แม้จะอยู่ในเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ หากนอกจากการมีต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่ดีและพอมีพื้นที่ในการทำมาหากินอยู่บ้าง ว่าไปแล้วการเป็นประชากรชาวเชียงใหม่ก็ไม่ได้น่ารื่นรมย์อย่างที่สายตาคนนอกมองมาเท่าใด

หมอกควันเรื้อรังประจำปีก็หนึ่ง ขนส่งสาธารณะที่ควรจะมีกลับไม่มีก็อีกหนึ่ง (โอเค จะหาว่าเหมารวมไป เพราะเดี๋ยวนี้เรามีรถประจำทางจริงๆ เริ่มวิ่งให้บริการแล้ว) และไหนจะความแออัดยัดทะนานของเมืองที่ดันสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของคนในเมืองก็อีกหนึ่ง

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่ง

นั่นล่ะครับ พอได้ยินว่าเชียงใหม่กำลังขอขึ้นทะเบียนพื้นที่เมืองเก่าและดอยสุเทพเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก คำถามที่สำคัญมากกว่าที่ว่าเมืองเมืองนี้ยังเหลืออะไรพอจะได้เป็นมรดกโลก? ก็คือ ‘เราจะเป็นมรดกโลกไปทำไม?’

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

จริงอยู่เชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับนักท่องเที่ยว แต่มันเป็นคนละเรื่องสำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ ลำพังแค่ชีวิตประจำวันที่ต้องฝ่าฝันความหนาแน่นของทั้งคนเมืองด้วยกันเอง และไหนจะนักท่องเที่ยวอย่างไม่มีทางระบายแล้วจะเป็นมรดกโลกไปทำไมกัน หากคุณภาพชีวิตเราไม่ดี

ผมเคยตั้งคำถามเช่นนี้กับ คุณแสนเมือง บรรณาธิการบริหารนิตยสาร COMPASS พี่ที่ผมเคารพ ผู้ที่ยังเป็นที่ปรึกษาของหลากหลายโครงการเกี่ยวกับเมืองและสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ หนึ่งในนั้นคือ ‘คณะทำงานขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลก’ น่าสนใจที่คำตอบของพี่ท่านนี้เปลี่ยนมุมมองของผมที่มีต่อสถานะมรดกโลก

การที่จะได้เป็นหรือไม่เป็นมรดกโลกไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่กระบวนการที่เชียงใหม่ขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่างหากที่ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองมากทีเดียว คุณแสนเมืองบอก

ว่าแต่มันเกี่ยวกันอย่างไร?

1

เมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต

ก่อนจะไปถึงคำตอบว่ามันเกี่ยวกันอย่างไร ผมอยากชวนให้มาสำรวจคุณค่าของพื้นที่ประวัติศาสตร์อายุเจ็ดร้อยกว่าปีของเมืองนี้ ว่ามันเหมาะสมต่อการแต่งตั้งเป็นสมบัติของโลกแค่ไหนในเบื้องต้น

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

ขีดเส้นล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมืองรวมไปถึงพื้นที่ขอบนอกหนึ่งวง ก่อนจะขีดล้อมรอบผืนป่าบนดอยสุเทพทางทิศตะวันตกของเมืองที่รวมเอาวัดพระธาตุดอยสุเทพไปด้วยอีกหนึ่งวง นี่คือ 2 พื้นที่หลักที่คณะทำงานขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลกยื่นเสนอคณะกรรมการของยูเนสโก (เสนอเข้าสู่บัญชีเบื้องต้น หรือ Tentative List ผ่านทางกระทรวงวัฒนธรรมไปเมื่อปี 2558) ผ่านข้อเสนอสำคัญว่าพื้นที่เหล่านี้คือ ‘พื้นที่มรดกทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิต’ (Living Heritage) กล่าวคือยังคงเป็นพื้นที่ที่วิถีชีวิตแบบเมืองสมัยใหม่ซ้อนทับไปกับแหล่งโบราณสถาน และยังคงมีการสืบต่อคุณค่าจากครั้งอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

เป็นเรื่องชวนลังเลอยู่เล็กน้อยในการเลือกหมุดหมายต่อการเล่าถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ว่าควรจะเริ่มจากไหนดี ระหว่างที่ราบเชิงเขาอันเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน หรือดอยสุเทพ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อร่างสร้างเมือง หากด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่า ภายหลังกุบไลข่านนำทัพมองโกลเข้าตีอาณาจักรพุกามของพม่าใน พ.ศ. 1816 และมีความเป็นไปได้ว่าจะรุกรานทางตอนใต้ลงมาเรื่อยๆ พญามังราย กษัตริย์จากเชียงราย จึงเลือกลงมาตั้งราชธานียังที่ราบที่มีดอยสุเทพอันเป็นภูเขาต้นน้ำอยู่ทางตะวันตก และแม่น้ำสายใหญ่ (ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อแม่น้ำปิง) ทางทิศตะวันออก โดยล้อมรอบด้วยแนวเขาแอ่งกระทะอีกหนึ่งชั้น

ด้วยเชื่อว่าชัยภูมิดังกล่าวไม่เพียงจะเป็นปราการป้องกันการรุกราน หากยังเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้พญามังรายยังได้หยิบยืมภูมิปัญญาการจัดการน้ำและการวางผังเมืองทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก (ที่ล้อมรอบด้วยคูน้ำ ป้อมปราการ และกำแพง) มาจากอาณาจักรสุโขทัย และเพื่อนบ้านอย่างพุกาม จีน ไปจนถึงอาณาจักรทางใต้อย่างทวารวดี ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ เมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา บนพื้นที่ดังกล่าว

นับเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะด้วยเหตุปัจจัยบางประการ ทัพมองโกลไม่มีโอกาสเดินทางมาถึง ขณะเดียวกันเมืองเมืองนี้ก็มีการสืบทอดต่อกันหลายศตวรรษ ซึ่งแม้จะเคยถูกเพื่อนบ้านรุกรานจนร้างเมืองอยู่บ้างในช่วงเวลาหนึ่ง หากสุดท้ายเชียงใหม่ก็มีการฟื้นเมือง และยังคงมีชีวิตอยู่ได้ถึงปัจจุบัน

2

ทัวร์ส่องพระ 5 วัด

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

ห้อมล้อมของคูเมืองโบราณ ไม่ไกลจากประตูช้างเผือก-ประตูทางทิศเหนือของเมือง เราเริ่มต้นกันที่ ‘วัดเชียงมั่น’ วัดที่พบศิลาจารึกซึ่งบอกเล่าถึงการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ พื้นที่ซึ่งเดิมคือพื้นที่ที่พญามังรายใช้ประทับระหว่างการสร้างอาณาจักร ก่อนจะสถาปนาพื้นที่ให้กลายเป็นพระอารามหลวง ศูนย์กลางทางพุทธศาสนาของอาณาจักร  

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

ในกิจกรรม Chiang Mai Heritage Walk กิจกรรมเดินเท้าและนั่งรถรางสำรวจเมืองเก่าเชียงใหม่ ที่จัดโดยคณะทำงานขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลก ผศ. ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้นำชมและบรรยาย บอกเราว่า วัดเชียงมั่นหาใช่เป็นวัดแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น หากที่นี่ยังเป็นจุดเชื่อมร้อยอันสำคัญระหว่างศาสนาผีที่ชาวลัวะ (ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่เชิงดอยสุเทพมาก่อน) กับพุทธศาสนาที่พญามังรายรับมาจากอาณาจักรหริภุญชัยของลำพูน ก่อรูปจนเป็นพุทธศาสนาแบบล้านนาอันเป็นฐานความเชื่อแบบทั้งพุทธและผีของคนเมือง ที่ซึ่งทุกวันนี้ความเชื่อและประเพณีต่างๆ ก็ยังคงหลงเหลือเป็นที่ประจักษ์อยู่

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

พระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว พระพุทธรูปคู่เมืองเชียงใหม่ที่พญามังรายอัญเชิญมาจากลำพูน ภายหลังที่พระองค์ผนวกลำพูนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา คือรูปธรรมสำคัญของการรับพุทธศาสนามาเผยแพร่ในล้านนา เช่นเดียวกับเจดีย์ช้างล้อม เจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยมภายในวัดที่พญามังรายหยิบยืมคติความเชื่อเรื่องการมีรูปปั้นช้างล้อมเจดีย์ไว้รอบทิศทางมาจากสุโขทัย (วัดช้างล้อมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย)

“อัตลักษณ์ที่สำคัญของล้านนาคือการหยิบอิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจากที่ต่างๆ มาผสมผสานและประยุกต์เข้ากับความเชื่อและภูมิปัญญา จนสร้างความเฉพาะตัวสืบต่อมาถึงปัจจุบัน เจดีย์ช้างล้อมที่วัดเชียงมั่น รวมไปถึงแนวคิดในการวางผัง และศิลปกรรมอื่นๆ ภายในวัด เป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซที่เป็นต้นแบบให้กับพุทธสถาปัตยกรรมของวัดอื่นๆ รวมไปถึงเจดีย์หลวงของวัดเจดีย์หลวง เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดใจกลางเมืองที่ไม่เพียงจะมีรูปปั้นช้างล้อมรอบฐานเหมือนกัน หากส่วนยอดไม่หักโค่นไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าปลายยอดเจดีย์มีลักษณะเดียวกับเจดีย์ช้างล้อมแห่งนี้” ผศ. ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

บนรถรางขนาด 35 ที่นั่งของเครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม ที่ใช้รองรับนักท่องเที่ยวสำหรับกิจกรรมชมย่านเมืองเก่า (โครงการเขียวชมเมืองเชียงใหม่) ผศ. ดร.ชาญณรงค์ พาเราลัดเลาะผ่านถนนสายเล็กๆ ในย่านใจกลางเมือง ที่ซึ่งอาคารพาณิชย์สมัยใหม่ บ้านเรือน ร้านรวง และโรงแรมบูติกที่นำรูปแบบศิลปะล้านนามาใช้ในการออกแบบ ตั้งสลับกับวัดวาอารามที่ถูกสร้างขึ้นต่างยุคสมัยตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ก่อนที่รถรางมุ่งสู่ทิศตะวันตก ไปจอดภายในลาน ‘วัดปราสาท’

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2035 เหตุผลสำคัญที่รถรางมาจอดยังวัดแห่งนี้คือวิหารหลวงของวัด อันเป็นอาคารไม้สักทรงปราสาทโครงสร้างม้าต่างไหม (โครงสร้างการประกอบขื่อและคานไม้ของหลังคาที่ลดหลั่นกันขึ้นไปโดยไม่ใช้การตอกตะปูสักดอก โครงสร้างดังกล่าวจึงดูเหมือนม้าที่ต่าง หรือบรรทุกสิ่งของในอดีต) รวมไปถึงด้านหลังของวิหารที่มีซุ้มประตูโขงเชื่อมสู่อาคารก่ออิฐที่มีลักษณะคล้ายเจดีย์ซึ่งด้านหลังอาคารไม้ของวิหาร สถาปนิกล้านนา อธิบายโครงสร้างดังกล่าวว่า เป็นวิหารต่อซุ้มจระนำ อันเป็นรูปแบบวิหารดั้งเดิมของล้านนาที่ปัจจุบันแทบไม่เหลือให้เห็นแล้ว

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

จากวัดปราสาท เราเดินข้ามถนนเข้าสู่ ‘วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร’ วัดสำคัญอีกแห่งของเมือง (หากใครเคยเดินถนนคนเดินวันอาทิตย์และมองไปยังสุดทิศตะวันตกปลายถนน จะเห็นวัดแห่งนี้ตระหง่านอยู่ โดยมีทิวทัศน์ดอยสุเทพเป็นฉากหลังอยู่ลิบๆ) ในสมัยโบราณพื้นที่บริเวณวัดพระสิงห์เป็นตลาดมีชื่อว่าตลาดลีเชียงพระ ก่อนจะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานยังพื้นที่วัด ทำให้ต่อมาวัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อวัดพระสิงห์

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

พระพุทธสิหิงค์ไม่เพียงเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดองค์หนึ่งในล้านนา หากวิหารทรงเครื่องไม้สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปก็มีความสำคัญในเชิงศิลปกรรมไม่ต่างกัน โดยเฉพาะ ‘ลายคำ’ หรือลวดลายลงรักปิดทองบริเวณฉากด้านหลังของพระพุทธรูป รวมไปถึงลวดลายจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าวิถีชีวิตชาวล้านนาในอดีต

เรานั่งรถรางไปต่อยังสี่แยกใจกลางย่านเมืองเก่า มีวัดอีก 2 แห่งที่บอกเล่าความรุ่มรวยในพุทธศิลป์เก่าก่อนได้ดี นั่นคือ ‘วัดพันเตา’ ที่มีวิหารที่ซุ้มประตูไม้แกะสลักรูปนกยูงอันงดงาม ขณะที่ตัววิหารไม้สักทองโครงสร้างม้าต่างไหมของวัดก็เคยเป็นคุ้มหลวง (ที่ประทับ) ของพระเจ้ามโหตรประเทศ ผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีต หากเมื่อท่านสิ้นพระชนม์ ภายหลังก็มีการรื้อถอนคุ้มหลวงมาประกอบใหม่กลายเป็นวิหารเช่นในปัจจุบัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องสะท้อนภูมิปัญญาเชิงช่างของอาณาจักร

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

เชียงใหม่, เมืองมรดกโลก

ขณะที่วัดที่ตั้งอยู่ติดกันอย่าง ‘วัดเจดีย์หลวง’ เป็นสถานที่ตั้งเจดีย์อันเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่สุด เป็นแลนด์มาร์กของเมือง และเป็นศาสนาสถานที่สะท้อนความรุ่งเรืองถึงขีดสุดของพุทธศาสนาในอาณาจักร เจดีย์ที่มีฐานกว้าง 60 เมตร และสูงถึง 80 เมตร สร้างขึ้นมาในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ.1928) ก่อนที่รัชสมัยต่อมาจะมีการบูรณะด้วยการขยายขนาดของเจดีย์ขึ้นเรื่อยๆ จนมาหยุดที่ขนาดปัจจุบันในสมัยพระเจ้าติโลกราช (1984 – 2030) กระทั่งในปลายราชวงศ์มังรายก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ทำให้ส่วนยอดหักโค่นลงมาดังที่เห็นในปัจจุบัน

“ชาวบ้านสมัยก่อนเชื่อว่าการสร้างวัดคือการสร้างผลบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเราขึ้นสวรรค์ ทำให้นอกจากวัดที่พระมหากษัตริย์สร้าง เชียงใหม่ยังเต็มไปด้วยวัดที่ชาวบ้านสร้างด้วย ซึ่งไม่เพียงวัดจะเป็นที่ทำบุญ หากยังเป็นทั้งสถานศึกษา แหล่งรวมภูมิปัญญาเชิงช่าง และที่สำคัญคือ ศูนย์กลางหรือที่พบปะของผู้คนในชุมชน ซึ่งฟังก์ชันหลังของวัดก็ยังคงปรากฏอยู่ในหลายชุมชนทุกวันนี้” ผศ. ดร.ชาญณรงค์ กล่าว

บนพื้นที่ 3.2 ตารางกิโลเมตรของสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่มีวัดด้วยกันทั้งสิ้น 38 วัด (ไม่รวมวัดร้างหรือซากโบราณสถานที่เคยเป็นวัดอีก 5 แห่ง) ไม่เพียงคุณค่าโดยสังเขปจาก 5 วัดข้างต้นที่เล่าไป หากวัดเล็กๆ แห่งอื่นที่ซ่อนตัวอยู่ในเขตชุมชน รวมไปถึงวัดนอกเขตเมืองเก่าที่สำคัญๆ อย่างวัดสวนดอก วัดเจ็ดยอด วัดเกตการาม ไปจนถึงวัดต้นเกว๋นในอำเภอหางดง ที่ถึงแม้กาลเวลาและการบูรณปฏิสังขรณ์บางช่วงเวลาอาจลบคุณค่าหรือเปลี่ยนรูปแบบดั้งเดิมของพื้นที่ไปพอสมควร หากสิ่งปลูกสร้างที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ยังคงอยู่ และนี่คือเครื่องบ่งบอกรากเหง้าของเมืองที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรมเมืองนี้ได้ดี

3

คุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล

ในร่างเอกสารขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (Nomination Dossier) ที่คณะทำงานฯ มีแผนจะส่งถึงคณะกรรมการยูเนสโกภายในปี 2562 นี้ เชียงใหม่ได้กำหนดเกณฑ์ (Criteria) การพิจารณาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value: OUV) ไว้ 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้

เกณฑ์ข้อที่ 2 (ii) ที่ว่าด้วยการแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างชนชาติและการส่งอิทธิพลต่อเนื่อง ที่ซึ่งผังเมืองและระบบการจัดการชลประทานอันยั่งยืนของเมืองเป็นประจักษ์พยาน

เกณฑ์ข้อที่ 3 (iii) ที่คณะทำงานฯ เสนอ ‘ประเพณีล้านนา’ เป็นหลักฐานทางอารยธรรมที่มีการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ประเพณีล้านนาเกือบทั้งหมดก็ล้วนเชื่อมโยงกับสถานที่ โบราณสถาน รวมไปถึงชุมชนต่างๆ ภายในพื้นที่ที่ยื่นเสนอ (Property Zone) อีกด้วย

และเกณฑ์ข้อที่ 4 (iv) ที่ซึ่งสถาปัตยกรรมและงานศิลปกรรมภายในวัดวาอาราม สะท้อนการพัฒนาด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ของผู้คนในพื้นที่

พร้อมไปกับการประเมินและนำเสนอคุณค่า คณะทำงานฯ ยังต้องประสานความร่วมมือกับภาครัฐในการวางกรอบนโยบายการจัดการเมือง และสร้างกระบวนการการรับรู้และมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เพราะโจทย์สำคัญที่ยูเนสโกพิจารณาไม่ใช่แค่คุณค่า แต่เป็นกระบวนการบริหารจัดการเมือง รวมไปถึงแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนทั้งพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมือง และพื้นที่ดอยสุเทพอย่างยั่งยืน

“เราจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดกับหน่วยงานและผู้คนในชุมชนหลายครั้งมาก เพราะเวลาเราพูดถึงการเป็นมรดกโลก ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวชาวบ้าน บางคนยังคิดว่าถ้าเชียงใหม่เป็นมรดกโลก พวกเขาจะต้องย้ายออกจากเขตเมือง เพื่อกันพื้นที่ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์อย่างสุโขทัยไหม หรือบางคนก็ห่วงว่าเชียงใหม่จะเดินซ้ำรอยหลวงพระบางหรือเปล่า ที่พอประกาศแล้วพื้นที่ของคนท้องถิ่นก็ถูกแปลงให้รองรับนักท่องเที่ยวเกือบทั้งหมด” รศ. ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าคณะขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลก กล่าว

ไม่เพียงการสร้างความรับรู้ คณะทำงานยังชี้ชวนให้ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของที่แลกเปลี่ยนความเห็น และร่วมเสนอแนวทางในการจัดการเมืองร่วมกับหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างข้อตกลงในการดูแลเมืองที่ทุกคนพอใจ

“หัวใจสำคัญมีอยู่ 2 เรื่อง  เรื่องแรกคือ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานของเมืองค่ะ หลายคนบอกว่าเชียงใหม่แทบไม่เหลืออะไรให้อนุรักษ์แล้ว ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้เราก็จะไม่มีทางได้เริ่มอนุรักษ์กันเสียที และสุดท้ายก็อาจไม่เหลืออะไรจริงๆ

ขณะที่เรื่องที่สองคือ การเป็นมรดกโลก หรือกระบวนการที่จะได้มาซึ่งมรดกโลกเนี่ย มันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองได้ เพราะถ้าภาคประชาชนและภาครัฐมีข้อตกลงและเป้าหมายร่วมกัน พร้อมไปกับการสร้างกระบวนการอนุรักษ์ ภาครัฐก็ต้องปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาสาธารณูปโภคในเมืองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม ภาคประชาชนก็จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางการเจริญเติบโตของเมืองร่วมกับภาครัฐ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรขอขึ้นทะเบียนให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลก” รศ. ดร.วรลัญจก์ กล่าว

4

เป้าหมายไม่สำคัญเท่ากระบวนการ

สอดคล้องไปกับความคิดของคุณแสนเมือง และอาจารย์วรลัญจก์ ผมได้คุยกับ อาจารย์แฟน-อจิรภาส์ ประดิษฐ์ อาจารย์พิเศษสาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ ผู้ประสานงานคณะทำงานมรดกโลก คนรุ่นใหม่ผู้อยากเห็นเมืองเชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีกว่าเดิม เธอบอกผมว่า หากเชียงใหม่จะเป็นมรดกโลกหรือไม่ ก็ไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองที่กำลังจะเริ่มต้นนี้

“เป้าหมายของเมืองมรดกโลกมันไม่ใช่การอนุรักษ์แบบขึ้นหิ้ง หรือแช่แข็งโดยที่เราไม่ไปแตะต้อง แต่มันคือกระบวนการหาแนวทางร่วมกันว่าจะฟื้นฟูแหล่งมรดกให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนและเมือง หรือพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้มรดกโลกจึงเป็นคล้ายเครื่องมือในการสร้างข้อผูกมัดว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน จะร่วมหาทางพัฒนาและอนุรักษ์เมืองของพวกเราให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไปได้อย่างไร”

คล้ายการปักธงเอาไว้ และเริ่มเดินหน้าไปยังจุดหมาย แม้จะคิดในแง่ร้าย สุดท้ายเราอาจเดินไปไม่ถึงธง แต่นั่นก็หมายความว่าเราได้เดินออกจากจุดเดิมแล้ว อาจารย์แฟนเปรียบเปรย

ปัจจุบันคณะทำงานได้ส่งเอกสารข้อเสนอไปยังศูนย์มรดกโลก สำนักงานยูเนสโก ณ กรุงปารีส และได้รับการตอบกลับม พร้อมข้อเสนอแนะบางส่วน ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงแก้ไขเอกสารให้สมบูรณ์  ซึ่งคณะทำงานฯ มีเวลาในการปรับปรุงเอกสารอีก 6 ปี (ยูเนสโกกำหนดระยะเวลา 10 ปีในการเสนอชื่อภายหลังมีการประกาศ Tentative List ซึ่งเชียงใหม่ได้รับการประกาศไปเมื่อปี 2558) กระนั้นจากแผนที่วางไว้ คณะทำงานฯ ก็กำหนดจะส่งเอกสารเพื่อขอเข้ารับพิจารณาภายในปี 2019 นี้

“ไม่ได้หมายความว่าพอเราส่งเอกสารไป คณะทำงานเขาจะตอบรับเราเลย เพราะยังมีกระบวนการปรับทั้งเอกสารและกระบวนการจัดการอีก บางเมืองอาจใช้เวลาทำถึง 20 ปี (2 รอบ) หรือบางเมืองทำแค่ 2 ปี อย่างสิงคโปร์ (เสนอสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์) เพราะเมืองเขามีขนาดเล็ก มีกฎหมายและกรอบการทำงานที่ชัดเจน ดังนั้น เราต้องย้อนกลับมาดูว่าเชียงใหม่มีความพร้อมในด้านการจัดการอันถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการนี้แค่ไหน” อาจารย์แฟนอธิบายกระบวนการ

อาจารย์แฟนยังบอกผมว่า เป็นเรื่องดีหากเชียงใหม่ได้เป็นมรดกโลก หากส่วนตัวเธอคาดหวังแค่ว่า ด้วยกระบวนการที่คณะทำงานฯ ทำอยู่ จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจเชียงใหม่ในฐานะเมืองที่มีมิติด้านคุณค่าทางวัฒนธรรม ซึ่งในทางกลับกันหากไม่ได้มรดกโลกเราก็ยังได้แผนการจัดการที่ตระหนักถึงคุณค่าเมือง ซึ่งทุกคนเห็นด้วยและพร้อมที่จะนำไปใช้

“อันนี้มันมีคุณค่ายิ่งกว่าได้มงกุฎอีกนะ เพราะเราอย่าลืมว่าคนตัดสินใจจริงๆ เขาก็อาจไม่ได้เข้าใจคุณค่าของเราก็ได้ แต่เราในฐานะคนเชียงใหม่เองต่างหาก เข้าใจคุณค่าที่ควรจะรักษาของเรารึยัง” อาจารย์แฟนกล่าว

แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนที่อินกับรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เช่นคณะทำงานฯ แต่นั่นล่ะ ถึงเป็นเช่นนั้น ก็ไม่มีใครไม่ปรารถนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตในเมืองที่ดี – การมีภูมิทัศน์ของเมืองที่เห็นแล้วพึงใจ มีทางเท้าให้เดินอย่างปลอดภัย ทางเลือกในการใช้ขนส่งมวลชนประจำวัน รวมไปถึงการมีพื้นที่สาธารณะที่ใช้ได้จริง ฯลฯ

ไม่ว่าจะทางตรงหรือด้วยทางอ้อม หากมีช่องทางแม้สักนิดที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้ ขณะเดียวกันคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของเมืองก็ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างด้วย อย่างน้อยที่สุดเราก็ควรมีส่วนสนับสนุนให้มันเกิด ไม่ใช่หรือ

  • – คณะทำงานขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่มรดกโลกเกิดจากความร่วมมือของกลุ่มนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สถาปนิกผังเมือง และนักกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษา เครือข่ายชุมชนและภาคประชาชน รวมถึงเครือข่ายพิพิธภัณฑ์กลางเวียงเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามความคืบหน้าของคณะทำงานฯ ได้ที่ www.chiangmaiworldheritage.net และ www.facebook.com/chiangmaitoworldheritage/
  • รถราง ‘เขียวชมเมืองเชียงใหม่’ เป็นโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศประวัติศาสตร์โดยเครือข่ายเชียงใหม่ เขียว สวย หอม เปิดให้บริการนั่งรถชมวัด แหล่งมรดกของเมือง และต้นไม้ใหญ่ในเขตสี่เหลี่ยมคูเมือง 4 รอบต่อวัน (รอบละ 1 ชั่วโมง) เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: เขียวชมเมืองเชียงใหม่
  • อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับดอยสุเทพ พื้นที่อีกแห่งที่ได้รับการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ที่ readthecloud.co/scoop_doi_suthep/

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ