เมื่อวันก่อน (24 สิงหาคม 2565) หลายคนคงโยกกันจนเอวเคล็ดกับเพลง bad guy ในคอนเสิร์ตของ Billie Eilish 

ถัดไปก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน San Cisco วงดังจากออสเตรเลีย ก็บินลัดฟ้ามาเล่นคอนเสิร์ตนอกประเทศในรอบ 3 ปีที่งาน Maho Rasop Experience #1 

มีคนน่าอิจฉาจำนวนมากที่ได้ดูศิลปินโปรดสมใจในประเทศบ้านเกิด

แต่มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ชอบโกงกาลเวลา ด้วยการบินไปดูด้วยตาที่ประเทศอื่นเสียเลย!

ก่อนอื่น ต้องบอกว่าบทความชิ้นนี้มีต้นเรื่องเป็นบุคคลนิรนาม สารภาพอย่างสัตย์จริงว่าแม้เราจะพูดคุยกับเขา เขียนเรื่องของเขา เราเองก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร มีหน้าค่าตาอย่างไร นอกเสียจากนามแฝง ‘เฮีย’ ที่บรรดาคนฟังดนตรีในยุคนี้น้อยนักจะไม่เคยได้ยินชื่อ

ใบ้ให้นิดหน่อยก็แล้วกันว่า คนคนนั้นเป็นเจ้าของเพจ H… #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต #ไทยแลนด์แดนเฟสติวัล

หากย้อนกลับไปหลายปี สมัยที่เพจของเขาเพิ่งตั้งไข่ การรีวิวเทศกาลดนตรีต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหม่มาก ตั้งแต่ตีตั๋วเข้าไปดู จนถึงประสบการณ์ติดมือกลับบ้าน ถึงวันนี้ ต้องยอมรับว่าเขากลายเป็นเพจเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแถวหน้าที่เก่งนักเรื่องสปอยล์ให้ใจเต้น จนต้องขอร้องว่าช่วยพอได้แล้ว

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าการคาบข่าวมาบอกประหนึ่งวงใน คือความรักในเสียงเพลงและเรื่องเล่าผ่านเพจ ที่นำพาให้เขาได้รับเลือกเป็นสื่อคนเดียวของไทย ในเทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Glastonbury Festival 2022

คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury
คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury

The less I know the better

เราเริ่มต้นด้วยการขอให้ปลายสายแนะนำตัวเอง ไม่ใช่ชื่อจริง-นามสกุล แต่ในฐานะ ‘เฮีย แห่งเพจ hear and there’

ความจริงคือเขาไม่ได้ตั้งใจจะเป็น เฮีย ของทุกคนตั้งแต่แรก แต่เกิดจากบรรดาลูกเพจที่มอบฉายานี้ให้กับเขา เพี้ยนมาจากการเรียกสั้น ๆ ว่า เพจเฮีย

ส่วนที่มาก็ตรงตามความหมาย Hear คือการฟังเพลง There คือหลังฟังเสร็จแล้ว เขาก็จะไปดูคอนเสิร์ต 

เป็นธรรมดาที่ทุกเพจจะมีช่วงที่กราฟนิ่ง ๆ ไม่ค่อยขยับ ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง เขาเลยหยิบฉายานี้มาสร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวเอง มีการตั้งสเตตัสชวนลูกเพจพูดคุยกันมากขึ้น ต่างจากตอนแรกที่จะเป็นเพจรีวิวเทศกาล และคอยอัปเดตข่าวสารดนตรีต่างประเทศเท่านั้น

เมื่อถามว่าเขารู้สึกยังไงที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้นามแฝงนี้ 

“เราเป็นลูกคนจีน ปกติญาติพี่น้องก็เรียกเฮียอยู่แล้วครับ” คำตอบของเขาพาเราหัวเราะตามไปด้วย 

“รู้สึกว่ามันดูเป็นกันเอง ทุกวันนี้ก็ชอบมีลูกเพจเหงาแล้วทักมาคุยแชทเยอะมาก บางคนอยากไปเฟสติวัลไหนก็ส่งมาถามว่าเฮียเคยไปไหม เข้ามาปรึกษาปัญหาความรักก็มี (หัวเราะ) เราได้ลูกเพจเป็นเพื่อนเยอะเหมือนกัน จริง ๆ ก็ให้อารมณ์เหมือนเราเป็นดีเจออนไลน์”

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่เพจถือกำเนิด จากคำชักชวนของเพื่อนที่เห็นเขาตระเวนดูคอนเสิร์ตอย่างบ้าคลั่ง แบบที่ไม่สมควรเก็บเรื่องเล่าไว้กับตัวเพียงคนเดียว บวกกับเชื้อไฟอีกอย่างคือความขี้เกียจตอบคำถามรายบุคคล ก็เปิดเพจเล่า How to ไปเทศกาลมันให้รู้แล้วรู้รอด

เฮลโหลลลลลล ตื่นเต้นมาก อีกแป๊ปก็จะถึง Coachella อีกแล้ว ปีนี้ Weekend 1 จัดวันที่ 13-15 เมษา ส่วน Weekend 2 วันที่…

โพสต์โดย hear and there เมื่อ วันพุธที่ 28 มีนาคม 2018

Feels like we only go backwards

ในยุคแรกเพจของเขาจึงเต็มไปด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ต้องใช้เงินเท่าไร เดินทางไปยังไง มีอะไรอร่อยที่ไม่ควรพลาด สื่อสารกับคนที่รักการไปเทศกาลเช่นเดียวกับเขา รวมถึงคนที่ยังไม่บรรจุคอนเสิร์ตต่างประเทศเข้าไปในบักเก็ตลิสต์ เพราะสิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน แต่วัฒนธรรมที่หลากหลายของแต่ละพื้นที่จะทำให้คุณมีประสบการณ์ชีวิต

จากนั้นไม่นาน โควิด-19 ก็เข้ามาทำให้การดูดนตรีหยุดชะงัก เป็นกิจกรรมท้าย ๆ ที่ถูกผ่อนปรนมาตรการด้วยซ้ำไป เฮียเล่าว่า 2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เขารู้สึกเหี่ยวแห้ง คอนเทนต์ในเพจจึงเหลือเฉพาะแค่การแนะนำเพลงใหม่ อัลบั้มใหม่ รวมถึงการ Live from Home

ตัดภาพมาปัจจุบัน เฮียลงเพจเกือบทุกวันราวกับอัดอั้น 

ไม่ว่าเมื่อไรที่คุณเลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊ก คุณจะพบคอนเทนต์ของเขาเสมอ เฮียคงไม่รู้หรอกว่าเขาโด่งดังขนาดไหน แต่อิทธิพลและความน่าเชื่อถือของเขา ก็ทำให้ทั้งไทม์ไลน์สั่นสะเทือนเพียงบอกใบ้ศิลปินด้วยตัวอักษรแค่ 1 ตัวเท่านั้น 

เฮียยอมรับว่าเพจของเขาเดินทางมาไกลมากพอ ๆ กับกระแสความนิยมไปดูคอนเสิร์ตของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

หากผู้อ่านเป็นคนที่กำลังติดตามเพจนี้อยู่ ไม่ต้องห่วง เราบอกเขาแล้วว่าให้หยุดประกาศ แต่เขาเองก็หยุดการมาของคอนเสิร์ตไม่ได้

“เรากำลังจะกลับไปเป็นเหมือนปี 2019 ที่คอนเสิร์ตในไทยพีกมาก ๆ มีคนที่ร้องโอดโอยว่าพอแล้ว ไม่ต้องมาแล้ว ซึ่งตอนนี้มันกำลังจะกลับไปเป็นแบบนั้น 

“ก่อนหน้านี้คอนเสิร์ตในไทยไม่ได้บูมขนาดนี้ เราคุยกับผู้จัดก็คือตั้งแต่เขาจัดมาเป็นสิบ ๆ ปี คอนเสิร์ตในไทยคือมาไกลมาก คนคงอยากไปเจอศิลปินที่ชอบ อยากไปฟังเขาร้องสด ๆ ไม่ได้อยากฟังเขาร้องดิจิทัลอย่างเดียว

“แต่เอาจริง ๆ เศรษฐกิจไทยไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีคอนเสิร์ตได้เยอะ คนไม่ได้มีกำลังซื้อ เขาอาจจะชอบศิลปินทั้งหมดเลยที่มา แต่โอเค ฉันต้องเลือกเพราะมีเงินแค่นี้ ซึ่งถ้าประเทศไทยเศรษฐกิจดีหรือรัฐบาลสนับสนุนงบ คนในประเทศก็อาจจะไปดูคอนเสิร์ตมากขึ้นก็ได้” 

ขนาดว่าคนยังไม่มีกำลังซื้อ หลายคอนเสิร์ตในช่วงครึ่งปีหลังก็ขายบัตรหมดกันเทน้ำเทท่า ไม่แน่ใจว่าตัดสินใจถูกไหมที่ถามออกไป แต่ไหน ๆ ก็ได้คุยกับนักสปอยล์สักที เราใช้โอกาสนี้ถามเขาว่าช่วงสิ้นปียังเหลืออีกกี่คอนเสิร์ต 

อีกเป็น 10 ที่ยังไม่ประกาศคือคำบอกใบ้ของเขา พ่วงกับคำว่า “ก็น่ากลัวอยู่เหมือนกันครับ” ที่ทำให้คนฟังต้องกลับไปเช็กยอดเงินในกระเป๋า ติดตรงที่ของจริงมันจะไม่ใช่ปีนี้

“เราว่าปีนี้เผาหลอก ปีหน้าคือเผาจริง ศิลปินใหญ่ ๆ จะมาปีหน้าหมด” ฟังจบแล้วขอตัวไปปาดเหงื่อ 1 ที

คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury

Yes, I’m changing

เฮียบอกกับเราว่าเขาทำเพจนี้เพียงคนเดียว ทุ่มเทความสนใจทั้งหมดลงบนเพจ ถึงกับเลิกเล่นอินสตาแกรมส่วนตัวของตัวเองไปเลย 4 ปี

ชีวิตตอนนี้มอบให้ hear and there เลยเหรอ – เราถาม

“ใช่ครับ จริง ๆ เพจนี้สร้างอาชีพให้เรานะ เหมือน Love What You Do เราได้ร้านแผ่นเสียงมาจากการทำเพจ”

ที่พูดอย่างนั้นเพราะอีกขาหนึ่งนอกจากเป็นเฮียของทุกคนแล้ว เขายังเป็นพ่อค้าแผ่นเสียงร้าน h records ที่ก็ทำเองคนเดียวอีกเหมือนกัน ถือเป็นอาชีพท่อน้ำเลี้ยงให้ได้มีโอกาสไปดูดนตรีที่เขาใฝ่ฝัน และยังเป็นงานที่รายล้อมไปด้วยเสียงเพลงที่เขารัก ลำพังหวังพึ่งรายได้จากการทำเพจคงจะไม่พอ (แม้ตัวตนของเขาจะถูกปิดเป็นความลับก็จริง แต่หากเป็นเรื่องค้าขาย เขายินดีเปิดเผยเต็มที่)

“เราแทบไม่ได้เงินจากการทำเพจเลย เหมือนทุกอย่างเราทำเพราะความฝัน เพราะความรักทั้งนั้น 

“เราเป็นคนชอบฟังเพลงมาก ชอบไปคอนเสิร์ตมาก ชอบไปเฟสติวัลมาก ๆ คิดว่าเราทำเพจนี้ได้ไปจนตายเลย เพราะตอนนี้ชีวิตกำลังอยู่ในจังหวะที่โอเค พอมีรายได้จากการขายแผ่นเสียง แล้วก็ได้ไปเฟสติวัลที่อยากไป ได้ดูคอนเสิร์ตที่อยากดู ได้ฟังเพลงที่อยากฟัง ได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่านี้แล้ว”  

คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury
คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury

หลังคุยกันมาเนิ่นนาน ก่อนจะมาเป็นเฮียที่ฝันอยากดูคอนเสิร์ตไปจนวันตาย เราชวนเขาคุยถึงเด็กชายในความทรงจำจนได้ความว่า ตัวเขาในวัยเยาว์ก็หมดเงินไปกับซีดีเพลงและเทปเยอะมาก ราว ๆ 500 ชิ้น 

เฮียเป็นคนชอบฟังเพลงมาตั้งแต่มัธยม ฝึกทักษะภาษาอังกฤษจากการซื้อเทปเพลงสากลมาฟังแล้วแกะเนื้อเอง ถ้ายังนึกภาพไม่ออก ยุคนั้นเป็นยุคของ Spice Girls หรือ Radiohead หากมีโอกาสไปเจอศิลปินไทยที่ร้านทาวเวอร์เรคคอร์ดในตำนาน เขาก็ถือแผ่นซีดีไปขอลายเซ็นเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป

“เราชอบดู Channel V ชอบโทรไปหาพี่ VJ ตะแง้ว ชอบฟังเพลง ชอบดูสถิติว่าเพลงไหนขึ้นอันดับ 1 แต่มาเริ่มดูคอนเสิร์ตจริง ๆ ตอนโตขึ้นหน่อยเพราะว่าไม่ได้มีเงิน แล้วก็ไป Fat Festival ไปคอนเสิร์ตเดี่ยวของศิลปินนู่นนี่ ตามกำลังทรัพย์”

ถึงเขาจะเริ่มจากการฟังเพลงไทย แต่สุดท้ายเขาก็สนใจเพลงสากลมากเป็นพิเศษ เราจะเห็นว่าเพจของเขาพูดถึงศิลปินต่างชาติเพียงเท่านั้น และหากนึกดูแล้ว ย่อมมีเพจเพลงไทยที่มีความรู้ลึกรู้จริงมากกว่าหลายเท่า คำแนะนำของเขาจึงเป็นการศึกษาและลงแรงลงใจอย่างเต็มที่ จนกว่าจะเก่งในเส้นทางของตัวเอง แล้วผลลัพท์ที่ได้ตามมาจะคุ้มค่า

ใครจะรู้ว่าคนที่กดบัตร Glastonbury เป็น 10 ปีไม่เคยได้ วันหนึ่งจะกลายเป็นสื่อไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกในเทศกาลระดับโลก 

คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury
คุยกับเฮียเพจ hear and there ดูโชว์มากสุด 300 ศิลปินต่อปีจนถึงวันที่ได้บัตร Glastonbury

Is it true

แทร็กที่ 4 ของ Tame Impala ในบทความนี้มีชื่อว่า Is it true

ส่วนความฝัน 10 ปีของนักดูดนตรีอย่างเฮียมีชื่อว่า Glastonbury เทศกาลดนตรีและการแสดงบนผืนหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งเกาะอังกฤษ 

คล้ายจะถามซ้ำอีกครั้งว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ใช่ไหม

ระดับความยากของเทศกาลนี้มีการเปรียบเทียบอย่างติดตลก เช่น ว่ากันว่า ระหว่างเป็นศิลปินแล้วได้ไปแสดงในงาน กับเป็นคนธรรมดาที่กดบัตรเอง การเป็นศิลปินน่าจะมีโอกาสไปงานได้มากกว่า

เฮียเล่าให้ฟังว่าการกดบัตร Glastonbury นั้นยากเพราะเต็มไปด้วยขั้นตอนมากมาย จะต้องมีการลงทะเบียน ต้องอัปโหลดรูปถ่าย ต้องใส่หมายเลขที่ได้จากการลงทะเบียนก่อนสั่งซื้อ พอได้บัตรมาก็จะมีชื่อจริงกับรูปภาพของตนติดอยู่บนบัตร ทำให้เป็นเทศกาลที่รีเซลค่อนข้างยาก หรืออาจจะขายต่อไม่ได้ด้วยซ้ำ ยิ่งการสมัครขอบัตรในฐานะสื่อเฟซบุ๊กที่มียอดติดตามเพียง 6 หมื่น ณ ขณะนั้น ยิ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ

“ในใจคิดว่าไม่น่าได้” ถึงจะเป็นกังวล แต่เขาก็ถือคติไม่ลองไม่รู้

เขายื่นใบสมัครด้วยการบอกว่า hear and there เป็นสื่อออนไลน์ที่โดดเด่นเรื่องคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี พร้อมแนบรีวิว Coachella Valley Music and Arts Festival, Fuji Rock Festival, Wanderland Festival รวมถึงเทศกาลต่าง ๆ ที่เขาเคยไปมาแล้วไม่ได้กลับมาด้วยมือเปล่า

“สุดท้ายเราก็เป็น Waiting List แล้วก็ได้มาแบบบังเอิญมาก วันที่เขาบอกคือ 13 พฤษภาคม แต่งานมีวันที่ 22 มิถุนายน ช่วงนั้นวีซ่าอังกฤษใช้เวลาขอนานกว่าปกติ คือได้วีซ่าก่อนไปแค่อาทิตย์เดียว ถือว่าฉิวเฉียดมาก เลยรู้สึกว่าเป็นความสำเร็จของเราระดับหนึ่งในฐานะสื่อที่ทำอยู่ตอนนี้”

จากคนที่แค่อยากเปิดเพจเพื่อแชร์เรื่องเล่าจากเทศกาลให้เพื่อนฟัง น่าสนใจว่าการได้รับคัดเลือกครั้งนี้ ทำให้เขารู้สึกเหมือนตัวเองเติบโตขึ้นมากแค่ไหน เฮียตอบเราทันควันว่าการเข้าไปใน Press Tent ที่ Glastonbury เป็นการตอกย้ำว่าเขายังคงเป็นสื่อที่ตัวเล็กมากเหลือเกิน

คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง
คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง

“ในเต็นท์มี Press จากทุกที่ เช่น Rolling Stone, Time Magazine ทุกคนจริงจังมาก เขียนบทความกันรัว ๆ เดินออกไปถ่ายรูป แล้วก็เดินกลับมาเขียนใหม่ เขามืออาชีพมาก เลนส์กล้องยาวมาก เพราะมันเป็นงานใหญ่ ทุกคนก็ทุ่มสุดตัว เพื่อที่ปีต่อ ๆ ไปเขาจะได้มาอีก

“แต่คือเราไปจากไทย คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าคงไม่มีเวลาทำคอนเทนต์ ไม่ลงเพลงใหม่ เอ็มวีใหม่ช่วงนั้นเลย เราก็ไม่ได้เอาคอมไปเพราะคงไม่ต้องใช้อยู่แล้ว อุปกรณ์ที่เราใช้ลงคอนเทนต์คือมือถือ มีแอบคิดในใจว่าทุกคนจะคิดว่ากูเข้ามาเล่นมือถือรึเปล่า แต่จริง ๆ แล้วกูมาทำงานนะ (หัวเราะ)”

แม้จะเดินทางไปเทศกาลมาแล้วหลายประเทศ เขาก็ยังคงตื่นเต้นเหมือนครั้งแรกที่ได้ไป ตามมาด้วยความตื่นตาตื่นใจสุดขีด เพราะ Glastonbury เป็นงานใหญ่ที่มีมากกว่า 100 เวที รวมถึงบาร์ลับ และกิจกรรมให้ร่วมสนุกอีกเยอะมาก ขนาดที่ว่าเดิน 5 วันก็ยังไม่ครบ จนเขายอมรับว่าคงต้องมาอีกสัก 3 รอบถึงจะไปได้ครบทุกโซน บรรยากาศภายในงานจึงเป็นสิ่งที่เขาคิดถึงมาจนถึงวินาทีที่เราสนทนากันอยู่

คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง
คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง

“คนไปมันเอ็นจอยมากเหมือนไปเพื่อซึมซับบรรยากาศ ไปเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตอย่างเดียว มีกิจกรรมเยอะแยะมาก มีโซน Kids ที่ทั้งโซนเป็นของเล่นเด็กให้พ่อแม่พาลูกไป คนอังกฤษที่พ่อแม่เคยพาเขาไปตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนนี้โตขึ้นจนไปงานเองกันได้แล้ว งานนี้เหมือนเป็นประเพณีของประเทศ พวกเขาโตมากับเฟสติวัลนี้เลย”

แม้จะทุลักทุเล ผิดแผนไปบ้าง แต่เส้นทางความฝัน 10 ปีก็ลงเอยอย่างสวยงาม และเต็มไปด้วยความประทับใจที่คงลืมไม่ลงไปตลอดชีวิต

Apocalypse Dream

เราถามเขาว่าทำไมถึงหลงรักการไปดูคอนเสิร์ตขนาดนั้น เฮียตอบคำแรกว่าไม่รู้ ส่วนคำต่อมาคือประสบการณ์ที่เคยยืนดูศิลปินเล่นสดแล้วน้ำตาไหล เข้าใจว่าความตื้นตันพวกนี้คงอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ยาก

“บางทีถ้าเจอศิลปินร้องแย่ก็คือแย่ มันไม่ได้มีแค่ความรู้สึกดี ๆ ตลอดหรอก แต่การไปคอนเสิร์ตคือเราได้สัมผัสจริง ๆ ได้ไปเจอกับคนที่ชอบศิลปินเดียวกัน ได้ร้องเพลงได้แหกปากกับคนที่ร้องได้เหมือนกัน ยิ่งการไปเฟสติวัลต่างประเทศ เราก็จะได้ไปดูคอนเสิร์ตที่เราอยากดู ได้ไปเที่ยว ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ไปใช้ชีวิต ไปพบปะผู้คน”

นอกจากการไป Glastonbury ในฐานะสื่อที่เป็นความฝันสูงสุดแล้ว เป้าหมายใหญ่ ๆ ที่อยากท้าทายตัวเองเล่น ๆ ของเขา คือการออกจากบ้านไปดูเฟสติวัลรอบโลกตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 1 มกราคมของอีกปี 

เราฟังแล้วถึงกับบอกว่ามันบ้ามาก เขาเองก็เห็นอย่างนั้น พูดย้ำอยู่หลายครั้งว่ามันเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่คงไม่มีทางเป็นไปไม่ได้ในชีวิตนี้ สำหรับความฝันที่มีมูลค่าหลายล้านบาท กับเพจหนึ่งเพจที่ปราศจากรายได้ และความยุ่งเหยิงในชีวิตส่วนตัวที่เขาต้องรับผิดชอบทุกอย่างเพียงคนเดียว

อย่างน้อย เราก็ขอเป็นลูกเพจที่เอาใจช่วยให้เขาทำฝันเป็นจริงได้สำเร็จ ไม่แน่ว่าอนาคตในหลักหน่วยปีหรือสิบปีต่อไป เราอาจจะได้เห็นมหากาพย์การรีวิวเทศกาลทั่วโลกแบบที่คนในโลกเขาไม่คิดจะทำกัน 

และถ้าวันนั้น Tame Impala ยังคงเป็นศิลปินคนโปรดของเขาอยู่ แทร็กที่เราอยากมอบให้ก็คงเป็นเพลง Eventually

คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง
คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง

ก่อนจากกันเราขอชวนทุกคนทำความรู้จัก ‘เฮีย’ผ่าน 15 คำถามต่อไปนี้

‘เฮีย’ อายุเท่าไหร่

ชราแล้วครับ เริ่มยืนดูคอนเสิร์ตไม่ไหว

‘เฮีย’ อยู่ในวงการดนตรีรึเปล่า

มีคนเคยคิดว่าเฮียเป็นศิลปิน เป็นนักร้อง แต่ไม่ได้อยู่ในวงการครับ 

นิยามคนที่ชื่อ ‘เฮีย’ ใน 3 คำ

น่ารัก เป็นกันเอง ขี้เม้า

คิดว่า ‘เฮีย’ ในจินตนาการของลูกเพจเป็นยังไง

เป็นคนแก่ ๆ มีอายุระดับหนึ่งมั้งครับ 

ลูกเพจชอบส่งมาว่า เฮียขอกู้เงินหน่อยได้ไหม ชอบคิดว่าเฮียเป็นคนรวย มีเงินไปเที่ยว แต่จริง ๆ ไม่รวย เฮียก็เป็นคนปกติทั่วไปนี่แหละ เหมือนที่เขาชอบพูดกัน ใน IG ถ่ายรูปสวยแต่ชีวิตจริงกินมาม่า (หัวเราะ)

วงล่าสุดที่ฟังแล้วดีมาก ๆ จนต้องแชร์ให้โลกรู้

The Lazy Eyes เป็นวงที่กำลังมาจากออสเตรเลีย เพลงดี แต่ยังไม่ดัง เล่นเปิดให้กับ The Strokes (เพลงแนะนำ Cheesy Love Song)

วงไหนที่คิดว่าน่าจะรู้จักมาตั้งนานแล้ว

Kikagaku Moyo

จำนวนการแสดงสดมากสุดที่เคยดูใน 1 ปี

ปี 2019 ทั้งหมด 334 โชว์

ศิลปินคนโปรดตลอดกาล

Tame Impala 

คอนเสิร์ตที่อยากไปดูให้ได้ก่อนตาย

ถ้าอยากดูตอนนี้น่าจะเป็น The Strokes กับ Arctic Monkeys ที่ยังไม่ได้ดูสักที คลาดกันไปมา

คอนเสิร์ตที่ประทับใจที่สุดในชีวิต

Beyoncé ที่ Coachella ครับ

ประสบการณ์การไปเทศกาลที่จำได้ไม่ลืม

เคยไป Fuji Rock แล้วมีคนเข้ามาทักว่ายูเคยไป Coachella ปีล่าสุดรึเปล่า เรายืนข้าง ๆ กันตอน The 1975 คิดว่าเขาคงจำได้เพราะเราร้องเพลงเสียงดังมาก เป็นคนญี่ปุ่นที่ไปเรียนอเมริกา ตอนนี้ก็เป็นเพื่อนกันอยู่ 

บัตรราคาแพงสุดที่เคยไป

เคยซื้อแพ็กเกจ Coachella 55,000 บาท รวมโรงแรม

ศิลปินไทยคนไหนที่จะก้าวไปสู่ Coachella เหมือน MILLI ได้

ภูมิ วิภูริศ

ระดับความว้าวของศิลปินคนต่อไปใน #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต 

มีที่ว้าวมาก ๆ แต่ยังไม่ได้บอก ว้าวถึงขนาดที่ต้องจ่ายตังค์มาให้ได้แน่นอน

สปอยล์อะไรก็ได้ให้ลูกเพจ 1 อย่าง

ปีหน้าจะมีเฟสติวัลใหม่เกิดขึ้นในไทยครับ

คุยกับเฮียแห่งเพจ hear and there จากจุดเริ่มต้นนักไปเทศกาล จนถึงวันได้บัตร Glastonbury ที่กดยากสุดในโลกโดยไม่ต้องกดเอง

ภาพ : hear and there

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว