The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ทุกวันนี้​ความเท่าเทียมของชายจริงหญิงแท้และเพศทางเลือก​กำลังเป็นประเด็นร้อนฉ่าทั้งในสภาหรือมิติสังคมโลก และฉันอยากใช้พื้นที่คอลัมน์นี้เล่าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในอีกมุมหนึ่ง ที่ฉันสัมผัสได้ว่า เรื่องนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

มันคือความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงของกลุ่มชาวม้ง 

คุณรัศมี ทอศิริชูชัย คือเลขานุการและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘โครงการพาลูกสาวกลับบ้าน’ หรือ Koom Haum PojNiam HmoobThaib ร่วมกับเพื่อนสมาชิกหลายสิบคนทั่วประเทศในนามเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และได้รับรางวัลการันตีอย่างเป็นรูปธรรมจากหลายหน่วยงาน อีกทั้งผลสัมฤทธิ์ของโครงการ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ชาวม้งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในกลุ่มชาวม้งด้วยกันอย่างแท้จริง

คุณรัศมี ทอศิริชูชัย คือเลขานุการและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘โครงการพาลูกสาวกลับบ้าน’ หรือ Koom Haum PojNiam HmoobThaib

เรื่องราวต่อไปนี้อาจดราม่าและเข้มข้นเหมือน (หรือยิ่งกว่า) ละครหลังข่าว แต่เชื่อฉันเถอะ มันคือความจริงที่มิติสังคมเล็กๆ กำลังเผชิญอยู่ เพราะปัญหาทั้งหมดที่คุณรัศมีกำลังจะเล่าให้ฟัง กลับดีขึ้นเพียงเพราะการปรับทัศนคติ การทำความเข้าใจ เปิดใจรับฟัง

และยอมลดทิฐิการยึดถือค่านิยมหรือประเพณี เพื่อเข้าใจคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

01

ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

ชาวม้ง หรือชาวเขาเผ่าม้งตามการเรียกของทางราชการ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายอยู่ทางภาคเหนือเป็นส่วนมาก ถิ่นอาศัยเดิมคือพื้นที่สูงบนภูเขา จึงได้ชื่อว่าชาวเขา

ชาวม้งดั้งเดิมคือชาวจีนที่อพยพจากประเทศจีนสู่ประเทศลาว และเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2387 ชาวม้งจึงซึมซับวัฒนธรรม ค่านิยมส่วนมาก ของชาวจีนและยึดถือกันมา คุณรัศมีที่เป็นชาวม้งโดยกำเนิด จึงได้รับอิทธิพลทางความคิดดังกล่าวจากทั้งพ่อ แม่ และตระกูลแซ่ของเธอ 

หนึ่งในนั้นคือ การปฏิบัติตนต่อผู้หญิงของชาวม้ง ที่ต่างจากเด็กชายโดยสิ้นเชิง

พาลูกสาวกลับบ้าน โปรเจกต์ทลายความเชื่อแต่โบราณที่คืนพื้นที่ทางสังคมให้หญิงชาวม้งหลังหย่าร้าง

“เราถูกปลูกฝังไว้ตั้งแต่เด็กๆ เลยว่าต้องขยันนะ จำได้ว่าตอนเด็กๆ ต้องตื่นแต่เช้ามาหุงข้าว ทำกับข้าว หรือสมัยก่อนที่ยังอยู่บนดอยก็ต้องไปตักน้ำในลำห้วย หรือต้องไปเลี้ยงสัตว์ ไปเอาหญ้าให้หมู ให้ม้ากิน ไปเอาอาหารให้ไก่ หรืองานบ้านทั้งกวาดบ้าน ถูกบ้าน ซักผ้า เป็นหน้าที่ของผู้หญิงทั้งหมดเลย” คุณรัศมีเล่าถึงชีวิตวัยเด็กของเธอ

การเห็นความสำคัญของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายในหลายมิติ ทั้งการให้การศึกษาที่ผู้ชายมักมีโอกาสที่ดีกว่าในการเรียนหนังสือในโรงเรียน หรือการเรียงลำดับความสำคัญของพ่อแม่ที่ให้ลูกชายก่อนเป็นอันดับหนึ่ง คือเรื่องที่คุณรัศมีรับรู้และต้องยอมรับสภาพและชะตากรรมของตนมาตลอด

ฉันถามคุณรัศมีว่า เธอเคยตั้งคำถามถึงการเป็นชาวม้งหญิงที่ได้รับความเท่าเทียมหรือโอกาสน้อยกว่าผู้ชายหรือไม่ เธอตอบฉันว่า

“ไม่คิดเลย เพราะโตมาเราก็รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิง เราต้องทำงานบ้าน แต่ถ้าน้องไม่ทำแล้วเราไปพูดกับคุณพ่อ คุณแม่ ก็จะทะเลาะกันระหว่างพี่น้อง แต่เราไม่เคยเรียกร้องสิทธิ์นะ ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าเราเรียกร้องได้”

ยิ่งมองออกจากบ้านมาสู่ตัวตนในระดับชุมชนหรือหมู่บ้าน ผู้หญิงม้งแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรในสังคม

“ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ยังด้อยกว่าผู้ชาย ยังแบ่งเป็นชนชั้นกันอย่างนี้ เพราะเราจะเห็นว่าผู้หญิงแทบไม่มีบทบาทอะไรในกิจกรรมของชุมชนหรือหมู่บ้าน การประชุมงานอะไรก็จะมีแต่ผู้ชายในที่ประชุม ผู้หญิงจะได้แต่แอบมอง นั่งฟังห่างๆ ตอนนี้มีผู้หญิงนั่งประชุมแล้ว แต่ก็มีน้อยมาก มีบางพื้นที่ผู้หญิงได้ทำงานใน อบต. ชุมชนแล้ว หรือมีบางพื้นที่ผู้หญิงเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็จะมีแค่คนเดียว เพราะผู้หญิงส่วนมากจะถูกสามีเบรก บอกว่าให้อยู่บ้าน ไม่ต้องออกไปทำงาน”

นั่นอาจเป็นเรื่องเล็กๆ ของปัญหาความเท่าเทียมของสตรีในกลุ่มชาวม้ง

แต่ปัญหามันใหญ่และขยายวงกว้างกว่านั้น

02

ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย

คุณรัศมีเติบโตขึ้นถึงช่วงวัยหนึ่งที่ต้องแต่งงาน จึงได้เรียนรู้ความจริงในการมีตัวตนของหญิงชาวม้งอีกหนึ่งประการผ่านพิธีแต่งงาน หลังจากชายหญิงเกี่ยวข้องและมีสัมพันธ์กันจนตัดสินใจลงหลักปักฐานเพื่อมีชีวิตคู่ จึงถึงเวลาที่คนทั้งคู่จะเข้าพิธีแต่งงานกัน 

หากแต่ความจริงนั้นกลับเจ็บปวดอย่างเหลือทน เพราะการแต่งงานในภาษาม้งคือคำว่า “ซื้อเมีย”

“ในภาษาม้ง คำว่า ‘หยัว’ แปลว่าซื้อ ถ้าบอกว่าเราจะซื้อหมู ซื้อไก่ ก็คือหยัวหมู หยัวไก่ เวลาเด็กตัวเล็กๆ เขาคุยกันเขาก็จะแปลทับศัพท์เลยว่า ‘เดี๋ยวโตขึ้นผมจะไปซื้อเมีย’ (หัวเราะ)”

ถึงแม้จะเป็นการพูดเล่นๆ ของเด็กๆ ที่ยังไม่รู้ความจริง แต่ฟังผ่านๆ แล้วอาจดูเจ็บปวดเหลือเกิน

พาลูกสาวกลับบ้าน โปรเจกต์ทลายความเชื่อแต่โบราณที่คืนพื้นที่ทางสังคมให้หญิงชาวม้งหลังหย่าร้าง

การขอแต่งงานของชาวม้งหลักๆ มี 3 รูปแบบใหญ่ๆ ประกอบด้วย หนึ่ง พิธีกางร่มไปรับหญิงสาวในบ้าน ซึ่งเป็นพิธีที่ให้เกียรติกับผู้หญิงมากที่สุด สอง การหนีตามไปอยู่ด้วยกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ฝ่ายชายจึงให้เถ้าแก่มาสู่ขอ พร้อมแจ้งพ่อแม่ของฝ่ายหญิงว่าจะขอลูกสาวไปอยู่ด้วย และสุดท้ายคือ การแต่งแม่ม่ายหรือแม่หย่า

หลังจากตกลงปลงใจว่าจะใช้ชีวิตคู่กันอย่างถูกต้องตามกฎหมายและค่านิยมประเพณี ครอบครัวฝ่ายหญิงจึงจะเรียกค่าสินสอด ส่วนฝ่ายชายก็จะมีหน้าที่จ่ายค่าสินสอดที่ประมาณ 4 – 8 หมื่นบาท บางพื้นที่อาจจะน้อยหรือมากกว่านี้ จากนั้นจึงเข้าสู่พิธีส่งตัวเจ้าสาว หรือพิธีผู่ในภาษาม้ง 

พาลูกสาวกลับบ้าน โปรเจกต์ทลายความเชื่อแต่โบราณที่คืนพื้นที่ทางสังคมให้หญิงชาวม้งหลังหย่าร้าง

การส่งตัวเจ้าสาวจะมีไก่ตัวหนึ่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์แบ่งแยกชีวิตของแม่กับลูกสาวออกจากกัน ผู้ทำพิธีจะนำไก่มาวนรอบๆ ตัวเจ้าสาว จึงแบ่งไก่เป็น 2 ส่วน ให้แม่ 1 ส่วน ลูกสาว 1 ส่วน จึงส่งตัวเจ้าสาวออกจากประตู โดยห้ามให้เจ้าสาวมองกลับมาในบ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าสองแม่ลูกจะอยู่ร่วมบ้านหลังเดียวกันไม่ได้ 

ต่อมาเจ้าสาวจึงเดินทางไปยังบ้านเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจึงจะแจ้งผีบรรพบุรุษของบ้านว่า เขาได้รับสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน ดังนั้น ขวัญและวิญญาณที่ติดตัวเจ้าสาวจะอยู่ในบ้านของเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจึงนำไก่ครึ่งซีกที่เตรียมไว้มาวนรอบตัวเจ้าสาว เป็นการแสดงให้เห็นว่าผีบ้านผีเรือนได้รับลูกสะใภ้เข้าบ้าน เมื่อเสร็จสิ้นพิธีจึงเลี้ยงฉลองโดยการทานอาหารร่วมกัน 

03

กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง

อาจดูเป็นวันชื่นคืนสุขที่บ่าวสาวได้ใช้ชีวิตร่วมกัน หลังผ่านพิธีกรรมความเชื่อของชาวม้ง 

บางคราวชีวิตคู่ย่อมมีจุดสะดุดหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่การสะดุดของความสัมพันธ์อาจลงเอยด้วยการสูญเสีย แยกทาง หรือเลวร้ายที่สุดคือการหย่าร้าง เมื่อชีวิตคู่ต้องขาดสะบั้น อดีตเจ้าสาวจะต้องกลายเป็นหญิงผู้ปราศจากเจ้าของ

“การเป็นผู้หญิงม้ง เราเติบโตมา ผู้ปกครองเราคือพ่อ พอเราแต่งงาน ผู้ปกครองเราคือสามี หรือแซ่ตระกูลของสามี อย่างแซ่เราคือแซ่ย่าง เราแต่งงานแล้วเรากลายเป็นแซ่ท้าว ถ้าเกิดว่าเราหย่ากัน ต้องย้อนกลับไปว่าแซ่ย่างตัดขาดเราแล้ว ตอนที่เราออกจากบ้านต้องย้ายทะเบียนบ้านด้วย แล้วไปอยู่อาศัยกับแซ่ของสามี เราก็ไปอยู่กับแซ่ท้าว

“ทีนี้ถ้าเราเลิกกับสามี เราถูกตัดขาดจากสามีแซ่ท้าวอีกครั้งหนึ่ง เราก็จะไม่มีพื้นที่ให้อยู่อีกแล้ว เพราะเราต้องย้ายทะเบียนบ้านไปอยู่ที่บ้านกำนัน และเรากลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ได้นะ ไม่มีพื้นที่ทางสังคมที่แท้จริง ยิ่งเรากลับมาอาศัยบ้านเดิม เราจะไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในบ้านตอนทำพิธีกรรม เพราะเราออกจากบ้านหลังนี้ไปแล้ว ผีบรรพบุรุษตัดเราออกไปแล้วตอนเราแต่งงาน” คุณรัศมีเล่า

พาลูกสาวกลับบ้าน โปรเจกต์ทลายความเชื่อแต่โบราณที่คืนพื้นที่ทางสังคมให้หญิงชาวม้งหลังหย่าร้าง

นอกจากบ้านที่กลับไม่ได้ หญิงม้งที่ผ่านการสูญเสียสามี การหย่าร้าง หรือข่มขืนจนตั้งครรภ์ ยังประสบปัญหาการถูกแปะป้ายจากสังคม จนกลายเป็นความไม่ยุติธรรมที่เธอถูกตัดสินจากกรอบวัฒนธรรมและค่านิยมของคนในพื้นที่

“ผู้หญิงม้งเกิดมาก็จะเจอปัญหาแบบนี้ เมื่อเรื่องมันแดงออกมาคนในหมู่บ้าน ในพื้นที่ ก็จะคอยด่าว่า พ่อแม่มันไม่สั่งสอน”

“ไม่สั่งสอนอะไร” ฉันสงสัย

“ไม่สั่งสอนให้เป็นคนอดทนไง ถึงทนอยู่กับสามีไม่ได้ ถึงต้องเลิกกัน ยิ่งเวลาออกไปไหนมาไหน ชาวบ้านก็จะชี้ว่า เห็นมั้ย อย่าเป็นเหมือนคนนี้นะ มันอยู่กับผัวไม่ได้ถึงกลับมาอยู่กับพ่อแม่ อย่าทำแบบผู้หญิงคนนี้นะ บางทีมีหนุ่มๆ จากต่างหมู่บ้านมาเที่ยว เวลากลุ่มผู้ชายคุยกันเรื่องผู้หญิงก็จะบอกว่า บ้านนี้มีสาวคนหนึ่งเพิ่งหย่าผัวมา สถานะของเราจะกลายเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ

“ถึงจะหย่าแต่พ่อแม่รักเรามาก จึงให้เรากลับมาอยู่บ้านด้วย แต่ญาติพี่น้องในตระกูลแซ่ก็จะไม่ยอมรับเรา เพราะมีความเชื่อว่าถ้าคุณรับลูกสาวคุณกลับเข้าบ้านจะเกิดภัยพิบัติ อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ คุณต้องรับผิดชอบกันเอง เพราะผู้หญิงคนนี้ออกจากบ้านไปแล้ว ผีบ้านผีเรือนไม่รับแล้ว แต่คุณให้กลับเข้ามาที่บ้านอีกครั้งหนึ่ง เขาจะนำสิ่งชั่วร้ายกลับมาสู่ตระกูลของเรา ฉะนั้น พ่อแม่จึงต้องเลือกเอาระหว่างลูกสาวกับตระกูลแซ่ ก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจ” คุณรัศมีตอบคำถามของฉัน

04

เพื่อนหญิง พลังหญิง

จุดเริ่มต้นของโครงการพาลูกสาวกลับบ้าน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 นับแต่การก่อตั้งเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

ไฟแห่งการเริ่มต้นโครงการถูกจุดขึ้นระหว่างบทสนทนาระหว่างกลุ่มหญิงชาวม้งในเครือข่ายฯ ที่เต็มไปด้วยน้ำตาแห่งความเศร้า ความทุกข์ระทมที่เธอคนถูกในกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันตัดสิน ทั้งอคติ หรือค่านิยมประเพณีอันฝังรากลึกจนยากจะเปลี่ยน

พาลูกสาวกลับบ้าน โปรเจกต์ทลายความเชื่อแต่โบราณที่คืนพื้นที่ทางสังคมให้หญิงชาวม้งหลังหย่าร้าง

“เราเจอกันก็ทุกปีเพื่อพูดคุยเรื่องงานในสมาคมฯ ก็มานั่งร้องไห้กันทุกวัน กลุ่มนี้ร้องไห้เสร็จปีหน้าก็มีกลุ่มใหม่ๆ เข้ามา ทุกคนก็จะพูดถึงเรื่องเดิมๆ เรื่องนี้หาทางออกไม่เจอ มันตันไปหมดเลย พวกคณะกรรมการ พวกพี่มาคิดกันว่า ถ้าเรามัวแต่นั่งร้องไห้กันแบบนี้มันก็จะเกิดแต่ความทุกข์กันมากมายเหลือเกิน เราจะทำยังไงอะ ประกอบกับ สสส. เขาให้การสนับสนุนพอดี พร้อมกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านมาชวนไปทำงานวิจัย”

คุณรัศมีและสมาชิกในสมาคมจึงเริ่มทำงานวิจัยที่หมู่บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแย่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ดร.ประสิทธิ์ ลีประชา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ. ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 

งานวิจัยดังกล่าวคือเข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่เชิงลึก ทั้งการสัมภาษณ์และพูดคุยกับชาวบ้านในประเด็นต่างๆ จนสรุปประเด็นปัญหาที่หญิงม้งในพื้นที่พบเจอได้อยู่ 20 ประเด็น ในเวลาการทำวิจัยกว่า 9 เดือน แต่เครือข่ายฯ เลือกแก้ไขปัญหาที่เล็งเห็นว่าเร่งด่วนจริงๆ 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ปัญหาคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวจากการถูกข่มขืน จนส่งผลให้หญิงเหล่านั้นใช้ชีวิตหรือทำพิธีกรรมใดๆ ในพื้นที่บ้านไม่ได้ “พี่กลับมาอยู่กับพ่อแม่พี่ เวลาคลอดลูกก็ต้องคลอดลูกนอกบ้าน เวลาป่วย ตาย ก็ต้องอยู่นอกบ้าน” 

สอง ปัญหาการหย่าร้างเนื่องจากสามีมีบ้านเล็กบ้านน้อย จนภรรยาต้องกลับมาอาศัยที่บ้านและไม่ได้รับการยอมรับตามค่านิยมหรือประเพณี และสุดท้าย การที่ครอบครัวไม่มีลูกชายทำให้สมาชิกทั้งหมดต้องเสียชีวิตนอกตัวบ้าน ทำให้การจัดการพิธีศพยากลำบากขึ้น เนื่องจากไม่มีลูกชายช่วยจัดการศพตามธรรมเนียมม้ง

เดิมทีเครือข่ายฯ แก้ได้เพียงปัญหาข้อที่สอง จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเธอก็พบวิธีจากการล้อมวงคุย ที่จัดการปัญหาทั้งหมดได้อย่างอยู่หมัด

“ระหว่างที่เราคุยกัน มีลุงคนหนึ่งในวงสนทนาบอกว่า จริงๆ แล้วเขาเคยรับผู้หญิงที่ไปแต่งงานแล้วกลับมา ทุกวันนี้เราไม่เคยรู้ว่ามันทำได้ แต่ลุงบอกว่า มันทำได้สิ เพราะบรรพบุรุษเราปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด ลูกสาวเป็นลูกที่พ่อแม่รักมากนะ แม้ว่าเวลาแต่งงานไป เขาก้าวเท้าออกประตูบ้านแล้ว ถูกพ่อแม่ตัดขาด แต่พอเขากลับมา เราก็ทำพิธีกรรมเช่นเดียวกับตอนที่เราให้ออกจากบ้านไป ลูกสาวเข้ามาเราก็ต้องทำพิธีเช่นเดียวกัน”

พิธีกรรมดังกล่าวคือพิธีผู่ ซึ่งปฏิบัติดังเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติเมื่อลูกสาวจะออกจากบ้านไปแต่งงานกับสามี มีวิธีการคือ หลังจากหย่าร้างตามกฎหมาย เมื่อลูกสาวกลับมาที่บ้านของตน พ่อแม่จะนำไก่ 1 ตัวมาวนๆ รอบตัวลูกสาว แล้วทำพิธีแจ้งผีบ้านผีเรือนว่า ลูกสาวกลับมาอยู่ที่บ้านแล้ว เพื่อขอให้ผีปู่ย่าคุ้มครอง จากนั้นจึงทานอาหารร่วมกัน 1 มื้อ ก่อนทำพิธีสู่ขวัญลูกเพื่อต้อนรับกลับบ้าน อาจเป็นการผูกข้อมือหรือพิธีอื่นๆ ตามสะดวก

 หลังจากคุณรัศมีทราบว่าเครือข่ายฯ พาลูกสาวกลับบ้านได้จริง จึงเริ่มทดลองกับครอบครัวกลุ่มตัวอย่าง 3 ครอบครัว เริ่มจากการปรับทัศนคติและทำความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุดของกระบวนการทั้งหมด จนเมื่อสมาชิกเริ่มเปิดใจจึงทำพิธีผู่ได้สำเร็จ

05

เข้าใจถึงคุณค่าในตัวผู้หญิง

กุญแจสำคัญของโครงการพาลูกสาวกลับบ้านคือ การปรับทัศนคติของชาวม้งให้เข้าใจถึงคุณค่าของความเป็นผู้หญิง ซึ่งขัดกับค่านิยมเดิมที่มีมาแต่ช้านาน คุณรัศมีเล่าว่า ในช่วงแรกของโครงการ เครือข่ายฯ ถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้านในหลายภาคส่วน

“ครั้งแรกที่เราเข้าไปในชุมชน พอคณะกรรมการผู้ใหญ่บ้านอ่านหนังสือเราปั๊บ เขาบอกว่า คุณต้องตัดคำว่า ‘การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง’ ‘ผู้หญิงเป็นคนชายขอบ’ หรือคำอื่นๆ ออกไป อะไรที่เขารู้สึกไม่พอใจ เขาให้เราตัดออกหมดเลย จนเขาบอกเราว่า ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า”

ยิ่งโครงการฯ ถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้หญิงด้วยกันเอง รวมทั้งกลุ่มผู้ชายม้งที่ทำแฟนเพจขึ้นมาต่อต้าน การต่อต้านเหล่านั้นอาจทำให้เครือข่ายฯ ทำงานยากขึ้น แต่ด้วยบทพิสูจน์ที่มีลูกสาวกว่า 50 ครัวเรือนได้กลับบ้าน อีกทั้งรางวัลซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ในการทำงาน ทั้งโครงการที่ทำประโยชน์และสร้างสรรค์สังคมแก่ชาวม้งโดยเยาวชนม้งรุ่นใหม่ และรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระแสการต่อต้านจึงค่อยๆ เบาบางลงไปในที่สุด

พาลูกสาวกลับบ้าน โปรเจกต์ทลายความเชื่อแต่โบราณที่คืนพื้นที่ทางสังคมให้หญิงชาวม้งหลังหย่าร้าง

เป้าหมายต่อไปของเครือข่ายฯ ที่จะผลักดันคือ การเสริมสร้างพลังและต่อยอดประเด็นความเท่าเทียมให้หญิงชาวม้งมากขึ้น

“เราเห็นแล้วว่าเราเข้าไปในชุมชน คนที่ต่อต้านเรามากที่สุดคือผู้หญิง สิ่งที่เราทำคือ เราจะทำยังไงให้เสริมพลังผู้หญิง ถ้าคุณไม่ให้ความสำคัญผู้หญิง วันนี้คุณจะไม่มีพวกเราที่จะมายืนตรงนี้นะ ถ้าเราไม่เปลี่ยนนะ เรากลับไปอยู่บ้านอย่างเดิม ถ้าเริ่มจากลูกอาจจะสายเกินไป ฉะนั้น ควรที่จะเริ่มจากพ่อแม่ มันอาจจะยุติปัญหา ณ วันนี้ อย่างน้อยที่สุด ลูกเราอาจจะเป็นเจเนอเรชันใหม่ที่มีความเท่าเทียมกัน ไม่รู้ผิดหรือถูก แต่สิ่งที่เราทำได้ พูดแล้วเขาฟังก็คือ เราอาจจะต้องไปเริ่มต้นที่ผู้หญิงอย่างเราๆ นี่แหละ” คุณรัศมีกล่าวส่งท้าย

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย