30 มิถุนายน 2020
21 K

“อั๊วทำมาตั้งแต่เลิกสงคราม ตอนนี้อั๊วแปดสิบเจ็ด เกือบเจ็ดสิบปีแล้ว”

เพียงตัวเลขบอกจำนวนร่วมศตวรรษของ อาม่าเมี่ยวลั้ง แซ่อิ๊ว ทายาทรุ่นสองของครอบครัวทำเบาะไหว้เจ้า เจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายในตลาดน้อย คงพอจะเป็นเครื่องการันตี ‘ความชำนาญ’ และ ‘ตำนาน’ ได้อย่างงดงาม

อาม่าเมี่ยวลั้ง หญิงวัย 87 แม้เส้นผมจะแซมสีดอกเลา ทว่ากาลเวลาไม่อาจพรากความทรงจำ เธอเล่าความหลังเกือบร้อยปีก่อน สมัยเหล่ากง พ่อของอาม่าล่องเรือจากจีนมาสยามให้เราฟังด้วยท่าทีสบาย พลางมือจับช้อนคนกาแฟ

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย
เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

“ตอนนั้นอั๊วยังไม่เกิดเลย” ทายาทรุ่นสองส่งเสียงหัวเราะ เมื่อเราถามถึงอาชีพของบรรพบุรุษ

เหล่ากงมาตั้งรกรากอยู่ในสยามราวรัชกาลที่ 5 และเริ่มต้นกิจการ ‘เฮงเส็ง’ ด้วยการรับทำและจำหน่ายเบาะที่นอน หมอน และมุ้ง เป็นร้านแรกและร้านเดียวในตลาดน้อย แถมผลิตด้วยมือทุกขั้นตอน มีห้องสำหรับใส่นุ่นเฉพาะอยู่ภายในบ้าน เกร็ดสนุกของการทำเบาะที่นอนคือ นอกจากจะใส่นุ่นแล้ว ยังใส่ฟางด้วย โดยฟางได้มาจากฟางที่ห่อหุ้มถ้วยแก้วและเครื่องเซรามิกจากเรือขนส่งสินค้าของประเทศญี่ปุ่นที่เดินเรือมาขายในไทย ยุคนั้นถือเป็นยุครุ่งเรืองของการค้า ทำให้เบาะที่นอน หมอน และมุ้งของเฮงเส็งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ขายดีจนบางทีต้องขับรถไปส่งเองถึงเยาวราช

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

“คนสมัยก่อนประหยัด นอนที่นอนน้อย ใช้แต่มุ้งกับหมอนข้าง ตอนสิ้นปีมุ้งขายดีมาก คนจีนจะเปลี่ยนมุ้งทุกสิ้นปี มีคนมาจองล่วงหน้า เย็บทีเป็นเดือน จอมพล ป. ก็มาทำที่นี่ นางสาวไทยรุ่นที่หนึ่ง คนตลาดน้อย ก็ทำที่นี่” อาม่าเล่า

ภายหลังประเทศไทยมีมุ้งลวด แอร์ และเบาะที่นอนฟองน้ำ ความนิยมของมุ้งและเบาะที่นอนนุ่นก็ลดฮวบทันที

ทายาทรุ่นสอง

“เด็กในบ้าน พอเดินได้ ก็ถีบจักรได้เลย” อาม่าเมี่ยวลั้งฉายแววเย็บปักถักร้อยตั้งแต่อายุยังน้อย

“อั๊วเรียนถึงปอสี่ ตอนนั้นเพิ่งเลิกสงครามโลกครั้งที่สอง เมืองไทยไม่ให้เรียนหนังสือจีน เรียนจบแล้วก็มาอยู่บ้าน เริ่มต้นทำเบาะช่วงนั้นพอดี สมัยก่อนทำแต่เบาะสี่เหลี่ยมสำหรับใส่เก้าอี้หวาย ส่งไปแถวประตูผี” ทายาทรุ่นสองสานต่อกิจการครอบครัวด้วยวัยเพียงหลักสิบ เมื่อเราถามถึงเหตุผลในการรับช่วงต่อ 

“ตอนนั้นสิบกว่าขวบ ไม่มีใครทำ เราก็ต้องทำ” อาม่าตอบ

อาม่ามีทักษะตัดเย็บเป็นทุนเดิม ทำให้ง่ายต่อการเปลี่ยนกิจการทำเบาะที่นอน หมอน และมุ้ง มาเป็นการทำเบาะไหว้เจ้า ยิ่งช่วงนั้นเก้าอี้หวายมาแรง คนมาสั่งทำเบาะสี่เหลี่ยมสำหรับรองนั่งกันเยอะมาก หนึ่งวันทำส่งกว่าร้อยชิ้น ทำทั้งวันทั้งคืนชนิดที่ว่าคนในครอบครัวและคนงานมาช่วยกันเย็บจักรและใส่นุ่น ก็ยังไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า 

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

“เจ็ดสิบปีก่อน เราเป็นร้านเดียวในกรุงเทพฯ ไม่มีใครทำ ตรังอั๊วก็ส่ง ปัตตานีอั๊วส่งหมอนข้างใส่เข่งใหญ่ๆ ขึ้นรถไฟไป เชียงใหม่อั๊วส่งเบาะไป เพราะเขาทำเก้าอี้หวายขาย” ระยะทางได้เป็นเครื่องการันตีความสามารถและคุณภาพของ ‘เฮงเส็ง’ เรียบร้อยแล้ว ด้วยความสงสัย เราถามอาม่าเมี่ยวลั้งต่อว่า “สมัยนั้นอาม่าขายเบาะราคาเท่าไหร่”

“อั๊วจำไม่ได้แล้ว” ตอบทันที ก่อนจะนิ่งคิด “ตอนสงครามเลิก เบาะหนึ่งชิ้นราคาหนึ่งบาท จะว่าถูกก็ไม่ถูก สมัยนั้นเงินมันใหญ่ ห้าสตางค์ยังซื้อของได้ อั๊วซื้อขนมห้าสตางค์ สิบสตางค์” ไหนไหนก็พูดเรื่องอดีตแล้ว อาม่าเล่าความหลังสมัยเด็กว่า “บ้านอั๊วยังอยู่ตรงนี้ สงครามรู้สึกว่าหลายปีเหมือนกันนะ ตั้งแต่อั๊วแปดขวบ ห้าปี” อาม่าพูดจบพลางนับนิ้ว “แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด สิบสอง ญี่ปุ่นมาที่นี่ห้าปี แล้วตอนสงครามไม่มีผ้าขาย เตี่ยต้องเอาตะกร้าแอบไปซื้อผ้ามาใช้ ต้องปิดประตูเย็บด้วย แต่พอหลังสงครามก็เจริญสิ เซียงกง ร้านอะไหล่เก่าขายดีที่สุด” อาม่าเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“สมัยก่อนแถวนี้เป็นสำเพ็ง มีทุกอย่าง เจริญมาก ถ้าจะใช้ถ่านต้องมาซื้อตลาดน้อย จะมีเรือขายถ่าน เรือขายข้าวสารเทียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงหน้าศาลเจ้าโจวซือกง มีโรงตีเหล็กอยู่สองข้าง จะซื้อสมอก็ต้องมาที่นี่

“มีธนาคารจีนอยู่ตรงข้าม ตอนฝากเงินต้องเอาเงินเหรียญใส่เข่ง แล้วเทลงพื้นมานับ สมัยนั้นเขาไม่ใช้แบงก์” 

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

หลังจากคนเห็นฝีมือฉกาจในการทำเบาะสี่เหลี่ยมสำหรับรองนั่งของเฮงเส็งแล้ว ทำให้ศาลเจ้าใกล้เคียงติดต่อขอให้ทำเบาะไหว้เจ้าด้วย อาม่าเมี่ยวลั้งไม่ปฏิเสธ พร้อมเย็บเบาะไหว้เจ้าใบกลมสวยส่งศาลเจ้าและเยาวราชทันที ซึ่งรูปแบบของเบาะไหว้เจ้าดั้งเดิมจะเป็นทรงกลม สีพื้น ศาลเจ้าจะเน้นเบาะสีแดงและสีชมพู อาม่าเลือกใช้ผ้าในเมืองไทยเป็นหลัก

ถ้าเป็นปลอกหุ้มนำเข้าจากจีนจะเป็นผ้ามันเงาสีแดงปักลวดลายและปักอักษรจีนตรงกลาง หุ้มด้วยพลาสติกเย็บมืออีกหนึ่งชั้นเพื่อป้องกันควันธูปและหยดน้ำตาเทียน สั่งปักชื่อเจ้าของได้ด้วยนะ ความสนุกอีกอย่างของเบาะไหว้เจ้าคือ สีเบาะจะเปลี่ยนตามเทศกาล เทศกาลกินเจคนนิยมสั่งทำเบาะสีเหลือง แต่ถ้าเป็นงานกงเต๊กคนนิยมสั่งทำเบาะสีน้ำเงิน

ด้วยวัยเกือบ 90 ปี อาม่าเมี่ยวลั้งพาเฮงเส็งโลดแล่นและโดดเด่นจนเป็นที่รู้จักกว่า 70 ปี เราไม่อยากเรียกว่าวางมือเสียทีเดียว เพราะใจยังสู้ เพียงแต่ตัวเลขบอกจำนวนประสบการณ์ได้พาเรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา

“ตอนหลังไม่ทำแล้ว แก่แล้ว หูก็ตึง ตาก็มองไม่ค่อยดี” หญิงวัย 87 ส่งเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
“อยากทำ แต่ไม่มีแรง” เจี๊ยบ-วิมล เหลืองอรุณ ทายาทรุ่นสามของเฮงเส็งพูดสวนขึ้นทันที

“บางวันก็ช่วยจับริม วันก่อนอั๊วเย็บหมอนสี่เหลี่ยม แล้วข้างในมันมีลิ้นต้องสอยมือ เมื่อก่อนอั๊วสอยได้ ครั้งนั้นเอามาสอย ไม่ไหว สอยแล้วเวียนหัว แปดสิบเจ็ดแล้วนะ ไม่ใช่เจ็ดสิบ ทำไม่ไหว ดูโทรทัศน์ดีกว่า” อาม่าหัวเราะร่วน

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

ทายาทรุ่นสาม

ทำไมอาม่าอยากให้ลูกสาวสานต่อกิจการของครอบครัว เราถาม

“ถามลูกสาวอั๊วสิ” โบ้ยหน้าไปทางลูกสาวก่อนจะเสริมว่า “อีจะทำก็ให้ทำ อีไม่ทำอั๊วก็ปิดร้าน อั๊วไม่คิดมาก”

“ประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว กิจการเริ่มเงียบ อาม่าเริ่มทำไม่ไหว เลยเรียกเราเข้ามาทำ เพราะเขาเสียดายที่ลูกค้ายังมี แต่ไม่มีคนทำ ไม่มีร้านไหนทำอีกแล้ว มีร้านเราร้านเดียว พอดีเรามีพื้นฐานตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่แล้ว เลยง่าย” ทายาทรุ่นสามเล่าเหตุผล “เราเห็นมาตั้งแต่เกิด เห็นญาติ เห็นคนงานเต็มบ้านช่วยกันเย็บเบาะ ตอนนั้นพอช่วยได้นิดหน่อย”

สมัยก่อนตลาดน้อยเป็นชุมชนใหญ่ เจี๊ยบในวัยเด็กถูกสอนให้ทำการค้า ช่วงปิดเทอมอาม่าจะให้เธอขายของหน้าบ้าน เธอขายน้ำหวาน และขนหนังสือที่มีอยู่เต็มบ้านมาวางตั้งให้คนละแวกนั้นเช่าไปอ่าน เจี๊ยบมีหัวการค้าและผูกพันกับกิจการทำเบาะไหว้เจ้าของครอบครัว แม้เธอจะกระซิบว่าตอนเด็กไม่เห็นคุณค่า แต่ปัจจุบันเธอรับหน้าที่พาเฮงเส็งเดินหน้าต่อด้วยก้าวที่มั่นคง ในยุคสมัยที่ข้าวของหน้าตาเหมือนกันหมดจากโรงงานอุตสาหกรรม ทว่าเฮงเส็งเอาชนะและยืนหยัดด้วยสองมือ สองมือที่เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการแรกจนกระบวนการสุดท้าย เพื่อคงเสน่ห์ดั้งเดิมของบรรพบุรุษ 

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย
เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

เฮงเส็งในก้าวเดินของเจี๊ยบ จากเบาะไหว้เจ้าใบกลมสีแดงสดถูกเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานเป็นหมอนอิงวางประดับบ้าน มีเบาะใบจิ๋วสำหรับวางข้อมือ เบาะทรงสามเหลี่ยมแรงบันดาลใจจากบ๊ะจ่างสำหรับวางมือถือ ผ้าที่ใช้หุ้มเบาะก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ที่เห็นแล้วโดนใจคงเป็นลายดอกโบตั๋นสีสดใสที่เป็นดอกไม้มงคลของจีน

เจี๊ยบเล่าว่าจากคนงานเต็มบ้าน ปัจจุบันเหลือช่างสุดยอดฝีมือเพียง 3 คน คืออาม่าเมี่ยวลั้ง อาอี๊นิภา พุทธังกุล และเธอ ส่วนมากเจี๊ยบจะรับทำหน้าที่ทำคนเดียวทั้งหมด เพราะเธอทำรูปแบบเบาะขึ้นมาใหม่ อาม่าและอาอี๊ถนัดเบาะแบบดั้งเดิม เลยช่วยเย็บบ้างนิดหน่อย แม้อายุจะรวมกันเกือบ 200 ปี ทว่าการสอยเข็มของทั้งคู่ไม่ธรรมดาเลย

ทายาทรุ่นสามบอกเราว่า หัวใจสำคัญของการทำเบาะไม่ได้อยู่ที่การเย็บ แต่การใส่นุ่นต่างหากสำคัญ เป็นเทคนิคที่ถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น อาศัยความชำนาญและประสบการณ์สูง เป็นหมัดเด็ดมัดใจลูกค้าตั้งแต่รุ่นเหล่ากงยันรุ่นหลาน

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

“เย็บใครก็เย็บได้ แต่วิธีการการใส่นุ่นและใยมะพร้าวเป็นเทคนิคที่ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ จะใส่ยังไงไม่ให้เบาะแข็งจนเกินไปและไม่นิ่มจนเกินไป เราใช้มืออย่างเดียวไม่ได้ใช้เครื่องจักรช่วย ถึงเราจะสอนอีกคนหนึ่งเขาก็ทำออกมาไม่เหมือนเรา” ระหว่างสนทนา เจี๊ยบสาธิตวิธีการใส่นุ่นให้เราดูอย่างชำนาญ เธอมีไม้ขนาดไม่สั้นไม่ยาวเป็นตัวช่วยในการใส่ บวกกับสองมือที่คอยจับนุ่นยัดตรงนั้นที ดันตรงนู้นที จากปลอกเบาะโบตั๋นใบผอมก็อ้วนพีไปด้วยนุ่นเนื้อนุ่ม ที่เธอก็ไม่อาจคะเนได้ว่าปริมาณที่ใส่ลงไปมีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่ประสบการณ์กว่า 20 ปีบอกเธอว่าปริมาณเท่านี้กำลังพอดี

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย
เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

นอกจากเบาะไหว้เจ้า เฮงเส็งยังรับทำเบาะตามใจลูกค้าด้วย จะหาผ้ามาเองก็ย่อมได้ มีแบบในใจแล้วให้เฮงเส็งช่วยตัดให้ก็ย่อมได้ เมื่อไม่นานมานี้เจี๊ยบเล่าว่าเพิ่งกลับมาทำเบาะที่นอนนุ่นอีกครั้ง เพราะลูกค้าตื๊อให้เธอทำ เจี๊ยบบอกว่าวิธีการทำเธอก็เรียนรู้มาจากอาม่าอีกที “ที่นอนเราไม่เคยเย็บ ก็ต้องถามคนแก่ว่าเย็บยังไง เขายังจำได้ เราก็ต้องรีบถามเดี๋ยวเขาจำไม่ได้ มันจะหายไปเลย” เธอหัวเราะ “พอเราถามเขา เราก็ต้องจดไว้ด้วยเหมือนกัน กันลืม” เธออธิบาย

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย
เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

อาม่าได้ยินบทสนทนาเลยเสริมขึ้นมาว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ทำง่ายๆ คนมาสั่งทำที่นอนพับอั๊วก็ต้องสอน หมอนสี่เหลี่ยมก็ต้องสอน ทุกอย่างทำไม่ง่าย ต้องค่อยฝึก อั๊วมันเกิดที่นี่ ตั้งแต่เล็กอยู่จนโต อั๊วรู้หมด” 

เราถามหยั่งเชิงด้วยความสนุกว่า ถ้าปิดตาแล้วเอาเบาะ 3 ใบมาวาง จะรู้มั้ยว่าใบไหนเป็นของเฮงเส็ง

“รู้” เจี๊ยบตอบทันที “อย่างเบาะไหว้เจ้า เวลาไปศาลเจ้าเรามองปุ๊บแล้วรู้เลยว่าอันไหนเป็นเบาะของเรา มันมีเอกลักษณ์ของเราซ่อนอยู่ เราตัดเอง เราเย็บเอง มันผ่านมือเรามา เราจะรู้ทันทีว่าเบาะใบนี้เราเป็นคนทำ” เธอยิ้ม

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

 เฮงเส็ง (ใหม่)

การจะมีกิจการอยู่ได้ถึงร้อยปี ไม่ใช่แค่รักษาและอนุรักษ์มรดกของบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันต้องเปิดรับสิ่งใหม่ที่จะพาธุรกิจครอบครัวเดินไปข้างหน้าด้วย การทำงานของเจี๊ยบในฐานะทายาทรุ่นสาม เธอเน้นการเปิดรับโอกาสและก้าวขาออกจากพื้นที่ปลอดภัยไปลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ อย่างการร่วมงานออกแบบกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และดีไซเนอร์รุ่นใหม่

“ช่วงนั้น TCDC อยากทำงานกับชุมชน เขามาดูว่าแต่ละชุมชนมีอาชีพเก่าแก่อะไรบ้างที่น่าสนใจ เขามาหาเรา แล้วถามว่าร่วมมือกับเขาได้มั้ย ทำแล้วต้องสบายใจด้วยนะ ตอนงาน Bangkok Design Week ขายดีมาก” 

เจี๊ยบตอบรับคำเชิญและร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับนักออกแบบอยู่ 2 คน ภายใน 2 ปี ปีแรกเป็นการทำงานกับ ศรัณย์ เย็นปัญญา เธอและเขาทำเก้าอี้สีพาสเทลและเบาะรองนั่งพิมพ์ลายดอกไม้สีหวาน เห็นครั้งแรกก็ต้องเอ่ยปากชมว่าเก๋! จนอยากมีติดบ้าน แต่บอกก่อนว่าไม่มีขายนะ ไปดูของจริงได้ที่หน้าร้านเฮงเส็ง ส่วนปีที่ 2 เจี๊ยบทำงานร่วมกับเจ้าของแบรนด์ VINN PATARARIN ดีไซเนอร์ไทยที่ดังไกลถึงฝรั่งเศส มาเปลี่ยนโฉมเบาะไหว้เจ้าลายดอกโบตั๋นเป็นรูปทรงดอกไม้หลายแบบ สร้างฟังก์ชันใหม่เป็นหมอนอิงใบน่ารัก วางประดับบ้านก็ทำให้มุมนั้นสวยสะดุดขึ้นทันตาเห็น 

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

“เราทำงานกับดีไซเนอร์สองคน ก็ได้ไอเดียจากเขาแล้วมาปรับกับงานของเรา เขาจะชอบใช้ผ้าสีพื้นมาประยุกต์กับผ้าลาย สีสวย เข้ากันดี พอเราทำจำนวนเยอะไปวางรวมกัน มันแดงหมดเลย พอมีนักออกแบบเข้ามางานเราก็หลากหลายขึ้น แหวกแนว มีลููกเล่นเยอะ ตอนนี้พยายามทำแบบใหม่ให้ลูกค้ามีตัวเลือกเยอะขึ้น แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของร้านเอาไว้ ดีไซเนอร์ก็แนะนำให้เราใช้ดอกโบตั๋นเป็นซิกเนเจอร์ของร้านไปเลย” ทายาทรุ่นสามเล่าถึงการปรับตัวของธุรกิจ

นอกจากนี้เจี๊ยบยังทำงานกับชุมชนตลาดน้อยด้วย เพราะเห็นว่านักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาในชุมชนเยอะขึ้น เธอจัดเวิร์กช็อปขนาดเล็กให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติลงมือทำเบาะใบจิ๋วเป็นของตัวเอง ต้องจองล่วงหน้าก่อนนะ

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

การสานต่อกิจการจากรุ่นเหล่ากงถึงรุ่นหลานที่ใช้เวลากว่าศตวรรษ ดูเรียบง่ายและค่อยเป็นค่อยไป แต่ในใจก็เกิดคำถามว่า ระหว่างทางการพากิจการเบาะไหว้เจ้า เจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายในตลาดน้อยมาถึงปัจจุบัน ที่ต้องผ่านทั้งยุครุ่งเรือง วันที่กิจการซบเซา และวันที่ฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง อาม่าและลูกสาวเคยคิดอยากจะเลิกทำบ้างหรือเปล่า

“มี” ลูกสาวตอบทันที

“ไม่ได้เลิก ทำไปเรื่อยแหละ” อาม่ายืนยันเสียงแข็ง

เจี๊ยบกระซิบให้เราฟังว่า “แม่เคยเลิกไปสองสามเดือน ช่วงนั้นลูกค้าเงียบๆ แล้วเขาก็เบื่อ เราก็ให้เขาช่วยทำบ้าง เอาที่เขาพอทำไหว อย่างการจับริม เขาก็จะชอบ เหมือนคนเคยทำมาตลอด เขาเลิกไม่ได้” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

เราถามอาม่าด้วยเสียงดังฟังชัดว่า ทำไมถึงรักสิ่งนี้นัก

“อั๊วก็ต้องรักสิ ไม่รักจะมาทำได้ยังไง มันก็สนุกดีแหละเนอะ” นัยตาเปี่ยมสุขมักพูดคำความจริงเสมอ

“เราทำด้วยใจรัก คงไม่ปล่อยให้มันตายไปหรอก” เจี๊ยบเสริม “มันเป็นอาชีพของบรรพบุรุษ ถ้าเราปล่อยให้หายไป ก็จะหายไปจากเมืองไทยเลยนะ มันยังเป็นของดั้งเดิมที่น่าจะอยู่ต่อ ถ้าเรายังรักษาเอาไว้ ถึงอนาคต เวลานั้นถ้าเราไม่ทำต่อ คงสอนให้คนที่เขาอยากทำ เพื่อให้ยังคงอยู่ได้ มีคนอนุรักษ์ต่อด้วยใจ ดีกว่าปล่อยมันหายไป”

ท่ามกลางความมืดครึ้มและกลิ่นน้ำมันเก่าของเซียงกงในตลาดน้อย ยังคงมีร้านเบาะไหว้เจ้าที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียวและเจ้าสุดท้ายตั้งตระหง่านเรืองรองพร้อมรับความเจริญรุ่งเรือง สมกับชื่อ ‘เฮงเส็ง’ ที่เหล่ากงหมายมั่นตั้งเอาไว้

เฮงเสง ร้านเบาะไหว้เจ้าสมัยสงครามโลกที่เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายของตลาดน้อย

เฮงเส็ง

ที่อยู่ 854-6 ซอยวานิช 2 ตลาดน้อย สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100

เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.

ติดต่อ 082 4566 516

Facebook : เฮงเส็ง เบาะไหว้เจ้า

Writers

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล