สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘หัวลำโพง’ นั้น เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ และประเทศไทย เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ใครๆ ก็ต้องนึกถึงเป็นอันดับแรกเมื่อพูดถึงรถไฟไทย เพราะนอกจากเป็นสถานีรถไฟต้นทางที่ใช้มายาวนานร่วมร้อยปี สถาปัตยกรรมยังโดดเด่นตั้งแต่ตอนแรกสร้างจนกระทั่งปัจจุบัน

ถ้าสำรวจโลเคชันของสถานีรถไฟกรุงเทพ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ตัวอาคารสถานีที่น่าสนใจ อาคารประกอบและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่อยู่รายรอบสถานีรถไฟแห่งนี้มีประวัติเกี่ยวเนื่อง และมีความสำคัญไปไม่น้อยกว่าตัวสถานีกรุงเทพเลย เราจะพาไปสำรวจสถานที่สำคัญในแต่ละจุด เริ่มต้นตั้งแต่ตรงนี้ ที่ด้านหน้าสถานี

อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร

สวนเล็กๆ มีน้ำพุยินดีต้อนรับอยู่ด้านหน้าสถานีรถไฟ บางคนมาก็เจอน้ำเปิด บางคนมาก็เจอน้ำปิด ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามีเวลาเปิดปิดหรือเปล่า นั่นไม่ใช่ประเด็น

ประเด็นคือน้ำพุนี้มันไม่ได้เป็นแค่เครื่องประดับส่งเสริมความใหญ่โตโอ่อ่าของสถานีรถไฟ หากพิจารณารูปลักษณ์ของมันดีๆ จะพบว่าส่วนล่างนั้นก่อด้วยหินอ่อน และด้านบนเป็นโลหะรมควันสีดำ ประกอบร่างกันเป็นยอดแหลมมีช้างอยู่ 3 ทิศ ส่วนปลายบนสุดเป็นพระบรมรูปหล่อแบบนูนต่ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เราเรียกว่า ‘อนุสาวรรีย์ช้างสามเศียร’ 

สิ่งปลูกสร้างรอบสถานีรถไฟกรุงเทพ มรดกสถาปัตย์รอบ ‘หัวลำโพง’ ยุคกำเนิดรถไฟไทย

อนุสาวรีย์นี้สร้างขึ้นหลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2453  บรรดาข้าราชการรถไฟได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็น ‘อนุสาวรีย์น้ำพุ’ สำหรับให้ประชาชนใช้สอยบริโภคในรูปแบบของอุทกทาน (อุทกหมายถึงน้ำ ทานคือการให้ทาน) ซึ่งประชาชนมาใช้น้ำที่ไหลออกจากก๊อกน้ำพุได้ คล้ายๆ กับอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผมตรงสะพานผ่านพิภพลีลา 

จุดมุ่งหมายของการสร้างอนุสาวรีย์นี้ ก็เพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เปิดใช้เป็นสาธารณะเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 พร้อมกับสถานีรถไฟกรุงเทพอาคารปัจจุบัน 

สิ่งปลูกสร้างรอบสถานีรถไฟกรุงเทพ มรดกสถาปัตย์รอบ ‘หัวลำโพง’ ยุคกำเนิดรถไฟไทย

นอกจากการเป็นน้ำพุประดับสถานีแล้ว ยามหน้าสิ่วหน้าขวานก็ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อย

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีรถไฟกรุงเทพเป็นจุดเป้าหมายในการทิ้งระเบิดเพื่อทำลาย ที่นี่ก็เหมือนกับหลายๆ สถานีที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนด้วย อนุสาวรีย์ช้างสามเศียรได้มีการปรับแบบและหน้าที่ใหม่ จากเป็นแค่น้ำพุประดับ กลายเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ

พอสงครามสิ้นสุด หลุมหลบภัย (อดีตน้ำพุ) ช้างสามเศียร ก็คงสภาพแบบนั้นไว้ระยะหนึ่ง จนต่อมาปรับให้กลับมาเป็นน้ำพุเหมือนเดิม ไม่มีก๊อกน้ำสำหรับการเป็นอุทกทาน และอยู่กับสถานีรถไฟกรุงเทพแบบเพราะเราคู่กันจนถึงปัจจุบัน ถ้าให้ขุดดินลงไปข้างล่าง อาจจะเจอซากของหลุมหลบภัยในอยู่ใต้นั้นก็เป็นได้

อนุสาวรีย์ช้างสามเศียรที่ปรับเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ 
ภาพ : Facebook โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ
อนุสาวรีย์ช้างสามเศียรที่ปรับเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ 
ภาพ : Facebook โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ
จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

ตึกไปรษณีย์และทางส่งจดหมาย

เข้ามาในสถานีกันบ้าง 

เราเดินตามชานชาลาที่ 3 มาเรื่อยๆ จะพบกับสิ่งปลูกสร้างทางเหมือนสะพานขนาดใหญ่ข้ามมาจากตึกสีทะมึน ตัดด้วยสีเหลืองมัสตาร์ดที่อยู่ด้านนอกสถานี

อาคารนั้นคือที่ทำการไปรษณีย์หัวลำโพง ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่คู่กับสถานีมานาน ตั้งแต่เป็นที่ทำการเล็กๆ ในสถานีรถไฟ

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย
การขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางรถไฟในอดีต

การส่งจดหมายและพัสดุในสมัยก่อนนั้นต้องพึ่งพาอาศัยรถไฟ เพื่อกระจายหนังสือถึงคนที่คุณต้องการติดต่อไปทั่วประเทศ แม้แต่บริการรถไฟเองก็ยังมีตู้รถไฟรับจดหมายด้วย 

ต่อมาที่ทำการไปรษณีย์ได้แยกออกมาตั้งอาคารต่างหากบนถนนรองเมือง นอกกำแพงสถานีรถไฟ และสร้างสะพานยาวทอดมาจากตัวที่ทำการมาถึงชานชาลาที่ 3 ของสถานีกรุงเทพ

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

เราเองก็ไม่ทันได้เห็นการทำงานของสะพานนี้ สิ่งที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ คือโครงสร้างขนาดใหญ่พร้อมปล่องลิฟต์ที่คาดว่าใช้สำหรับขนพัสดุและจดหมายจากที่ทำการลงมาถึงชานชาลา และย้ายขึ้นรถไฟเพื่อพาจดหมายเหล่านั้นไปถึงมือผู้รับที่อยู่ต่างจังหวัดที่รถไฟผ่าน เมื่อวันเวลาผ่านไป การขนส่งไปรษณีย์เปลี่ยนจากรางไปสู่ถนน การใช้งานขนส่งจดหมายทางรถไฟก็หายไปด้วยเช่นกัน เหลือไว้เพียงสะพานเชื่อมจากที่ทำการไปรษณีย์มาสถานีรถไฟให้เราได้เห็น เพื่อยืนยันว่าในครั้งหนึ่งมีกิจกรรมแบบนี้อยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

หอสัญญาณกรุงเทพ

จากตรงชานชาลาที่ 3 มองออกไปในย่านสถานี มีตึกหนึ่งตั้งอยู่ 

การจัดการจราจรทางอากาศต้องมีหอบังคับการ รถไฟก็เหมือนกันกับเครื่องบิน ต้องมีหอบังคับการจราจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านสถานีขนาดใหญ่อย่างสถานีกรุงเทพ ที่มีจุดสับรางร่วมร้อยจุดยุ่บยั่บเต็มไปหมด

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

หอสัญญาณของกรุงเทพตั้งอยู่ด้านตะวันออกของสถานี มีความสูงมากพอที่จะเห็นทางรถไฟทั้งหมด ตั้งแต่สะพานกษัตริย์ศึก ไปจนถึงจุดสับรางตัวสุดท้าย ก่อนทางรถไฟจะเข้าไปในหลังคาสถานี

ตัวอาคารแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นที่พักพนักงานปฏิบัติการระหว่างวันมีจำนวน 3 ชั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นหอสูงขึ้นไป ชั้นบนสุดเป็นกระจกสีดำทำองศาเอียงลงมา เพื่อให้มองเห็นทางรถไฟที่พาดผ่านด้านล่างได้ บนนั้นเป็นพื้นที่ควบคุมย่านสถานีขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นไปทำงาน ซึ่งต้องมีทักษะเฉพาะเป็นอย่างมากที่ต้อง ‘ตาดู หูฟัง มือกด’ 

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

ตาดู คือ ต้องดูความเคลื่อนไหวทั้งหมดในย่านสถานี รถถอยผ่านจุดสับรางหรือยัง หรือไปอยู่ในจุดที่กำหนดไว้หรือยัง

หูฟัง คือ ต้องฟังเสียงวิทยุที่ใช้ในการประสานงานเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

มือกด คือ ต้องคอยกดปุ่มเพื่อสับราง และปรับสัญญาณไฟให้การจราจรของรถไฟนั้นไม่ติดขัด

รวมถึงทักษะด้านการวางแผนเพื่อสับรางให้รถไฟเข้าออกสถานีได้โดยไม่มีปัญหา เรียกได้ว่าสำคัญไม่แพ้อาคารอื่นๆ เลย

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง

จากนั้นเราข้ามทางรถไฟไปฝั่งชานชาลาที่ 12 จะเจอแท่นหินอ่อนสีขาวที่ตั้งอยู่ปลายชานชาลา มีรถจักรไอน้ำจอดซุกกายอยู่ด้านหลังแท่นหินอ่อนนั้นด้วย และดูเหมือนว่าจะมีพวงมาลัยสีเหลืองพร้อมดอกกุหลาบสีแดงมาไหว้เต็มไปหมด

จุดนี้มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์รถไฟมาก เปรียบได้เหมือนกับเสาเอกของบ้านเลยก็ว่าได้

ณ สถานที่นี้เมื่อ 120 กว่าปีก่อน คือจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทำพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเริ่มเปิดเดินให้บริการรถไฟครั้งแรกในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือ พ.ศ. 2440) จากกรุงเทพฯ​-กรุงเก่า (อยุธยา) 

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย
อาคารหลังแรกของสถานีรถไฟกรุงเทพ
อาคารหลังแรกของสถานีรถไฟกรุงเทพ

ไม่ใช่แค่เป็นปะรำพิธีเท่านั้น พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพหลังแรก เป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งปูนวางตัวขนานไปกับคลองผดุงกรุงเกษม ตรงกันข้ามกับโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ตรงนี้คือสถานีรถไฟต้นทางที่สำคัญในการพาขบวนรถไฟออกไปตามภูมิภาคต่างๆ จนวันหนึ่งมันเริ่มเล็กลง คับแคบ ขยายไม่ได้ กรมรถไฟจึงสร้างอาคารสถานีขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่โต โอ่โถง และเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ นั่นก็คือสถานีกรุงเทพที่เราได้เห็นได้ใช้กันในตอนนี้นี่แหละ

ส่วนสถานีเดิมก็ถูกใช้งานเป็นอาคารที่ทำการ จนรื้อลงในภายหลัง กลายเป็นลานอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าทำไมถึงเห็นคนขับรถไฟหรือพนักงานรถไฟ ยกมือไหว้แท่นอนุสรณ์นี้ทุกครั้งที่ผ่าน

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

โรงดีเซลรางกรุงเทพ

เราออกมานอกเขตสถานี เดินตามถนนกรุงเกษมเลียบคลองผดุงไป เลยปั๊ม ปตท. จะพบตึกหนึ่งที่มีหลังคารูปฟันปลาดูแปลกตา

อาคารที่หน้าตาเหมือนโรงงานเป็นเหมือนโรงหมอของรถไฟ มันทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรถจักร รถดีเซลราง (รถไฟที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง) และรถพ่วงต่างๆ ทั้งหนักและเบา

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

สถานีนี้มีโรงรถจักรแต่ดั้งแต่เดิมอยู่ มีการปรับเปลี่ยนเลย์เอาต์ของสถานีหลายรอบ จนได้สร้างโรงรถดีเซลรางแห่งนี้ขึ้นมาอย่างที่เราเห็น เสน่ห์ของอาคารนี้คือโครงสร้างระบบวิศวกรรมเพื่อพื้นที่ขนาดใหญ่ รูปแบบ Wireframe ที่ต้องนำตัวรถไฟเข้าไปจอดได้ ซึ่งรูปแบบของมันไม่ได้ต่างจากโรงซ่อมรถไฟขนาดเล็กที่กระจายตามภูมิภาค 

ในเชิงวิศวกรรมโครงสร้าง นอกจากความแข็งแรงแล้ว การที่ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาประกอบกันจนกลายเป็นโครงสร้าง เราเรียกว่าความงาม ตัวโรงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน มีสำนักงานอยู่ตรงกลาง อีก 2 ส่วนนั้นประกบส่วนงานสำนักงานไว้ มีทางรถไฟเข้าไปอยู่ในนั้นจำนวนช่องละ 3 ทาง

หลังคาเป็นรูปฟันปลา มีคานเหล็กรับหลังคาเอาไว้ทั้ง 2 ช่วง มีแสงสว่างส่องเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน ด้านในโรงนั้นใช้สำหรับจอดรถไฟ มีปั้นจั่นที่เอาไว้ใช้ยกตู้รถไฟรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สำหรับการซ่อมบำรุงตู้รถไฟให้เราได้ใช้กันอย่างปลอดภัยอีกด้วย

ตึกส่วนนี้อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามเฉพาะ เข้าไปได้เฉพาะผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น เรามองดูได้จากนอกรั้ว หรือถ้าอยู่ในสถานีก็จะมองเห็นได้จากปลายชานชาลาที่ 9 นั่นแหละ

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

ตึกบัญชาการ (ตึกขาว)

เมื่อเดินมาจนถึงสะพานนพวงศ์ ถนนเส้นหลักจะเลี้ยวขึ้นสะพานไป ถ้าหากเราเดินตรงมานั้นจะเจอซุ้มประตูขนาดใหญ่ขวางเอาไว้อยู่ 

ที่นี่คือสำนักงานใหญ่ของการรถไฟฯ

หลายคนเข้าใจว่าสำนักงานใหญ่ของการรถไฟฯ อยู่ในสถานีรถไฟกรุงเทพ แต่ไม่ใช่เลย ตึกนี้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟไปสัก 500 เมตรได้ 

ตามชื่อของมัน ‘บัญชาการ’ ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าที่นี่คือศูนย์กลางการปกครองของการรถไฟฯ ตั้งแต่สมัยยุคเริ่มแรก และยังเป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาประกอบพิธีแซะดินพระฤกษ์ในการจัดตั้งกรมรถไฟเมื่อ พ.ศ. 2433 อีกด้วย

ตำแหน่งของตึกบัญชาการอยู่ตรงข้ามกับวัดเทพศิรินทร์ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ตึกสีขาวหลังคาสีแดงที่มี 3 ปีกหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านการต่อเติมมาหลายครั้งมากด้วยหลากหลายเหตุการณ์

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

เริ่มแรกมีแค่ 2 ชั้น เป็นตึกทรงยุโรปที่สวยงาม ตึกนี้ถูกเรียกลำลองว่า ‘ตึกเบธเก้’ ตามชื่อของ นายคาร์ล เบธเก้ (Karl Bethge) เจ้ากรมรถไฟหลวงคนแรกซึ่งเป็นชาวเยอรมัน 

ต่อมามีการขยายปีกของอาคารออกไปอีก 2 จนมีผังรูปตัว U กำหนดทางเข้าออกด้านทิศใต้ ก่อนจะสร้างตึกส่วนที่ 4 ขึ้นมาใน พ.ศ. 2475 รูปแบบตามสมัยนิยมจนผังตึกกลายเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งตึกใหม่ด้านทิศใต้เป็นอาคารที่สูงที่สุด (3 ชั้น) และรอบๆ ที่เหลือมี 2 ชั้น 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อตัวอาคารตึกบัญชาการถูกทิ้งระเบิดทางอากาศ ตัวอาคารเสียหายมาก ได้มีการบูรณะขึ้นและมีเหตุไฟไหม้ที่ปีกด้านหนึ่งอีกครั้ง แล้วก็เปลี่ยนตึก 2 ชั้นให้กลายเป็น 3 ชั้นเท่ากับตึกด้านทิศใต้ รื้อถอนปีกฝั่งริมคลองลงให้เป็นทางเข้าออก ผังอาคารกลายเป็นตัว U อีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย
จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

ตึกบัญชาการถูกเรียกลำลองว่า ‘ตึกขาว’ เพราะตัวอาคารทาสีขาว ตรงกลางจัดเป็นอนุสาวรีย์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรรถไฟชาวไทยพระองค์แรก ผู้ซึ่งเรียกได้ว่านำเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนรถไฟไทยให้เจริญก้าวหน้า (ในยุคนั้น) อย่างมากมาย โดยหนึ่งในอนุสรณ์ที่สำคัญ ก็คือรถจักรดีเซลคันแรกของประเทศและรถจักรไอน้ำแม่กลองตั้งอยู่หน้าตึก

และถ้าเรายืนอยู่หน้าตึกบัญชาการแล้วมองไปรอบๆ จะเห็นได้ว่าตึกทั้ง 3 ปีกนั้นไม่มีรูปแบบที่เหมือนกันเลย

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

ตึกพัสดุ (ตึกแดง)

ที่สุดท้ายถัดจากตึกบัญชาการ และเป็นจุดสิ้นสุดเขตของสถานีรถไฟกรุงเทพ นั่นคือตึกพัสดุ

ตึกพัสดุสร้างไว้สำหรับเป็นคลังอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในกิจการรถไฟ เป็นการสร้างแบบ Industrial โชว์โครงสร้าง ความโดดเด่นคือการใช้อิฐแดงเป็นหลัก

ตัวอาคารมีด้วยกัน 3 ปีก หันหน้ากันไปคนละทางกับตึกบัญชาการ โดยตึกพัสดุหันหน้าไปทางทิศตะวันออกฝั่งทางรถไฟ ปีกกลางของตึกแดงเป็นโครงสร้างไม้และคานเหล็ก ความสวยงามอยู่ที่ลายฉลุไม้ ระแนง และบันไดกึ่งเวียนขึ้นไปชั้น 2 และชั้น 3 สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีระเบียงทางเดินล้อมรอบ รั้วของระเบียงก่อด้วยปูน ส่วนปีกอีกทั้งสองฝั่งเป็นโครงสร้างอิฐแดง ทำให้อาคารนี้ถูกเรียกชื่อลำลองว่า ‘ตึกแดง’

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย
จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย
จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

สิ่งที่น่าสนใจคือ ตรงกลางซึ่งปัจจุบันเป็นลานจอดรถ แต่เดิมนั้นใช้เป็นทางรถไฟขนส่งพัสดุเข้ามาในลานนี้ โดยมีวงเวียนกลับรถ (Turntable) จำนวน 2 ตัว

ตัวแรกตั้งอยู่บนทางรถไฟด้านนอกอาคาร ตัวที่ 2 ตั้งอยู่ตรงกลางลานตึกแดง และมีทางรถไฟจากวงเวียนตัวที่ 2 มุ่งหน้าเข้าไปที่ตึกทั้ง 3 ปีก เพื่อนำสินค้าเข้าสู่สโตร์ ปัจจุบันยังพอเห็นซากทางรถไฟเข้าไปในตัวอาคารอยู่เพียงแค่ 1 จุดเท่านั้นตรงฝ่ายการช่างโยธา และพื้นที่วงเวียนที่อยู่กลางลานกลายเป็นต้นไม้ 1 ต้น ยังพอมองเห็นขอบของวงเวียนเป็นวงกลมอยู่ภายใต้ยางมะตอยของลานจอดรถ ซึ่งก็เป็นที่น่ากังวลว่าการปรับปรุงพื้นที่ในแต่ละครั้งจะกลบ ทั้งซากรางรถไฟและขอบบ่อของวงเวียนกลับรถ จนเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในที่สุด 

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ คือพื้นที่กว้างใหญ่ของสถานีรถไฟ เหล่าอาคารที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังตั้งอยู่ที่นี่มาพร้อมๆ กับการเกิดของรถไฟไทย ผ่านวันและเวลามากมาย ทั้งช่วงเวลาปกติและยามสงคราม ในวันที่ศูนย์กลางของระบบรถไฟจะย้ายไปที่สถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟกรุงเทพก็จะลดระดับลงจากสถานีหลักเป็นสถานีรอง พื้นที่ต่างๆ รอบๆ ก็ดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญลงในฐานะสถานที่ปฏิบัติงานด้วย และก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคต มันจำเป็นต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเดิม และดำเนินกิจการต่างๆ ได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่

หลายอาคารเป็นอาคารที่ทรงคุณค่า จะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคตเราก็คงไม่อาจทราบได้ อยู่ที่เจ้าของสถานที่จะรังสรรค์ออกมา สุดท้ายแล้วต่อให้อนาคตอาคารสำคัญเหล่านี้จะถูกแปรสภาพเป็นหน้าที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่ภาพหน้าของมันก็ยังคงเล่าเรื่องราวที่อยู่คู่กับสถานีกรุงเทพ ในฐานะอาคารปฏิบัติการของรถไฟไทย และอนุสรณ์สำคัญเกี่ยวกับกิจการรถไฟไทยได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

จากอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรจนถึงตึกพัสดุ สำรวจสถาปัตยกรรมเก่าในพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ที่ผ่านสงครามโลกมากับรถไฟไทย

เกร็ดท้ายขบวน

  1. พื้นที่อาคารประกอบทั้งหมดของสถานีรถไฟกรุงเทพมีทั้งส่วนที่เปิดให้เราเข้าดูได้ และส่วนที่เป็นสำนักงาน ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป ซึ่งส่วนที่ไปดูได้มีเพียงแค่อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ปล่องไปรษณีย์บริเวณชานชาลาที่ 3 และอนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวงเท่านั้น ส่วนโรงรถดีเซลรางนับเป็นเขตหวงห้ามเฉพาะ
  2. ตึกบัญชาการและตึกพัสดุนั้นเดินชมตึกจากภายนอกได้ ในช่วงวันและเวลาราชการที่มีการทำงาน หรือถ้าอยากจะมาทานอาหารในราคาย่อมเยา ก็มาที่สโมสรรถไฟในพื้นที่สำนักงานใหญ่การรถไฟได้เช่นกัน

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ