The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตอีกไม่เกิน 10 ปี กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Completed Aged Society) ลองคิดภาพตามว่าในกลุ่มคน 10 คน จะมีผู้สูงอายุ 2 คน

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วมันเป็นปัญหาอย่างไร คนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา เมื่อแก่ตัวก็แค่ดูแลกันและกันอย่างที่เป็นมา…

จริงๆ แล้วสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์กระทบไปถึงความรุ่งเรืองและถดถอยของประเทศได้เลย เพราะอย่างที่รู้กันว่าความเจ็บป่วยและความเสื่อมสภาพทางร่างกาย เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้สูงอายุ

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

ในวันที่ประชากรมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุที่ทำงานเพื่อหาเงินหล่อเลี้ยงชีวิตไม่ได้อีกต่อไป ประเทศเราจะมีเงินค่ารักษาพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุเพียงพอหรือไม่ และผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพังไปจนถึงผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานจะใช้ชีวิตอย่างไร

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปเยี่ยมศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ทดลองและพัฒนาองค์ความรู้ ในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน เพื่อเป็นฐานงานที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนที่บริหารจัดการและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน 

นนทน์ เจิดอำไพ ผู้จัดการโครงการพื้นที่สุขภาวะเพื่อสังคมผู้สูงอายุ

สนทนากับ ศศิธร มารัตน์ พยาบาลวิชาชีพหัวหน้าศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง และ นนทน์ เจิดอำไพ ผู้จัดการโครงการพื้นที่สุขภาวะเพื่อสังคมผู้สูงอายุ จากการร่วมมือกันของชุมชนเขาทอง ศูนย์ผู้สูงอายุ สถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ ที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นการทำงานออกแบบผ่านการประสานความรู้ข้ามศาสตร์ ทั้งด้านสาธารณสุขและสถาปัตยกรรม และผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 11 Sustainable Cities and Communities

เขาทองคือชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ซึ่งขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน จากกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน นี่คือสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สังคม และพวกเราทุกคน ต้องตระหนักเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต

01

ติดสังคม ติดบ้าน ติดเตียง

เดินตามเสียงดนตรีไทย ฉิ่ง ฉับ กรับ กลอง ที่แทรกมาด้วยเสียงหัวเราะเป็นระยะ ก็พบกับคุณตาคุณยายในเสื้อลายดอกสีสันสดใส ทุกคนมีดอกไม้ทัดหูและกำลังรำวงอย่างสนุกสนานกระฉับกระเฉง

“เมื่อก่อนชุมชนเขาทองเป็นตลาดสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญ แต่ภายหลังซบเซาลงเหลือแค่การทำเกษตรกรรม คนรุ่นใหม่ๆ ในชุมชนจึงนิยมเข้าไปทำงานในเมือง ทำให้ชุมชนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เพราะมีประชากรที่อายุมากกว่าหกสิบปีขึ้นไป ถึงร้อยละยี่สิบสาม” ศศิธรเริ่มเล่า

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

ศูนย์ผู้สูงอายุเขาทองแห่งนี้จึงถูกจัดตั้งขึ้นโดยชุมชนและมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมโดยชุมชน เพื่อเป็นฐานงานที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนที่บริหารจัดการและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน 

โดยมีภารกิจคือการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งเรื่องการดูแลสุขภาพและดูแลแบบประคับประคอง ด้วยการไปดูแลถึงบ้าน ทั้งสำหรับผู้สูงอายุทั่วๆ ไปและผู้ป่วยติดเตียง โดยประเภทของผู้สูงอายุแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือกลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง

“อย่างคุณตาคุณยายที่กำลังรำวงและมาสังสรรค์ทำกิจกรรมที่ศูนย์ผู้สูงอายุเขาทองบ่อยๆ นี้คือกลุ่มติดสังคม ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ยังคงมีเรี่ยวแรง มีพละกำลังทั้งกายและใจในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้สูงอายุด้วยกัน” ศศิธรอธิบาย 

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน
ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

เรามองไปรอบๆ ศูนย์ผู้สูงอายุทรงไทยประยุกต์หลังนี้ที่ออกแบบด้วยหลัก Universal Design หรือการออกแบบเพื่อการใช้งานของคนทุกกลุ่มในสังคม โดยมีทั้งทางลาดและราวจับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้รถเข็นและเดินเหินไม่คล่องแคล่ว

ทุกวันพุธรถตู้ของศูนย์ผู้สูงอายุเขาทองจะตระเวนรับ-ส่งคุณตาคุณยายมาทำกิจกรรมร่วมกันที่ศูนย์ผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตใจซึ่งจะส่งผลไปถึงสุขภาพกายที่แข็งแรง

02

เยี่ยมเยือนบ้านเพื่อต้านอาการป่วยไข้

ผู้สูงอายุประเภทต่อมาคือกลุ่มติดบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังพอดูแลตัวเองได้ แต่ไม่รู้สึกสะดวกสบายที่จะต้องเดินทางไปไหนมาไหน ศูนย์ผู้สูงอายุเขาทองจึงมีโครงการเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากกลุ่มจิตอาสาในชุมชน

ศศิธรเล่าว่า “เมื่อลงไปเยี่ยมถึงบ้านก็ทำให้ทราบปัญหาทางสาธารณะสุขที่ลึกลงไป เช่นผู้สูงอายุบางรายอาศัยอยู่บ้านตามลำพัง เจ็บป่วยมีโรคประจำตัวแต่ไม่ยอมไปหาหมอ เพราะเดินทางลำบากและไม่มีเงิน 

นนทน์ เจิดอำไพ ผู้จัดการโครงการพื้นที่สุขภาวะเพื่อสังคมผู้สูงอายุ
ศศิธร มารัตน์ พยาบาลวิชาชีพหัวหน้าศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง

“ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน กลุ่มจิตอาสาและชาวบ้านซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงจึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ด้วยการผลัดเวรกันรับ-ส่งผู้สูงอายุถึงโรงพยาบาลทุกครั้งที่หมอนัด และหมั่นไปเยี่ยมเยือนพูดคุยเพื่อเฝ้าระวังอาการของโรค” 

ต่อมาศูนย์ผู้สูงอายุเขาทองจึงได้เพิ่มโครงการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ผู้สูงอายุประเภทสุดท้าย นั่นคือกลุ่มติดเตียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ป่วยโรคร้ายแรง โดยใช้รูปแบบการเยี่ยมเยือนบ้านเพื่อตรวจสภาพอาการอย่างสม่ำเสมอ

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

ศศิธรอธิบายว่า เนื่องจากชุมชนเขาทอง กลุ่มจิตอาสา และทีมพยาบาลวิชาชีพของศูนย์ผู้สูงอายุ ทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุที่ผสมผสานหลายๆ จุดแข็งจากแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน 

“คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันฉันเครือญาติ ทีมศูนย์ผู้สูงอายุมีความรู้การดูแลด้านสุขภาพแบบสหวิชาชีพที่ถูกต้องเหมาะสม และกลุ่มจิตอาสาที่เข้าถึงบ้านแต่ละหลังอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แม้การทำงานที่ผ่านมาจะมีทั้งความสำเร็จและความผิดพลาด แต่การมีส่วนร่วมนี้นี่เองที่นำไปสู่การเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะของผู้สูงในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

03

สายน้ำใจที่หลั่งไหลในชุมชน

ศศิธรเล่าต่อว่า “เขาทองเป็นชุมชนเล็กๆ ที่สงบร่มเย็น คุณตาคุณยายที่รำวงอยู่นี้เป็นกลุ่มติดสังคม มีความสุขตามวัย มีบ้านและครอบครัวที่ยังดูแลกันอย่างดี ทำให้ไม่เหงาแม้จะต้องอยู่บ้านคนเดียวบ้างช่วงที่ลูกหลานไปทำงาน 

“แต่ในขณะเดียวกันยังมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งในชุมชนที่มีฐานะยากจน บางคนไม่มีลูกหลานและมีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น ทุพพลภาพ ในพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการมีสุขภาพดีและปลอดภัย”

โครงการพื้นที่สุขภาวะเพื่อสังคมผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของศูนย์ผู้สูงอายุชุมชนเขาทอง สถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยชุมชนเขาทอง เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบจากทั่วประเทศไทย ในการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ

นนทน์อธิบายกระบวนการทำงานว่า

“เริ่มจากทีมสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ลงสำรวจพื้นที่ ด้วยการเข้าร่วมโครงการเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุ พร้อมทีมพยาบาลจากศูนย์ผู้สูงอายุและกลุ่มจิตอาสา สิ่งที่เราพบคือ คุณตาคุณยายหลายท่านมีปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพใจ แต่ต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีสภาพทรุดโทรม ไม่ถูกสุขลักษณะ

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

“ทั้งเราและชุมชนมีความคิดเห็นพ้องกันว่าเราควรช่วยปรับปรุงบ้านให้คุณตาคุณยาย โดยคัดเลือกบ้านนำร่องสิบหลังแรกที่มีสภาพปัญหาในการอยู่อาศัยรุนแรง จากการรวบรวมข้อมูลโครงการเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุทั่วทั้งตำบลเขาทอง แล้วออกแบบปรับปรุงใหม่ให้ถูกสุขลักษณะและเอื้อต่อการเป็นพื้นที่สุขภาวะผู้สูงอายุในลักษณะการระดมทุนช่วยเหลือ”

นนทน์บอกว่า งบประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่นำมาปรับปรุงบ้านนำร่องทั้งสิบหลังให้ผู้สูงอายุ เป็นการดำเนินงานโดยอาศัยการบริหารจัดการจากการระดมทุน ทรัพยากร และแรงงานภายในชุมชนเอง โดยมีวัดเขาทองเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนในบางครั้ง เช่นการทอดผ้าป่าเพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนศูนย์ผู้สูงอายุเขาทอง

04

หัวใจของการเป็นพื้นที่สุขภาวะเพื่อผู้สูงอายุ

เมื่อคณะกรรมการชุมชนตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ทีมพยาบาลและสถาปนิกจะลงพื้นที่อีกหลายครั้งเพื่อเก็บข้อมูลบ้านแต่ละหลัง ที่จะถูกออกแบบปรับปรุงใหม่อย่างละเอียด จากนั้นทีมสถาปนิกจะทำการออกแบบและทดสอบร่วมกับทีมพยาบาล ให้แน่ใจว่าการปรับปรุงบ้านแต่ละหลังตรงกับความจำเป็นและความต้องการของคุณตาคุณยายแต่ละท่านจริงๆ

ศศิธรอธิบายว่า “ที่ต้องลงสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยกันทุกครั้ง เพราะต่างฝ่ายต่างมีข้อสังเกตในการเก็บข้อมูลต่างกัน ทีมพยาบาลจะมองเรื่องสุขลักษณะเป็นที่ตั้ง ในขณะที่ทีมสถาปนิกจะมองในเชิงพื้นที่ว่าจะแก้ปัญหาความไม่ถูกสุขลักษณะเหล่านั้น รวมถึงอำนวยความสะดวกในบ้านให้ผู้สูงอายุด้วยงานออกแบบได้อย่างไร”

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

ถือเป็นการทำงานออกแบบผ่านการประสานความรู้ข้ามศาสตร์ ทั้งด้านสาธารณสุขและสถาปัตยกรรม

เมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องกันแล้วว่าแบบบ้านใหม่จะหน้าตาเป็นอย่างไร ทีมสถาปนิกจะส่งแบบต่อให้คณะกรรมการชุมชนเพื่อประเมินราคา และระดมทุนให้ได้จำนวนเงินตามที่ต้องการ จากนั้นบริหารจัดการการก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนจบด้วยทีมช่างในชุมชนเอง 

“ชุมชนเป็นคนก่อสร้างเอง จัดหาวัสดุเอง ทำให้เขาลดงบประมาณบางส่วนลงได้ เพราะผู้บริจาคบางคนก็บริจาคเป็นวัสดุก่อสร้าง แรงงานก็เป็นคนในชุมชน มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ สถาปนิกมาช่วยตรวจความเรียบร้อยและถูกต้องของการก่อสร้างบ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น เราก็ทึ่งนะที่เขาลดค่าใช้จ่ายบางอย่างในการก่อสร้างลงได้ขนาดนี้ด้วยการช่วยกันในชุมชน” นนทน์เล่า

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน
ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

“สิ่งสำคัญอยู่ที่การอธิบายทำความเข้าใจให้ทุกคนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงบ้านให้เป็นพื้นที่สุขภาวะผู้สูงอายุ ว่าไม่ใช่แค่การระดมทุนเพื่อนำเงินส่วนรวมไปดูแลแค่ใครคนใดคนหนึ่ง 

“เพราะเมื่อคนในชุมชนหนึ่งคนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ย่อมส่งผลต่อการเสริมสร้างชุมชนทั้งหมดให้น่าอยู่อาศัย เป็นพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมต่อส่วนรวม” ศศิธรช่วยเสริม

05

สถาปนิกชุมชนผู้ออกแบบชีวิต

ในการออกแบบพื้นที่สุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุ นนทน์อธิบายว่า คุณตาคุณยายแต่ละคนมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และปัญหาที่แตกต่างกันในรายละเอียด

“บางคนดวงตาพร่ามัว มองไม่เห็น อาศัยการใช้มือคลำแผ่นไม้กระดานไปยังพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน บางคนเดินไม่ได้ต้องใช้ใช้รถเข็น ปัจจัยทั้งหมดในชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน คือสิ่งที่สถาปนิกจะต้องนำมาเป็นสิ่งกำหนดการออกแบบ”

ยิ่งรายละเอียดเล็กๆ ยิ่งมองข้ามไม่ได้ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน เช่นบ้านหลังแรก คุณตาคุณยาย 3 พี่น้องผู้สูงอายุใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน คุณตาขาลีบพิการ เดินไม่ได้ ในขณะที่แขนพอมีกำลัง หากมีที่ยึดเกาะก็ยกตัวช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง

นนทน์เล่าว่า ที่ผ่านมา การใช้ชีวิตของคุณยายพี่สาวทั้งสองคือต้องมีใครสักคนอยู่กับน้องชายตลอดเวลา เพราะคุณตาชายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

ทีมสถาปนิกจากอาศรมศิลป์จึงออกแบบราวจับในจุดต่างๆ ที่คุณตาจะเข็นรถเข็นไปถึงระยะเอื้อมมือได้ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งนั้นยากลำบากมาก เพราะคุณยายต้องช่วยกันหิ้วปีกพยุงกันไปอย่างทุลักทุเล

“ตอนนี้คุณตาเข็นรถเข็นเข้าไปอาบน้ำรวมถึงขับถ่ายได้ด้วยตัวเอง จากการออกแบบติดตั้งราวจับในห้องน้ำ เปลี่ยนประตูเข้า-ออกจากบานพับเป็นแบบบานเลื่อน เพื่อให้คุณตาเปิด-ปิดได้เอง และทำทางลาดสำหรับรถเข็น

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

“ตอนนี้ชีวิตคุณยายพี่สาวทั้งสองคนดีขึ้นมาก มีเวลาส่วนตัว มีเวลาออกไปทำกิจกรรมบ้างตามโอกาส เพราะไม่ต้องคอยเฝ้าคุณตาตลอดเวลาอย่างแต่ก่อน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการออกแบบเพื่อช่วยเหลือคนหนึ่งคนที่ส่งผลไปยังคนอื่นๆ ในครอบครัว”

บ้านหลังที่ 2 เป็นการปรับปรุงห้องน้ำและเปลี่ยนส้วมหลุมเป็นส้วมชักโครก คุณยายอายุ 90 ปี หลังค่อมและตัวเล็ก ด้วยสภาพร่างกายของคุณยาย การติดตั้งชักโครกขนาดปกติอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้คุณยายใช้ชีวิตยากกว่าเดิม

“เราเลยเลือกใช้ส้วมชักโครกสำหรับเด็ก ซึ่งมีความสูงและขนาดเล็กกว่า โดยให้คุณยายลองลุกนั่งเพื่อดูระดับความสูงว่าพอดีหรือไม่

“รวมถึงขยายช่องประตู เปลี่ยนประตูเป็นบานเลื่อนน้ำหนักเบา รวมถึงปรับระดับหรือตำแหน่งติดตั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ อย่างโอ่งใส่น้ำ ราวจับ และก๊อกน้ำ ให้อยู่ในระดับที่คุณยายจะเอื้อมถึงได้” 

06

แก่อย่างแข็งแรงไปด้วยกัน

ตอนนี้ศูนย์ผู้สูงอายุเขาทองดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 แล้ว ทุกโครงการที่ผ่านมาเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีวัดเป็นหนึ่งในศูนย์กลาง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนคืออะไร และตัวเองจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงแน่นแฟ้นให้เกิดขึ้นในชุมชนด้วย

เมื่อบทสนทนากับศศิธรและนนทน์จบลง เรามองไปยังวงรำวงของคุณตาคุณยายตรงหน้า สัมผัสได้ถึงมวลความสุขที่อบอวลอยู่โดยรอบ อาสาสมัครวัยรุ่นหลายคนกำลังตักบัวลอยน้ำกะทิกลิ่นหอมหวานให้คุณตาคุณยาย นี่คือความเข้มแข็งของการพัฒนาชุมชน

ชุมชนเขาทอง ต้นแบบชุมชนผู้สูงอายุที่สร้างพื้นที่สุขภาวะและกลไกการดูแลกันระหว่างคนในชุมชน

สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องของทุกคน เพราะไม่ว่าคุณจะแก่หรือไม่ก็ตาม เราล้วนอยู่ในสังคมเดียวกัน และการพัฒนาให้ชุมชนได้เรียนรู้กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ คือพื้นฐานของการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 11 Sustainable Cities and Communities เพื่อการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และเป็นการสร้างกลไกการบริหารจัดการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของชุมชนอย่างยั่งยืน

Writer & Photographer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน