โดยอาชีพแล้ว หมู-อัญชลี ศรีไพศาล เป็นที่ปรึกษาให้กับไลฟ์สไตล์แบรนด์ เป็นอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์แฟชั่น เป็น Lifestyle Designer เป็นนักเขียนอิสระ
เธอเป็นคนเอาจริงเอาจังกับทุกเรื่องที่อยากรู้
เพื่อความสนิทสนมเราขอเรียกเธอว่าครูพี่หมู
ก่อนจะไปฟังเรื่องงานอดิเรกแสนรักของเธอ เราอยากแนะนำเธอให้คุณรู้จักมากกว่านี้ และระหว่างนี้คุณจะอ่านไปด้วย เลือกกระดาษและสีริบบิ้นไปพร้อมกันด้วยก็ได้
หลังจากเรียนจบด้านแฟชั่นสไตลิสต์จาก Bunka Fashion College ประเทศญี่ปุ่น ครูพี่หมูทำงานในบริษัทค้าปลีกของญี่ปุ่นประจำประเทศไทยอยู่ถึง 13 ปี ก่อนทำงานกับโรงงานทอผ้า เขียนหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นมุมมองใหม่ๆ ในสมัยที่นักท่องเที่ยวชาวไทยยังไม่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นมากนัก และทำอื่นๆ อีกมากมายตามที่เธอสนใจ
“ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่ข้อมูลเนื้อหาเยอะ เวลาเขามีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ เขาจะไม่บอกแค่ข้อมูลนี้คืออะไร แต่จะบอกที่มาที่ไปเรื่องราวต่างๆ ตรงกับความสนใจที่คนชอบ ยิ่งเพิ่มนิสัยที่ว่าอยากรู้อะไรเราต้องรู้ให้จริง รู้ให้ลึก เราสนุกกับการทำข้อมูลมากๆ” และความชอบหาชอบค้นข้อมูล ครูพี่หมูทำงานเยอะจนออฟฟิศซินโดรมเรียกหา เริ่มจากปวดเมื่อย นานวันเข้าก็ส่งสัญญาณเป็นอาการเกร็งและเริ่มๆ ปวดหัว
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ครูพี่หมูเริ่มพบว่าตัวเองเป็นออฟฟิศซินโดรม โดยสาเหตุมาจากปัจจัยการใช้ชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดรวมๆ กันที่เอื้อให้โรคออฟฟิศซินโดรมเข้ามาทักทาย หลังจากรับการกายภาพชุดใหญ่ไฟกะพริบจากหมอ เธอตัดสินใจเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตทั้งหมด หากิจกรรมอื่นๆ ดึงความสนใจจากหน้าจอบ้าง
และเมื่อกลับสังเกตตัวเอง เธอพบว่าเธอเป็นคนชอบแพ็กเกจจิ้งมาตั้งแต่เด็ก ชอบให้ของขวัญโดยไม่เน้นมูลค่าของขวัญแต่แสดงความระลึกนึกถึงกันในโอกาสต่างๆ ชอบและสนุกกับการห่อของขวัญ จึงตัดสินใจเริ่มห่อของขวัญอย่างจริงจัง จริงจังขนาดที่ว่าหาข้อมูลคลาสเรียนห่อของขวัญที่ญี่ปุ่น จึงติดต่อขอเรียนหลักสูตรเร่งรัดเช้าจรดเย็นใน 1 สัปดาห์
“ที่ผ่านมาเราห่อแบบครูพักลักจำ ดูจากหนังสือ แต่เราอยากรู้พื้นฐานจริงๆ และเทคนิคของการห่อของขวัญ แล้วที่ญี่ปุ่นจริงจังกันมากนะ เขามีเป็นสมาคมเลย คนที่สอนตามสตูดิโอต่างๆ ต้องได้รับใบรับรองจากสมาคม” ครูพี่หมูเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจก่อนเดินทางไปเรียนในช่วงปลายปี 2014
บทเรียนแรกสุดจากหลักสูตรห่อของขวัญแบบเร่งรัดนี้คือ วิธีการกรีดกระดาษ และบทเรียนพื้นฐานของการห่อของขวัญอื่นๆ ตั้งแต่การห่อแบบคาราเมล หรือการห่อกล่องของขวัญทั่วๆ ไป การห่อแบบเฉลียง หรือการห่อแบบห้างฯ ญี่ปุ่น แล้วยังมีการห่อที่ดัดแปลงจากพื้นฐานทั่วไปอีกมากมาย วิธีการวางของขวัญกับกระดาษ เทคนิคการจับกระดาษ ก่อนจะพับ จะกรีด หรือจับกลีบ หรือบางเรื่องเรารู้มาแล้วเพียงแต่ไม่รู้ที่มาที่ไป เรียนรู้วัฒนธรรมการ ‘ไฮ่’ ในโอกาสต่างๆ โดยจะเห็นจากหีบห่อกับทุกสิ่งของญี่ปุ่น นอกจากวันเกิดวันปีใหม่แบบทั่วไปแล้ว ยังมีวันครึ่งปี
“ความหมายที่ซ่อนในรายละเอียด โบที่ผูกซองเงินงานมงคลกับงานไม่มงคลก็ต่างกัน โบสำหรับงานศพจะเป็นเงื่อนตายหมายถึงไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีก หรือสิ่งไหนที่อยากให้เกิดหลายๆ ครั้งอย่างงานมงคลก็จะใช้วิธีการผูกที่ทำให้แกะริ้บบิ้นง่ายและผูกซ้ำได้อีก” ครูพี่หมูเล่าตัวอย่างรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญในวัฒนธรรมการให้ของญี่ปุ่น ว่าที่แม่บ้านญี่ปุ่นในฝันอย่างเราก็ได้แต่ตั้งใจฟังและจดแบบละเอียดยิบ
“หลังจากเรียนจบหลักสูตรพื้นฐานการห่อของขวัญกลับมา เราก็คิดว่าทำยังไงให้การห่อของขวัญของเราต่อเนื่อง จึงมาลงเอยด้วยการใช้ Instagram (@curiouspig) เป็นที่ส่งการบ้านของตัวเอง บังคับให้ตัวเองห่อของ ท้าทายตัวเองด้วยโจทย์ใหม่ๆ หาวิธีการใหม่แบบใหม่ๆ จากพื้นฐานที่เรียนมา
“ถ้าดูในสมุดส่งการบ้านของเราจะเห็นว่ามันไม่มีแต่สี่เหลี่ยมธรรมดาอย่างเดียวแต่ผสมกับทักษะพื้นฐานและสิ่งรอบตัว หรือวัตถุดิบที่ใช้ก็ไม่จำกัดเฉพาะกระดาษ มีผ้าชนิดต่างๆ หรือหากเป็นกระดาษก็ไม่จำเป็นว่าต้องติดกาวอาจจะเจาะรูร้อยด้ายเหมือนการเย็บ หรือการใช้คอนเซปต์เพิ่มความสนุกกับตัวเอง”
เอกลักษณ์ของการห่อของขวัญของครูพี่หมูคือ การใส่ตัวตนลงไปในงาน การไม่จำกัดตัวเองทั้งวัสดุและความคิด บางชิ้นงานใช้วิธีการผูกมัดกลัดติดอย่างขนมไทยและแทนที่จะใช้กระดาษสีเขียวแบบใบตอง เธอเลือกใช้กระดาษขาวดำวาดรูปใบไม้
สิ่งที่ครูพี่หมูให้ความสำคัญเสมอคือเน้นการห่อที่แกะง่าย เช่นเดียวกับของขวัญที่เธอส่งมอบให้เราในตอนที่พูดคุยเรื่องนี้ ปมเชือกอย่างง่ายผูกคล้องเกี่ยวกันไว้สวยงามซึ่งหากมองเผินๆ จะดูคล้ายกับการผูกรัดเงื่อนตาย รวมไปถึงวิธีการพับกลัดกระดาษแทนการใช้กาวหรือเทปใส นอกจากนี้ งานของครูพี่หมูยังมีอารมณ์ขันซ่อนอยู่ในงานเสมอ
“การห่อแต่ละครั้ง หากเราคิดวางลำดับขั้นก่อนหลังไว้ล่วงหน้า พอห่อจริงมักไม่เป็นอย่างที่คิดนะ แต่พอด้นสดบางทีระหว่างนั้นเราจะพบวิธีใหม่ เป็นความรู้สึกที่สนุกมาก ลับคมความคิดของเราอยู่ตลอดเวลา แอบคิดไว้เหมือนกันอยากให้สิ่งนี้เป็นงานอดิเรกของเราไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะอายุมากขึ้น”
สำหรับครูพี่หมู นอกจากการห่อของขวัญจะช่วยพาเธอออกมาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว การห่อของขวัญให้อะไรกับครูพี่หมูบ้าง เราถาม
“ความสนุกกับการคิดใช้วัสดุอะไร วิธีการแบบไหน ให้ความสดชื่น เปิดมุมมอง ไม่จำกัดอยู่กับกรอบและรูปแบบเดิมๆ ได้คิดและต่อยอดอยู่ตลอด ซึ่งส่วนใหญ่วัสดุใช้จะเป็นของรอบตัวหรือเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ที่ดัดแปลงได้ เช่น ที่เปิดกระป๋องน้ำอัดลมมาทำเป็นหัวเข็มขัดผูกกับริบบิ้นใช้ห่อของขวัญ คู่มือการต่อโต๊ะที่มากับกล่อง IKEA ใช้เป็นกระดาษห่อของขวัญ”
ไม่แปลกที่ส่วนมากคนจะเน้นมูลค่าของที่อยู่ด้านในกล่องของขวัญ เพราะสังคมอุดมความดีงามนี้ใครๆ ก็ยกย่องคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน ทั้งที่เราก็รู้กันดีว่าเราต่างพึงใจจะเลือกหยิบบางสิ่งด้วยสิ่งห่อหุ้มภายนอก
แต่ก็ใช่ว่าความสนใจสิ่งห่อหุ้มจะเป็นเรื่องแค่เปลือกหรือผิวเสมอไป ลองมองให้ดี เหล่านี้แสดงให้เห็นคุณค่าต่อจิตใจที่เริ่มตั้งแต่ภายนอก หีบห่อที่สะท้อนความใส่ใจ หีบห่อที่สะท้อนความระลึกถึง
“แล้วของแบบไหนควรค่าแก่การหีบห่อ” เราถามเธอเป็นคำถามสุดท้าย แม้เดิมทีตั้งใจจะถามคำถามนี้เป็นคำถามแรก ครูพี่หมูยิ้มก่อนจะใช้เวลาคิดสักครู่
“ของทุกอย่าง อะไรก็ได้ ของที่พึงใจผู้รับ”
ขอขอบคุณ : อัญชลี ศรีไพศาล
HOW TO: ออกแบบการห่อของขวัญ เพื่อแอบบอกความห่วงใย (จริงๆ นะ)
ของขวัญไม่ได้จำเป็นต้องราคาแพง และโอกาสของการให้ของก็ไม่จำเป็นต้องรอวันเกิด ปีใหม่ หรือครบรอบวันพิเศษ บางทีคิดถึงกันก็มองของให้กันก็ได้ หรือให้กำลังใจกันและกัน ครูพี่หมูมีตัวอย่างการห่อของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เช่น ห่อช็อกโกแลตรสอร่อยแล้วแอบวางไว้บนโต๊ะหรือลิ้นชักเพื่อนที่ทำงานเพื่อให้กำลังใจ ไม่ต้องการอุปกรณ์พิเศษใด แค่มีกระดาษขนาด A4 อาจใช้กระดาษหน้านิตยสารที่ชอบ ที่เจาะกระดาษ เชือกหรือริบบิ้น และกิ๊บดำติดผม
1. เริ่มจากพับกระดาษครึ่งเป็นสี่ส่วนให้พอมีรอย จากนั้นกางออกแล้วพับเป็นสามเหลี่ยมเพื่อทำรอย ก่อนที่จะพับรอยสามเหลี่ยมนั้นกลัดเข้าช่องใดช่องหนึ่งเพื่อล็อกให้กระดาษอยู่ทรงเป็นซองใส่ของ เหมือนกระเป๋าใส่เหรียญสตางค์
2. ใช้ที่เจาะกระดาษเจาะรูรอบส่วนที่ยังไม่ติดกัน เดินเส้นเป็นรูปตัว L แล้วร้อยเชือกเข้ากับกิ๊บดำใช้แทนเข็มและด้ายเพื่อเย็บห่อซองของขวัญ ก่อนจะเว้นที่เพื่อใส่ช็อกโกแลตหรือของขวัญอื่นๆ ลงไปในซอง จากนั้นเย็บปิดปากซอง ผูกปมไว้อย่างหลวม เป็นอันเรียบร้อย
3. สามารถปรับขนาดกระดาษ เลือกระยะห่างระหว่างรูร้อยเชือกหรือวัสดุที่ใช้ตามสะดวก และหากใครอยากสนุกขึ้น ลองหาที่กลิ้งสำหรับตัดเสื้อมากลิ้งสร้างรอยปรุบริเวณริมกระดาษเพื่อให้ผู้รับพร้อมฉีกซอง เติมใจ ใส่น้ำร้อน