เราขอเวลาชีวิตคุณแค่ 10 นาที เพื่ออ่านและรับฟังความคิดของ วิน-กวิน เจิดจรรยาพงศ์ คนรุ่นใหม่ที่อยากแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคม และคุณอาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเขารักษาชีวิตใครสักคนให้มีแรงอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป
ไม่ต้องทำอะไรซับซ้อนเลย แค่เริ่มจากนั่งเฉยๆ และฟัง ก็มีความหมายมากพอแล้ว
วิกฤตที่ว่าคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า พ.ศ. 2573 ‘โรคซึมเศร้า’ จะเป็นภาระโรคหรือสาเหตุความสูญเสียทางสุขภาพอันดับหนึ่ง แซงหน้าโรคมะเร็งและหัวใจ ทำให้ประชากรโลกสูญเสียรวมราว 12,000 ล้านวันทำงานในทุกปีไปกับความเจ็บป่วย เสียหายมากกว่า 480 ล้านล้านบาท รวมถึงหลายพันหมื่นชีวิตที่ต้องจบลงเพราะไม่อาจหาหลุดพ้นจากความทุกข์ระทม
ปัญหานี้ยิ่งเห็นชัดขึ้นช่วง COVID-19 ที่กระทบชีวิตจิตใจผู้คนจำนวนมาก วินและ บอส-อุดมพล ทิวากรกฎ สองหนุ่มที่เข้าใจโรคซึมเศร้าจากประสบการณ์ชีวิตจริง จึงพัฒนาสตาร์ทอัพ ‘Hearing Heart’ แพลตฟอร์มสร้างนักฟังเชิงลึก (Deep Listener) ที่จะช่วยรับฟังเรื่องราวของเพื่อนมนุษย์ด้วยไมตรีจิต ไม่ว่าจะป่วยใจหรือไม่ก็ตาม และบรรเทาความอ้างว้างว่างเปล่าในใจ
พวกเขาร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพจิตของภาครัฐและโรงพยาบาลเอกชน สร้างหลักสูตรออนไลน์ที่ผ่านการรับรองจากกรมสุขภาพจิตเป็นรายแรกๆ ของประเทศ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเครื่องมือให้บริการ ด้วยความหวังว่าในอนาคต บริการด้านสุขภาพจิตจะเป็นจุดแข็งใหม่ของประเทศไทย และเรามีนักฟังเชิงลึกที่ช่วยทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นทั่วประเทศ
“การฟังอาจดูเหมือนง่าย แต่หลายคนคิดว่าตัวเองฟังอยู่ ทั้งที่จริงเขาแค่ได้ยิน มันต่างกันนะ” วินพูดถึงคำกริยาที่เราทำกันมาตั้งแต่เกิด แต่อาจยังไม่เคยเข้าใจความหมายที่แท้จริง
ในวันที่โลกดูเร่งรีบเสียเหลือเกิน เราจะเป็นนักฟังเชิงลึกที่ดีได้อย่างไร ขอชวนคุณเปิดหูเปิดใจให้กว้าง แล้วมาเดินทางเคียงข้าง Hearing Heart ไปด้วยกัน
01
มุมมองที่เข้าใจ
Hearing Heart คือความฝันที่เกิดขึ้นจากร่องรอยบาดแผล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็กผู้ชายสองคนมานานกว่า 10 ปี
“แม่เราเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีก่อน ตอนที่เรายังเป็นเด็ก” วินเล่าสาเหตุที่เขาสนใจเรื่องสุขภาพจิต
“แม่จะวิตกกังวลง่าย ตอนนั้นเรา คนรอบตัว และสังคม ยังไม่เข้าใจหรอกว่าโรคนี้คืออะไร รู้แค่ว่าเราเป็นห่วงแม่มากว่าสักวันหนึ่งจะเป็นอะไรหรือเปล่า
“สุดท้าย แม่อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ จนบอกว่าไม่อยากอยู่แล้ว และเขาทำสำเร็จ”
เมื่อเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด วินใช้การเขียนเป็นเครื่องมือสะท้อนความคิด ตกตะกอนและคลี่คลายความรู้สึกของตัวเอง พออยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาช่วง พ.ศ. 2556 เขาเปิดเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘มุมมอง’ เขียนแบ่งปันแง่มุมชีวิต จนมีคนติดตามหลักหมื่นและทักทายเข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิต
“เราอยากช่วยให้ได้มากที่สุด แต่เราคนเดียวไม่สามารถรับฟังคนจำนวนมากได้ขนาดนั้น เรารับไม่ไหวเหมือนกัน เลยเกิดความคิดว่าต้องสร้างนักฟังขึ้นมาในสังคมแทน” วินเล่า ความคิดนี้ทำให้หนุ่มคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนบอส เพื่อนจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เคยเผชิญประสบการณ์โรคซึมเศร้า ร่วมกันพัฒนา moom-mong.com เป็นกระดานสนทนาที่ให้คนเข้ามาถามตอบอย่างอิสระ เผื่อจะช่วยเยียวยาความทุกข์ในชีวิตได้บ้าง
“เราสองคนอินเรื่องนี้มาก เคยเจอคนที่ไม่เข้าใจและบอกว่าอาการซึมเศร้าเป็นเรื่องที่คิดไปเอง เรียกร้องความสนใจ เราคือเด็กสองคนที่อยากทำให้ทุกคนรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แบบที่เข้าใจกัน”
ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน วินบอกว่าเขาไม่เคยลืมความตั้งใจนี้เลย เพราะไม่อยากเห็นใครต้องเป็นแบบแม่ของเขาอีกแล้ว ความมุ่งมั่นนี้ทำให้เขาบังเอิญพบกับ พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ จากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ (CAMRI) ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตและให้การรับรองหลักสูตรในไทย ภายในงานสัมมนาเรื่องโรคซึมเศร้า
พญ.โชษิตาเล็งเห็นว่าสิ่งที่วินและบอสทำนั้นน่าสนใจ จึงแนะนำให้รู้จักกับ พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งยินดีสนับสนุนและชวนต่อยอดมุมมองเป็นแพลตฟอร์มสร้างนักฟังเชิงลึก (Deep Listener) ผ่านช่องทางออนไลน์ให้แก่ประชาชนทั่วไป
เพราะนี่คือหนึ่งในวาระเร่งด่วนระดับชาติ
02
นักฟังเชิงลึก
“ประเทศเรายังขาดบุคลากรทางจิตเวชอยู่เยอะมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการเลย ยิ่งช่วง COVID-19 คนยิ่งเครียด ไปไหนต่อไหนก็ไม่ได้” วินเกริ่นปัญหาภาพรวมให้ฟัง
หากเปิดดูตัวเลขของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากร กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2563 จะพบว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญการบำบัดโรคทางจิตเวช (จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา) เพียง 3.49 คนต่อประชากรไทย 100,000 คน และพยาบาลจิตเวชผู้ให้คำปรึกษาจำนวน 8.71 ต่อ 100,000 คน
ในขณะที่มีบุคคลทั่วไปติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปีละ 600,000 – 800,000 สาย แต่มีกำลังของนักจิตวิทยาการปรึกษารับสายได้เพียง 200,000 สายเท่านั้น โดยบุคลากรเหล่านี้ต้องตรากตรำผ่านการเรียนและฝึกฝนเฉพาะทาง ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ ประเทศเราจึงยังผลิตได้ไม่มากพอ แม้จะเร่งพัฒนาแล้วก็ตาม
สิ่งที่พอช่วยแก้สถานการณ์ความขาดแคลนและภาระอันหนักอึ้งของบุคลากร คือการพัฒนาบุคคลทั่วไปให้มีศักยภาพพร้อมเป็นผู้ฟังที่ดี
“การฟังที่ดีคือการไม่ตัดสินคนอื่นจากประสบการณ์ของตัวเอง เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตแตกต่างกัน เราฟังเพื่อเข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่ ซึ่งอารมณ์มันไม่มีถูกหรือผิดนะ” วินเน้น พร้อมย้ำว่าการฟังมีพลังมาก เพราะทำให้คนรู้สึกว่าตัวตนของเขามีความหมายและได้การยอมรับ ยิ่งรอบตัวเรามีผู้รับฟังที่ดีมากขึ้นแค่ไหน สังคมจะยิ่งน่าอยู่มากขึ้นตามไปด้วย เพราะทุกคนต่างประคับประคองกันด้วยความเข้าใจ
ในเชิงการแพทย์ มีงานวิจัยว่าการฟังเพื่อบำบัด (Therapeutic Listening) ควบคู่ไปกับการรับประทานยาจะช่วยให้รักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน
“การรับประทานยาเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่ได้ผล และผู้ป่วยควรได้ปรึกษาแพทย์ แต่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นเมื่อมีการนั่งจับเข่าคุยกันด้วยว่าทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ ชีวิตผ่านอะไรมาบ้าง มันมีเหตุผลเสมอ สิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยถือเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการรักษา” วินกล่าวอย่างหนักแน่นว่าการรักษาควรดำเนินไปควบคู่กัน
เมื่อเปิดดูแผนงานของกรมสุขภาพจิต อัตราส่วนในอุดมคติของบุคลากรที่พึงมีคือ 1 : 10 : 100 หมายถึงว่า ประเทศเราควรมีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ (Mental Therapist) 1 คน ต่อ พยาบาลจิตเวชหรือนักสังคมสงเคราะห์ (Counselor) 10 คน ต่อ นักฟังเชิงลึกภาคประชาชน 100 คน
วินและบอสจึงร่วมมือกับ CAMRI รับภารกิจช่วยสร้างส่วน 100 คนที่ทำได้ผ่านช่องทางออนไลน์และสร้างได้เร็วกว่า พัฒนาเป็น Hearing Heart ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราทุกคน
เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการบริการทางจิตเวช แต่ทุกคนต้องการใครสักคนคอยรับฟังในชีวิตแน่ๆ
03
เปิดใจ
เส้นทางสู่การเป็นนักฟังเชิงลึกของ Hearing Heart เริ่มต้นจากการสมัครเรียนคอร์สออนไลน์
ในขั้นตอนแรก คุณจะได้ทำแบบทดสอบและเรียนประมาณ 30 นาที โดยบทเรียนแรกคือการตรวจสอบตัวเองว่าพร้อมฟังผู้อื่นไหม
“เราต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน ปัญหาหลักที่เจอเวลาเราคุยกับผู้ดูแลผู้ป่วยคืออาการ Toxic เพราะเขาต้องรับฟังหรืออยู่กับปัญหาหนักๆ ทุกวัน ไม่รู้จะไประบายกับใคร ดังนั้น ต้องเริ่มจากจัดการตัวเองก่อน” วินอธิบาย นอกจากจะทำให้คนพูดรู้สึกสบายใจแล้ว การฟังที่ดีจะไม่ทำร้ายตัวคนฟังเองด้วย
เมื่อเรียนจบ ระบบจะสุ่มวิดีโอสถานการณ์ตัวอย่าง มีคนมาเล่าปัญหาชีวิตให้คุณได้ลองเปิดกล้องฟังอย่างตั้งใจ หลังจากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำว่าที่ทำไปเป็นอย่างไร หากผ่านการประเมิน ผู้เข้าเรียนจะได้รับประกาศนียบัตรที่ผู้อำนวยการ CAMRI ลงชื่อรับรอง
“เราถือเป็นรายแรกๆ ที่หน่วยงานรัฐบาลอนุญาตให้มีการออกประกาศนียบัตรด้านนี้ เราอยากทำให้เกิดมาตรฐาน ตอนแรกมันอาจจะยังไม่มีคุณค่ามาก แต่เมื่อหลายคนเริ่มนำไปใช้ คุยกันว่าสิ่งนี้คืออะไร มันจะมีความหมายขึ้นมา ต่อไปอยากให้เกิดแคมเปญไวรัลที่ไม่น่าเบื่อด้วย” วินเล่าแนวคิด
เขามองว่าในอนาคต บุคคลทั่วไปอาจนำใบนี้ไปประกอบการสัมภาษณ์งานได้ด้วย เพราะองค์กรย่อมต้องการคนที่รับฟังผู้อื่น พร้อมทำงานเป็นทีม ส่วนภาคธุรกิจหรือโรงเรียน ก็นำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้พัฒนาพนักงานหรือคุณครูได้เช่นกัน ใช้ได้กับทุกคน
ยิ่งมีผู้ใช้งานในวงกว้าง Hearing Heart จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้มีบริการที่อัจฉริยะขึ้นในแบบฉบับภาษาไทย ไม่แพ้แพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น การวิเคราะห์อารมณ์จากน้ำเสียง
ทั้งนี้ อาจมีคนตั้งคำถามว่าการเรียน 30 นาทีจะมีผลกับชีวิตมากขนาดนั้นเชียวหรือ
“ไม่ขนาดนั้นหรอก” วินตอบอย่างรวดเร็ว เพราะการฟังเป็นทักษะที่ต้องฝึกบ่อยๆ คล้ายการเล่นดนตรีหรือออกกำลังกาย
“แต่เราเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ภาครัฐเองก็ยินดีสนับสนุนอย่างมาก ถ้าคนเรียนเยอะแล้วมาคุยกัน มันเหมือนการเติมน้ำดีเข้าไปในระบบเรื่อยๆ สักวันมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
“ต่อไปคงมีการสร้างคอร์สเพิ่มอีก เช่น การฟังเชิงลึกขั้นสูง การฟังสำหรับสถานประกอบการหรือคอลเซนเตอร์ ถ้าสลับหัวไปคิดในเชิงการตลาด ตรงนี้ถือเป็นโอกาสมหาศาลที่ยังไม่มีใครทำ”
04
Social Startup Mindset
“เราเรียกตัวเองว่าเป็นสตาร์ทอัพที่จำเป็นต้องอยู่รอดระยะยาวให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเหนื่อยฟรีและไม่ยั่งยืนเลย มีแพทย์มาช่วยเราตั้งเยอะ ถ้าทำแล้วไม่รอดก็ไม่เกิดประโยชน์เลย” วิน อดีตพนักงานบริษัทที่ลาออกมาทำงานนี้เต็มตัว อธิบายหลักการคิดโมเดลสตาร์ทอัพเพื่อสังคมในตลาดที่ถือว่าใหม่มากในไทย และคนมักกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเก็บค่าบริการจากบุคคลที่อาจต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต
“ตอนแรกคิดว่าจะทำโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในสายนี้ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานหลายอย่าง รวมถึงเมื่อหน่วยงานรัฐบาล เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะสนับสนุนผู้มาขอทุนอย่างเรา เพื่อเติมเต็มบริการสุขภาพจิตที่ขาดไปในไทย เขาต้องรู้โครงสร้างค่าใช้จ่ายด้วย จึงต้องคำนวณค่าใช้จ่ายขึ้นมา
“แต่เราไม่อยากไปรบกวนผู้ป่วย ลำพังการต้องแบกรับความเข้าใจผิดๆ ของสังคมก็เหนื่อยมากแล้ว ถ้าต้องมีกระบวนการหลายอย่าง เรารู้ว่าคนแบบแม่เราจะทำไม่ไหวแน่ๆ เลยพยายามเน้นสร้างโมเดลไปที่คนรอบข้างผู้ป่วยมากกว่า ให้ช่วยกันเรียนรู้และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อพวกเขา” วินกล่าว พร้อมเชิญชวนให้ใครที่สนใจมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน
“ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพมักเน้นไปที่สุขภาพกายจนหลายๆ โรคเริ่มรักษาหายได้แล้ว แต่สุขภาพใจถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ตอนแรกไม่คิดเหมือนกันว่าจะมีคนเข้ามาลงทุนกับหน้าใหม่อย่างเรา บางทีสิ่งที่เราทำมันดูโลกสวย แต่ตอนนี้บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่คนสนใจแน่ๆ และยังต้องการให้คนเข้ามาช่วยกันทำ”
วินและบอสยอมรับว่าสตาร์ทอัพนี้ยังอยู่ระยะแรกเริ่ม ต้องผ่านการพิสูจน์อีกยาวไกล แต่สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้และอยากบอกคนที่อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือปัญหาใดๆ ก็ตามคือ การคิดเชิงกลยุทธ์ให้ถึงระดับประเทศ จะช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและเกิดผลในวงกว้าง
“การสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมาดีกว่าไม่สร้าง แต่ต้องมีกลยุทธ์ ลองมองดูว่าถ้าเราทำสิ่งที่เราทำไปในทิศทางนี้สักหนึ่งปี มันตอบโจทย์ในสเกลระดับประเทศหรือเปล่า แล้วอีกสามปี ห้าปีล่ะ จะตอบโจทย์ไหม ไม่ใช่ว่าทำไปโดยไม่รู้ Roadmap ว่าประเทศกำลังขาดอะไรอยู่ ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะคิดไปเองว่าสังคมขาดเรื่องนี้ ทั้งที่จริงไม่ใช่ และความหลงใหลคุณจะมอดดับลงไป พร้อมกับผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มเหนื่อยเลย”
05
ผู้เล่นในสนาม
1 ปีที่ผ่านมา วินและบอสได้รับการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมากมาย
ตั้งแต่กรมสุขภาพจิตที่รับรองให้ใช้ประกาศนียบัตร
CAMRI ที่พัฒนาหลักสูตร
สสส. ที่สนับสนุนเงินทุนให้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์
โรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้ทดลองใช้งานจริง และนักลงทุน
เรียกได้ว่าครบทั้งห่วงโซ่
“ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดสิ่งนี้ขึ้น ยิ่ง HealthTech เป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ ตรงที่มันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนโดยตรงเลย การพัฒนาต้องอาศัยการคิดแบบองค์รวม (Holistic) ตั้งแต่ต้นทางยันผู้ใช้งาน เลยดีใจมากๆ ที่มีโอกาสได้ร่วมมือกับทุกคน” วินกล่าวความประทับใจ ภารกิจนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ แต่เป็นงานที่ทุกคนต้องลงแรงกายใจไปด้วยกัน
รวมถึงบรรดาแพลตฟอร์มสุขภาพจิตที่ต่างมีจุดเด่นของตัวเอง หากรวมพลังกันแล้ว เราอาจหยุดเหตุการณ์ร้าย และรักษาชีวิตเพื่อนมนุษย์ไว้ได้อีกมาก
ประสบการณ์การสร้าง Hearing Heart ทำให้วินค้นพบว่าผู้ใหญ่หลายคนในหน่วยงานภาครัฐยินดีสนับสนุนคนรุ่นใหม่และตั้งใจทำงานกันอย่างหนัก แบบที่คนภายนอกอาจไม่เคยได้เห็นและเข้าใจ
“เราเป็นคนธรรมดาไม่ได้มีเส้นสายอะไร แต่ได้รับโอกาสเข้าไปคุยกับอธิบดีกรมสุขภาพจิต แพทย์จาก CAMRI นัดหมายคุยสัปดาห์ละสามครั้ง มีโครงการอะไรใหม่ก็ติดต่อมาถามว่าอยากไปทำงานด้วยกันไหมตลอด เขาทำงานกันหนักมาก เที่ยงคืนหรือเจ็ดโมงเช้าก็ยินดีตอบ จนเรารู้สึกศรัทธาและเลิกด่าคนแบบเหมารวมไปเลย
“เพราะมันทำให้คนทำงานหามรุ่งหามค่ำรู้สึกท้อ และพวกเขาไม่มีปากเสียงในโลกโซเชียลหรอก เพราะเอาเวลาไปทำงานกัน คนไม่ดีมีอยู่มาก แต่คนดีๆ ที่ต้องการกำลังใจก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน”
แน่นอนว่าเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่พึงปฏิบัติตามหน้าที่จากภาษีของประชาชน แต่วินมองเห็นว่าการด่าทอทุกวันนี้ในหลายกรณีเป็นการตามกระแสโดยขาดความเข้าใจที่แท้จริง สุดท้าย อาจไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศที่มีปัญหามากมายนี้เลย
และหากการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรู้จักผูกมิตร ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่างถูกวิธี จะช่วยนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่เราอยากเห็น มากกว่าวางตัวเป็นศัตรูกันในหลายๆ กรณี
“ปีนี้จะมีงานด้านสุขภาพจิตที่จัดร่วมกับรัฐบาลต่างประเทศ แพทย์เขาก็ชวนเราไปเข้าร่วม วันก่อนมีพี่พนักงานไอทีจาก CAMRI โทรศัพท์มาบอกว่าอยากช่วยออกแบบ Dashboard ให้ใช้งานได้จริง ทั้งที่เขาไม่ต้องทำก็ได้ เราตื้นตันใจที่ได้รับการสนับสนุนมากๆ คนทั่วไปอาจไม่เคยเห็นพวกเขาเลย เราอยากชวนให้ตามหาว่าคนดีๆ แบบนี้อยู่ที่ไหนในระบบ แล้วมาช่วยกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”
06
หัวใจที่รับฟัง
“เราฝันใหญ่มากและไม่รู้ว่าเป็นไปได้จริงไหม แต่เราชอบบอกกันว่าประเทศไทยเป็น Land of Smile ใช่ไหม จริงๆ เราว่ามันอาจเป็น Land of Listening หรืออะไรทำนองนั้นได้ด้วย” วินเผยสิ่งที่เขาจินตนาการ
แต่ละประเทศมักจะมี Positioning เด่นในด้านต่างๆ ของตัวเองชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ที่เป็นเอกลักษณ์และโด่งดังไปทั่วโลก วินมองว่าประเทศไทยต้องหา Strategic Positioning ของตัวเองที่เข้มแข็งให้พร้อมสำหรับอนาคต ซึ่ง HealthTech และการดูแลสุขภาพจิตอาจถือเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ที่เราจะไม่น้อยหน้าใคร
หลังจากฝันถึงสิ่งนี้มารวมกันนานกว่า 10 ปี ตอนนี้ Hearing Heart ของวินและบอสเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในวันเวลาที่เหมาะสม พร้อมขับเคลื่อนการสร้างนักฟังเชิงลึกให้เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคและสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้ประเทศ
ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขาตระเตรียมหัวใจไว้สำหรับภารกิจนี้แล้ว
“เราคิดมาเสมอว่าจะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะจุดใดจุดหนึ่งในชีวิต ถ้าไม่ใช่ตอนนี้ ก็จะทำอีกทีตอนแก่ เรารู้สึกไฟลุกทุกครั้งที่ได้ทำงานนี้ร่วมกับคนที่แพสชันเหมือนเรา ไม่ตั้งคำถามเลยว่าจะทำไปทำไม เที่ยงคืนตีหนึ่งก็ยังทำงานอยู่ได้แบบไม่เหนื่อย
“เพราะสิ่งที่ทำมันมีความหมาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว”
เราหวังว่าบทสนทนาครั้งต่อไปของคุณจะมีการฟังด้วยหัวใจอยู่ในห้วงเวลานั้น ทั้งจากคุณและคู่สนทนา
เพราะมันอาจมีพลังและความหมายมากพอ
พอที่จะรักษาชีวิตใครคนหนึ่งไว้ให้มีลมหายใจก้าวเดินต่อไป