The Cloud X ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สถานที่เล็กๆ ใจกลางกรุงเทพมหานคร มีงานดนตรีที่ชื่อว่า World Music Series เกิดขึ้น งานนี้จัดโดยกลุ่มคนที่ชื่อว่า Hear & Found

นี่คืองานดนตรีที่พาคนเมืองมานั่งฟังเพลงพื้นถิ่นเพราะๆ หาฟังได้ยากในบรรยากาศดีๆ

เป็นพื้นที่ที่ให้นักดนตรีท้องถิ่นไปจนถึงนักดนตรีชาวชาติพันธุ์ได้มีโอกาสเล่าเรื่องราวชีวิตของพวกเขาผ่านบทเพลง

01

เม & รักษ์

เรานัด เม-ศิรษา บุญมา และ รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ สองผู้ก่อตั้ง Hear & Found พูดคุยกันในบ่ายวันเสาร์หลังจากงานดนตรีจบลง

พวกเขานิยามตัวเองว่า Experience Curator

บางคนนิยามพวกเขาว่าเป็นผู้จัดงานคอนเสิร์ตดนตรีชาติพันธุ์

ส่วนบางคนก็มองว่านี่คือ Music and Community

ไม่ว่าจะคิดแบบไหน เราว่าทั้งหมดนี้ถูกต้อง

เมคือนักเรียน Sound Engineer จากรั้วศิลปากร หลังจากนั้นก็ไปศึกษาต่อที่ Goldsmiths, University of London เกี่ยวกับ Creative and Cultural Entrepreneurship (Music Pathway) ว่าด้วยการสร้าง Ecosystem ของ Creative Economy และ Creative Industry เพื่อสร้างอิมแพ็คต่อสังคม

ส่วนรักษ์ คือผลผลิตจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักษ์บอกกับเราว่า ในช่วงชีวิตมหาลัย เธอชอบไปร่วมค่ายพัฒนาชนบททุกช่วงปิดภาคเรียน นั่นทำให้เธอสนใจประเด็นสังคม กลุ่มคนชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมอันหลากหลายของท้องถิ่น

แล้วทั้งคู่ก็โคจรมาเจอกันในการทำงานที่ Local Alike สตาร์ทอัพที่สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผ่านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“สนใจประเด็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ครั้งแรกได้ยังไง เรื่องราวของคนชนเผ่าเข้ามาในชีวิตทั้งสองได้ยังไง” เราเปิดด้วยคำถามแรก

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“เราเรียนจบมาด้วยหัวข้อที่เป็นการเชื่อมต่อนักดนตรีกับตลาด แต่ใจก็ยังไม่ Fulfill พอกลับไทยก็มาทำงานกับ Local Alike แล้วก็เจอรักษ์ที่นี่ เราได้เห็นปัญหาเยอะมากเพราะต้องเดินทางไปทั่วประเทศเลย ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าอยากทำงานกับกลุ่มคนที่ Cultural Asset สูงๆ ซึ่งก็คือชุมชนหรือชนเผ่า เลยอยากสตาร์ทธุรกิจที่ทำให้คนชาติพันธุ์เขาได้รักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรม แต่ว่าเราก็ยังต้องเผชิญอีกหลายๆ เรื่องว่ามันทำไปเพื่ออะไร

“ย้อนกลับไปตอนเรียนศิลปากร เราเคยช่วยอาจารย์ทำงาน Music and Community เดินทางไปแม่ฮ่องสอนกับเด็กคณะโบราณคดี เราไปเจอสามชนเผ่า มูเซอ ลีซอ แล้วก็กะเหรี่ยง มันเปิดโลกมาก คณะโบราณฯ คงอยากสืบสานรักษาวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้แต่ไม่สามารถพาพวกเขาออกมาได้ ก็เลยใช้วิธีว่าเอานักดนตรีคณะเราที่เล่นไวโอลิน เล่นกีตาร์ ไปที่นู่น ส่วนเราก็เป็น Sound Engineer แล้วไปแจมดนตรีกับพ่อๆ แม่ๆ ที่เล่นเครื่องดนตรีชนเผ่า เครื่องดนตรีที่เราไม่เคยเห็น เป็นเครื่องดนตรีไม้ มีสายอะไรก็ไม่รู้ ดีดออกมามีเสียง แล้วเสียงก็แปลกแต่เพราะมาก เราก็ไปช่วยอัดเสียงเพื่อเอาเมโลดี้บางส่วนกลับมา แล้วแต่งเป็นบทเพลงใหม่ กลายเป็น Contemporary Music สำหรับเด็กเรียนดนตรีอ่ะ ขนลุกมาก” เมเล่า

“เราชอบทำงานกับชุมชนมานานแล้ว ตั้งแต่ตอนประมาณปีสอง เราไปค่ายของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไปอยู่กับพี่ๆ บนดอย เราไปครั้งแรกแล้วก็ติดใจมากเลย รู้สึกว่าเราอยากทำอะไรเกี่ยวกับชุมชน พอเรียนจบก็มาทำ PR เอเจนซี่อยู่เกือบปี รู้สึกว่างานมันไม่ใช่ว่ะ ก็เลยพยายามหางานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนจนมาเจอ Local Alike แล้วก็มาเจอกับพี่เม 

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน
Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“ตอนแรกเราอินเรื่องวัฒนธรรมที่มันกำลังจะสูญหาย แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องดนตรี มีช่วงหนึ่งที่เราต้องไปสัมภาษณ์คนชนเผ่าที่เป็นนักดนตรีประมาณยี่สิบถึงสามสิบคน พอคุยไปเรื่อยๆ มันก็ซึมซับ เราเห็นแล้วว่ามันมีคุณค่าหรือว่ามันมีปัญหาที่มาที่ไปบางอย่างจริงๆ

“อย่าง พี่ปุ๊ ดิปุ๊นุ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอที่เราทำงานด้วย เราไปเจอเขาครั้งแรกที่งานไร่หมุนเวียนที่ศูนย์มานุษย์ฯ (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร องค์การมหาชน) เราพยายามทำความเข้าใจว่าวิถีชีวิตของพี่ปุ๊เป็นยังไง ตัวพี่ปุ๊เองเป็นคนจังหวัดลำพูน เขาต้องออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน เรียนจบแล้วก็ไปทำงานนอกหมู่บ้าน วัยรุ่นคนอื่นๆ ที่บ้านเขาก็จะออกไปทำโรงงานอุตสาหกรรมหมดเลย ซึ่งมีบางคนที่เขาต้องทิ้งทักษะที่เขาถนัด 

“เราถามพี่ปุ๊ว่าทำไมไม่เล่นดนตรี เขาบอกว่าดนตรีมันไม่สามารถเป็นรายได้ก็เลยไปหาอย่างอื่นทำ แล้วก็ไปเป็นแรงงานในเมืองกรุง เรารู้สึกว่าเสียดายทักษะหรือสิ่งที่เขาเป็นตรงนั้น” รักษ์ สาวผมสั้นหน้าคมตอบ

แล้ว Hear & Found ก็เริ่มต้นขึ้นตอนเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 

02

Hear & Found

Hear & Found ทำให้เรารู้ว่าการสื่อสารผ่านดนตรีนั้นน่ารับฟัง โดยเฉพาะบางเรื่องที่ฟังดูแล้วแสนขมขื่น

ว่ากันตามจริง มีไม่กี่ประเด็นหลักที่ชาวชาติพันธุ์ต้องเผชิญไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย เช่น การไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่คนคนหนึ่งควรจะได้ การโดนดูถูก โดนล้อเลียน การถูกเข้าใจผิดจากสังคมภายนอก ปัญหาที่ดินทำกิน และไร่หมุนเวียน

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ชาวชาติพันธุ์บางส่วนต้องการละทิ้งความเป็นตัวเอง ละทิ้งถิ่นฐาน และลาจากวัฒนธรรมรากเหง้าของตัวเองในที่สุดเพื่อให้ได้การยอมรับจากสังคมภายนอก

เมและรักษ์เข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างแจ่มแจ้งผ่านการทำ Hear & Found ทั้งสองจึงต้องการให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความเข้าใจระหว่างทางมากที่สุด รองลงมาคือการออกแบบงานดนตรีที่เชื่อมชาวชาติพันธุ์กับคนเมืองด้วยหัวใจ

จะว่าไป นี่คือการเรียกร้อง

เรียกให้คนมาดู ก่อนจะร้องบทเพลงอันล้ำค่าจากป่าเขาแดนไกลให้คนได้ฟังจนเข้าใจ

เมอธิบายกับเราว่า

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“Hear & Found เป็นทีมที่เน้นกระบวนการ พวกเราไปสัมภาษณ์ชาวชาติพันธุ์หลายคนมากๆ เราใช้วิธีตั้ง Assumption แล้วก็สัมภาษณ์ เพื่อหาข้อพิสูจน์ว่าเขามีปัญหานี้จริงหรือเปล่า แล้วหลังจากนั้นเราก็มีเซต Assumption ว่า แล้วดนตรีช่วยแก้ปัญหาได้จริงไหม อาชีพของนักดนตรีมีปัญหาอย่างที่เราคิดไว้จริงๆ ใช่ไหม เช่น องค์ความรู้นี้มันกำลังจะหายไปไหม แล้วพวกเขาไม่สามารถเป็นนักดนตรีมืออาชีพได้ใช่ไหม เราคุยจนมั่นใจแล้วว่าต้องทำอันนี้ให้ได้ แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ทั้งเรื่องความเข้าใจผิดและเรื่องการสูญหายของวัฒนธรรม กระบวนการมันยาวมากเลยกว่าจะมาถึงตอนนี้ เราไม่ทำงานแบบที่ Come Up With An Idea ว่าจะจัดงานดนตรีนะ งานนี้เจ๋งแน่ 

“ก่อนจะทำเรื่องปกาเกอะญอ เราปฏิญาณตนว่าต้องเห็นคำว่าไร่หมุนเวียนก่อน เรามี Assumption ว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดโดยเฉพาะเรื่องการเผาป่า เราก็ต้องไปเข้าใจก่อนว่าเรื่องการเผาป่าคืออะไร งั้นเราก็ต้องเข้าใจว่าไร่หมุนเวียนคืออะไรก่อน เราใช้เวลาสามวันเพื่อไปเห็นไร่หมุนเวียนของจริง ในช่วงที่เขากำลังจะเก็บเกี่ยว ทุ่งมันเป็นสีเหลืองหมดเลย เราเคยเห็นแค่ภาพเผา แค่นั้นจริงๆ คำถามคือทำไมวะ อยู่มาตั้งนานแล้ว เรากลับได้เห็นแค่ภาพขาวดำของการที่ป่าถูกเผากับการพาดหัวข่าวว่าชาวเขาเผาป่า แต่ทำไมไม่เคยเห็นรูปไร่หมุนเวียนมาก่อนเลย ทำไมรูปของไร่หมุนเวียนมันถึงเป็นแรร์ไอเทมอ่ะ พวกเราไม่ทำอะไรเลยนอกจากถ่ายรูปไร่หมุนเวียนมา เพื่อให้คนเห็นว่าไร่หมุนเวียนมันคืออะไร แล้วการทำงานกับพี่ปุ๊เนี่ย เราให้พี่ปุ๊เล่นทุกเพลงเลยนะที่เขาแต่งมา พี่ปุ๊เล่าให้ฟังหน่อยว่าแต่ละเพลงพูดเรื่องอะไรบ้าง”

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน
Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

หลังจากได้เห็นภาพไร่หมุนเวียนสมใจหวัง เมื่อกลับมากรุงเทพฯ เมก็ทำงานทางดนตรีร่วมกันกับพี่ปุ๊ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอ ด้วยการใช้ความรู้ที่เรียนมาอย่างจริงจัง

“เรารู้แล้วว่าเราจะจัดงานดนตรี ปกติเวลาจัดงานดนตรี ศิลปินก็จะมาเพื่อจัดงานเล่นดนตรี เขาไม่ได้มาเพื่อบอกว่าเพลงนี้มีที่มาที่ไปอย่างนี้นะ แต่เรารู้ว่าถ้าเพิ่ม Value ตรงนี้ว่าให้นักดนตรีเล่าเรื่องที่มาที่ไปของเพลงตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง มันจะดีแน่ เราก็ชวนพี่ปุ๊มาเล่นดนตรีด้วยกัน เรียง Sequence เพลงกัน เราถามเลยว่าเพลงนี้อยากไว้ส่วนไหน อยากเล่นเป็นเพลงแรก เป็นเพลงสุดท้าย หรือว่าอยู่ตรงกลางดี แล้วจะพูดว่าอะไร เราไม่ได้บอกให้เขาเล่นเพลงช้าไปเพลงเร็ว ตามปกติที่มันมักไต่ระดับจากอารมณ์ช้าไปเร็ว หรือเนิบๆ ไปคึกคัก แต่เราถามเขาเลยว่าอยากเล่นอะไรก่อน พี่ปุ๊บอกว่าอยากเล่น ป่าจอปา (พ่อของแผ่นดิน) ก่อน โอเค งั้นเริ่มด้วย ป่าจอปา แต่ต้องจบด้วย กะเหรี่ยงรักสันติภาพ นะ เพราะมันเป็นการฮุกอารมณ์คน” เมอธิบายกระบวนการทำงาน

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน
Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“กว่าจะหานักดนตรีได้คนนึงคือยากมาก พวกเขามีของดีอยู่กับตัวเอง หรือเป็นคนที่ถือองค์ความรู้บางอย่างไว้ เรารู้สึกว่าอยากทำให้มันดีขึ้นอีกครั้ง ทำให้เขาภูมิใจด้วยสิ่งที่เรามี ดนตรีของพวกเขาไม่ได้มีโน้ตให้เรียนนะ ต้องครูพักลักจำ เอา พอเป็นแบบนี้มันก็ส่งผ่านคนถึงคนไปเรื่อยๆ แล้วพอนักดนตรีคนหนึ่งเสียชีวิตก็หมายถึงหนึ่งองค์ความรู้ทางดนตรีได้หายไปแล้ว” รักษ์อธิบายเสริม

“เราพบว่าเครื่องดนตรีของพวกเขามัน Unique มาก เขาทำเองที่บ้าน มันเป็น Local Wisdom จริงๆ เช่นเตหน่ากูของพี่ปุ๊ ตัวบอดี้ทำมาจากไม้ที่ไม่ใช้แล้วในบ้าน ส่วนเหล็กที่นาบอยู่บนเครื่องทำจากปี๊บ สายที่ใช้คือผ้าเบรกมอเตอร์ไซค์ ทำกันเองง่ายๆ แล้วเสียงก็เพราะมาก คาแรกเตอร์ก็ชัด เราไปเจอวิธีการสร้างเครื่องดนตรีแบบนี้เต็มไปหมด

“เครื่องดนตรีบางเครื่องเหมาะที่จะเล่นในที่ที่นั้น เราเคยไปฟังแคนที่สกลนคร เขายืนเป่ากลางทุ่งนาเลย เขาเล่าให้เราฟังว่าปกติแล้ว แคน พิณ หรือโปงลาง จะเล่นเวลาไปเถียงนา ระหว่างรอเกี่ยวข้าวหรือพักผ่อนก็จะประดิษฐ์เครื่องดนตรีนี้มาเพื่อเอนเตอร์เทนตัวเอง สร้างความรื่นรมย์ในเวลานั้น

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน
Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“เรานั่งฟังพี่เขาเป่าแคนที่ทุ่งนาแล้วรู้สึกเลยว่า เครื่องดนตรีที่มันเจ๋งเพราะมันมาจาก Context มันมากับพื้นที่ของมัน อย่างเตหน่ากู เราพบว่าถ้าเล่นในป่ามันเพราะมากจริงๆ เราว่าเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็เป็นอย่างนี้ เครื่องดนตรีมันต้องอยู่ถูกที่ถูกทาง” เมเล่า

ผลลัพธ์ของการทำงานตลอดระยะเวลายาวนาน ปรากฏขึ้นเป็นภาพนักดนตรีหลายกลุ่มได้มีโอกาสบรรเลงบทเพลงที่ร้อยเรียงเพื่อเล่าเรื่องราวชีวิตในพื้นที่เล็กๆ กลางกรุง ด้วยหัวใจที่เปิดรับของคนฟังหลายสิบชีวิต

เมและรักษ์บอกเราว่า นี่คือความสำเร็จในระยะหลักไมล์เริ่มต้น

สิ่งที่พวกเขากำลังทำและอยากทำต่อจากนี้ เป็นแรงบันดาลใจมาจากงานดนตรี World Music

03

World Music

World Music แปลตรงตัวเลยว่าดนตรีของโลก ดนตรีอะไรก็ตามที่ไม่ใช่แนว Pop, Jazz หรือ Classic ดนตรีที่มาจากท้องถิ่นก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม World Music อย่างเพลงลูกทุ่งบ้านเราก็จะถูกเรียกว่า World Music ในระดับ World Stage

เพลงของกลุ่มคนชาติพันธุ์ทั้งหลายทั่วโลกเลยถูกจัดไปอยู่ใน World Music ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นมิตรมากพอที่จะถูกเรียกแบบนั้น มันคือพื้นที่ที่ให้ความหลากหลายได้แสดงตัวตนออกมา และเป็นเพลงที่บ่งบอกวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์

“พอพูดว่าเพลงนี้อยู่ภายใต้ World Music คนจะตีความแล้วว่ามาจากที่ไหน พื้นถิ่นไหน มีวัฒนธรรมและบริบทยังไง อย่างเพลง Blues ที่ตอนหลังได้รับความนิยมมากขึ้น จาก Blues ก็กลายเป็น Rhythm and Blues คนขาวเริ่มมาเล่นเพลงแนวนี้ จากนั้นก็กลายเป็น Rock ยุค Elvis Presley แล้วก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น Soul, Funk และ Disco ต่างๆ นานา ดนตรีในแต่ละยุคมันคือประวัติศาสตร์ สังคม และแฟชั่น

“อย่าง The Beatles ที่ดังมากๆ เกิดในยุคบุปผาชน เป็นบริบทของคนออกมาเรียกร้องอิสรภาพ เสรีภาพ ให้กับตัวเอง ดนตรีเลยเป็นก้อนวัฒนธรรมของคนที่อยู่รวมกัน” เมเล่า

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน
Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“แล้วอย่างดนตรีชนเผ่าในไทยที่ไปพบเจอมามันบอกอะไรบ้าง” เราถาม

“คนมักจะคิดว่ามันบอกประเพณี ซึ่งก็ถูก เพราะเพลงมันจะบอกว่าเพลงนี้ใช้ในงานศพ เพลงนี้ใช้ในงานรื่นเริง แต่ว่าถ้าไปฟังความหมายของเพลงเหล่านั้นจริงๆ เราสองคนจะบอกว่ามันคือหนังสือ เพราะว่ามันบันทึกเหตุการณ์เอาไว้

“อย่างของปกาเกอะญอ จะมีบทกลอนที่ใช้บันทึกทั้งประวัติศาสตร์ ปรัชญาชีวิต วิถีชีวิต และความเชื่อ หรืออย่างเพลงของไทยทรงดำ เป็นเพลงงานศพมีความยาวสามชั่วโมง ในสามชั่วโมงนี้เป็นแผนที่บอกว่าให้คนที่เสียชีวิตเดินทางไปประเทศเวียดนามยังไง เพราะคนไทยทรงดำเป็นเชลยศึกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จากประเทศเวียดนามอพยพเข้ามา เขาก็จะขับร้องเลยว่าเดินถึงตรงนี้ ข้ามเขาลูกไหน เลี้ยวซ้ายตรงนี้นะ เดินไปอีกนิดนึงนะ เลี้ยวขวาตรงนี้นะ คือบอกเป็นแผนที่จริงๆ ทุกอย่างมันถูกบันทึกไว้ในเพลง เพราะฉะนั้นเราเลยรู้ว่าเพลงมันมีอะไรมากกว่านั้น

“เราเคยไปงาน The Rainforest World Music Festival ที่มาเลเซีย เหมือนได้ไปเที่ยวรอบโลกในสามวัน มันมีดนตรีมาเลเซีย ดนตรีแอสโตเนีย มีฝรั่งเศส รัสเซีย หลายประเทศมาก มันเลยมีความหลากหลายของสำเนียง ความหลากหลายของเรื่องราว ความหลากหลายของเสียง มีที่มาที่ไป ดนตรีมันเลย Rich มาก และมีสีสันสูงมาก 

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“เราก็อยากเห็นงานดนตรีแบบนี้ในบ้านเราแหละ เราอยากเป็นคนสร้างพื้นที่ๆ หนึ่งที่ความหลากหลายมันไม่ถูกตัดสิน เราไปรับรู้ความรู้สึกนั้นมาแล้วว่ามันดีขนาดไหนที่ใครจะเป็นอะไรยังไงก็ได้ แถมมีคนชื่นชมด้วยซ้ำ นี่คือความฝันของพวกเรา ว่าวันหนึ่งเราอยากเป็นคนจัดงาน World Music Festival จริงๆ ” เมพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นจนเรารู้สึกได้ถึงแพสชันอันเต็มเปี่ยม

“การมีงานดนตรี Word Music มันสำคัญยังไง”

“ที่มาเลเซีย รัฐบาลเขาทำเพราะเพียงแค่อยากรักษาชนเผ่าหนึ่งในเกาะบอร์เนียวไว้ เขาบ้าทำ Festival มาเป็นสิบยี่สิบปีแล้วมั้ง ซึ่งเราอยากเห็นแบบนี้ในบ้านเรา เรากับรักษ์มองว่าสิ่งที่คนจะได้คือ Life Experience เป็นบทเรียนวิชาชีวิต เพราะมันคือสิ่งที่เราหาไม่ได้ในห้องเรียน คุณอาจจะ Explore ไปเรื่อยๆ แล้วเจอสิ่งที่ใช่ 

Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน
Hear & Found นักดนตรีชาติพันธุ์ผู้รักษ์วัฒนธรรมด้วยบทเพลงที่เล่าเรื่องป่าเขาและลมหายใจชุมชน

“ตอนนี้สิ่งที่ Hear & Found ทำได้คือการเสิร์ฟ ให้นักดนตรีชาติพันธุ์มาหาถึงกรุงเทพฯ เลย ไม่ได้มาแค่ดนตรี แต่มาทั้งสตอรี่ด้วย เพื่อให้คนได้รู้จักและคุย เพราะคุณไม่ได้เจอคนเหล่านี้ในชีวิตประจำวันแน่ๆ

“สำคัญคือเราเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ต้องยอมรับเลยว่าเราโตมาในสังคมที่มักตัดสินกัน เรารู้ว่าการที่อยู่ในสังคมที่ถูก Judge หนักๆ มันเป็นยังไง เราอยากเห็นความเท่าเทียมกันนะ อันนี้เป็น Motivation ลึกๆ ข้างในที่รู้สึกว่ายอมไม่ได้แล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเราไปเรียนที่อังกฤษมา มันมีความเป็น Melting Pot มาก มันเห็นผลผลิตของความหลากหลาย มันเห็นผลผลิตของ Cultural Diversity การที่มันมีความแตกต่างหลากหลายนี่แหละถึงทำให้ประเทศมีผลผลิตที่ดีเต็มไปหมดเลย เราเห็นแล้วก็คิดว่าประเทศไทยก็เป็นไปได้” เมบอกกับเราอย่างนี้

“ทุกคนแม้แต่ตัวเราเองยังอยากมีพื้นที่ในสังคม เวลาก้าวออกจากบ้านมา เราอยากให้มันเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในการที่จะเป็นตัวเอง แต่ว่าคนบางกลุ่มไม่สามารถเป็นแบบนี้ได้เพราะมันมี Social Pressure บางอย่างที่ทำให้เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยตัวเอง เราว่าอันนี้มันก็เป็น Trigger Point เราอยากเห็นการยอมรับนั้นเกิดขึ้น เพราะเมื่อคนเราได้เปิดเผยในสิ่งที่ตัวเองเป็น ภายใน ก็จะทำให้เกิดความหลากหลาย และความหลากหลายมันจะทำให้เกิดสิ่งใหม่เสมอ มันจะเป็น Creativity มันจะเป็นผลผลิตอะไรบางอย่างที่โตต่อไปได้” รักษ์ตอบ

04

ดนตรีกับความเท่าเทียม

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ แบ่งงานเกี่ยวกับคนชนเผ่าเป็นทั้งหมด 3 ด้านที่ทำงานสัมพันธ์กัน ด้านแรกคือด้านนโยบาย ด้านที่สองคือการพัฒนาชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านสุดท้ายคือการสร้างความเข้าใจ ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์แรกของการแก้ปัญหาอื่นๆ Hear & Found ถือเป็นกลุ่มที่กำลังทำงานในส่วนนี้ 

“คนชนเผ่าที่เล่นดนตรีได้ส่วนมากเป็นคนแก่ ไม่มีเด็กแล้ว ตั้งแต่เราลุยเรื่องนี้ เราไม่ได้เจอแค่วัฒนธรรมที่สูญหาย เจอที่หนักกว่านั้นอีกคือความเข้าใจผิด ซึ่งเรากับรักษ์รู้สึกว่ายอมไม่ได้แล้วแหละ เราไปงานชาติพันธุ์ 4.0 ไปสัมภาษณ์พี่คนชนเผ่าเต็มไปหมด แล้วก็เจอว่าความเข้าใจผิดมันส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา ไม่ใช่แค่เรื่องความเป็นอยู่ แต่มันส่งผลกระทบถึงตัวตนและจิตใจ พวกเขาไม่ได้รับการยอมรับ เดินออกไปไหนแล้วมีแต่คนเกลียด วันหนึ่งเราก็ต้องเปลี่ยนตัวตน ยอมทำอะไรก็ตามเพื่อให้คนยอมรับเรา มันเป็นจุดที่ขมขื่นมาก

เม-ศิรษา บุญมา และ รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ

“น้องๆ ชนเผ่าบางคนเขาไปโรงเรียนแล้วโดนบูลลี่ บางโรงเรียนไม่รับเด็กชนเผ่าเข้าเรียนเลยนะ เฮ้ย นี่คุณตัดโอกาสชีวิตคน ตัดโอกาสการศึกษาเลยเหรอ แล้วยูจะยอมหรอ ปัญหามันไกลมาก เด็กๆ จะต้องอยู่รวมกลุ่มกับคนชนเผ่าด้วยกัน เพราะถ้าไปอยู่กับกลุ่มอื่นเขาอยู่ไม่ได้ ไม่มีคนยอมรับ แต่ว่าข้อดีคือทำให้เขาแข็งแรง ดิ้นรน ต้องเรียนเก่ง เรียนหนัก ต้องทำงานเก่ง เพื่อให้เขาเก่งกว่าคนอื่นแล้วมันจะได้รับการยอมรับ แต่เราตั้งคำถามกลับว่า แล้วชีวิตคนเรามันต้องดิ้นรนขนาดนี้เลยเหรอ” เมเล่าถึงปัญหาที่ตัวเองไปพบเจอระหว่างการทำงาน

เราเชื่อว่าพวกเขาก็ยังคงทำงานด้วยจุดยืนในการพยายามสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

“ความสุขที่ทำ Hear & Found คืออะไร” เราถามคำถามสุดท้าย

เม-ศิรษา บุญมา และ รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ
เม-ศิรษา บุญมา และ รักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ

“ยอมรับว่าเป็นผลลัพธ์เลยนะ ผลลัพธ์คือการที่คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น หรืออย่างน้อยเขาก็ได้รู้จักว่าคนกลุ่มนี้มีตัวตนอยู่ในสังคมเราเหมือนกัน เมื่อคนที่เขาเริ่มเปลี่ยน Mindset นี้คือ Social Impact ของจริง สองคือ ครั้งที่ผ่านมาเราลองระดมทุนเพื่อให้พี่เขากลับไปดูแลป่าได้ ปรากฏว่าเราได้เงินมาหกพันกว่าบาทซึ่งอาจจะไม่เยอะ แต่สำหรับเราเยอะมาก เราก็รู้สึกว่าอันนี้มันก็เป็นผลผลิตของ Hear & Found เหมือนกัน” เมตอบคำถามด้วยน้ำเสียงดีใจ

สำหรับรักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Hear & Found บอกกับเราว่า

“ผลลัพธ์ก็ใช่ คล้ายๆ พี่เม พอเราเห็นว่าคนดูเดินไปจับมือนักดนตรีแล้วก็บอกว่า ‘พี่เล่นต่อไปนะ’ มันดีมากเลย เรารู้สึกมีกำลังใจมากๆ เราอยากเห็นภาพแบบนี้อีก มันแสดงให้เห็นว่าคนเรามันเข้าใจกันมากขึ้นจริงๆ คนมันเกิดการยอมรับในตัวอีกคนหนึ่งแล้ว เรารู้สึกว่ามันมีความสุข มันเป็นทุกอย่างที่เราทำมาก็เพื่อสิ่งนี้แหละ”

Hear&Found อยากชวนไปงาน World Music Series vol.3 : Tontrakul นำเสนอ

ดนตรีพื้นถิ่นที่ภายนอกเป็น “เบอร์เกอร์หอมกรุ่น” แต่เมื่อกัดเข้าไปจะได้เจอ “รสแซ่บๆ ของลาบอีสานบ้านเฮา”

โดย “ต้นตระกูล” ศิลปินพื้นบ้านอีสานรุ่นใหม่ที่สนใจในการนำหมอลำและดนตรีอีสานประยุกต์ร่วมกับดนตรีแนวใหม่ๆ เพื่อนำเสนอศักยภาพและความอิสระของดนตรีพื้นบ้านอีสานที่สามารถโลดแล่นร่วมกับแนวดนตรีอื่นได้อย่างลงตัว เท่ แต่ยังแสดงถึงเอกลักษณ์ของดนตรีอีสานได้ไม่น้อยลง

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562
เวลา 20.30-23.00 น. ดาดฟ้า Luk Hostel
แผนที่ : https://g.page/lukhostel?share
วิธีการเดินทาง : MRT สถานีวัดมังกร หรือ เรือด่วนเจ้าพระยา สถานีราชวงศ์
รถส่วนตัว : จอดรถได้ที่ถนทรงวาด แล้วเดินประมาณ 5-8 นาที

บัตรราคาใบละ 300 บาท (ฟรี 1 ดริ๊ง)

ซื้อบัตรได้ที่ https://bit.ly/2RTHfB7

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี