การลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาหรือเปลี่ยนแปลงสังคมในวัยมหาลัยฯ สำหรับใครหลายคนคงมองว่าเป็นเรื่องยากหรืออาจจะทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะการทำเพื่อคนอื่น เพื่อส่วนรวม หรือเพื่อสังคม ที่มักจะเป็นเรื่องยากและทำให้คนที่อยากยื่นมือเข้าไปแก้ไขหมดกำลังใจลงได้ง่ายๆ

ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่เราคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรมีคือการเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีไม่ว่าคุณจะสนใจประเด็นไหน อยากแก้ไขปัญหาอะไร หรือเป็นใครก็ตาม การเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีจะทำให้สารหรือปัญหาที่คุณอยากเล่าเข้าถึงคนได้มากขึ้น

The Hero Season 3 คือโครงการที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) The Cloud และ School of Changemakers เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอแนวความคิดที่เป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์มาปรับใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคม

The Hero Season 3

The Hero Season 3 The Hero Season 3 The Hero Season 3 The Hero Season 3

ในปีนี้ The Hero Season 3 ได้ค้นหาทีมคนรุ่นใหม่หรือนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่มีไอเดียใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์อยากเปลี่ยนแปลงสังคม ให้ได้มีโอกาสพัฒนาไอเดีย เรียนรู้ทักษะในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและการเป็นนักสื่อสาร ผ่านการลงมือทำโครงการจริง ด้วยการสนับสนุนด้านข้อมูลจากการจัดกิจกรรม ‘Storytelling4Change workshop series’ เวิร์กช็อปกับ 4 วิทยากรผู้มีประสบการณ์ในการเป็นนักเล่าเรื่องที่จะมาให้ข้อมูล เครื่องมือ และความรู้ ในการริเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม ได้แก่ ปรารถนา จริยวิลาสกุล นักสร้างแบรนด์อิสระจาก B+ a plus, ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริการเว็บไซต์ The Cloud, ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ จาก ชูใจ กะ กัลยาณมิตร ครีเอทีฟเอเจนซี่, ชนัญญา เตชจักรเสมา เจ้าของ YouTube Channel : Point of View และมีโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านงานเพื่อสังคมคอยจาก School of Changemaker คอยให้คำปรึกษาตั้งแต่การริเริ่มโครงการ ให้การสนับสนุนเงินทุนตั้งต้น เพื่อให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ในการขยายผลโครงการต่อไปในอนาคต

มาดูกันว่านักศึกษาทั้ง 10 ทีมที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ เขามีไอเดียสนุกๆ อะไรกันบ้างในการแก้ไขปัญหาที่พวกเขาพบเจอมา และพวกเขาจะสื่อสารหรือใช้เครื่องมืออะไรที่ทำให้เข้าถึงใจคนฟังได้บ้าง

 

The Hero Season 3

Problem

เด็กๆ ไม่กล้าคุยกับผู้ปกครองเรื่องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขาดความมั่นใจ ไม่มีข้อมูลสนับสนุน และไม่รู้วิธีสื่อสารกับผู้ปกครอง

 

Hero Solution

The Accepted เป็นโครงการที่พูดเรื่องการสื่อสารระหว่างเด็กระดับมัธยมปลายที่ต้องเลือกเส้นทางเดินชีวิตของตนเองร่วมกับผู้ปกครอง แต่ยังขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนความต้องการของบุตรหลานได้เท่าที่ควร จนอาจก่อให้เกิดปัญหาภายในครอบครัวตามมา

ประเด็นสำคัญที่ทีมพบมาคือ เด็กที่ไม่กล้าพูดคุยกับผู้ปกครองและไม่รู้จะสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างไรดี โครงการนี้จึงอยากชวนเด็กระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่าเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนเป้าหมายชีวิต และเรียนรู้วิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สามารถกลับไปพูดคุยเรื่องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยกับผู้ปกครองได้อย่างเปิดใจ

 

ทีม Ready Set Grow!

สมาชิก ปาฏิหาริย์ มาตสะอาด และ ธนพงษ์ พึ่งธรรม

ตามไปดูผลงานได้ที่ Ready Set Grow

 

The Hero Season 3

Problem

คนไข้ในโรงพยาบาลต้องรอขั้นตอนในการจ่ายยาเป็นเวลานาน เพราะโรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลางขาดแคลนเครื่องนับเม็ดยา


Hero Solution

ปัจจุบันมีคนไข้เข้ารับบริการในสถานพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การบริการเกิดความล่าช้า ห้องจ่ายยามีภาระการจ่ายยาสูง และเจ้าหน้าที่ประสบปัญหาในการจ่ายเม็ดยา ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของกรมการแพทย์พบว่า ในปี 2553 คนไทยใช้ยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณปีละ 47,000 ล้านเม็ด หรือเฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด ซึ่งเครื่องนับเม็ดยาจะมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น เพราะนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพงหลักแสนบาท

โครงการนี้จึงได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องนับเม็ดยาอัตโนมัติให้มีคุณภาพตรงความต้องการให้โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลางจัดซื้อได้ เพื่อนำมาใช้บริการคนไข้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

ทีม APC.UP

สมาชิก พิพัฒน์พงศ์ ธิอินโต และ ศราวุฒิ คำปัญญา

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

 

The Hero Season 3Problem  

อาสากู้ภัยขาดประสบการณ์และตื่นตระหนกกับสถาการณ์เร่งด่วน ทำให้การทำ CPR ขาดประสิทธิภาพ


Hero Solution
 

จากประสบการณ์การเป็นอาสากู้ภัยของสมาชิกในทีม พบข้อมูลสำคัญว่ามีอัตราเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ผู้ประสบเหตุรอดชีวิตจากการทำ CPR (การปั้มหัวใจด้วยมือ) สาเหตุหนึ่งมาจากอาสากู้ภัยตื่นเต้นกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขาดทักษะและประสบการณ์ ส่งผลให้ทำ CPR ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

โครงการนี้จึงออกแบบและพัฒนาเครื่อง CPR GUIDE  ขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการให้จังหวะในการกดหน้าอก เพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับหน่วยกู้ภัยในการทำ CPR ได้ถูกจังหวะและมีประสิทธิภาพ

 

ทีม CPR GUIDE

สมาชิก สฤษดิ์ จุลมุสิก และ วุฒิชัย ลังกาพินธ์

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา

ตามไปดูผลงานได้ที่ ALIVE for LIFE

 

The Hero Season 3Problem

คนไข้ที่ต้องการเข้ารับบริการทันตกรรมไม่ทราบถึงการรับบริการฟรีจากนักศึกษาทันตแพทย์ และนักศึกษาทันตแพทย์ขาดแคลนคนไข้มาเป็นเคสเพื่อการศึกษา


Hero Solution

จากผลสำรวจสภาวะช่องปาก ปี 2554 พบว่าคนไทยประมาณ 80% มีโรคในช่องปาก และมีน้อยกว่า 20% ที่เข้าถึงบริการทางทันตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปี 2557 ที่เข้ารับบริการทางทันตกรรมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมีเพียง 11% ของนักศึกษาทั้งหมด ในขณะเดียวกันคลินิกทันตกรรมนักศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยนักศึกษาทันตแพทย์ยังมีศักยภาพในการให้บริการทางทันตกรรมได้ประมาณ 100 ครั้งหรือประมาณ 25 คนต่อสัปดาห์ โครงการ Toothzle จึงเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเข้าถึงบริการทันตกรรม โดยออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อให้คนไทยรับรู้สิทธิ์ เข้าถึงและได้รับบริการทางทันตกรรมได้มากขึ้น

 

ทีม Shile

สมาชิก สูงกฤษฏิ์ พจน์มนต์ปิติ, กฤตเมธ ชีรนรวนิชย์, ศิวนาถ โปษยาอนุวัตร์ และ วรรณรักษ์ สุทธิรักษา

สถานศึกษา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตามไปดูผลงานได้ที่ Toothzle

 

The Hero Season 3Problem

การรอรถและการขึ้นรถของนิสิตไม่เป็นระเบียบ ทำให้เดินทางไปเข้าเรียนไม่ตรงเวลา


Hero Solution
 

โครงการ Up Bus App มุ่งจัดการกับปัญหาเรื่องการรอรถและการขึ้นรถของนิสิตภายในมหาวิทยาลัยพะเยาที่ไม่เป็นระเบียบ และทำให้เข้าเรียนไม่ทันเนื่องจากรอรถเป็นเวลานาน

โครงการจึงพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการในรูปแบบของการสร้าง Application และวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลาย เช่น  ทดลองการจัดระเบียบการยืนรอรถ เสนอแนวทางแก้ไขต่างๆ กับมหาวิทยาลัย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นิสิตและทุกคนที่ใช้บริการรถโดยสารได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

ทีม UP Smart Bus

สมาชิก สมยศ ศรีคำ, ปุญญวัชร์ วงศ์ใจคำ, นิรชา สุขแท้ และ ศราษินีท์ ศรีอานันแม่สาย

ตามไปดูผลงานได้ที่ UPsmartbus

 

The Hero Season 3Problem

นักศึกษาที่เรียน 3 ภาคการศึกษาไม่มีแนวทางในการบริหารเวลา และไม่มีเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ


Hero Solution
 

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในประเทศไทยปรับหลักสูตรการศึกษาเป็นแบบไตรภาค คือ 1 ปีการศึกษาจะมี 3 เทอม แต่ละเทอมจะมีการเรียนการสอน 3 เดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบแบบเก่าแล้ว จะเห็นว่านักศึกษาต้องเรียนเร็วขึ้นและสอบไวขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้นักศึกษาไม่สามารถแบ่งเวลาการเรียนและการทำกิจกรรมได้มีประสิทธิภาพ ตัวผู้จัดทำโครงการเองก็เคยประสบปัญหาดังกล่าว จึงเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการเวลา และได้ออกแบบและพัฒนาแพลนเนอร์ ‘SMUN Note’ ขึ้น โดยคำว่า SMUN Note มีแนวคิดมา จาก ‘Smart + Fun’ การรู้จักการใช้แพลนเนอร์จะช่วยจัดการบริหารเวลาให้สนุกและฉลาดเพื่อให้นักศึกษาจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด

 

ทีม D SUT Team

รายชื่อสมาชิก สุขธิดา วาตรีบุญเรือง, วนิดา หอมขจร, วิมลสิริ ขันติวงศ์ และ ฤทธิไกร พักดี

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ตามไปดูผลงานได้ที่ SMUN Planner

The Hero Season 3Problem

น้องๆ ในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย


Hero Solution
 

โครงการสร้างคุณค่า สร้างความคิด สร้างจิตสาธารณะ ของ T-change for Child เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือน้องๆ บนดอยที่ขาดแคลนทั้งสื่อและอุปกรณ์การเรียน

ซึ่งพวกเขาสร้างคุณค่าโดยการนำหนังสือหรือชีตสรุปที่ไม่ได้ใช้มาบริจาคกับทางโครงการเพื่อส่งไปให้น้องๆ หรือผู้ที่ขาดแคนในพื้นที่ต่างๆสร้างความคิดให้น้องๆ ที่ขาดแคลน ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการหารายได้เพื่อนำเงินไปซื้อของตามความจำเป็นและจัดทำสื่อไว้ใช้ได้เอง และสร้างจิตสาธารณะ โดยรับอาสาสมัครคือนักศึกษา เป็นผู้ผลิตสื่อและช่วยจำหน่ายสินค้าจากฝีมือน้องๆ และมีกิจกรรม Trick 1 minute talk เพื่อเป็นการจัดทำสื่อการกุศลโดยมีการจัดทำวิดีโอ เทคนิคต่างๆ เวลา 1 นาที โดยมีดารา นักร้อง ผู้เชี่ยวชาญ และ อาจารย์ร่วมกิจกรรมดังกล่าวและผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถร่วมกิจกรรม โดยพิมพ์ #TchangeforChild ลงช่องทางต่างๆ

 

ทีม T-Change for Child

รายชื่อสมาชิก อนินท์ญา ขันขาว, มัชมีย์ แมเราะ และ สุกฤษดิ์ นาราต๊ะ

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตามไปดูผลงานได้ที่ T-Change for Child

 

The Hero Season 3Problem

วิถีของชุมชนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ขาดกิจกรรมที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน

Hero Solution

โครงการ Organic Herb Soap อยากเห็นคนในชุมชนหันมาพูดคุยและช่วยเหลือกัน ผ่านกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ด้วยการนำต้นทุนชุมชนมาผลิตเป็นสินค้า สร้างรายได้ สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยทางโครงการจะเริ่มต้นจากชุมชนกำแพงทองพัฒนาและตลาดน้ำคลองบางหลวง ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยสยาม นำสมุนไพรที่มีในชุมชนมาแปรรูป ผลิตเป็นสบู่ ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่าย ช่วยให้คนในชุมชนที่มีรายได้น้อยเข้าร่วมโครงการแล้วมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 – 20% และจัดตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อให้คนในชุมชนต่อยอดและดำเนินการเองต่อได้

 

ทีม Future forever

รายชื่อสมาชิก กุลพสุ นวนแป้น, พัณณิตา แก้วบุญจันทร์, อรปรียา ศักดาพิสุทธิ์ และ จุฑาภักษ์ ปืนแก้ว

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม

 

The Hero Season 3


Problem

นักศึกษาขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ และการป้องกันอย่างเหมาะสม

Hero Solution

จากการสำรวจของโครงการพบว่าในมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาจำนวน 280 คนจาก 10,000 คน ท้องไม่พร้อมหรือตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร และติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โครงการนี้จึงเห็นปัญหาที่นักศึกษาขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง ไม่กล้าเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนขายโดยตรง และประมาทในการมีเพศสัมพันธ์ โครงการตู้ดูดดื่มจึงอยากลดปัญหาด้วยการทำสื่อโฆษณาเพื่อสร้างความเข้าใจ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้วิธีใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง และสร้างโมเดลต้นแบบตู้ดูดดื่มเพื่อจัดจำหน่ายถุงยางอนามัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ทั่วไป เพื่อลดความเขินอาย ตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย มีทัศนคติใหม่ในการพกและใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี

 

ทีม Yan Whang (ยันหว่าง)

รายชื่อสมาชิก กานตะรัชต์ มิลินทสูตร, พงษ์ธาดา โชคศิริวรรณา, ดวงกมล เนียมนำ และ ปรียาวีฒ์ รุ่งรัตนไชย

สถานศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

The Hero Season 3


Problem

เด็กวัยรุ่นไม่รู้ว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร และไม่รู้วิธีการค้นหาตัวเอง


Hero Solution

WAY OUT โครงการที่จัดดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อชวนเด็กระดับมัธยมปลายวางเป้าหมายชีวิต โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจและรู้จักตนเองมากขึ้น สำรวจความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่ต้องการในอนาคต ศึกษาตัวอย่างการวางแผนชีวิต ลองเขียนเป้าหมายและวางแผนชีวิตด้วยตนเอง กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้เด็กมัยธยมปลายมีความพร้อมต่อการใช้ชีวิตในอนาคตมากยิ่งขึ้น มีแนวทาง ไม่พลาดโอกาสดีๆ ในชีวิต

 

ทีม โต๊ะแบบ 4 ที่นั่ง (Type A)

รายชื่อสมาชิก พราวพิไล รุ่งเรืองสาคร, นภทีป์ รู้กิจนา และ อธิพัฒน์ มูลเชื้อ

สถานศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน