หน้าหนาวเดินทางมาแตะแก้มจังๆ ให้หนาวจริงๆ

เสื้อกันหนาวตัวเดิมได้ทำหน้าที่ของมัน ขณะที่เสื้อกันหนาวตัวใหม่ก็ได้โอกาสเรียนรู้ที่จะมอบความอบอุ่นกายให้เจ้าของเป็นครั้งแรก

หมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวในกิ่วดอย เลื่องลือนามว่า ‘หินลาดใน’ มีภูเขาสูงล้อมรอบหมู่บ้าน ต้นยางนายืนเด่น อวดผิวขาวเมื่อต้องแสงตะวัน นกซอกอขานเรียกชื่อตัวเองใกล้ๆ ลำห้วยหินลาด เสียงลำธารไหลผ่านหมู่บ้านชวนให้รู้สึกสงบ ถ้าโชคดีเราจะได้ยินเสียงกระแอมของเก้งยามค่ำคืน การพบเจอรอยเท้าของเสือสร้างความยินดีมากกว่าอาการหวาดผวา เพราะนั่นคือรอยเท้าของเพื่อร่วมโลกที่เป็น ‘ขวัญ’ ของป่าและมนุษย์อย่างเรา

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

ขณะที่โลกกำลังตื่นเต้นกับปัญญาประดิษฐ์และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ที่ให้ความหวังกับผู้คนมากมายบนโลกของเรา แต่เด็กๆ มัธยมจากแคนาดากลุ่มหนึ่งจากโรงเรียนเอกชนในโตรอนโตโยนโทรศัพท์ทิ้งไว้ที่บ้าน สมัครใจเดินทางบนน่านฟ้ากว่า 24 ชั่วโมง หนีหายจากโลกอินเทอร์เน็ตกว่า 2 สัปดาห์ในเมืองไทย พวกเขายินดีเดินทางออกจากพื้นที่ปลอดภัย เพื่อท้าทายตัวเองและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากกว่าที่พวกเขาเคยรู้จักและคุ้นเคย

ในที่สุดพวกเขาก็พาตัวเองมาถึงหมู่บ้านมีแสงไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ แสงเดือน และแสงดาว ห้องเรียนขนาดใหญ่ เรียบง่าย ดีต่อจิตใจที่คนทั่วโลกต่างแวะเวียนกันมาเรียนรู้เรื่องราวของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไม่ขาดสาย ถ้าพร้อมแล้วตามน้องๆ ไปกันเลย

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

คนไม่ได้ตัวเล็กเกินไปที่จะปกป้องป่าใหญ่

เช้าตรู่ (มากถึงมากที่สุด) เสียงไก่ขันหล่อๆ ตั้งใจปลูกผู้มาเยือนแต่เช้า เด็กๆ น่าจะยังคงนอนหลบหนาวใต้ผ้าห่ม บางคนอาจจะยังกำลังฝันถึงเตียงนุ่มๆ กับเครื่องฮีตเตอร์คลายหนาวอยู่ก็เป็นไปได้ เสียงตำน้ำพริกของเจ้าของบ้านเป็นนาฬิกาปลุกชั้นดีเช่นเดียวกับเสียงไก่ขัน เชิญชวนให้เราตื่นมาผิงไฟจิบชาข้างเตา เสียงต้อนรับวันใหม่ค่อยๆ ดังกระเพื่อมไปทั่วทั้งหมู่บ้าน รวมถึงเสียงวิทยุของเพื่อนบ้านที่กำลังเล่นเพลงคลอ น้ำค้างบนหลังคาไหลหยดลงพื้นดังเปาะแปะ ควันจากห้องครัวลอยคลุ้งขึ้นไปบนหลังคา ก่อนจะหายไปในอากาศ กาน้ำถูกยกลงจากเตาสามเส้าก่อนที่กระทะจะถูกนำมาแทนที่เพื่อทำกับข้าวให้แขกได้ชมได้ชิม

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

ฟ้าสว่างแล้ว เริ่มมีเสียงจอแจของเด็กๆ อดสงสัยไม่ได้เลยว่า น้องๆ ที่มาจะมีกลยุทธ์ในการใช้ห้องน้ำอย่างไร เมื่อทุกคนต่างลงคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ในห้องสี่เหลี่ยมที่มีน้ำไหลกับขันหนึ่งใบในโอ่งเป็นความท้าทาย

ราว 30 กว่าปีก่อน การสัมปทานป่าของบริษัทเอกชนซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคเหนือ ได้พรากต้นไม้รุ่นปู่รุ่นย่าจากพวกเราเกือบหมด ทุกวันนี้ยังคงมีร่องรอยของเหตุการณ์ในยุคนั้นให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นตอไม้ขนาดใหญ่ที่ผุพังไปตามกาลเวลา ถนนหนทางที่เคยเป็นทางชักลากไม้ออกจากป่า

ความทรงจำของผู้เฒ่ายังคงชัดเจน เมื่อครั้งที่พวกเขาพยายามสุดชีวิตเพื่อต่อรองร้องขอชีวิตของต้นลำพูหรือโกะ เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน สุดท้ายความพยายามของพวกเขาก็สำเร็จ แม้จะเป็นต้นไม้เพียงต้นเดียว แต่ก็มีความหมายสำหรับคนที่นี่มากมาย ต้นลำพูขนาด 7 คนโอบคือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตยังคงสง่างาม ใจดีเป็นร่มเงาให้กับผืนป่ามากกว่าหมื่นไร่ ที่ชาวบ้านเพียงร้อยกว่าชีวิตช่วยกันดูแล จนผืนป่าที่หายไปฟื้นคืนกลับมาเป็นปอดเล็กๆ ให้กับโลกของเรา และต้นลำพูนี่เองที่ทำให้เรานึกถึงแสงกะพริบของหิ่งห้อยในยามค่ำคืน ทำให้หัวใจของมนุษย์อย่างเราพองโต ถ้าต้นลำพูต้นนี้พิเศษขนาดนี้ แสงสว่างจากฝูงหิ่งห้อยจะพิเศษขนาดไหน

รอยเท้านิเวศ ย่างก้าวที่เรียนรู้กับธรรมชาติ

พะตี่นิเวศน์ ศิริ ครูที่พร้อมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับผู้คนที่แวะเวียนมาอย่างไม่ลดละ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใฝ่รู้ตลอดเวลา ตอนหนุ่มๆ พะตี่นิเวศน์ขี่ม้าไปขายชาให้ชาวจีนในละแวกนี้อยู่เป็นประจำ จึงหัดพูดภาษาจีนตั้งแต่ตอนนั้นจนสื่อสารได้ดีมาก ส่วนภาษาญี่ปุ่นได้เรียนรู้กับน้องๆ นักศึกษาชาวญี่ปุ่นที่มักจะแวะเวียนมาบ่อยๆ ดูเหมือนปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้กำลังตั้งใจเรียนรู้ภาษาที่ 5 อยู่เงียบๆ

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

เช้าวันนี้ซูนะเด และ บอ สองตูบเพื่อนเกลอ ทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางไปไร่ ระหว่างทาง พะตี่นิเวศน์ไม่ปล่อยให้เวลาของเด็กๆ สูญเปล่า ด้วยการพาพวกเราเก็บลูกเส่เลเดหรือลูกมะคำดีควายที่เป็นสบู่ธรรมชาติ ทั้งใช้สระผม อาบน้ำ ซักผ้า และทุกวันนี้มันยังขายทำเงินให้กับชาวบ้านได้ด้วย มะขามป้อมสมุนไพรรสฝาด เปลี่ยนเป็นหวานเมื่อกลืนน้ำลายและดื่มน้ำตาม เด็ดฝรั่งเมืองใหญ่และฝรั่งป่าลูกเล็กมากิน

ก่อนจะปิดท้ายด้วยการขึ้นเขาไปดูไร่หมุนเวียนที่ฤดูเก็บเกี่ยวจบลงไปแล้ว แต่ยังมีอาหารให้เก็บกินไปอีกนาน พริก ห่อวอ หัวเผือก หัวมัน สมุนไพรนานาชนิด เฉพาะพืชพรรณที่ต้องปลูกมีมากถึง 80 ชนิด ยังไม่รวมสมุนไพรและอาหารป่าอีกมากมาย การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ต่อสำคัญพอๆ กับการปล่อยให้ป่าฟื้นคืนหลังจากนี้

พะตี่นิเวศน์ เล่าให้พวกเราฟังอีกว่า ไม่มีการทำไร่บนยอดเขา เมล็ดของต้นไม้ที่ตกจะกลิ้งลงไปด้านล่าง ทำให้เมล็ดน้อยๆ งอกงามเติบโตเป็นป่าต่อไป ส่วนดอกหงอนไก่สีแดงกับสีเหลืองเป็นดอกไม้ที่ไม่มีไม่ได้ เพราะเป็นดอกไม้ที่ต้องใช้ในพิธีส่งโถ่บีข่า นกที่เป็นเทพแห่งข้าวของชาวปกาเกอะญอกลับสวรรค์

ระหว่างทางเราสังเกตเห็นดอกหงอนไก่ประดับเรียงรายตลอดทางตั้งแต่ไร่จนถึงบ้านและยุ้งข้าว โถ่บีข่าจะกลับมาอีกทีเมื่อถึงฤดูเพาะปลูกตามความเชื่อของผู้เฒ่า ถ้าไร่หมุนเวียนเป็นวีซ่าในการเดินทางของวิถีชีวิตบนโลก ดอกหงอนไก่คงเป็นตัวเครื่องบินที่ขาดไม่ได้สินะ

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

ระหว่างทางขากลับจากไร่ ขณะที่ทุกคนกำลังเดินข้ามลำธาร มีเสียง ตุบ ตามด้วยเสียงหัวเราะ เด็กนักเรียนคนเก่งลุกขึ้นมาพร้อมแก้มแดงๆ การรีบเดินต่อไปแก้เขินได้เป็นอย่างดี การลื่นล้มครั้งนี้เป็นประสบการณ์เล็กๆ ครั้งหนึ่งที่อาจกลายเป็นความทรงจำที่ทำให้เจ้าของประสบการณ์อมยิ้มทุกครั้งเมื่อเขานึกถึงมัน

ตอนบ่ายอากาศเริ่มอุ่นขึ้น น้องๆ กลับมาเรียนทำแก้วไผ่ ไว้เอากลับไปเป็นของขวัญคริสต์มาสให้ที่บ้าน การจับมีดนั้นยากกว่าการจับโทรศัพท์หลายเท่า แต่ทุกคนก็พยายามสุดความสามารถในการค่อยๆ แทะเปลือกไผ่ออก พะตี่นิเวศน์ใช้ประสบการณ์อันแหลมคมช่วยขัดช่วยเกลาให้แก้วไผ่สวยขึ้นมาในทันที นักเรียนอีกกลุ่มแยกไปเรียนทอผ้า และมันก็ไม่ได้ยากอะไรกับการอาสาลองทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำ อย่างน้อยๆ พวกเขาได้สัมผัสกับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด ถึงแม้บางคนจะเริ่มบ่นคิดถึงบ้าน แต่ไม่มีใครหนีกลับแคนาดาแม้แต่คนเดียว

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

ฝากเงินไว้กับต้นไม้

วันนี้เรามีนัดกับ น้องเล็ก น้องแอน พี่ประสิทธ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องชาป่า ชาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวบ้านที่นี่จึงรู้จักชามาอย่างยาวนานและมีการพัฒนาชาของชุมชนอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งกระบวนการดูแล การเก็บเกี่ยว การแปรรูป ตลอดจนการตลาด ชื่อชาอัสสัมของอินเดียที่คุ้นหูของนักดื่มชา เป็นชาชนิดเดียวกับชาที่หินลาดใน แม่สลอง แม่จัน เวียงป่าเป้า หรือในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่ดอยสะเก็ด แม่แตง เชียงดาว หรือบางแห่งของแม่ฮ่องสอน และน่าจะมีอีกหลายที่ในประเทศไทยที่มีการทำชาธรรมชาติแบบเดียวกันนี้ ที่บ้านหินลาดในมีการทำชาอยู่ 4 แบบ คือ

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก
ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

ชาขาว คือชาที่ยังม้วนตัวอยู่ยอดสุด เป็นชาที่มีมูลค่ามากที่สุด เมื่อนำไปคั่วยอดชาจะยังคงสีขาวไว้ ชาเขียว คือชาที่เราเด็ดมา 2 ใบกับ 1 ยอด เป็นชาใบอ่อนยอดอ่อน ชาดำ คือชาใบแก่ยอดอ่อน ที่เราเก็บมาทั้งหมดเพื่อขายให้โรงงาน ซึ่งจะถูกนำไปทำชาผง และชาเมี่ยง คือชาใบแก่ที่เอามาหมัก

ขณะที่พวกเราเดินเก็บชา กูรูชาอย่างน้องเล็กและน้องแอนก็ช่วยอธิบายและเก็บยอดชาเป็นตัวอย่าง ขณะที่เด็กๆ ตัวโตอย่างชาลีที่มีเชื้อสายไอร์แลนด์ที่สูงเกือบ 2 เมตรช่วยเก็บยอดชาที่ไม่มีใครเอื้อมถึงได้ดีมาก น้องๆ จากแคนาดากลุ่มนี้มีเชื้อชาติที่หลากหลายเหมือนต้นไม้ในป่าที่นี่ เอธิโอเปียน โคลัมเบียน สกอตติช เช็ก กรีก ดัช เวียดนาม พม่า จีน อินเดีย อิตาเลียน อาเมเนียน คือบรรพบุรุษของเด็กๆ กลุ่มนี้ แคนาดาเป็นประเทศที่ยังไม่แก่มาก บางทีอาจจะเหมือนยอดอ่อนของใบชาก็เป็นได้

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

หลังจากใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมานานของเหล่ากูรู ชาที่เก็บได้ทั้งหมดในครึ่งวันเช้านั้นเอามาชงได้ประมาณ 300 แก้ว จากนั้นผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาก็พาเราไปคั่วชาให้เด็กแคนาดาหายง่วงก่อนจะแยกย้ายกันไปพัก

ชาเป็นรายได้สำคัญของชุมชน เราจึงเห็นต้นชามากมายรอบๆ หมู่บ้าน ห่างออกไปในสวน หรือแม้แต่บนเขาก็มีต้นชา การตัดหญ้าและตัดแต่งกิ่งเป็นการเพิ่มยอดชาที่จะกลายเป็นยอดเงินโดยไม่ต้องเอาไปฝากที่ธนาคาร เพราะต้นไม้ก็รับฝากเงินเช่นกัน

ฝากทองไว้กับผึ้ง

ตี่นิเวศน์ ผู้เฒ่าใจดีคนเดิมพาเราไปดูผึ้งที่เขาเลี้ยงไว้ ผึ้งโพรง ผึ้งหลวง ผึ้งชันโรง และผึ้งมิ้ม คือน้ำผึ้งที่ชาวบ้านเคยลิ้มรสชาติมาช้านาน เอกลักษณ์อันโดดเด่นของน้ำผึ้งที่นี่ คือรสชาติของน้ำผึ้งจะขึ้นอยู่กับดอกไม้ในป่าที่มีมากมายหลายชนิด หากปีไหนต้นไม้ดอกไม้ออกดอกให้ผึ้งมาเก็บเกสรได้มาก น้ำผึ้งก็จะมีรสชาติดีมาก

ความรู้ใหม่มากที่เรารู้จากที่นี่คือ ผึ้ง 1 รังมีนางพญาได้มากกว่า 1 ตัว วิธีสังเกตคือถ้าเราแยกนางพญาออกจากรัง จะมีผึ้งบางส่วนตามมาอยู่ด้วย ส่วนผึ้งบางส่วนที่ไม่ออกมา แสดงว่ายังมีนางพญาอยู่ในรังอีก เคยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องผึ้งมาศึกษาที่นี่ ครั้งนั้นพบว่ามีนางพญาถึง 3 ตัวในรังเดียว และหากนางพญาตายไป ชุมชนผึ้งก็จะโศกเศร้าไม่แพ้มนุษย์ ต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าชุมชนของผึ้งจะกลับมาอยู่อย่างปกติสุขหลังจากการเลือกตั้งหานางพญาตัวใหม่ได้

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

เราให้เด็กมาช่วยกันโหวตว่า น้ำผึ้งชันโรง น้ำผึ้งหลวง และน้ำผึ้งจากนิวซีแลนด์ น้ำผึ้งอย่างไหนจะถูกใจพวกเขาที่สุด ผลปรากฏว่าน้ำผึ้งหลวงได้แชมป์ไปครอง แต่พวกเราไม่รู้มาก่อนว่าน้ำผึ้งชันโรงที่มีรสขม รสเปรี้ยวและรสหวานในหยดเดียวกัน เป็นน้ำผึ้งที่มีสรรพคุณเป็นยาที่ดีที่สุด โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่โปรดปรานน้ำผึ้งชันโรงเป็นพิเศษจึงทำให้น้ำผึ้งชั้นโรงที่นี่มีมูลค่าถึงหลักพันต่อขวดเลยทีเดียว

น้ำผึ้งเหลวจึงเปรียบได้กับทองคำดีๆ นี่เอง แต่ทองคำที่นี่ไม่ต้องระเบิดภูเขา ไม่ต้องถลุงแร่ เพียงแค่ดูแลป่าให้บรรดานักบินตัวน้อยได้ไปเก็บน้ำหวานจากเกสร น้ำผึ้งก็จะไหลมาเทมาเอง

มีบทกวีเก่าแก่บทหนึ่งบอกว่า

“ลูกหลานเอ๋ย ให้กลับมารอที่กิ่วดอย เมื่อตกบ่ายเงินและทองจะกลับมา” บทกวีบทนี้ช่างพอเหมาะพอเจาะกับสิ่งที่กำลังดำเนินไปที่นี่ และย้ำเตือนให้คนรุ่นใหม่มีความหวังกับชุมชนบ้านเกิดเสมอ ผู้เฒ่าทั้งหลายก็ทำหน้าที่เหมือนกับนางพญาที่คอยนำทางคนในชุมชนและสอนให้คนรุ่นใหม่สนใจดูแลธรรมชาติ เพื่อที่พวกเขาจะยังได้มีชีวิตที่ดีต่อไป

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

คนรุ่นใหม่อย่างประสิทธ์บอกกับเราว่า แท้ที่จริงแล้วเราไม่ได้เลี้ยงผึ้ง ผึ้งต่างหากที่เลี้ยงดูพวกมนุษย์ เราแค่ต้องทำหน้าที่บางอย่างที่จำเป็นต่อการอยู่รอดของผึ้ง และเมื่อระบบนิเวศแข็งแรงดีแล้ว เราก็จะชีวิตอย่างมีความสุข

ขณะที่พ่อหลวงชัยประเสริฐบอกกับเราว่า ประชากรโลกกว่า 7,000 ล้านคน จะมีสักกี่คนที่บินออกนอกโลกและหาโลกใหม่อยู่ เราหวังกับโลกอื่นไม่ได้ นอกจากโลกใบนี้ใบเดียวของเรา ประเทศเดียวของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง เราอยู่ไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราต้องการเพื่อนที่คอยแบ่งปัน ช่วยเหลือกัน อาศัยกัน เหมือนที่มนุษย์อาศัยโลกอยู่ ความร่ำรวยของมนุษย์บนโลกไม่ได้มาจากทรัพยากรธรรมชาติหรอกหรือ เพราะฉะนั้นการที่ใครก็ตามที่มาเรียนรู้ที่นี่คือการกลับไปเข้าใจโลกของเราที่มีเพียงใบเดียว

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

พะตี่ปรีชาพูดอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนว่า เพราะมนุษย์ไม่ได้พูดภาษาธรรมชาติ เราจึงทำหน้าที่สื่อสารพูดคุยหรือเล่าเรื่อง เพื่อให้คนที่มาได้เข้าใจธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราไม่ได้เป็นครูอาจารย์แบบนั้น เราเพียงแต่ทำหน้าที่ของเราตรงนี้

เกือบ 1 สัปดาห์ที่ผมร่วมเรียนรู้และสังเกต ผมตั้งข้อสังเกตว่าบนโลกของเรามีความร่ำรวย 2 ซีก ซีกหนึ่งยกย่องความร่ำรวยเป็น เงินทอง วัตถุสิ่งของความสะดวกสบาย อำนาจ อยากได้อะไรเพียงแค่ใช้นิ้วกวาดไปมาบนหน้าจอโทรศัพท์ ของเหล่านั้นก็จะมาปรากฏต่อหน้าราวกับการมีเวทมนตร์ บ่อยครั้งที่ความร่ำรวยประเภทนี้ได้ทอดทิ้งเพื่อนร่วมโลกไว้ข้างหลัง

ตามเด็กแคนาดาไปเรียนในหมู่บ้านหินลาดใน ที่ดูแลป่าใหญ่ให้เป็นห้องเรียนของคนทั่วโลก

ส่วนความร่ำรวยอีกซีกหนึ่งนั้น ชีวิตและลมหายใจทั้งหมดฝากไว้กับธรรมชาติ การปรับตัวเข้าหาโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ความร่ำรวยชนิดนี้เชื่อว่าตราบใดที่ธรรมชาติได้รับการดูแล มนุษย์ทุกคนบนโลกจะมีชีวิตรอดอย่างเท่าเทียมกัน เราจะมีอาหารให้อิ่มท้อง มีเสื้อผ้าคลุมกาย มีที่หลับที่นอน มียารักษาโรค มีเพื่อบ้านที่คอยพึ่งพากัน มีความมืดของค่ำคืนไว้ชื่นชมดวงดาว มีความหนาวก็มีฟืนไฟไว้นั่งผิงให้อุ่นใจ มีย่างก้าวที่เบาบาง ไม่รีบร้อน

ผมไม่แน่ใจว่าความมั่งมีทั้ง 2 ซีกมีพรมแดนที่เชื่อมต่อกันตรงไหนในยุคที่ไร้พรมแดนแบบนี้ และแน่นอนที่สุดว่ามนุษย์ยังอยากมีประสบการณ์กับความร่ำรวยทั้ง 2 ซีกอีกต่อไป ก่อนเด็กๆ จะลากลับบ้านบรรดาคุณครูได้ฝากคำถามให้เด็กๆ ตอบกันว่า ความร่ำรวย ความยากจน การศึกษา และมนุษย์ คืออะไรบนโลกนี้ใบเดียวของเรา

ฤดูหนาวที่ กิแม (เชียงใหม่)

ต่าบลึ/ขอบคุณมากครับ

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง