Have A Hug คือสตูดิโอที่ทำงานปั้นของ ภู-ภูริดล พิมสาร ชายที่ทำงานคลุกคลีกับการปั้นมาเกือบ 20 ปี ในวันที่มีสถานะเป็นพ่อของลูก และเป็นลูกของพ่อ เขาพาศิลปะที่เขารักเดินไปพร้อมกับความสุขของครอบครัว 

เขาปั้นความฝันขึ้นบนความจริง โอบกอดเอาความจริงและคนที่เขารักเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative
Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

บ้านไม้ครึ่งปูนครึ่งอิฐแทรกตัวอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่อย่างกลมกลืน อาคารหลังเล็กอยู่ถัดไปอีกไม่ไกล มีโต๊ะเก้าอี้จัดไว้อย่างเป็นระเบียบ พื้นที่แสนน่ารักนี้กลายเป็นคาเฟ่และหมุดหมายของคนมาเยือนเชียงใหม่ วิวทุ่งนาที่อยู่ติดกันกลายเป็นความสงบเย็นตาเพิ่มความผ่อนคลาย นาผืนนี้เป็นเป็นที่ทำกินของครอบครัวที่ยังคงหว่านไถเก็บเกี่ยวในทุกๆ ปี งานปั้นหลายชิ้นถูกจัดวางไว้รอบบริเวณ เหมือนนิทรรศการขนาดย่อมที่แสดงไว้กลางแจ้ง รอผู้มาเยือนทำความรู้จัก

ไม่เว้นแม้กระทั่งป้ายร้าน ที่สองมือค่อยๆ ปั้นแต่งอย่างบรรจงเป็นคำว่า Have A Hug

“ผมชอบคำว่า Hug ภาษาเหนือแปลว่ารัก (ฮัก) และภาษาอังกฤษแปลว่ากอด แล้วข้างหลังบ้านเรามีทุ่งนา รู้สึกเหมือนเขาโอบกอดเราไว้ให้อยู่ในอ้อมแขนของทุ่งนานั้น พอเติม Have a เข้าไป เป็นความหมายว่า การได้กอด 

“เพราะพื้นที่แห่งนี้มันได้กอดสิ่งที่เรารักไว้ งานศิลปะที่เรารัก ครอบครัวที่เรารัก และสิ่งที่ทุกคนรักก็ยังอยู่ พ่อก็ยังทำนาอยู่ แปลงปลูกผักร่วมกันก็ยังอยู่ ต่อด้วยสโลแกน Fusion Farm Chiang Mai และ Real Art, Real Life ความหมายก็คือ เป็นพื้นที่จริงที่เป็นบ้านจริงๆ ทำงานศิลปะจริงๆ และใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้จริงๆ” เจ้าบ้านเปิดบทสนทนา

มือชุ่มเหงื่อที่เกิดมาเพื่อปั้น

ภูเป็นเด็กน้อยในชนบทจากอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เขาเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวใหญ่ สุดสัปดาห์ก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอยู่กับปู่ย่าตายายบ้าง ความสนุกของเด็กยุคนั้นคือการคลุกดินทราย ภูฉายแววตั้งแต่เขาช่วยบรรดาผู้ใหญ่ปั้นช้างม้าวัวควายใส่ ‘สะตวง’ หนึ่งในวัตถุประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย

“ตอนเป็นเด็กก็สนุกอย่างเดียว ทุกคนมาช่วยกันปั้น มันเป็นสิ่งที่เด็กๆ ทำได้ แล้วก็ไม่ต้องการความสวยงามอะไรมาก บางครั้งก็แอบไปหนองน้ำท้ายหมู่บ้าน เพราะมีดินเหนียว เอามาปั้นแล้วเนียนสวย ถ้าผู้ใหญ่รู้เข้า เขาจะดุ เพราะตรงนั้นน้ำมันลึก มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ตาแกลองทำอิฐดินเผา แกมีบล็อกไม้ เราก็ช่วยนวด ช่วยยกพิมพ์ ถามว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานปั้นมั้ย ก็น่าจะใช่ แต่เป็นการปั้นด้วยความสนุกตามประสาเด็กๆ มากกว่าตามทฤษฎีหรือถูกสอนให้ปั้น”

วัยมัธยม ภูมีโอกาสเข้ามาเรียนในเมืองเชียงใหม่ ความแตกต่างของอำเภอพร้าวและตัวเมืองในยุคสมัยนั้น ทำให้เด็กชายภูริดลต้องร้องว้าวกับความทันสมัยที่เขาไม่เคยพบเจอ หนึ่งสิ่งที่เขามอบใจให้ทันทีก็คือ แฟชั่นดีไซน์

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

“แรกๆ เราก็แต่งตัวแบบเด็กบ้านนอก จนมาเห็นว่าเด็กในเมืองเขาแต่งตัวอีกแบบ เราเลยแต่งตาม ปรากฏว่าเราชอบ ชอบดีไซน์ ชอบเสื้อผ้า ชอบแฟชั่น เราชอบจนถึงขั้นจับผ้ามือสองมาขายเลย อีกอย่างที่เข้ามาพร้อมๆ กันคือ ศิลปะ เริ่มรู้จักศิลปะเพราะพร้าวไม่เคยสอน เราสนุกกับการเรียน การใช้สี การแรเงา อะไรพวกนี้เราไม่เคยเจอเลย 

“ช่วงนั้นมีละคร สามหนุ่มสามมุม พระเอกแสดงเป็นสถาปนิก เราเลยได้รู้จักอาชีพสถาปนิก เห็นพี่ๆ หลายคนจบมาเป็นสถาปนิก แล้วมันเท่ เราก็เลยสร้างภาพตัวเองเป็นสถาปนิกไว้ในหัวตั้งแต่นั้น” ภูเล่าย้อนความทรงจำ

หลังจากฝากหัวใจไว้ที่อาชีพสถาปนิก เด็กชายภูริดลในวัยที่กำลังจะเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นนาย เดินตามเสียงเรียกในหัวใจตัวเองโดยสอบเข้าภาควิชาสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา แต่ด้วยจำนวนผู้เข้าสอบเยอะ เขาจึงผิดหวังกับผลการสอบในครั้งนั้น แต่ถือว่าโชคเข้าข้างอยู่บ้าง เพราะมีโรงเรียนเทคโนโลยีเอเชียเปิดใหม่ และบรรจุภาควิชาสถาปัตยกรรมไว้ในแผนการสอน หลายคนที่อกหักจึงมาฝากความฝันและอนาคตไว้ที่นี่

ภูพาตัวเองเข้ามาอยู่ในแวดวงสถาปัตย์ด้วยการเรียนมา 5 ปี เขาค้นพบว่าเริ่มไม่สนุกกับการตามใจคนอื่น การแก้ไขแบบเพื่อให้ตรงตามความต้องการของใครต่อใคร กลายเป็นความอึดอัดใจที่เขาต้องหาทางออก ภูอยากทำงานที่ใช้ความคิดของตัวเองผลิตงานขึ้นมา และจบกระบวนการทุกอย่างด้วยตัวเอง หลังจบ ปวส. เรียนต่อปริญญาตรี ภูเลยมองหาวิชาที่เทียบโอนหน่วยกิตให้เขาได้ ซึ่งมีเพียง 2 ตัวเลือก คือ วิชาออกแบบบรรจุภัณฑ์กับเครื่องปั้นดินเผา 

เขาลงสอบทั้งสองวิชา แต่ด้วยความเป็นคนมีเหงื่อออกที่มือมาก เมื่อต้องดราฟต์งานในวิชาออกแบบบรรจุภัณฑ์ ชิ้นงานก็เลอะเปรอะเปื้อน ในขณะที่วิชาเครื่องปั้นดินเผา กลับกลายเป็นความเข้ากันอย่างน่าประหลาด

“สุดท้ายเราเลยไปเรียนปั้น ปรากฏว่ามือของเราที่มันคอยจะเป็นปัญหามาตลอด พอจับดิน มันชุ่มพอดี เหงื่อที่มือมาเจอกับดินกลับกลายเป็นเรื่องดี มันช่วยให้ปั้นงานได้ง่าย แล้วผมเชื่อว่า มันใช่ ผมเกิดมาเพื่อสิ่งนี้”

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative


ปั้นทางฝันด้วยสองมือ

แม้ว่าภูพบเจอกับสิ่งที่ถูกจริตกับสองมือของตัวเอง แต่การเรียนในระยะแรกๆ ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะเขาไม่มีพื้นฐานการปั้นมาก่อน ขณะที่เพื่อนๆ หลายคนเรียนปั้นมาตั้งแต่สมัย ปวช. ทำให้ภูตามหลังเพื่อนร่วมรุ่นถึง 5 ปี ถือว่ายังมีโชคดีอยู่บ้างที่เขาได้แบ่งปันวิชาทางด้านการออกแบบให้เพื่อน แลกกับการที่เพื่อนช่วยสอนเขาปั้นดิน

“ตอนแรกยังไม่มีพื้นฐาน โชคดีมีเพื่อนคอยช่วย พอเริ่มทำได้แล้วเรารู้สึกมหัศจรรย์มาก จากผงดินเป็นสามมิติได้ทุกอย่างตามต้องการ เราขลุกตัวอยู่ในห้องสมุด อ่านหนังสือเกี่ยวกับงานปั้น เห็นต้นไม้ ภูเขา สายน้ำ เป็นเซรามิกหมดเลย จนกลับมาบ้านเช่า ผมก็ไปซื้อดินจากแหล่งดิน มาปั้นทุกวัน สนุกไปกับมัน บางครั้งก็เปิดหนังสือเรียนทำก่อน เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะสอนอะไร จะเคลือบอะไร เราทำก่อนเลย พอถึงตอนเรียนจริงๆ ปรากฏว่าเราทำเป็นหมดแล้ว”

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

จากคนที่แทบไม่มีความรู้ด้านการปั้นดิน ค่อยๆ ฝึกฝนจากการสอนของเพื่อน และความขยันหมั่นเพียรหาความรู้ด้วยตัวเอง ภูพาตัวเองจบปริญญาด้านเครื่องปั้นดินเผาได้อย่างไม่อายใคร และยังพาเพื่อนๆ ในสาขาไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ โดยแสดงนิทรรศการโปรเจกต์จบร่วมกันที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกลายเป็นการแสดงนิทรรศการของเด็กเซรามิกครั้งแรกในหอศิลป์ เพราะปกติจะมีการแสดงงานเฉพาะสายจิตรกรรม ประติมากรรม เท่านั้น โดยตัวเขาเองเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเดินเรื่องขอใช้พื้นที่ ไปจนถึงการชักชวนเพื่อนๆ ให้มาร่วมสนุกกันในงานนี้

“ตอนนั้นผมมั่นใจในตัวเองมาก จบมาก็จะประกอบอาชีพนี้ ผมรู้สึกว่าดินเผาของผมเป็นศิลปะ ต้องไปอยู่ในแกลเลอรี่ ในมิวเซียม ตอนนั้นคิดแบบนั้น เรียบจบผมก็ทำแบรนด์ทันที เพื่อนฝูงนี่ส่ายหัวเลย เพราะตอนนั้นมันไม่มีตัวอย่าง ไม่มีใครเป็น จบมาส่วนมากเขาก็เข้าโรงงานกันหมด แต่เรามั่นใจ และเรารู้ด้วยว่าเราจะไปขายใคร”

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

นอกจากความมั่นใจในฝีมือของตัวเองแล้ว งานปั้นยังตอบโจทย์ความต้องการในหัวใจที่อยากทำงานที่ออกมาจากความคิดของตัวเอง ด้วยมือของตัวเอง และขายด้วยตัวเอง แม้จะยังไม่มีตัวอย่างความสำเร็จให้เดินตาม ภูก็จะสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง หลังจากทำแบรนด์และส่งขายตามแกลเลอรี่ต่างๆ อยู่หลายปี เขาต้องการเอางานออกไปแสดงให้คนเห็นมากขึ้น ท้ายสุดภูเลือกออกงานแฟร์ที่ถือว่าเป็นที่สุดในเชียงใหม่ ณ ตอนนั้นอย่างงาน NAP

“ตอนนั้นใครไปออกงาน NAP จะเป็นแบบเทพๆ ทั้งนั้นเลย สุดท้ายเราก็ได้ไป ตื่นเต้นมาก ผมทำของประมาณห้าหกเดือน เปิดมาวันแรก สองชั่วโมงแรกผมขายหมดเลย เขียนป้าย Sold Out แล้วก็นั่งอยู่อย่างนั้นอีกสี่ห้าวัน”

ปั้นงานบนพื้นฐานของความสุข

งานของภูมีความหลากหลายและยืดหยุ่นมาก ทั้งงานคราฟต์ภายใต้แบรนด์ Have A Hug เน้นการทำงานขนาดเล็กและขึ้นรูปด้วยมือชิ้นต่อชิ้น จนถึงงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่เลือกใช้ชื่อนามสกุลจริงของตัวเองเป็นชื่อแบรนด์ ภูเลือกใช้ดินท้องถิ่นจากเชียงใหม่ และเลือกใช้วัสดุอื่นหากชิ้นงานใหญ่เกินความสามารถของเซรามิก เขาใช้กรรมวิธีการเผาด้วยแก๊ส บางชุดก็เผารมควันบ้าง เคลือบด้วยอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส และเน้นสีเคลือบจากธรรมชาติ

“ผมคิดงานบนพื้นฐานของการมีความสุขในชีวิต ส่วนใหญ่จะออกมาเป็นรูปคนหลับตาแล้วยิ้มน้อยๆ ลองหลับตาแล้วยิ้มน้อยๆ ดูสิครับ มันไม่มีเรื่องเศร้าเข้ามา และเราอยากให้คนที่สัมผัสรู้สึกมีความสุข เราอยากมอบความสุข อยากให้พลังงานที่ดีแก่เขา ส่วนรูปแบบ ฟอร์ม ทรง มันก็เกิดจากจินตนาการจากการใช้ชีวิตนี่แหละ”

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

นอกจากการคิดงานที่มุ่งเน้นการให้ความรู้สึกบวกแล้ว ภูยังเชื่อเรื่องเวลาฟ้าลิขิต หรือ ‘สัญญาณ’ บางอย่างที่ผ่านเข้ามาในแต่ละช่วงของชีวิต ทำให้เขารู้สึกพร้อมลงมือทำอะไรบางอย่าง หรือเริ่มต้นสิ่งที่คิดไว้แต่ยังไม่ได้ทำเสียที

“อย่างงานปั้นพระ เราไม่เคยปั้นมาก่อนแบบเป็นเรื่องเป็นราว พอไปอยุธยา ความขลังตรงนั้น บรรยากาศตรงนั้น เรารู้สึกด้วยตัวเองว่าถึงเวลาแล้ว เราน่าจะพร้อมแล้วที่จะสร้างสรรค์ศิลปะแบบนี้ออกมา เป็นพระพุทธรูปในแบบของเรา แล้วเป็นโอกาสดีที่เราได้ใช้เทคนิครมควันแบบดั้งเดิมของอยุธยาด้วย” ภูเล่าถึงสัญญาณที่เขาเชื่อ

Artist Residency

“ผมมีความฝันอยากจะทำ Artist Residency ให้คนมาพักแล้วเราก็สอนเขาปั้น ผมตั้งใจจะประกอบอาชีพนี้ ผมต้องพาความฝันไปพร้อมกับความรับผิดชอบ สมัยนั้นมันไม่มีโมเดลตัวอย่าง แต่ผมคิดว่าจะสร้างบ้านหลังเล็กๆ ขึ้นมาก่อน ไปยุ้งข้าวมาหลักหมื่น พ่อตาช่วยสร้าง ผมก็ใช้วิชาสถาปัตย์ของผมออกแบบ หาเงินไปด้วยสร้างไปด้วย”

ยุ้งข้าวหลังเล็กหลังกลายมาเป็นส่วนคาเฟ่ของ Have A Hug ในวันนี้ หลายสิ่งหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และวันเวลา สตูดิโอของภูถูกสร้างขึ้นไม่กี่ก้าวถัดจากคาเฟ่ ส่วนนี้เป็นพื้นที่ทำงานและสอนปั้น

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

“พอดีมีพี่คนหนึ่งที่รู้จักกันแกเอาเรื่องราวของผมไปลงเว็บ แล้วมีคนติดต่อไปในเว็บว่าอยากเรียนปั้น ติดต่อมาสองคนในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ผมไม่พร้อมเรื่องสถานที่ ก็เลยส่งต่อให้เพื่อนที่เขาพร้อมกว่า ไม่นานก็มีคนโทรมาอีก ผมก็ส่งให้เพื่อนอีก จนคิดว่าเหตุการณ์นี้เหมือนเป็นสัญญาณจากพระเจ้า พระเจ้าสั่งให้เราทำทันที ทำได้เเล้ว ผมเลยจัดการเรื่องพื้นที่ให้เหมาะกับการเวิร์กช็อป คนแรกที่สอนเราเลยจัดเต็ม สอนปั้น เที่ยวเล่น เขาอยู่นานเป็นเดือนเลยครับ”

พื้นที่ของสตูดิโอเริ่มลงตัว ภูพร้อมให้ความรู้ที่สะสมมานานแก่คนที่สนใจ ประจวบกับเป็นช่วงจังหวะที่ Facebook เข้ามาในประเทศไทย ภูหัดใช้โซเชียลมีเดียทันที ผลตอบรับก็กลับมาอย่างยอดเยี่ยม มีคนใหม่ๆ เข้ามาเรียนที่สตูดิโอมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการค่อยๆ เติบโตของคาเฟ่ และความลงตัวของครอบครัวภายใต้ชายคาเดียวกัน

Have A Hug สตูดิโอเซรามิกที่ปั้นดินมา 20 ปี และขับเคลื่อนวงการด้วย Chiangmai Clayative

 เมื่อเติบโตผ่านวันเวลา ภูก็มีเพื่อนพ้องน้องนุ่งเข้ามาช่วยงานที่สตูดิโอ ทำให้เขามีเวลาคิดค้นงานระดับมาสเตอร์พีชของตัวเอง เพื่อแตกยอดจากงานคราฟต์ของ Have A Hug ไปสู่งาน Art ภายใต้ชื่อ ‘ภูริดล พิมสาร’

“ผมจะต้องทำให้ดินเป็นที่ยอมรับให้ได้ เพราะดินเป็นวัสดุทางศิลปะแรกๆ ของมนุษยชาติ แต่ถูกมองข้ามและมีราคาถูก คนเลยเลี่ยงที่จะใช้ดินทำงานศิลปะ แต่นั่นมันคือบรรพบุรุษของมนุษยชาติ ดินเลยเป็นตัวกระตุ้นผมตลอดเวลาว่า ผมทำได้ ผมทำให้ดินเป็นที่ยอมรับได้ จนเกิดความรู้สึกอยากนำเสนอผลงาน อยากนำเสนอไอเดียตลอดเวลา”

วิ่งไปบนทางดินและศิลปะ

นอกจากการปั้นที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตภูแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขารักไม่แพ้กันคือการวิ่ง เขาวิ่งเป็นประจำสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร ผ่านฟูลมาราธอนมาแล้วหลายสนาม และภูมีความคิดอยากจะชวนเพื่อนฝูงสายศิลปะออกมาวิ่งเพื่อสุขภาพบ้าง ทั้งยังไม่ลืมที่จะเอางานศิลปะเข้าไปประกอบกับการวิ่งได้อย่างน่าสนใจ

“พอดีว่ามีเพื่อนเป็นคนจัดงานวิ่ง รันลัดโต้ง ผมเลยเสนอทำเหรียญรางวัลให้ โดยใช้ดินปั้นเป็นเหรียญ ซึ่งไม่เคยมีใครทำ มันสนุกมาก แล้วเอาเงินไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลชุมชน ผมพบว่าจริงๆ แล้วคนเขาเข้าใจนะ เลยเป็นที่มาของงานที่ผมจัดเอง Art Run To The Wild #วิ่งควายควาย ด้วยผมเป็นคนชอบวิ่งและคนทำงานศิลปะ เลยเกิดความคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนทำงานศิลปะ หันมาดูแลสุขภาพ มันคนละขั้วกันเลยนะ คนทำงานศิลปะจะกินเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก ผมเลยเอา Art ไปรวมกับ Run คราวนั้นผมก็ปั้นเหรียญปั้นถ้วยรางวัลเองด้วย มีคนมาวิ่งตั้งหนึ่งพันห้าร้อยคน” ภูเล่า

ภาพ : Art Run To The Wild #วิ่งควายควาย
ภาพ : Art Run To The Wild #วิ่งควายควาย

ถ้วยรางวัลเซรามิกของภู มีชื่อเสียงขจรขยายออกไปในวงการวิ่ง ภูมีโอกาสทำถ้วยและเหรียญรางวัลให้กับงานวิ่งระดับประเทศหลายงาน เช่น กระบี่มาราธอน 2020 กระบี่เทรล 2020 จันทบุรีซีนิคฮาร์ฟมาราธอน 2020 ฯลฯ และเขาเป็นคนหนึ่งที่ลงสมัครวิ่งในทุกๆ งานด้วย และแอบฝันลึกๆ ว่า อยากจะคว้าถ้วยรางวัลของตัวเองมาประดับตู้ให้จงได้

“แต่ก็ไม่ได้สักที มีแต่เฉียดไปเฉียดมา” ภูเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ “มีครั้งหนึ่งตอนนั่งหลังกระบะกลับมากับกลุ่มนักวิ่ง กลุ่มนั้นเขาได้ถ้วยกันทุกคน เห็นเขายิ้มนั่งมองถ้วยรางวัล เลยอดไม่ได้ที่จะถามเขาว่า พี่ชอบมั้ย เขาบอกว่าชอบสิ วิ่งแทบตายก็เพราะอยากได้ถ้วยนี้ เราเลยบอกไปว่า ผมดีใจที่พี่ชอบครับ ผมเป็นคนปั้นเอง ทีนี้เขาก็มาขอถ่ายรูปผมกันทุกคน คือจริงๆ เราก็ไม่อยากแสดงตัวอะไรนะ แต่ผมดีใจที่เขาชอบงานผม ผมภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ” 

ภูเชื่อว่าเส้นสายที่อ่อนช้อยของงานศิลปะที่เขาทุ่มเทฝีมือลงไป จะช่วยกล่อมเกลาชีวิตของผู้คนที่พบเห็นให้อ่อนโยนและเต็มไปด้วยทัศนคติเชิงบวก รวมถึงการเสิร์ฟศิลปะให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน คือเป้าหมายของเขา

เสิร์ฟศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ

ในแต่ละช่วงเวลาที่พูดคุยกัน ภูมักพูดถึงการเอาผลงานของตัวเองไปแสดงตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเขาใช้คำว่า ‘เอาไปเสิร์ฟ’ หมายถึงการแสดงผลงานนอกพิพิธภัณฑ์ เขาเชื่อว่าเป็นการนำเอางานศิลปะไปเข้าถึงผู้คนในอีกทางหนึ่ง และหนึ่งในงานมาสเตอร์พีซของเขาที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คืองาน ‘Good Morning’ ที่ตั้งอยู่บนโครงการหลวงอ่างขาง 

“บนอ่างขางจะได้กลิ่นสน กลิ่นดิน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นพืชผัก ทุกอย่างมันไม่เหมือนข้างล่างเลย ผมรักที่นั่นตั้งแต่แรกพบ แล้วเป็นจังหวะที่เขาปรับปรุงตรงนั้นพอดี เลยปรึกษาว่าถ้าผมจะมอบงานปั้นมาประดับตรงนี้ได้มั้ย 

“เพราะผมไปไต้หวัน เห็นบ้านเขามีศิลปะ มีประติมากรรมทั่วเมือง ผมเห็นก็ตื่นเต้นและอยากให้เมืองที่ผมอาศัยอยู่มีแบบนั้นบ้าง สุดท้ายผมก็ได้รับโอกาสนั้น เอางานปั้นของตัวเองไปวางที่อ่างขาง ตั้งอยู่นั่นสิบกว่าปีแล้วครับ”

ภูยังเล่าให้ฟังอีกว่า พื้นที่อ่างขางเป็นดอยสูง อากาศสดชื่นและเมฆที่ลอยต่ำดังเช่นเมฆลอยผ่านจมูก เขารับเอาความรู้สึกสดชื่นนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการปั้น ส่วนสีก็ใช้สีธรรมชาติจากดินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นสีแดงปนน้ำตาลในการเคลือบชิ้นงาน และดีไซน์ส่วนหัวของรูปปั้นเขา ทำให้ปลูกหญ้าหรือมอสเพื่อเพิ่มความเขียวชอุ่มได้

ตามเส้นทางเซรามิกของ ภูริดล พิมสาร ชายที่โอบกอดชีวิต ความคิด และความฝัน ด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ แห่ง Have A Hug สตูดิโอ

ผลงานของภูปรากฏตามที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหลวงอ่างขาง ประตูท่าแพ เชียงใหม่อาร์ตมิวเซียม นั่นกลายเป็นประตูที่นำพาภูไปพบกับ พระเมธีวชิโรดม หรือ ท่าน ว.วชิรเมธี พระนักวิชาการชื่อดังแห่งไร่เชิญตะวัน ซึ่งท่านก็บังเอิญได้พบเห็นงานปั้นของภูในหลายๆ ที่ และมีโอกาสพบเจอกันในที่สุด จากคำชักชวนของท่าน ว.วชิรเมธี ภูมีโอกาสออกแบบสวนปริศนาธรรม เพื่อน้อมนำคำสอนขององค์พระศาสดาสู่พุทธศาสนิกชน เด็ก และเยาวชน 

ภูมีโอกาสครั้งสำคัญในการทำงานชิ้นหนึ่ง และเป็นการทำงานภายใต้ 3 สิ่งที่เคารพและยึดมั่น นั่นคือพุทธศาสนา การปั้น และการวิ่ง เขารวม 3 สิ่งนี้เข้าด้วยกันกลายเป็นงานประติมากรรมที่เขาภูมิใจเป็นอย่างมาก

“ตอนนั้นมีโครงการก้าวคนละก้าว พี่ตูนกำลังเริ่มวิ่งที่เบตง วันแรกเราดูแล้วก็อิน เราคิดว่าเราจะไปวิ่งตามเขาสักระยะหนึ่งดีมั้ย หรือเราจะทำงานอาร์ตของเราสักชิ้นหนึ่งไปมอบให้พี่ตูนระหว่างทาง บังเอิญเราไปเห็นสเก็ตช์รูปหนึ่งของพระอาจารย์แล้วท่านเขียนว่าจิตโพธิสัตว์ ซึ่งแปลว่าจิตของผู้ให้ เราเลยขอแบบมาปั้น กะจะมอบให้พี่ตูน พระอาจารย์ก็คิดโครงการเปิดประมูลเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาของท่านแล้วก็ได้เงินจำนวนหนึ่ง มอบให้กับโครงการก้าวคนละก้าว”

ตามเส้นทางเซรามิกของ ภูริดล พิมสาร ชายที่โอบกอดชีวิต ความคิด และความฝัน ด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ แห่ง Have A Hug สตูดิโอ

และโอกาสสำคัญที่สุดของภูก็มาถึง เมื่อเขาถวายงานปั้นของตัวเองให้แก่องค์ดาไลลามะ 

โดยได้แบบชิ้นงานมาจากการสเก็ตช์ของท่าน ว.วชิรเมธี อีกครั้ง จากที่คิดเพียงอยากฝากท่าน ว.วชิรเมธี ไปถวาย กลับกลายเป็นว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ได้นั่งเครื่องบินไปที่ลงดาลัมซารา เพื่อเข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะด้วยตัวเอง

“วันนั้นมีคนไปเยอะมากเป็นพันๆ คน ผมก็กอดงานน้ำหนักสิบเจ็ดกิโลกรัม ขึ้นเขาอีกสิบสองชั่วโมง พอถึงผมก็ฝากพระอาจารย์นำถวาย แต่สุดท้ายก็ได้ถวายให้กับมือ ได้ใกล้ชิดผู้มีเมตตาคนหนึ่งของโลก ผมสัมผัสได้จากแววตาที่เปี่ยมเมตตาของท่าน หลายๆ คนมาขอจับมือผม เพราะผมได้สัมผัสมือท่าน มือที่เปียกเหงื่อคู่นี้แหละ” ภูพูดพร้อมหงายฝ่ามือ

มือที่ครั้งหนึ่งไม่อาจจับดินสอดราฟต์งานเพราะชุ่มเหงื่อจนทำกระดาษเลอะเปรอะเปื้อน จนเป็นเหตุให้เขาต้องละจากความฝันที่จะเป็นสถาปนิกมาลงเอยกับการปั้น มือคู่เดียวกันนั้นพาเขามาไกลอย่างไม่เคยคิดฝัน และมือคู่เดียวกันนั้นกำลังจับมือเพื่อนฝูงอีกมากมายเดินไปด้วยกัน บนถนนที่พวกเขาร่วมปั้นขึ้นมาในชื่อ Chiangmai Clayative 

Chiang Mai Clayative

Chiangmai Clayative’ เกิดจากการที่ภูแลกไปเปลี่ยนความรู้ทางด้านเซรามิกที่เมืองอีชอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นงานที่เชิญศิลปินและผู้มีความรู้จากนานาประเทศมาเจอกัน แบ่งปันเรื่องเทคนิค วัสดุ ฯลฯ สุดท้ายกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งภูได้เข้าพักที่บ้านของอาจารย์ คัง วาซู (Kang Wa-soo) ออแกไนซ์ในการจัดงาน นอกจากได้รู้เทคนิคเซรามิกของศิลปินแต่ละคน ภูยังแอบซึมซับวิธีการจัดงานแบบนี้มาด้วย และเขาอยากให้งานแบบนี้เกิดที่ไทยบ้าง

ตามเส้นทางเซรามิกของ ภูริดล พิมสาร ชายที่โอบกอดชีวิต ความคิด และความฝัน ด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ แห่ง Have A Hug สตูดิโอ

“ผมไปศึกษาไปดูงานที่อีชอน ไปดูเตาเผา ไปดูงานเซรามิกของคนอื่นๆ และระหว่างเวิร์กช็อปทุกคนก็โชว์สกิลล์ของตัวเอง ทุกคนถาม พูดคุย สุดท้ายก็กลายเป็นเพื่อนกัน ทุกคนบอกว่าถ้าไปบ้านฉัน ฉันจะรับรองยู หนึ่งคนเคยไปแบบนี้ก็จะมีเพื่อนอีกสิบคน ผมก็ได้เพื่อนใหม่มาสิบคน อย่าง มิก (ณัฐพล วรรณาภรณ์) ชามเริญสตูดิโอไปที่ฮาวาย มิกก็มีเครือข่ายฮาวาย แล้วน้องๆ ที่ทำเซรามิกในที่เชียงใหม่เขาก็มาบอกผมว่า ผมอยากไปแบบพี่จังเลย 

“ผมก็คิดว่าแล้วน้องเราจะได้ไปยังไง ผมคุยกับมิกว่าการที่คนอื่นเชิญน้องๆ เราไปคงไม่ง่าย เพราะน้องหลายคนเพิ่งจบ ผลงานยังมีไม่มาก และเราเป็นประเทศเล็กๆ เพราะฉะนั้น ผมเชิญเขามาบ้านเราก่อน เราเป็นประเทศที่ไม่เคยจัดงานแบบนี้ ทุกคนไม่รู้จักเรา เขาน่าจะอยากมา ผมก็รวบรวมสิบสตูดิโอในเชียงใหม่ ใช้ชื่อ Chiangmai Clayative แล้วไปคุยกับผู้ใหญ่ ได้งบมาก้อนหนึ่ง ไม่เยอะมากเพราะยังใหม่ ยังไม่มีใครทำ ไม่มีตัวอย่าง สุดท้ายก็เชิญศิลปินจากต่างประเทศมาสิบคน เลยกลายเป็นงาน 1st Chiang Mai International Ceramic Arts and Culture Symposium 2019”

ด้วยงบประมาณและพื้นที่จำกัด Chiangmai Clayative หาทางออกด้วยแนวคิดโฮมสเตบ์แบบเชียงใหม่ โดยแบ่งศิลปินออกเป็น 3 กลุ่ม ให้เข้าพักและทำงานใน 3 สตูดิโอ ได้แก่ Inclay Studio อยู่ในเมือง เหมาะกับศิลปินที่ชอบ City Life ส่วน Have A Hug อยู่นอกเมือง เหมาะกับคนไม่ชอบความแออัดและยืดหยุ่นได้เพราะสตูดิโอเป็นคาเฟ่ และ ชามเริญ สตูดิโอ เหมาะกับสายกินนอน ทำงานดึกได้ มีที่พักในตัว แล้วก็จัดให้เจอหน้ากันวันเว้นวัน เพื่อให้ศิลปินทั้งหมดได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 

พอเสร็จสิ้นโปรเจกต์ ทุกคนในทีมต่างภาคภูมิใจในตัวเอง ที่มีโอกาสได้ปั้นงานแล้วได้รับคำชี้แนะจากศิลปินนานาชาติ ทั้งยังได้แลกเปลี่ยนทักษะกับศิลปินต่างประเทศ ได้แสดงงานที่หอศิลป์และ Chiang Mai Design Week ด้วย บางคนถูกทาบทามไป Artist Residency ที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสจาก Chiangmai Clayative

ตามเส้นทางเซรามิกของ ภูริดล พิมสาร ชายที่โอบกอดชีวิต ความคิด และความฝัน ด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ แห่ง Have A Hug สตูดิโอ

“หลังจากนั้นผมถูกเชิญไปอินเดีย ผมก็เอาโมเดลของ Chiangmai Clayative ไปเล่า เพื่อนฝูงหลายๆ คนก็ว้าว หลายคนที่ได้มาร่วมงานกับเราก็กลับไปเล่าว่า เชียงใหม่ทั้งสิบสตูดิโอนี่นะเป็นหนุ่มสาวทั้งหมดเลย แล้วแต่ละคนไม่ทำงานประจำนะ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำเซรามิกหมดเลย พอคนที่ไม่ได้มาได้ฟัง เขาก็อยากมา เขาบอกว่า เอางี้ได้มั้ย กลุ่มเขาสิบคนอยากไปดู ค่าใช้จ่ายการเดินทางเขาออกหมดเลย แต่ไม่ต้องจัดเป็นอีเวนต์ใหญ่ พอมาถึงก็มาเรียนรู้การปั้นสักสามสี่วัน จากนั้นพาเขาเที่ยวเชียงใหม่ วันสุดท้ายก็หาสถานที่จัดงานจัดนิทรรศการร่วมกัน สุดท้ายเลยกลายเป็นเครือข่ายอย่างที่เราหวังไว้ คอนเนกชันขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งดีมากต่อตัวศิลปินและองค์ความรู้ทางด้านงานปั้นด้วย”

เครือข่ายค่อยๆ ก่อร่างเป็นโยงใย ทั้งยังช่วยเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้รับโอกาสตามไปด้วย เมื่อมองเห็นความเป็นไปได้จากปีแรก ภูกับเพื่อนๆ จึงพร้อมลุยต่อในปีที่ 2 แต่ด้วย COVID-19 ทำให้รูปแบบของงานเปลี่ยนแปลงไป

“เราคุยกันว่าต้องไปต่อ เพราะ COVID-19 จะอยู่กับเราถึงเมื่อไหร่ไม่รู้ และเนื้อแท้ของ Chiangmai Clayative คือความเป็นเพื่อนและการแลกเปลี่ยนทักษะกัน เมื่อเราไปร่วมกับต่างชาติไม่ได้ เราก็ทำกันภายในประเทศ พอ COVID-19 มาผมเลยเลือกขอถอยไปข้างหลัง ไปศึกษาบรรพบุรุษของเรา ไปดูว่าเขาปั้นยังไง เขาเผายังไง เลยกลายเป็นงาน CHIANG MAI PIT FIRING FRIENDSHIP 2020 ที่ศึกษาที่มาของการเผา ศึกษาเพื่อเกิดเทคนิคใหม่ แล้วเราก็หาศิลปินไทยเก่งๆ ที่เผาเตาฟืนมาสอน”

ด้วยการทำงานที่เน้นให้ผลประโยชน์ตกแก่ชุมชนให้มากที่สุด งานของ Chaingmai Clayative จึงเป็นงานเปิด ที่ชาวบ้าน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าชมฟรี และในระหว่าง ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มก็ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรื้อฟื้นการทำอิฐแบบโบราณ การเผารมควัน และทำกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลา 10 วัน

ตามเส้นทางเซรามิกของ ภูริดล พิมสาร ชายที่โอบกอดชีวิต ความคิด และความฝัน ด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ แห่ง Have A Hug สตูดิโอ

“ปีนี้ผมจะต่อยอดจากปีที่แล้ว จะเข้าพื้นที่แม่แจ่ม ไปรับแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมแม่แจ่ม ผมหวังว่าเราจะพัฒนางานให้เข้าสู่คนเมืองได้ อาจจะมองหาแฟร์ส่วนกลางเพื่อเสนองานเหล่านี้ ผมว่ามันจะเป็นการอยู่รอดของทั้งสิบสตูดิโอด้วย ที่ผมคิดไว้ในรายละเอียดสิบวัน จะมีศิลปินรับเชิญ มีวัตถุดิบทดลอง ดูหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำอยู่เผื่อต่อยอดรวมกันได้ และจะสอนเด็กๆ ปั้นด้วย ผมอยากให้ความรู้แตกหน่อเนื้อใหม่ เด็กๆ พวกนี้จะได้รู้ถึงประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษตัวเอง หลังจากนั้นก็จะกลับมาทำงานต่อที่สตูดิโอ และแสดงงานด้วยกันที่หอศิลป์สามกษัตริย์”

การแบ่งปันเป็นแนวทางสำคัญที่กลุ่ม Chaingmai Clayative ยึดมั่น และเชื่อว่าการรวมกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กันเป็นการเพิ่มพลังให้กับงานศิลปะ ภูสรุปเรื่องนี้ให้ฟังอย่างน่าสนใจ

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การแบ่งปันมีในสังคมเราแต่ไหนแต่ไร ผมคิดว่าการแชร์เป็นวัคซีนหลักที่ช่วยแก้ปัญหาได้เกือบจะทุกๆ เรื่อง อย่างการแชร์องค์ความรู้ เป็นสิ่งที่เราไม่ควรกั๊กอีกแล้วในสมัยนี้ หากคุณรู้จักมันแล้ว ก็จะมีสิ่งที่ตามมามากมายมหาศาล อย่างเราสร้างคอมมูนิตี้ของเรากับสิบสตูดิโอ ก็กลายเป็นเครือข่ายที่คอยช่วยกัน 

“ทั้งสิบสตูดิโอก็มีกลุ่มเพื่อนของตัวเอง ความรู้ก็ถูกถ่ายทอดต่อไปอีก ผมอยากให้มีคอมมูนิตี้แบบนี้เยอะๆ ตอนนี้มีขอนแก่นเคลย์เอทีฟ เกิดจากกลุ่มเพื่อนของเรานี่แหละ มาทำงานร่วมกันสองสามครั้ง แล้วก็กลับไปสร้างคอมมูนิตี้ที่บ้านเขา ผมอยากให้ทุกที่มีโมเดลแบบนี้ขึ้นมา เราจะเป็นประเทศที่มีกลุ่มคนทำงานศิลปะเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน”

การเดินทางต่อบนโลกที่เปลี่ยนแปลง

ภายใต้สถานการณ์โรค COVID-19 ที่ระบาดทั่วโลก สตูดิโอของภูก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากทุกพื้นที่บนโลก เขารับมือด้วยการไม่ตัดพ้อ และเดินหน้าต่อบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“จริงๆ ก็ใช้หลายวิธีการในการรับมือ แต่หลักๆ ผมใช้สติและธรรมะที่เก็บเกี่ยวมาระหว่างชีวิต แล้วก็การให้ จริงๆ มันเหมือนจะต้องเก็บอย่างเดียวนะ เพราะเป็นวิกฤต แต่ผมเลือกให้ ผมให้ผ่านไลฟ์สด เขินนะ แต่ผมอยากแชร์ บางทีก็มีคนติดต่อซื้อของเข้ามาบ้าง นั่นเป็นสิ่งที่ตามมา ผมคิดว่าเราจะผ่านมันไปได้ ด้วยความสร้างสรรค์ของเรา”

แม้จะเป็นภาวะวิกฤตที่ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างบนโลกหยุดชะงัก แต่ภูยังคงเดินช้าๆ บนเส้นทางของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนรูปแบบนำเสนอบ้างตามวิถี แต่โดยมาตรฐานและความสร้างสรรค์ไม่ลดลงจากเดิมเลย

“Have A Hug ขายออนไลน์มากขึ้น ผมเชื่อว่าออนไลน์คือโลกต่อไปหลังจากนี้ โดยมี COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เร็วขึ้นไปอีก ผมยังคงผลิตงาน คิดงานออกมาเรื่อยๆ ในแบบของผม ช่วงแรกคือรักษาสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดี มีมาตรฐาน สองคือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และอยู่บนแนวความคิด ความงามทางศิลปะที่เป็นเรา 

“ปีนี้ Have A Hug เข้าปีที่เก้า ผมจะเป็นลุงที่ปรับตัวไปเรื่อยๆ อาจไม่ชิค ไม่ปัง แต่จะเป็นลุงที่เข้าใจโลก ทันโลก อยู่กับวัยไหนก็ได้ ส่วนงานส่วนตัวที่เป็นงาน Sculpture งาน Art ผมตั้งใจว่าผมตั้งใจจะทำงานที่ Positive ไปเรื่อยๆ งานผมต้องมีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสังคม และอยากเห็นงานตัวเองอยู่ในหลายๆ ที่ เพราะเห็นแล้วสงบ เห็นแล้วอิ่มอกอิ่มใจ เห็นแล้วหายโศกเศร้า ผมสร้างสรรรค์งานก็อยากให้คนเห็น และได้ประโยชน์จากมันด้วย” 

ตามเส้นทางเซรามิกของ ภูริดล พิมสาร ชายที่โอบกอดชีวิต ความคิด และความฝัน ด้วยมือที่ชุ่มเหงื่อ แห่ง Have A Hug สตูดิโอ

ภูเล่าให้ฟังว่าเขามีคติ 3 อย่างที่ใช้ในการดำเนินชีวิต คือ สติ ปัญญา และความเพียร เป็นแนวทางที่เขาใช้ยึดถือในการดำรงชีวิตเสมอมา แต่ก็ออกตัวก่อนว่าไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรมอะไรมาก อาศัยการฝึกสมาธิด้วยการวิ่งบนถนนที่สงบเงียบ การได้อยู่กับตัวเอง ทำให้เขาได้ใช้ความคิด และช่วยลับความคิดให้แหลมคมอยู่เสมอ

“สมองเราก็เหมือนดินสอ ดินสอเล่มนี้ เราจะต้องฝนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นมีด มีดเล่มนี้จะทื่อไม่ได้เลย ต้องลับตลอดเวลา ลืมก็ไม่ได้ ต้องเก็บรักษามันอย่างดี มีคนมาคุยกับผมเยอะนะ มาถาม มาปรึกษา แล้วผมก็ดันชอบคุย ผมคุยนานๆ ได้ มันเหมือนกับว่าดินสอของผมถูกเหลาอยู่ตลอดเวลา และมีดของผมก็ถูกลับอยู่ตลอดเวลา”

อีกหนึ่งความฝันที่ภูกลั่นกรองให้ฟังคือ เขาอยากเห็น Sculpture Park เกิดขึ้นในเชียงใหม่ เป็นสวนศิลปะที่มีงานแสดงจากศิลปินไทยและต่างประเทศ เป็นสวนศิลปะที่คนในครอบครัวหลายวัยเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน เดินเล่นชมงานศิลปะในวันหยุด เขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้สังคมน่าอยู่ ผู้คนใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข โดยมีศิลปะเป็นตัวเชื่อม

จับมือครอบครัวเดินเคียงข้างกัน

ไม่ว่าภูจะพูดถึงเรื่องราวของตัวเอง เรื่องราวของผู้คนมากมายในชีวิต เรื่องราวของกลุ่มเพื่อนต่างๆ ที่เขาเข้าไปมีบทบาท ท้ายที่สุดภูก็จะวกกลับมาคุยเรื่องครอบครัวเสมอ หนึ่งในความฝันที่เขามุ่งมั่นที่จะทำนั้นช่างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและงดงาม

“ครอบครัวผมมี ผม ภรรยา และลูก กับครอบครัวของพ่อแม่ ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีสามเจเนอเรชัน ผมอยากสานสัมพันธ์ครอบครัวให้ทุกคนสนุกและมีความสุขร่วมกัน ซึ่งตอนนี้ผมมีหมดแล้ว ผมพูดได้เลยว่าผมมีพอแล้ว 

“ผมมีบ้านที่พออยู่ มีห้องนอนสองห้อง มีที่ทำกิน มีสตูดิโอ มีรถหนึ่งคันที่พาครอบครัวไปไหนก็ได้ ผมได้เดินทาง แม้จะไม่ใช่การเดินทางรอบโลกเหมือนที่นักเดินทางทำก็ตาม ผมมีเพื่อนหลายประเทศ ได้ไปเที่ยว ได้ไปหาความรู้ใหม่ๆ ผมมีครบแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้ปลงอะไรขนาดนั้นนะ ผมเชื่อว่าผมมีพอแล้วในสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จากนี้ไปผมคิดว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อเมือง ต่อสังคม ด้วยความสามารถทางศิลปะที่ผมมี ผมจะพยายามลงมือทำ”

วันนี้ภูพาตัวเองมาถึงจุดที่เขาพอใจในชีวิต เขาพบว่าสองมือชุ่มเหงื่อของเขานั้น นอกจากจะเป็นของขวัญจากสวรรค์ที่ช่วยสร้างสรรค์งานปั้นได้ดีแล้ว ยังเป็นมือที่คอยโอบกอดคนที่เขารัก ให้เดินทางเคียงข้างกันอย่างมีความสุข และแต่ละคนก็ได้ใช้ชีวิตของตัวเองโดยไม่ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยเป็นมา ศิลปะกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมทุกคนเข้าด้วยกัน 

ดังเช่นสโลแกนของ Have A Hug ที่ว่า Real Art, Real Life

Writer

Avatar

ศุภชัย กองประชุม

นักเย็บสมุดที่ใช้ชีวิตรายรอบไปด้วยสมุด หนังสือ ดนตรี กาแฟ สหาย และบทสนทนา ภายใต้อ้อมกอดของยอดดอยเชียงใหม่

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย