ทุกครั้งที่เดินทางกลับมาที่สิงคโปร์ ฉันชอบนั่งริมหน้าต่างเครื่องบินแล้วมองลงมาก่อนเครื่องจะลงจอดที่สนามบินชางงี ภาพแรกที่เห็นเป็นทะเลสีคราม เต็มไปด้วยเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ลอยลำเตรียมเทียบท่า พอเครื่องบินลดระดับลง ภาพถัดมาเป็นตึกสูงเรียงรายอัดแน่นเต็มพื้นที่อย่างระเบียบเรียบร้อย และมีสีเขียวของต้นไม้แซมอยู่

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

สิงคโปร์เรียกตัวเองว่าเป็นจุดในแผนที่โลก (Little Red Dot) มีภูมิศาสตร์เป็นเกาะขนาดใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตแค่นิดเดียว แต่มีประชากรกว่า 6 ล้านคน และเพิ่มมากขึ้นๆ เนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานต่างชาติ ด้วยเป็นศูนย์กลางทางการเงินและเศรษฐกิจที่สำคัญของเอเชียซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

ฉันอยู่สิงคโปร์เกือบ 5 ปี ตั้งแต่มาแลกเปลี่ยนตอนปริญญาตรี เรียนปริญญาโท และเริ่มทำงาน จนเรียกเกาะแห่งนี้เป็นบ้านหลังที่สองได้ แม้ว่าปัจจุบันจะย้ายมาอยู่อเมริกาแทน 

สิงคโปร์มีเรื่องราวล้ำๆ หลายอย่างที่อยากเอามาแบ่งปัน สำหรับคอลัมน์หมู่บ้านเลยขอพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของประเทศนี้ที่เรียกว่า ‘HDB แฟลต’ (Housing & Development Board) หรือโมเดลการอยู่อาศัยบนที่สูงของสิงคโปร์

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

ประเทศเดียวในโลกเสรี ที่ประชากรเกือบทั้งหมดอาศัยในบ้านพักที่รัฐบาลจัดสรร

สิงคโปร์มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มากกว่าฮ่องกง แต่ทำไมราคาที่พักอาศัยยังพอเข้าถึงได้ ประชากรเป็นเจ้าของบ้านเองกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และยังมีพื้นที่อยู่อาศัยเพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจอปัญหาแออัด หรือต้องอาศัยในห้องพักขนาดเล็กจนเอื้อมมือไปแตะฝาผนังได้ครบทุกด้านแบบฮ่องกง

นั่นเพราะเกาะเล็กๆ แห่งนี้มี HDB แฟลต หรือตึกอยู่อาศัยที่จัดสรรโดยรัฐบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503

คนประเทศอื่นเวลาพูดว่า Public Housing มักคิดว่ามีไว้สำหรับกลุ่มประชากรรายได้น้อยที่รัฐบาลต้องอุปถัมภ์ แต่ที่สิงคโปร์ ประชากรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์อาศัยใน HDB แฟลต 

เห็นข้างนอกหน้าตาแบบนี้ แต่ภายในยูนิตค่อนข้างกว้างขวาง มีตั้งแต่ห้องเดี่ยวถึง 5 ห้อง เจ้าของยูนิตจะจัดแต่งต่อเติมภายในห้องยังไงก็ได้ แต่ที่พื้นที่ส่วนรวมและด้านนอกเป็นความดูแลของรัฐบาล

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

ทั้งๆ ที่เป็นประเทศรายได้สูง ทำไมคนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ถึงเลือกอยู่ในแฟลตของรัฐ ก็คงต้องเล่าไปถึงประวัติของโมลเดลที่อยู่อาศัยในเมืองสิงโตทะเล

สิงคโปร์ในยุคก่อตั้งประเทศเมื่อ 50 กว่าปีก่อนเป็นหมู่บ้านชาวประมง สภาพแออัด และมีสลัมหลายแห่ง รัฐบาลจึงกว้านซื้อเวนคืนจนถือครองที่ดินเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พอรัฐบาลเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งประเทศ ก็มีอำนาจการตัดสินใจเพื่อจัดแบ่งโซน เขาเก็บพื้นที่ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ไว้สำหรับอนุรักษ์เป็นพื้นที่สีเขียว อีก 70 เปอร์เซ็นต์ส่วนมากรัฐจัดสรรเอง มีเพียงส่วนน้อยที่เปิดประมูลให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์เอกชนไปพัฒนาต่อ

รัฐจึงนำส่วนที่จัดสรรเองมาสร้างที่อยู่อาศัยแนวสูงเพื่อป้องกันปัญหาความแออัด โดยรัฐเป็นคนวางแผนทั้งหมด เช่น จำนวนตึก ตำแหน่ง ราคา และบุคคลที่ถือครองได้ 

คำว่าถือครอง คือเจ้าของยูนิตที่เช่าจะได้รับสิทธิ์อยู่อาศัยเป็นเวลา 99 ปี สำหรับคนสิงคโปร์ ก็เทียบเท่ากับการซื้อนั่นเอง พอหลังจาก 99 ปี ห้องจะกลับคืนมาเป็นของรัฐ

นอกจากนี้ รัฐยังจำกัดราคา HDB แฟลต ให้ต่ำกว่าอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียมของเอกชนกว่า 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่ายอมขาดทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมาซื้อ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าตลาดบวกกับพื้นที่ห้องกว้างขวาง ทำให้ HDB แฟลต เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมของคนสิงคโปร์ เพราะเทียบได้กับรัฐบาลช่วยอุดหนุนเงินซื้อบ้าน เป็น Win-Win Solution 

การควบคุมอุปทานของอสังหาริมทรัพย์เกือบทั้งหมดในประเทศโดยรัฐนี่เอง ทำให้สิงคโปร์ไม่เจอปัญหาราคาที่อยู่อาศัยเกินว่าประชาชนจะจ่ายไหวแบบฮ่องกง 

ที่อยู่อาศัยที่มากกว่าห้องเล็กบนตึกสูง

การที่ประชาชนส่วนมากต้องใช้ชีวิตบนตึกสูง จึงเกิดโจทย์ยากว่า จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเครียดจากพื้นที่จำกัดในแฟลต และสร้างสังคมที่ให้คนมาพบปะทำกิจกรรมด้วยกันได้อย่างไร

คอนเซ็ปต์ของการออกแบบ HDB แฟลต จึงไม่ได้มีแค่ตัวตึก แต่เป็นการสร้างชุมชนที่ทำให้คำว่าบ้าน กว้างไปว่าห้องที่ครอบครัวอาศัยอยู่ โดยมีวิธีการคือ สร้าง HDB Town (เมืองขนาดย่อม) จัดตึก HDB เป็นคลัสเตอร์ ส่วนที่ว่างระหว่างกลุ่มตึกสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็ก สนามเด็กเล่น เครื่องออกกำลังกายง่ายๆ เกิดเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้มาพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมด้วยกัน ในแต่ละชุมชนจะมีการสร้าง Hawker Centre (ศูนย์อาหาร) ซูเปอร์มาร์เก็ต ตอนเย็นๆ จะเห็นเพื่อนบ้านหรือเครือญาติมาจับกลุ่มกินข้าว ดื่มเครื่องดื่ม หรือเล่นหมากรุกกันที่ Hawker Centre อย่างออกรส

นอกจากนั้นมีการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ในระยะที่เดินถึง สร้างโรงเรียน สถานีรถไฟฟ้า และ Shopping Centre ในตำแหน่งที่เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อม HDB คลัสเตอร์กลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ใกล้กัน เพื่อเชื่อมให้เกิดสังคมย่อมๆ 

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

ยังมีความใส่ใจเล็กๆ อีกมาก เช่น การทำทางเดินให้มีหลังคาจากสถานีรถไฟฟ้าจนถึงแหล่งชุมชน เอื้อให้เกิดการเดินเท้าเพื่อไปต่อระบบขนส่งสาธารณะ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันเห็นจะเป็นการออกแบบ HDB Town ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่โดยรอบ โดยมีการสร้างอัตลักษณ์ของแต่ละโซน เช่น Punggol ที่ออกแบบให้เป็นชุมชนริมน้ำหรือ Tengah ที่มีความใกล้ชิดกับพื้นที่ป่า และจำกัดปริมาณรถที่จะผ่านโซนนี้เพื่อลดมลพิษทางเสียง 

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์
HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

การจัดการที่อยู่อาศัยเพื่อสร้างแรงจูงใจทางสังคม

ถึง HDB แฟลตโมเดลจะสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่อันจำกัด แต่การบริหารจัดการตึกก็ถูกใช้เป็นวิธีในการโน้มนำสังคมให้เป็นไปตามแบบอย่างที่รัฐอยากสนับสนุน อย่างนโยบายสร้างความยอมรับและกลมกลืนทางวัฒนธรรม โดยจัดให้คนต่างเชื้อชาติมาเป็นเพื่อนบ้านกัน เพื่อการสร้างความสงบสุขในสังคมที่ประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

จึงเกิด ‘การจำกัดจำนวนห้องต่อเชื้อชาติในแต่ละตึก’ ให้มีประชากรของสิงคโปร์ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเชื้อสายจีน มาเลย์ 15 เปอร์เซ็นต์ และอินเดีย 7 เปอร์เซ็นต์ ด้วยวิธีการนี้จะทำให้คนเชื้อชาติจีน อินเดีย หรือมาเลย์ ต้องพบปะเจอหน้าและคุ้นชิน จนกระทั่งยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปเอง 

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังพยายามโปรโมตความหลากหลายทางเชื้อชาติในทุกแง่ที่ทำได้ ทั้งประกาศให้ภาษาราชการของสิงคโปร์มี 4 ภาษาคือ อังกฤษ จีน มาเลย์ และทมิฬ (รัฐหนึ่งของอินเดียใต้) เวลามีประกาศในรถใต้ดิน เช่น สถานีต่อไปคืออะไร ก็จะเป็นการประกาศ 4 ภาษา กว่าจะฟังจบก็ถึงสถานีที่จะลงพอดี ฉันว่าน่ารักดี 

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

อีกตัวอย่างของการการใช้ HDB แฟลต เพื่อสร้างแรงจูงใจทางสังคมคือ มีข้อบังคับว่า ‘ชาวสิงคโปร์หรือผู้อยู่อาศัยถาวรที่แต่งงานแล้วเท่านั้น’ ถึงจะซื้อ HDB แฟลต จากรัฐได้ก่อนอายุ 35 ปี

ที่นี่เลยแซวกันว่า เวลาขอแฟนแต่งงาน ไม่ใช่พูดว่า “แต่งงานกับฉันไหม” แต่จะบอกว่า “เรามาซื้อ HDB แฟลตด้วยกันไหม” ทำไมรัฐบาลถึงทำแบบนี้ ก็เพราะว่าประชากรสิงคโปร์เริ่มลดลง เนื่องจากคนไม่อยากมีลูก ฉันคิดว่ามีปัจจัยหลายอย่าง แต่หลักๆ น่าจะเป็นค่าครองชีพและสังคมที่การแข่งขันสูง ทั้งในโรงเรียนตลอดจนที่ทำงาน ฉะนั้นรัฐบาลก็เลยพยายามหยิบยื่นแรงจูงใจให้ทั้งเรื่องการซื้อแฟลต และลดภาษีให้ครอบครัวที่มีลูกด้วย

HDB กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

เศรษฐกิจที่เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงเวลา 50 ปี ส่งผลให้ประชาชนรุ่นใหม่มีรายได้สูง และมีความต้องการสิ่งแวดล้อมของอาศัยที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น การย่นระยะการเดินทางไปทำงาน ตึกที่ทันสมัยและมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันแบบคอนโดมิเนียม รัฐบาลเองก็เล็งเห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไปนี้และพยายามปรับตัวตาม โดยสร้าง HDB แฟลต รุ่นใหม่ที่ออกแบบโดยสถาปนิกเอกชน เน้นดีไซน์ทันสมัย และทำเลใกล้โซนธุรกิจ อย่าง The Pinnacle@Duxton ซึ่งแทบแยกไม่ออกเลยว่าเป็นคอนโดมิเนียมเอกชนหรือแฟลตของรัฐ ที่นี่มีจุดชมวิวทะเลบนดาดฟ้า มีสวนที่ให้วิ่งออกกำลังกายบนตึก 

HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์
HDB Flat ชีวิตบนที่สูงและโมเดล Public Housing โดยรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จำกัดของสิงคโปร์

ทว่าสังคมที่ต้องการความเสรีมากขึ้น เช่น สิทธิเพศทางเลือก เริ่มกลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่คนรุ่นใหม่ถกเถียงถึงความเหมาะสมของข้อจำกัดในปัจจุบันของ HDB แฟลต เนื่องจากการแต่งงานกับเพศเดียวกันไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายในสิงคโปร์ นั่นแปลว่าคู่สมรสที่เป็นเพศเดียวกันก็ไม่มีสิทธิ์ซื้อ HDB แฟลต ได้ และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการซื้อหรือเช่าอพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียมเอกชน รวมถึงต้องรอจนกว่าอายุ 35 ปีก่อนซื้อ โดยใช้สิทธิ์ในฐานะคนโสด 

ถ้าแฟลตรัฐบาลวิวัฒนาการไปตามเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ฉันคิดว่า Public Housing จะเป็นโมเดลที่อยู่อาศัยหลักของชาวสิงคโปร์ไปได้อีกหลายสมัย เพราะความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมการออกแบบที่ทำให้เห็นแล้ว หากโอกาสในการผ่อนคลายข้อกำหนดผู้มีสิทธ์ซื้อในอนาคตให้เปิดกว้าง ก็เป็นเรื่องน่าจับตามอง 

แต่ที่แน่ๆ ณ วันนี้ เราเรียนรู้ Urban Planning ที่เป็นระบบ และหยิบคอนเซ็ปต์การออกแบบที่อยู่อาศัยแบบองค์รวมของสิงคโปร์ ไปเป็นต้นแบบให้หลายๆ ประเทศในโลกที่กำลังพัฒนาไปเป็นสังคมเมือง (Urbanization) ได้

Writer & Photographer

Avatar

ชมพูนุช ชัชวาลย์

นักเดินทางที่ไปมาทุกทวีปทั่วโลก ทุกครั้งมีจุดหมายเพื่อไปทำงาน แต่ระหว่างทางก็มีเรื่องราวดีๆ เก็บมาเป็นความประทับใจเล่าสู่กันฟัง