1 พฤศจิกายน 2019
2 K

แค่รูปถ่ายท่ายืน 5 แอ็คแบบแนวๆ ติดอยู่ด้านหน้าของ Dongdaemun Design Plaza (DDP) กรุงโซล พร้อมด้วยประโยคแนะนำตัวที่พิมพ์อยู่บนโปสเตอร์สีชมพูพาสเทลบอกว่า “เขาชื่อพอล สมิธ” ก็เอาอยู่แล้ว

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

กิมมิกง่ายและเป็นกันเองแบบนี้แหละที่เป็นซิกเนเจอร์ให้ใครๆ เฝ้าติดตามผลงานของคุณลุงสูงวัยอายุ 70 ปี มียศเป็น เซอร์ พอล สมิธ (Sir Paul Smith) ชื่อนี้คือตำนานในโลกแฟชั่น สำหรับสาวกที่ตกหลุมรักลาย Definitive Strip ที่มีสีจัดจ้านถึง 28 สี เขาคือเจ้าของแบรนด์ที่มีลูกเล่นสนุกๆ อยู่เสมอกับคอนเซปต์ ‘Classic with a Twitst’

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

พอลเคยบอกสื่อว่า ชอบที่จะแนะนำตัวด้วยประโยคทักทายง่ายๆ เพราะเขาก็คือคนธรรมดา ยังมีคนอีกครึ่งค่อนโลกที่ไม่รู้จักเขา เขาใช้ประโยคนี้มาทั้งชีวิตแถมพิสูจน์กับตัวเองมาแล้วว่า เป็นวิธี Add friend ที่ใช้แล้วได้ผล ถึงได้เอามาใช้เป็นคอนเซปต์และตั้งชื่อนิทรรศการว่า “Hello, my name is Paul Smith.”

“Hello, my name is Paul Smith.” เปิดตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 2013 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนวันนี้ผ่านมา 6 ปีแล้ว นิทรรศการนี้ออนทัวร์จัดไปแล้ว 11 ครั้ง โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทำลายสถิติคนเข้าชมมากที่สุดกว่า 190,000 คน ล่าสุดเปิดแสดงที่ Dongdaemun Design Plaza ของกรุงโซล

นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น

นิทรรศการนี้เปิดพื้นที่ให้ภาพสเกตช์ ภาพถ่าย กรอบรูป เสื้อผ้า คอลเลกชันที่เป็นลิมิเต็ดเอดิชันอย่างรถ Mini มอเตอร์ไซด์ และบางส่วนทำเป็นห้องจำลองขนาดเท่าจริง ใช้มัลติมีเดียอยู่แค่ห้องเดียว ที่โดดเด่นคือ ลูกเล่นของกำแพงในแต่ละมุม เป็นกำแพงสีจัดๆ เช่น สีชมพู สีคราม สีเหลือง สีฟ้า มิกซ์แอนด์แมตช์ด้วยเสื้อผ้า หนังสือ เก้าอี้ กรอบรูปเล็กใหญ่ โคมไฟส่อง เดินเพลินๆ แล้วเหมือนอยู่ในร้าน Paul Smith

ทำไมนิทรรศการเรียบง่ายแบบนี้ถึงจัดได้นานขนาดนี้ และยังมีคนเข้าไปดูตลอด

อาจเป็นเพราะไม่ได้พูดถึงแบรนด์ ไม่ได้อยู่ในโลกแฟชั่นที่ดูสูงส่งจนไม่กล้าเข้าไปดู แต่เป็นพื้นที่ที่พอลชวนมาเดินมาคุยกันเรื่องธรรมดาและธรรมชาติของผู้ชายคนหนึ่งที่ผ่านโลกมา 70 ปี ตั้งแต่เริ่มทำงาน ร้านแรก ออฟฟิศ ความรัก รวมถึง Instagram

“Hello, my name is Paul Smith.” แนะนำตัวกันแล้ว พอล สมิธ ผู้ชายสูงวัย ผม (ยุ่ง) เซอร์ ใส่เชิ้ตขาว สูทน้ำเงินคัตติ้งเป๊ะ มีดีเทลที่กลัดกระดุมเม็ดหนึ่งเป็นสีชมพู ก็พาไปสำรวจทุกสิ่งที่อยู่ในหัวคิดและหัวใจของเขา

นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น

ยีนส์ดีๆ แบบนี้เป็นมรดก ได้มาจากพ่อ

เสื้อเชิ้ตลายนัวๆ แขวนอยู่บนผนัง คู่กับรูปถ่ายลายนัวๆ ที่มีมุมกล้องแปลกดี เขียนบรรยายว่า ถ่ายโดย ฮาโรล บี. สมิธ พ่อของพอล สมิธ ทำให้รู้ได้เลยว่า ความติสท์ของพอลได้มาจากคุณพ่อฮาโรลเต็มๆ

เขาได้ยีนส์ดีๆ แบบนี้จากพ่อเป็นมรดกติดตัว ถือเป็นคำบอกรักแบบแนวๆ จากลูกพ่อที่ชื่อ พอล สมิธ

พอลบอกว่า พ่อเป็นคนเก่ง เข้มแข็ง แต่เป็นคนที่ทุกคนคุยด้วยแล้วสบายใจ เป็นช่างภาพสมัครเล่นที่ชอบทดลองมุมกล้องแปลกๆ เขาจำได้ดีว่า ตอนอายุ 11 ขวบ พ่อซื้อกล้อง Kodak Retina ให้เขา เรียกเขานั่งลงและให้แกล้งทำเป็นว่าบินได้ วันนั้นสองพ่อลูกได้ภาพมุมสวยประหลาด ต่อมาภาพนี้ก็ถูกไปจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของคุณพ่อฮาโรล ตั้งแต่วันนั้นมา พอลก็ตกหลุมรักการถ่ายภาพ เขาพกกล้องติดตัวทุกวัน

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

ลองไปส่องไอจี @paulsmith ติด #takenbypaul แล้วจะเห็นว่าพอลเป็นคนดีเทล ทุกอย่างดูน่าสนใจไปหมดสำหรับเขา โดยเฉพาะสีสันต่างๆ ที่อยู่ในโลกใบนี้ บางครั้งก็มีแคปชันสนุกๆ ในสไตล์ของเขา

I OWE SO MUCH TO MY WIFE, PAULINE.

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

ประโยคนี้อยู่บนกำแพง พร้อมกับรูปคู่ บอกให้โลกรู้ถึงความรักและความซาบซึ้งใจที่พอลมอบให้แก่ภรรยาคนแรกและคนเดียวในชีวิตที่ชื่อ พอลลีน ไดเนอร์ (Pauline Dyner)

ถ้าคุณพ่อฮาโรลคือต้นแบบ พอลลีนก็เป็นทั้งคนต้นทาง คนนำทาง และคนร่วมทาง ของพอลตลอดทั้งชีวิต อย่างที่เขาพูดเสมอว่า

“For Pauline – without her, this would not have happened.”

พอลบอกตลอดว่า ถ้าไม่เจอพอลลีน ตอนนี้เขาก็คงยังเป็นผู้ช่วยร้านเสื้อผ้าที่ชื่อ Birdcage Boutique นอตติงแฮม

สองคนใช้ชีวิตคู่ด้วยกันตั้งแต่พอลอายุ 21 ปี ตอนนั้นพอลลีนกำลังเรียนแฟชั่นอยู่ที่ Royal College of Art ที่ลอนดอน พอลลีนทำให้เขาได้เรียนรู้พื้นฐานของการออกแบบ โครงสร้างของเสื้อผ้า รู้จักผ้าและวิธีการตัดเย็บ ถึงแม้ว่าวิธีการแบบนี้จะดูโบราณ แต่กลับเป็นจุดแข็งที่แน่นปึ้กให้เขา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยสอนกันในโลกดีไซน์และแฟชั่นสมัยใหม่แล้ว

พอลลีนเป็นคนเรียบง่าย แต่กลับเป็นขุมพลังที่ทำให้เขาเดินต่อไปได้เรื่อยๆ สองแรงที่ช่วยกันทำมาหากิน ระลึกถึงความสุขความยากลำบากที่พบเจอกันมา ทำให้รักนี้ยืนยาวมาจนทุกวันนี้

และที่ทำให้ใจละมุนไปได้อีก ให้ดูที่ชื่อของทั้งสองคน ชื่อของเขา Paul เติมด้วย ine ก็กลายเป็นชื่อของ Pauline คู่ชีวิตที่เกิดมาเพื่อเติมเต็มกันและกัน

ร้านแรกเมื่อแรกเริ่ม

แรงเชียร์จากพอลลีนทำให้พอลตัดสินใจเปิดร้านชื่อ Paul Smith บนถนน Byard Lane เมืองนอตติงแฮม ใน ค.ศ. 1970 ด้วยเงินตั้งต้น 600 ปอนด์ เป็นร้านที่มีขนาดพื้นที่เล็กมากแค่ 3×3 ตารางเมตร เปิดขายเฉพาะวันศุกร์กับเสาร์ มีเสื้อผ้าที่คัดสรรแล้วจับมามิกซ์แอนด์แมตช์ รวมถึงเสื้อเชิ้ตที่เขาออกแบบ 

ร้าน Paul Smith ร้านแรกจึงเป็นร้านที่มีความทรงจำอยู่เยอะ ทำให้เราได้เห็นว่าในห้องจัดแสดงที่ชื่อ First Shop พอลเก็บทุกอย่างที่เป็นครั้งแรกของร้านทั้งภาพสเกตช์ เสื้อผ้าคอลเลคชันแรก โลโก้แรกของแบรนด์ Paul Smith แผ่นพับโฆษณาร้านที่บอกจุดขายของร้านคือ Distinctive, Different and really not expensive

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith
“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

เพราะแรกเริ่มคือ การเริ่มต้นที่เริ่มยาก

พอลฮึดสู้และขยันมาก ระหว่างสัปดาห์เขายังรับจ๊อบเป็นทั้งสไตลิสต์และช่างภาพ เพื่อให้มีรายได้จากทางอื่นอีก ทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์เขาจะขนเสื้อยืดสกรีนเก็บไว้หลังรถ แล้วขับรถจากนอตติงแฮมเข้าลอนดอน ตรงไปที่ผับ Raiway Inn แถว Hampstead หรือ Tally Ho ที่อยู่ในย่าน Kentish Town ซึ่งเป็นที่ที่มักจะมีวงดีๆ ไปเล่นดนตรีเป็นประจำ

เขาอาศัยจังหวะพักของนักดนตรีเดินเข้าไปแนะนำด้วยประโยคประจำว่า “Hello, I’m a Paul Smith” เขาเป็นดีไซเนอร์ มีเสื้อยืดสกรีนมาขาย ทุกวันนี้คนดังระดับตำนานและยังคงเป็นทั้งเพื่อนและลูกค้าของพอลอยู่ อย่างเช่น David Bowie, Eric Clapton, Rod Stewart, วง The Rolling Stones

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

ลูกฮึดที่ทำให้พอลแจ้งเกิด เกิดขึ้นในช่วงแฟชั่นวีกในกรุงปารีส ค.ศ. 1975 พอลเปลี่ยนห้องพักในโรงแรมให้กลายเป็นห้องเสื้อ โชว์คอลเลกชันแรกที่มีเสื้อเชิ้ต 6 ตัว แจ็กเกต 2 ตัว และจัมเปอร์ 2 ตัว แล้วก็เหมือนบททดสอบจิต 3 วันแรกไม่มีใครเข้ามาเลย จนเขาเกือบจะถอดใจ แล้วอยู่ดีๆ ช่วงเวลา 4 โมงเย็นของวันพฤหัสบดี วันสุดท้ายที่เขาเตรียมแพ็กกระเป๋ากลับบ้าน ก็มีลูกค้ารายหนึ่งเดินเข้ามาออร์เดอร์สินค้า นั่นคือจุดเริ่มต้นของแบรนด์พอล สมิธ พอลที่เริ่มจากความอดทน ไม่เกินตัว และทำสิ่งที่มี ‘หัวใจ’ อยู่ในนั้นเสมอ

ไอเดียมีอยู่ทุกที่

ห้องที่ติดป้ายว่า Inside Paul’s Head น่าจะเกิดจากคำถามยอดฮิตว่า เขาได้ไอเดียคิดงานมาจากไหน อะไรคือแรงบันดาลใจ

พอลก็เลยทำห้องนี้ขึ้นมาเสียเลย แล้วก็ตั้งชื่อเล่นว่า ห้องพาราเซตามอล พอลบอกขำๆ ว่า หลายคนออกไปอาจจะต้องกินยาแก้ปวดหัว เพราะใช้มัลติมีเดีย กระจกสะท้อน มีภาพสีสันจัดจ้านตัดสลับไปมาพร้อมกับเสียงคุยของพอล

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith
“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

เขาชอบเดินทางไปเจอ คุยกับคน สังเกตสิ่งรอบตัว เขาเป็นนักสะสม เก็บทุกอย่างมาตั้งแต่ยังวัยรุ่น สะสมภาพศิลปินชื่อดังอย่าง Andy Warhol, Devid Hockney, Banksy รูปถ่าย สมุดบันทึก ภาพสเกตช์ โน้ตย่อ หรือแม้กระทั่งเบอร์โทรศัพท์ รูปที่เพื่อนหรือครอบครัวให้มา จดหมาย โน้ต การ์ด ที่ส่งมาจากคนที่ชื่นชอบเขา ไอเดียของเขาก็มาจากสิ่งของเหล่านี้

เคยอ่านเจอว่า พอลเคยวาร์ปไปกำแพงจีนโดยใช้เวลาแค่ 1 วัน แล้วบินกลับมาทำงานต่อ เขาบอกว่า เรื่องสนุกแบบนี้ทำไมจะทำไม่ได้ แค่แวบออกจากงานที่มันวุ่นๆ อยู่…ก็เท่านั้น

ตัดกลับมาที่ห้องนี้กำลังทดสอบเราทั้งเสียง ทั้งภาพ ทั้งความเร็วรอบทิศทาง ดึงสติ ยืนดู และฟังอย่างตั้งใจ เราถึงได้ยินเสียงพอลเล่ามุมมองที่มีกับทุกสีสันที่เขาเห็นจากแต่ละทริป แต่ละวัฒนธรรม หยิบจับจนกลายเป็นคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชัน

มองเห็นมากกว่าแค่มองดู ฟังมากกว่าแค่ได้ยิน แล้วเราจะได้ไอเดียจากทุกที่ ทุกสิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราได้

เป็นคนมีแนวทาง และชอบหาแนวร่วม

กำแพงด้านหนึ่งมีกระดุมเล็กๆ ติดเต็มพื้นที่ ลองถอยไปยืนมองดูไกล จะเห็นกระดุม 70,000 เม็ดนี้ถูกเรียงร้อยและกลายเป็นสีที่รู้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ Paul Smith

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

พอลบอกว่า กระดุมทั้งหมดบอกถึงหัวใจของการออกแบบร้าน Paul Smith เขาสนุกกับออกแบบให้ร้านแต่ละแห่งมีหน้าตาไม่เหมือนกัน และไม่ว่าใครจะเดินเข้าสาขาไหน ก็รู้สึกได้ว่านี่แหละตัวตนที่เป็นสไตล์ของแบรนด์ ลูกเล่นแบบนี้ที่ทำให้ใครหลายคนตามไปปักหมุดเข้าร้าน Paul Smith อย่างสาขาในกรุงปารีส ที่ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าตกแต่ง สาขาในลอนดอนที่เอาโดมิโน่มาเล่นสนุก

ถึงแม้จะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดและจัดจ้าน แต่ใจของพอลไม่เคยมีกำแพง เราถึงได้เห็นเพื่อนต่างแบรนด์มาร่วมวงสนุกกับเขา และมีผลงานออกมาอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่งานชิ้นแรกทำเอาคนทั่วโลกตกหลุมรักกับการออกแบบรถ Mini และตั้งแต่นั้นมา ใครๆ ที่ต้องการความแนวมีสไตล์ต่างก็พุ่งมาที่พอล

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

อย่างสำนักพิมพ์ Penguin Classic ที่ชวนพอลมาออกแบบปกหนังสือในโอกาสครบรอบ 60 ปี โดยเปิดทางให้พอลเลือกหนังสือที่อยากออกแบบ เขาเลือกออกแบบปกหนังสือ Lady Chatterley’s Lover แต่งโดย D.H. Lawerence เพราะเป็นหนังสือที่เขาอ่านตั้งแต่วัยรุ่น และคนแต่งเกิดที่เมืองนอตติงแฮมเหมือนกับเขา ปกหนังสือเป็นผ้าไหมสีเทาอ่อน ใช้วิธีการปักชื่อของผู้แต่ง สัญลักษณ์ของสำนักพิมพ์ สวยหวานด้วยการปักลวดลายดอก Lilac และดอก Forget-me-nots สีม่วง ซึ่งตัวละคร Oliver Mellors มักใช้ประดับให้ Lady Chatterley

นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น

พอลบอกว่า การทำงานกับแบรนด์อื่นๆ เป็นทั้งแรงกระตุ้นและความท้าทาย คงคล้ายๆ อะดรีนาลีนหลั่ง ไอเดีย กิมมิก ถูกงัดนำมาใช้กับการออกแบบทุกสิ่งอย่าง หลายคนแค่ได้เห็นก็แพ้ทางออกตามล่ามาเก็บไว้ในคอลเลกชัน มีทั้งกล้องถ่ายรูป มอเตอร์ไซค์ จักรยาน วิทยุ สโนว์บอร์ด หนังสือ ขวดซอส ขวดน้ำ และอื่นๆ อีกมากมาย

นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะรับทุกงาน พอลยืนยันว่า พวกเรารู้ดีว่าอะไรที่ ‘ไม่ใช่’ พอๆ กับอะไรที่ ‘ใช่เลย’

ชัดเจน…พอล

“Hello, my name is Paul Smith.” นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น Paul Smith

บทส่งท้ายก่อนร่ำลา

พอลเขียนข้อความด้วยลายมือตัวโต้งๆ บนโพสต์-อิตขนาดยักษ์ แปะไว้บนกำแพงสีชมพูจัดจ้าน แถมด้วยไฟจากโคมไฟส่องเป็นไฮไลต์ส่งท้าย

“Every day is new beginning.”

นิทรรศการที่ว่าด้วยทั้งชีวิตของตำนานแห่งโลกแฟชั่น

ไอเดียอยู่ในนิทรรศการนี้ ทุกคนได้แรงบันดาลใจกลับไป ที่เหลือคือสิ่งที่แต่ละคนต้องไปทำต่อเอาเอง

เพราะทุกวันคือการเริ่มต้นใหม่

ขอแค่เริ่ม…ด้วยความอดทน ไม่เกินตัว และทำสิ่งที่มี ‘หัวใจ’ อยู่ในนั้นเสมอ

Goodbye. พอล สมิธ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ

สนุกกับงานสื่อสาร สุขกับการเดินลัดเลาะซอกซอย และอยากเป็นคนเล่าเรื่องที่ดี