The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ทัศนคติของคนมากมายในสังคม เรือนจำคือพื้นที่ปิดล้อมด้วยกำแพงสูงตระหง่านและรั้วลวดหนาม ทันทีที่ก้าวพลาดและถูกตัดสินให้จองจำเพื่อชดใช้สิ่งที่กระทำในอดีต เส้นแบ่งแยกระหว่างการเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ กับความเป็นมนุษย์ในสังคมข้างนอกจะถูกแยกขาดออกจากกันอย่างเด็ดขาด

เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของเรือนจำ จะพบว่าตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว เรือนจำเกิดขึ้นด้วยแนวคิดในการเป็นเครื่องมือลงโทษผู้กระทำผิดกฏของสังคม ทำให้เรือนจำเป็นเสมือนสถานที่ดัดนิสัย โดยการกักขังเพื่อให้ทรมานเป็นการชดใช้กรรมอย่างสาสมต่อสิ่งที่กระทำลงไป

ทำให้ตั้งแต่อดีต ความทุกข์เข็ญของคนในเรือนจำเป็นเรื่องที่ถูกมองข้าม จนถึงปัจจุบันไม่นานมานี้ที่ผลระยะยาวเมื่อคนในเรือนจำพ้นโทษออกไปสู่สังคม ทำให้โลกต้องกลับมาทบทวนแนวคิดที่มีต่อเรือนจำใหม่

ก่อนหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ คุณภาพชีวิตของคนในเรือนจำ ดำเนินไปตามมีตามเกิด ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ขาดการเชื่อมต่อกับที่พึ่งทางใจ ไร้การบูรณาการการดำรงชีวิต อยู่อย่างแออัดและเนือยนิ่ง ทำให้คนในเรือนจำมากมายป่วยไข้ทั้งกายใจ

ส่งผลให้เมื่อออกมาสู่โลกกว้างแล้วอาจปรับตัวไม่ได้ รู้สึกเคว้งคว้างไม่มีที่ไป ไร้ญาติขาดมิตร และนำไปสู่การที่สังคมเมื่อพ้นโทษออกมาสู่โลกกว้าง แม้กายจะเป็นอิสระ แต่ความรู้สึกทางใจไม่อาจคืนกลับมา ผู้พ้นโทษจำนวนมากปรับตัวไม่ได้ ความเคว้งคว้างไม่มีที่ไป ประกอบกับไร้ญาติขาดมิตร และทัศนคติของคนในสังคมที่มองในแง่ลบและไม่ยอมรับ ไม่ให้โอกาสในการทำงานหาเลี้ยงชีพ ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง ถือเป็นกระบวนการคืนคนดีสู่สังคมที่ล้มเหลว

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

ทั้งที่จริงการเกิดปรากฏการคนล้นคุก ซึ่งมีคนเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมากนั้น เป็นหนึ่งในการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมและปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่เอื้อให้คนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย ไม่สามารถลืมตาอ้าปากอย่างมีศักดิ์ศรีได้ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยถูกสังคมบีบให้กระทำความผิดจนต้องเข้ามาสู่เรือนจำ 

แน่นอนทุกคนมีทางเลือกที่จะไม่กระทำความผิด แต่ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนล้วนมีเงื่อนไขในชีวิตแตกต่างกัน บริบทที่ส่งผลต่อการตัดสินใจก็แตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้นแต่ถ้าเราไม่เปิดใจเพื่อพยายามทำความเข้าใจ เราก็จะไม่มีวันหาทางแก้ไขปัญญานักโทษในเรือนจำอย่างยั่งยืนได้

เราจะไปคุยกับ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ และ ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่ตั้งใจเปลี่ยนชีวิตของคนหลังกำแพงในวันนี้ เพื่อเปลี่ยนอนาคตที่พวกเขาจะมีในวันที่พ้นโทษออกไป

ด้วยแนวคิดที่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีคนพาออกก้าวเดินไปถูกทาง เพื่อให้เรือนจำไม่ใช่ที่กักขังจองจำ แต่เป็นสถานที่ฟื้นฟูคนที่เคยตัดสินใจผิดพลาด

ทั้งโครงการโยคะในเรือนจำ ที่พาผู้ต้องขังไปแข่งขันชิงแชมป์โยคะแห่งเอเชีย กวาดมาแล้วกว่า 13 เหรียญ และโครงการเรือนจำสีเขียว ที่สร้างแรงกระเพื่อมในการฟื้นฟูผู้ต้องขังทั้งทางร่างกายด้วยสุขภาพที่ดีขึ้น และทางใจที่คืนความเป็นมนุษย์ ความเชื่อมั่น และภาคภูมิใจในความสามารถของตัวเองให้กลับมา

เพื่อรอวันที่จะได้กลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำความผิดซ้ำและต้องกลับเข้ามาในรั้วกำแพงสูงแห่งนี้อีก

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

01

ประวัติศาสตร์ของการถูกจองจำ

อาจารย์นภาภรณ์อธิบายถึงที่มาของโครงการเรือนจำสุขภาวะ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตหลังกำแพงว่า “เกิดจากการตั้งคำถามถึงเรือนจำในประเทศไทย ทำไมเรือนจำมีปัญหาฟื้นฟูคนแล้วคนกลับเข้าเรือนจำ เกิดคำถามว่าเรากำลังเดินผิดพลาดไหม จึงมาดูพัฒนาการของเรือนจำ”

“สมัยก่อนในศตวรรษที่สิบถึงสิบหก เป็นการลงโทษโดยทำให้อับอายในที่สาธารณะ เช่น แขวนคอ นั่งเก้าอี้ประจาน บางครั้งคนที่ถูกทำเช่นนี้จะฆ่าตัวตาย การประหารชีวิต ทั้งหมดเป็นความโหดร้าย จนมีผู้พิพากษาปฏิเสธการแขวนคอเยาวชนอายุสิบหกปีในสถานที่สาธารณะ และเสนอว่าควรมีสถานที่สำหรับคุมขัง จึงเกิดการสร้างสถานที่คุมขังขึ้นมา เรียกว่า House of Correction ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่ยากจะฟื้นฟูผู้ต้องขัง

“ในศตวรรษที่สิบหก เป็นจุดเริ่มต้นของเรือนจำสมัยใหม่ เรียกว่า Panopticon ใช้วิธีให้ผู้คุมอยู่ที่หอคอย นักโทษเห็นหอคอยแต่ไม่เห็นผู้คุม ดังนั้นนักโทษต้องระวังตัวเองตลอดเวลา คนคิดระบบนี้คิดว่านี่เป็นการควบคุมที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ภายหลังล้มเหลว เพราะทำให้คนต้องคุมตัวเองมากไป เป็นการควบคุมไปถึงจิตวิญญาณ เป็นการสลายตัวตนของบุคคล ความเป็นมนุษย์ถูกทำลาย”

กระแสปฏิรูปเรือนจำในยุคแรก เกิดจากงานเขียนของโฮวาร์ด ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเขาใช้เวลานานกว่า 17 ปี เดินทางไปสำรวจคุกต่างๆ ในยุโรปถึง 40 ครั้งและถ่ายทอดถึงสภาพอันเลวร้ายของคุก ทั้งความแออัด ความอดอยากหิวโหย ความเข้มงวดในการควบคุมกับผู้ต้องขังและสุขอนามัยที่ย่ำแย่ไร้ระเบียบ 

ทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักว่า การลงโทษโดยนำคนมากักขังอย่างเดียวเพื่อให้ทุกข์ทรมาน แก้ไขปัญหาให้คนยุติการกระทำผิดไม่ได้ เพราะสุดท้ายผู้ต้องขังก็กลับไปทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เรื่อยมาปัจจุบัน หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปและสแกนดิเนเวีย ต่างปรับเปลี่ยนรูปแบบมาออกแบบเรือนจำที่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยเน้นที่การฟื้นฟูผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคม แทนการถูกจองจำชดใช้กรรมอย่างสาสมอย่างในอดีต 

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

02

ปลายทางคือต้องไม่ทำผิดซ้ำ

อาจารย์นภาภรณ์บอกว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากคือการเอาคนมาขังแยกออกจากสังคม ให้เขาทำตามตารางเวลาอย่างเข้มข้นเกินเลย ตามระบบ Panopticon ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ทำให้มีการทำผิดซ้ำมาก ไม่มีที่ไหนประสบความสำเร็จแม้แต่แห่งเดียว

“เรือนจำจึงต้องปรับเปลี่ยนฐานคิดในการดูแลผู้ต้องขัง จัดสุขภาวะที่ดี บูรณาการการฟื้นฟูเข้าไปในวิถีทั้งชีวิตในเรือนจำ การสูญเสียอิสรภาพเป็นการลงโทษที่เพียงพอแล้ว บทบาทของเรือนจำคือการฟื้นฟู อย่างประเทศนอร์เวย์ที่ออกแบบสถานที่เพื่อการฟื้นฟูคนในเรือนจำ ออกจากห้องขังมามีต้นไม้ ทางเรือนจำออกแบบได้และไม่แพง อยู่ที่วิธีคิดของคนที่มีส่วนร่วม”

นวัตกรรมแนวคิดในการพัฒนาเรือนจำสุขภาวะ เริ่มจากการจัดสภาวะแวดล้อมของเรือนจำให้น่าอยู่ “ผู้ต้องขังเป็นมนุษย์เหมือนเรา ถ้าเราอยากให้เขาดี เราต้องปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้ติดต่อ คงความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องได้ เพื่อยังคงความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ ความเป็นครอบครัว

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

“ในประเทศที่เจริญแล้ว มักมีการออกแบบห้องเยี่ยมผู้ต้องขังที่บรรยากาศอบอุ่น มีเก้าอี้ให้เด็กนั่ง ช่วยให้แม่กับลูกมีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เพราะมีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่า ผู้ต้องขังที่รักษาความสัมพันธ์ตรงนี้ได้ เมื่อพ้นโทษออกไป จะมีโอกาสกลับมาทำผิดซ้ำน้อยกว่าหลายเท่าตัว”

อาจารย์นภาภรณ์พูดต่อว่า เรือนจำมีคนเก่งมากมายที่เคยก้าวพลาดหรือเลือกเดินบนเส้นทางผิด ความยั่งยืนที่แท้จริงของสังคม คือการเปลี่ยนคนเหล่านี้ให้กลับมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงต้องไม่ประทับตราผู้ต้องขัง เรือนจำไม่ใช่ที่ผลิตโจร การคืนคนกลับคืนสู่สังคมโดยไม่มีการทำผิดซ้ำนั้นเป็นไปได้ ด้วยการให้โอกาสเพียงน้อยนิดที่จะช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้พวกเขาจากคนในสังคม 

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มมีการผลักดันแนวคิดที่ต้องการให้การออกแบบและการจัดพื้นที่ในเรือนจำมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ต้องขัง “เราต้องปฏิบัติต่อมนุษย์โดยใช้ความเป็นมนุษย์ในการเยียวยา” โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของการฟื้นฟู และทำให้การคืนกลับสู่สังคมประสบความสำเร็จ

“ฐานคิดในเรื่องนี้ คือความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ปรับเปลี่ยนตัวเอง จากการที่เคยกระทำผิดมาในอดีต ไปสู่การมองอนาคตในทางบวกได้ หากใช้วิธีการที่เหมาะสม ถูกต้อง นำมาสู่การสร้างสภาวะแวดล้อมให้ผู้ต้องขังได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติ แสงแดด อากาศที่บริสุทธิ์ มีสีสันสดชื่น 

“เพราะความอบอุ่นและเป็นมิตรจะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขัง ช่วยให้ผู้ที่พ้นโทษออกไปไม่ทำผิดซ้ำ บรรยากาศที่เป็นการจองจำ กดดัน หม่นหมอง ช่วยฟื้นฟูเยียวยาผู้ต้องขังไม่ได้เลย”

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

03

โยคะเปลี่ยนชีวิต

อาจารย์ธีรวัลย์เล่าต่อว่า “จากการทำงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ผู้ต้องขังคือคนที่ห่างจากครอบครัว ห่างจากคนที่รัก ทำให้มีความเครียดและความเศร้าสูงมาก ดังนั้นโครงการใน พ.ศ. 2554 จึงพยายามแก้ปัญหาให้ผู้ต้องขังลดความเครียด เกิดเป็นโครงการโยคะในเรือนจำ โดยเราเริ่มการจัดโยคะในเรือนจำที่แรก คือเรือนจำกลางราชบุรี

“เชื่อไหมว่ามีผู้ต้องขังมาครั้งหนึ่งถึงสองร้อยคน เราก็แบ่งการสอนออกเป็นหลายรอบในช่วงเช้า และช่วงบ่ายก็ช่วยกันคัดคนที่มีความสามารถฝึกเป็นครูโยคะ เพื่อสอนคนที่สนใจให้สอนเพื่อนๆ ผู้ต้องขังคนอื่นต่อได้”

ในการฝึกโยคะ สิ่งที่ผู้ฝึกจะได้รับคือเกิดความอิสระในร่างกาย คลายความเครียด รู้จักตัวตน มีสมาธิ มีเพื่อน มีเสียงหัวเราะ เกิดความภาคภูมิใจเมื่อควบคุมร่างกายได้ คนที่มีความสามารถมีโอกาสแสดงโยคะ เป็นการสร้างที่ยืนในสังคมเมื่อพ้นโทษ หลายคนได้เป็นครูโยคะ

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

“ผู้ต้องขังแต่ละคนอาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางคนอยากออกกำลังกาย บางคนอยากมีสุขภาพที่ดี บางคนอยากลองทำอะไรใหม่ๆ การฝึกโยคะช่วยให้ผู้ต้องขังได้เคลื่อนไหวและฝึกใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย จากที่เคยใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่งมานาน ตอนแรกๆ ก็เจ็บปวดร่างกายกันไปตามระเบียบ เพราะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อมานาน แต่เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ทุกคนจะรู้สึกถึงความผ่อนคลายและยืดหยุ่นของร่างกาย”

ผู้ต้องขังคนหนึ่งอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 13 ปี เพิ่งมีโอกาสรู้จักโยคะเป็นครั้งแรกที่เรือนจำราชบุรี เธอบอกอาจารย์ธีรวัลย์ว่า ไม่คิดเลยว่าตัวเองจะเล่นโยคะได้ ยิ่งท่ายากๆ รู้สึกภูมิใจมาก น้ำหนักลดลง นอนหลับสนิทและรู้สึกแข็งแรงขึ้นมาก

อาจารย์ธีรวัลย์เข้าไปสอนโยคะในเรือนจำอย่างต่อเนื่องตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ผู้ต้องขังหญิงได้ฝึกโยคะกับครูจากอินเดียและฟิลิปปินส์ ที่มาปูพื้นฐานฝึกการหายใจเข้าออก การควบคุมร่างกาย และเมื่อแข็งแรงมีกำลังก็ฝึกท่ายากขึ้น ก็มีการใช้กำลังกล้ามเนื้อหน้าท้องมากขึ้น จนไปแข่งขันชิงแชมป์โยคะแห่งเอเชีย ได้เหรียญมาทั้งหมด 13 เหรียญ

จนทุกวันนี้ การฝึกโยคะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแวดวงเรือนจำ และขยับขยายไปยังเรือนจำอีกหลายแห่งทั่วประเทศ โดยมีเรือนจำกลางราชบุรีเป็น Hub การฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังในเรือนจำอื่นๆ 

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

“ช่วง 4 ปีแรกของการตั้ง Hub ฝึกโยคะ มีเรือนจำหกแห่งเข้าร่วมโครงการ คือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางระยอง เรือนจำจังหวัดกาญจนบุรี เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม 

“ต่อมาเรือนจำกลางอุดรธานีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งผู้ต้องขังซึ่งเป็นครูโยคะ ไปช่วยฝึกผู้ต้องขังหญิงที่เรือนจำในภูมิภาคเดียวกัน เช่นที่หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ โดยทุกเรือนจำที่เป็นส่วนขยายของโครงการโยคะในเรือนจำ ทางโครงการมีทีมวิจัยและวิทยากรไปดูแลการฝึกอย่างถูกต้องเหมาะสม”

การฝึกโยคะได้รับการสนับสนุนจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งประสานให้เรือนจำต่างๆ เข้ามาร่วมโครงการ และอนุญาตให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการคัดเลือกเข้าฝึกเป็นครูโยคะเดินทางมาฝึกที่เรือนจำกลางราชบุรีได้ โดยเป็นการฝึกอย่างเข้มข้นเต็มเวลา ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็นตลอดระยะเวลา 2 เดือน มีอาจารย์ 2 คนควบคุมดูแลการฝึกอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ต้องขังซึ่งเป็นครูโยคะของเรือนจะกลางราชบุรีจะดูแลผู้เข้ามาฝึกจากเรือนจำอื่นๆ อย่างใกล้ชิด

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

แล้วการฝึกโยคะเกี่ยวข้องกับการทำให้ผู้พ้นโทษ ไม่หันกลับไปก่ออาชญากรรมซ้ำได้อย่างไร อาจารย์นภาภรณ์อธิบายว่า “การศึกษาในหลายประเทศ พบว่าผู้ต้องขังจำนวนมากมีความเครียด จิตใจไม่สงบ การกระจายของฮอร์โมนในร่างกายไม่ปกติ รวมทั้งระบบประสาทบางส่วนทำงานไม่ปกติ 

“การฝึกโยคะช่วยให้ฮอร์โมนหมุนเวียนเป็นปกติ และยังช่วยให้ร่างกายและสุขภาพจิตแข็งแรง มีอารมณ์ที่มั่นคง ช่วงที่เครียด ผู้ต้องขังสามารถกำหนดลมหายใจเพื่อผ่อนคลาย ทำให้เครียดน้อยลง โกรธน้อยลง รู้สึกเหงาหงอยน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เคารพ รู้สึกดีกับตัวเองและไม่ทำความผิดซ้ำอย่างที่เคยทำผิดพลาดมา”

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

04

ธรรมชาติบำบัด

อาจารย์นภาภรณ์อธิบายให้ฟังถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเรือนจำไทยว่า นอกจากกำแพงคอนกรีตสูง ขดลวดหนาม ลูกกรงเหล็กแล้ว อาคารซึ่งเป็นโรงงานหรือเรือนนอนของผู้ต้องขัง มักออกแบบให้ดูมืดทึม ไม่มีการทาสีเพื่อสร้างความสดใส หรือการตกแต่งให้รู้สึกผ่อนคลาย

“อาคารในแดนหญิงของเรือนจำขนาดเล็กหลายที่ไม่มีพื้นที่ภายนอกให้ออกกำลังกายเลย ไม่มีแม้แต่ต้นไม้สักต้นสร้างความสดชื่น ผู้ต้องขังหญิงในแดนเหล่านี้แทบไม่เคยสัมผัสกับสีเขียวต้องต้นไม้ ไม่ได้เห็นสีสันของดอกไม้”

เรือนจำในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาเริ่มให้ความสนใจ กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมของเรือนจำให้มีสภาวะปกติ (Normalization) เหมือนกับสังคมภายนอกเรือนจำให้มากท่ี่สุด และมีการนำแนวคิดเรื่องระบบนิเวศมาเป็นพื้นฐานการฟื้นฟู โดยใช้ความสำคัญกับการรักษาใจของผู้ต้องขังโดยใช้ธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดการทำผิดซ้ำได้

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

“เพราะการสร้างพื้นที่ให้ผู้ต้องขังมีโอกาสสัมผัสธรรมชาติ แม้จะแค่สั้นๆ จะช่วยให้ผู้ต้องขังรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น มีความเครียดและความดันลดต่ำลง และยังช่วยส่งเสริมการทำงานและการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ซึ่งนำไปสู่การตระหนักในคุณค่าของตัวเอง อย่างที่การฝึกโยคะก็เป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญ”

โครงการเรือนจำสีเขียวจึงถูกก่อร่างสร้างขึ้น โดยเริ่มที่เรือนจำกลางราชบุรี 2 ปีหลังโครงการโยคะในเรือนจำ แม้ในแดนหญิงของเรือนจำกลางราชบุรีจะมีพื้นที่ว่างอยู่ไม่มากนัก แต่ก็พอมีพื้นที่บางส่วนปล่อยว่างไว้ใช้ปลูกผักริมรั้วได้

“เราก็เปิดรับผู้ต้องขังที่สมัครใจเช่นเคย ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครจำนวนมากถึงหนึ่งร้อยคน แต่น่าเสียดายด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ตอนนั้นเรารับสมาชิกได้แค่สามสิบคน หลายคนที่กลายเป็นนักปลูกต้นไม้ประจำเรือนจำ มาจากหมู่บ้าน แม้จะมีการศึกษาน้อย แต่เคยมีประสบการณ์ทำสวนไร่นามาก่อน ทำให้จับจอบเสียมขุดดินได้อย่างคล่องแคล่ว และทุกคนมีความกระตือรือร้นมากที่จะได้ทำในสิ่งที่เขาทำได้อีกครั้ง”

ในพื้นที่ที่ทุกอย่างหยุดนิ่ง ผู้ต้องขังบางคนต้องชดใช้ความผิดในเรือนจำหลายสิบปี มีแต่ความแก่ชราและโรยราปรากฏให้เห็น หน่อไม้สีเขียวในพื้นที่เล็กๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งการเบิกบานเติบโต เพราะทุกคนคือมนุษย์ที่มีความรู้สึกจิตใจ การได้เฝ้าดูการเจริญเติบโตของพืชผักคือกำลังใจและความหวังทางความรู้สึก เพื่อรอวันที่จะได้กลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมอีกครั้ง

05

ใช้ความเป็นมนุษย์ในการเยียวยา

อาจารย์นภาภรณ์เล่าว่า เวลาผู้ต้องขังพาเดินดูต้นมะเขือยาว มะเขือเทศ ที่ออกดอกเต็มสวยงาม ทุกคนมีหน้าตาท่าทางที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ และมีความสุขที่ได้เห็นพืชผักของตนเองที่ปลูกในเรือนจำ ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสมาก่อน 

การได้เฝ้าดูการเจริญเติบโตของพืชผักช่วยลดความเครียด และทำให้จิตใจอ่อนโยนลง แน่นอนว่าคงทำให้คิดถึงบ้าน แต่ก็เป็นความรู้สึกดีๆ ที่ได้หวนคิดถึงความอบอุ่นของบ้านที่จากมาเนิ่นนาน ผู้ต้องขังจึงหมุนเวียนกันมานั่งบริเวณสวนผัก บางคนบอกอาจารย์นภาภรณ์ว่า “ไม่ได้กลิ่นผักมานานแล้ว ได้กลิ่นแล้วชื่นใจ”

 ไม่ใช่ทำเล่นๆ แต่ปลูกอย่างจริงจัง มีการเชิญวิทยากรมามอบความรู้เรื่องการปรับปรุงดิน เพราะดินที่เรือนจำกลางราชบุรีเป็นดินที่อยู่ลึกและนำมาถมที่ ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงต้องมีการปรับปรุงดิน นอกจากนี้ยังสอนการปลูกพืชผักโดยไม่ใช้สารเคมี และสอนทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ปลูกทุกอย่างตั้งแต่ใบกะเพราะ ใบโหระพา ผักชีฝรั่ง ตระไคร้และอีกนับสิบชนิด 

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

“ผู้ต้องขังจะต้องช่วยกันดูแลแปลงผักในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เพาะเมล็ดพันธุ์ ดูแลอนุบาลพืช รดน้ำพรวนดิน ตัดแต่งพืชผักให้สวยงาม และดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ เมื่อได้ผลผลิตก็จะได้รับส่วนแบ่งของผักไปกินได้ ผู้ต้องขังที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็กินผักนี้ได้เหมือนกัน แต่ต้องเอาขยะรีไซเคิลได้อย่างขวดพลาสติก กระดาษ กระป๋อง มาแลกผัก 

“นี่คืออีกหนึ่งจุดเปลี่ยน เพราะเมื่อเรือนจำมีแหล่งอาหารซึ่งเป็นพืชผัก ให้ผู้ต้องขังที่มีข้อจำกัดทางการเงินได้กินผักปลอดสารพิษ จากเดิมเมื่อมีภาวะเครียดหรือเศร้า ก็ซื้อได้เพียงบะหมี่สำเร็จรูปและน้ำอัดลมจากร้านสวัสดิการ บางคนไม่ได้กินผักมานานนับปี เพราะเรือนจำก็มีงบประมาณในการปรุงอาหารประจำวันให้ผู้ต้องขังจำกัดมาก เมื่อสุขภาพดี สุขภาพใจก็ดีตามไปด้วย”

และมากไปกว่านั้น องค์ความรู้และทักษะเหล่านี้จะเป็นต้นทุนชีวิต ติดตัวออกไปเมื่อพ้นโทษ ผู้พ้นโทษจะมีช่องทางในการประกอบอาชีพสุจริต มีพื้นที่ยืนเล็กๆ ในสังคม เมื่อเชื่อมั่นในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะไม่มีใครมาบงการชีวิตให้ทำผิดซ้ำได้

ภารกิจสร้างเรือนจำสุขภาวะ ด้วยการฝึกโยคะให้ผู้ต้องขังและทำสวนเกษตรกรรมหลังกำแพง, นักโทษ, เรือนจำ, ผู้ต้องหา

ขอบคุณภาพจาก โครงการเรือนจำสุขภาวะ

ข้อมูลจาก นภาภรณ์ หะวานนท์ และ ธีรวัลย์ วรรธโนทัย. 2561. วิถีเรือนจำสุขภาวะ กรุงเทพฯ : โครงการเรือนจำสุขภาวะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน