หลายคนคงทราบดีว่า ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฝนถล่ม แม้กระทั่งสึนามิ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมทั้งอีกหลากหลายปัจจัย ซึ่งเรามีโอกาสได้ติดตามข่าวจากทั้งโทรทัศน์หรือตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ถึงเหตุการณ์จะจบลงไปด้วยระยะเวลาอันสั้น แต่บางครั้งก็สร้างความเสียหายและความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนในหลาย ๆ พื้นที่ การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นการเดินทางครั้งแรกที่นำพาเราไปเห็นสภาพบ้านเมืองหลังภัยธรรมชาติด้วยสายตาของตัวเองว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเช่นไร

เช้าตรู่วันหนึ่งในตัวเมืองของจังหวัดคุมาโมโตะ เรานัดพบกับเพื่อนมหาลัยชาวญี่ปุ่นเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเมืองฮิโตโยชิ (Hitoyoshi) เมืองเล็ก ๆ ทางตอนใต้ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 80 กิโลเมตร การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะวันนั้นเขามีโอกาสได้ไปออกบูทร้านกาแฟที่ตลาดชุมชนในเมืองพอดี ก็เลยชักชวนเราให้ติดรถไปด้วยกัน
พวกเราเดินทางไปโดยรถยนต์ ใช้เวลาเดินทางราว ๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง ระหว่างที่นั่งอยู่ในรถ บรรยากาศข้างทางจากตัวเมืองเต็มไปด้วยอาคารมากมายได้เปลี่ยนไปเป็นวิวชนบทอย่างรวดเร็ว ทั้งทุ่งนา แม่น้ำ และอุโมงค์ลอดภูเขา เราไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองเผลองีบหลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้สึกตัวขึ้นมาอีกทีก็เห็นป้ายยินดีต้อนรับเข้าสู่เมืองฮิโตโยชิแล้ว

เมืองนี้อาจดูเป็นเมืองเล็ก ๆ เงียบ ๆ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาแวะเยี่ยมเยียนมากนัก แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงธรรมชาติที่ยังคงคล้ายเดิมมามากกว่า 700 ปี จนได้รับฉายาว่า ‘เกียวโตน้อยของจังหวัดคุมาโมโตะ’
น่าเสียดายที่เมื่อภัยธรรมชาติเริ่มเข้ามาบ่อยครั้ง ยิ่งทำให้เมืองนี้เงียบเหงามากขึ้นเรื่อย ๆ อาคารบ้านเรือนหลายพันหลังได้รับความเสียหาย ผู้คนที่เดินตามท้องถนนนั้นน้อยนิดจนแทบนับได้ เพราะส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ที่อื่นกันแล้ว มีเพียงรถบัสประจำเมืองที่ยังวิ่งเหมือนเดิมโดยแทบไร้ผู้โดยสาร

หลังจากช่วยเพื่อนตั้งเต็นท์จัดร้านกาแฟและรับบทเป็นผู้ช่วยจำเป็น จนกระทั่งคนในตลาดชุมชนเริ่มซาลง เราขอแยกตัวไปเดินสำรวจในตัวเมืองนี้เพียงลำพังสักประเดี๋ยว ก่อนจะไป เพื่อนได้บอกเส้นทางการเดินคร่าว ๆ และให้เบอร์โทรไว้ยามฉุกเฉิน

เราเดินไปที่สถานีรถไฟฮิโตโยชิเป็นสถานที่แรก แต่พอมาถึง กลับเห็นว่าสถานีนี้ยังปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ถึงแม้สถานีจะยังไม่มีรถไฟวิ่งผ่านไปผ่านมาให้ได้เชยชม แต่อย่างน้อยด้านหน้าก็มีพื้นที่สำหรับครอบครัว มีทั้งบูทขายอาหารทานเล่น รถไฟจิ๋วสำหรับเด็ก และรถบัสที่วิ่งผ่านมาชั่วโมงละคันสองคัน ให้คลายความเงียบเหงาได้บ้าง

ด้วยความที่เราอยากรู้อยากเห็นว่าข้างในสถานีเป็นอย่างไรบ้าง จึงไม่รอช้า รีบเดินตรงไปหาเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตเข้าไปชมบรรยากาศด้านใน ทันใดนั้นก็มีเจ้าหน้าที่วัยกลางคนท่าทางใจดีคนหนึ่งออกมาพูดคุยอย่างเป็นมิตร พร้อมทั้งอนุญาตให้เราเข้าไปชมข้างใน และก่อนจะเอาที่กั้นออก คุณลุงก็พูดปิดท้ายด้วยประโยคว่า “気をつけて” (ระวังตัวด้วยนะ) เป็นการเปิดทางส่งเราให้ไปสำรวจด้านในสถานี


สถานีด้านในมีขนาดไม่ได้ใหญ่จนเกินไป มีเพียงแค่ชานชาลา 2 ฝั่ง อารมณ์เหมือนสถานีรถไฟต่างจังหวัดในซีรีส์ญี่ปุ่น พอเข้าไปด้านใน เรารู้สึกเหมือนเวลาถูกหยุดไว้ ไม่มีอะไรเคลื่อนไหว เข็มนาฬิกาไม่มีการกระดิก ตู้กดน้ำและไอศกรีมเป็นเพียงตู้ประดับเปล่า ๆ ให้เราเชยชมเมนูที่เคยมีให้กด และมีรถไฟเพียง 3 ขบวนจอดอยู่

เมื่อเดินไปทางทิศตะวันตกจนเกือบสุดชานชาลา เราพบกับโรงเก็บรถไฟประจำสถานีที่อยู่ไม่ไกลมากนัก โรงเก็บรถไฟแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1911 หลังจากเปิดตัวสถานีฮิโตโยชิ 3 ปี ความพิเศษของที่นี่ คือเป็นโรงเก็บรถไฟแห่งเดียวที่ก่อสร้างด้วยหิน และยังคงใช้งานจวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองให้เป็นหนึ่งในมรดกทางอุตสาหกรรมร่วมสมัย โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม รวมไปถึงรับรองให้เป็นมรดกของภูมิภาคคิวชู ในฐานะมรดกทันสมัยและร่วมสมัย จากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว ของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ก่อนจะเดินไปขอบคุณคุณลุงเจ้าหน้าที่สถานีเพื่อร่ำลาอย่างเป็นทางการ เราได้พบกับคุณป้าตรง Tourist Information พอดี คุณป้ามอบแผนที่กับโบรชัวร์สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองฮิโตโยชิ และเชิญชวนให้มาเที่ยวอีกครั้ง เราเองก็หวังว่ากว่าจะถึงวันนั้น เส้นทางรถไฟและสถานีนี้จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง



ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ เราเดินตามแผนที่เพื่อไปชมศาลเจ้าอาโออิอาโสะ (Aoi Aso Shrine) สมบัติแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นแห่งเดียวในจังหวัดคุมาโมโตะ ซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเช่นเดียวกับสถานีรถไฟ และกำลังอยู่ระหว่างการบูรณะ
ความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจน คือบริเวณสระบัวด้านหน้าประตูหอคอยศาลเจ้าที่มีสะพานมิโซกิ (Misogi Bridge) เป็นสะพานคอนกรีต 3 โค้ง สร้างขึ้นราวปี 1921 จุดเด่นคือเชิงเทินสีแดง ตกแต่งด้วยหินอย่างประณีต ว่ากันว่าเป็นสะพานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัด และได้รับการจดทะเบียนให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้จาก Agency of Cultural Affairs ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่น
แม้ว่าที่นี่จะไม่ได้มีพื้นที่กว้างขวางและเคยเสียหายจากภัยทางธรรมชาติ แต่ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปี ศาลเจ้าแห่งนี้ก็ยังเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวฮิโตโยชิและมีผู้คนมากมายมาเยือน



การที่ศาลเจ้าอาโออิอาโสะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสมบัติของชาติเมื่อปี 2008 นั้น กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาจากสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่น 5 อย่าง ได้แก่ ฮงเด็ง (อาคารหลัก) โระ (โถงทางเดิน) เฮเด็ง (โถงสักการะ) ไฮเด็ง (หอเคารพที่ผู้คนมาสักการะ) และโรมง (ซุ้มประตูทางเข้า) นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอีกหลายด้านประกอบกัน เช่น การออกแบบหรือการแกะสลักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เมื่อเราขอพรที่หน้าศาลเจ้าเสร็จแล้ว จึงถือโอกาสเดินสำรวจความงดงามบริเวณรอบ ๆ ถึงหลายส่วนจะยังปิดไว้เพื่อซ่อมแซม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเรา คือการที่ทางศาลเจ้าเปิดพื้นที่พิเศษเพื่อเล่าเรื่อง แสดงภาพถ่ายเก่าเกี่ยวกับศาลเจ้าและวิถีชีวิตของชุมชนบริเวณใกล้เคียงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังมีบันทึกเรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับความเสียหายจากภัยพิบัติโดยคนฮิโตโยชิ ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งผู้เขียนบันทึกมีตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุในพื้นที่ ทำให้เราได้เห็นมุมมองที่แตกต่างที่แต่ละคนมีต่อเหตุการณ์นั้น ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว ถ้าเรามีเวลามากกว่านี้ คงจะได้ใช้เวลาอ่านเป็นชั่วโมงแน่ ๆ

กว่าเราจะออกจากศาลเจ้า เวลาก็ค่อนไปช่วงบ่ายแล้ว ยิ่งอากาศที่อบอ้าวในวันนั้นก็ยิ่งทำให้เราเริ่มหมดแรง เลยตัดสินใจกลับไปนั่งพักจิบกาแฟที่บูทของเพื่อนและเตรียมช่วยเก็บร้าน เมื่ออีเวนต์ในตลาดชุมชนมีวี่แววใกล้จบลง หลังจากทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย คราวนี้เพื่อนชาวญี่ปุ่นก็อาสาพาไปเดินชมสภาพบ้านเรือนตามตรอกซอกซอยรอบ ๆ เมืองด้วยตัวเอง
พวกเราเริ่มเดินจากเส้นแม่น้ำคุมะ (Kumagawa) แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านเมืองนี้ ด้วยความยาวที่มากถึง 115 กิโลเมตร ถือว่าเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในภูมิภาคคิวชู และเป็นแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวจึงนิยมมาทำกิจกรรม ทั้งเปิดประสบการณ์นั่งเรือไม้ล่องแม่น้ำ ชมทิวทัศน์ธรรมชาติอันงดงาม หรือมาทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์อย่างล่องแก่ง
แต่ทว่าเมื่อย้อนกลับไปปี 2020 เหตุการณ์ฝนถล่มครั้งใหญ่ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำคุมะมีปริมาณมากกว่าครั้งไหน ๆ สายฝนที่โหมกระหน่ำอย่างหนักทำให้เกิดโคลนถล่มและน้ำท่วมใหญ่เข้าสู่เมือง อาคารบ้านเรือนหลายพันหลังได้รับความเสียหาย มีทั้งผู้สูญหายและเสียชีวิต จนทางการต้องประกาศให้ผู้คนรีบอพยพออกจากพื้นที่ สภาพตัวเมืองที่เราเห็นในตอนนี้ส่วนใหญ่จึงล้วนมีแต่ตึกร้างและซากปรักหักพัง


เพื่อนพาเราเดินตามตรอกซอกซอยในเมืองนี้อย่างคุ้นเคย พร้อมชี้ให้ดูว่าตึกไหนเคยเป็นอะไรสมัยที่เขายังเด็ก หากลองหลับตาจินตนาการ บรรยากาศของที่นี่คงเหมือนย้อนไปในยุค 80 – 90 บางซอยยังทิ้งร่องรอยความทรงจำให้เห็น เช่น ร้านตัดผม บาร์ ร้านอาหาร แต่หลายซอยก็มีเพียงบ้าน อาคาร และร้านค้าที่ถูกทิ้งร้าง แทบดูไม่ออกว่าเคยเป็นอะไรมาก่อน
ด้านในของตึกแถวมีข้าวของเครื่องใช้เก่ากระจัดกระจาย มีภาพถ่าย ซีดี หนังสือรุ่น นิตยสาร ปฏิทินแขวนไว้ที่ผนังบ้าน สื่อให้เห็นว่าบางหลังถูกทิ้งร้างมานานหลายปี บรรยากาศโดยรอบช่างดูเคว้งคว้างและเงียบเหงา ถ้าตึกเหล่านั้นมีชีวิตหรือสื่อสารกับเราได้ พวกมันคงกำลังรอเจ้าของกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าไม่รู้ว่าต้องรออีกนานเท่าไหร่ก็ตาม




แม้ว่าจะอยากเดินสำรวจอีกหลาย ๆ ย่านในตัวเมือง แต่การเดินทางของเราคงต้องหยุดเพียงเท่านี้ เพราะเวลาของเราหมดลงแล้ว เราต้องรีบเดินทางกลับเข้าเมืองเพื่อให้ทันขึ้นรถไฟโดยไม่ทันได้ร่ำลาแสงสุดท้ายของวันจากเมืองนี้ ระหว่างที่นั่งรถออกจากเมือง เราจึงเปิดกระจกรถรับลม ชมวิวทุ่งนา แม่น้ำ ภูเขาข้างทางเป็นการอำลาแทน
หากมีโอกาสได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง หวังว่าจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองแห่งนี้ที่มีชีวิตชีวาเหมือนแต่ก่อน และเห็นผู้คนกลับเข้ามาเติมเต็มความสดใสให้กับเมือง
ถ้าวันนั้นมาถึงเมื่อไหร่ เชื่อเถอะว่าเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้จะกลายเป็นเมืองสำคัญที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสเรื่องราวและมรดกสำคัญของประเทศซึ่งถูกซ่อนไว้มานานหลายปี

แล้วเราจะพบกันใหม่
Take care
Hitoyoshi, Kumamoto
Japan
Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ