คอลัมน์หมู่บ้านหลาย ๆ ตอนที่ผ่านมา เราเล่าถึงชุมชนและโครงการสำหรับอยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ เมื่อความจำเป็นทำให้เราต้อง Work from Home จึงมีอีกหนึ่งประเภทที่อยู่อาศัยที่น่าสนใจ และตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่อย่าง Home Office อาคารซึ่งรวมทั้งบ้านและที่ทำงานไว้ในที่เดียวกัน

จริง ๆ แล้วโฮมออฟฟิศเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นมานาน และได้รับความนิยมขึ้นตามวิถีชีวิตในโลกใหม่ หากย้อนไปราว 7 ปี ก็สอดรับกับกระแสธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัพ หรือกระทั่งฟรีแลนซ์ ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพทย์หลายเจ้าเลือกพัฒนาโครงการประเภทโฮมออฟฟิศ และขยายตัวไปยังพื้นที่ใกล้รถไฟฟ้า รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจ

หนึ่งในนั้น คือ HOF Sukhumvit 101/1 ซึ่งมองเห็นข้อแตกต่างเรื่องทำเล โดยความสนุกในแต่ละส่วนของโครงการ อยู่ที่สถาปนิกกระโดดลงมาทำอสังหาฯ เอง จึงใส่ใจต่อดีเทลการออกแบบเป็นพิเศษ ทำให้โซนออฟฟิศแยกจากโซนอยู่อาศัยอย่างชัดเจน ซึ่งตอบโจทย์การทำงานอย่างแท้จริง และส่วนที่เป็นบ้าน ก็ทำให้ที่อยู่ได้อย่างสบายใจด้วยฟังก์ชันที่ครบถ้วนควรมี 

จากความสำเร็จของโครงการแรกในวันนั้น ม่อน-สรกิจ กิจเจริญโรจน์ จึงชักชวน กวง-วรวุฒิ เอื้ออารีมิตร และ เช่-บุญชนะ มนต์ชัยตระกูล สองหุ้นส่วน มาร่วมกันทำ HOF Udomsuk ในชื่อบริษัท ‘UNI-Living’ ที่ยังคงแนวคิดเดิม ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาพื้นที่เพื่อเติมเต็มฝันคนอยากมีบ้านที่ทำงานได้อย่างมืออาชีพ โดยไม่ลืมคิดเผื่อคุณภาพชีวิตผู้อยู่ที่ออกแบบไว้ให้หมดแล้ว

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

HOF = Home and Office

โครงการ HOF Sukhumvit 101/1 เริ่มต้นจากที่ดินในบริเวณบ้าน หลังม่อนทำงานเป็นสถาปนิก เปิดบริษัทรับออกแบบร่วมกับหุ้นส่วน และได้มีโอกาสเรียนต่อด้านธุรกิจ ด้วยความจับพลัดจับผลู เมื่อเรียนจบคุณพ่อก็ปรึกษาว่ามีที่ดินอยู่หนึ่งแปลงในซอยบ้าน จะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง เขามองเห็นเทรนด์เรื่องเทคโนโลยี การทำงานออนไลน์ และโฮมออฟฟิศ น่าจะมาแน่

“อาคารประเภทที่เรียกว่าโฮมออฟฟิศมันยังไม่เป็นที่นิยมเท่าตอนนี้เลย แค่พูดว่าโฮมออฟฟิศ ทุกคนก็จะถามว่าคืออะไร ตอนนั้นยังมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นทาวน์โฮมเอย บ้านแถว จำได้ว่า Bid ค่า Google Ads ถูกมาก เพราะไม่มีใครใช้คีย์เวิร์ดนี้เลย”

ม่อนเล่าต่อว่าช่วงที่เขาทำการรีเสิร์ชตลาดโฮมออฟฟิศ พบว่าส่วนใหญ่แปลนจากทาวน์โฮมหรือบ้านแถว เป็นทรงแคบและลึก ถ้าจะปรับเป็นอาคารสำนักงานก็แค่จัดแปลนใหม่ ซึ่งบางที่ไม่ได้คิดถึงการไหลเวียนของอากาศหรือแสงไว้ เพราะต้องการให้อาคารนั้นมีห้องเยอะที่สุด

“ทุกคนจะขายมาเลยว่าสามห้องนอน สี่ห้องน้ำ สองห้องนั่งเล่น แล้วพอเป็นอย่างนั้นปุ๊บ ทุกอย่างมันบล็อกหมดเลย ลมไม่ได้ ตรงกลางจะเป็นที่ที่ตายที่สุด ปิดมืดที่สุด เพราะว่าแสงไม่เคยลง รู้สึกว่าถ้าเป็นเราอยู่ในพื้นที่แบบนั้น ไม่น่าจะแฮปปี้ แล้วพอเราไปเซอร์เวย์หลาย ๆ ที่ก็คล้ายกันหมด

“ด้วยตัวความเป็นนักออกแบบเอง มันไม่น่าใช่นะ การทำโฮมออฟฟิศประเภทนี้ควรจะมีบางอย่างที่ตอบโจทย์คนใช้งานได้ดีกว่านี้ แล้วที่สำคัญ มันควรจะสวยได้มากกว่านี้ เราก็เลยหยิบยกเรื่องนั้นมา แล้วบอกว่ามันจะมาเป็นจุดขายของเรา”

จุดขายที่ว่า คือตัวเขาเองที่เป็นสถาปนิกผู้หันมาทำโครงการที่อยู่อาศัย โดยใช้ดีไซน์มาเป็นตัวสร้างคุณค่าให้กับพื้นที่ ก็เลยเป็นโครงการที่ตั้งใจใส่การออกแบบมาเต็มที่ เช่น คอร์ทภายในทำให้แสงธรรมชาติเข้ามา เปิดหน้าต่างกระจกด้านหน้า และด้านหลัง ทำให้มี Ventilation Flow รวมถึงออกแบบคาแรกเตอร์หลังคาทรงจั่วแบ่งบ้านแต่ละหลัง ซึ่งเกิดจากการอยากให้เพดานชั้นบนสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตามข้อกฎหมาย

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง
ภาพ : Integrated Field

เมื่อจุดขายข้อนี้นำมาหักล้างกับจุดขายเรื่องทำเล ที่ทั้งเป็นที่ดินกลางซอยส่วนตัว ห่างรถไฟฟ้า ต่างกับเจ้าอื่น ๆ ในตลาดอย่างสิ้นเชิง การนำการออกแบบซึ่งตอบโจทย์คนที่มองหาโฮมออฟฟิศที่ทั้งสวยและสเปซดีมาพิสูจน์นี้ ทำให้ HOF Sukhumvit 101/1 ขายหมดเกลี้ยง

HOF = Happiness and Opportunity

จากเฟสแรก ขยับสู่เฟสที่ 2 ที่ 3 กระทั่งที่ดินหมด ม่อนหยุดไปสักพัก เขาเผยว่าช่วงนั้นเป็นเวลาที่นั่งทบทวนว่าจะทำต่อดีไหม เพราะมีงานประจำเป็นสถาปนิกอยู่แล้ว แล้วถ้าทำต่อจะทำไปเพื่ออะไร

“ผมรู้สึกว่าเหตุผลของการทำงานออกแบบหรืออะไรก็ตาม ผมไม่ได้ทำทุกอย่างเพื่อเงินอย่างเดียว ก็เลยมานั่งคิดว่าจริง ๆ แล้วอสังหาฯ มีข้อดียังไง สุดท้ายก็ค้นพบเป้าหมายที่เราต้องการทำ คือเราอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้นจริง ๆ ด้วยการใช้งานออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ใส่ลงไป ไม่ว่าเราจะออกแบบบ้านให้ใคร หรือทำอาคารอย่างนี้ขาย และสิ่งที่เกิดขึ้นจะขอเรียกว่าเป็นความรู้สึกสำเร็จเล็ก ๆ นะ ที่ที่นี่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาค่อนข้างเยอะ เราทำให้ลูกค้าเห็นว่ามันมีทางเลือกนะ มันพัฒนาต่อไปได้ แล้วอย่างน้อยมันขับเคลื่อนให้วงการนี้ขึ้นไปอีกสักนิดหนึ่ง ผมก็แฮปปี้แล้ว”

สิ่งที่เจ้าตัวค้นพบต่อจากนั้น เปลี่ยน HOF ที่เดิม ย่อมาจาก Home and Office เป็น Happiness and Opportunity ที่สร้างทั้งความสุขและโอกาส

“อสังหาฯ ในยุคนี้มันต้องเป็นแบบนี้ เราเชื่อว่าคนสมัยนี้ที่เลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ เขาไม่ได้ซื้อเรื่อง Emotion หรือซื้อแค่ Function แล้ว แต่เขาดูว่าซื้อไปแล้วมันคุ้มค่าไหม สร้างโอกาสอะไรให้กับเขาได้บ้างไหม ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มันเหมือนการลงทุนอะไรสักอย่าง ในขณะที่เราลงทุนนั้น เรามีความสุขกับที่ที่นั่นได้ด้วย” เขาเล่าถึงคีย์เวิร์ดสำคัญที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจของโครงการโฮมออฟฟิศหลังใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น 

“จะดีกว่าไหมถ้ามันสวยด้วย ฟังก์ชันครบด้วย และมีโอกาสบางอย่างให้กับพื้นที่เขาด้วย”

เมื่อตัดสินใจทำต่อ เขาชวนหุ้นส่วนที่มีเป้าหมายเดียวกันอีก 2 คนมาเสริมทัพ ทั้งกวง ผู้มีประสบการณ์ด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเป็นพาร์ตเนอร์อยู่ที่บริษัท IF ด้วยนับสิบปีแล้ว มาดูแลเรื่องกำหนดทิศทางการออกแบบและโปรดักต์ของบริษัท ส่วน เช่ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งอยู่ในแวดวงด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มาเติมทีมในด้านการหาที่ดิน รวมถึงการมองหาโอกาสของการพัฒนาพื้นที่ พวกเขาตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า UNI-Living โดยกวงและม่อน ยังควบตำแหน่งสถาปนิกของบริษัท IF (Integrated Field) ผู้ออกแบบโครงการ HOF Udomsuk ด้วย

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

“Uni มันคือหน่วยเล็กท่ีสุด เราเชื่อในเรื่องของงานออกแบบที่เรียบง่ายแต่ใส่ใจในรายละเอียด แม้กระทั่งจุดที่เล็กที่สุดมันก็มีความสำคัญเหมือนกัน แล้วอีกอย่างความเชื่อของ UNI-Living คือเราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้นด้วยการใช้งานออกแบบ ไม่ว่าเป็นอะไรก็ตาม จะเห็นว่าเราไม่ได้ตั้งชื่อบริษัทที่เป็น Development เราไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็น Developer ด้วยซ้ำ เพราะว่าแผนในอนาคต เราคิดว่าจะทำยังไงให้มันมากกว่าการเป็นอสังหาริมทรัพย์ มันอาจจะมีโปรดักต์หรือมีอื่น ๆ ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ขึ้นได้ด้วย” เขากลับมาย้ำเป้าหมายด้วยชื่อบริษัทใหม่

Work at Home

เมื่อตัดสินใจทำต่อ การบ้านแรกพวกเขากลับไปดูว่าโครงการ HOF 1 ว่า การออกแบบอันไหนเป็นเรื่องที่ดี และมีอะไรต้องแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้นได้ ด้วยการเซอร์เวย์ลูกค้าที่ซื้อไปทั้งหมด ทั้งใช้วิธีทำแบบสอบถามและพูดคุยถึงการใช้งานจริง จึงได้เห็นคอมเมนต์น่าสนใจหลายประเด็น และจากนั้นจึงมองหาโอกาสจากทำเล

HOF Udomsuk อยู่ในซอยอุดมสุข 18 ระยะทางจากรถไฟฟ้าราว 600 เมตร อนาคตกำลังจะมี Bangkok Mall โครงการห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในไทยเกิดขึ้นอยู่ในระยะ 100 เมตร ซึ่งเช่ให้ข้อสังเกตเรื่องทำเลนี้ว่า จะกลายเป็นฮับที่เกิดขึ้นใหม่ มีโอกาสในเชิงการสร้างมูลค่าของที่ดิน และเห็นว่าจะมีการเติบโตขึ้นในอนาคต

“เราเลือกดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ใช้เวลาหกถึงแปดเดือน แล้วผมนึกก็ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนผมอายุยี่สิบสี่ ก่อนมี Emporium ที่ดินซอยนั้นวาละประมาณแสนกว่า ซึ่งพอเอ็มโพเรียมเปิดกลายเป็นสี่แสนห้า แล้วทุกวันนี้ซื้อขายกันประมาณล้านกว่า ผมก็เลยคิดว่าแปลงนี้ อนาคต ศักยภาพมันต้องเป็นประมาณนั้นแน่เลย”

มีทำเลที่ตรงใจแล้ว เรื่องของการออกแบบ ก็ไม่ใช่แค่จับฟังก์ชันการเป็นบ้านหรือออฟฟิศใส่เข้าไปในอาคารแล้วจบ พวกเขาคิดถึงการใช้พื้นที่อย่างคุ้มค่า แก้ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้อยู่

ตั้งแต่เรื่องที่จอดรถ แก้ปัญหาคลาสสิกนี้ด้วยการกดพื้นให้มีระดับต่ำกว่าพื้นดินลงไป 0.9 เมตร และยกพื้นชั้นหนึ่งขึ้นสูงขึ้นไป 2 เมตร ทำที่จอดรถใต้ดินไว้ให้ 5 – 8 คันต่อหลัง

“เราให้ความสำคัญเรื่องพื้นที่สาธารณะ เราเห็นมาตลอดว่าเวลาโครงการมีที่จอดรถได้น้อย ทุกคนไปจอดริมถนนบ้าง พื้นที่ส่วนกลางโครงการบ้าง จอดหน้าบ้านใครกันบ้าง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น เราอยากให้ทุกคนรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองมีได้”

HOF Udomsuk ขนาด 3.5 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยต่อหลัง 388 ตารางเมตร การแบ่งโซนออฟฟิศให้อยู่ 2 ชั้นล่าง ส่วน 2 ชั้นบนเป็นบ้าน ใช้ลิฟต์แยกการเข้าถึงของ 2 ชั้น โดยส่วนออฟฟิศจะขึ้นไปชั้นบนบ้านไม่ได้เลย ส่วนคนที่อยู่บ้านก็ออกไปได้เลยโดยไม่ต้องผ่านชั้นออฟฟิศ

“เท่ากับว่าโอกาสที่เกิดขึ้นคือ ถ้าคุณซื้อไปแล้วคุณอยากได้บ้าน แล้วคุณจะใช้แค่สองชั้นนี้ คุณแฮปปี้แล้ว สองชั้นล่างคุณปล่อยเช่าได้นะ ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณซื้อเป็นออฟฟิศ ใช้สองชั้นล่างเต็มแล้ว สองชั้นบนปล่อยให้ใครมาเช่าเป็นบ้านก็ได้ คุณจ่ายไป สุดท้ายผลตอบแทนตรงนี้กลับมาได้ด้วย

“สองชั้นล่าง ชั้นหนึ่ง กับชั้นลอย มีเป็นฟังก์ชันที่เป็น Open Space เราไม่ได้กั้นห้องอะไรให้เลย เพราะเชื่อว่า เหตุผลของการเป็นพื้นที่ Open-plan แบบนี้ เปิดโอกาสให้ทำฟังก์ชันข้างล่างเป็นอะไรก็ได้ คุณอยากทำสตูดิโอ อยากทำร้านค้าเล็ก ๆ อยากทำพื้นที่จัดโชว์ของ ทำได้หมดเลย แล้วที่สำคัญ ชั้นลอยเราออกแบบเตรียมโครงสร้างเอาไว้เพื่อรองรับการต่อเติมในอนาคต ซึ่งโครงการแรกก็มีอยู่แล้ว แต่เราทำเป็นปูนปิดเอาไว้ พอลูกค้าจะต่อเติมชั้นลอยมันยากมาก โครงการนี้เลยเตรียมคานเหล็กรัดรอบไว้ให้ แค่เอาเหล็กวาง แล้วปูพื้นก็จบเลย ทำเสร็จได้ในเวลาไม่เกินสองวัน เมื่อต่อเติมการใช้งานได้ มันก็เป็นโอกาสการเติบโตในอนาคตของเขาต่อไป”

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง
HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังออกแบบการวางระบบไฟ จุดเชื่อมต่อปลั๊กไฟ ระบบการใช้งานคอมพิวเตอร์ ท่อแอร์ ตำแหน่งเสาและคาน และงานระบบอื่น ๆ ที่เอื้อให้เกิดความสะดวกสบายไว้ด้วย

Home that works

“กลับมาเรื่องบ้าน ความเป็นบ้านคือการที่เรารู้สึกว่ามันคือความสุข ทีนี้ความสุขมาด้วยวิธีการไหนได้บ้าง เราตั้งใจออกแบบให้มีฟังก์ชันทุกอย่างในความเป็นบ้านหมดเลย เหมือนยกบ้านมาไว้ที่ชั้นนี้เลย เพราะฉะนั้น มันมีทั้งห้องครัวที่ทำอาหาร ทำผัดกะเพราได้จริงจัง มีพื้นที่กินข้าว มีพื้นที่นั่งเล่น มีห้องนอนใหญ่ ห้องน้ำ มี Walk-in Closet แล้วก็มีพื้นที่สวนเล็ก ๆ ด้วย” ม่อนเล่าขณะพาเดินไปดูยังส่วนอยู่อาศัย

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง
HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

เมื่อลิฟต์เปิดออกจะพบกับชานบ้าน พื้นที่ Semi-Outdoor ที่มีประตูเลื่อนเปิดปิดได้ เชื่อมต่อไปยังห้องนั่งเล่นแบบดับเบิ้ลสเปซด้านใน พร้อมเจาะช่องหน้าต่างทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้าน เพื่อเกิดการไหลเวียนของลมที่เหมาะสม 

 ดีเทลเล็กน้อยที่เขาแอบใส่ไว้ตั้งแต่หน้าลิฟต์เลยคือพื้นกระเบื้อง ให้เหมือนเดินเข้าหน้าบ้านและล้างทำความสะอาดง่าย เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ พร้อมพื้นที่สำหรับทำสวนเล็ก ๆ ได้ ส่วนหน้าลิฟต์ซ่อนตู้เก็บรองเท้าและงานระบบไว้อย่างเนียนตา

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

“อันนี้เป็นพื้นที่หัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้ ในการสร้างความสุขที่เราตั้งใจออกแบบตั้งแต่ตอนแรก มันเปลี่ยนได้ด้วยนะ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าการใช้งานของแต่ละคนเป็นยังไง พอปิดประตูบานนี้แล้วเลื่อนบานนี้ออก จะเห็นว่ามันเชื่อกันเป็นสเปซเดียวกันได้ 

“อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความสุข ซึ่งเรารู้สึกว่ามันตอบโจทย์ก็คือ การออกแบบที่ช่วยให้สุขภาพของคนที่อยู่อาศัยนั้นดีที่สุด มันคือเรื่องเบสิกเลย คือ Orientation การวางอาคารถูกทิศ เรื่องแสงและลมธรรมชาติ จะเห็นว่าด้านหน้าด้านหลังกระจกเปิดเต็มบาน เปิดได้ อากาศไหลเวียน แล้วเราก็ทำตรงกลางให้เป็นพื้นที่โล่ง มี Skylight ตั้งใจให้แสงธรรมชาติมันลงมา ถ้าปิดไฟทุกอย่างก็ยังจะสว่างอยู่ แล้วสุดท้ายเรามองไปในเรื่องของรายละเอียดการออกแบบด้วย” ม่อนเล่าพลางพาไปชี้หลาย ๆ จุดให้ดู

ไล่ตั้งแต่องค์ประกอบทางวัสดุที่เห็นทั้งหมดที่นี่ ผู้ซื้อจะได้ทั้งหมดตามนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ตั้งใจออกแบบและเลือกมาว่าให้แล้วว่าสวย 

“เราออกแบบให้คุณเรียบร้อยแล้วแปดสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วผมไม่อยากใช้คำว่า Fully Furnished ด้วย เพราะยี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่หายไปลูกค้าต้องเติมเอง ด้วยเฟอร์นิเจอร์สวย ๆ ที่เป็นตัวคุณลงไป ถ้ายกเก้าอี้ ยกโต๊ะ ยกโคมไฟ ต้นไม้กระถาง ยกออกไปปุ๊บ นี่คือตามนั้นเลย พื้นฝ้าตามนี้เป๊ะ ตู้ทีวีมีเก๊ะเก็บของ เราออกแบบไว้ให้เรียบร้อยหมดแล้ว ไฟทุกดวงที่คุณเห็น เราก็ใช้ Lighting Designer เข้ามาทำให้ แล้วเรื่องของอุปกรณ์ที่ดี สีก๊อกน้ำ ต้องเป็นสีดำตัดกับโต๊ะสีขาว แล้วสีขาวมันแมตช์กับพื้นกระเบื้องสีเทา มาเจอต้นไม้สีเขียวตรงนี้ก็จะสวย แต่ต้นไม้คุณชอบต้นอะไรคุณก็เลือกเองได้

“ผมรู้สึกว่าอันนี้ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ อย่างหนึ่ง ที่ลูกค้าจะต้องเข้ามาเติมบ้านให้มันเต็มด้วยตัวของเขาเอง”

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

in Design, in Details

ด้วยความเป็นสถาปนิก รายละเอียดในเชิงการออกแบบเลยเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่มองข้ามสักจุด และเสริมเทคโนโลยี Home Automation ต่าง ๆ เข้าไปด้วย

ที่น่ารักคือ ราวกันตกหลังบ้านในส่วนพื้นที่ซักล้าง ทำเป็นราวแขวนผ้าได้ด้วย ปรับจากฟีดแบ็กโครงการแรกที่ไม่มีที่ตากผ้า ซึ่งถ้าไม่อยากให้หลังบ้านดูรก ก็แขวนต้นไม้หรือทำมูลี่บังตาได้

HOF Udomsuk โฮมออฟฟิศที่ออกแบบมาเพื่อเป็นบ้านและที่ทำงานอย่างแท้จริง

นอกจากดีไซน์เรื่องแสงเกี่ยวกับการใช้งานแล้ว ยังออกแบบเพื่อความสวยงามด้วย ความสว่างจากช่องแสงเหนือบันไดที่สาดมาตรงผนัง เป็นความตั้งใจด้านองค์ประกอบเรื่องความสวยงาม บันไดไม้จริงคล้ายก้อนยื่นออกมาจากตัวผนัง หากลองนั่งบนโซฟา ก็เห็นเป็นภาพภาพหนึ่งบนผืนผนังออกสีเทา ๆ และบันไดก็ดูราวกับมีมิติลอยออกมา ตรงราวมือจับขึ้นบันไดออกแบบ Lighting ใส่เข้าไปตรง ๆ เลยไม่จำเป็นต้องมีไฟห้อยให้ยุ่งยากกับการเปลี่ยนเมื่อหลอดขาด และยังเจาะช่องให้แสงธรรมชาติลงกระทบต้นไม้ เห็นเป็นเงาต้นไม้ร่มรื่นบนผนัง

เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส
เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส

ชั้นบนสุดมีเพียงห้องนอน Master Bedroom ที่คาแรกเตอร์ของสเปซเป็นหลังคารูปทรงจั่ว ภายในห้องเน้นโทนสีขาวสบายตา มี Walk-in Closet ความยาวขนาด 5 เมตร และห้องน้ำในตัว ซึ่งใช้งานได้พร้อมกัน 2 คน

ไม่ง่ายเลยที่จะขายบ้านขนาด 1 ห้องนอน

“ทุกคนก็แบบจะบ้าหรอ ทุกวันนี้เขาขายกันสาม สี่ห้องนอนนะ คุณมาขายหนึ่งห้องนอนได้ยังไง” เขาพูดแทนสิ่งที่เรากำลังคิด

“ปรากฏว่าลูกค้าจากโครงการเราแฮปปี้ เพราะทาร์เก็ตเราเป็นกลุ่มอายุประมาณยี่สิบปลาย ๆ สามสิบกลาง ๆ ไม่เกินสี่สิบเป็นคนเน้นคุณภาพของพื้นที่ และอย่างมากก็มีลูกหนึ่งคน เขาได้จัดพื้นที่ของตัวเอง เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนั้น ซึ่งจริง ๆ มันเริ่มที่หนึ่งห้องนอนนะ แล้วเราออกแบบพื้นที่ให้ปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นสองห้องนอนได้”

เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส
เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส

“ห้องน้ำก็เป็นฟีดแบ็กจากโครงการที่แล้วเหมือนกัน อันเก่ามันจิ๋วมาก คราวนี้ก็เลยใหญ่ขึ้น อยากรู้สึกว่าไม่ได้เป็นห้องน้ำปิด เพราะแสงธรรมชาติสัมพันธ์กับห้องน้ำ ต้องได้รับแสงที่ดีเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วก็เรื่องลมให้มันไหลเวียน แสงส่องลงสองข้างนี้ได้” ม่อนอธิบายก่อนเดินนำไป เพื่อชี้ให้เห็นทั้งสองฝั่งห้องน้ำ มีกั้นพื้นที่เล็ก ๆ เจาะช่องสกายไลต์ไว้ด้านบน ฝั่งหนึ่งมีพื้นที่สำหรับซักล้าง วางเครื่องซักผ้า และทำโครงเหล็กแขวนเป็นราวตากผ้าไว้

เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส
เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส

ที่ขาดไม่ได้คือพื้นที่สีเขียวเล็ก ๆ เขาทำกระถางปลูกต้นไม้หน้าบ้านไว้ให้ทุกหลัง และวางระบบน้ำ Sprinkles Automation ไว้แล้ว ข้อดีคือทำให้แต่ละคนดูแลต้นไม้ของตัวเองให้ดีงามต่อไป สุดท้ายการที่ทุกคนต่างคนต่างดูแลหน้าบ้านของตัวเองให้ดี พื้นที่สาธารณะตรงกลางเป็นมิตรทางสายตาไปด้วย

Valuable Community Service

สิ่งหนึ่งที่ HOF Udomsuk มีไม่เหมือนอุดมคติโครงการบ้านของหลาย ๆ คน คือ Facility ส่วนกลาง พวกเขาบอกว่าพื้นที่นี้ไม่ได้ตั้งใจไปถึงการทำแบบบ้านจัดสรร แต่อยากสร้างชุมชนเล็ก ๆ มากกว่า เพื่อให้ต่างคนต่างช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ให้เหมือนที่ HOF Sukhumvit 101/1 กลายเป็นการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจริง ๆ

“ตอนแรกก็กังวลนะว่าโครงการทั่วไปมีส่วนกลาง แต่พอเราไม่มี เขา (ลูกบ้าน) ก็แฮปปี้ เขาบอกว่าดีจังเลย จะได้ไม่ต้องมาเสียค่าส่วนกลางที่ก็ไม่ได้ใช้ อย่างบ้านแต่ละหลังเขารู้จักกัน ตอนเย็นก็เอาหมามาจูง มาเจอกัน แล้วสุดท้ายความเจ๋งคือ เวลาบ้านไหนไม่อยู่ ก็ฝากบ้านกับอีกหลังหนึ่งว่าช่วยดูทีนะ เหมือนเพื่อนบ้านเป็นคอมมูนิตี้ที่มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะด้วยกลุ่มผู้อยู่ถูกเลือกด้วยโปรดักต์มาแล้วว่าค่อนข้างคล้ายกัน จริง ๆ ทำออฟฟิศอยู่ตรงนั้นด้วย เราเห็นการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างหมดเลย เห็นบ้านสามบ้านเขามาเล่นกันที่ออฟฟิศเรา เอาหมามาเล่นกับพนักงานเรา เราก็คิดว่าดีจัง ไม่ต้องมีคลับเฮ้าส์ แต่กลายเป็นเพื่อนบ้านกันจริง ๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แจ๋วสำหรับผมนะ

“สิ่งที่เราเห็นและเราก็แฮปปี้ คือเราได้เห็นเขาใช้พื้นที่ที่เราสร้าง สร้างคุณภาพชีวิตของเขาให้มันดีขึ้น ธุรกิจของเขามันก็เติบโตขึ้น เป็นสังคม เป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายที่เราอยากเห็นจากการทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมาจริง ๆ”

เปิดโฮมออฟฟิศขนาด 3.5 ชั้น ในซอยอุดมสุข ฟังเบื้องหลังการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ผ่านแนวคิดสร้างความสุขและโอกาส
ภาพ : Integrated Field

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล