‘การนั่ง’ หนึ่งในอิริยาบถสุดเบสิกของมนุษยชาติ เราทุกคนคุ้นเคยกับการหย่อนก้นลงบนเก้าอี้จนคิดว่าเป็นกิริยาอาการแสนสามัญธรรมดา แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาคิด

333 ปีผ่านมาแล้ว ซีมง เดอ ลา ลู แบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตจากสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สุริยราชันย์แห่งฝรั่งเศสเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา ราว 3 เดือนที่พำนักอยู่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย เขาได้บันทึกเรื่องราวหลายแง่มุมที่ประสบพบเจอในสยามไว้อย่างละเอียดลออ บันทึกเล่มนี้ได้กลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์อันประเมินค่ามิได้ในกาลต่อมา

ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้

ข้อเขียนของซีมง เดอ ลา ลู แบร์ รวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นข้อสังเกตของเขาไว้ในหัวข้อย่อยๆ เช่น เหตุไฉนราชอาณาจักรนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ชาวสยามคนหนึ่งเปลืองค่าบริโภควันละเท่าไหร่ ชาวสยามมีความพยาบาทรุนแรง เพราะเหตุไร ความร้อนจัดในประเทศสยามขัดกับการใช้สติปัญญาอย่างขะมักเขม้น แต่ละข้อล้วนอ่านสนุกและชวนให้คิดว่า 3 ศตวรรษที่ผ่านมา สิ่งไหนเปลี่ยนแปลงไปและสิ่งไหนยังดำรงอยู่เหมือนเดิมบ้าง มีหัวข้อหนึ่งที่สะดุดใจผู้เขียนเป็นพิเศษ คือข้อสังเกตของ ซีมง เดอ ลา ลู แบร์ ที่ว่า “ชาวสยามนั่งอย่างไร” ชวนให้ฉงนสนเท่ห์ว่าชาวสยามนั่งไม่เหมือนคนชาติอื่นหรือ ราชทูตฝรั่งเศสอธิบายเรื่องนี้ว่า

“ชาวสยามนั่งอย่างไร 

กิริยาอย่างเรียบร้อยที่ชาวสยามใช้ในการนั่งนั้น ก็เหมือนการนั่งแบบชาวสเปญ กล่าวคือขัดสมาธิและเขามีความชินกับการนั่งแบบนี้ แม้จะมีผู้นำเก้าอี้มาให้นั่ง เขาก็จะนั่งในท่านั้นโดยมิพักที่จะเปลี่ยนเป็นท่าอื่น (คือคงนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้หาได้ห้อยเท่าลงไม่)”

อีกตอนหนึ่ง ราชทูตสาธยายถึงเครื่องเรือนของชาวสยามว่าา “เขาไม่ใช้เก้าอี้ หากแต่นั่งกันบนเสื่อกกซึ่งสานละเอียดหรือหยาบๆ ต่างๆ กัน”

ข้อเขียนเหล่านี้ชวนให้เราตระหนักว่า ชาวกรุงศรีฯ ไม่เคยชินกับการนั่งเก้าอี้ และเก้าอี้ก็มิได้เป็นสิ่งสามัญในอยุธยา ด้วยเป็นเครื่องเรือนอิมพอร์ตมาจากชาติอื่น หนังสืออภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ โดยกรมศิลปากร อธิบายเรื่องนี้ว่าคำว่า ‘เก้าอี้’ มีที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลความตามตัวอักษรได้ว่า ‘ที่นั่งสูง’ 

อย่างไรก็ดี ชาวอยุธยาก็มิได้ไม่รู้จักเก้าอี้เสียที่ไหน ในกรุงศรีฯ ที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครนานาชาติ ยังมีย่านช่างจีนที่ทำเครื่องเรือนรวมไปถึงเก้าอี้ขายด้วย ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง เล่าถึงย่านตลาดในพระนครศรีอยุธยาไว้ว่า

“ถนนย่านสามม้าตั้งแต่เชิงตะภานในไก่กระวันออกไป จดถึงหัวมุมพระนครที่ชื่อตำบลหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจังอับแลขนมแห้งจีนต่างต่างหลายชนิดหลายอย่าง แลช่างจีนทำโต๊ะเตียงตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างต่างขายต่อไป”

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้
เก้าอี้จีน คริสต์ศตวรรษที่ 16
ภาพ : images.metmuseum.org
ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
เก้าอี้จีน คริสต์ศตวรรษที่ 17
ภาพ : images.metmuseum.org

ทั้งนี้ที่เก้าอี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยคุ้นเคยกับการนั่งกับพื้นเป็นหลัก เก้าอี้หรือที่นั่งจึงมิได้เป็นของที่มีอยู่ในบ้านเรือนทั่วไป ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้มีอำนาจหรือผู้มีสิทธิพิเศษในสังคมที่จะวางก้นให้อยู่บนระนาบที่สูงขึ้นมาจากพื้น เพื่อเป็นการประกาศยศถาบรรดาศักดิ์เหนือผู้อื่น ดังเช่นพระมหากษัตริย์ เจ้านาย หรือพระสงฆ์ในอดีต ที่จะนั่งบนแท่นหรือตั่งในที่ประชุมชน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญอันเก่าแก่ของที่นั่งพิเศษนี้ รวมถึงข้อแตกต่างของตั่งและแท่นไว้ในลายพระหัตถ์ที่มีไปถึงพระยาอนุมานราชธน

“ตั่งเป็นรูปใดก็ได้สำหรับนั่ง มีคำโคลงโบราณชี้ให้เห็นว่า ขึ้นนั่งตั่งเมือง แท่นทองรองเรือง สุขศรีปรีดิ์เปรม ถ้าที่นั่งนั้นตันเรียกว่าแท่น ถ้าโปร่งเรียกว่าตั่ง” 

ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นราชสกุลปราโมช พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ทรงประทับบนตั่ง
ภาพ : หนังสือเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
สตรีชั้นสูงนั่งบนตั่ง รายล้อมด้วยบริวารที่นั่งอยู่บนพื้น
ภาพ : หนังสือเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก

ในตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงตั่งที่สำคัญที่สุดในแผ่นดินสมัยนั้นไว้ว่า

“(กษัตริย์) เสด็จขึ้นนั่งบนตั่งไม้มะเดื่อกว้างจตุรัสศอกคืบปูผ้าขาว โรยแป้ง วางหญ้าคา”

บนที่นั่งนั้นจะทรงรับน้ำอภิเษกเปลี่ยนสถานะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ธรรมเนียมนี้สืบทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีการสร้างพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พระที่นั่งภัทรบิฐ เป็นพระราชอาสน์ตั้งไว้ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นที่ที่พระมหากษัติย์รับพระราชสมบัติในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

หากลองจินตนาการถึงยุคสมัยที่ทุกคนยังคงนั่งอยู่บนพื้น การมีบุคคลสำคัญเพียงหนึ่งเดียวที่นั่งบนที่นั่งพิเศษสุดที่สูงส่งและหรูหรากว่าคนทั้งปวง ย่อมเป็นแสดงพลังอำนาจพิเศษสุด ที่นั่งพิเศษหรือบัลลังก์ที่เป็นเครื่องแสดงสถานะผู้นั่งก็ปรากฏอยู่ในทุกๆ วัฒนธรรมอีกด้วย

ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศ ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และราชบัณฑิต ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด

แต่ก็ใช่ว่าบุคคลสำคัญจะต้องนั่งอยู่บนที่นั่งสำคัญเสมอไป ผู้คนทุกชนชั้นรวมไปถึงชนชั้นนำในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อไม่ได้อยู่ท่ามกลางประชุมชนที่เป็นทางการก็ยังคุ้นชินกับการนั่งพื้น หนังสือ พระบาทสมเด็จพระน่ังเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวังท่าพระ กล่าวถึงเรื่องเล่าที่ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงดำรงพระยศกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ประทับ ณ วังท่าพระ มักจะเสด็จออกทรงงานที่ท้องพระโรง โดยทรงประทับกับพื้นและพิงเสาแถวแรกต้นที่สองจากขวามืออยู่เป็นประจํา เสาต้นนี้ยังคงผูกผ้าสามสีและปิดทองบูชาเป็นสัญลักษณ์จนมาถึงทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ภาพ : หนังสือพระบาทสมเด็จพระน่ังเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อสยามเปิดรับอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบในสมัยรัชกาลที่ 4 โฉมหน้าของการนั่งพื้นเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะถูกมองด้วยโลกทัศน์แบบตะวันตกว่าเป็นการกระทำอันล้าหลังและไม่ถูกสุขอนามัย ชนชั้นนำสยามต้องปรับปรุงบ้านขนานใหญ่ โดยการนำเข้าเครื่องเรือนแบบตะวันมาเป็นเครื่องใช้และเครื่องโชว์ในเวลาเดียวกัน

เซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ราชทูตอังกฤษเดินทางมาถึงสยามเมื่อ พ.ศ. 2397 ได้เล่าถึงบรรยากาศตกแต่งพระราชวังไว้ในบันทึกการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“เจ้าพนักงานได้พาไปยังที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่วังหน้าสำหรับทรงรับพรพวกพระสงฆ์ ในที่นี้ได้จัดโต๊ะสำหรับเลี้ยงอาหารกลางวันไว้อย่างพร้อมสรรพอย่างโต๊ะเลี้ยงอาหารฝรั่ง… ห้องที่ประทับดีเหมาะสมและตกแต่งเข้าทีดี”

จนทำให้ท่านเซอร์สรุปได้ว่า “เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านผู้ดีฝรั่ง”

ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ภายในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพ : The Cloud

ก่อนหน้านี้ ชนชั้นนำชาวสยามเริ่มมองเห็นการนั่งบนเก้าอี้ในฐานะมารยาทผู้ดีอย่างตะวันตก เห็นได้จากที่สุนทรภู่ผู้อยู่ในแวดวงชั้นสูงของราชสำนักบรรยายกริยาท่าทางของบาทหลวงเมืองลังกา ตัวละครฝรั่งในผลงานชิ้นเอกอย่างพระอภัยมณี ไว้ว่า

“เห็นท่านครูนั่งอยู่บนเก้าอี้ ดูท่วงทีงดงามตามภาษา

บาทหลวงเปิดหมวกคำนับกับพฤฒา ดูกิริยาเห็นวิเศษข้างเวทมนตร์ 

 …

 บาทหลวงว่ามานั่งบนเก้าอี้ สูบบุหรี่ให้สบายก่อนนายขา

แล้วจะได้ขึ้นไปสนทนา กับมหาอำมาตย์ข้าราชการ”

หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) ล่ามหลวงในคณะราชทูตที่เดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2400 ก็กล่าวถึงความรู้ธรรมเนียมนี้ของเหล่าราชทูตไว้ใน นิราศลอนดอน

“ดำรัสเรียกพวกไทยเข้าไปเฝ้า ต่างน้อมเกล้าพร้อมกันด้วยหรรษา

โปรดให้นั่งบนเก้าอี้มีน้ำชา อีกทั้งกาแฟใส่ถ้วยลายทอง”

ในทรรศนะชาวสยามแนวหน้าอย่างสุนทรภู่และหม่อมราโชทัย การนั่งบนเก้าอี้ถือเป็นหนึ่งในะเบียบปฏิบัติของผู้มีอารยธรรม พอๆ กับการเปิดหมวกคำนับ การสูบบุหรี่ หรือการดื่มชากาแฟ

ล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 การรับวัฒนธรรมตะวันตกยิ่งเข้มข้นขึ้น พระราชกรณียกิจแรกสุดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เกิดขึ้นทันทีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2416 คือทรงมีีพระราชดำรัสยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานกับพื้น โดยเปลี่ยนให้ผู้เข้าเฝ้าฯ ยืนเฝ้าฯ แทน ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า

“การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริจะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดวงศ์ผู้ทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้นทรงบรรยายไว้ใน พระนิพนธ์ประชุมละคอนดึกดำบรรพ์ ว่า

“พออาลักษณ์อ่านประกาศจบ เหล่าข้าเฝ้านับแต่กรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้น บรรดาที่หมอบอยู่เต็มทั้งท้องพระโรงก็ลุกขึ้นยืนถวายคำนับพร้อมกันดูเหมือนกับเปลี่ยนฉากรูปภาพอย่างหนึ่งเป็นอย่างอื่นๆ ไปในทันทีอย่างน่าพิศวงอย่างยิ่ง”

และในพระราชบัญญัติเข้าเฝ้าฯ ที่ออกในปีเดียวกันนั้นก็สั่งห้ามมิให้ผู้เข้าเฝ้าฯ นั่งลงพื้นอีกเป็นอันขาด โดยมีเนื้อความว่า

“พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้น้อยผู้ใหญ่ทั้งปวง ที่ได้มายืนเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่งจึงนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้น”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดวงศ์ทรงสรุปไว้ว่า “ก็เป็นอันเพิกถอนระเบียบการเข้าเฝ้าอย่างเก่าซึ่งเคยใช้มาหลายร้อยปี”

สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงกระทำในครั้งนั้น เสมือนการประกาศเข้าสู้โลกยุคใหม่ของสยามอย่างเป็นทางกา แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ย่อมมิได้ง่ายดายเพียงดีดนิ้ว ในหนังสือ ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกรมศิลปากร เล่าว่า

เมื่อราชสำนักเลิกหมอบเฝ้าและใช้เก้าอี้ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ 5 ต้องมีพระราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ ส่วนขาให้ห้อยลงไป” 

ในภาพถ่ายบุคคลยุครัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 บางภาพ ผู้ชมอาจสังเกตเห็นท่วงท่าที่ดูเกร็งไม่ค่อยเป็นธรรมชาติของผู้นั่งเป็นแบบ นอกเหนือไปจากความไม่คุ้นเคยของการถูกถ่ายภาพแล้ว น่าคิดว่าภาษาท่าทางประดักประเดิดเหล่านี้มีที่มาจากความประหม่าไม่คุ้นเคยในการหย่อนก้นลงบนเก้าอี้บ้างหรือไม่

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
สตรีสูงศักดิ์ในราชสำนักกัมพูชานั่งบนม้านั่งโดยไม่ห้อยขาลงมา
ภาพ : หนังสือ Cambodia Captured: Ankor’s first photographers in 1860’s colonial intrigues

เทียบกันภาพถ่ายของหม่อมราโชทัย ผู้ที่ได้ชื่อว่าอินเตอร์ถึงขนาดได้เป็นล่ามไปเมืองอังกฤษ จะเห็นว่าภาษากายและท่วงของท่านนั้นช่างโก้เก๋ทะมัดทะแมง อาจแสดงให้เห็นว่าท่วงท่านั่งมั่นคงบนเก้าอี้นั้นช่างทันสมัย แต่ท่วงท่าที่แสดงความมั่นใจและผ่อนคลาย อันแสดงว่าผู้นั่งเป็นแบบคุ้นเคยกับการนั่งบนเก้าอี้นั้น ทั้งแสนทันสมัยและมีอารยธรรมยิ่งกว่า

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)
ภาพ : wellcomecollection.org

เช่นเดียวกับภาพวาดสำคัญโดยจิตรกรชาวอิตาเลียน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับพระราชอาสน์งามหรูอย่างมั่งคงสง่างาม เคียงข้างกับสมเด็จพระบรมราชินีที่ทรงประทับโพสต์ท่าอย่างฟรีสไตล์และมีสไตล์เป็นพิเศษ ที่พระบาทของพระองค์ยังมีหมอนสำหรับรองพระบาท หากตัดภาพสลับไปยังต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ผู้คนยังนั่งอยู่พื้น อากัปกริยาในภาพวาดนี้คือจุดสูงสุดของอารยธรรม

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ภาพ : หนังสือจิตรกรรมเเละประติมากรรมเเบบตะวันตกในราชสำนัก

เก้าอี้แบบตะวันตกได้กลายมาเป็นของชิ้นสำคัญในชีวิตประจำวันของชนชั้นสูง ประโยชน์ใช้สอยของเก้าอี้ที่อาจมีเพื่อโชว์มากหน่อย ใช้น้อยหน่อย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้ใช้จริงมากขึ้น ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันของรัชกาลที่ 4 กล่าวว่าใน พ.ศ. 2423 พระองค์ทรงได้รับของขวัญปีใหม่เป็นเก้าอี้หลายตัว

วันนี้เป็นวันปีใหม่รับก๊าศแจกก๊าศแจกขนมตามเคย เจ้านายข้าราชการถวายของต่างๆ ในวันปีใหม่ คือ… องค์ดิษฐถวายเก้าอี้เตรกะลิงแชหวาย ๑ เก้าอี้อีซีแชนั่งได้นอนได้ ๑ รวม ๒ กรมพิชิตถวายเก้าอี้อีซี่แชเหมือนเตียงนอน ๑”

แสดงให้เห็นค่านิยมของคนยุคนั้นที่เห็นว่าเก้าอี้ฝรั่งเป็นของดีมีราคาอยู่ไม่น้อย

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5
ภาพ : หนังสือเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก

ความรุ่มรวยของราชสำนักสยามและความนิยมสูงสุดในการใช้เก้าอี้ปรากฏในการตกแต่งภายในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท จอห์น ทอมสัน (John Thomson) ได้ถ่ายภาพภายในพระที่นั่งองค์ไว้ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระสงฆ์ เจ้านายและข้าราชบริพารทั้งหมดนั่งลงกับพื้น

ผ่านไปราว 40 ปี ภาพถ่ายในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระอัฐิพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แสดงให้การตกแต่งภายในที่มีความ ‘ฝรั่ง’ มากขึ้น มาถึงตอนนี้ไม่การนั่งบนพื้นอีกต่อไป เก้าอี้หลายประเภทจัดวางเรียงรายอยู่ในพระที่นั่ง ทั้งเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ที่ตั้งอยู่บนอาสนะอีกที พระราชอาสน์ของรัชกาลที่ 5 ที่ขนาบข้างด้วยโต๊ะเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแสดงถึงความสำคัญสูงสุด และที่น่าสนใจที่สุดคือหมู่เก้าอี้ทางซ้ายมือของภาพ เก้าอี้ระดับตำนานของวงการการออกแบบอย่างเก้าอี้โทเนท์ (Thonet Chair) ได้มาปรากฏ ณ ที่นี้ด้วย

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ภายในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทในรัชกาลที่ 4
ภาพ : wellcomecollection.org

ราว ค.ศ. 1836 ช่วงเวลารุ่งโรจน์แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม มิเชล โทเนท์ (Michael Thonet) ได้คิดค้นเทคโนโลยีการดัดไม้ให้โค้งงอด้วยไอน้ำจนสำเร็จ เขานำเทคนิคนี้มาผลิตไม้ที่โค้งงอเป็นทรวดทรงลงตัวและประกอบขึ้นเป็นเก้าอี้ที่ทันสมัย นอกเหนือจากความโมเดิร์นในการออกแบบและวิธีการผลิตแล้ว เก้าอี้ของโทเนท์ยังใช้วัสดุไม่มาก และถอดออกเป็นชิ้นๆ เพื่อแพ็กลงในบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกสำหรับการขนส่ง (เรียกได้ว่าเป็น IKEA ยุคแรก)

ทุกปัจจัยที่ตอบโจทย์ ประกอบกับขีดความสามารถของกลไกการผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรมกับระลอกคลื่นแรกของโลกาภิวัตน์ ทำให้เก้าอี้โทเนท์โด่งดังขึ้นแท่นเก้าอี้ Best Seller ระดับโลก

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ภาพ : www.moma.org
ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย

 Coffee Shop Chair No.14 ที่ปรากฏในภาพภายในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ได้รับการขนานนามว่าเป็นประธานของเก้าอี้ทั้งปวง (Chair of Chairs) ในราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กิจการของโทเนท์มีลูกจ้างกว่า 25,000 คน ทำงานใน 60 โรงงานทั่วยุโรป เพืื่อส่งออกเก้าอี้โมเดลนี้ไปทั่วโลก

ความโมเดิร์นนี้ได้กลายมาเป็นความคลาสสิกสมัยใหม่ กิจการของโทเนท์ยังคงดำเนินต่อมาถึงทุกวันนี้ มีสถิติที่น่าสนใจว่าเฉพาะ Coffee Shop Chair No.14 แบบเดียว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันบริษัทได้ผลิตขายไปราวๆ 50 ล้านตัวแล้ว (ไม่นับรวมของก๊อป!)

ประวัติศาสตร์การนั่งของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
กระบวนการผลิตเก้าอี้ในโรงงาน Thonet
ประวัติศาสตร์การนั่ง ของสยาม ตั้งแต่ยุคที่เก้าอี้มีไว้ให้ชนชั้นสูงโชว์มากกว่าใช้, ประวัติศาสตร์เก้าอี้ในไทย
ภาพวาดโดย Henri Toulouse-Lautrec ค.ศ. 1895 เป็นภาพบรรยากาศภายใน Moulin Rouge สถานบันเทิงระบือโลกแห่งกรุงปารีส และเห็น Thonet Chair No.14 เก้าอี้ยอดฮิตแห่งยุคสมัย

การปรากฏของเก้าอี้โทเนท์ในราชสำนักสะท้อนรสนิยมในการอุปโภคบริโภคที่แสนโมเดิร์นของชนชั้นนำสยาม การนั่งบนเก้าอี้กลายเป็นวิธีการแสดงความเป็นผู้เจริญแล้ว เป็นแบบอย่างงดงามให้ชาวบ้านฝันใฝ่ว่าจะได้ลุกขึ้นจากพื้นและซื้อหาเก้าอี้มาไว้หย่อนก้นลงไปบ้าง

ป.ล. ใครอ่านแล้วอยากมีเก้าอี้ Thonet ไว้ครอบครอง ลองดูเก้าอี้ BJURÅN บยูรวน ของ IKEA ที่มีหน้าตาเหมือน Thonet Chair No.18 เป๊ะ เก้าอี้สวยๆ ช่วยชุบชูใจยาม Work from home อันยาวนานได้นะ

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง