เคยได้ยินคำว่า ‘สีกรมท่า’ กันมาบ้างแล้วนะครับ และทุกคนก็เข้าใจตรงกันว่าสีดังกล่าวคือสีน้ำเงินเข้ม เวลาออกเสียงก็ต้องออกเสียงว่า สี-กรม-มะ-ท่า โดยออกเสียง มะ แต่เพียงครึ่งเสียงและโดยเร็วเท่านั้น เหตุที่เรียกสีน้ำเงินว่าสีกรมท่านี้ เพราะข้าราชการที่อยู่ในสังกัดกรมดังกล่าวนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าสีน้ำเงินเป็นประจำทำนองอย่างเครื่องแบบ ไปๆ มาๆ คนจึงเรียกสีน้ำเงินนั้นว่าสีกรมท่า
แจกแจงกันต่อไปว่ากรมท่านั้นมีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ แบ่งย่อยออกเป็น 2 กรม เรียกว่ากรมท่าซ้ายและกรมท่าขวา เพื่อความเข้าใจและจดจำได้ง่าย นึกเสียว่าอย่างนี้ครับ ถ้าเดินเรือออกจากอยุธยาหรือกรุงเทพฯ ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา พ้นจากปากน้ำไปแล้ว ถ้าเลี้ยวซ้ายก็ไปเมืองญวน เมืองจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร บางทียังเลยเถิดไปถึงเมืองญี่ปุ่นด้วย พื้นที่นี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมท่าซ้าย เจ้ากรมส่วนมากเป็นผู้ที่มีเชื้อสายจีน มีราชทินนามประจำตำแหน่งเจ้ากรมว่า ‘โชฎึกราชเศรษฐี’ พระยาผู้มีราชทินนามดังกล่าวมีผู้สืบสายสกุลมาหลายตระกูล มักได้รับพระราชทานนามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘โชติก’ เช่น โชติกเสถียร โชติกสวัสดิ์ หรือ โชติกพุกณะ เป็นต้น

แต่ถ้าเดินเรือเลี้ยวขวา ก็จะไปเมืองแขกและเมืองฝรั่งทั้งปวง ตั้งแต่ลังกา อินเดีย ประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม กินแดนไปจนถึงเมืองยุโรปทั้งหลาย พื้นที่นี้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมท่าขวา เจ้ากรมส่วนมากเป็นผู้มีเชื้อสายแขก มีราชทินนามประจำตำแหน่งเจ้ากรมว่า ‘จุฬาราชมนตรี’ ซึ่งราชทินนามนี้ยังใช้เป็นชื่อประจำตำแหน่งของผู้นำชาวมุสลิมที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแม้จนทุกวันนี้
ทั้งกรมท่าซ้ายและกรมท่าขวาเป็นกรมย่อย ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีพระคลัง ซึ่งเป็นหนึ่งในเสนาบดีจตุสดมภ์ที่ประกอบด้วยเวียง วัง คลัง และนา เสนาบดีพระคลังที่ว่านี้ถือตราบัวแก้ว สำหรับประทับเป็นสำคัญในเอกสารต่างๆ ด้วยเหตุที่ผู้คนในกรมทั้งสองเป็นผู้สันทัดจัดเจนในการติดต่อกับชาวต่างประเทศ นอกจากการดูแลภารกิจเรื่องการค้าขายแล้ว ภารกิจในเรื่องการติดต่ออย่างเป็นทางการกับคนต่างชาติต่างภาษา ที่เรียกโก้หรูว่า ‘ทางพระราชไมตรี’ จึงพลอยตกติดมาอยู่ในความรับผิดชอบของเสนาบดีพระคลังด้วย
ยังแถมด้วยงานพิเศษ คือ การดูแลหัวเมืองชายทะเลที่เป็นเมืองท่าสำหรับติดต่อค้าขาย หรือเป็นด่านเข้าออกของชาวต่างประเทศแถมพกมาอีกอย่างหนึ่ง
เห็นไหมครับว่าเสนาบดีพระคลังสมัยก่อนนั้น ท่านทำงานหลายหน้าที่เหลือเกิน นอกจากงานเรื่องการเงินการคลังของตัวเองโดยตรงแล้ว ยังมีเรื่องของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างประเทศ รวมทั้งบางส่วนของกระทรวงมหาดไทยยุคนี้รวมห่อเข้าไปด้วย
อธิบายเตลิดเปิดเปิงต่อไปว่า กฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญสำหรับแผ่นดินที่ชำระขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ใบปกหน้าประทับตราพระราชลัญจกรสามดวง คือตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และเสนาบดีพระคลัง ตามลำดับ เพื่อแสดงให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ากฎหมายเล่มนี้ใช้ได้ตลอดทั่วราชอนาจักร ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความกำกับดูแลของเสนาบดีคนใดคนหนึ่งในสามคนนั้น

เล่ามายืดยาวเพียงนี้ คงพอเข้าใจแล้วนะครับ ว่าเหตุใดกระทรวงการต่างประเทศในยุคปัจจุบันจึงใช้ตราบัวแก้ว ซึ่งมีรูปร่างเป็นเทวดานั่งแท่นถือดอกบัวอยู่ในมือ เป็นตราประจำกระทรวง
ขณะที่กระทรวงการคลังแยกไปใช้ตรานกวายุภักษ์ กินลมเป็นภักษาหารไปตามเรื่อง
ระบบราชการที่เคยเป็นเสนาบดีจตุสดมภ์ มีกรมท่าซ้ายและกรมท่าขวาอยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีพระคลัง กลายเป็นของพ้นสมัยไปเสียแล้วในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงค่อยๆ ผ่อนผันแยกราชการเรื่องการต่างประเทศกับงานการคลังการค้าออกจากกันตั้งแต่ช่วงต้นรัชกาล ต่อมาเมื่อทรงปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญในช่วงกลางรัชกาล ทรงยกเลิกวิธีการแบ่งส่วนราชการแบบเดิมที่ใช้มาหลายร้อยปี และเปลี่ยนมาเป็นระบบกระทรวง ทบวง กรม อย่างใหม่แทน
ภารกิจในเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเกียรติยศของประเทศ และมีผลกระทบโดยตรงต่ออธิปไตยของบ้านเมือง ทรงกำหนดให้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่ และได้รับพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้ใช้ตราบัวแก้วของเสนาบดีพระคลังแต่เดิมเป็นตราของกระทรวง
เวลานั้นฝรั่งหลายชาติเริ่มเข้ามาค้าขายและติดต่อเป็นทางพระราชไมตรีเนื่องสนิทกับเมืองไทย มีสถานกงสุลเข้ามาตั้งประจำอยู่ในพระนคร มีธุระราชการต้องติดต่อสื่อสารกับกระทรวงการต่างประเทศที่ว่านี้เป็นประจำ ตามแบบธรรมเนียมแต่เดิมของบ้านเรานั้น ไม่มีที่ทำการของหน่วยราชการใดเป็นพิเศษ หากแต่ใช้บ้านของเสนาบดีหรือข้าราชการผู้ใหญ่ของแต่ละกรมเป็นที่ทำงาน
ชีวิตในแต่ละวัน ประมาณว่าตื่นเช้ามา ข้าราชการทั้งหลายก็ไปหาท่านเสนาบดีที่บ้าน มีอะไรก็พูดคุยปรึกษาหารือกันไป ได้เวลาอันสมควรเสนาบดีก็เข้าวังไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ทรงว่าราชการอย่างใด ก็รับใส่เกล้าฯ มาปฏิบัติ กลับมาบอกลูกน้องซึ่งรออยู่ที่บ้านของตัวเอง หรือถ้าไม่ใช่การเร่งร้อน พรุ่งนี้ค่อยบอกกันก็ได้
วิธีทำงานแบบนี้ถ้าเราทำกันเองแต่เฉพาะหมู่คนไทยก็ไม่เป็นอะไรหรอกครับ แต่กงสุลหรือทูตชาวต่างประเทศเขาไม่คุ้นกับวิธีการอย่างนี้ ย่อมรู้สึกประดักประเดิดกันอยู่มิใช่น้อย ราชการฝ่ายไทยเราก็ต้องผันผ่อนให้เข้าแบบธรรมเนียมสากล กล่าวคือต้องคิดอ่านให้มีที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นเรื่องเป็นราว ยุคแรกสุดนั้นก็ได้รับพระราชทานวังสราญรมย์ ที่อยู่ใกล้กันกับกระทรวงกลาโหมเป็นศาลาว่าการต่างประเทศแห่งแรก พระราชวังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของเจ้านาย และรับเสด็จเจ้านายต่างประเทศมาแล้วแต่เดิม ปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็ใช้เป็นที่ทำงานได้ไม่ขัดเขิน และสง่างามสมเกียรติยศด้วย
เพื่อนของผมที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันเมื่อแรกเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ 40 ปีก่อน ยังได้เคยทำงานอยู่ที่วังสราญรมย์ที่ว่านี้เลยครับ หมายความว่าวังแห่งนี้ได้ใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงการต่างประเทศมากว่าร้อยปี
และเป็นธรรมดาครับ ที่วันหนึ่งสถานที่ที่เคยใหญ่โตโอ่โถง จะไม่เพียงพอสำหรับการทำงานที่มีหน่วยงานเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก จำเป็นจะต้องคิดหาทางขยับขยายไปหาที่ตั้งใหม่ เพื่อให้หน่วยงานทั้งหลายมีพื้นที่สำหรับทำงานได้สมประโยชน์
คนรุ่นผมย่อมรู้จักองค์การระหว่างประเทศองค์การหนึ่งที่ชื่อว่า SEATO (ซีโต้) หรือมีชื่อไทยยาวเหยียดว่า องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยสงครามเย็น เพื่อต่อต้านกับคอมมิวนิสต์กันพอสมควร องค์การที่ว่ามีสมาชิก 8 ประเทศ คือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และไทย โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

อยู่ที่ไหนหรือครับ อยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศถนนศรีอยุธยาเวลานี้นั่นเอง ผมยังจำได้เลยครับว่าหน้าตาเป็นตึกสองหรือสามชั้น สีเทาๆ มีขนาดไม่ใหญ่โตกว้างขวางนัก จนกระทั่งเมื่อองค์การดังกล่าวยกเลิกไปใน พุทธศักราช 2520 เพราะสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมากแล้ว ครั้นจะปล่อยตึกที่ว่านั้นทิ้งร้างอยู่ก็ใช่ที่ กระทรวงต่างประเทศของเราจึงรับโอนทรัพย์สินรายการนี้มาเป็นที่ทำการแห่งที่สอง คู่ขนานกันกับศาลาว่าการกระทรวงต่างประเทศที่วังสราญรมย์ซึ่งคับแคบลงไปทุกที

ภาพ : www.silpathai.net/หม่อมหลวงเติบ-ชุมสาย/
ในความทรงจำของคนรุ่นผม อดีตอาคารที่ทำการของซีโต้ในยุคที่มาอยู่ในความดูแลของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว มีของขึ้นหน้าขึ้นตาอย่างหนึ่งคือร้านอาหาร ซึ่งขายอาหารดีมีคุณภาพ รสอร่อย ราคาคบหากันได้ ฝีมือของหม่อมหลวงเติบ ชุมสาย ผู้มีชื่อเสียงเรื่องอาหารการกินระดับชาติมาเปิดร้านอยู่ในอาคารดังกล่าว เวลาจะไปกินร้านที่ว่าต้องนัดหมายกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ในตึกที่ว่านั้นให้เป็นคนพาเข้าพาออก เพราะไม่ได้เปิดให้บริการสำหรับคนทั่วไป แต่ตั้งใจจะขายอาหารสำหรับข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ และเพื่อนฝูงผู้มีฐานานุรูปเช่นผมเท่านั้น ฮา!
อยู่ไปอยู่มานานปีเข้า กระทรวงต่างประเทศมีความเห็นว่าควรจะสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ขึ้นในบริเวณริมถนนศรีอยุธยานี้ให้เป็นหลักเป็นฐาน การก่อสร้างคราวนั้นมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ออกแบบ ไม่ได้ใช้แบบมาตรฐานของกรมโยธาธิการหรือสถาปนิกของทางราชการ เพราะฉะนั้น หน้าตาถึงได้ออกมางดงามแตกต่างจากกระทรวงอื่นๆ เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในพุทธศักราช 2542


ของชำร่วยในงานนั้นเป็นจานเบญจรงค์สำหรับใส่ของกระจุกกระจิกตามใจปรารถนา ลวดลายที่อยู่บนจานเป็นรูปเรือในกระบวนพระราชพิธี ซึ่งผมเข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากภาพเขียนเก่าสมัยอยุธยา ซึ่งบันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งที่มีทูตฝรั่งเศส เชิญพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองไทย ดูเหมาะสมกับพิธีเปิดที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศเป็นที่สุด

ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam

ภาพ : Rijksmuseum Amsterdam
ผมเองไม่ใช่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ แต่ก็มีโอกาสได้เข้าไปร่วมกิจกรรมหรือไปในงานพิธีการต่างๆหลายครั้งที่อาคารดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้องประชุมใหญ่ที่อยู่ตอนกลางของอาคารซึ่งมีชื่อเรียกว่าห้องวิเทศสโมสร ต้องเรียกว่าเป็นห้องอเนกประสงค์จริงๆ ครับ บางคราวเมื่อมีความขัดข้อง ไม่สามารถจัดงานสโมสรสันนิบาตในวาระสำคัญได้ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐบาลก็ไปจัดงานสโมสรสันนิบาตที่ห้องวิเทศสโมสรนี้แทน และห้ประวัติศาสตร์ใน จานเบญจรงค์ ที่ระลึกการเปิดตึกกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่สีกรมท่า กฎหมายตราสามดวง และการติดต่อกับต่างชาติองเดียวกันนี้เอง ผมก็ได้เคยฟังบรรยายพิเศษโดย ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นการฟังบรรยายโดยแถมมื้อกลางวันด้วยหนึ่งมื้อ อิ่มทั้งท้องอิ่มทั้งสมอง เป็นที่ปลาบปลื้มมากครับ
นอกจากเรื่องกินเลี้ยงแล้วเรื่องไปประชุมก็มีครับ เดี๋ยวจะนึกว่าผมไม่ทำการทำงานอะไรเสียเลย จำได้ว่าในสมัยที่ผมยังรับราชการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ครั้งหนึ่งทางกระทรวงต่างประเทศแจ้งว่าเอกอัครราชทูตของกลุ่มประเทศ G-7 มีประเด็นหารือเรื่องมาตรการในการป้องกันการก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปลอมพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทาง ผมก็ได้ไปร่วมพูดคุยหารือ และกลับมาทำงานในส่วนของเราจนสำเร็จเรียบร้อยครับ
ทุกวันนี้เวลานั่งรถผ่านบริเวณด้านหน้าที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา ผมอดไม่ได้ที่จะเลี้ยวมองดูอาคารที่มีความสง่างดงามหลังนี้ นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและผมเองได้เคยพบเห็นมา สุดท้ายก็กลับมาจ้องดูจานเบญจรงค์ ของชำร่วยเก่าแก่ใบนี้ที่บ้าน พอให้ครึ้มใจว่า เรานี้ก็ช่างเก็บเสียเหลือเกิน อิอิ


