30 พฤษภาคม 2022
19 K

หนึ่งเดือนหลังการเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงพยาบาลที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดของประเทศไทยในเวลานั้น ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ 136 ไร่ ตรงข้ามสวนลุมพินีในปัจจุบัน 

ดูเหมือนว่า King Chulalongkorn Memorial Hospital จะเกิดขึ้นได้รวดเร็ว แต่กว่าจะมาเป็นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เรื่องราวซับซ้อนยาวนานกว่านั้นมาก และผูกพันกับสภาอุณาโลมแดง หรือสภากาชาดไทย ที่ก่อตั้งขึ้นในยามสงครามจากกรณีพิพาทอินโดจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 

เมื่อสงครามสงบลง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้สภาอุณาโลมแดงฯ มีโรงพยาบาลถาวร 

ด้าน พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดํารงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ได้เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นและทอดพระเนตรโรงพยาบาลกาชาดญี่ปุ่น ทรงมีพระดำริว่าถ้าได้จัดโรงพยาบาลของกาชาดขึ้นในเมืองไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง 

เมื่อถึงคราวผลัดรัชสมัย รัชกาลที่ 6 และพระเชษฐภคินี 42 พระองค์จึงร่วมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับทุนเดิมของสภาอุณาโลมแดง สร้างโรงพยาบาลเป็น ‘ราชานุสาวรีย์’ ให้สมเด็จพระราชบิดา โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม พระราชโอรสองค์ที่ 17 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับหน้าที่ดำเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลฯ จนสำเร็จสมบูรณ์ 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

โรงพยาบาลในยุคแรกเริ่มวางผังอย่างสวยงามเป็นระเบียบ หันหน้าเข้าทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อรับลม แต่ละอาคารมีเพดานสูงและเจาะช่องลมอย่างดี ทางเดินแต่ละตึกมีหลังคาเชื่อมกันโดยตลอด เป็นทางเดินเก่าที่บุคลากรโรงพยาบาลเรี่ยไรเงินกันสร้าง และปัจจุบันยังใช้งานได้ดี ดีไซน์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ เป็น Tropical Hospital ที่เหมาะกับประเทศเขตร้อน หลายอาคารออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) โดยมี พระยาศิลปศาสตร์โสภิต (E.G. Gollo) เป็นวิศวกรคุมการก่อสร้าง

เวลาผ่านไปเกินศตวรรษ ตึกงามโอ่อ่าครั้งโรงพยาบาลเริ่มสร้าง กลายเป็นกลุ่มอาคารอนุรักษ์เตี้ย ๆ กลางสวน โอบล้อมด้วยตึกสูงใหญ่ เทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปทุกวัน ทำให้ตึกเก่าเหล่านี้ขาดฟังก์ชันการใช้งานแบบเดิม การติดตั้งอุปกรณ์ใหม่หรือเดินท่อระบบใหม่ ๆ อาจทำลายโครงสร้างสถาปัตยกรรม ตึกเหล่านี้จึงต้องทยอยได้รับการซ่อมปรับปรุง และปรับเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่ ให้ยังคงอยู่เป็นตำนานคู่โรงพยาบาล และใช้งานได้จริงในทุก ๆ วัน

ในวาระครบรอบ 108 ปีของโรงพยาบาล รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฝ่ายสนับสนุนบริการ และ อาจารย์มดพญ.สาริน กิจพาณิชย์ แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จะขอพาผู้อ่านทัวร์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมในโรงพยาบาลจุฬาฯ ผ่าน 9 ตึกเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า ความทรงจำ และเกร็ดน่าประทับใจมากมาย 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

ไม่ได้โม้–แต่ถ้าคุณไม่ใช่บุคลากรการแพทย์หรือคนไข้ การสำรวจโรงพยาบาลจุฬาฯ อย่างละเอียดถี่ถ้วนขนาดนี้ เป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก ทั้งยังเปิดมุมมองให้เราได้รู้จักโรงพยาบาลเก่าแก่ใจกลางเมือง ในแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ถ้าพร้อมแล้ว เดินตามหมอมาตรวจตึกกัน

01
ตึกปัญจมราชินี

ตึกนี้เปิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2459 สร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 มูลค่าการก่อสร้าง 106,000 บาท และใช้เวลาสร้างราว 1 ปี ปัจจุบันตึกนี้อายุ 106 ปี 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

แรกเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาล มีตึกพักคนเจ็บเพียง 2 หลัง (ตึกวชิรุณหิศ-ตึกพาหุรัด) แต่ภายหลังจำนวนคนไข้เพิ่มสูงขึ้นเป็นคนไข้นอกประมาณ 2000 คน/เดือน ต่อเรือนไม้เพิ่มเติมก็ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทบางกอกด๊อก สร้างตึกตามแปลนที่ออกแบบไว้ เป็นตึกเฟโรคอนกรีต 2 ชั้น กว้าง 9.8 เมตร ยาว 56.14 เมตร สูง 12.5 เมตร มีมุขกลางด้านหน้าและระเบียงโดยรอบทั้ง 2 ชั้น ชั้นบนมี 17 ห้อง เป็นหอผู้ป่วย 10 ห้อง จุคนไข้ได้ 20 คน ที่เหลือเป็นห้องพักแพทย์ ห้องทำการพยาบาล ห้องน้ำ ห้องล้างแผล ฯลฯ ชั้นล่างมี 14 ห้อง จุคนไข้ได้ 20 คน มีระบบประปาไฟฟ้าพร้อม

นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้จารึก โพชฌงค์ 7 ซึ่งเป็นธรรมะสำหรับบำบัดพยาธิโรคไว้ที่โถงบันได 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

“เป็นความเชื่อต่อ ๆ กันมาว่าถ้าได้ท่องบทสวดนี้แล้วจะหายป่วย เลยติดไว้เพื่อให้คนป่วยได้สวดให้กัน สมัยที่มีคนไข้พักอยู่ มีการแจกโบรชัวร์บทสวดให้อ่านกันง่าย ๆ ด้วย” อาจารย์รัฐพลีอธิบายเสริมว่าตึกนี้เพิ่งเปลี่ยนเป็นหอผู้ป่วยจิตเวชได้ไม่กี่ปี แต่ก่อนเป็นหอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย

แต่ก่อนอาคารมีเพดานสูง เปิดโล่ง มีช่องลมถ่ายเท เหมาะกับอากาศร้อน และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ แต่ปัจจุบันด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่เปลี่ยนไป ทำให้อาคารติดกระจก ติดเครื่องปรับอากาศ และตีฝ้าให้เตี้ยลง 

อาจารย์มดเล่าว่าจุดเด่นที่นี่คือบันไดสวย ซึ่งผู้กำกับภาพยนตร์ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เคยผ่านมาเห็นและถ่ายลงโซเชียลมีเดีย พร้อมเปรย ๆ ว่าอยากมาใช้ที่นี่เป็นโลเคชันถ่ายหนัง หนุ่มสาวชาวโรงพยาบาลจุฬาฯ เลยภูมิใจกับมุม ‘บันไดพี่เต๋อ’ นี้มาก 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

02
ตึกอาทร 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (อ่านเรื่องราวของพระองค์และตำหนักทิพย์ได้ที่นี่) ได้จองสร้างตึกขนาดใหญ่ในโรงพยาบาลไว้ และบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างตึกนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดตึกนี้ด้วย ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 

จุดเด่นของตึกนี้คือชานพักบันไดขึ้นชั้นสอง มีกระจก Stainglass ลวดลายป่าและมีพระพุทธรูปปางสมาธิประดิษฐานไว้ ส่วนกำแพงชั้นสองติดพระรูปปั้นนูนต่ำเสด็จพระองค์อาทร 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

อดีตหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิงมี 48 เตียง เคียงคู่ตึกปัญจมราชินี อาจารย์รัฐพลีอธิบายว่าแรกเริ่มเดิมทีหอผู้ป่วยแยกตามเพศคนไข้เป็นหลัก ตึกปัญจมราชินีและตึกอาทรเป็นหอผู้ป่วยหญิง ตึกวชิราวุธและตึกหลิ่มซีลั่นเป็นหอผู้ป่วยชาย แต่กลายเป็นว่าแพทย์เดินเยี่ยมไข้ไม่สะดวก เพราะแต่ละตึกที่รับผิดชอบอยู่ไกลกัน จึงสลับหน้าที่ให้หอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย-หญิงอยู่ใกล้กัน อีกคู่ตึกก็เป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง และหอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 

ตอนนี้ตึกอาทรใช้งานเป็นศูนย์รักษามะเร็ง ดูแลคนไข้และให้ยาคีโมแบบ Day Care โดยโครงสร้างเดิมและพื้นยังคงเป็นของเดิม แต่มีการตีฝ้าใหม่ ติดเครื่องปรับอากาศ และติดกระจกเช่นกัน มองออกไปเห็นสวนเขียวชอุ่มถนัดตา อาจารย์มดบอกว่าคนไข้ที่มารักษาโรคมะเร็งต้องมาใช้เวลาให้น้ำเกลือที่ตึกนี้หลายชั่วโมง การได้มองเห็นสวน เห็นต้นไม้ใบหญ้า ช่วยให้บรรยากาศโรงพยาบาลผ่อนคลายขึ้น ส่งผลดีต่อทั้งบุคลากรและคนไข้

ตึกนี้เป็นที่มาของการสร้างศาลพระภูมิในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ช่วงหนึ่งมีเหตุการณ์ผิดปกติที่ตึกนี้เป็นระยะ เช่น คนไข้เสียชีวิตไม่ทราบสาเหตุ แพทย์และพยาบาลก็เสียชีวิตด้วยเหตุผิดวิสัย ประเด็นร้อนจนต้องเชิญคนทรงเจ้ามาดู คนทรงบอกว่าเห็นฤาษีปากเปื้อนเลือดในสนามหญ้า และแนะนำว่าให้สร้างศาลให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ คณาแพทย์จึงสร้างศาลพระภูมิที่หัวมุมถนนสุรวงศ์ ตัดกับถนนพระราม 4 หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลง ศาลพระภูมินั้นก็กลายเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่คนไข้ชอบไปไหว้

03
ตึกผ่าตัด (เก่า) 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

นี่คือ 1ใน 4 ตึกแรกของโรงพยาบาล นอกเหนือจากตึกอำนวยการ ตึกวชิรุณหิศ และตึกพาหุรัด (ถูกรื้อไปนานแล้ว ปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยอาคารสิรินธร และมีห้องบรรยายชื่อพาหุรัดอยู่ด้านใน) 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
ตึกพาหุรัด

ตึกผ่าตัด (เก่า) เปิดใช้ในวันเดียวกับวันเปิดโรงพยาบาล คือวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 เมื่อเดินเข้ามาในโถงจะเห็นลายกระเบื้องพื้นโมเสกกันลื่นแบบดั้งเดิม บัวขอบโค้งมน ทำความสะอาดง่าย ขอบกำแพงด้านบนเจาะช่องกระจกให้แสงอาทิตย์ส่องลงมา 

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

ตึกนี้มีห้องผ่าตัด 2 ห้อง คือ ห้องผ่าตัดแผลมีเชื้อ เช่น ผ่าหนอง ผ่าฝี กับห้องผ่าตัดแผลสะอาด เช่น ผ่าไส้เลื่อน ผ่าทรวงอก ตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีถุงมือใช้ หมอต้องแช่มือในกรดคาร์บอนิกก่อนผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อ และการดมยาสลบยังไม่มีการใช้ท่อช่วยหายใจ ใช้หยดยาอีเธอร์หรือคลอโรฟอร์ม

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
ห้องผ่าตัดแผลสะอาด
9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี
ห้องผ่าตัดแผลมีเชื้อ

หมอฟรีดริก เชเฟอร์ (Dr. Friedrich Schaefer) หนึ่งในผู้บุกเบิกก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาฯ เคยเป็นศัลยแพทย์ประจำกองทัพปรัสเซีย และเป็นคนวางรายละเอียดการดีไซน์ห้อง วางแผนเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดครับ หมอเชเฟอร์เป็นศัลยแพทย์ที่จะมาดูแลโรงพยาบาลนี้ แต่ก่อนจะเปิดโรงพยาบาลไม่นาน หมอผ่าตัดแล้วกระดูกซี่โครงคนไข้ทิ่มมือ เลยติดเชื้อและเสียชีวิตกระทันหัน พลตรีพระยาวิบุลอายุรเวท (เสก ธรรมสโรช) จึงเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงพยาบาลจุฬาฯ แทน คนไม่ค่อยรู้จักประวัติหมอเชเฟอร์ ซึ่งน่าเสียดายมาก หมอเป็นคนที่มีบุญคุณกับโรงพยาบาลเรามาก ๆ”

อาจารย์รัฐพลีอธิบายว่าอุปกรณ์และหยูกยาต่าง ๆ ในสมัยนั้นเทียบไม่ได้เลยกับปัจจุบัน แต่ก็ถือว่าทันสมัยพอสมควร ตึกนี้เป็นที่แรกที่ผ่าตัดหัวใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สมัยปี 2537-2538 ผมเป็นหมอ Resident มีห้องพักอยู่ตรงหัวมุมนี้ ตรงนี้มีออฟฟิศที่บริจาคและรับผ่าตัดหัวใจ หน้าประตูเขียนว่า Don’t take your organs to heaven, heaven knows we need them here ยังจำได้ถึงทุกวันนี้” 

ปัจจุบันตึกผ่าตัด(เก่า) เป็นสำนักงานฝ่ายทรัพยากรบุคคลและฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงพยาบาล โดยสองห้องผ่าตัดกลายเป็นห้องรับแขกสำคัญ 

04
ตึกอำนวยการ

9 ตึกเก่าในรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สถาปัตยกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวกว่า 108 ปี

อดีตตึกที่ว่าการ ที่ทำงานผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งเปิดใช้งานในวันแรกเปิดโรงพยาบาล ปัจจุบันกำลังปิดซ่อมเพื่อใช้งานเป็นออฟฟิศอีกครั้ง จึงไม่มีภาพถ่ายปัจจุบัน 

เดิมตึกนี้มีสามชั้น ชั้นใต้ดินเป็นที่เก็บของ สองชั้นบนเปิดใช้เป็นที่อบรมนายแพทย์ ที่ตรวจโรคและที่ตรวจเชื้อโรค คือมีทั้งการตรวจเอ็กซเรย์ ตรวจคนไข้นอก ตรวจพยาธิ ตรวจแบคทีเรียต่าง ๆ ทั้งยังเป็นโรงเรียนแพทย์ พยาบาลและบุรุุษพยาบาล นับว่าทันสมัยมากในยุคก่อน ตึกนี้นับเป็น Milestone แรกของโรงพยาบาล 

05
ตึกวชิรุณหิศ

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

หนึ่งในตึกที่เก่าแก่ที่สุดนี้อายุเท่าโรงพยาบาลเช่นกัน เป็นตึกชั้นเดียวที่เปลี่ยนฟังก์ชันมาหลายครั้ง ตอนแรกเป็นหอผู้ป่วยชาย 40 คน ต่อมาเป็นตึกสังคมสงเคราะห์ และปัจจุบันกลายเป็นที่ทำการฝ่ายสวัสดิการสังคม และศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคตับ

เนื่องจากด้านในรีโนเวตให้กลายเป็นออฟฟิศ จึงยังพอมองเห็นร่องรอยเดิมได้จากโครงสร้างภายนอก ช่องระบายลม และประตู

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

06
ตึกจักรพงษ์

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

เรียกว่าเป็นตึกที่สวยที่สุดในบรรดาตึกเก่าทั้งหมดได้เต็มปากเต็มคำ อาคารเก่าส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ออกแบบโดยมาริโอ ตามัญโญ แต่ตึกนี้ออกแบบโดย เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) และเพิ่งรีโนเวตใหม่จนสวยเอี่ยมอ่อง ตึกจักรพงษ์เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 โดยพระบรมวงศานุวงศ์ พ่อค้า ข้าราชการและประชาชน ลงขันรวมเงินกันเพื่อสร้างตึกนี้ และตั้งชื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่เสด็จทิวงคตสามปีก่อนหน้านั้น พระองค์เป็นผู้กำกับการก่อสร้างสถานที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทยพระองค์แรก 

บนชั้นสองมีพระบรมรูปปั้นรัชกาลที่ 5 และพระรูปปั้นสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ส่วนชั้นล่างมีรูปปั้นพยาบาลถือโล่กาชาดล้อมด้วยประชาชน 

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

เดิมตึกจักรพงษ์เป็นตึก OPD หรือตึกคนไข้นอก และชั้นสองเป็นคลินิกเฉพาะทาง เป็นที่ตรวจและจ่ายยาคนไข้ แต่ด้วยตัวโถงกว้างขวาง ตึกนี้เคยใช้ประโยชน์หลายอย่าง ทั้งเคยจัดงานเลี้ยง ไปจนถึงใช้งานในเหตุการณ์คับขันหลายอย่าง เนื่องจากอยู่ใกล้ห้องฉุกเฉินเดิม เป็นที่ดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก ถ้าห้องฉุกเฉินเต็ม ทั้งยังเคยเป็นที่ตรวจไข้หวัดนก และเป็นที่ปฐมพยาบาลผู้ป่วยจากเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ในวันที่ 17 สิงหาคม ปี 2558 

โดยปกติตึกนี้ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่ในโอกาสโรงพยาบาลอายุครบรอบ 108 ปี จึงใช้เป็นที่จัดนิทรรศการ 108 พันก้าว ให้ผู้มาเยือนได้ชมนิทรรศการประวัติของโรงพยาบาลและตึกสวย ๆ ไปพร้อมกัน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2565 

ในอนาคต อาจารย์รัฐพลีมองว่าที่นี่อาจกลายเป็นมิวเซียมย่อม ๆ ที่ใช้จัดนิทรรศการทั้งถาวรและหมุนเวียน และเป็นจุดพักของญาติคนไข้ที่สวยน่าใช้งาน

07
ตึกวชิราวุธ

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

อดีตหอผู้ป่วยอายุรกรรมชายที่อยู่ขนานกับตึกปัญจมราชินี เปิดใช้เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2460 เพื่อเป็นหอพักผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 46 เตียง แต่ได้ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันมาหลายครั้ง ปัจจุบันเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพ และหน่วยนโยบายและแผน 

ตึกนี้อาจารย์รัฐพลีกระซิบว่ามีเรื่องลี้ลับเยอะ ยกตัวอย่างหนึ่งเรื่อง คือช่วยกำกับให้แพทย์ที่เข้าเวรกลางคืนตื่นไปดูคนไข้ ด้วยวิธีการเขย่าเตียงบ้าง ดึงขาบ้าง 

08
ตึกหลิ่มซีลั่น 

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

ตึกเก่าตึกเดียวที่ไม่ได้เป็นชื่อเจ้านาย แต่เป็นชื่อสามัญชน หลิ่มซีลั่น หรือ ซีลั่น พฤกษเจริญ บ้านอยู่ย่านถนนตีทอง อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสภากาชาดสยามในปี พ.ศ. 2462 ต่อมาได้ป่วยเป็นวัณโรคและถึงแก่กรรมในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2463 เมื่ออายุ 60 ปี 

ก่อนสิ้นลม คหบดีชาวจีนศรัทธากิจการโรงพยาบาล จึงฝากฝังให้ภรรยา นางสาย พฤกษเจริญ บริจาคเงินสร้างตึกให้โรงพยาบาลจุฬาฯ ซึ่งทางสภากาชาดสยามซึ่งขณะนั้นยังขาดตึกรักษาพยาบาลอีก 2 หลังตามแผนผัง นางสายจึงบริจาคเงิน 1 แสนบาท ให้สร้างตึกใหม่ได้สำเร็จ โดยตึกหลิ่มซีลั่นเปิดใช้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เป็นตึกทิศตะวันออกที่ขนานกับตึกอาทรทางทิศตะวันตก บนตึกติดภาพถ่ายสามีภรรยาใจบุญนี้ไว้ที่ชั้นสอง

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

เดิมเป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมเพศหญิง 45 เตียง ที่แปลนเหมือนตึกอาทร ปัจจุบันเป็นตึกเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine Department)  ซึ่งรักษาครอบคลุมทุกอย่างแบบองค์รวม ก่อนส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ 

09
ศาลาทินทัต

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา
สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

ปิดท้ายทัวร์ด้วยศาลาชั้นเดียวด้านหน้าโรงพยาบาล ตัวศาลาสร้างในปีพ.ศ. 2465 ด้วยสไตล์เรเนสซองส์อิตาลี เพื่อเป็นอนุสรณ์ของนายทหารม้า นายร้อยเอก หม่อมเจ้าทินทัต ศุขสวัสดิ์ ผู้สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคบิดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อชันษา 30 ปี ตามพระประสงค์ของนายพลโทพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ผู้เป็นพระบิดา 

จากศาลาคอยเยี่ยม ปัจจุบันศาลาทินทัตใช้เป็นที่อุทิศอวัยวะและร่างกาย รวมถึงบริจาคเงิน อาจารย์รัฐพลีและอาจารย์มดเล่าว่าคนที่มาบริจาคเงินให้โรงพยาบาล มีตั้งแต่ระดับมหาเศรษฐีที่ให้เงินหลักล้าน จนถึงชาวบ้านธรรมดาที่ใจอยากสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐ

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

“มีเศรษฐีให้เงินโรงพยาบาลเราอยู่เรื่อย ๆ นะ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องภาษี แต่ผมว่าไม่ใช่แค่นั้น บางทีมันมากเกินกว่าอัตราที่มันจะลดหย่อนได้ด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่ามันตอบโจทย์ชีวิตของเขาที่ต้องการคืนหรือช่วยเหลือสังคม เคยเจอคุณลุงคนหนึ่งมาตรวจส่องกล้อง แกถามย้ำตลอดว่าหมอขาดอะไร แล้วก็ส่งคนมาดูโรงพยาบาลด้วย จากนั้นแกก็บริจาคเงินล้านทุกปี” 

“ครั้งหนึ่งที่สะเทือนใจมาก คือมีคนไข้โรคมะเร็งกำแบงก์ร้อยยับ ๆ มาให้ เรารู้ว่าคนไข้ไม่มีเงิน ก็บอกว่าเก็บไว้ใช้เถอะ ปรากฎว่าคนไข้ร้องไห้เลย บอกคุณหมออย่าดูถูกคนจน ถึงหนูมีเท่านี้ หนูจะให้…อะไรแบบนี้ทำให้เราคิดตลอดว่าทำยังไงให้คนไข้อยู่ได้ บุคลากรอยู่ได้ แล้วโรงพยาบาลอยู่ได้ด้วย”

108 พันก้าว

ทัวร์ชมตึกโบราณที่เป็นไข่แดงกลางโรงพยาบาลจบลงแล้ว แน่นอนว่าสำหรับคนรักอาคารอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมเหล่านี้มีคุณค่ามาก แล้วสำหรับแพทย์ที่ทำงานที่นี่ทุกวันล่ะ ตึกเหล่านี้สำคัญสำหรับพวกเขาอย่างไร 

“คนต้องมีราก ต้องมีความภูมิใจ ตึกเหล่านี้ผูกโยงเรื่องราวความผูกพันเอาไว้ เดินผ่านทีไรก็จำได้ว่าตรงนี้เราเคยลำบาก ตรงนี้เคยร้องไห้ ตรงนี้เคยหัวเราะ ตรงนี้มีคนตาย ตรงนี้มีผี คือถ้าเราไม่ขอบคุณอดีต ไม่จดจำมัน ผมว่าอีกหน่อยก็ไม่มีใครจำเราได้เหมือนกัน โรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จในประเทศอื่น ๆ เขาก็เก็บเรื่องราวไว้เหมือนกัน อีกหน่อยก็ไม่ใช่ผม อาจารย์มดจะเป็นคนเล่าให้คนอื่นฟังว่าที่มาของโรงพยาบาลเป็นยังไง” อาจารย์รัฐพลีตอบ

“ตึกพวกนี้มันเป็น Living Proof ของการเสียสละของคนรุ่นก่อน ๆ ด้วยนะคะ ไม่ใช่แค่เรื่องสถาปัตยกรรม แต่เป็นสัญลักษณ์ของผู้คนในอดีต กว่าแต่ละตึกจะเกิดขึ้นมาได้ มีคนเสียสละเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเตือนใจคนที่ทำงานในโรงพยาบาลด้วยว่าพวกเรามาจากไหน และนี่คือปณิธานที่เราต้องสานต่อ” อาจารย์มดกล่าวเสริม

สำรวจ 9 อาคารอนุรักษ์ใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ใช้รักษาคนไข้มาตลอด 108 ปีที่โรงพยาบาลก่อตั้งมา

เมื่อถามถึงความตั้งใจของทีมบุคลากรการแพทย์ในวาระโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ครบรอบ 108 ปี หมอและคนฟังต่างก็ตาแดง ๆ กันนิดหน่อย 

“108 ปีที่ผ่านไป เจตนารมณ์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ยังเหมือนเดิม เราอยากรักษาคนไข้ให้ดีที่สุด อยากให้เขาหายดีแล้วได้ไปใช้ชีวิตกับครอบครัว เทคโนโลยีเปลี่ยนไป เรามีเครื่องเอ็กซเรย์ที่ดีขึ้น มียาดีขึ้น มีเครื่องไม้เครื่องมือเต็มไปหมด โลกหมุนไป เราก็เปลี่ยนแปลงตาม แต่จิตวิญญาณของหมอ ของพยาบาลยังเหมือนเดิมนะ”

“เมื่อก่อนผมอยากเป็นหมอผ่าตัดที่เก่งที่สุดในประเทศ แต่มันไม่เวิร์ก เพราะการรักษาคนไข้ต้องใช้คนเป็นทีมทั้งโรงพยาบาล ผ่าดีแค่ไหน ถ้าส่วนอื่นไม่ดี คนไข้ก็ตาย ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทยมากกว่า ความหมายมันต่างกันมาก ผมไม่ต้องเก่งที่สุดก็ได้ แต่คนไข้มาโรงพยาบาลแล้วได้กลับบ้านปลอดภัย ได้กลับไปดูแลพ่อแม่ กลับไปเลี้ยงดูลูก ดังนั้นการที่เรารักษาคน คือการขอบคุณคนที่ผ่านมา และดูแลคนในอนาคต คือดูแลคนทุกเจเนอเรชัน” 

“หมอที่นี่ได้เงินเดือนน้อยกว่าข้างนอกหลายเท่า คำถามคือแล้วอยู่ทำไม มีอะไรมากกว่าเงินเราถึงอยู่ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เขาเรียกว่าอิคิไก งานมันทำให้เราภูมิใจในตัวเอง งานที่ทำแล้วได้เงิน งานที่ทำแล้วถนัด งานที่ทำแล้วชอบ งานที่ทำแล้วช่วยเหลือสังคม เป็นหมอที่นี่ได้ทำครบเลยนะ 

“มีคนไข้คนหนึ่งเป็นมะเร็งไทรอยด์ กินไปถึงกระดูกสันหลัง เดินไม่ได้ ต้องนั่งรถเข็น หมอหลายคนต้องช่วยกันผ่าตัด เวลาผ่านไป 2-3 ปี วันหนึ่งคุณป้าเดินกลับมาที่โรงพยาบาล ถือถุงขนมมาให้แล้วบอกว่าป้าตื่นตี 4 ทำปลากริมไข่เต่ามาให้หมอกิน ผมจำได้ว่าขนมวันนั้นอร่อยมาก…บางวันเราก็ได้มะนาวจากสวน ได้ไข่ไก่ที่ยังเปื้อนขี้ไก่ อาจดูไร้สาระใช่ไหม แต่คนไข้เอาของที่คิดว่าดีที่สุดมาให้หมอ มันคือคำขอบคุณที่เขาพูดออกมาไม่ได้ 

“นี่ไง เราอยู่ได้เพราะสิ่งนี้ มันเป็นรางวัลชีวิตที่ใหญ่ที่สุดแล้ว เนี่ยเดี๋ยวผมต้องกลับไปกินทุเรียนที่คนไข้เพิ่งเอามาให้ (หัวเราะ)” 

ข้อมูลและภาพถ่ายเก่าจาก

โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

นิทรรศการ 100 ปี รพ.จุฬาฯ ‘ศตวรรษอัศจรรย์’

https://www.redcross.or.th/aboutus/history

https://www.livernurturingclub.com/club/event

งาน 108 พันก้าว 

30 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 – 18.00 น.

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ติดตามรายละเอียด ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และชมงานแบบออนไลน์ได้ทาง www.108yearschulahospital.com

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง