ถ้าคุณเป็นคนรักดอกไม้ ลองหลับตาแล้วนึกตามดูว่า คุณเคยมีดอกไม้ที่ได้รับจากคนสำคัญ ดอกไม้ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ หรือดอกไม้ที่น่ารักจนอยากเก็บมันไว้นานๆ บ้างไหม?

เชื่อว่าเกินครึ่งของผู้อ่านคงมีบ้าง ไม่มากก็น้อย

แล้วจะดีไหมถ้าเราสามารถเก็บดอกไม้ที่รักในวันนี้ ให้อยู่เป็นเพื่อนสนิทไปอีกหลายสิบปีข้างหน้าได้

งานนี้ The Cloud ร่วมกับภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมสนุกๆ อย่าง The Cloud Studio 05 : Herbarium ที่ช่วยกระชับมิตรคนรักดอกไม้ให้รักดอกไม้กว่าที่เคย โดยมี อ.ดร.ภญ. เบญญากาญจน์ พงศ์กิจวิทูร หรือ อาจารย์เตย อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ มาเป็นวิทยากรพาทุกท่านสร้างพิพิธภัณฑ์พืชขนาดย่อมอายุยืน ในกิจกรรม ‘ทำแผงอัดพรรณไม้’ ที่หยิบดอกไม้สีสันสดใสมาทำงานศิลปะส่วนตัวที่โชว์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชได้ เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกิจกรรมตกแต่งโปสการ์ดโดยใช้สีธรรมชาติจากดอกไม้ กินเมนูรสเลิศจากดอกไม้และพืชสมุนไพร ชงชาเบญจเกสรชุ่มชื้นหัวใจ บอกเคล็ด (ไม่) ลับทำกระเจี๊ยบโซดาดับกระหาย เข้าห้องนิทรรศการสมุนไพรภูมิปัญญาไทยสู่สากล และปิดท้ายด้วยการ นั่ง เดิน ชม เพิ่มพูนความรู้ในสวนสมุนไพรของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ

ศาสตร์ศิลป์บนตัวดอก

ก่อนไปเรียนวิธีทำแผงอัดพรรณไม้ หรือ Herbarium Specimen ที่ช่วยให้ดอกไม้ตัวน้อย มีอายุไม่น้อยตามขนาดได้ ผศ.ดร.ภก. ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หรืออาจารย์ป๋อม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ ขออุ่นเครื่อง แชร์ความรู้ เพิ่มพูนความเข้าใจให้ทุกคนรู้จักสิ่งนี้มากขึ้น

Herbarium หรือ พิพิธภัณฑ์พืช เป็นสถานที่เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ที่มี Herbarium Specimen หรือ ตัวอย่างพรรณไม้แห้งถูกจัดเก็บอยู่เป็นจำนวนมาก

ทำไมต้องพรรณไม้แห้ง เก็บมันให้อยู่สดๆ ไม่ได้เหรอ? (รู้นะ ว่าสงสัย)

อาจารย์ป๋อมอธิบายว่า สวนพฤกษศาสตร์คิว (Kew Gardens) ประเทศอังกฤษ เป็น Herbarium ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีจำนวนตัวอย่างพรรณไม้กว่า 7 ล้านชิ้น รวมไปถึง Herbarium ของทางมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีตัวอย่างพรรณพืชอยู่ 2 หมื่นกว่าชิ้น จำนวนที่มากมายขนาดนี้ หากไม่ทำให้แห้งและแบน จะจัดเก็บได้ยาก การจัดเก็บในรูปแบบนี้นอกจากสะดวกแล้ว ยังช่วยยืดอายุพรรณไม้ให้อยู่ได้นานหลายร้อยปีอีกด้วย!

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเพราะอาจารย์ป๋อมแอบกระซิบกับเราว่า ตนเคยทำวิจัยตัวอย่างพรรณพืชที่มีอายุประมาณ 300 กว่าปีมาแล้ว

“ถ้าเราเอาดอกไม้วางไว้บนโต๊ะ ผ่านไปอาทิตย์นึงมันก็จะเหี่ยวและร่วงได้ แต่ Herbarium Specimen หรือตัวอย่างพรรณไม้แห้ง ไม่มีปัญหาแบบนั้น เพราะตอนที่มันสดๆ อยู่ เราจะทำการบีบให้มันแบนก่อน หลังจากนั้นเอาเข้าตู้อบหรือตากแดด พอแห้งก็อยู่ได้นานเพราะมันไม่ชื้น เชื้อราก็ไม่มี” อาจารย์ป๋อมเสริม

การจัดเก็บพืชใน Herbarium นั้น อาจารย์ป๋อมบอกว่าช่างคล้ายกับห้องสมุดซะเหลือเกิน เพราะห้องสมุดมักจัดหมวดหมู่ชัดเจนว่า ถ้าเป็นหนังสือเล่มนี้จะวางอยู่ที่ตู้นี้ ชั้นนี้ ตำแหน่งนี้ ซึ่งง่ายต่อการไปหยิบมาใช้ Herbarium ก็เช่นกัน ที่หากเอามาวางคละกันก็ยากต่อการจัดการ และไม่รู้สักทีว่าต้นที่เราจะศึกษาอยู่ตรงไหนกันแน่

สำหรับการจัดหมวดหมู่พืชใน Herbarium ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของนักอนุกรมวิธาน (Taxonomists) ที่จับพืชทุกต้นแยกเป็นกลุ่มๆ โดยแบ่งเป็น วงศ์ (Family) สกุล (Genus) และ ชนิด (Species) 

เพื่อลดความสับสนให้ผู้อ่าน อาจารย์ป๋อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ด้วยการเปรียบ ‘วงศ์’ แทนจังหวัด ซึ่ง 1 จังหวัดจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นอำเภอนั่นคือ ‘สกุล’ และ 1 อำเภอ แบ่งย่อยออกไปอีกเป็นตำบลที่แทนด้วย ‘ชนิด’

ที่นี้หากใครจะไปศึกษาค้นคว้า แค่หาว่าพืชที่สนใจอยู่ในจังหวัดไหน อำเภอไหน ตำบลไหน จะง่ายขึ้นเยอะเลยแหละ

การอัดพรรณไม้นอกจากจะให้ความรู้กับผู้ศึกษาได้แล้ว ยังสามารถให้ความรื่นรมย์และทำเป็นงานอดิเรกได้ เพราะถ้าย้อนกลับไปในสมัยจักรวรรดิบริติช (British Empire) ประเทศอังกฤษ กิจกรรมการทับดอกไม้ หรือ การอัดพรรณไม้ (ที่เรากำลังจะเริ่มทำในอีกสักครู่) ถือเป็นกิจกรรมยามว่างของสตรีชนชั้นสูงที่นำดอกไม้สีสันสวยงามมาอัดให้แบน และนำไปใส่ในสมุดหรือทำเป็นโปสการ์ดให้คนรัก

ดอกไม้บนแผงอัด

หากตอนนี้กังวลว่าจะยาก ขอให้จินตนาการถึงภาพฉากในหนังโรแมนติกที่นางเอกเก็บดอกไม้ที่พระเอกให้ไว้ในสมุดจนแบนราบ นั่นแหละทฤษฎีเดียวกัน!

สิ่งที่ต้องเตรียม

  1. กระดานไม้อัด ขนาด A4 2 ชิ้น 
  2. กระดาษลูกฟูก  2 แผ่น
  3. กระดาษหนังสือพิมพ์ 2 ชิ้น
  4. กรรไกร
  5. เชือก
  6. ดอกไม้สดหลากชนิด 
  7. กระดาษสำหรับจดบันทึก
  8. เทปกาว

ขั้นตอนการทำ

  1. วางกระดานไม้อัด 1 แผ่น ไว้บนโต๊ะ เพื่อเป็นฐานสำหรับการอัด
  2. นำกระดาษลูกฟูกวางทับลงบนกระดานไม้อัดเพื่อเป็นชั้นระบายอากาศ
  3. ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ไม่เกินกระดานอัดและกระดาษลูกฟูกที่เตรียมไว้ และทับลงบนกระดาษลูกฟูกเพื่อเป็นชั้นรองดอกไม้
  4. นำดอกไม้สดที่เตรียมมาวางบนกระดาษหนังสือพิมพ์ตามใจชอบ หากดอกไหนยาวเกินแผ่นกระดาษหนังสือพิมพ์ให้หักก้านดอกไม้เป็นตัวอักษร M U หรือ N 
  5. วางกระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดเท่าเดิมลงบนดอกไม้อย่างเบามือ เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่ของดอกไม้ที่จัดไว้แล้ว
  6. นำกระดาษลูกฟูกวางทับลงบนกระดานไม้อัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความชื้น
  7. วางกระดานไม้อัดทับลงอีก 1 แผ่น เพื่อเพิ่มแรงกดทับ
  8. ผูกเชือกให้แน่น
  9. นำไปตากแดดร้อนๆ 3 – 7 วัน เพื่อให้ดอกแห้งสนิท
  10. จัดดอกไม้ที่แห้งแล้วบนกระดาษ จดบันทึกตามใจชอบ และติดด้วยเทปกาว
  11. เพื่อเพิ่มมูลค่าให้งานศิลปะชิ้นนี้ อาจระบุชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อภาษาอังกฤษ ชื่อภาษาไทย วงศ์ สถานที่ที่เก็บดอกไม้ ชื่อผู้ทำ วันที่ทำ และข้อมูลอื่นๆ ที่อยากบรรยาย เช่น สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังจากที่ดอกไม้แห้งแล้ว ทั้งรูป ทรง กลิ่น สี ไว้มุมด้านซ้ายของกระดาษ เป็นอันเสร็จ!

ทริคเล็กๆ เพิ่มความดีงาม

  1. ดอกไม้ที่นำมาควรเป็นดอกไม้สดที่ตัดมาจากลำต้น ไม่ควรเลือกดอกที่ตกลงพื้น เพราะยิ่งสดจะยิ่งอยู่ได้นาน
  2. หากเป็นไม้ล้มลุก ต้องเก็บทั้งราก ใบ และดอก มาให้ครบ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักพฤกษศาสตร์
  3. ควรเลือกดอกไม้หลากหลายชนิดเพื่อความสวยงามของงาน และควรเลือกที่มีสีสด เพราะเมื่อนำมาอัดให้แห้ง สีจะคงอยู่ได้นาน เช่น หญ้าลิ้นเป็ด ประทัดจีน หรือไฮเดรนเยีย 
  4. พยายามอัดดอกไม้ให้แบนที่สุด ด้วยการเลือกพรรณที่มีความหนาเท่ากันๆ หากไม่เท่าจะไม่สมดุลและไม่มีประสิทธิภาพได้

ระบายดอกบนโปสการ์ด

สำหรับใครที่ยังไม่จุใจ ยังอยากทำงานศิลปะต่อ เตรียมพู่กันให้พร้อม แล้วไปใช้สีจากดอกไม้ธรรมชาติมาระบายความสุขลงบนโปรการ์ด ในคลาสของ บุญญาณี ศรีโพธิ์ช้าง หรือคุณนะโม นักวิชาการช่างศิลป์ อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำดอกไม้ในสวนมาสกัดเป็นสีน้ำ ทั้งกรรณิการ์แทนสีเหลือง อัญชันแทนสีน้ำเงิน และแก่นฝางแทนสีแดง แถมยังนำดอกไม้แห้งจากการทำ Herbarium Specimen ที่สอนไปข้างต้น มาตกแต่งเสริมความสนุกให้โปสการ์ด มีทั้งหางนกยูงไทย หางนกยูงฝรั่ง อินทนิลน้ำ ดอกเข็มใหญ่ และดอกเข็มเล็ก 

สิ่งที่ต้องเตรียม

  1. สีที่สกัดจากดอกไม้
  2. พู่กัน
  3. ดอกไม้แห้ง
  4. ฟอร์เซป 
  5. กาวใส
  6. โปสการ์ดของตัวเอง
  7. แสตมป์

ขั้นตอนการทำ

  1. นำดอกไม้มาต้มกับน้ำเพื่อให้เกิดสีจากธรรมชาติ
  2. ใช้พู่กันจุ่มสีและระบายสีบนโปสการ์ดตามใจชอบ (ไม่ควรผสมน้ำเพิ่ม เพราะสีที่ได้จะจางลงกว่าเดิม)
  3. ใช้ฟอร์เซปคีบดอกไม้ จุ่มกาวเล็กน้อย และแปะลงบนโปรการ์ดตามที่ต้องการ (สามารถใช้นิ้วแตะกาวแล้วมาแตะดอกไม้ได้)
  4. ติดแสตมป์ลายที่ชอบ พร้อมส่งหาคนที่คุณรัก

พักกินดอก ก้าน ใบ 

หลังจากใช้เวลาไปกับงานศิลปะมาพักใหญ่ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชำนาญการของภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ก็ใจดี ขออาสาสวมบทแม่ครัว ควงตะหลิวทำเมนูออร์แกนิกที่มีส่วนผสมของดอกไม้และพืชสมุนไพรภายในอุทยานให้เรากิน

เมนูแรก ‘แกงส้มผักรวม’ ที่มีดอกแค ไชเท้า กวางตุ้ง และผักกาดขาว 

เมนูที่สอง ‘น้ำพริกกะปิ’ ที่มีกระเทียมและพริกซึ่งเป็นยารสเผ็ดร้อน ออกฤทธิ์ช่วยขับลมและกระตุ้นการเจริญอาหาร ยิ่งกินคู่กับชะอมชุบไข่และผักลวกที่มีฤทธิ์เป็นยารสจืด ทั้งดอกขจร ดอกสโน ยอดแค ผักบุ้งไทย ผักปลัง ถั่วพลู และแตงกวา ยิ่งได้ความอร่อยแถมเสริมสร้างกากใยให้ร่างกายได้อีก

ปิดท้ายด้วยคุณประโยชน์ของมื้ออาหารในวันนี้ด้วย เมนู ‘ดอกไม้ทอด’ ที่ประกอบไปด้วย ดอกขจร ดอกอัญชัน สโน ผักปลัง แครอท และกระเจี๊ยบมอญ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ

“ถ้าทุกคนกินสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายตั้งแต่แรก เราจะไม่ต้องไปหาสมุนไพรอะไรมาต้มยากินเลย” ทีมแม่ครัวกล่าว

เบญจเกสร

ชาดอกไม้ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก 

ต้องขอปรบมือให้คนสมัยก่อนที่คิดค้น ‘ชาเบญจเกสร’ หรือชาเกสรทั้ง 5 ขึ้นมา เพราะนอกจากจะช่วยให้ผ่อนคลายจากกลิ่นของพวกมันได้แล้ว ยังแก้กระหายน้ำ แก้วิงเวียน และชุ่มชื้นหัวใจไปตามๆ กัน

วันนี้อาจารย์เตยจึงไม่พลาดพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับชาเบญจเกสร ที่ประกอบด้วยเกสรทั้ง 5 ได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี มะลิ และ เกสรบัวหลวง ซึ่งการที่ชาในตำหรับไทยมีส่วนประกอบของดอกไม้เยอะ ทำให้ได้กลิ่นหอมผ่อนคลายจากน้ำยาหอมระเหยในดอกไม้ และยังมีสารสำคัญอย่าง ฟลาโวนอยด์และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงร่างกายอีกด้วย

สำหรับวิธีการชงชา เราสามารถทำเองได้ง่ายๆ แค่มีกาชงชาและเกสรแห้งของดอกไม้ทั้ง 5 โดยเริ่มจากการหยิบดอกไม้ชนิดละหนึ่งหยิบมือ (สามารถเพิ่มหรือลดได้ตามความชอบของกลิ่น) ใส่ในกา เทน้ำร้อน ดันดอกไม้ให้ไปอยู่ข้างล่าง ทิ้งไว้ 3 – 5 นาที และรอดอกไม้บาน ก็สามารถดื่มได้เลยง่ายๆ ยิ่งกินคู่กับขนมกลีบลำดวนหอมๆ แล้วล่ะก็ บอกเลยว่า ละมุนมาก

ปล. ถ้าอยากเพิ่มความสนุก ลองเอาชาเบญจเกสรชงคู่กับชาเขียวเซนฉะดู จะได้กลิ่นหอมหวานที่ต่างจากเดิมไปอีก

กระเจี๊ยบซ่าดับกระหาย

มาถึงเมนูดับร้อนที่ทั้งเย็น สดชื่น ซาบซ่า และเข้ากับอากาศบ้านเราตอนนี้สุดๆ กับเมนู ‘กระเจี๊ยบแดงโซดา’ รสเปรี้ยวชุ่มคอ ที่มีส่วนช่วยลดอาการแก้ไอ ลดการเกิดนิ่ว แถมเป็นยาระบายได้ด้วย 

คนสมัยก่อนจะนำกระเจี๊ยบแดงมาบดละเอียดจนเป็นผงและชงดื่มร้อนๆ กัน แต่ในสมัยนี้นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มเย็นๆ ดับกระหายแทน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกันว่าส่วนประกอบของกระเจี๊ยบแดงที่เอามาทำเป็นเครื่องดื่มนั้นน่าจะมาจากดอก แต่ความจริงแล้วกลับไม่ใช่ เพราะมันคือ ‘กลีบเลี้ยง’ ที่ให้รสเปรี้ยวและมีสารต้านอนุมูลอิสระต่างหาก

ส่วนผสม

  1. กระเจี๊ยบแดงสดหรือแห้ง 20 กลีบ
  2. น้ำเปล่า 300 มิลลิลิตร
  3. น้ำตาลทราย 4 ช้อนกลาง
  4. น้ำโซดา 1 ขวด
  5. น้ำแข็ง

วิธีทำน้ำกระเจี๊ยบโซดา

  1. นำกระเจี๊ยบแห้งล้างน้ำให้สะอาดใส่ลงหม้อ เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 คืน
  2. นำมาตั้งไฟ รอให้น้ำเดือดแล้วต้มต่ออีก 20 นาที
  3. เติมน้ำตาลทราย ปรุงรสตามใจชอบ
  4. ตั้งไว้ให้เย็นในอุณหภูมิปกติ หรือนำไปแช่เย็นเพิ่มความสดชื่นก็ได้เหมือนกัน
  5. เมื่อต้องการจะดื่มให้ใส่น้ำแข็งลงในแก้ว
  6. เติมน้ำกระเจี๊ยบลงไปประมาณครึ่งแก้ว
  7. เทน้ำโซดาไปอีกครึ่งแก้วเพื่อให้ได้รสชาติที่บาลานซ์ แถมได้สีสวยงามสไตล์อิตาเลียนโซดาด้วยนะ
  8. วางกระเจี๊ยบสดหรือแห้งบนผิวน้ำเพิ่มความสวยงาม ก็ยกดื่มได้เลย

ความรู้รอบสวน

ก่อนปิดกิจกรรม อาจารย์เตยก็ไม่ลืมพาเราเดินชมห้องนิทรรศการสมุนไพรภูมิปัญญาไทยสู่สากล เพื่อทำความรู้จักความดีงามของรสยาทั้ง 10 และปิดท้ายด้วยการนั่งรถรางชมสวนสมุนไพรอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติที่มีวิทยากรให้ความรู้ตลอดทาง แถมได้ลงเดิน เด็ด ชิม สมุนไพรชื่อแปลกในสวนที่รับรองความสะอาด ปลอดภัย ด้วยหลัก ‘การออกแบบเพื่อมวลชน’ (Universal Design) เป็นตัวรับประกัน ถ้าอยากรู้ว่าที่นี่มีอะไรน่าสนใจบ้าง ขอชวนทุกท่านอ่านต่อในบทความ ‘อุทยานธรรมชาติแห่งใหญ่ที่สอนวิชาสมุนไพรไทยหายากด้วยแนวคิด Universal Design’ กันได้เลย

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น