“ไม่มีใครต้องการหัวนกเงือก เท่านกเงือกอีกแล้ว”

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้เขียนข้อความออกเผยแผ่ เรียกร้องให้นกเงือกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศ 

 หลังจากปลายเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา นายปรีดา เทียนส่งรัศมี หัวหน้าโครงการคุ้มครองนกเงือก (ส่วนภาคใต้) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงขบวนการล่านกชนหินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดีผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“ขณะที่พิมพ์ข้อความอยู่นี้ ผมนอนอยู่ในเปลบนเขาตะโหนด อ.รือเสาะ ใจสับสนและกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้มาว่าตอนนี้มีพรานจากรือเสาะและยะลากำลังขึ้นเขามาล่าสัตว์ และสัตว์ที่เขามาล่าคือหัวนกชนหิน.. มีตลาดรับซื้ออยู่ในเมืองนรา เขาให้ราคาถึงหัวละหมื่น ชาวบ้านมาบอกว่าสองวันก่อนเขาเจอพรานมาซุ่มยิงนกเงือกที่ต้นไทรสุก..พบยิงนกชนหินถึง 4 ตัว ใจหายและรู้สึกโกรธจะทำอย่างไรกันดี? 

“สิ่งที่เราช่วยกันดูแลรักษากำลังถูกทำลาย และผมก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพียงแค่บันทึกบอกกล่าวและได้ระบายอะไรบ้าง ชาวบ้านที่ให้ข้อมูลเขาก็กลัวเพราะพวกมันมีปืน

“ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า ‘ผมเคยเตือนเขาแล้วว่าอย่ายิงนกเงือก เขาอนุรักษ์กัน มันกลับท้ายิงผมอีก’”

ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มเพาะช่างผู้ทุ่มเททำงาน 20 ปี จน นกเงือก ในป่าลึกภาคใต้ของไทยรอดจากการสูญพันธุ์

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยติดตามปรีดาเดินขึ้นเขาบูโดในอุทยานแห่งชาติบูโดสุไหงปาดี เขตจังหวัดนราธิวาส ไปสำรวจนกเงือกชนหินด้วยกัน จำได้ว่าเราเดินเขาหลายชั่วโมง จนมาถึงซุ้มดูนกชนหินที่สร้างเป็นเพิงไม้เล็กๆ เบื้องหน้าคือต้นไม้ขนาดใหญ่ยืนต้นตายห่างออกไปไม่ไกล สูงจากพื้นดินเกือบ 50 เมตร เป็นรังนกเงือกชนหิน

ชาวมุสลิมเรียกนกชนหินว่า บุหรงตอเราะ เป็นนกเงือกขนาดใหญ่โต ประมาณ 120 เซนติเมตร หน้าตาคล้ายนกดึกดำบรรพ์ เป็นนกที่พบเห็นได้ยากมาก ในประเทศพบได้เฉพาะทางภาคใต้ และเป็นนกเงือกชนิดเดียวที่มีโหนกตันคล้ายงาช้างสีแดงคล้ำ ขนตามตัวสีน้ำตาลเข้ม ท้องขาวนวล หางขาวมีแถบดำพาดขวางคล้ายหางนกกก 

โหนกตันคล้ายงาช้างนี่แหละคือสิ่งที่ยั่วยวนให้บรรดานักล่าเข้าป่าเพื่อแสวงหามาแกะสลัก โหนกของนกชนหินมีคุณลักษณะเทียบเท่างาช้าง เพราะโหนกที่มีสีเหลืองและแดงจะตันแข็ง เรียกว่า งาเลือด หรืองาสีแดง หายากมาก กลายเป็นสัญลักษณ์ความมั่งคั่ง เพราะหัวนกชนหินนั้นหายากยิ่งกว่างาช้าง และมีราคาแพงกว่างาช้างเสียอีก ถูกนำไปใช้ทำตราประทับ เครื่องตกแต่ง กำไล สร้อย

ผู้เขียนส่องกล้องดูโพรงรังของนกชนหิน สังเกตว่ามีปุ่มอยู่หน้าโพรงรัง ต่างจากโพรงรังของนกเงือกหัวแรดที่ไม่มีปุ่มอะไรเลย ปรีดาไขปริศนาให้ฟังว่า

“โพรงรังนกชนหินจะแปลกกว่านกเงือกชนิดอื่นตรงที่มีปุ่มอยู่หน้ารัง เรียกว่า ‘ตะโหงก’ เพราะมันใช้เล็บเกาะเปลือกไม้เหมือนนกเงือกชนิดอื่นไม่ได้ มีโหนกตันและโคนหางยาวกว่านกเงือกชนิดอื่น ทำให้ทรงตัวยากขณะป้อนอาหาร นกชนหินจึงต้องบินมาเหยียบปุ่ม แล้วค่อยป้อนอาหารให้ตัวเมียในโพรง”

ในเวลาต่อมา ข้อสังเกตนี้ทำให้เขาเป็นนักวิจัยคนแรกของโลกที่รายงานว่านกชนหินมีลักษณะการเลือกโพรงรังต่างจากนกเงือกพันธุ์อื่น ต้องเลือกโพรงที่มีปุ่มหรือตะโหงกเพื่อเป็นที่เกาะ

สาเหตุที่นกเงือกชนิดนี้ได้ชื่อว่า ชนหิน เป็นเพราะเวลามันทะเลาะแย่งอาณาบริเวณกัน มันจะบินเอาหัวโขกชนกัน มีเสียงดังคล้ายหินกระทบกัน ปรีดาเล่าว่าเขาเคยเห็นมากับตา

ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มเพาะช่างผู้ทุ่มเททำงาน 20 ปี จนนกเงือก ในป่าลึกภาคใต้ของไทยรอดจากการสูญพันธุ์

“ผมเคยเห็นนกชนหินชนกันกลางอากาศ เป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นมาก บริเวณเขาตะโหนดแถวนี้แหละ มีอยู่วันหนึ่งขณะที่กำลังเดินขึ้นเขา ผมได้ยินเสียงแปร๊นๆ คล้ายแตรลมของรถประจำทาง พอเงยหน้าขึ้นไปเห็นนกชนหินคอย่นสีแดงแก่สองตัวกำลังส่งเสียงท้าทายกัน ตัวหนึ่งเป็นเจ้าของถิ่น อีกตัวหนึ่งเป็นผู้บุกรุก ทั้งสองตัวบินขึ้นไปเกาะกิ่งไม้สูงห่างกันราวหนึ่งร้อยเมตร

“ตอนแรกพวกมันเอาโหนกหัวฟาดกับกิ่งไม้เสียงดังเหมือนเอาสันขวานเคาะไม้ แล้วทั้งคู่ก็บินเอาโหนกหัวชนกันเสียงดังสนั่น แล้วโผมาเกาะพักที่กิ่งไม้ บินขึ้นกลางอากาศเอาโหนกหัวชนกันถึงสามครั้ง ก่อนจะเลิกลากันไป”

การเดินทางเข้าป่าบูโดครั้งนั้นทำให้ผมได้รู้จักผู้ชายคนนี้ ปรีดา เทียนส่งรัศมี คนตัวเล็กๆ ที่ทำงานเงียบๆ มายี่สิบกว่าปีเพื่ออนุรักษ์นกเงือกที่คนไทยรู้จักน้อยมาก บางทีอาจจะรู้จักนกทูแคนแห่งทวีปอเมริกาใต้มากกว่าเสียอีก เขาทุ่มเทชีวิตตลอดยี่สิบกว่าปีเพื่อทำให้นกเงือกในป่าลึกใต้สุดของประเทศรอดชีวิตจากการสูญพันธุ์

เรื่องราวเริ่มขึ้นเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก โดย ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญนกเงือกระดับโลก ได้ริเริ่มโครงการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาของนกเงือกในเมืองไทยอย่างจริงจัง จนกลายเป็นงานวิจัยที่ทำอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดโครงการหนึ่งของโลกจนถึงปัจจุบันก็ร่วม 30 ปี

อาจารย์พิไลได้ส่งเด็กหนุ่มชื่อปรีดา เทียนส่งรัศมี ลงมาสำรวจนกเงือกบริเวณเทือกเขาป่าบูโด ปรีดาจบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างและสถาบันราชภัฏสวนดุสิต เริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยนกเงือกที่เขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 มีชาวบ้านมาบอกอาจารย์พิไลว่า พบนกเงือกหัวแรดที่เขาบูโด นกชนิดนี้เป็นนกหายากซึ่งคิดว่าสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว  

อาจารย์พิไลและปรีดาพร้อมคณะได้เข้ามาสำรวจ พบว่ายังมีนกเงือกหัวแรดแลนกเงือกชนิดอื่นๆ อีก 5 ชนิด คือ นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก นกกก นกเงือกกรามช้าง และนกเงือกปากดำ รวมเป็น 6 ชนิด จากจำนวนนกเงือกในเมืองไทยที่มี 13 ชนิด

ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มเพาะช่างผู้ทุ่มเททำงาน 20 ปี จนนกเงือก ในป่าลึกภาคใต้ของไทยรอดจากการสูญพันธุ์

นกเงือกเป็นนกโบราณ ถือกำเนิดเมื่อ 50 ล้านปีก่อน และเป็นนกที่ช่วยกระจายพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิด ในป่า นกเงือกยังเป็นดัชนีชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพราะนอกจากใช้พื้นที่หากินกว้างขวางแล้ว ยังเจาะโพรงทำรังในต้นไม้ใหญ่ด้วย ดังนั้น หากป่าผืนใดมีนกเงือกอาศัยอยู่มากแสดงว่าป่านั้นอุดมสมบูรณ์ แต่จากการสำรวจของปรีดาพบว่าสถานการณ์ของนกเงือกไม่สู้ดีนัก เพราะเทือกเขาบูโดมีหมู่บ้านชาวมุสลิมตั้งอยู่ล้อมรอบ ชาวบ้านเริ่มรุกป่า ตัดไม้เถื่อนมาขายมากขึ้น และมีการขโมยลูกนกเงือกในรังไปขายเป็นประจำทุกปี

“คนมุสลิมไม่กินนกใหญ่ ไม่กินนกที่โฉบกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร ชาวมุสลิมไม่ล่านกเงือกกินเป็นอาหาร แต่ยอมรับว่าในอดีตขโมยลูกนกเงือกมานับสิบปีแล้ว”

ชาวมุสลิมคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ลูกนกเงือกเป็นของเล่นสำหรับคนมีเงิน มีคนรับซื้อถึงตัวละ 5,000 บาท แต่หากลักลอบขนลูกนกเงือกเหล่านั้นมาขายที่ตลาด อ.ต.ก. ในกรุงเทพฯ ได้จะได้ราคาดีมาก คือนกเงือกหัวหงอกตัวละ 30,000 บาท นกชนหินตัวละ 20,000 บาท

มูลนิธินกเงือกจึงเริ่ม ‘โครงการอุปการะนกเงือก’ ขึ้นมาเพื่อหาทุน โดยให้คนที่รักนกเงือกได้บริจาคเงินเพื่อดูแลนกเงือกทั้งหกชนิดในป่าบูโด โดยรับเป็นผู้อุปการะครอบครัวนกเงือกแต่ละรังที่ชาวบ้านดูแล แล้วชาวบ้านจะส่งรูป ส่งรายงานสถานะของครอบครัวนกเงือก ให้ผู้อุปการะทุกระยะ 

ปรีดาอยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา เข้าหาชาวบ้าน พยายามให้ชาวบ้านรอบๆ เทือกเขาเห็นคุณค่าของนกเงือก และชักชวนให้คนที่เคยจับลูกนกเงือก หรือเจ้าของสวนที่มีต้นไม้ที่นกเงือกทำรัง มาร่วมกันเป็นผู้ช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมของนกเงือก หากชาวบ้านพบนกเงือกเข้ารังตามต้นไม้ใหญ่แล้วมารายงาน ทางโครงการฯ จะให้เงินเป็นรางวัลตามความหายากง่ายของชนิดนกเงือก ทดแทนรายได้ที่หายไปจากการขโมยลูกนกและตัดไม้เถื่อน

ช่วงนี้ชาวบ้านจะมีรายได้จากค่าแรงที่ทางโครงการฯ จ่ายให้ แต่งานของพวกเขายังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ยังต้องซ่อมแซมรัง ทำโพรงเทียม ที่ต้องปีนต้นไม้สูงกว่า 30 เมตร เพื่อช่วยให้นกเงือกเข้ารังมากขึ้น ปัจจุบันมีชาวบ้านตั้งแต่คนสูงอายุจนถึงวัยรุ่นและเด็ก ทั้งหญิงชาย ทำงานกับโครงการศึกษาวิจัยด้านนิเวศวิทยาของนกเงือก 35 คน

ปรีดาเข้าหาชาวบ้านอย่างอดทน ตั้งแต่การสื่อสารที่พูดภาษายาวีไม่ได้ เคยโดนข่มขู่จนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ในที่สุดชาวบ้านรอบเทือกเขาบูโดเริ่มเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก และกลายมาเป็นผู้อนุรักษ์นกเงือกจำนวนมาก ปรีดายังเชื่อว่าการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ ทดแทนรายได้ที่ได้จากการขายลูกนกราคาตัวละครึ่งหมื่นบาท

ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มเพาะช่างผู้ทุ่มเททำงาน 20 ปี จน นกเงือก ในป่าลึกภาคใต้ของไทยรอดจากการสูญพันธุ์

25 ปีผ่านไป ปรีดาในวัย 48 ปี และชาวบ้าน ช่วยให้ลูกนกเงือกในป่าบูโดหกร้อยกว่าตัวมีชีวิตรอด ทำให้ชาวบ้าน และเยาวชนรอบๆ ป่าหันมาช่วยกันดูแลแหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ให้กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์นกเงือก ซึ่งช่วยลดปัญหาสังคมจากเด็กวัยรุ่นที่เคยเที่ยวเตร่หรือติดยาเสพติด จากที่ไม่มีอะไรทำ เมื่อมาช่วยดูแลนกเงือกก็มีรายได้ นกเงือกแถวนี้จึงมีชาวบ้านหนุนหลังเป็นหลักค้ำประกันความปลอดภัย

แม้เมื่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ แต่การทำงานของคนรักนกเงือกไม่ได้ลดลง และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่อุทยาน ตำรวจ ทหาร ชาวบ้าน และภาคเอกชน ทุกวันนี้มีชาวบ้าน 5 หมู่บ้านรอบๆ เทือกเขาบูโดคอยปกป้องดูแลนกเงือกร่วมพันตัว ความสำเร็จในการอนุรักษ์นกเงือกทำให้ปรีดาต้องเดินทางไปเป็นวิทยากรช่วยเผยแผ่ในป่าอื่นๆ เลยไปถึงมาเลเซีย อินโดนีเซีย การอนุรักษ์และงานวิจัยนกเงือกในเมืองไทยก้าวหน้าในระดับโลก ขณะที่ปรีดา หนุ่มเพาะช่างผู้ไม่มีพื้นฐานด้านชีววิทยา กลายเป็นนักวิจัยนกที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ให้การยอมรับว่าองค์ความรู้ใหม่ๆ ของนกเงือกมาจากงานวิจัยที่จริงจังซึ่งได้จากการลงพื้นที่จริงของเขา

รายการสารคดีระดับโลกแทบทุกรายการ เช่น National Geographic, BBC, NHK ต่างมาถ่ายทำสารคดีนกเงือกในเมืองไทยภายใต้การแนะนำของปรีดา ออกฉายไปทั่วโลกหลายครั้ง แต่ล่าสุดชาวบ้านได้รายงานว่า มีอดีตทหารพราน 5 – 6 คน พร้อมอาวุธเดินทางเข้าป่าล่านกเงือกชนหินตามใบสั่งของคนในเมืองนราธิวาส นกเงือกชนหินในป่าบูโดน่าจะมีไม่เกิน 10 คู่ แต่โดนพรานล่าไปแล้ว 4 ตัว ภัยคุกคามจากภายนอก จากความต้องการโหนกนกเงือกชนหินราคาแพง ได้รุกเข้ามาในป่าทางใต้แล้ว

นกเงือกชนหินมีถิ่นอาศัยกระจายในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางตอนใต้ของคาบสมุทรมลายูไปจนถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ที่ผ่านมา มีการประเมินว่านกเงือกชนหินในประเทศอินโดนีเซียถูกล่าเอาโหนกไปไม่ต่ำกว่า 6,000 ตัว จนแทบจะสูญพันธุ์

เมื่อภัยคุกคามนกเงือกชนหินจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น ด้วยนักล่าที่มีความชำนาญในการใช้อาวุธ และความต้องการงาเลือดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศจีน ปรีดาและชาวบ้านตัวเล็กๆ จะยืนหยัดปกป้องได้นานเพียงใด

ปรีดา เทียนส่งรัศมี หนุ่มเพาะช่างผู้ทุ่มเททำงาน 20 ปี จน นกเงือก ในป่าลึกภาคใต้ของไทยรอดจากการสูญพันธุ์

ร่วมบริจาคเงินอุปการะครอบครัวนกเงือกได้ทางบัญชีออมทรัพย์ ‘มูลนิธินกเงือก’ เลขบัญชี 026-2-75910-2 ธนาคารไทยพาณิชย์สาขารามาธิบดี

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โทร : 02-201-5532

อีเมล : [email protected]

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว