ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อ ‘คลองโอ่งอ่าง’ ติดหูชาวกรุงเสียเหลือเกิน ด้วยข่าวคราวการปรับปรุงทางน้ำสายเก่าที่เป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ประจำกรุงเทพมหานคร

ภาพจำปัจจุบันของคลองแห่งนี้เป็นคลองใสสะอาด คลาคล่ำฝูงเรือคายัค ใต้แสงไฟยามเย็นอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้

แต่ผู้ใหญ่หลายคนอาจจำได้ว่า ที่นี่เป็นลำน้ำที่มีเรือนไม้ทอดกระไดปลูกติดกันเป็นแพ

เป็นแหล่งตักตวงความอร่อยใส่ท้อง ตบท้ายความสนุกของภาพยนตร์ในโรงหนังใกล้ ๆ

หรือเป็นย่านพาณิชย์ขนาดใหญ่ แผงค้าขายกระจายทั่วทิศทั่วทาง

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน

นานแทบเท่าอายุกรุงเทพฯ ที่คลองโอ่งอ่างไหลพาดผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ ทางน้ำสายนี้ฝากความทรงจำหลากหลายแก่คนเมืองกรุงด้วยบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

สมชัย กวางทองพานิชย์ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเยาวราช รวบรวมภาพถ่ายเก่าและข้อมูลของคลองนี้ไว้อย่างละเอียด และยินดีแบ่งปันเกร็ดประวัติศาสตร์นี้แก่เรา จึงขอชวนคุณผู้อ่านเลาะเลียบคลอง รำลึกความหลังไปพร้อม ๆ กับ ‘อาเจ็ก’ ว่าในอดีตคลองนี้เคยเป็นอะไรบ้าง พร้อมตักตวงความทรงจำในวันวานที่เคยหล่นหายไป

ขุดเอาไว้เป็นคูเมือง

ไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวหลายคนจะหาพิกัด ‘ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง’ จากป้ายเขียวของ กทม. ไม่พบ เพราะชื่อคลอง ‘โอ่งอ่าง’ เป็นแค่ชื่อลำลองของคลองคูเมืองกรุงเทพฯ ยุคแรกก่อตั้ง

ชื่อทางการของคลองนี้คือ ‘คลองรอบกรุง’ เป็นชื่อที่ปรากฏบนแผ่นป้ายและเอกสารของทางการ

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน

ไม่กี่ปีหลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมต่อกับทางน้ำสายหลักและกำหนดเขตแดนของเมืองหลวงใหม่ให้ชัดเจน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองสายหนึ่ง เริ่มจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่วัดสังเวชวิศยารามไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนเส้นทางเป็นจากเหนือลงใต้ เริ่มที่ป้อมมหากาฬ ไปจรดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม)

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
ปากคลองรอบกรุงฝั่งทิศเหนือ ปัจจุบันอยู่ข้างป้อมพระสุเมรุ ย่านบางลำพู

รัชกาลที่ 1 พระราชทานนามคลองนี้ว่า ‘คลองรอบกรุง’ เพราะเป็นคลองที่ขุดมาเพื่อเป็นคูเมืองชั้นนอก โอบรอบกรุงรัตนโกสินทร์ร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความที่มีสายน้ำล้อมรอบทิศ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกและทิศใต้ และคลองรอบกรุงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ทำให้เมืองหลวงของไทยในเวลานั้นมีลักษณะเป็นเกาะ จึงเรียกว่า ‘เกาะรัตนโกสินทร์’ มาจนวันนี้

ต่างตำแหน่ง ต่างชื่อเรียก

คลองรอบกรุงยาวเพียง 3 กิโลเมตรโดยประมาณ ตัวเลขดังกล่าวอาจดูไม่มากนัก แต่เพราะความสำคัญของคลองนี้ที่มีต่อพระนคร ราษฎรจึงมาจับจองที่อยู่อาศัยกันคับคั่ง นำมาซึ่งชื่อเรียกคลองที่ต่างกันไปในภาษาปากของชาวบ้านแต่ละตอน

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
ส่วนที่เรียกว่า ‘คลองบางลำพู’

ต้นคลองจากวัดสังเวชวิศยารามไปถึงป้อมมหากาฬ เรียกว่า ‘คลองบางลำพู’ ซึ่งเป็นชื่อตำบลที่นั่น

พอผ่านสะพานหัน เรียกว่า ‘คลองสะพานหัน’ หรือ ‘คลองตะพานหัน’

ผ่านวัดเชิงเลน ก็เรียก ‘คลองวัดเชิงเลน’

ครั้นลงมาแถวปากคลองอันเป็นแหล่งค้าโอ่ง อ่าง และภาชนะดินเผาอื่น ๆ ฝีมือชาวจีนกับมอญ ก็เรียกคลองรอบกรุงช่วงนั้นว่า ‘คลองโอ่งอ่าง’ ตามชื่อสินค้าที่ผลิตและขายกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยชื่อนี้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2451 เลยทีเดียว

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
‘คลองโอ่งอ่าง’ หรือ ‘คลองตะพานหัน’ ในอดีต
ภาพ : National Museum of Ethnology, Netherlands

ชาวไทยอาจเรียกคลองรอบกรุงส่วนนี้ว่า ‘คลองโอ่งอ่าง’ ตามผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของชาวจีนย่านนี้ก็จริง แต่ชาวจีนหาได้เรียกชื่อคลองตามงานฝีมือของพวกตนไม่

อาเจ็กเล่าว่า ชาวจีนในอดีตเรียกคลองแห่งนี้ว่า ‘ซิงคุยกั้ง’ (新開港) แปลเป็นไทยได้ว่า คลองขุดใหม่ เนื่องจากเป็นคลองที่เพิ่งขุดขึ้นหลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่นั่นเอง

หันหา สะพานหัน

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน

แค่ได้ยินชื่อสะพานนี้ก็ต้องหันมาฟังกันอีกสักรอบ เพื่อรับรู้ที่มาอันสุดพิเศษของสะพานนี้

‘สะพานหัน’ เป็น 1 ใน 5 สะพานข้ามคลองโอ่งอ่าง อื่น ๆ คือสะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธุ์ สะพานบพิตรพิมุข และสะพานโอสถานนท์ โดยสะพานหันเป็นสะพานที่ 3 ถือว่าอยู่ตรงกลางคลองรอบกรุงอย่างเหมาะเจาะ

ความพิเศษของสะพานนี้ใช่เพียงชื่อที่เรียบง่ายกว่าสะพานอื่น แต่ยังเป็นด้วยอดีตสะพานนี้มีขนาดเล็ก ทำจากไม้กระดานพาดจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฟากโดยปลายข้างหนึ่งตรึงแน่นกับที่ ส่วนอีกข้างนั้นไม่ตอกติด จนจับหันไปมาได้

บ้างก็ว่าเพราะสะพานนี้เป็นประตูเมือง คนจะเข้าเมืองได้ต้องผ่านสะพานหัน เมื่อชักสะพานขึ้นมา คนก็เข้ามายังตัวเมืองไม่ได้

บ้างก็ว่าเพื่อให้เรือสัญจรได้สะดวก จึงออกแบบสะพานให้ชักหลบเรือได้

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
สะพานหันในอดีต
ภาพ : หน่วยงานกรุงเทพมหานคร

ที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) สะพานหันได้เปลี่ยนจากสะพานไม้ขนาดเล็ก เป็นโครงเหล็กพื้นไม้ สองข้างสะพานทำเป็นห้องแถวเล็ก ๆ ไว้ค้าขายของกระจุกกระจิก ดูคล้ายกับสะพานริอัลโต (Ponte di Rialto) ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี

ปัจจุบันน้อยคนจะทราบว่าชื่อสะพานหันมีที่มาจากสะพานเก่าที่หันได้จริงดังชื่อ พอนึกถึงสะพานข้ามคลองโอ่งอ่างที่ทอดข้ามระหว่างสำเพ็งไปยังพาหุรัด คนรุ่นหลังอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็จะพานนึกถึงของทานเล่น ร้านขนม ร้านเสื้อผ้า และร้านขายกระดุมร่ำไป

บ้านสามวัง

ถัดจากตัวคลองและสิ่งปลูกสร้าง ย้อนเวลาไปถึงยุครัชกาลที่ 5 หากข้ามสะพานหันจากฝั่งสำเพ็งที่ปัจจุบันเป็นเขตสัมพันธวงศ์ ไปยังพาหุรัดในเขตพระนครแล้วล่ะก็ ท่านทั้งหลายจะได้พบกับ ‘บ้านสามวัง’ ที่ชาวจีนขนานนามว่า ซำอ่วงฮู่ (三王府) มีความหมายเดียวกับชื่อไทยทุกประการ

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
ภาพถ่ายเก่าแสดงวังทั้ง 3 แห่ง มีคลองโอ่งอ่างอยู่ด้านล่างภาพ

ร้อยกว่าปีที่แล้ว ย่านนี้เป็นที่ตั้งของวังเจ้านาย 3 แห่งในละแวกใกล้เคียงกัน

วังที่หนึ่งเป็นของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา 

วังที่สองเป็นของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

วังที่สามเป็นของ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ซึ่งรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ได้พระราชทานนามว่า ‘วังบูรพาภิรมย์’ เรียกย่อ ๆ ว่า ‘วังบูรพา’

หมดยุคแจวเรือ

ล่วงสู่พุทธศตวรรษที่ 25 ยุคที่สยามเริ่มปรับปรุงประเทศตามอย่างตะวันตก การไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมฝรั่งมังค่าค่อย ๆ พลิกโฉมบ้านเมืองไปทีละเล็กละน้อย จากแม่น้ำลำคลองที่มีมากมายจนได้รับสมญาว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ทางน้ำเหล่านั้นก็ทยอยแทนที่ด้วยถนนอย่างที่สากลโลกใช้กัน

ภาพถ่ายขาวดำที่ถ่ายช่วง พ.ศ. 2450 เป็นต้นไป แสดงให้คนรุ่นหลังเห็นว่าเรือสัญจรในคลองโอ่งอ่างยังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่เริ่มเสื่อมความนิยมลงไปทุกที

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
บ้านริมคลองโอ่งอ่าง
ภาพ : สมชัย กวางทองพานิชย์

กระทั่ง พ.ศ. 2483 ที่ประเทศไทยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี คลองแห่งนี้ก็แทบสิ้นสถานะคลองเพื่อการคมนาคม เมื่อรัฐบาลยุคนั้นมีมติเห็นชอบว่าควรทำเขื่อนขนาบสองฝั่งคลองเพื่อขยายทางเท้า และลดพื้นที่คลองซึ่งตื้นเขินและไม่ถูกสุขลักษณะ

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
ประกาศรัฐบาล พ.ศ. 2483

เพราะเหตุนี้คลองโอ่งอ่างจึงแคบลงจากที่เคยเป็น ประชาชนที่มีเรือเป็นพาหนะก็ใช้คลองนี้เพื่อการเดินทางน้อยลงตามลำดับ จนในที่สุดเรือกับคลองแห่งนี้ก็เป็นเพียงอดีตของกันและกันไปโดยปริยาย

เย็นนี้ดูหนังที่ไหน?

วัยรุ่นยุคนี้อยากดูหนังต้องไปสยามสแควร์ แต่ถ้าเป็นยุคกึ่งพุทธกาลราว พ.ศ. 2500 แล้วล่ะก็ ไม่มีที่ใดตอบโจทย์คนหนุ่มสาวได้ดีเท่าย่านวังบูรพา

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของ ‘สมเด็จวังบูรพา’ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทายาทในราชสกุลภาณุพันธุ์ของพระองค์ได้ขายที่วังบูรพาภิรมย์ให้นักธุรกิจ ซึ่งต่อมาได้รื้อวังออกเพื่อนำที่ดินไปสร้างศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน
วังบูรพายุครุ่งเรือง
ภาพ : 77PPP

ย้อนกลับไปช่วง พ.ศ. 2499 ย่านวังบูรพานับเป็นแหล่งรวมความบันเทิงขนานแท้ จากการมีโรงภาพยนตร์ถึง 3 แห่งในละแวกใกล้เคียงกัน ได้แก่ โรงภาพยนตร์คิงส์ ฉายภาพยนตร์สัญชาติจีน ฮ่องกง และฮอลลีวูดของค่ายเมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์ สตูดิโอส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ เด่นเรื่องการฉายภาพยนตร์อินเดียและฮอลลีวูดของค่ายโคลัมเบียพิคเจอร์ส ขณะที่โรงภาพยนตร์แกรนด์ เน้นไปที่ภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์ฮอลลีวูดของยูไนเต็ดอาร์ติสต์และยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ ก่อนที่โรงหนังคิงส์จะแปรเปลี่ยนไปเป็นห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ ต่อด้วยห้างสรรพสินค้าเมก้า พลาซ่าในปัจจุบัน

ดินแดนปลากัด-ศูนย์อาหารนานาชาติ

เดินทางต่อมาถึง ‘สะพานเหล็ก’ ซึ่งมีชื่อทางการว่า ‘สะพานดำรงสถิต’

สะพานนี้มีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ เพราะพื้นที่ระหว่างสะพานดำรงสถิตกับสะพานภาณุพันธุ์นี้เรียกว่า ‘ย่านสะพานเหล็ก’ อันเป็นย่านค้าขายขนาดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายช่วงยุคสมัย

ร่วมสมัยกับยุคที่วังบูรพาเป็นสวรรค์ของเหล่าบรรดาจิ๊กโก๋จิ๊กกี๋ สะพานเหล็กหรือสะพานดำรงสถิตที่อยู่ไม่ไกลกัน ก็ขึ้นชื่อในฐานะแหล่งขายปลากัดที่เด็ก ๆ ในละแวกนั้นคลั่งไคล้หนักหนา

“ปลากัดใส่ขวดเหล้าแม่โขงไว้ เพราะมันกินพื้นที่น้อย และหยิบดูสีได้ ที่ติดเหล้าก็เพราะอาจจะติดขวดมาก่อน มันจะมีตำราปลากัดคือหนังสือ ชัยพฤกษ์ ความรู้เด็กสมัยก่อนก็จะมากับหนังสือ ชัยพฤกษ์ มีชัยพฤกษ์การ์ตูน ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์” อาเจ็กสมชัยเล่าถึงสมัยที่เขายังเป็นเด็กชายในย่านสำเพ็ง และตื่นตาตื่นใจกับการได้เล่นปลากัดที่ซื้อจากสะพานเหล็ก

อีกหนึ่งของขึ้นชื่อในย่านสะพานเหล็กยุค พ.ศ. 2500 – 2520 คือร้านอาหารหลากสไตล์ หลายเชื้อชาติ ที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายขายกันโดยมีคลองโอ่งอ่างเป็นปราการแบ่งเขต

เจาะอดีตคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่คลองสัญจร แหล่งปลากัด ดินแดนเกม ก่อนจะเป็นถนนคนเดิน

“ฝั่งหนึ่งของสะพานเหล็กคือย่านคนจีน อีกฝั่งหนึ่งคือย่านคนแขก ฝั่งจีนก็ขายอาหารจีน ฝั่งแขกก็ขายอาหารแขก มีแขกหลายกลุ่มด้วย ทั้งแขกฮินดี แขกปัญจาบ แขกเนปาล” อาเจ็กอธิบายต่อ

ลูกค้ากลุ่มสำคัญของร้านอาหารเหล่านี้ คือผู้คนที่มาดูหนังในโรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่ง ตลอดจนคนที่มาเดินช้อปปิ้งย่านวังบูรพา ก่อนกลับบ้านก็มักแวะฝากท้องดับความหิวกันก่อน

เพราะเหตุนี้สองฟากฝั่งของสะพานเหล็กจึงอุดมไปด้วยร้านอาหาร ทุกเย็นย่ำพื้นที่ริมคลองโอ่งอ่างนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของผู้คนนั่งทานข้าวหลังชมภาพยนตร์ย่านวังบูรพาจนหนำใจ เป็นศูนย์รวมความหลากหลายของอาหารแต่ละชาติ ตั้งแต่อาหารจีน ฮินดี ปัญจาบ เนปาล ไปจนถึงอาหารทะเลและร้านข้าวต้มที่มีผู้คนมานั่งดื่มกินริมน้ำตั้งแต่เย็นยาวไปจนถึงหัวค่ำ

เริ่มจากนาฬิกา จบที่แหล่งค้าเกม

ครั้นเมื่อย่านวังบูรพาสูญเสียกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นให้กับคลื่นลูกใหม่อย่างย่านสยามและราชประสงค์ ละแวกคลองที่เคยคึกคักก็พลอยถดถอย ทว่าไม่นานเท่าไรนัก กลุ่มผู้ค้าย่านสะพานเหล็กก็ขีดเขียนตำนานบทใหม่ให้กับพื้นที่ ซึ่งยังเป็นที่กล่าวขวัญมาจนถึงวันนี้

นาฬิกา สินค้าฟุ่มเฟือยแสดงฐานะที่โดยมากเป็นของนำเข้า เริ่มขยายฐานการค้าจากตลาดคลองถมมาสู่สะพานเหล็ก เนื่องจากมีการนำนาฬิกาจากฮ่องกงเข้ามาขายในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมหาศาล ผู้ค้าจำนวนหนึ่งต้องเสาะหาที่ตั้งร้านรวงแห่งใหม่ เลยมารวมตัวกันที่เชิงสะพานเหล็ก

และจากนาฬิกา สินค้านำเข้าชนิดอื่น ๆ ก็หลั่งไหลตามมาวางจำหน่าย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเล่นเกม ตลับเกม จนแน่นขนัดเต็มพื้นที่

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2526 ทางกรุงเทพมหานครได้จัดสัมปทานให้เช่าพื้นที่ว่างเหนือคลองโอ่งอ่างบริเวณรายรอบสะพานดำรงสถิต เพื่อโอบรับร้านค้าซึ่งทวีจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ เหนือลำคลองที่เคยมีแค่สะพานข้ามฟาก จึงต่อเติมด้วยร้านรวงนับร้อยร้าน มุงหลังคาสังกะสีแน่นเอี้ยดจนดูไม่รู้ว่าใต้ทางเดินมีน้ำคลองไหลหลั่ง

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ผู้คนจับจ่ายซื้อของที่สะพานเหล็ก

เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผู้คนจดจำสะพานเหล็กในฐานะย่านการค้าที่พลุกพล่านจอแจ เคียงข้างตลาดคลองถม ถนนเสือป่า หรือสำเพ็ง เวลาต่อมาสินค้าที่เป็นภาพจำคู่กับตลาดบนคลองแห่งนี้ ก็คือเกมและของเล่น ชนิดที่เรียกได้ว่าหากอยากได้เครื่องเล่นเกมใหม่ รถบังคับวิทยุ หุ่นฟิกเกอร์ หรือแม้แต่ตุ๊กตาหมีและบาร์บี้ ก็ต้องไปหาซื้อที่สะพานเหล็กกันเลยทีเดียว

สู่ยุคถนนคนเดิน เรือกลับมาอยู่ในน้ำอีกครั้ง

ร้านรวงใต้หลังคาสังกะสีแผ่อาณาเขตตั้งแต่เชิงสะพานดำรงสถิตจนถึงสะพานบพิตรพิมุขมานานโข จนกระทั่ง พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานครเล็งเห็นว่า การมีอยู่ของร้านเหล่านี้ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรมและน้ำในคลองเน่าเสีย เห็นควรต้องจัดระเบียบเมืองใหม่ โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ค้าที่รุกล้ำแนวคลองไปให้หมด

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

มติดังกล่าวเป็นดั่งม่านที่รูดปิดฉากพาณิชยกรรมย่านสะพานเหล็กในทันที กลุ่มพ่อค้าแม่ขายที่มีมากกว่า 500 ร้าน ถูกขีดเส้นตายให้ย้ายออกภายในเดือนตุลาคมปีนั้น ซึ่งคนบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างอาเจ็กสมชัยทันได้บันทึกภาพการรื้อถอนร้านค้าย่านสะพานเหล็ก

เขายังจดจำบรรยากาศวันนั้นได้ดีว่า “ขายไป รื้อไป”

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าหน้าที่ กทม. ดาหน้าเก็บกวาดทีละร้าน ร้านที่ยังรื้อมาไม่ถึงก็ตั้งหน้าทิ้งทวนขายของกันไป…พ้นจากวันนั้นแล้ว ผู้ค้าโดยมากก็ได้รับการจัดสรรให้ย้ายไปดำเนินธุรกิจต่อที่ห้างสรรพสินค้าเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ที่สร้างทับที่ดินห้างเมอร์รี่คิงส์ สาขาวังบูรพาเดิม

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หลังการรื้อถอนเสร็จสิ้นลง ภาครัฐก็ปรับปรุงทัศนียภาพคลองใหม่ ร้านรวงที่ตั้งขายเป็นตรอกซอกซอยก็แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนมาเดินเล่น ติดตั้งระบบไฟ จัดสวนใหม่ ดูแลความสะอาดของน้ำ พาคลองมากประวัติศาสตร์แห่งนี้ข้ามผ่านสู่ยุคใหม่อีกยุคหนึ่ง

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

พาหนะที่ล่องบนน้ำอย่างเรือ ได้กลับมาล่องเหนือผืนน้ำคลองโอ่งอ่างอีกครั้ง แต่ไม่ใช่เรือสำปั้นและเรือกระแชงเช่นที่เคยสัญจรไปมาบนคลองสายนี้เมื่อครั้งคุณตาคุณยายยังเด็ก หากเป็นเรือคายัคเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

สองฟากฝั่งคลองแปรสภาพเป็นถนนคนเดิน ผู้ค้ากลุ่มใหม่มาในรูปรถเข็นขายของกินเล่น ร้านอาหารหลากเชื้อชาติกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ผนังทั่วแนวแต่งแต้มด้วยสตรีทอาร์ตชวนนักท่องเที่ยวเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นพหุวัฒนธรรมที่ฝังลึกในสถานที่แห่งนี้

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ความผสมผสานของวัฒนธรรมไทย มอญ จีน อินเดีย และอีกมายมายสร้างคลองโอ่งอ่างให้เป็นพื้นที่ของผู้คน และทำให้พื้นที่แห่งนี้มีชีวิตและจิตวิญญาณคู่ทุกยุคทุกสมัย หล่อหลอมกลายเป็นความทรงจำต่อสถานที่นี้ไว้แตกต่างกัน ไม่ว่าคุณจะรู้จักคลองนี้ในฐานะคลองสัญจร ดินแดนของปลากัด ย่านขายของเล่น หรือถนนคนเดินริมน้ำ ที่แห่งนี้ก็ยังมีเรื่องราวและเปิดต้อนรับให้ผู้คนสร้างความทรงจำใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ย้อนรอย ‘คลองโอ่งอ่าง’ แต่ละยุคสมัย ที่แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและความทรงจำตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์

Writers

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Avatar

ปณิตา พิชิตหฤทัย

นักเรียนสื่อผู้ชอบเล่าเรื่องแถวบ้าน ความฝันสูงสุดคือการเป็นเพื่อนกับแมวสามสีทุกตัวบนโลก

Photographers

Avatar

สมชัย กวางทองพานิชย์

เป็นคนหลงใหลบ้านและชุมชนของตัวเอง

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย