ศิษย์เก่าของโรงเรียนอัสสัมชัญ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา หรือโรงเรียนอัสสัมชัญ และใครที่เคยเดินทอดน่องย่านเจริญกรุง คงคุ้นเคยอาสนวิหารอัสสัมชัญที่ตั้งตระหง่านเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนทั้งสามแห่ง แต่มีใครสังเกตไหมว่าอาคารสีครีมลักษณะเหมือนบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่งแฝงตัวอยู่ท่ามกลางชาวอัสสัมชัญมายาวนานกว่า 174 ปี บ้านหลังนั้นคือ ‘หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ’ ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2388

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพบรรจุเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘อัครสังฆมณฑลกรุงเทพ’ เขตพื้นที่การปกครองของคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกที่รวมพื้นที่หลายจังหวัดในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีอาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นศูนย์กลาง ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

อาคารที่ตั้งหอจดหมายเหตุฯ เป็นอาคารโบราณ และมีประวัติความเป็นมายาวนาน ในช่วงแรกเริ่มนั้นสร้างเป็นบ้านพักของพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำมิสซังสยาม ท่านได้บันทึกถึงการสร้างอาคารหลังนี้ไว้เมื่อ พ.ศ. 2398 ในหนังสือ เล่าเรื่องกรุงสยาม ว่า

“มีสำนักคริสตจักรหรือชมรมพวกคริสตังอยู่ห้าแห่งด้วยกันในนครหลวง แห่งแรกชื่อชมรมอัสสัมชัญ ซึ่งวิทยาลัยเสมินาร์ตั้งอยู่ที่นั่น ใกล้กับตัวโบสถ์อันงามก่ออิฐถือปูน สร้างมาได้เกือบสี่สิบปีแล้ว ตัวโบสถ์นั้นมีสวนอันกว้างล้อมอยู่โดยรอบ มีบ้านเรือนของพวกคริสตังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ห่างจากชายฝั่งแม่น้ำ ลึกไปประมาณหนึ่งร้อยเมตร จะเห็นทำเนียบอันสูงเด่นของพระสังฆราชมิซซังซึ่งสิ้นค่าก่อสร้างไปถึงสามพันฟรังก์เศษ ชั้นล่างของอาคารหลังนั้นจัดสรรให้เป็นที่ทำการของโรงพิมพ์ ชั้นบนซึ่งมีอยู่เพียงชั้นเดียวประกอบด้วยห้องนอนสองห้องกับห้องรับแขกอันกว้างใหญ่

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ภาพอาคารหอจดหมายเหตุฯ ในอดีตขณะเป็นบ้านพักพระสังฆราช
(เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ)

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

การทำความรู้จักหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพนั้นคงเป็นไปได้ยาก หากเราไม่รู้จักผู้จัดการหอจดหมายเหตุฯ อาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะในคริสต์ศาสนา และนักประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย

ความเชี่ยวชาญพิเศษของอาจารย์พุฒิพงศ์นั้นจึงอาจเรียกได้ว่าหาตัวจับยาก การันตีจากปริญญา 2 ใบทางด้านประวัติศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพิ่มเติมด้วยปริญญาอีก 2 ใบจากมหาวิทยาลัย Pontificia Università Gregoriana ณ กรุงโรม ด้านประวัติศาสตร์พระศาสนจักร ด้วยประสบการณ์การศึกษาและการค้นคว้าประวัติศาสตร์ จึงอาจกล่าวได้ว่าหน้าที่ดูแลเอกสารสำคัญที่สุดของคริสต์ศาสนาในประเทศไทยอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

นอกจากเป็นผู้จัดการหอจดหมายเหตุฯ แล้ว อาจารย์ยังรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาในวิทยาลัยแสงธรรม วิชาประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกของโลกและของประเทศไทย และในหลายโอกาสยังได้รับคำเชิญไปสอนยังบ้านเณรคาทอลิกในประเทศลาวในเนื้อหาวิชาเดียวกันอีกด้วย

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ห้องโถงกลางของอาคารใช้เป็นห้องเก็บเอกสาร ซึ่งเป็นที่ทำงานประจำของอาจารย์พุฒิพงศ์

จากการสัมภาษณ์อาจารย์พุฒิพงศ์ทำให้ทราบว่าก่อนเปลี่ยนเป็นหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ อาคารแห่งนี้เคยเป็นที่พักของพระสังฆราช 4 องค์ และห้องโถงกลางซึ่งเป็นสถานที่เก็บเอกสารในปัจจุบัน เคยเป็นที่ตั้งศพของพระสังฆราชในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9

พระสังฆราชองค์สุดท้ายที่พำนักอยู่ในอาคารหลังนี้คือ พระสังฆราช หลุยส์ ออกุสแตง เคลมังต์ โชแรง หลังจากนั้นอาคารไม่ได้ถูกใช้งานเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่ง บาทหลวงสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่กรุงโรมด้านประวัติศาสตร์พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย เดินทางกลับมารวบรวมเอกสารโบราณจากโบสถ์หลายๆ แห่งด้วยกัน

เอกสารส่วนหนึ่งเดิมเป็นของพระสังฆราชผู้เคยอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ ส่วนหนึ่งได้ขนย้ายเอกสารเก่ามากจากโบสถ์กาลหว่าร์ในช่วง พ.ศ. 2532 นอกจากนั้น ยังได้รวบรวมเอกสารจากโบสถ์ต่างๆ และจากอาสนวิหารอัสสัมชัญมาเก็บไว้ ณ อาคารหลังนี้ และเปิดที่นี่เป็นหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพขึ้นอย่างเป็นทางการในปีเดียวกันนี้เอง

เอกสารที่หอจดหมายเหตุแห่งนี้เก็บรวบรวมไว้ ส่วนใหญ่เป็นบันทึกเอกสารชั้นต้นซึ่งเขียนด้วยลายมือของบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสผู้เคยทำงานอยู่ในกรุงสยามในอดีต เป็นภาษาไทย ภาษาวัด (ภาษาที่ใช้อักษรโรมันในการบันทึกภาษาไทย) ภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่นๆ ซึ่งบางส่วนอายุเก่าแก่ตั้งแต่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

สมุดพจนานุกรมละติน-ไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ตัวผมเองได้พบเอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติคริสต์ศาสนาในประเทศไทยที่นี่ เมื่อเป็นผู้ช่วยวิจัยรายงานการศึกษาแนวทางอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารโบสถ์วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 120 ปีโบสถ์แม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) พ.ศ. 2560 ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการศึกษาคือการสืบค้นประวัติการก่อสร้างอาคารโบสถ์กาลหว่าร์หลังปัจจุบันที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 130 ปีที่แล้ว

ด้วยความช่วยเหลือจากอาจารย์พุฒิพงศ์ในการค้นหาบันทึกต่างๆ และความช่วยเหลือในการแปลเอกสารจากคุณพ่ออังตวน (Père Antoinne Meaudre des Gouttes) มิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศประจำกรุงปารีส (Missions Etrangeres De Paris) งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้รวบรวมเอกสารชั้นต้นกว่า 100 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นบันทึกเรื่องราวการก่อสร้างอาคารโบสถ์กาลหว่าร์ เช่น จดหมายสนทนากันระหว่างบาทหลวงเจ้าอาวาสโบสถ์กาลหว่าร์กับสถาปนิก ทำให้ทีมวิจัยทราบว่าโบสถ์กาลหว่าร์ก่อสร้างโดยบริษัท Grassi Brothers & Co,. Ltd บริษัทสถาปนิกสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจากนั้น ยังปรากฏใบบันทึกรายการสินค้า รายการสั่งซื้อสินค้า บันทึกการขนส่งวัสดุในการก่อสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ โดยวัสดุส่วนใหญ่สั่งซื้อ นำเข้า และขนส่ง มาจากประเทศฝรั่งเศส และยังพบรายนามผู้บริจาคสนับสนุนกิจการของโบสถ์กาลหว่าร์ที่โยงไปถึงบุคคลสำคัญต่างๆ อาทิ ตระกูล Maria Xavier ชาวโปรตุเกสผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตลาดน้อยหลังโบสถ์กาลหว่าร์ ผู้นำตระกูลคือพระยาพิพัฒน์โกษา (Celestino Maria Xavier) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5

ขณะนั้น Luis Maria Xavier บิดาของพระยาพิพัฒน์โกษาดำรงตำแหน่งรองกงสุลโปรตุเกส ได้ร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ ปัจจุบันชื่อของครอบครัวท่านยังคงปรากฏอยู่ภายใต้บานกระจกสีภายในวัดกาลหว่าร์ ในใบสั่งซื้อที่ค้นพบจากหอจดหมายเหตุฯ ระบุว่ากระจกสีภายในโบสถ์กาลหว่าร์สั่งซื้อจากบริษัท F.Hucher จากเมือง Le Mans ซึ่งถือเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตกระจกสีคุณภาพของประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ
ผู้เขียน (ในขณะเป็นผู้ช่วยวิจัย) และทีมวิจัยขณะค้นคว้าเอกสารบันทึกการก่อสร้างโบสถ์กาลหว่าร์ในอดีต

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

จดหมายลายมือของนายโยอาคิม กราซี เขียนถึงบาทหลวง Deassalles เจ้าอาวาสโบสถ์กาลหว่าร์
(เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ)

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

‘Maria Xavier’ คำจารึกภายใต้บานกระจกสีภายในส่วนศักดิ์สิทธิ์ (Sanctuary) โบสถ์กาลหว่าร์

นอกจากข้อมูลการก่อสร้างโบสถ์กาลหว่าร์แล้ว ภายในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพยังมีเอกสารอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ ภาพถ่ายโบราณ ที่ช่วยให้เข้าใจในรูปแบบสถาปัตยกรรมในอดีต และแสดงสภาพแวดล้อมของเมืองกรุงเทพฯ ในอดีตได้อย่างดีอีกด้วย

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

เอกสารโบราณและภาพถ่ายภายในโบสถ์กาลหว่าร์ในอดีต
(เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ)

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ภาพถ่ายด้านหน้าโบสถ์กาลหว่าร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏอาคารห้างเคียม ฮั่ว เฮง (Kiam Hoa Heng) และสถานกงสุลออสเตรีย (บริเวณที่ปรากฏเสาธง)
(เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ)

นอกจากบันทึกและเอกสารโบราณต่างๆ อาคารนี้ยังเก็บสิ่งของมีค่าสำคัญไว้ อาทิ อาสนะของพระสังฆราชมิสซัง ซึ่งได้นำมาจากโบสถ์นักบุญยอแซฟอยุธยา และหนังสือภาษาละตินซึ่งใช้สำหรับประกอบพิธีมิสซาในอดีต โดยหนังสือเหล่านี้ได้มีการยกเลิกใช้ภายหลังการสังคายนาวาติกันที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

อาสนะของพระสังฆราชเวย์ซึ่งถูกสร้างพร้อมกับโบสถ์นักบุญยอแซฟอยุธยาใน ค.ศ. 1890

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

หนังสือประกอบพิธีมิสซาภาษาละติน

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ประตูไม้โบราณสูงกว่า 2 เมตร ผนังโดยรอบห้องโถงกลางประดับรูปภาพโบราณของพระสังฆราชมิสซังในอดีต

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ระเบียงด้านทิศตะวันตก ทางเข้าหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

ประวัติศาสตร์คือชีวิตของผู้คนที่ดำเนินอยู่ในอดีต การค้นคว้านั้นเปรียบเสมือนการอ่านชีวิตของคนในอดีต บางครั้งเรามองประวัติศาสตร์ว่าเป็นสิ่งที่ยากต่อความเข้าใจ แต่สิ่งเหล่านี้เองคือรากฐานที่ทำให้เรามีปัจจุบัน

ทุกวันนี้อาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ยังคงทำหน้าที่ผู้จัดการหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อาจกล่าวได้ว่าเขาคือหนึ่งในผู้ที่ทำให้ประวัติศาสตร์กลับมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และจากสายตาของผู้คนในปัจจุบันซึ่งกำลังโหยหาห้วงประวัติศาสตร์ที่สูญหาย

เรื่องราวของโบสถ์กาลหว่าร์ที่ค้นพบจากเอกสารภายในหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพเป็นเพียงเรื่องราวเดียวเท่านั้น หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพทำหน้าที่เก็บรักษาเอกสารอันมีค่า และรอเวลาเพื่อให้ผู้คนมาค้นคว้าและปลุกเรื่องราวอื่นๆ ให้กลับมามีชีวิต เพื่อสื่อความหมายแก่โลกแห่งอนาคตต่อไป

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ

รูปถ่ายกลุ่มคริสตังของโบสถ์กาลหว่าร์ในอดีต
(เอกสารจากหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ)

บุคคลทั่วไปที่ต้องการติดต่อค้นคว้าเอกสาร โปรดติดต่อเพื่อนัดหมายวันเวลาล่วงหน้ากับทางหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ตามช่องทางที่ได้ระบุไว้ด้านล่าง การให้บริการของหอจดหมายเหตุฯ เป็นไปตามระเบียบการใช้บริการหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของเอกสารจากเว็บไซต์ด้านล่างนี้

ข้อมูลติดต่อ

หอจดหมายเหตุฯ ตั้งอยู่ที่ชั้นสองของโรงพิมพ์อัสสัมชัญ กรุงเทพฯ

เลขที่ 51 ซอยโอเรียนเต็ล ถนนเจริญกรุง 40 เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500  

โทร.02-630-6991

http://www.catholichaab.com/main/

E-mail : [email protected]

ระยะเวลาการเปิดใช้หอจดหมายเหตุฯ

 เช้า   8.30 น. – 12.00 น. บ่าย  13.00 น. – 15.30 น.

 ตั้งแต่วันจันทร์ – วันศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการ และวันหยุดทางศาสนา

Writer & Photographer

Avatar

อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์

โตมากับวัดกาลหว่าร์ หลงใหลในประวัติศาสตร์ คริสตศาสนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม