“บ้านผมก็เป็นบ้านอยู่อาศัยธรรมดาๆ เท่านั้นนะครับ” เสียงทุ้มๆ ของชายวัย 79 ปีที่ยังดูแข็งแรงและสดใสเอ่ยขึ้นอย่างถ่อมตัว เมื่อผมขออนุญาตเข้าไปชมบ้านและร่วมพูดคุยด้วย วันนั้นคือวันอาทิตย์ที่ผมเดินทางไปยังคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ เพื่อทำบทความเกี่ยวกับโบสถ์หลังแรกของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในประเทศไทย เพื่อมานำเสนอผู้อ่าน The Cloud

“ไม่นะครับ ผมว่าน่าสนใจครับ น่าสนใจมากๆ” ผมแย้ง นัยน์ตาไม่สามารถละจากบ้านโบราณหลังสวยตรงหน้า ซ้ำยังเป็นบ้านที่อยู่ด้านหลังของโบสถ์สำคัญ ใกล้กันชนิดเดินไม่กี่ก้าวก็ถึง

“ถ้าอย่างนั้น เชิญได้เลยครับ” เมื่อสิ้นสุดประโยคนี้ ผมก็รู้ทันทีว่าผมได้รับความกรุณาจากเจ้าของบ้านเป็นที่เรียบร้อย

อาจารย์ชัยธวัชว์ ไทยง อดีตอาจารย์ประจำภาควิชามัธยม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ และกรรมการผู้จัดการบริษัทชัยทัวร์ จำกัด คือเจ้าของบ้านหลังที่ผมกำลังจะพาผู้อ่าน The Cloud เข้าไปเยี่ยมชม ณ วินาทีนี้

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

พื้นที่ประวัติศาสตร์

จากประตูบ้าน อาจารย์ชัยธวัชว์พาผมเดินผ่านสนามหญ้าที่ได้รับการดูแลอย่างดีสู่ตัวเรือน

“สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยตั้งอยู่บนสนามหญ้า ตรงที่เรากำลังเดินอยู่ตอนนี้” อาจารย์ชัยธวัชว์เริ่มเล่าเรื่องบ้านธรรมดาหลังนี้ อาจารย์เป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ 107 ของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ถนนประมวญ สีลม

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

เมื่อก่อนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยชื่อว่า ‘สำเหร่ บอยส์ คริสเตียน ไฮสกูล’ คณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนเริ่มตั้งโรงเรียนแห่งแรกขึ้นที่ชุมชนกุฎีจีนเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1852 ซึ่งถือว่าเป็นวันก่อตั้งโรงเรียนมาจนถึงทุกวันนี้ ในตอนนั้นยังเรียกว่า มิชชั่นสกูล หรือ บอยสกูล อยู่ ต่อมาเมื่อมีนักเรียนมีจำนวนมากขึ้น จึงย้ายจากกุฎีจีนมาที่นี่ 

ในราวๆ ค.ศ. 1890 ศาสนาจารย์เอกิ้น (Reverend John Anderson Eakin) ได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อมาเป็นครู ท่านต้องรับภาระดูแลทั้งโรงเรียนส่วนตัวของท่านที่กุฎีจีนและโรงเรียนสำเหร่ บอยส์ คริสเตียน ไฮสกูลแห่งนี้ไปพร้อมกัน ท่านจึงยุบรวมโรงเรียนทั้งสองมาไว้ที่สำเหร่เพียงแห่งเดียว จำนวนนักเรียนจึงเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ไม่พอ ท่านจึงต้องหาที่ดินแปลงใหม่ นั่นจึงเป็นที่มาของการย้ายโรงเรียนจากสำเหร่ไปยังถนนประมวญ สีลม

เมื่อสักครู่ขณะที่ผมเดินกลับออกมาจากโบสถ์ ผมได้เดินผ่านฐานตอม่อโบราณที่มีข้อความระบุไว้บนป้ายว่า “ฐานรากโรงเรียนสำเหร่ บอยส์ คริสเตียน ไฮสกูล ปัจจุบันคือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ปรากฏอยู่ริมรั้วโบสถ์ ซึ่งอยู่ติดกับริมบ้านของอาจารย์พอดี

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“ความจริงฐานรากของโรงเรียนสำเหร่ บอยส์ คริสเตียน ไฮสกูล ไม่ได้อยู่ตรงนี้มาแต่แรก ได้ย้ายมาจากตำแหน่งเดิมซึ่งตั้งห่างออกไปประมาณสิบกว่าเมตร เพราะตอนนั้นมีการก่อสร้างอาคารใหม่ตรงตำแหน่งนั้นพอดี คริสตจักรจึงตัดสินใจย้ายตอม่อมาตั้งไว้ตรงตำแหน่งปัจจุบันเพื่อรักษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชม ผมเองก็เป็นคนชอบทำสวนและดูแลต้นไม้ เมื่อก่อนเคยขุดดินลงไปเจอซากอิฐ ผมยังเคยคิดเลยว่าอิฐเหล่านี้อาจเป็นฐานรากเดิมของโรงเรียนก็เป็นได้” อาจารย์ชัยธวัชว์กล่าวขณะที่ผมมองไปรอบๆ สนามหญ้าและสวนสวยด้วยความรู้สึกตื่นเต้น นี่ผมกำลังยืนอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ชัดๆ 

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

ศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนฯ รุ่น 107 ได้กรุณาขยายความให้ผมฟังว่า เคยมีการสำรวจพื้นที่และสันนิษฐานว่าบริเวณฐานรากเดิมของโรงเรียนนั้นน่าจะอยู่แถวๆ สนามหญ้าของบ้านอาจารย์ และอาจครอบคลุมไปยังในบริเวณอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กันด้วย เช่น บริเวณที่ดินเปล่าข้างบ้าน สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของอาคารเรียนและโรงพิมพ์ อีกด้านหนึ่งที่เป็นลานจอดรถของโบสถ์ก็เคยเป็นอีกกลุ่มอาคารเรียน บริเวณบ้านอาจารย์เองก็เช่นเดียวกัน

การย้ายโรงเรียนไปยังถนนประมวญนั้นเกิดขึ้นประมาณ ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า คณะมิชชันนารีได้ตัดสินใจซื้อที่ดินของ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งราคาซื้อขายในขณะนั้นกำหนดไว้ที่ 17,500 บาท โดยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสมทบเป็นทุนประเดิมจำนวน 1,600 บาท มีการรวบรวมเงินบริจาคส่วนอื่น ๆ มาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งความช่วยเหลือจากคณะมิชชันนารีจากอเมริกาจนครบจำนวน

เมื่อโรงเรียนย้ายไปแล้วจึงก่อให้เกิดพื้นที่ว่างขึ้น และคณะมิชชันนารีได้ตัดสินใจจัดสรรและแบ่งพื้นที่ว่างเหล่านี้เพื่อแบ่งขายให้กับสมาชิกของคริสตจักรเพื่อจะได้มาอาศัยอยู่ใกล้ๆ กัน ก่อให้เกิดเป็นชุมชนคริสเตียนสำเหร่ และนั่นคือที่มาของบ้านหลังนี้

บ้านสถาปัตยกรรมวิกตอเรียนผสมผสาน

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

จากสนาม ผมเดินตามอาจารย์ชัยธวัชว์มาหยุดยืนมองตัวบ้านที่สีเหลืองขลิบเทาซึ่งสร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมวิกตอเรียน ความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมแขนงนี้ คือการตกแต่งอาคารอย่างอ่อนช้อยด้วยลวดลายเลียนแบบพฤกษาพรรณตามธรรมชาติ เช่น ลายน้ำ ลายเถาวัลย์ ลายดอกไม้ ฯลฯ ในกรณีนี้เราเห็นได้ชัดเจนจากเชิงชายฉลุลายประณีตเหนือหน้าต่างและระเบียงบริเวณด้านข้างของตัวบ้าน อีกสิ่งที่แสดงความเป็นวิกตอเรียนก็คือหน้าจั่วตัดที่หน้าบ้าน

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

สถาปัตยกรรมวิกตอเรียนพัฒนาขึ้นในอังกฤษช่วง ค.ศ. 1837 – 1901 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อันเป็นช่วงที่จักรวรรดิอังกฤษกำลังรุ่งเรืองและมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก จึงส่งผลให้สถาปัตยกรรมแขนงนี้แผ่ขยายไปทั่วโลกด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายแห่งก็สร้างขึ้นตามแบบวิกตอเรียน ตัวอย่างที่เรารู้จักกันดีก็คือพระที่นั่งวิมานเมฆ

“บ้านหลังนี้สร้างขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2467 ตัวบ้านและที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวคุณแม่ (คุณครูการุญรัตน์ ไทยง – สกุลเดิม วีรเธียร) มาแต่เดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2470 เมื่อคุณแม่แต่งงาน บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นเรือนหอของคุณแม่และคุณพ่อ (ศาสนาจารย์เล็ก ไทยง) ในที่สุด” อาจารย์กล่าว

พ.ศ. 2468 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สวรรคต และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ บ้านหลังนี้จึงเป็นรอยต่อทางสถาปัตยกรรมของ 2 รัชกาล และมีนัยทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ

สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงที่สถาปัตยกรรมจะมีลายฉลุที่อ่อนช้อยหรูหราปรากฏไปทั่วทั้งอาคาร ซึ่งเป็นไปตามพระราชนิยมที่สืบเนื่องมาจากสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 รูปแบบทางสถาปัตยกรรมโดยรวมจะเปลี่ยนไป โดยลดทอนลวดลายหรูหราลง เน้นเพียงความเรียบโก้ ทั้งนี้เป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังประสบปัญหาจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1 ตามด้วยการพังทลายของตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกา จนเกิดวิกฤตทางการเงินแผ่ขยายไปทั่วโลก

ตัวอย่างความผสมผสานที่เห็นได้จากบ้านหลังนี้คือ หน้าจั่วเป็นหน้าจั่วตัดและเชิงชายฉลุไม้ลายละเอียดอ่อนช้อยนั้น เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 ในขณะที่ลายลูกกรงและลายแผงไม้ใต้หลังคานั้นกลับเป็นลายเรียบๆ เลียนแบบรูปทรงเรขาคณิตอันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 7

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

สำหรับหน้าต่างบานกระทุ้งนั้น แม้จะเป็นบานกระทุ้งตามแบบสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 5 และ 6 แต่มีขนาดกว้างกว่าต้นแบบในอดีต จึงถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 7

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

สำหรับผนังด้านนอกตัวบ้านนั้น เป็นผนังตีทับแนวทางตั้ง เพราะเส้นแนวตั้งจะช่วยนำสายตาให้รู้สึกว่าตัวบ้านดูสูงโปร่งและเด่นสง่า ส่วนหลังคานั้นเป็นหลังคาปั้นหยาทรงสูง ซึ่งขณะนั้นกำลังเป็นที่นิยมในประเทศแถบร้อนชื้น เพราะจะก่อให้เกิดพื้นที่ว่างเหนือฝ้าเพดาน คอยทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนจากแสงแดดไม่ให้แผ่ลงมาถึงตัวบ้าน และยังลาดเอียงเพื่อระบายน้ำฝนได้อย่างรวดเร็ว ส่วนหน้าจั่วตัดที่จะยื่นคลุมเหนือห้องนอนหลัก (Master Bedroom) ก็ช่วยทำหน้าที่กันแดดกันฝนเช่นกัน บนหน้าจั่วตัดยังปรากฏเป็นรูปดอกไม้สี่กลีบขนาดใหญ่ในวงกลม เลียนแบบหน้าต่างรูปวงกลมตามแบบสถาปัตยกรรมโกธิก ซึ่งคล้ายคลึงกับลายที่ปรากฏอยู่บนหน้าบันของโบสถ์และบนผนังภายนอกหอระฆังที่ตั้งอยู่หน้าบ้าน

เพื่อให้เห็นภาพของสำเหร่ในสมัยก่อนว่าไกลและไปยากขนาดไหน รวมทั้งบรรยากาศของบ้านหลังนี้ในวันที่กลายมาเป็นเรือนหอ ผมขอถ่ายทอดสิ่งที่ คุณเสถียร ตามรภาค ศิษย์เก่ากรุงเทพคริสเตียนฯ รหัส 1928 ซึ่งได้บันทึกไว้ว่า

“ในวันที่อาจารย์เล็กจะทำการสมรสกับคุณครูการุญรัตน์ วีรเธียร นั้น บ้านของเจ้าสาวตั้งอยู่ที่ตำบลสำเหร่ ขณะนั้นรกเป็นป่า อาจารย์เล็กทราบดีว่าหากไม่ใช้แรงงานช่วยกันทำความสะอาดแล้วคงจะเรียบร้อยได้ยากมาก อาจารย์เล็กจึงไปขออนุญาตต่อท่านอาจารย์ เอ็ม. บี. ปาล์มเมอร์ เพื่อให้นักเรียนประจำชั้นมัธยมปีที่ 8 ไปช่วย และอาจารย์ปาล์มเมอร์ก็อนุมัติให้ตามคำขอ พวกเราต้องนั่งรถรางไปลงที่บางคอแหลมแล้วลงเรือจ้างข้ามไปยังสำเหร่ เมื่อไปถึงบ้านก็ช่วยกันวัดและกะว่าแต่ละคนจะต้องดายหญ้ากี่ตารางเมตร คำนวณเสร็จแล้วก็รีบลงมือจนแล้วเสร็จก่อนเที่ยง อาจารย์เล็กและครูการุญรัตน์เลี้ยงขนมจีนแกงไก่เป็นอาหารเที่ยง ซึ่งนานๆ พวกเราจะได้รับอาหารอร่อยอย่างนี้สักครั้ง ตอนบ่ายก็ขัดบันไดกับพื้นบ้านให้เสร็จก่อน 17.00 น. เมื่อข้าพเจ้ามาเยี่ยมบ้านหลังนี้ทีไรก็จะนึกถึงวันนั้นเสมอ” 

นอกจากจะได้จินตนาการถึงบรรยากาศแล้ว ผมว่าเรายังสัมผัสได้ถึงความผูกพันที่ครูและศิษย์กรุงเทพคริสเตียนฯ ต่างมอบให้กันและกันอันเป็นสิ่งที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง

“สมัยผมเด็กๆ ทุกเช้าผมก็ต้องไปรอข้ามเรือจากท่าที่หน้าโบสถ์ไปฝั่งพระนคร แล้วค่อยต่อรถรางไปโรงเรียนเหมือนกัน” อาจารย์เล่า

สิ่งสำคัญที่อยู่คู่บ้านหลังนี้คือต้นอโศก (กามนิตวาสิฏฐี) ที่อาจารย์ระลึกได้ว่า “เห็นตั้งแต่เกิด” เป็นที่น่าเสียดายว่าต้นเดิมได้หมดอายุขัยไปเสียแล้ว ยังโชคดีที่มีต้นใหม่เกิดขึ้นจากหน่อของต้นเดิม โดยอาจารย์ได้เฝ้าประคบประหงมดูแลจนเติบโตสูงใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

การอนุรักษ์อาจไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงตัวบ้าน แต่หมายถึงการอนุรักษ์ของคู่บ้านเอาไว้ด้วย เพื่อช่วยให้รำลึกถึงบรรยากาศแห่งวันวานได้อย่างมีความสุข อย่างเช่นการอนุรักษ์ต้นไม้คู่บ้านต้นนี้

บ้านหลังโบสถ์

หลังจากยืนชมสถาปัตยกรรมจากภายนอกกันอยู่พักใหญ่ อาจารย์ชัยธวัชว์ได้กรุณาชวนผมขึ้นไปชมภายในบ้าน เมื่อก้าวพ้นกระไดไม้ขึ้นมา ก็จะพบกับโถงโปร่งโล่งที่ล้อมไปด้วยระเบียงขาวและแผงไม้ใต้หลังคารูปสามเหลี่ยมตามแบบลายเรขาคณิต อันเป็นไปตามลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 7 มีโคมไฟโบราณประดับอยู่และยังใช้งานได้ดีจนปัจจุบัน

“มุมนี้เป็นมุมนั่งเล่นและสังสรรค์กันในหมู่สมาชิกครอบครัว มีลมจากแม่น้ำพัดมาทั้งวัน ที่สำคัญคือมองออกไปก็เห็นโบสถ์และหอระฆัง” อาจารย์เล่าขณะที่ผมยืนรับลมเย็นพร้อมมองกลับไปยังโบสถ์โบราณ ทัศนียภาพและบรรยากาศแบบนี้สร้างความรู้สึกสุขสงบมากๆ

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ
บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

จากโถง เราเดินตามอาจารย์ไปยังห้องกลางของบ้านซึ่งมีตู้ไม้ทรงยุโรปตั้งอยู่ ตู้ไม้ชนิดนี้เป็นสิ่งที่เรียกกันว่าตู้เกลียว ด้วยมีไม้กลึงเป็นทรงเกลียวประดับที่ขอบ ตู้เกลียวเป็นเครื่องเรือนที่นิยมกันมากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลอื่นๆ สืบต่อมา เดิมเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมา มหาเสวกเอก จางวางเอก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัง ได้ริเริ่มธุรกิจผลิตตู้เกลียวเพื่อทำเป็นเครื่องเรือนและโต๊ะเครื่องแป้งจัดจำหน่าย จึงทำให้ตู้เกลียวกลายเป็นสินค้าฝีมือคนไทยที่ขายดีมากๆ

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“ตอนแรกก็ไม่ทราบว่ามีที่มาจากไหน หลานสาวมาลองหาดู ก็พบป้ายที่ระบุว่าเป็นตู้โบราณผลิตจากเยอรมนี ในตู้เก็บเครื่องกระเบื้องดั้งเดิม อย่างถ้วยกาแฟ จาน ชาม เพราะเมื่อก่อน เวลามีฝรั่งมิชชันนารีมาทำพันธกิจที่คริสตจักร พอท่านเทศนาเสร็จ เราก็เชิญท่านมาทานข้าวที่บ้านเป็นประจำ การเป็นบ้านหลังโบสถ์ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ที่มาทำพันธกิจกับโบสถ์ไปด้วย ต้องดูแลว่าท่านได้ทานข้าวไหม มีที่พักไหม มีอะไรที่เราพอช่วยท่านเหล่านั้นได้บ้าง เวลามีมิชชันนารีหรือแขกมาจากโบสถ์ คุณพ่อคุณแม่จะให้ผมก็ต้องเป็นคนเสิร์ฟ เก็บโต๊ะ คือทำหน้าที่บริกรเต็มรูปแบบเลย รวมทั้งล้างถ้วยล้างจานทุกใบด้วย ภาพจำของผมคือมิชชันนารีฝรั่งจะมาทานอาหารที่บ้านเราอยู่เสมอ” อาจารย์ชัยธวัชว์รำลึกเหตุการณ์ในอดีต

ใกล้ๆ กับตู้เกลียวมีเปียโนไม้หลังงามตั้งอยู่ ผมคิดว่าต้องเป็นของมีประวัติแน่ๆ และก็ได้คำตอบที่น่าสนใจ

“เปียโนเป็นเปียโนโบราณครับ ตอนแรกผมก็ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีความเป็นมาอย่างไร หลานสาวของผมเพิ่งมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูล แล้วก็พบว่าเปียโนทรงนี้เรียกว่าเปียโนทรงโลงศพด้วยรูปลักษณ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุเรียบร้อยแล้วที่อเมริกา” อาจารย์เล่า 

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

วันหนึ่งอาจารย์และหลานสาวได้ลองเปิดฝาเปียโนออกแล้วพบแผ่นโลหะแผ่นหนึ่งปรากฏเป็นตัวอักษรสลักไว้ว่า ‘Hickstein Piano Company’ อาจารย์และหลานสาวจึงได้ลองสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจนพบว่าบริษัทฮิกชไตน์ เป็นบริษัทเล็กๆ ตั้งอยู่ที่เมืองออเบิร์น รัฐนิวยอร์ก และเปียโนทรงโลงศพเป็นทรงที่นิยมมากในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในสมัยนั้นเปียโนเป็นสินค้าราคาสูง อาจเทียบเท่าราคาบ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่งเลยทีเดียว บริษัทนี้จึงใส่ใจผลิตทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ได้เปียโนคุณภาพดีที่สุด แต่ละปีจึงผลิตได้เพียงปีละไม่กี่หลังเท่านั้น เปียโนแต่ละหลังจึงเปรียบประหนึ่งงานประณีตศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยมือล้วนๆ เป็นที่น่าเสียดายว่าบริษัทฮิกชไตน์ดำเนินธุรกิจอยู่เพียงระยะหนึ่งก็ล้มเลิกกิจการไป แต่ผลงานของบริษัทนี้กลับกลายเป็นงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าของนักสะสมด้วยมีจำนวนจำกัด แต่สำหรับบ้านหลังนี้ เปียโนเป็นสิ่งที่สูงด้วยคุณค่ามากกว่ามูลค่า เพราะเป็นสิ่งที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นเปียโนที่เคยบรรเลงให้มิชชันนารีฟัง และยังทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับสมาชิกครอบครัวอยู่จนทุกวันนี้

จากห้องกลาง เราเดินบนพื้นไม้ที่ให้ความรู้สึกเย็นสบายต่อไปยังห้องหนังสือที่อยู่ติดกัน เหนือตู้ไม้สีขาวมีตะเกียงโบราณทรงสวยตั้งอยู่

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“อันนี้เป็นตะเกียงแก๊สครับ เมื่อก่อนที่บ้านไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ต้องใช้ตะเกียงแก๊สแบบนี้ให้แสงสว่างเวลากลางคืน สำเหร่เป็นป่าเป็นสวน เงียบและมืดมาก ต่างกับฝั่งพระนครโดยสิ้นเชิง ลองจินตนาการดูว่าเป็นอย่างไร” อาจารย์เล่ายิ้มๆ แม้จะลำบากอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าผมเห็นภาพชีวิตที่เต็มไปด้วยความสงบสุขขณะนั้น

ของดีที่ควรสังเกตในห้องหนังสือก็คือลูกบิดประตูยี่ห้อคอร์บิน (Corbin) ซึ่งเป็นลูกบิดนำเข้าตั้งแต่สมัยมิชชันนารีอเมริกันเดินทางมาสู่ประเทศไทย ลูกบิดทรงนี้สันนิษฐานว่าเป็นของสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อนำมาสร้างบ้านพักให้เหล่ามิชชันนารีมิชชันนารีในขณะนั้น 

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“เคยมีสถาปนิกอนุรักษ์มาเห็นลูกบิดที่ห้องนี้เข้า เขาบอกว่าเคยเจอลูกบิดลักษณะเดียวกันนี้ที่คุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือที่เมืองแพร่ อย่างที่คุ้มวงศ์บุรีด้วย” อาจารย์ถ่ายทอดสิ่งที่หลานสาวได้รับข้อมูลมาอีกต่อหนึ่งให้ผมรับรู้

ของดีอีกอย่างที่ตั้งอยู่ตรงหน้าตู้ก็คือจักรซิงเกอร์ (Singer) รุ่นแรกๆ ที่วันนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เย็บผ้าอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระเยซูและไม้กางเขนอย่างงดงามและลงตัว

“ในฐานะที่ตอนนี้เราก็อยู่ในห้องหนังสือกันแล้ว ถ้าผมจะขอให้อาจารย์เลือกหยิบหนังสือสักเล่มที่อาจารย์คิดว่าน่าสนใจ ไม่ทราบว่าจะเป็นเล่มไหนครับ” ผมลองสอบถาม

ไม่กี่วินาทีอาจารย์ก็นำหนังสือเล่มกะทัดรัดออกมาเปิดให้ดู ภายในเล่มบรรจุลายลูกไม้สวยๆ มากมาย

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่รวบรวมลายลูกไม้ต่างๆ 174 ลายที่คุณแม่ออกแบบและประดิษฐ์ขึ้น คุณแม่ติดลายลูกไม้เหล่านั้นลงไปทีละหน้า บางลายก็จะอธิบายว่าประดิษฐ์ขึ้นได้อย่างไร” อาจารย์เล่าถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ ผมขออนุญาตพลิกชมไปทีละหน้า ลวดลายลูกไม้ที่สวยงามมีอยู่หลากหลาย บางลายดูซับซ้อน ผู้ประดิษฐ์ต้องมีความสามารถสูงมาก ที่สำคัญคือหนังสือได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีจนลายลูกไม้ยังไม่หมองและมองเห็นลายชัดเจน

จากห้องหนังสือ อาจารย์ชวนผมขึ้นไปข้างบนเพื่อไปชมห้องนอนหลักหรือ Master Bedroom ที่อยู่ใต้หน้าจั่วตัดพอดี ความจริงผมเกรงใจอาจารย์มากๆ ด้วยบ้านนี้หลังเป็นบ้านส่วนบุคคล ต้องนับเป็นความกรุณาของอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่อนุญาตให้ผมขึ้นไปชม

ห้องนอนหลักมีบานกระทุ้งล้อมรอบอยู่ทุกทิศเพื่อรับลมเย็นจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นบานกระทุ้งสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีขนาดกว้างกว่ายุคก่อนหน้านี้ 

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“เมื่อก่อนบ้านมีเจ็ดห้อง คือห้องนอนคุณพ่อกับคุณแม่ แล้วก็ห้องนอนลูกๆ ทั้งห้าคน เตียงนี้เดิมก็เป็นเตียงเก่าที่ท่านใช้มาก่อน เดิมมีเสาสูงสี่เสาอยู่ทุกมุมเตียง ด้านบนมีหลังคาและมีมุ้งโรยตัวลงมาคลุมทั้งสี่ด้าน ผมเคยไปที่พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี แล้วมีโอกาสเห็นพระแท่นบรรทมที่พบในพระตำหนักเพ็ชรภูมิไพโรจน์ ก็พบว่ามีลักษณะคล้ายเตียงหลังนี้มาก เมื่อคุณพ่อเสีย ผมก็กรุมุ้งลวดที่หน้าต่างเพื่อกันยุง ต่อมาก็ตัดสินใจกรุกระจกโดยรอบเพื่อติดเครื่องปรับอากาศแทน เลยไม่มีความจำเป็นต้องใช้มุ้งอีกต่อไป นานๆ เข้าเตียงก็เริ่มเสื่อมสภาพและทรุดลง ผมเลยตัดสินใจเลื่อยเสาทั้งสี่มุมออกรวมทั้งหลังคาของเตียงด้วย เพื่อรักษาเตียงเอาไว้ แต่ตอนนี้ผมไม่ได้นอนห้องนี้แล้ว เพราะเตียงสูง ขึ้นลงลำบาก ขาและเข่าผมก็ไม่ค่อยดี อายุก็มากขึ้น ผมเลยย้ายไปนอนห้องข้างๆ แทน” อาจารย์เล่าให้ฟังพร้อมชี้ให้ชมเตียงโบราณที่ตั้งอยู่

เราเดินกลับลงมาที่โถงหน้าบ้านเพื่อสนทนาเกี่ยวกับบ้านหลังโบสถ์หลังนี้กันต่อ ลมแม่น้ำยามบ่ายยังคงพัดมาให้รู้สึกชื่นใจคลายร้อน

“คุณพ่อคุณแม่สอนลูกๆ เสมอว่าต้องรับใช้คริสตจักรอย่างเต็มที่ มีอะไรที่ทำได้ต้องลงมือทำ บ้านเราอยู่ใกล้โบสถ์ ยิ่งต้องทำหน้าที่นี้” อาจารย์เล่า

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ เป็นคริสตจักรแรกๆ ที่มีกิจกรรมอันเรียกว่า ค่ายอาสาพัฒนา หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า Work Camp มาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 และถือว่าเป็นผู้บุกเบิกกิจกรรมลักษณะนี้ในประเทศไทย ผู้เข้าค่ายทุกคนจะมาพักค้างด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น 7 วัน เป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมกันทำงานต่างๆ เช่น ทำความสะอาด ปลูกและตกแต่งต้นไม้ พัฒนาบริเวณรอบๆ คริสตจักร ทาสีโบสถ์ ซ่อมแซมอาคารและเครื่องเรือน ทำเขื่อนดินกั้นน้ำ ฯลฯ มีการศึกษาพระคัมภีร์และฝึกฝนตนตามวิถีคริสเตียนที่ดี รวมทั้งกิจกรรมสันทนาการที่มีทั้งดนตรีและกีฬาเป็นส่วนประกอบด้วย กิจกรรมนี้จะมีอนุชนจากคริสตจักรอื่นๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

“ผู้ชายจะพักที่อาคารเตียงหยก ข้างๆ โบสถ์ ส่วนผู้หญิงก็จะมาพักที่บ้านของเรา เมื่อก่อนไม่มีน้ำประปา ข้างๆ บ้านเป็นคลอง ผมกับพี่ๆ ก็จะช่วยกันเอาปี๊บไปตักน้ำจากคลอง ขนกลับมาเติมลงไปในตุ่ม มีตุ่มกว่าสี่สิบใบตั้งอยู่รอบบ้าน ต้องเติมให้เต็มทั้งหมด เอาไว้ใช้อาบ ต้องแกว่งสารส้มให้น้ำใสสะอาด ใส่คลอรีนฆ่าเชื้อ ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวก็ต้องต้มให้ร้อนผสมให้เป็นน้ำอุ่นเพื่อให้อาบ ส่วนน้ำดื่มนั้น ผมต้องรองน้ำฝนเก็บไว้ในถังใบใหญ่ เพื่อสำรองไว้ด้วย นอกจากนี้ก็ช่วยกันทำอาหารเพื่อเลี้ยงดูสมาชิกที่มาพักที่บ้านเรากันทุกคน” อาจารย์รำลึกถึงความหลัง

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“แขกของคริสตจักรอย่างมิชชันนารีที่ท่านเดินทางมาจากต่างประเทศ เราก็ช่วยต้อนรับดูแลให้ท่านได้พักค้างอ้างแรม รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารอย่างที่เล่าไป ผมอยู่ใกล้โบสถ์ก็ไปทำความสะอาดที่โบสถ์เป็นประจำ ไปกวาดพื้น ถูพื้น ต้องก้มลงถูด้วยมือนะครับ จะได้มั่นใจว่าสะอาดแน่ๆ บางทีที่โบสถ์ขาดดอกไม้ เราก็ต้องรีบไปหามาจัดแต่งไว้ให้สวยงามเพื่อใช้ในพิธีสำคัญได้ทัน” บทบาทของการเป็นบ้านหลังโบสถ์คือการทุ่มเทด้วยความช่วยเหลือ เพื่อให้พันธกิจของคริสตจักรดำเนินต่อไปได้อย่างที่อาจารย์เล่าไว้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีสมาชิกของค่ายอาสาพัฒนาของคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ รุ่นใหม่ๆ ร่วมมือสานต่อกันอย่างแข็งขัน

“สิ่งที่บ้านหลังนี้ยังรักษาไว้เป็นประเพณีก็คืองานคริสต์มาสที่จัดอยู่ต่อเนื่องเป็นประจำ ทุกวันที่ 24 ธันวาคม เป็นสิ่งที่คุณพ่อ (ศาสนาจารย์เล็ก ไทยง) ได้ริเริ่มไว้และก็ฝากผมไว้ว่า ถ้าวันหนึ่งพ่อไม่อยู่แล้วก็ฝากให้เปิดบ้านในวันคริสต์มาสต่อไปนะ ให้พี่ๆ น้องๆ ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมสังสรรค์กัน เราก็เลี้ยงแขกกันที่สนามตรงนี้เลยครับ แขกมากันสองร้อยกว่าคน ทำเป็นอาหารบุฟเฟต์ มีอาหารหลายชนิด ลูกๆ หลานๆ ก็มาช่วยกันหมด แขกส่วนมากก็มีทั้งสมาชิกในชุมชนที่มาโบสถ์เป็นประจำ ลูกศิษย์ของผมจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ คณาจารย์และบุคลากรจากจุฬาฯ น้องๆ จากชัยทัวร์ แล้วก็สมาชิกจากโบสถ์คริสเตียนอื่นๆ ที่สนิทสนมคุ้นเคย สมัยก่อนเวลาคริสต์มาสก็จะมีคนแวะมาหามาทักทายพ่อ มาร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและเพลงคริสต์มาสต่างๆ พ่อก็เลยทำอาหารไว้คอยเลี้ยงต้อนรับเพื่อขอบคุณที่พวกเขาแวะมาเยี่ยมเยียนกัน บ้านเราเป็นบ้านที่พร้อมจะต้อนรับผู้อื่นเสมอ ก็อยากให้ให้รักษาประเพณีนี้ไว้ต่อไป” อาจารย์กล่าวพร้อมเชิญชวนให้ผมมาร่วมงานวันสำคัญที่บ้านในปีหน้า ซึ่งผมน้อมรับด้วยความขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

วิชาดูแลรักษาบ้าน

ก่อนจากกัน ผมถามคำถามสุดท้ายกับอาจารย์ว่าด้วยเรื่องการดูแลรักษาบ้านโบราณหลังนี้

“การดูแลบ้านความเก่าจริงคือต้องดูแลทุกวัน ทำความสะอาดสม่ำเสมอ หมั่นปัดกวาดเช็ดถูเสมอๆ เพราะเราเองก็อยู่ในบ้านหลังนี้ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดคราบ เกิดรอย การทำความสะอาดเป็นประจำยังทำให้ได้สังเกตว่ามีอะไรชำรุด ผุ กร่อน เสียหาย เพื่อที่จะรีบเข้าไปบำรุงรักษาได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันเราอาจไม่ได้ใช้ทุกห้องทุกส่วน แต่ก็ต้องปิด ต้องคลุมผ้า เพื่อรักษาข้าวของเอาไว้ แล้วสัปดาห์หนึ่งก็เข้าไปดูแลทำความสะอาดเสียที” อาจารย์เผยถึงการดูแลบ้านหลังนี้

บ้านไม้เก่าข้างคริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ที่สนามหญ้าเคยเป็นที่ตั้ง รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ

“บ้านหลังนี้มีสภาพโครงสร้างดีมาก แม้จะอายุใกล้ร้อยปีแล้ว แต่สภาพไม้ก็ยังอยู่ในสภาพเดิม เคยมีการซ่อมครั้งใหญ่ไปเพียงไม่กี่ครั้ง ครั้งสำคัญคือการเปลี่ยนเสาไม้เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณใต้ถุนบ้านหมดทุกต้น เพื่อทำให้บ้านแข็งแรง และทรงตัวอยู่ได้ ตอนที่ซ่อมนั้นน่าจะราวๆ เมื่อห้าสิบปีก่อน โดยมีสถาปนิกกับวิศวกรมาร่วมให้คำปรึกษา นอกจากนั้นก็ต่อระเบียงหลังบ้านเพื่อเพิ่มบริเวณ เพราะว่ามีคนจากโบสถ์มาพักที่บ้านบ้าง มาประชุมสังสรรค์ที่บ้านบ้าง ระเบียงเดิมมีพื้นที่ไม่พอ เลยขยายออกเพื่อรองรับคนได้มากขึ้น” อาจารย์เล่าพร้อมพาเดินไปชม

ผมกราบลาอาจารย์เมื่อตอนใกล้ค่ำ หลังจากใช้เวลาอยู่นานจนผมรู้สึกเกรงใจถึงขีดสุด ผมยังจำประโยคแรกที่อาจารย์กล่าวกับผมว่า “บ้านผมก็เป็นบ้านอยู่อาศัยธรรมดาๆ เท่านั้นนะครับ” ได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับผม บ้านหลังนี้ไม่ธรรมดาเลย เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์อันเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสำเหร่ บอยส์ คริสเตียน ไฮสกูล ที่กลายมาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนที่ผสานรอยต่อสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 

และเป็นบ้านที่อุทิศตนเพื่อคริสตจักรสมกับที่เป็นบ้านหลังโบสถ์อย่างแท้จริง

บันทึกท้ายบ้าน

ในหนังสือ รอยประทับ ที่คุณนฤมล เทพไชย เขียนขึ้นจากบันทึกความทรงจำของแมรี่ เลาเกอซัน ผู้เป็นบุตรีของศาสนาจารย์จอห์น เอกิ้น ที่เกิดจากอัลธา (Rose Altha Nebraska Rhamey Eakin) ภรรยาคนที่สอง ซึ่งสมรสกันในสยามเมื่อ ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) ต่อมาแมรี่ได้สมรสกับชาวเดนมาร์กจึงเปลี่ยนนามสกุลจากเอกิ้นมาเป็นเลาเกอซัน

ในหนังสือเล่มดังกล่าวได้ปรากฏบันทึกที่แมรี่เล่าถึง ‘บ้านสีเหลืองหลังโบสถ์’ ที่สำเหร่ เมื่อคราวที่อัลธา มารดาของเธอเดินทางมาถึงสยามเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศกที่ 115 ตรงกับ พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักของเหล่ามิชชันนารีที่มีมาแต่เดิม

บทสัมภาษณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับบ้านหลังโบสถ์ซึ่งปรากฏในบทความนี้ มาจากการรับรู้และความทรงจำของอาจารย์ชัยธวัชว์ตั้งแต่วัยเยาว์ จะเป็นบ้านหลังเดียวกันกับบ้านหลังโบสถ์ที่ปรากฏในบันทึกของแมรี่ เลาเกอซัน หรือไม่ ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่รอการพิสูจน์จากผู้ทรงความรู้ด้านประวัติศาสตร์

ขอขอบพระคุณ

อาจารย์ ชัยธวัชว์ ไทยง ผู้ให้สัมภาษณ์

คุณปิ่มมาศ ศักดิ์ศรี ผู้แนะนำ

ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน ผู้ตรวจสอบต้นฉบับว่าด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมบ้าน

เอกสารอ้างอิง

คริสตจักที่หนึ่ง สำเหร่ กับ 150 ปีแห่งศรัทธา

นมัสการขอบคุณพระเจ้า 162 ปีและพิธีมอบถวายพระวิหารคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ วันเสาร์ที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2011

หนังสือ ประวัติครอบครัวชาวสำเหร่

อนุสรณ์พิธีศพ คุณครูการุญรัตน์ ไทยง ณ คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2517

อนุสรณ์พิธีศพ ศาสนาจารย์ เล็ก ไทยง ณ คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ วันที่ 28 กันยาน พ.ศ. 2523

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ