6 พฤศจิกายน 2020
4 K

The Cloud X ไทยประกันชีวิต

Taboo หรือเรื่องต้องห้าม อาจรวมไปถึงการห้ามถาม ห้ามอยากรู้ ห้ามสงสัย แต่หารู้ไม่ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมการตั้งคำถามตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก และเพื่อชวนกันมาตั้งคำถามในสิ่งที่เด็กๆ นึกสงสัยให้มีคำตอบ รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ จึงจัดตั้งเว็บไซต์ในชื่อ ‘หิ่งห้อยน้อย’ ขึ้น เสมือนเป็นกลุ่มลับสำหรับเด็กๆ ขี้สงสัยโดยเฉพาะ

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com

ตอนยังเป็นเด็ก รวงทัพพ์บอกว่าเธอสงสัยต่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่อาจหาคำตอบให้กับเธอได้ และนั่นกลับกลายเป็นความกลัวในวัยเด็กที่เธอต้องเผชิญ จากคำถามที่ไม่เคยได้รับคำตอบ อย่างเช่นเรื่องของความตาย 

“เราเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเด็กที่เสียแม่ไป เราไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กคนนั้นถึงอยากนอนมากกว่าตื่น เพราะว่าเขาอยากหนีความจริงไงคะ ความจริงบางอย่างถ้ามันไม่ได้ถูกอธิบายเหตุผล มันก็จะยาก แล้วจะกลายเป็นปมที่ใหญ่ขึ้น เราก็เลยเพิ่งมาเข้าใจว่าทำไมเราถึงกลัวมากในวันที่เสียพ่อไป เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

“คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเด็กไม่สามารถจะรับรู้อะไร ไม่เชื่อว่าเด็กคือคนที่รับรู้ หรือทำความเข้าใจกับอะไรได้ ทั้งกับเรื่องความสูญเสียหรือว่าเรื่องที่ซับซ้อน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย”

ในวันที่เทคโลยีไม่ใช่กำแพงข้อจำกัดด้านเพศและวัย แต่กลายเป็นสะพานเพื่อสร้างการเรียนรู้ให้มนุษยชาติ การค้นหาคำตอบให้คำถามของเด็กเยาวชน อาจไม่ได้ตั้งต้นจากแหล่งๆ เดิมอีกต่อไป แต่มีประตูสู่โลกกว้างมากมายเปิดกว้างรออยู่ 

ดังนั้นหิ่งห้อยน้อย จึงเป็นพื้นที่แห่งการตั้งคำถามและหาคำตอบ ไปจนถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงแสดงออกทางความคิดเห็นต่อเรื่องอ่อนไหวในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศศึกษา การคุกคามทางเพศ ท้องไม่พร้อม อนามัยเจริญพันธุ์ การหย่าร้าง การกลั่นแกล้งรังแก ความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงความตาย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และการสร้างความคิดแบบ Critical Thinking ให้เยาวชน

“ทำไมมันถึงจะพูดไม่ได้ล่ะ ทำไมเราถึงหาคำตอบไม่ได้ เราก็เลยต้องทำสื่อแล้วกันที่จะช่วยให้เขา เอ๊ะ อ๋อ ให้สิ่งที่เขาตั้งคำถามกับมัน”

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com

01

หิ่งห้อยถือกำเนิด

“รวงเป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ เป็นเด็กจังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อกับแม่เป็นครู แล้วเขาก็คงจะเห็นระบบการศึกษาว่าการศึกษามันมีหลากหลายมาก เขาอ่านหนังสือการเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยนู้นแล้ว เราก็เลยเป็นเด็กที่ทำทุกอย่างได้แล้วไปโรงเรียน” เธอเริ่มต้นเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอตั้งแต่ต้น 

“เราชอบอ่านหนังสือ และที่บ้านจะพาไปร้านหนังสือทุกๆ เดือน เราเองก็ชอบอยู่ในห้องสมุด เป็นหนอนหนังสือเลย ได้อ่านหนังสือพวก หลายชีวิต ของคึกฤทธิ์ ปราโมช หรืออะไรแปลกๆ ตั้งแต่ประถม พอมัธยมก็อ่านงานของ อัลแบร์ กามูว์ แบบหนักๆ แล้ว เราก็เลยไม่ค่อยอินกับระบบโรงเรียนมาก เป็นเด็กที่ค่อนข้างประหลาดเหมือนกัน”

เธอบอกกับเราว่า เธอเป็นเด็กที่ครูมักจะมองว่าเป็นเด็กดื้อ

“ครูเขาพูดกับเราไม่ดีและคุกคามเราด้วย ทุกครั้งที่เราเข้าห้องเรียน เราจะถูกด่า เขาเคยพูดกับเราว่า พฤติกรรมแบบนี้คือพ่อแม่ไม่สั่งสอน เราก็จะยิ่งเจ็บ แต่สำหรับมุมเรา พ่อแม่เราเขาสอนดี แต่ที่เราเป็นแบบนี้เพราะเราเป็นเอง จากนั้นเราก็เลยไม่ไปโรงเรียนเลยสามเดือน แม่ก็คงเห็นแหละว่าเราไม่ค่อยโอเค ระหว่างสามเดือนนั้นเราก็ไปห้องสมุด ไปพิพิธภัณฑ์ ไปวัด ไปดูต้นไม้ แล้วมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเชื่อมั่นในตัวของเรา ว่าเราไม่ได้เกเร จนพี่ชายเข้าไปที่โรงเรียนแล้วก็ดูว่ามันเกิดอะไรกับน้อง พอพี่เขาเห็นความรุนแรงแบบนั้นจริง เขาก็เลยให้เราย้ายโรงเรียน ซึ่งตามหลักอำนาจนิยม เราจะเห็นว่าครูหรือผู้ใหญ่กดขี่เรามากแค่ไหน” หลังจากนั้นเธอจึงไม่เชื่อมั่นในการเรียนในโรงเรียนอีก

จากนั้นเธอก็เริ่มมีคำถามกับตัวเอง 

“แล้วเราเป็นคนที่แอบชอบผู้หญิงด้วย แล้วก็แอบชอบผู้ชายด้วย มันก็เกิดคำถามว่า ‘แล้วเราเป็นอะไรวะ’ แล้วยุคนั้นมันไม่ได้มีอะไรที่จะบอกเราได้เลย ในสังคมจะบอกว่ามีแค่กะเทย มีทอม ก็มีแค่นั้นอะ แล้วเราเป็นอะไรล่ะ เราไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น เราก็เลยเข้าไปในหาข้อมูลเองตามเว็บไซต์ต่างๆ สมัยนั้น”

และเป็นอีกครั้งที่เธอพบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เธอตั้งคำถามสำคัญกับตัวเอง แต่เช่นเคยที่คำถามไม่เคยได้รับคำตอบสร้างปมความเจ็บปวดทางจิตใจกับเธอมาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนเราอายุสิบสอง พ่อเราเสีย คืนนั้นทุกคนไปโรงพยาบาลกันหมด ส่วนเราไปในเช้าวันที่พ่อกำลังจะเสียแล้ว ผู้ใหญ่คนอื่นไม่ให้เราออกไปข้างนอก แล้วจะให้เราทำยังไงล่ะ ในเมื่อพ่อเราตาย แล้วเราก็เห็นว่าเราต้องย้ายบ้านนะ แล้วก็เห็นคนมาจีบแม่เรา เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ซึ่งผู้ใหญ่ไม่กล้าพูดเลยว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเราต้องใส่ชุดดำร้อยวัน เหมือนต้องอยู่กับความทุกข์หรือสีดำในแบบที่เขาบอก เราก็สงสัยว่ามันจะเปลี่ยนไปในด้านไหน เด็กอายุสิบสองมันไม่เหมือนเด็กอายุห้าขวบ ในเรื่องของการรับรู้ทางความตาย แต่ผู้ใหญ่คนไทยก็ชอบบอกว่า เขาขึ้นสวรรค์ หรือว่า เดี๋ยวเขาก็กลับมา ซึ่งมันเจ็บปวดมาก เราก็รู้แล้วแหละว่าพ่อตาย แต่ว่าเราจะทำความเข้าใจยังไงว่ามันจะต้องก้าวต่อไปนะ” 

และเพราะการที่เธอชอบอ่านหนังสือยากๆ ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ทำให้เธอเริ่มเข้าใจว่าเธอเองก็ทำหนังสือได้ เพื่อที่จะสื่อสารเรื่องราวที่ผู้ใหญ่มักไม่พูดกันโดยตรง อย่างเรื่องของความตายหรือความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ

“เพราะบางครั้งคำพูดของผู้ใหญ่ เขาก็มีเรื่องที่ไม่พูดตรงไปตรงมา มันไม่ชัด ทำให้เราสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ เราก็เลยอยากเป็นนักเขียนหนังสือเด็กตั้งแต่ตอนนั้น” 

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com

02

หิ่งห้อยสร้างสรรค์

เมื่อรวงทัพพ์เรียนจบจากสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เธอได้มีโอกาสไปทำงานตามสำนักพิมพ์ มูลนิธิต่างๆ และเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ไม่เคยได้รับการพูดถึง

 “พอเวลาเราเจอเด็กในพื้นที่จริง แล้วเด็กบอกว่าเด็กถูกล่วงละเมิด ความรู้หรือข้อมูลที่มันปิด มันไม่พอที่จะช่วยเขาเลย ปกติสื่อจะเสนอแค่สิ่งที่เขาอยากให้เห็น แต่ว่ามันมีอะไรอีกมากที่ไม่ได้พูดออกไป อย่างตอนนี้มีสื่อทางเลือกเยอะมาก ที่ทำให้คนตั้งคำถามว่าชีวิตเราเป็นแบบนี้จริงไหม แต่เราเห็นว่ามันไม่มีพื้นที่ให้เด็กได้รู้ข้อมูลพวกนี้เลย

“อีกอย่างคือที่ไทยไม่มีหนังสือที่พูดถึงความตายมากกับเด็กๆ ทั้งที่ในต่างประเทศ เราเห็นว่าเขามีสื่อในรูปแบบของนิทานเด็กที่อธิบายเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง นี่เกี่ยวข้องกับประจำเดือนนะ หรือถ้าที่อินเดียจะมี Do and Don’t ด้วยซ้ำ แต่ที่ไทยเหมือนเราทำให้เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนห้ามพูด แล้วไปหาความรู้เอาเอง ซึ่งมันผิดมาก 

 “ตอนเราทำงานมูลนิธิในส่วนของการพัฒนาหนังสือเด็ก เวลาเราลงพื้นที่ เราก็จะเห็นเด็กที่ครอบครัวแตกแยก แล้วไม่มีใครลงไปคุยกับเขาเลย เรื่องเพศ เรื่องทำแท้งปลอดภัย เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของเขาโดยตรง เราเลยรู้สึกว่า เราจะทำงานแบบนี้ ในระบบที่มันไม่มีสื่อแบบนี้ได้หรอ ก็เลยสอบชิงทุนไปเรียนที่อินเดีย ซึ่งเป็นการเรียนหนึ่งปีที่ไม่มีวุฒินะ เป็นการเรียนเพื่อเรียนอย่างเดียว

“คนก่อตั้งคือ ซาเบรีย เทนเบอร์เกน ผู้หญิงตาบอดผู้ก่อตั้งโรงเรียนให้เด็กตาบอดที่ธิเบต เป็นหนึ่งในผู้เข้าชิงรางวัลโนเบล ผู้หญิงคนนี้เป็นเมนเทอร์ของเรา แล้วเขาก็เข้าใจความซับซ้อนของเราด้วย เพราะเขาเป็น Queer เราเพิ่งไปเข้าใจตอนนั้นเองว่าเราเป็น Queer ตอนที่เราต้องติ๊กว่าเราเป็นเพศอะไร มันก็จะมีหญิง ชาย แล้วก็อื่นๆ ใช่ไหมคะ โรงเรียนก็จะมีแพลตฟอร์มให้เราเลือก เห้ย เราเป็นอื่นๆ ได้ด้วย”

เธอเล่าถึงตอนที่เธอสัมผัสถึงปัญหาผ่านสังคมต่างประเทศในอีกมุมที่น่าสนใจ 

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com

“ก่อนหน้าที่เราจะไปอินเดีย เราได้ไปยูกันดา โปแลนด์ เยอรมนี เพราะว่าเราเจอเพื่อนบางคนที่เขาพาเราไปทางนั้น เราก็เลยได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น อย่างตอนที่เราไปเยอรมนีช่วงที่มีผู้ลี้ภัยหนีสงครามมา ช่วงนั้นเราเห็นว่าเขามีนิทรรศการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในห้องสมุดเด็ก ซึ่งมันเป็นประเด็นที่เราไม่พูด เช่นเรื่องชาวโรฮีนจา เราจะไม่พูด เราจะไม่สนใจ แต่ที่นั่นเขาพูด

“หรืออย่างโปแลนด์ ที่เราเห็นคือเขาค่อนข้าง Conservative มาก แต่ว่าคนออกมาพูดเรื่องการทำแท้งปลอดภัยกันทั้งเมือง ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ พูดกันทั้งเมือง เห้ย มันก็พูดได้นี่หว่า หรือที่ยูกันดา เขามีโรงเรียนทางเลือกให้คนที่ไม่ได้มีเงินแต่ว่ามีความตั้งใจมาเรียน ก็คล้ายๆ กับที่เราไปเรียนที่อินเดีย คนมีลูกเขาก็นั่งอุ้มลูกไปด้วย นั่งเรียนคอมพิวเตอร์ไปด้วย แล้วมีโปรเจกต์ ทำยังไงให้มีน้ำหรือให้มีพื้นที่ที่ซ่อมรถได้ยี่สิบสี่ชั่วโมง เพราะมันไม่มีน้ำหรือที่ซ่อมรถได้ในที่ทุรกันดาร ซึ่งมันน่าสนใจมาก 

“แล้วพอเราได้ไปเรียน เราก็เห็นปัญหาที่อินเดียเยอะมาก ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิ เกี่ยวกับเพศ มันก็เลยเป็นการเขย่าเราอีกรอบ 

 “เราไม่ต้องอยู่ในระบบการเรียนแบบเดิมอีกแล้วพอเราไปเรียนที่อินเดีย ตอนนั้นเราเลือกเรียนทางด้านศิลปะ เพราะว่าเรามาจากการเขียนและการทำหนังสือเด็ก มันก็พัฒนาเราไป จากตอนแรกที่เราคิดว่าจะทำหนังสือเด็กตอนเรียนจบแต่เราก็เปลี่ยนใจ เพราะว่าลักษณะการเสพสื่อของเด็กเปลี่ยนไป การเข้าถึงที่เป็นอิสระและเป็นออนไลน์มากขึ้น เราเลยคิดกลับมาสร้างสื่อเพื่อเด็กในรูปแบบออนไลน์ดีกว่า”

03

หิ่งห้อยน้อยคลับ

หิ่งห้อยน้อยจึงปรากฏตัวขึ้น ในฐานะของเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กที่เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มาพูดคุยกัน และเมื่อเราถามถึงเหตุผลว่าทำไมจะต้องเป็นหิ่งห้อย รวงทัพพ์ก็บอกกับเราว่า

“จริงๆ หิ่งห้อยเป็นเหมือนความลับบางอย่างที่เด็กสงสัย เราคิดว่าหลายคนก็อาจจะชอบมัน แล้วมันก็เป็นเพื่อนของเราได้ในเวลาที่มืดมาก หิ่งห้อยเชื่อมโยงกับเด็กมาก เพราะในความเชื่อของเรา เราคิดว่าเด็กจะเติบโตได้ในสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่านั้น หิ่งห้อยก็เหมือนกัน จะเติบโตได้ในดินดี น้ำดี อากาศดี อีกอย่างมันไม่ได้สว่างตลอด มีตอนที่มันมืดด้วย ก็เลยเลือกใช้หิ่งห้อยแทนความสงสัยของเด็กๆ ด้วย

“ที่ไทยไม่มีเว็บไซต์ให้เด็กนะ แล้วเราก็รู้แหละว่าเว็บไซต์จะไม่ได้ฮิตมาก แต่ว่าเว็บไซต์ของเราพิเศษตรงที่เด็กเข้ามาแล้วสามารถไปตั้งแอคเคาต์นิรนาม เพื่อถามเรื่องที่เขาสนใจได้

“การออกแบบก็คือชื่อว่าหิ่งห้อยน้อยคลับ เป็นภาพต้นไม้ที่เกาะกลางน้ำ ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าจะไม่มีใครตามเขาเข้าไปได้ เราจะพูดอะไรก็ได้ แล้วพวกเขาก็อยู่ด้วยกันในนั้นได้ ต่อมาก็จะมีหอประกายข่าว เป็นพื้นที่บอกข่าวว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในเชิงเรื่องต้องห้ามต่างๆ อย่างเรื่องเพศหรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็จะมีพื้นที่บอร์ดรวมให้เขามาคุยกัน ส่วนที่อธิบายเกี่ยวกับเราว่าเราทำงานอะไร แล้วก็ในส่วนของมีนโยบายด้วย”

หากถามว่าแล้วในประเด็นต้องห้ามทั้งหลาย มีเรื่องอะไรบ้างที่เด็กๆ สนใจ เราก็พบคำตอบ 

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com
กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com

“เรื่องที่เด็กเขาสนใจเยอะที่สุดคือเรื่องการบูลลี่ นอกจากนี้ก็มีเรื่องเพศ เรื่องประจำเดือนด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันไม่ใช่การส่งเสริมเรื่องจริยธรรมอะไร เพียงแต่เรามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติมากที่ควรพูดถึงได้

“เราเลยพยายามจะสร้างให้สื่อของเรา เพื่อใช้อธิบายแทนคำพูดที่เราจะพูดไปตรงๆ อย่างเช่นเราทำเพลงที่พูดถึงคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องรับมือกับลูกที่เมนส์มาครั้งแรก คือเราก็จะเข้าไปแทนใจของผู้ปกครองด้วย แล้วก็แทนใจของเด็กด้วย หลายคนก็บอกว่าดูแล้วร้องไห้นะ เพราะว่าตอนเด็กๆ เขาอยู่กับพ่อที่เลิกกับแม่ แล้วตอนที่เขาเมนส์มา เขาก็ไม่กล้าบอกพ่อ มันก็เหมือนไปโดนใจคนบางกลุ่ม”

“บางคนเป็นซึมเศร้าที่กำลังรักษาอยู่แต่ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร เขาก็มาคุยกับเรา บางทีก็ตลกมาก ทำการบ้านเลขไม่ถูกเขาก็มาให้เราช่วย หรือว่ามีปัญหาเรื่องเพื่อน เรื่องท้องไม่พร้อม ถ้าเรามีแพลตฟอร์มอื่นที่เราส่งต่อ เราก็จะส่งต่อไปให้เขาดูแลต่อ” 

ด้วยการพัฒนาสื่อจากหนังสือเล่มสู่แอนิเมชันและเพลงเกี่ยวกับประเด็นที่เด็กๆ สงสัย ก็จำเป็นต้องทุ่มทั้งเวลาและกำลัง

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์, www.hinghoynoy.com
กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

“เราเพิ่งทำงานได้ปีกว่าๆ เอง แล้วเราทำงานคนเดียวค่ะ เปิดเว็บไซต์ คิดรูปแบบ ทำเองหมด ถ้าเรามีแหล่งทุน หรือว่ามีบุคลากรที่เข้าใจในงานนี้ มันก็จะไปเร็วกว่านี้ แต่ว่าเนื่องจากเวลาด้วย แล้วก็ COVID-19 ด้วย ทำให้เรายังไม่ได้โปรโมต และยังไปคุยกับเด็กๆ ที่โรงเรียนไม่ได้ว่าเว็บไซต์เราใช้งานยังไง ตอนนี้ในเฟซบุ๊กเลยได้รับการตอบรับจากเด็กเป็นส่วนมาก ก็น่าสนใจที่เด็กเลือกจะมาคุยกับเราในข้อความจริงๆ ดังนั้นการทำงานที่เราทำอยู่จะไม่เหมือนงานเด็กนะ มันเป็นงานสิทธิและงานสื่อที่เอามารวมกันมากกว่า”

“เราเรียกตัวเองว่าเป็น Artivist นะ เราคือศิลปินที่ใช้ศิลปะมาเพื่อทำงานเชิง Action ที่จะช่วยเหลือเด็กๆ ในเรื่องสิทธิ มันอธิบายความเป็นเราได้ดีกว่าการบอกว่าเราเป็นนักกิจกรรม เพราะนักกิจกรรมอาจจะต้องพูดเร็วๆ 

ถ้าเทียบกับพริก 5 สี เธอบอกว่าหิ่งห้อยน้อยจะเป็นพริกสีม่วงที่ต่างจากพริกสีอื่นๆ

“Kanthari แปลว่าพริกขี้หนูที่มันเผ็ดร้อน มีห้าสี สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง แล้วก็สีม่วง เราเป็นสีม่วง เป็นคันธารีที่ทำงานศิลปะ เราจะเป็นสีประหลาดๆ ขึ้นมาให้มันต่างจากสีพริกทั่วไป งานที่เราทำก็เลยเป็นงานศิลปะ เป็นเพลง แอนิเมชัน ที่ใช้เวลาหน่อย ใช้ความร่วมมือของศิลปินมาทำ”

นอกจากการขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว เธอยังลงพื้นที่เพื่อไปช่วยเหลือเด็กๆ ในพื้นที่จริงอีกด้วย 

“ช่วง COVID-19 ที่เราก็ลงพื้นที่ เราพยายามขยายเรื่องผ้าอนามัย เพราะว่ามันจำเป็นจริงๆ ถ้าไม่ทำ คนที่ได้รับผลกระทบก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ อย่างเรื่องถุงยังชีพหลายใบก็ไม่ได้ใส่ผ้าอนามัยใช่ไหมคะ เราก็เลยลงพื้นที่ให้เห็นเลยว่า ถ้าเขาไม่มีผ้าอนามัย เขาไปเอาข้าวแจกไม่ได้นะ

“อย่างเราเจอเคสในคลองเตย ที่เขาออกไปเอาข้าวตามจุดแจกไม่ได้ เพราะว่าเขาเมนส์มาแล้วเขาไม่มีผ้าอนามัย ซึ่งถ้าเราถามหลายคนในช่วงนั้น เขาก็จะบอกว่าเขาใช้ทิชชู ใช้กระดาษแทนผ้าอนามัย คือเขาไม่มีจริงๆ เพราะช่วง COVID-19 เป็นช่วงที่ล็อกดาวน์ หลายคนไม่มีงานทำ เราก็เลยขอรับบริจาคผ้าอนามัย เพื่อเปลี่ยนความคิดเขาว่ามันจำเป็นนะ ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีคนส่งมาและเราก็ยังขอรับอยู่ พอเราได้รับมาเราก็จะส่งต่อ ให้กลุ่มผู้หญิงบริการ หรือว่ากลุ่มเด็กที่ต้องการต่อไป 

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

“แล้วก็มีเรื่องเพศในม็อบ เราร่วมกับผู้หญิงปลดแอกเพื่อขยายเรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่าที่เด็กออกมาเรียกร้อง คือเรื่องที่เด็กอยากจะพูด มีเด็กคนหนึ่งเขามาบอกว่าเขาเป็นเกย์ แล้วเขาโดนครูผู้ชายจับก้น แต่พอเขาไปบอก ผอ. เขาก็บอกว่าเขารู้แล้ว แต่ไม่ทำอะไร ไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น นั่นเลยเป็นสาเหตุที่เขาออกมาเคลื่อนไหว นี่คือความจริงของเด็กที่พูดไม่ได้

“เพราะว่าหลายคนอาจไม่เข้าใจว่า สิทธิเด็กคือสิทธิมนุษยชน แล้วไม่เข้าใจว่าเด็กที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องคือนักกิจกรรมเด็ก กฎหมายไทยไม่ได้ปกป้องหรือไม่ได้ทำงานลงมาถึงนักกิจกรรมเด็ก” 

“ในส่วนที่เราช่วยได้ คือเราช่วยทำเป็นงานศิลปะให้ได้ แต่ถ้าเราพูดแบบตรงๆ เลย เด็กจะมีความรู้สึกว่าถูกคุกคาม เราเลยทำยังไงให้สันติมากที่สุด ซึ่งงานนี้ก็ต้องคุยกับนักสันติวิธี ว่าจะทำยังไงให้ศิลปินผลิตผลงานที่ไม่ผลิตซ้ำความรุนแรง เพราะว่าภาพบางภาพที่อยู่ในช่วงนี้มันก็รุนแรงมาก แล้วมันก็จะสร้างความบอบช้ำทางจิตใจซ้ำกับเด็กอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งยากและท้าทายมาก” 

04

หิ่งห้อยกับเรื่องต้องห้าม

“เพราะว่าความจริงมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องเผชิญ หลายคนอาจบอกว่าเด็กเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ แต่พอเราโตมาแล้วเราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้บริสุทธิ์หรอก เราเรียนรู้เยอะมากด้วยศักยภาพของเราเอง แล้วอีกอย่างคือมนุษย์เกิดมาด้วยความสงสัยอยู่แล้ว ความจริงจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ที่เราจะต้องสงสัยได้ เราก็คิดว่าเราอยากทำให้เขาได้รู้ บางทีก็ความจริงนั้นอาจจะเจ็บบ้าง แต่มันก็คือความจริง” 

หลายครั้งเรื่องต้องห้ามพูดถึง ส่วนหนึ่งคือเรื่องที่เรากลัวเมื่อต้องพูด

“จริงๆ เด็กๆ ไม่ได้กลัวนะคะ แต่เขาถูกหล่อหลอมให้กลัวมากกว่า อย่างหลานสาวเนี่ยเขาฟันน้ำนมจะหลุด นี่คือความเจ็บปวดทางด้านร่างกายนะ แล้วบ้านเรามีแต่ให้โยนฟันขึ้นไปข้างบน แต่มันก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายได้เลย ซึ่งมันเป็นเรื่องธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็เลยเขียนนิทานกลอนอันหนึ่งให้เขาถอนฟันเองได้ บอกเขาว่ามันจะเจ็บแป๊บเดียว แล้วฟันมันก็จะงอกขึ้นมาใหม่นะ

“ทุกครั้งพอเขาถอนฟันเอง เขาก็จะเก็บใส่กล่อง แล้วเขาบอกว่าหนูอยากเป็นหมอฟัน เรารู้สึกดีที่มันเกิดขึ้น เพราะเราเห็นว่าเขาไม่กลัวกับความเจ็บปวดที่มันต้องเกิด” 

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

“เราควรคุยกันค่ะ เพราะว่าเรามาจากยุคที่ไม่เหมือนกัน มันมีหนังสือที่น่าสนใจเรื่อง Walden Pond ของเฮนรี เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) พูดประมาณว่า คุณเป็นผู้ใหญ่ คุณบอกไม่ได้หรอกว่าสิ่งนี้มันจะถูกและดีด้วยวิธีการนี้เสมอไป เพราะเรามาจากฐานยุคหรือฐานของประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันเลย เราสอนกันไม่ได้ สิ่งที่คุณทำได้คือการที่คุณคอยซัพพอร์ตเขา 

“เราเลยอยากเป็นคนซัพพอร์ตเด็ก แต่เราจะไม่บอกว่านี่คือถูก นี่คือผิด เราพูดไม่ได้ เพราะเขาเลือกเองได้ เขาคิดเองได้ คุณก็คิดเองได้ ทุกคนคิดเองได้ ของที่อยู่ในหัว ใครจะมาบงการไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ เหมือนคนเรากำลังเจาะดูในหัว ว่า เห้ย นี่ผิดนะ เอาความคิดมาตัดสินกัน”

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์
กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

05

หิ่งห้อยในอนาคต

เมื่อพูดถึงโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปของหิ่งห้อยน้อย

“เรากำลังมีโปรเจกต์หนึ่งที่น่าจะออกช่วงวันเด็กปีหน้าค่ะ เราอยากทำงานอาร์ตจากเรื่องราวของเด็กๆ ที่พูดถึงความทุกข์ของเด็กไทยประมาณสามสิบภาพ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เรามี แล้วก็จะจัดนิทรรศการจริงให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันได้ นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อไป”

การได้พบปะกับหิ่งห้อยน้อยตัวเป็นๆ ในปัจจุบัน เธอก็บอกว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ หลายคนที่กล้าออกมาตั้งคำถามกันมากขึ้น

“เราไม่ได้จะบอกว่าเด็กเดี๋ยวนี้เก่งขึ้นนะ เราคิดว่าเด็กจริงๆ เป็นแบบนี้ แต่เราต่างหากที่ไม่ถูกทำให้พัฒนาต่อยอดไป เหมือนถูกกดไว้ ไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม เราเห็นความแตกต่างเลยนะเวลาเข้าไปในโรงเรียนในเมือง เด็กจะไม่กล้าพูด ไม่มียกมือเลย ถ้าเราไปโรงเรียนการศึกษาทางเลือก เราจะพบว่าเขาแย่งกันพูดเลย ถามกันไม่หยุด”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่อยากให้เด็กๆ เริ่มต้นตั้งคำถาม

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย สถานที่คุยเรื่องลับฉบับเด็กๆ ในวันที่เทคโลยีคือสะพานสู่การเรียนรู้, รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

“อยากให้เขาเริ่มตั้งคำถามค่ะ อาจจะเริ่มกับชีวิตตัวเองก่อนก็ได้ ว่าอยากได้อะไร หรือถ้าไม่อยากได้อะไรก็ปฏิเสธได้ แล้วก็หาความสุขให้กับตัวเอง ข้างในเรามันถามอยู่ตลอดเวลา มันไม่กลัวที่จะถาม หาคำตอบให้ตัวเอง เรื่องที่พูดไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา”

“สังคมตอนนี้เราว่าก็เริ่มเห็นอะไรที่เป็นทิศทางของการตั้งคำถามมากขึ้น แล้วก็มีการเขย่ากันเยอะ ดังนั้นมันจะมีการสั่นมาก สังคมที่เราอยากเห็นคือสังคมที่มีพื้นที่ให้กับทุกคน ให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเองได้ ได้มีความภูมิใจ ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดและเชื่อจะมีพื้นที่ให้เขาแน่นอน ทั้งในการแสดงความคิดหรือการดำเนินชีวิต เราก็อยากเป็นสื่อทางเลือกหนึ่ง 

“ตอนนี้เราว่าถ้าผู้ใหญ่คิดว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน เราเชื่อว่าผู้ใหญ่ก็ได้พลังเยอะนะที่จะพัฒนาประเทศนี้ ทุกคนก็ทำงานกันอยู่ เด็กเองก็กำลังทำงานของเขาอยู่เหมือนกัน” เธอบอกเราทิ้งท้ายก่อนที่บทสนทนาจะจบลง

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า