เวลาพูดถึงธุรกิจครอบครัว เรามักจะพูดถึงจุดแข็งที่ธุรกิจแบบนี้มีมากกว่าธุรกิจอื่น หนึ่งในจุดแข็งที่คนมักกล่าวถึงก็คือ การมองไกล หรือ Long-termism

ธุรกิจครอบครัวมักใส่ใจผลตอบแทนต่อครอบครัวรวมถึงลูกหลานในอนาคตด้วย ไม่ใช่แค่ผลตอบแทนต่อเจ้าของและผู้บริหารในปัจจุบันเท่านั้น

การตัดสินใจต่าง ๆ จึงคำนึงถึงต้นทุนและผลประโยชน์ระยะยาว นอกเหนือจากแค่ต้นทุนหรือผลประโยชน์ระยะสั้น

ตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับผลตอบแทนในระยะยาว แม้ว่าการตัดสินใจทางธุรกิจบางครั้งอาจทำให้ตัวเลขผลประกอบการในปัจจุบันดูไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไร คือ ‘Heineken’ ธุรกิจเบียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน

ไฮเนเก้นขึ้นชื่อมากเรื่องการบริหารกิจการครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตั้งบริษัทมาร่วม 160 ปี มีผู้นำแค่ 4 คน และทุกคนเป็นคนในตระกูล Heineken ทั้งสิ้น

รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองเสริม

ธุรกิจครอบครัวไฮเนเก้นเริ่มต้นเมื่อ Gerard Adriaan Heineken ตั้งบริษัทผลิตเบียร์ในปี 1864 ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม โดยจ้างลูกศิษย์ของ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักวิทยาศาสตร์ที่ถือเป็นเจ้าพ่อของการศึกษาเรื่องจุลินทรีย์และเชื้อโรค ให้มาช่วยพัฒนายีสต์สายพันธุ์พิเศษเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเบียร์ที่ชื่อว่า Heineken A-yeast ซึ่ง Gerard ได้จดสิทธิบัตรไว้ 

การลักพาตัวที่ทำให้ Heineken เปลี่ยนแนวทางบริหารงานเป็น 'ครอบครัวต้องมาก่อน'

ในปี 1889 เบียร์ไฮเนเก้นได้รางวัลจากงาน World’s Fair ที่ปารีส และได้สัญญาจ้างให้บริหารร้านอาหารและบาร์บนหอไอเฟิล ซึ่งเกียรติประวัตินี้ยังอยู่บนฉลากเบียร์ที่เราเห็นในทุกวันนี้ และไฮเนเก้นก็ยังคงใช้วิธีการผลิตเบียร์สูตรเฉพาะของ Gerard ตลอดมา

ทายาทรุ่นสองของ Heineken คือ Henry Pierre Heineken ลูกชายคนเดียวของ Gerard ซึ่งบริหารธุรกิจในช่วงปี 1917 – 1940 เขาไม่เพียงแต่นำพาบริษัทให้อยู่รอดในช่วงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งในขณะที่ภาคพื้นยุโรปเป็นสมรภูมิรบ แต่ยังพัฒนากระบวนการในการรักษาคุณภาพเบียร์เมื่อขยายการผลิตเป็น Mass Production อีกด้วย

Henry Pierre มีลูก 3 คน คือ Mary Alfred และ Robert ซึ่ง Alfred Henry Heineken หรือ ‘Freddy’ ลูกชายคนที่ 2 เป็นทายาทรุ่นสามที่รับช่วงกิจการต่อมานานถึง 62 ปี จนเขาเสียชีวิตในปี 2002

พิชิต ‘กฎ 3 รุ่น’

โดยพื้นฐานแล้ว ตอนเด็ก ๆ Freddy รักความเป็นศิลปิน ไม่มีใครคิดว่าเขาจะบริหารธุรกิจได้ และ ‘กฎ 3 รุ่น’ ที่บอกว่าธุรกิจครอบครัวจะล่มสลายไปในรุ่นที่ 3 น่าจะเกิดขึ้นกับธุรกิจไฮเนเก้น หลังจาก Freddy มารับช่วงกิจการเช่นกัน

แต่ผลกลับกลายเป็นตรงกันข้าม ภายใต้การนำของ Freddy กิจการของไฮเนเก้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายออกไปทั่วโลก

Freddy ริเริ่มใช้ขวดสีเขียวเพื่อแยกตลาดไฮเนเก้นออกมาเป็นเบียร์พรีเมี่ยม สร้างความแตกต่างจากเบียร์ธรรมดาที่ในเวลานั้นใช้ขวดสีน้ำตาล ทำให้ยอดขายเบียร์ไฮเนเก้นเติบโตถึงแม้จะตั้งราคาสูงกว่าเบียร์อื่น ๆ ในตลาดก็ตาม

Freddy ยังปรับโครงสร้างการถือหุ้นของไฮเนเก้นโดยตั้งบริษัท Heineken Holding NV มาเป็นผู้ถือหุ้น 50.005% ของบริษัท Heineken NV ที่เป็นผู้ผลิตเบียร์ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจว่าครอบครัวไฮเนเก้นจะมีอำนาจบริหารกิจการนี้อย่างเด็ดขาด แม้จะไม่ได้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทก็ตาม

การลักพาตัวที่ทำให้ Heineken เปลี่ยนแนวทางบริหารงานเป็น 'ครอบครัวต้องมาก่อน'

จุดพลิกผัน

เหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตของคนในตระกูลไฮเนเก้นเกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อ Freddy ที่ในขณะนั้นร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีถูกลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ เขาถูกกักตัวนานถึง 3 สัปดาห์ กว่าที่ตำรวจจะช่วยเขาออกมาได้ครอบครัวก็จ่ายเงินไปแล้วกว่า 10 ล้านเหรียญฯ

เหตุการณ์นี้ทำให้ Freddy กลายเป็นคนที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของครอบครัวอย่างมาก ซึ่งรวมถึง Charlene ลูกสาวคนเดียวของเขาที่เกิดจาก Lucille Cummins ภรรยาชาวอเมริกัน

Charlene เป็นคนที่รักความเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว เมื่อเธอพบกับ Michel Carvalho ก็เลยแต่งงานกันแล้วย้ายไปตั้งรกรากที่ลอนดอน โดย Michel ทำงานที่ Credit Suisse หาเงินเลี้ยงครอบครัว ส่วน Carlene ก็เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 5 คน

ถึงแม้ว่า Charlene จะเป็นกรรมการบริษัท Heineken Holding แต่ก็ไม่เคยมีการหารือกันถึงเรื่องที่จะให้เธอรับสืบทอดการบริหารบริษัทครอบครัว

‘Family First’

จนกระทั่งวันหนึ่งในปี 2002 Freddy ป่วยเป็นปอดบวมและเสียชีวิตกะทันหัน ในชั่วข้ามคืน Charlene de Carvalho-Heineken ทายาทรุ่นสี่วัย 48 ปี ได้รับมรดก 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหุ้นบริษัทไฮเนเก้น

ปัญหาเฉพาะหน้าคือ Charlene จะเข้ารับช่วงต่อการบริหารธุรกิจครอบครัวไฮเนเก้นต่อจากพ่อหรือไม่

เธอตัดสินใจรับช่วงกิจการต่อทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อนเลย ด้วยเหตุผลเดียวคือ ‘Family First’ เพราะเธอต้องการรักษาธุรกิจครอบครัวและแบรนด์ที่ขณะนั้นมีอายุ 138 ปีแล้ว

ถึงแม้จะขาดประสบการณ์แต่ Charlene กลับมีทักษะการบริหารธุรกิจ ซึ่งจะว่าไปก็คล้าย ๆ กับสถานการณ์ 62 ปีก่อนที่ Freddy พ่อของเธอรับช่วงธุรกิจในขณะที่เขาเองก็ยังไม่มีประสบการณ์ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ Charlene มี Michel สามีที่มีประสบการณ์ด้านการเงินโชกโชนจาก Credit Suisse มาช่วยงานด้วย

การลักพาตัวที่ทำให้ Heineken เปลี่ยนแนวทางบริหารงานเป็น 'ครอบครัวต้องมาก่อน'

Charlene กับ Michel ขยายกิจการ หาโอกาสทางธุรกิจ เข้าซื้อกิจการอื่น ๆ กว่า 50 ราย ทำให้ Heineken เป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลก โดยเฉพาะตลาดเบียร์พรีเมียมที่มาแรง และตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่กำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นเร็ว

จนปัจจุบันไฮเนเก้นเป็นเจ้าของเบียร์และเครื่องดื่มต่าง ๆ กว่า 350 ยี่ห้อ และมีโรงงานใน 70 ประเทศทั่วโลก

มองไกล

Charlene เชื่อมั่นว่าความสำเร็จของธุรกิจเกิดจากการที่กิจการยังเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นเหตุผลที่เธอปฏิเสธการขอซื้อกิจการไฮเนเก้นของ SABMiller ในปี 2014

หากดูโครงสร้างการถือหุ้นแล้ว ตระกูลไฮเนเก้น ถือหุ้น 88.67% ในบริษัทลงทุน L’Arche Green ซึ่งถือหุ้น 51.709% ใน Heineken Holding ซึ่งถือหุ้น 50.005% ในบริษัทไฮเนเก้นอีกต่อหนึ่ง ดังนั้น จริง ๆ แล้วครอบครัวนี้ถือหุ้นไฮเนเก้นอยู่แค่ 23% แต่โครงสร้างบริษัททำให้ Charlene ควบคุมการบริหารได้โดยผ่านบริษัทโฮลดิ้ง

แต่ถ้าไฮเนเก้นควบรวมกับ SABMiller แล้วตระกูลไฮเนเก้นจะเหลือหุ้นแค่ 14% ของบริษัทที่ควบรวม น้อยกว่าหุ้นของผู้ร่วมลงทุนอีกกลุ่ม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเสียความสามารถในการควบคุมธุรกิจไป

เมื่อไฮเนเก้นปฏิเสธคำขอซื้อของ SABMiller ราคาหุ้นไฮเนเก้นดีดตัวขึ้นทันที 2% สะท้อนให้เห็นว่าผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ นอกครอบครัวก็เชื่อมั่นกับการบริหารธุรกิจของตระกูลไฮเนเก้นเช่นกัน

การลักพาตัวที่ทำให้ Heineken เปลี่ยนแนวทางบริหารงานเป็น 'ครอบครัวต้องมาก่อน'

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะว่าหากเราพิจารณางบบัญชีในแต่ละปีของไฮเนเก้น จะพบว่าผลตอบแทนต่อทุน หรือ Return on Invested Capital (ROIC) ในหลายปีนับตั้งแต่ Charlene เข้ามาบริหารนั้นไม่ได้สูงนัก แต่หุ้นของไฮเนเก้นที่ซื้อขายในตลาดกลับมีผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี

คำอธิบายก็คือ ผลตอบแทนต่อทุนในบางปีที่ต่ำนั้นเกิดจากการไปซื้อกิจการอื่น ๆ ของไฮเนเก้น แต่นักลงทุนมองว่าในระยะยาวการซื้อกิจการเหล่านั้นจะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ

พูดง่าย ๆ ก็คือ การมองผลตอบแทนในระยะยาวของผู้บริหารจากตระกูลไฮเนเก้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตลาดไปต่างประเทศ สร้างประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ด้วย 

สำหรับอนาคตของธุรกิจ ทางครอบครัวไฮเนเก้นก็ได้เริ่มเตรียมทายาทรุ่นห้าไว้รับช่วงกิจการแล้วโดยจ้างบริษัทที่ปรึกษามาคุยกับลูก ๆ ว่าใครอยากจะรับช่วงต่อ ซึ่ง Alexander ลูกของ Charlene และ Michel เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทตั้งแต่ปี 2013 ทำให้มั่นใจได้ว่าตระกูลไฮเนเก้นไม่น่าจะมีแผนขายบริษัทให้ใคร

และยังสะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องและการมองไกลไปในอนาคตของ ‘ครอบครัว’ ไฮเนเก้นที่ยืนหยัดอยู่เบื้องหลังธุรกิจระดับโลกมานานกว่าร้อยปี

การลักพาตัวที่ทำให้ Heineken เปลี่ยนแนวทางบริหารงานเป็น 'ครอบครัวต้องมาก่อน'
ข้อมูลอ้างอิง
  • www.cmgpartners.ca/heineken/
  • www.tharawat-magazine.com/fbl/heineken-family/
  • www.famcap.com/2014/09/2015-1-10-heineken-proves-the-power-of-family/
  • www.reuters.com/article/us-heineken-m-a-family-idUSKBN0HA19H20140915
  • www.seekingalpha.com/article/4387997-heineken-long-term-perspective-of-family-owned-business

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต