“พี่นิลไม่คิดจะสะสมอะไรเลยหรือครับ”

“ไม่ มันไร้สาระนะ จะมีอะไร จะสะสมอะไร มันก็ไม่ดับทุกข์เราได้หรอก”

พี่นิล หรือฤษีนิล หรือนิลพัท ตอบคำถามผมแบบชกปลายคาง สมแล้วที่ใครแถวนี้เรียกพี่นิลว่า ฤษี เกือบ 20 ปีแล้วที่ชายหนุ่มวัยกลางคนเดินทางกลับจากการทำงานในเมืองหลวง ไม่มีรถกระบะติดมือมา ไม่มีเงินก้อนติดมือมา มีแต่ความแน่วแน่และความมั่นใจว่าวิถีชีวิตรับจ้างหารายได้ไปวันๆ แบบนั้นไม่เหมาะกับตนเองแน่ ข่าวการแบ่งปันที่ดินของครอบครัวทำให้ฤษีนิลคิดว่าน่าจะพอได้ที่ทางมาทำการเกษตรในแบบที่ตนเองคิดบ้าง แต่เมื่อกลับมาเผชิญความจริงถึงพบว่าที่ดินที่ตนเองได้รับมานั้นกันดารจนอย่าว่าแต่จะปลูกข้าวเลย ปลูกผักหญ้าอย่างอื่นก็ดูจะล้มเหลวเสียแล้ว

“แต่บางคนเขาก็สะสมไว้ให้คนรุ่นหลังนะพี่ เช่นหนังสือเอาไปทำห้องสมุด ของเก่าเอาไปทำพิพิธภัณฑ์ อะไรทำนองนั้น” ผมยังไม่หยุดแย้งพี่นิล

“อันนั้นก็เป็นเจตนาดี แต่มันก็ทำให้เราทุกข์อยู่ดี เกิดทำไม่สำเร็จ เราก็สะสมไปเรื่อยๆ ไม่หยุดเสียที มันก็ต้องรู้จักการประมาณตน แบบไหนที่พอสำหรับเรา เราจัดการได้ ดูแลได้ ชีวิตแบบนั้นล่ะไม่มีทุกข์ หรือถึงมี ก็มีน้อยเต็มที”

ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งหยิบอ่านไม่นานมานี้ ผู้เขียนเป็นชาวญี่ปุ่นนาม ฟุมิโอะ ซาซากิ (Fumio Sasaki) ที่พึงใจในลัทธิ Minimalism (หรือลัทธิน้อยนิยม ตามคำแปลของ มุกหอม วงษ์เทศ ซึ่งตรงตัว) อันเป็นลัทธิที่ถือว่าการมีสิ่งของเท่าที่จำเป็นจะทำให้ชีวิตมนุษย์มีเสรีภาพมากขึ้น มีอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการลุ่มหลงในการบริโภคแบบไม่ลืมหูลืมตา ชาว Minimalist มักมีห้องที่โล่งกว้าง มีข้าวของน้อยชิ้น ใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบ พวกเขาพึงใจกับอากาศบริสุทธิ์ ที่ว่างที่สว่างไสว สิ่งของที่ใช้อย่างมั่นใจ

ฟุมิโอะ ซาซากิ เขียนหนังสือที่ชื่อว่า Goodbye, Things หรือ ‘อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป’ ซึ่งขายดีมากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเต็มไปด้วยข้าวของสิ่งใหม่ออกสู่ท้องตลาดแทบทุกวัน เหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2011 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้ลัทธิ Minimalism เติบโต การต้องเริ่มต้นสร้างชีวิตขึ้นใหม่จากซากปรักหักพังทำให้หลายคนพบว่าแค่สิ่งของที่จำเป็นเพียงไม่กี่ชิ้น มนุษย์เราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว

แน่นอนว่าหนังสือของ ฟุมิโอะ ซาซากิ ไม่เคยเดินทางมาถึงบ้านกลางนาเดื่อที่โพนนาแก้ว ไม่เคยผ่านตาพี่นิล หรือฤษีนิล ลัทธิเซนที่ฟุมิโอะ ซาซากิ ยึดถือเป็นพื้นฐานแห่งการเป็นมนุษย์นิยมความมักน้อย ไม่เคยถูกถ่ายทอดให้พี่นิล ทุกอย่างที่พี่นิลนำมาปฏิบัติมาจากการเรียนรู้สมัยเป็นเณรที่เรียกว่านักธรรมเท่านั้นเอง

ฟุมิโอะ ซาซากิ มีเสื้ออยู่ 4 ตัว แต่พี่นิลมีเสื้อราว 9 ตัว 8 ตัวอยู่บนราวแขวนที่ทำจากไม้สัก 4 ตัวนั้นเป็นเสื้อแบบที่เราเรียกกันว่าเสื้อช็อป เป็นเสื้อที่ช่าง นักเรียนช่าง หรือคนที่ทำงานด้านช่าง ใส่กัน (อกเสื้อมีกระเป๋า 2 ข้าง ชายเสื้อมีกระเป๋าอีก 2 เหมาะมากกับการทำงานที่ต้องพกพาเครื่องมือ หย่อนเครื่องมือไปตามกระเป๋าต่างๆ อย่างไรก็เพียงพอแน่) ส่วนอีก 4 ตัวนั้นเป็นเสื้อที่ใส่สำหรับกิจกรรมอื่น 3 ตัวคงใช้ใส่ไปทำจับจ่ายสิ่งของหรือทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน (ซึ่งพี่นิลออกไปน้อยเต็มที) อีกตัวนั้นเป็นเสื้อลายดอกซึ่งผมเดาว่าคงใช้ใส่ในช่วงสงกรานต์ และผมเดาถูก

“หลานสาวเขาซื้อมาให้ เขาบอกว่าใส่วันรดน้ำขอพรช่วงสงกรานต์ มันจะได้เข้ากับคนอื่นหน่อย แต่เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้ไปร่วมงานกับเขาหรอกนะ เสียเวลาทำงาน เอาเวลาไปปลูกต้นไม้ดีกว่า”

ผมจับเสื้อของพี่นิลแต่ละตัวที่อยู่บนราวแขวน เว้นแต่เสื้อลายดอกตัวนั้น ทุกตัวแสดงให้เห็นถึงการใช้งานอย่างหนักหน่วง แต่กระนั้นมันก็คงความสะอาดอ้านในแบบที่เราใช้คำว่า ‘สะอาดจนคุณรู้สึกได้’ ตรงส่วนที่เคยเป็นป้ายชื่อของผู้เป็นเจ้าของเดิม พี่นิลเอาป้ายออกและเย็บด้ายสีน้ำเงินทับร่องรอยเหล่านั้น เป็นสไตล์ใหม่ที่ชวนให้แปลกตา แต่กระบวนการดูแลเสื้อทั้งหลายยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ที่ราวแขวนเราจะพบกับการบากร่องเล็กๆ บนราวเพื่อให้ขอเกี่ยวของไม้แขวนเสื้อลงร่องพอดีและไม่เลื่อนไปมา แน่นอนระยะห่างระหว่างร่องสม่ำเสมอและทำให้เสื้อแต่ละตัวเหมือนการเข้าแถวของทหารที่ยื่นมือแตะบ่าคนข้างหน้าเป็นระยะที่พอดี

“คนเราไม่จำเป็นต้องมีข้าวของในชีวิตมากนักหรอก มีน้อยชิ้นแต่ดูแลเขาอย่างดี ใช้สอยเขาอย่างเคารพ อย่างระมัดระวังก็เพียงพอแล้ว”

“พี่นิลบากร่องไม้ให้เป็นระยะนี่จะได้แขวนเป็นระเบียบใช่ไหม”

“ไม่ใช่” ครานี้คำตอบพี่นิลพลิกความคาดหมายของผม

“ถ้าเราไม่บากร่องไว้ เวลาลมพัด เสื้อมันจะไปกองที่ด้านใดด้านหนึ่ง และถ้าไม่ดูแลตรงที่เสื้อกองทับกันนี่ โอกาสที่แมลงมันจะมาทำรังหรือคาบเศษไม้อะไรมาจะสูง ไม่ช้า เสื้อก็จะเสียหายหมด”

ปรัชญาว่าด้วยน้อยแต่มากหรือน้อยนิยมหรือ Minimalist ตามรูปแบบของพี่นิลนำมาประจักษ์ให้ผมเห็นอีกครั้ง

“ทำไมพี่นิลถึงคิดว่าการเรียนนักธรรมมันส่งผลต่อชีวิตพี่มากขนาดนี้”

“เราไม่เคยเรียนอะไรสูงเลย” พี่นิลตอบ “เรียนจริงจังก็นักธรรมนี่แหละ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก สำหรับผมแล้วเหมือนจบปริญญาชั้นสูงสุดเลย ใช้ชีวิตในเมืองหลวงจะมีปัญหาขนาดไหน คนอื่นเงินไม่พอใช้ ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นหนี้เป็นสิน เราไม่เคยเป็น ดูมันไป ตามกิเลสที่ว่าจะโลภ จะโกรธ จะหลง จะอยาก ก็พยายามเข้าใจมัน ตอนเรากลับมาคนอื่นเขาก็คิดว่าเราคงอยู่ไม่ได้แล้ว ที่ดินมันมีแต่หินแข็งๆ จะปลูกอะไรได้

“ยิ่งคนมาจากเมืองหลวงเจออะไรแบบนี้เข้าไปก็คงกลับ แต่เราตัดสินใจแล้วว่าไม่กลับ ไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็เริ่มทำกระต๊อบ ทำครัว และถากดินไปเรื่อยๆ เจอก้อนหินเราก็ขนมาทำรั้ว ทำแนวกันไฟ เริ่มปลูกต้นไม้ ปลูกมันทุกอย่าง อะไรที่เขาว่าปลูกไม่ได้เราก็ลองว่ามันจริงไหม สุดท้ายมันก็ปลูกได้ทุกอย่าง แต่ว่ามันจะออกดอกออกผลไหมก็ขึ้นอยู่กับอากาศด้วย นั่นต้นแอปเปิ้ล หลานๆ เอามากิน เราขอเม็ดมาปลูก ขึ้นเป็นเถาเลย แต่ไม่ออกลูกหรอกนะ” พี่นิลหัวเราะ

ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ เจ้าของร้านกาแฟดริปที่ดงมะไฟผู้ที่เป็นเหมือนมัคคุเทศก์นำทางผมมาพบพี่นิลยืนยันในสิ่งนี้ เขาเล่าว่า สมัยที่เขาทำงานพัฒนากับชุมชน ผักหวานเป็นต้นไม้ที่ปลูกยากปลูกเย็นในแถบนี้ มีคนบอกว่าให้ไปหาฤษีนิลสิ แกปลูกผักหวานได้งาม เขาก็ไม่เชื่อ ขอดูด้วยตาตนเอง “เดินตัดไร่ตัดนาเขามา หลงแล้วหลงอีก ถามทางเขามาเรื่อยๆ พอมาถึง ผักแกงามจริง และแกเป็นฤษีจริงๆ ตามที่ชาวบ้านเขาตั้งให้”

คำว่าฤษีในดินแดนแถบนี้ไม่ได้มีความหมายเชิงศาสนธรรมอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงคนที่ปลีกตนเองออกจากชุมชนด้วย มีชีวิตที่โดดเดี่ยว ยิ่งพี่นิลไม่มีครอบครัวด้วยแล้ว ภาพของชายใส่เสื้อช็อปทำงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดเย็นยิ่งตอกย้ำสมญานามที่ว่านี้

“แล้วพี่นิลกินอะไรนี่ในแต่ละวัน” ผมเหลียวมองไปรอบๆ ผักสารพัดผัก ผลไม้จำนวนมาก น่าจะประกอบอาหารได้หลากหลายแบบ เอาเฉพาะผลไม้ที่ให้ความเปรี้ยว พี่นิลมีมะนาวหลายสายพันธุ์ เสาวรส มะตูม ถ้าเราถือว่าของปรุงรสชั้นดีคือความเปรี้ยว ที่นี่คือครัวที่พร้อมสำหรับการทดลองด้านอาหารอย่างยิ่ง

“ปลากระป๋อง” ยิปซีบอก “พี่นิลกินแต่ปลากระป๋อง ไม่รู้ชอบอะไรนักหนา มาทีไรก็กินแต่ปลากระป๋อง”

คำตอบของยิปซีทำให้พี่นิลหัวเราะออกมา “มันง่ายนะ เรากินพอให้มีแรง ดัดแปลงไป เก็บก็ง่าย หลายยี่ห้อด้วย”

พี่นิลก่อกองไฟด้วยลำไผ่ “กินน้ำมะตูมกันก่อน” ในขณะที่ผมหยิบปลากระป๋องที่วางเรียงกันอยู่บนชั้นในครัว ทุกอย่างในเรือน 2 หลังของพี่นิลคือเรือนนอนและเรือนครัวเป็นระเบียบอย่างยิ่ง ไม่มีฝุ่นผง ไม่มีหยากไย่ จานชามถูกคว่ำอย่างเป็นระเบียบ พี่นิลล้างจานด้วยใยมะพร้าว แม้จะใช้นำยาล้างจานแต่ไม่ได้ล้างแบบขอไปที ผมดูพี่นิลล้างแก้วที่จะใช้ใส่น้ำมะตูมให้เรารอบแล้วรอบเล่า ถ้าวัตรปฏิบัติของฤษีคือการเคลื่อนที่อย่างจดจ่อในทุกสิ่งที่ตนเองกระทำ พี่นิลก็แสดงมันออกมาด้วยความสุขแทบในทุกการกระทำนั้นๆ จานชามที่ถูกล้างแล้วจะถูกซ้อนเข้าไปข้างล่างสุดเพื่อที่ใบข้างบนจะถูกหยิบมาใช้ “คนบางคนล้างจานเสร็จก็วางคว่ำข้างบนเลย ไปๆ มาๆ จานใบข้างล่างไม่เคยถูกใช้เลย มดเข้าไปทำรังเสียหายไปอีก”

น้ำเดือดแล้ว พี่นิลรินน้ำมะตูมจากกาให้พวกเรา ผมหยิบปลากระป๋องขึ้นอีกครั้งก่อนถามว่า “เมนูโปรดของพี่นิลกับปลากระป๋องมีไหมครับ แบ่งปันให้ผมหน่อย”

พี่นิลหัวเราะ “ไม่ได้โปรดหรอก แต่มันทำง่าย อย่าไปทำกินเองเลย มันไม่อร่อยหรอก” อย่างไรก็ตามการปฏิเสธครั้งนี้ของพี่นิลไม่ได้ผล เมื่อเห็นท่าทีคะยั้นคะยอของผม “ตั้งไฟให้เดือด ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พอน้ำเดือด เอาปลากระป๋องใส่ ดอกแค และบวบหอม ฝานเปลือกสักหน่อย พอได้ที่เราก็ยกลง น้ำแกงเราก็กินได้ เนื้อก็ยุ่ยดี เหมาะกับคนฟันไม่แข็งแรงแล้วอย่างผม”

ผมนึกภาพตามกระบวนการที่พี่นิลว่า ถ้าเพิ่มน้ำพริกแกงส้ม มันก็คือแกงส้มนั่นเอง เพียงแต่เราไม่ใส่ข่าหรือตะไคร้ มันเหมือนอาหารข้ามสายพันธ์ุระหว่างต้มยำกับแกง แต่ถ้าคิดว่าเครื่องแกงส้มก็มาจากข่า ตะไคร้ พี่นิลก็เพียงแต่ถอดโครงสร้างมันออกมาและอาศัยน้ำขลุกขลิกในปลากระป๋องเป็นตัวสร้างรสชาติกับสมุนไพรเหล่านั้น

“นั่นคือตอนมีเวลานะ บางทีถ้ากำลังปลูกต้นไม้ติดพัน ผมก็แค่เทปลากระป๋อง บีบมะนาว เอาข้าวเหนียวจิ้ม ก็จบแล้ว 1 มื้อ”

“พี่นิลไม่นึกอยากอะไรเลยหรือ คิดจะมีครอบครัวอีกไหม” พี่นิลส่ายหน้า “ผ่านมาแล้ว รู้หมดแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ลองใหม่ก็เหมือนเดิม ก็ไม่ต้องไปทำมันซ้ำ หาอย่างอื่นที่มีประโยชน์ทำดีกว่า อะไรที่ตัดได้ก็ตัดไป”

สมัยหนุ่มพี่นิลเคยพบรักที่กรุงเทพฯ ภรรยาลามาคลอดที่บ้านเกิดของเขาที่อุดร กว่าพี่นิลจะลางานตามมาได้ ลูกก็โตแล้ว และเรื่องราวก็จบตรงนั้น สาวเจ้าพบรักอีกครั้งกับหนุ่มในหมู่บ้านและขอลูกไว้เลี้ยงเอง พี่นิลเป็นฝ่ายจากไปกลับเมืองกรุง สิ่งเดียวที่พี่นิลเก็บไว้น่าจะเป็นรูปภาพของลูกชายที่ยังตั้งอยู่ให้เห็นในเรือนนอน

“มนุษย์เราควรแสวงหาอิสรภาพให้มาก มีอะไรอีกหลายอย่างให้ได้เรียนรู้ ให้ได้ทำ การไปเสียเวลากับการสะสมอะไรมากเกินไป มันไร้สาระ มีนั่นก็อยากมีนี่ วุ่นวายไปไม่จบ ผมมาอยู่ที่นี่ 20 ปี สิ่งเดียวที่มีมากขึ้นน่าจะมีแต่ต้นไม้นี่แหละ”

ที่จริงแล้วต้นไม้ของพี่นิลน่าจะเติบโตและมีปริมาณมากกว่านี้หากจะไม่ถูกไฟจากการเผาหญ้าของชาวบ้านเล่นงานเมื่อหลายปีก่อน ยิปซีเล่าว่า ตอนไฟโหมแรงๆ พี่นิลทิ้งที่ตัวเองไปช่วยเพื่อนบ้านที่กำลังโดนไฟเล่นงาน พอกลับมาที่สวนตนเอง ต้นไม้หลายต้นก็มอดไหม้ไปแล้ว “ผมถามพี่นิลว่าทำอย่างไรละพี่ ไฟไหม้หมดแล้ว พี่นิลตอบสั้นๆ ปลูกใหม่

“พี่นิลใช้ทุกอย่างในชีวิตจากหลักสูตรนักธรรมเอกจริงๆ หรือ”ผมถามคำถามนั้นในขณะที่พี่นิลเดินมาส่งพวกเราที่รถ เครื่องมือทำถนนแบบเก่าที่เรียกว่าตีนช้างอันเป็นท่อนไม้และไม้จับวางอยู่บนถนนสายนั้น

“ใช่ มีทุกอย่างในนั้นแหละ มันคำสอนพระพุทธเจ้านะในนั้น มันมีทุกอย่างในนั้นแล้ว”

Writer

Avatar

อนุสรณ์ ติปยานนท์

นักเขียน นักแปล เจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่ม อาทิ ลอนดอนกับความลับในรอบจูบ, แปดครึ่งริคเตอร์, จุงกิงเซ็กซ์เพรส, เพลงรักนิวตริโน โดยปัจจุบันเขายังคงจริงจังกับการเขียนและมีผลงานต่อเนื่องในโลกวรรณกรรม