เฮดสแตนด์ (Headstand) หรือท่ายืนด้วยศีรษะ เป็นท่าที่หลายคนบอกว่าคือราชาของท่าทางในการฝึกโยคะ (The King of Yoga Poses) ผู้ฝึกโยคะหลายคนที่ฝึกแบบเน้นท่าจะพยายามฝึกท่านี้ให้ได้ สำหรับพวกเขา ท่าเฮดแสตนด์คือความสำเร็จอันสูงสุด ขณะที่ถ้าใครเคยไปฝึกโยคะตามอาศรมในประเทศอินเดีย ความสำเร็จในการฝึกโยคะของโยคีทั้งหลายไม่ใช่เรื่องของท่ายาก อุปกรณ์ หรือเสื้อผ้าเนื้อเบาสบายใดๆ แต่เป็นเพียงการหยุดความเคลื่อนไหวของจิตด้วยอาสนะที่เรียบง่าย มีแค่ลมหายใจกับกายที่เคลื่อนไหวไปด้วยกันอย่างมีสติ 

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

“โลกของการใช้ชีวิตทุกวันนี้ เราต้องต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อให้เป็นที่ยอมรับเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายชีวิตที่เราต้องการ บางคนอยากได้เงินทอง บางคนอยากได้ชื่อเสียง ระหว่างเส้นทางเหล่านี้มันต้องแลกมาด้วยหลายอย่าง ในทางพุทธเขาว่า สิ่งที่จะทำให้ใจเราเป็นสุขจากสิ่งเหล่านี้ได้คือวิปัสสนา แต่วิปัสสนาเองก็ต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ส่วนถ้าเป็นสายโยคะ อาสนะกับการฝึกปราณคือวิธีที่จะพาคุณไปถึงจุดของความนิ่งได้อย่างแท้จริง

“เฮดแสตนด์เองไม่ใช่ท่าที่ทุกคนจะทำได้ มันต้องใช้ความพยายาม ฝึกฝนซ้ำๆ จริงๆ เฮดแสตนด์มันเหมือนกล้องรูเข็มสมัยก่อนเหมือนกันนะ เมื่อมองผ่านกล้องเราจะเห็นภาพที่สะท้อนมาแบบกลับหัว เฮดแสตนด์อาศัยความนิ่งและความแข็งแรงในการฝึก ถ้าจิตเราไม่นิ่งพอหรือหลุดโฟกัสแค่นิดเดียวในขณะเข้าท่า เราก็ล้มลงมา หนังเรื่องนี้มันเป็นการเปรียบเทียบโลกสองใบระหว่างการใช้ชีวิตของมนุษย์ปกติโดยทั่วไปกับโลกใบเล็กในสตูดิโอและในรั้วของวัดป่าที่เป็นเหมือนหลุบหลบภัยชั่วขณะ” 

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

กุ๊ก-อุบลสิริ พชรวรรณ เจ้าของโยคะสตูดิโอ Roots8 yoga บอกฉันถึงที่มาของการสร้างหนังนอกกระแส Headstand ที่กำลังจะเข้าฉายที่เฮาส์ สามย่าน ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ (พ.ศ. 2563) โดยตัวเธอเองเป็นทั้งผู้สร้างและผู้เขียนบทภาพยนตร์ มี ครูวิเวก-ซิงค์ ราวัต ครูโยคะชาวอินเดียจากหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อบาร์ปูร์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองฤาษีเกศ (Rishikesh) ออกไปประมาณ 60 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในผู้แสดงนำ และได้ ฮาเมอร์ ซาลวาลา ศิลปินและช่างภาพ มารับหน้าที่ในการกำกับภาพและกำกับการแสดง ครูวิเวกพูดให้ฉันฟังว่า สำหรับชาวอินเดียโดยเฉพาะที่เมืองฤาษีเกศแล้ว โยคะเริ่มเข้ามาในชีวิตพวกเขาตั้งแต่เล็ก มันซึมซับผ่านวิถีชีวิตประจำวันโดยที่พวกเขาแทบไม่รู้ตัว

“เด็กต่างจังหวัดในอินเดียที่มีบ้านอยู่ใกล้อาศรมจะเรียนรู้อาสนะกันตั้งแต่เด็กๆ อย่างตัวผมเองผมเรียนปอหนึ่งที่โรงเรียนชื่อ Saraswati Vidya Mandir เป็นโรงเรียนเอกชนของชาวฮินดู เช้ามาพวกเราจะต้องรวมตัวกันสวดมันตรา พอเที่ยงก็นั่งกินข้าวด้วยกันอย่างสงบเงียบ มีสติในการกิน เราถูกสอนมาให้รู้ตัวทุกขณะว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก่อนกลับบ้านเด็กทั้งหมดจะเข้าแถวเรียงหนึ่งเพื่อทำความเคารพครูที่ยืนเป็นเวรอยู่ตรงหน้าประตู วิธีทำความเคารพของเราคือการใช้มือก้มลงไปแตะไปที่เท้าของครูอย่างนอบน้อม ส่วนครูก็จะเอามือแตะกลับมาที่ศีรษะของพวกเราเพื่อเป็นการให้พร วิถีการใช้ชีวิตเหล่านี้มันเป็นเรื่องของโยคะทั้งหมดเลยโดยไม่ต้องเข้าท่าอาสนะ”

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

ตัวฉันเอง เมื่อพูดถึงโยคะ ภาพที่มักจะแวบเข้ามาในหัวเป็นภาพแรกๆ คือลุงโยคีเครายาวในเมืองพุชการ์ที่กำลังทำท่าไหว้พระอาทิตย์ (Surya Namaskar) อยู่ที่ริมทะเลสาบศักดิ์สิทธ์ Pushkar Lake ลุงคนนี้แกอายุ 80 แล้วแต่ยังดูแข็งแรงอยู่เลย อาจเป็นเพราะพุชการ์เองเป็นเมืองมังสวิรัติด้วย กินแต่พืชผักเลยทำให้ผิวพรรณของลุงแกเปล่งปลั่ง เห็นทีแรกนึกว่าอายุสักห้าหกสิบ เวลาแกไหว้พระอาทิตย์ทีแกจะไหว้วนต่อเนื่องหลายสิบรอบ ไม่มีอาการเหนื่อยหรือหอบ ทุกเช้าแกจะมาประจำอยู่ที่ริมทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้ โดยมีเสียงสวดมนต์จากเครื่องขยายเสียงดังมาจากวัดที่อยู่ใกล้ๆ คลอบรรยากาศในการฝึกโยคะของแก 

พุชการ์เป็นเมืองที่มีเสน่ห์สำหรับฉันเสมอ

คุณกุ๊กเล่าไอเดียของการทำหนัง Headstand ว่า ในฐานะของการเป็นเจ้าของธุรกิจโยคะสตูดิโอ หลายปีที่ผ่านมาตัวเธอเองมีโอกาสได้คลุกคลีกับผู้ฝึกโยคะจำนวนมาก ซึ่ง 98 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มาฝึกเป็นผู้หญิง สำหรับผู้หญิงแล้วโยคะเป็นเหมือนหลุบหลบภัย เป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาทีของการได้อยู่กับกายและใจของตัวเองอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่ปลอดคำตัดสิน

6 ปีก่อนหน้าที่จะมาเปิดโยคะสตูดิโอ คุณกุ๊กเคยทำธุรกิจร้านอาหารชื่อร้านกาแฟบางรัก การทำธุรกิจของเธอในช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความเครียด ทั้งการบริหารคนบริหารเงิน การรับมือกับลูกค้าหลายรูปแบบ 

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

ลูกค้าหลักและเป็นลูกค้าประจำของร้านกาแฟบางรักคือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย นิสัยการใช้ชีวิตของลูกค้าฝรั่งกลุ่มนี้คือ เข้ามานั่งที่ร้านตั้งแต่ร้านเปิดในช่วง 10 โมงเช้าและนั่งยาวไปจนร้านปิดตอน 4 ทุ่ม คืนไหนถ้าลูกค้านั่งติดลมไม่ยอมกลับ คุณกุ๊กก็กลับไม่ได้ ต้องนั่งเฝ้าจนเที่ยงคืนตีหนึ่ง การอดหลับอดนอนอยู่เป็นประจำ และความรู้สึกเบื่อหน่ายค่อยๆ สั่งสมยาวนานหลายปีจนกลายเป็นความเครียด ทำให้ตัวเองเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ขี้เหวี่ยงและหงุดหงิดง่าย

“มันได้เงินนะ แต่ขณะเดียวกันเราก็ถามตัวเองว่านี่เราต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมเราต้องมานั่งเฝ้าลูกค้าจนดึกจนดื่น คอยชงเหล้าชงมิกเซอร์ให้เขาทั้งๆ ที่มันก็เลยเวลางานของเรามาตั้งนานแล้ว 

“โลกของเราในช่วงสิบสามปีที่เปิดร้านกาแฟบางรักห้อมล้อมไปด้วยกลุ่มผู้ชายกินเหล้า เราเองต้องวางตัวให้ดีไม่ให้ใครมาจับมือถือแขนหรือลวนลาม ต้องสร้างระยะห่าง แต่ลูกค้าดีๆ ก็มีเยอะนะ หรืออย่างช่วงเที่ยงที่ลูกค้าเข้ามากินข้าวเวลาเดียวกันหมด ในหนึ่งชั่วโมงเราต้องออกอาหารให้ครบ เพราะพอบ่ายโมงลูกค้าก็ต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว ทุกอย่างมันรีบมันรนไปหมด 

“ไอ้เราก็เหวี่ยงลูกน้องทุกวัน จนวันหนึ่งความหงุดหงิดสะสมที่มันเกิดขึ้นก็เริ่มลามไปถึงคนที่บ้าน บางทีแค่คำพูดสั้นๆ ของแม่ที่เขานั่งรอเรากลับบ้าน เขาถามว่ากินข้าวมาหรือยัง พอได้ยินแบบนั้นเรากลับรู้สึกโมโหรำคาญ ไม่อยากตอบ เพราะเราพูดเราฟังมาทั้งวันแล้ว เราไม่อยากได้ยินเสียงอะไรแล้ว ตอนหลังก็มานั่งคิดว่า เอ๊ะ นี่เราบ้าหรือเปล่า แม่ไม่ได้ทำอะไรให้เลย ทำไมเราถึงไปรู้สึกกับเขาแบบนั้น เรารู้สึกแย่กับตัวเองมาก ไม่ชอบตัวเองเลย

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ
Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

“จนวันที่เราได้รู้จักกับโยคะเป็นครั้งแรก ตอนนั้นเราตื่นเต้นมาก มันมีโลกแบบนี้ด้วยเหรอ โลกที่ทำให้เราหยุดคิดเรื่องอื่นและกลับมาอยู่กับตัวเองจริงๆ ตั้งแต่นั้นมาเราเลยใช้โยคะเป็นเครื่องมือในการจัดการตัวเอง ฝึกๆ ไปรู้สึกว่าเฮ้ย ทำไมไอ้ความเจ็บปวดบางช่วงขณะของการเข้าอาสนะมันถึงทำให้เราหยุดคิดเรื่องที่อยู่นอกผืนเสื่อได้ มันมหัศจรรย์”

จากวันที่คุณกุ๊กเริ่มต้นฝึกโยคะกระทั่งเปิดโยคะสตูดิโอของตัวเอง เธอเป็นเหมือนผู้สังเกตการณ์ที่มีโอกาสได้ใช้เวลากับเรื่องราวของผู้หญิงต่างอาชีพต่างวัยที่เดินเข้ามาฝึกโยคะในสตูดิโอ จนวันหนึ่งเธอรู้สึกว่า ถ้านำเรื่องราวชีวิตเหล่านี้มาสร้างเป็นหนัง มันน่าจะเป็นหนังโยคะดีๆ สักเรื่องที่สามารถส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมากมายที่กำลังมองหาทางออกให้กับชีวิตโดยเฉพาะผู้หญิง 

การทำหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การนำชีวิตส่วนตัวของใครมาตีแผ่ แต่เป็นการผสมผสานแง่มุมจากชีวิตจริงของผู้ฝึกโยคะเพศหญิงที่ต่างเข้ามาฝึกโยคะด้วยเหตุผลที่ต่างกัน โยคะสำหรับบางคนคือการหนี บางคนคือการมารักษา และสำหรับบางคนโยคะคือการบำบัด

“คนที่มาฝึกโยคะมีทั้งคนปกติทั่วไป คนที่ป่วยกายป่วยใจ แต่จากประสบการณ์ของเรา คนที่มาฝึกส่วนมากจะเป็นเรื่องของการป่วยกายมากกว่า ออฟฟิศซินโดรม มะเร็ง ซึมเศร้า วิตกจริต หรือมีกรณีของนักปั่นจักรยานข้ามประเทศที่ประสบอุบัติเหตุและเลือกใช้โยคะเป็นหนทางรักษา 

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

“บ้านเขาอยู่สวนพลู เขาเดินจากสวนพลูมาที่สตูฯ เราด้วยขาที่กะเผลกข้างหนึ่ง เขาต้องเดินข้ามสะพานสาทรมา จากนั้นเดินเข้าซอยและเดินขึ้นบันไดมาที่สตูฯ มันไม่ง่ายเลยสำหรับเขา เขาต้องเอาชนะร่างกาย เอาชนะใจตัวเอง สุดท้ายหลังจากฝึกโยคะ Private ผ่านไปได้ 6 – 7 เดือนผสมด้วยการฝังเข็ม ตอนนี้สมาชิกท่านนี้กลับไปปั่นจักรยานได้แล้ว”

โครงเรื่องหลักของหนัง Headstand พูดถึงผู้หญิงในยุคปัจจุบันที่มีปัญหาชีวิตและพยายามหาทางออกให้กับตัวเองจนได้มาเจอกับครูสอนโยคะชาวอินเดีย ประตูบานสำคัญที่ทำให้พวกเธอได้ค้นพบกับความลับของศาสตร์โยคะแบบอินเดียโบราณ โดยส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ไปถ่ายทำที่เมืองฤาษีเกศด้วยวิถีการถ่ายทำแบบกองโจร 

เมืองฤาษีเกศตั้งอยู่บริเวณเนินเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของประเทศอินเดียในรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) เป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งศาสตร์โยคะและเป็นแหล่งรวมอาศรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีตเป็นเมืองที่มีฤาษีอาศัยอยู่มากที่สุด 

“ทำหนังเรื่องนี้ เราไม่ค่อยมีเงินหรอกนะคะ เงินเราน้อยมาก ”

คุณกุ๊กพูดสั้นๆ ก่อนจะหันไปรินชาอินเดียใส่แก้วเพิ่มให้ฉัน 

“เงินส่วนหนึ่งที่เอามาลงทุนเป็นเงินจากร้านอาหาร ซึ่งตอนนี้ร้านปิดไปแล้ว อีกส่วนเป็นเงินจากกองทุนที่เราตั้งขึ้นมา และได้การรับเงินสนับสนุนมาจากสมาชิกของสตูดิโอที่ช่วยกันลงขัน หนังเรื่องนี้เลยมีโจทย์ว่า ด้วยเงินลงทุนไม่กี่ล้านบาทนี้ เราจะทำยังไงที่จะผลิตหนังคุณภาพดีอย่างที่เราตั้งใจไว้ออกมาให้ได้ ค่าตัวทีมงานแต่ละคนน้อยมากเลยนะแต่ทุกคนตั้งใจมาก ทำงานเต็มกำลัง คนหนึ่งทำหลายหน้าที่”

ถามว่าการที่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งลุกขึ้นมาสร้างหนังนอกกระแสที่พูดเรื่องของโยคะจากทุนส่วนตัวเป็นล้านๆ บวกด้วยเงินกองทุนที่ตั้งขึ้นมาอีกประมาณ 4 แสนกว่าบาท เธอคาดหวังอะไร เธอกลัวเจ็บตัวบ้างไหม

Headstand หนังโยคะนอกกระแสของผู้หญิงธรรมดาที่ถ่ายทำในเมืองฤาษีเกศ ต้นกำเนิดศาสตร์โยคะ

“ก่อนหน้านี้เราตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้ง ว่าตกลงโยคะมันคืออะไรกันแน่ มันแค่อาสนะกับลมหายใจ แค่นั้นจริงๆ เหรอ จนวันหนึ่งเมื่อเราได้คำตอบจากมันแล้วว่า มันเป็นเครื่องมือในการเยียวยาปัญหาและสภาวะภายในของเรา คือหลุมหลบภัยจากดงระเบิดชีวิตท่ามกลางสนามมากมายในโลกของความจริงที่พยายามจะทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ของเรา 

“สมัยก่อนนี่เหยียบกับดักระเบิดทุกวันเลยนะ ซึ่งทุกวันนี้เราเข้าใจมันแล้ว แต่ไอ้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นนี่มันก็ยังไม่จบ เรายังคงหาคำตอบเพิ่มเติมอยู่ ในแง่ของคนดูเอง เราเชื่อว่าหลายคนที่เคยตั้งคำถามเหมือนเราหรือยังตั้งคำถามอยู่ การดูหนังเรื่องนี้น่าจะทำให้ได้พบคำตอบ ได้เห็นความหมายของโยคะที่ลึกซึ้งขึ้นแบบจับต้องได้”

ครั้งหนึ่ง ในวันที่ฉันพยายามฝึกจิตของตัวเองด้วยการสานสัมพันธ์ระหว่างกายกับใจให้มันสอดคล้องกัน ไม่เคลื่อนไหวกันไปคนละทิศละทาง เพื่อให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตอย่างรู้ตัวและมีสติในทุกขณะ เพื่อนคนหนึ่งพูดกับฉันว่า “กายกับใจที่เคยเหลื่อมกันมากๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันเริ่มเข้ามาใกล้กันแล้ว ยิ่งใกล้กันเท่าไหร่ก็ยิ่งดี”

ประโยคนี้นี่มันใช่จริงๆ นะ

Writer

Avatar

พัทริกา ลิปตพัลลภ

นักเขียนและนักเดินทาง เจ้าของหนังสือชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก ที่ชาตินี้ยังคงใช้เวลาเดินทางไปกลับอินเดียอยู่บ่อยๆ จนเป็นเหมือนบ้านที่สอง