พื้นที่ขนาดใหญ่ด้านหน้าคือทุ่งหญ้าเขียวขจีที่ทางซ้ายเป็นโรงเลี้ยงม้าสำหรับม้าขนาดใหญ่ 3 ตัว และขนาดเล็กอีก 2 ตัว เมื่อมองไปสุดลูกหูลูกตาจะมีสนามทรายใต้หลังคาตั้งอยู่ 

ที่นี่คือคลินิกม้าของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นอกจากมีไว้เพื่อให้นักศึกษาได้เล่าเรียนยังมีเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กๆ มาเข้าคอร์ส ‘อาชาบำบัด’ สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางกายและทางใจ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ขาดความมั่นใจ เด็กออทิสติก เด็กที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม จนไปถึงเด็กที่ประสบปัญหาสมองพิการซึ่งมีผลต่อกล้ามเนื้อร่างกาย

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

“อาชาบำบัดคือแขนงบำบัดทางเลือกที่เป็นส่วนเสริมจากขั้นตอนการรักษาหลัก ความพิเศษของอาชาบำบัดคือการบำบัดที่มีม้าเป็นส่วนร่วม ไม่ว่าจะอาบน้ำ แปรงขนให้ม้า ทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับม้า และขี่ม้า ซึ่งการขี่ม้าของเราไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อปั้นให้เด็กเป็นนักกีฬาหรือขี่ม้าเก่ง แต่เป็นการพยายามพัฒนาในสิ่งที่เขาขาดไป” น.สพ.ณัฐวุฒิ นุช​ประยูร​ ผู้ดูแลโครงการอาชาบำบัดของมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวทักทายและอธิบายนิยามอาชาบำบัดให้เราฟัง

แต่ก่อนตามคุณหมอเข้าไปหาบราวนี่และบริทนีย์ สองม้าแม่ลูกที่เป็นนักบำบัดประจำศูนย์ และเข้าใจอาชาบำบัดอย่างลึกซึ้งว่าอาชาบำบัดนั้นคืออะไร บำบัดยังไง และใครบ้างที่เหมาะแก่การบำบัดด้วยเหล่าอาชา ขอชวนทุกคนเตรียมตัวให้พร้อม ใครมีลูกหลานก็พาเข้ามารับชมกันได้

ศาสตร์ตกทอดจากชาวกรีก

ถ้าพูดถึงต้นตอของอาชาบำบัด คุณหมอต้องขอพาย้อนกลับไปถึงสมัยกรีก เริ่มจากชาวกรีกพาทหารผ่านศึกที่ได้รับผลกระทบทางกายและใจขึ้นบนหลังม้าจนเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ศาสตร์ที่ไม่คิดว่าน่าจะบำบัดคน โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาทางกายจึงได้รับการถ่ายทอดเรื่อยมาและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เมื่อนักกีฬาพาราลิมปิกผู้มีปัญหาสมองพิการซึ่งส่งผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันเมื่อหลายสิบปีก่อน

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

ที่ว่าได้รับความสนใจนั้นก็ถึงขนาดมีการจัดประชุมวิชาการทุก 2 – 3 ปี เพื่ออัปเดตและแชร์ข้อมูลการบำบัดด้วยเทคนิคใหม่ๆ มีหลักสูตรเทรนด์คนเพื่อทำงานด้านอาชาบำบัด และมีเทคนิคที่แตกต่างไปตามแต่ละศูนย์ของประเทศนั้นๆ แถมหลายประเทศยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง

“อาชาบำบัดเป็นทางเลือกก็จริง แต่เมื่อเด็กบำบัดแล้ว เขาได้รับการพัฒนาในหลายด้านทั้งร่างกายและจิตใจ เขามีความสุขขึ้น มีทักษะการเข้าสังคมมากขึ้น ต่างประเทศจึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาให้ไปต่อ” หมอหนุ่มเอ่ยถึงความสำคัญของศาสตร์แห่งอาชาในต่างประเทศ

กลับมาที่อาชาบำบัดในไทยกันบ้าง ประเทศไทยเริ่มรู้จักอาชาบำบัดเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว จากเหล่าทหารที่ต้องการทำประโยชน์เพื่อสังคม แล้วจึงกระจายต่อทั่วประเทศและบูมสุดๆ เมื่อ 3 – 4 ปีที่แล้ว จนเรียกได้ว่าใครมีคอกม้าจะต้องอยากเปิดอาชาบำบัด แต่จากความรู้และประสบการณ์ของคุณหมอ ไม่ใช่ว่าใครนึกจะเปิดก็เปิดได้ เพราะอาชาบำบัดถือกำเนิดขึ้นเพื่อผู้ที่มีปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจเป็นหลัก และส่วนใหญ่มักบำบัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ หากได้รับการบำบัดที่ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายทั้งต่อเด็กและม้าได้

“ถ้าบำบัดกับที่ที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้โดยตรง เขาอาจทำสิ่งที่เกินความสามารถเด็ก เช่น ให้เด็กตัวเล็กๆ มาขี่ม้าเร็วๆ โดยไม่มีคนคอยประคองทั้งสองข้างไว้ เสี่ยงที่เด็กจะตก และยิ่งเป็นเด็กอายุสามสี่ขวบที่กระดูกสมองยังไม่ปิดก็ยิ่งกระทบกับร่างกาย รวมถึงกรณีถ้าเลือกม้าไม่เหมาะสมกับช่วงขาเด็กอาจทำให้กระดูกช่วงล่างของเด็กผิดรูปได้” หมอผู้ดูแลโครงการเล่า แล้วแนะนำบราวนี่ ม้าไทยตัวแม่ที่แสนใจเย็นเหมาะแก่การพาเด็กๆ ทำกิจกรรมตามฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทักทายบริทนีย์ ม้าตัวลูกที่ใจร้อนอย่างไฟ อย่าให้นำเล่นเกมทีเดียว ต้องพาวิ่งเท่านั้น

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

แนะนำม้านักบำบัดทั้งสองตัวพอเป็นพิธี คุณหมอบอกกับเราว่า ด้วยค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงม้านั้นสูงมาก ม้าที่บำบัดได้จึงมีไม่มาก รวมถึงบุคลากรที่เชี่ยวชาญยังไม่เพียงพอสำหรับการบำบัด จึงทำให้อาชาบำบัดของที่นี่รับเด็กได้ไม่มากนัก แถมยังรับเฉพาะเด็กที่มีใบรับรองแพทย์ว่ามีปัญหาจริงๆ เพราะบางครั้งพ่อแม่คิดว่าลูกๆ ซนเกินเหตุ แต่แท้จริงอาจเป็นเพียงวัยของเด็กเท่านั้น ดังนั้น หากพ่อแม่ที่พาเด็กๆ เข้ารับการบำบัดที่อื่น หรือแหล่งอาชาบำบัดที่อื่นต้องการคำปรึกษาและจัดอบรมความรู้พื้นฐาน คุณหมอไฟแรงก็ยินดีให้ความรู้อย่างเต็มที่ เพราะอยากให้ความรู้อาชาบำบัดในไทยมีมากขึ้นและถูกต้องขึ้น

เรียกได้ว่า หากเด็กๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาและบุคคลทั่วไปอยากผ่อนคลายกับม้าด้วยวิธีต่างๆ นั่นถือเป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่จะไปทำที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นอาชาบำบัด

ศาสตร์อาชาเพื่อเด็กและครอบครัว

หลังพูดคุยกันสักพัก คุณหมอพาเรามานั่งบริเวณสนามทรายสำหรับการขี่ม้าแล้วเล่าว่า ความเหมือนของทุกการบำบัดคือ ใน 1 คอร์สจะมีทั้งหมด 12 ครั้ง ครั้งละ 30 – 45 นาที ด้วยเป็นระยะเวลาที่เด็กๆ จะโฟกัสกับกิจกรรมได้มากที่สุด หรือบางครั้งอาจสั้นกว่านั้น เพราะเลือกตัดจบที่จุดพีกของกิจกรรม ดึงดูดให้เด็กๆ อยากมาบำบัดอีกในครั้งหน้า แล้วจึงพาไปทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ หรือทบเวลาไป รวมถึงเด็กทุกคนจะได้ไปประเมินทักษะทางกายและใจกับอาจารย์ที่สถาบันที่ร่วมปรึกษาในครั้งแรกที่เริ่มกิจกรรมและครั้งสุดท้ายเพื่อดูพัฒนาการ 

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

แต่เพราะเด็กที่เข้ารับการบำบัดนั้นมีหลากหลาย เมื่อได้รับใบรับรองแพทย์จากแพทย์เฉพาะทางเรียบร้อยแล้ว คุณหมอจะต้องตั้งเป้าว่าเด็กขาดหรือต้องได้รับการพัฒนาด้านไหนโดยเฉพาะ แล้วจึงปรึกษาร่วมกับทีมกายภาพบำบัดและสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำร่วมกันเพื่อออกแบบคอร์เฉพาะสำหรับเด็กแต่ละคน 

“ถ้าเด็กมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น เราจะให้เขานั่งบนหลังม้าแล้วมีเกมเป็นฐานให้เล่น อาจเป็นการวาดรูปบนหลังม้า หย่อนจิ๊กซอว์หรือของที่เขาชอบมากๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้สนใจมากขึ้น เหมือนเปลี่ยนบรรยากาศแทนที่จะเล่นบนพื้นปกติ” คุณหมอเล่าพร้อมพาเด็กน้อยบนหลังม้าเคลื่อนเป็นจังหวะ นับ 1 2 3 แล้วหยุดที่กรวย เพื่อหยิบของเล่นในถังขึ้นมาแล้วจับวาง ไม่นาน คุณหมอก็พาเจ้าม้านักบำบัดและเด็กน้อยวิ่งต่อแล้วหยุดที่อีกฐาน พร้อมตั้งคำถามให้เด็กๆ ได้คิดว่าสิ่งที่หยิบไปควรวางไว้ที่ไหน

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ
อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

“ถ้าเด็กที่มีปัญหาด้านสมองพิการ กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่ค่อยได้ ทั้งแบบที่เดินได้แต่ไม่คล่อง หยิบจับของได้บ้าง หรือกระทั่งขยับตัวไม่ได้เลย เราต้องปรึกษากับทีมกายภาพบำบัดว่าต้องทำยังไงบ้าง 

“ถ้าเป็นเด็กที่พอขี่ม้าได้ เราจะให้นั่งบนหลังม้าด้วยอานม้าแบบพิเศษที่ทำให้ช่วงขาแนบไปกับตัวม้า และมีนักกายภาพคอยจัดท่าให้ตลอด ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางกาย ทำให้เด็กที่ปกติอาจเดินไม่ได้รู้สึกเหมือนได้เดินด้วยสองขาของเขาเอง นี่คือความพิเศษของอาชาบำบัดที่สปีชีส์อื่นทำไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องคลายเครียด จะเล่นกับหมา แมว หรือสัตว์ชนิดไหนก็ช่วยได้อยู่แล้ว” 

คุณหมอเล่าถึงเคสที่เคยดูแลให้ฟังแล้วชี้ให้ดูสายบังเหียนหลอกๆ ที่ทำขึ้นให้เด็กจับ เพื่อป้องกันการดึงสายแรงเกินจนทำให้ม้าเจ็บ ด้วยเพราะยังใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ถนัดจึงใช้กล้ามเนื้อแขนทั้งหมดดึง แถมเสริมว่าเหตุผลที่สีของสายทั้งสองข้างต่างกัน เพราะเด็กๆ มักไม่เข้าใจว่าด้านนั้นทางขวา ด้านนี้ทางซ้าย การมีสีระบุไว้จะช่วยให้เด็กๆ ตอบสนองกิจกรรมได้ง่าย

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

ส่วนกรณีเด็กที่ขยับร่างกายไม่ได้เลย อาจให้อยู่กับม้าหรือหัดสัมผัสจนเมื่อเด็กๆ มาในครั้งถัดๆ ไปก็เริ่มขยับแขนและขาได้บ้าง 

นอกจากพัฒนาทางกายอื่นๆ อาชาบำบัดยังเสริมสร้างความรู้สึกและความมั่นคงในจิตใจ ทั้งเรื่องความมั่นใจและความภูมิใจที่ได้จากการที่เด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งรวบรวมความกล้าขึ้นขี่บนม้าตัวใหญ่ๆ ได้

“ในเชิงจิตใจ ยอมรับว่าเราอาจประเมินได้ยาก แต่เราก็ดูได้จากความเต็มใจที่จะมาบำบัดในครั้งหน้าๆ ของเขา ครั้งนี้อาจร้องไห้ แต่ครั้งถัดไปเขาอยากมา อยากขี่ม้า หรือทำกิจกรรมหรือเปล่า เราจะเห็นชัดเลยว่าเขาแฮปปี้ไหม ซึ่งความแฮปปี้นี้ไม่ได้มีผลต่อเด็กเท่านั้น แต่มีผลต่อพ่อแม่เด็กด้วย บางครั้งพ่อแม่อาจเห็นว่าการที่ลูกมีปัญหาตรงนี้แล้วทุกอย่างเลวร้ายไปหมด ในวันที่เด็กพัฒนาขึ้น พ่อแม่ก็มีกำลังใจทำสิ่งต่างๆ ต่อไป หรือปรับมุมมองของเขาต่อลูกด้วย

อาชาบำบัด ศาสตร์การบำบัดสมัยกรีกเพื่อกู้พัฒนาการทางกายและความมั่นคงทางใจของเด็กๆ

“เราเคยฟังเด็กคนหนึ่งที่มีปัญหาสมองพิการตั้งแต่เด็กจนเดินไม่ค่อยได้ขึ้นพูดบนเวทีที่ประเทศไอร์แลนด์ เขาพูดอย่างภูมิใจว่า การที่เขามีปัญหาก็ไม่ได้เป็นเรื่องแย่เสียทีเดียวนะ เพราะเขาภูมิใจในตัวเองเวลาได้เดินไปรดน้ำต้นไม้หรือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง หรือบางทีได้จอดรถในที่จอดรถสำหรับคนพิการแล้ว การเดินเข้าห้างฯ ได้เลยก็เป็นเรื่องดี เราเลยรู้สึกว่ามันช่วยปรับมุมมองของเขาได้” คุณหมอทิ้งท้าย ก่อนพาเด็กน้อยลงจากหลังเจ้าม้าแล้วบอกลาเพื่อพบกันในการบำบัดครั้งถัดไป

ช่วงนี้ทางคลินิกงดการบำบัดไป แต่ยังสามารถติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาและติดตามกิจกรรมบำบัดได้ที่ Facebook : Equine Assisted Therapy Mahidol Education หรือ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล Faculty of Veterinary Science, Mahidol University 

โทรศัพท์ : 0 2441 5246, 0 2441 5242

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)