รับรู้และยอมรับอย่างแข็งแกร่งในวัย 62

ที่ทางประวัติศาสตร์ Holocaust อันโหดร้ายในโลกยุคดิจิทัล และเรื่องลับผิดฝาผิดตัวจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

เราเห็นอะไรจากเรื่องนี้ ?

เราเห็นละครชีวิตซึ่งเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ มีเนื้อหนังมังสามนุษย์เป็นตัวแทนความพลัดพราก และความทุกข์ทนในระดับปัจเจก ซึ่งเป็นองคาพยพสำคัญในภาพใหญ่ของประวัติศาสตร์, เห็นอนุสนธิ์จากอดีตที่ไม่มีวันเติมเต็มได้เหมือนเก่า, เราเห็นพลานุภพของสังคมซึ่งไร้มนุษยภาพ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมโลก

05 Six Candles of Enlightenment

ปีนี้ครบรอบ 80 ปีของการประชุมวันน์เซ (The Wannsee Conference) ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution) และการสร้างค่ายกักกันมรณะ เอาช์วิทซ์ เพื่อล้างเชื้อชาติยิวออกจากโลกนี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งทำสำเร็จไปแล้วกว่า 6 ล้านคน 

  80 ปีแล้ว มนุษยชาติปัจจุบันใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจาก 80 ปีก่อน จากหลังมือเป็นหน้ามือ หากเทียบในแง่ความเจริญของเทคโนโลยี แต่ชัดเจนว่าบางแนวคิดอันแสนล้าหลังและเลวร้าย อย่างการเหยียดเชื้อชาติ เหมารวม ขาดมนุษยภาพ ขาดขันติธรรมทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และเพศ และไม่เคารพความหลากหลาย ซึ่งล้วนเป็นชนวนแห่งประวัติศาสตร์อำมหิต กลับยังคงเป็นตะกอนตกค้างอยู่ในสังคม แม้เข็มนาฬิกาเดินวนผ่านไปกว่าเกือบร้อยปีแล้วก็ตาม

ที่ทางประวัติศาสตร์ Holocaust อันโหดร้ายในโลกยุคดิจิทัล และเรื่องลับผิดฝาผิดตัวจากครอบครัวทูตอิสราเอลผู้รอดชีวิต

แม้จบงาน เทียนทั้ง 6 เล่มจำต้องดับแสงลงไป แต่เทียนแห่งการตื่นรู้ เทียนแห่งความรักในเพื่อนมนุษย์ ของมนุษยชาติรุ่นหลัง จะถูกจุดขึ้นเพื่อกำจัดมูลเหตุแห่งโศกนาฏกรรมแห่งประวัติศาสตร์, แม้เพียงเสี้ยว, ให้ออกไปจากสังคม และทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

“No, I have to remember and never let you forget.” เราจำวรรคสุดท้ายจากบทกวีที่ถูกขับไว้แต่ต้นได้จนขึ้นใจ

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ