หนังสือนำเที่ยวหลายสำนักพากันเขียนจั่วหัวแนะนำเมืองตรินิแดด (Trinidad) ในประเทศคิวบา ไว้อย่างน่าตื่นเต้นว่า ‘ตรินิแดดเป็นเมืองที่เวลาหยุดเดิน’ เป็นการเปรียบเปรยว่า เมืองอายุ 500 ปีแห่งนี้ยังรักษาสภาพความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมเอาไว้โดยไม่สนใจกระแสโลก หากใครที่ไหนจะเปลี่ยนไปใช้รถอีวี แต่ที่นี่ยังมีม้า ลา ฬ่อ เป็นพาหนะหลัก จึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นป้ายระวังรถม้ามากกว่าป้ายระวังรถยนต์

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน
เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน
เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

เสียงกุบ กุบ กุบ ปลุกผมให้ลืมตาตื่นขึ้นในเช้าวันแรกที่เมืองนี้ ม้าตัวใหญ่ลำสันกำลังลากรถบรรทุกผู้โดยสารไปตามท้องถนน 

“มาที่นี่ ต้องนั่ง El Bus Cubano นะ ถ้าไม่นั่งถือว่าพลาด” นี่คือคำเชิญชวนกึ่งบังคับจากชาวเมืองด้วยความภูมิใจ ที่การขนส่งสาธารณะอันเป็นเอกลักษณ์ประเภทนี้ยังมีให้เห็นอยู่จนปัจจุบัน ว่าแล้วผมก็รีบโดดขึ้นไปร่วมนั่งรถเมล์สไตล์คิวบาบาปะปนไปกับพี่ๆ น้องๆ ชาวเมืองอย่างสนุกสนานเป็นโปรแกรมแรกของเช้าวันนั้น

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

หากจะชมทัศนียภาพของตรินิแดดให้เต็มตาตื่นใจแล้วล่ะก็ ผมคิดว่าเราต้องยอมออกแรงปีนกระไดไต่วนขึ้นไปยังยอดหอระฆังของวิหารซานฟรานซิสโก เด อาซิส (San Francisco de Asís) ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าคือเทือกเขาซิเอรา เดล เอสกัมไบรย์ (Sierra del Escambray) ที่โอบเมืองเก่าเอาไว้ในอ้อมกอด สีเขียวชอุ่มของป่ารกชัฏตัดกับสีอิฐตุ่นๆ ที่ย้อมเมืองมรดกโลกแห่งนี้ให้งดงาม และต้นเหตุของสีอันทรงเสน่ห์เหล่านี้มาจากหลังคาบ้านเล็กบ้านน้อยแทบทุกหลัง ล้วนมุงด้วยกระเบื้องดินเผาซึ่งเราเรียกกันว่ากระเบื้องราง 

กระเบื้องรางเป็นวัสดุก่อสร้างที่แพร่หลายในสเปนและโปรตุเกส และเป็นกระเบื้องที่พบได้กับสิ่งก่อสร้างทั่วไปในประเทศแถบแคริบเบียน อเมริกากลางและใต้ ซึ่งล้วนเคยเป็นอาณานิคมของทั้งสองชาตินี้มาก่อน นอกจากนี้ กระเบื้องรางยังเป็นกระเบื้องที่แพร่หลายไปทั่วโลก ด้วยความที่อาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสไม่ได้จำกัดอยู่เพียงทวีปอเมริกาเท่านั้น ที่ทวีปเอเชียก็มีทั้งฟิลิปปินส์ ทั้งรัฐโกอา (Goa) ในอินเดีย หรือเมืองมะละกา (Melaka) ในมาเลเซีย ฯลฯ นอกจากนี้กระเบื้องรางยังเป็นกระเบื้องชนิดเดียวกันกับที่ใช้มุงหลังคาอาคารชิโน-ยูโรเปียน ในเขตเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ตของเรามาตั้งแต่อดีตด้วยเช่นกัน

คิวบาเคยเป็นอาณานิคมสำคัญของจักรวรรดิสเปนมาก่อน ที่นี่จึงอุดมไปด้วยวัด โบสถ์ วิหาร และสิ่งก่อสร้าง อันเป็นสถาปัตยกรรมงามโดดเด่นมลังเมลืองมากมาย ซึ่งใครต่อใครหลายคนได้เคยเขียนบรรยายไว้หมดแล้ว วันนี้ผมเลยขออาสาพาผู้อ่านคอลัมน์ Heritage House ไปซอกแซกตามบ้านชาวคิวบาที่มักจะมีของเก่าของดีแอบซ่อนอยู่อย่างเหนียมอายให้เราได้ตื่นเต้น

สายๆ ของวันนั้น หลังจากที่ผมขึ้นไปชมเมืองตรินิแดดจากมุมท็อปวิวเรียบร้อยแล้ว ผมก็ลงมาเดินเล่นไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ ตามเส้นทางที่เงียบสงบ ไกลจากจตุรัสกลางเมือง แล้วผมก็พบกับคุณยายคนหนึ่งนั่งขายของอยู่เพียงลำพัง หน้าบ้านหลังเล็กแสนธรรมดา

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

แปะ แปะ แปะ คุณยายรีบปรบมือเรียกเพื่อชวนให้ผมแวะเข้ามาดูของที่ระลึก บนแผงมีตุ๊กตาพื้นเมืองและสินค้าจักรสานเล็กๆ น้อยๆ จำนวนหนึ่ง ตอนแรกผมไม่ได้สนใจจะซื้ออะไรเลย แต่แววตาของคุณยายทำให้ผมคิดว่าผมควรซื้ออะไรติดไม้ติดมือไปบ้าง แล้วผมก็ตัดสินใจซื้อตุ๊กตามาหนึ่งตัว

“ตุ๊กตาตัวนี้ชื่อลูลู-มารีลู มันมีสองด้าน ด้านหนึ่งเป็นผู้หญิงผิวขาว แล้วลองกลับหัวลง อีกด้านหนึ่งจะเป็นผู้หญิงผิวดำ ยายเล่นตุ๊กตาแบบนี้มาตั้งแต่เด็กๆ” คุณยายยิ้มอย่างดีใจ พร้อมชวนผมคุยด้วยภาษาสเปนอย่างช้าๆ เพื่อให้ผมเข้าใจ

“ร้อนไหม ไปแวะดื่มน้ำเย็นในบ้านยายก่อน มา ตามมา” คุณยายพูดพร้อมกับรีบจับมือพาผมให้เดินตามเข้าไปหลบร้อนภายในบ้าน ความจริงผมเกรงใจคุณยายมากๆ แต่ผมก็แอบดีใจที่จะมีโอกาสได้เข้าไปชมบ้านชาวคิวบาแท้ๆ

คุณยายรีบพาผมไปแนะนำตัวกับคุณตาผู้เป็นสามี คุณตากำลังนั่งเอาวิทยุแนบหูฟังข่าว คุณยายบอกว่าคุณตาสูญเสียการมองเห็นมานานหลายสิบปี หูก็ไม่ค่อยได้ยิน ตอนนี้อยู่ลำพังกันสองคน โดยคุณยายขายของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ บริเวณหน้าบ้านเพื่อหาเลี้ยงสองชีวิต

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

ระหว่างที่เราคุยกันอยู่นั้น ผมสังเกตเห็นเก้าอี้ที่คุณตากำลังเอนอยู่ เก้าอี้นี้เป็นของโบราณซึ่งเรียกขานกันว่า Planter’s Chair ที่จะมีพนักโปร่ง ทำจากวัสดุจักสานเพื่อช่วยระบายความร้อน ใช้สำหรับนั่งเอกเขนกพักเหนื่อยหลังจากเสร็จงานในไร่ 

Planter’s Chair จัดได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องเรือนในยุคอาณานิคมเลยดีทีเดียว ในตอนนั้นผมอยากบันทึกภาพเก้าอี้ตัวนี้ไว้มากๆ แต่คุณตากำลังนอนอยู่อย่างสบาย ผมจึงได้แต่มองและบันทึกไว้ในความทรงจำ และภาพประกอบที่ผมหามาให้ชมนี้เป็นภาพที่ใกล้เคียงกับเก้าอี้โบราณตัวนั้นมากที่สุด เป็นเก้าอี้ดีไซน์ในศตวรรษที่ 19 ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศหมู่เกาะ West Indies

บ้านคุณยายดูสะอาดและเรียบง่าย เครื่องเรือนที่ตกแต่งบ้านคุณยายส่วนใหญ่ล้วนทำจากไม้ เป็นของเก่าอายุนับร้อยปี และเป็นเครื่องเรือนยุคอาณานิคมในสมัยที่คิวบายังอยู่ภายใต้การปกครองของสเปน มีทั้งเก้าอี้โยก เก้าอี้ยาว และยังมี Planter’s Chair หลายแบบหลายยุคตั้งระเกะระกะอยู่อีก 3 – 4 ตัว

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

“คุณยายครับ ผมขออนุญาตถ่ายภาพคุณยายสักภาพสองภาพได้ไหมครับ” ผมเอ่ยปากถามด้วยความเกรงใจ แต่คุณยายรีบยิ้มหวาน

“มุชชาส กราเซียส” ผมรีบกล่าวขอบพระคุณอย่างดีใจ อย่างน้อยผมก็ได้ภาพติดกล้องมานิดหน่อย 

กระเบื้องปูพื้นบ้านคุณยายเป็นของเก่าดั้งเดิมที่มีลวดลายงดงามประณีต กระเบื้องชนิดนี้เป็นกระเบื้องซีเมนต์ที่อาจเรียกกันทั่วไปว่า Cement Tile แต่มีเอกสารหลายเล่มที่ระบุว่าในภูมิภาคนี้จะเรียกว่า Hydraulic Tile 

ในระหว่างศตวรรษที่ 15 – 19 ขณะที่คิวบายังเป็นอาณานิคมของสเปนอยู่นั้น สเปนได้ใช้คิวบาและเม็กซิโกเป็นฐานการผลิตกระเบื้อสำคัญของจักรวรรดิ สาเหตุที่ฐานการผลิตอยู่ที่นี่ก็เพราะค่าแรงถูก และสเปนเป็นชนชาติที่มีความชำนาญในการเดินเรือ จึงสามารถขนส่งกระเบื้องจากคิวบาไปยังดินแดนอาณานิคมต่างๆ ของตนเองทั่วโลก ศาสตร์การผลิตกระเบื้องจึงมีวิวัฒนาการสำคัญอยู่ที่นี่

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

เดิมสเปนผลิตกระเบื้องโดยนำดินเหนียว (Clay) มาขึ้นรูปในแม่พิมพ์ ก่อนนำไปเผาด้วยความร้อน จึงใช้เวลานานในการผลิต ลวดลายและสีสันก็มีจำกัด ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อความต้องการกระเบื้องขยายตัว จึงปรับวิธีมาใช้ซีเมนต์แทนดินเหนียว การผลิตกระเบื้อง Hydraulic Tile นั้น นับเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่ใช้เทคนิคการบีบอัดซีเมนต์ในแม่พิมพ์ด้วยพลังไฮดรอลิก เป็นกระบวนการผลิตเพื่อเร่งให้กระเบื้องคงรูปอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องนำไปผ่านความร้อน ใส่สีสันลวดลายต่างๆ เพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย พร้อมที่จะส่งออกไปยังดินแดนอาณานิคมต่างๆ ทั่วโลกในเวลาอันเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน 

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

ช่วงเวลาที่ผมอยู่คิวบา กิจกรรมหนึ่งที่สร้างความเพลิดเพลินก็คือการเดินสังเกตประเภทและลายของกระเบื้องที่ล้วนสวยงาม ไม่ว่าในร้านอาหาร ร้านขายของ หรือบ้านชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ที่บ้านคุณยายขณะนี้

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

“รอตรงนี้นะ เดี๋ยวยายจะไปเอาน้ำมาให้ดื่ม” คุณยายบอก ผมรีบปฏิเสธด้วยความเกรงใจ แต่ไม่ทันเสียแล้วเพราะคุณยายกำลังเดินไปหลังบ้าน ผมจึงรีบเดินตามคุณยายไป

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน
เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

 “โอ้โห” ผมร้องออกมาทันที ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผมคือ ตู้กรองน้ำแบบโบราณที่เราอาจจะพบเห็นได้ตามพิพิธภัณฑ์ในยุโรป แต่คุณยายยังใช้ตู้กรองน้ำชนิดนี้อยู่ในชีวิตประจำวัน 

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

ในตู้ไม้นั้นปรากฏอ่างหินปูน (Limestone) อยู่ด้านบน เป็นอ่างที่คุณยายจะนำน้ำที่ไปตักมาจากแม่น้ำมาเทใส่ แล้วรอให้น้ำค่อยๆ ซึมผ่านหินปูนเพื่อกรองเศษตะกอนสกปรกออก ก่อนที่น้ำใสๆ จะค่อยๆ หยดที่ละหยดลงมายังโถด้านล่าง อันเป็นโถเดียวกันกับที่คุณยายกำลังตักน้ำขึ้นมาส่งให้ผมดื่ม ณ เวลานั้น ผมรู้สึกว่าเวลาหยุดหมุนเข้าแล้วจริงๆ

“ขอบคุณมากๆ ครับคุณยาย ขอบคุณสำหรับน้ำดื่มและทุกๆ อย่างนะครับ” ผมดื่มน้ำเย็นอย่างชื่นใจก่อนบอกลาคุณยายด้วยความขอบคุณ ผมรู้สึกว่าผมโชคดีมากที่คุณยายชวนผมให้แวะบ้านหลักเล็กๆ หลังนี้ที่มีของดีซ่อนอยู่

เย็นวันนั้นผมนำตุ๊กตาลูลู-มารีลู ที่ซื้อจากคุณยายกลับมายังที่พัก ตุ๊กตาลักษณะนี้มีขายเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่ทั่วไปในคิวบา ตอนแรกผมคิดว่าลูลู-มารีลู คือชื่อตุ๊กตาที่คุณยายตั้งเอง แต่…

“ไม่ใช่ครับ มันคือชื่อของตุ๊กตาประเภทนี้ และเราเรียกอย่างนี้กันมานานแล้ว” เจ้าของบ้านที่ผมมาพักอยู่ด้วยเล่าให้ฟัง

ด้านที่เป็นตุ๊กตาผิวสีดำชื่อว่าลูลู (Lulù) ส่วนด้านที่เป็นตุ๊กตาผิวสีขาวชื่อว่ามารีลู (Marilù) เป็นตุ๊กตาที่เด็กๆ ชาวคิวบาเล่นกันมานาน และดีไซน์ของตุ๊กตาชนิดนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน

เข้าบ้านชาวตรินิแดด คิวบา ชมกระเบื้องและเครื่องใช้ยุคอาณานิคมในเมืองที่เวลาหยุดเดิน

“คิวบาเป็นพหุสังคมที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายสายพันธุ์และดูแตกต่างกันมาก เวลาเรานึกถึงคนญี่ปุ่น เราจะพอนึกหน้าตารูปร่างออกว่าเป็นแบบนี้ เหมือนกับเวลาเรานึกถึงคนจีนหรือคนยุโรป แต่คนคิวบาเป็นยังไง มันไม่มีภาพกลางๆ ที่พอจะนึกออกได้เลย ลูกหลานคิวบามีบรรพบุรุษที่เป็นทั้งยุโรปและแอฟริกัน ดังนั้นคนคิวบาบางคนผิวดำสนิท บางคนก็ขาวผ่องแบบสแปนิช และก็มีอีกมากมายที่ดูก็รู้ว่าเป็นลูกผสม แต่ทั้งหมดล้วนเป็นคนคิวบา” เจ้าของบ้านกล่าว

ดังนั้นตุ๊กตาลูลู-มารีลู จึงทำหน้าที่บอกน้องๆ หนูๆ ชาวคิวบาว่าเราเป็นลูกหลานที่มีบรรพบุรุษ 2 สายพันธุ์ ทั้งยังช่วยป้องกันการแบ่งแยกทางสังคมและการเหยียดเชื้อชาติได้อีก เพราะเด็กๆ คิวบาจะโตขึ้นมาด้วยการเล่นกับตุ๊กตาชนิดนี้จนคุ้นชินกับผิวทั้งสองสี พอโตขึ้นมาก็พร้อมจะเป็นเพื่อนกับทั้งคนผิวดำและขาว โดยไม่รู้สึกว่าใครแตกต่างจากใคร

ตุ๊กตาลูลู-มารีลู เป็นประดิษฐกรรมอายุนับร้อยปีที่ล้ำไหมครับ

คิวบามีของดีที่มักจะแอบซ่อนอยู่ในบ้าน ในร้านอาหาร ในบาร์ ฯลฯ อยู่เสมอ ของเก่าๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ได้รับรักษาไว้ แต่ยังนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย ของแต่ละอย่างก็ล้วนมีเกร็ดที่น่าสนใจ หากมาเที่ยวที่นี่แล้วต้องค่อยๆ ไปอย่างช้าๆ และซอกแซกเข้าไว้ ไม่เช่นนั้นอาจจะพลาดชมของดี

สำหรับผู้อ่านทุกท่าน ผมอยากเชิญชวนให้ลองสำรวจสิ่งของภายในบ้านว่ามีของดีของเก่าอะไรซ่อนอยู่บ้าง ลองรวบรวมและเก็บรักษาไว้เพื่อให้ลูกหลานในยุคต่อๆ ไปได้มีโอกาสชื่นชมและเรียนรู้นะครับ

ตรินิแดดเป็นเมืองที่ผมหลงรักและหวังอยู่เสมอว่าจะได้กลับไปท่องเที่ยวย้อนอดีตอีกสักครั้ง และเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงเมื่อไหร่ ผมจะคงจะได้ไปโดยไม่ต้อง #เที่ยวทิพย์ เช่นวันนี้

ไปด้วยกันไหมครับ

ขอขอบพระคุณ

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ผู้ช่วยสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ Hydraulic Tile และแนะนำเอกสารให้อ่านประกอบ

เอกสารอ้างอิง

Havana Tile Design โดย Mario Arturo Harnández Navarro

Hydraulic Mosaic โดย Institut de Promoció Cerámica

Writer & Photographer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK