Home Sweet Home

วลีสุดคลาสสิกที่เชื่อว่าทุกคนรู้จักและรู้ซึ้งถึงความหมายเป็นอย่างดี เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราออกไปข้างนอกไม่ได้และต้องอยู่บ้านกันมากขึ้น 

ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนเริ่มให้ความสำคัญกับของใช้ในบ้าน เพื่อสร้างประสบการณ์การอยู่บ้านให้ดียิ่งกว่าที่เคยเป็น สมกับที่ต้องใช้เวลาแทบจะ 24 ชัั่วโมงในพื้นที่ของตัวเอง จนเกิดเทรนด์มากมายอย่างกระแสนิยมเทียนหอม หรือการเช่าเก้าอี้ทำงานสุขภาพราคาแพงมาใช้ที่บ้าน 

วันนี้เรามีนัดสนทนากับ แนน-พนัชกร บุญยิ่งสถิตย์ Managing Director ของ Haus64 แบรนด์เครื่องนอนและผ้าขนหนูที่ถือคติว่า อยากทำของคุณภาพดีให้คนซื้อไปใช้แล้วมีความสุขในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ทั้งผ้าเช็ดตัวหนานุ่มแบบโรงแรม 5 ดาว และผ้าปูที่นอนทอละเอียดถึง 800 เส้นด้าย ที่สลับจับคู่สีได้ตามชอบ จนกลายมาเป็นแบรนด์เครื่องใช้ในบ้านที่น่าจับตามอง พัฒนาสินค้าจากปัญหาการใช้จริงของลูกค้า และจริงใจเกินร้อยด้วยนโยบายคืนเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ 

ตลอดบทสนทนา แนนพูดเสมอว่าสินค้าทุกชิ้นคือของที่เธอใช้เองในชีวิต เพราะเชื่อว่าความรัก และความตั้งใจในการผลิตสินค้าดี ๆ ออกมาขาย คือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ

Haus64 แบรนด์เครื่องนอนและผ้าขนหนูที่จริงใจกับลูกค้า และมีนโยบายคืนเงินให้ 100%

เอาปัญหามาทำให้เป็นเรื่องง่าย

Haus64 ตั้งเป้าผลิตสินค้าชุดเครื่องนอนและผ้าขนหนูพรีเมียมในราคาจับต้องได้ นอกจากคุณภาพสินค้าที่ดีแล้ว ยังนำปัญหาที่คนใช้งานจริง ๆ ต้องเจอมาพัฒนาสินค้าให้ต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ในท้องตลาด ฟังก์ชันชุดเครื่องนอนของแบรนด์เกือบทั้งหมดมาจากการสังเกตการใช้งานและฟีดแบ็กของลูกค้าทั้งสิ้น อย่างการใส่ตัวแป๊กตรงมุมปลอกผ้านวม หรือทำป้ายผ้าปูที่นอนให้มีสัญลักษณ์ว่าด้านไหนคือด้านไหน ทำให้การปูที่นอนง่ายขึ้นมาก 

เป็นธรรมเนียมของธุรกิจนี้ที่ทันทีเมื่อส่งของเสร็จ ระบบจะส่งข้อความอัตโนมัติไปถามความคิดเห็นของลูกค้า สัปดาห์ถัดไปก็จะส่งไปอีกรอบว่าใช้แล้วชอบไหม มีคำแนะนำว่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้างหรือเปล่า

เห็นได้ว่าแบรนด์ให้ความสำคัญและใส่ใจในความคิดเห็นของลูกค้ามากที่สุด

“เนื่องจากเราไม่เคยทำตลาดนี้มาก่อน มันใหม่มากสำหรับเรา และเราอยากรู้จริง ๆ ว่าลูกค้าคิดยังไง เวลาเขาตัดสินใจซื้อก็อยากรู้ว่าเพราะอะไร ใช้ไปแล้วมีฟีดแบ็กยังไงบ้าง เลยได้อินไซต์จากลูกค้ามาเต็ม ๆ อย่างก่อนหน้านี้เราเคยทำผ้าปูที่นอนเป็นยางยืดรอบผืน แบบที่เขาฮิตกัน แต่พอลูกค้าใช้จริงก็ไม่ชอบเพราะหามุมไม่เจอ เลยมาปรับแก้ให้ยางยืดรัดแค่มุมแต่ยาวกว่าปกติ เชือกในไส้นวมจะเป็นแบบไหน มีกี่อันเพื่อให้ใช้ได้ดี เราก็ทดลองจนได้แบบที่พอใจ

“หรือเรื่องความสูงของผ้าปู เราทำสูงกว่าปกติ เพราะเดี๋ยวนี้ลูกค้ามักมีท็อปเปอร์วางบนที่นอนอีกชั้น ทำให้ผ้าปูทั่วไปคลุมได้ไม่หมด แล้วเรามีบริการสั่งตัดได้ ที่นอนไซส์ไม่ปกติ หมอนรูปทรงแปลก ๆ เราก็ทำให้ได้หมด ค่อย ๆ เพิ่มบริการพิเศษมาให้ลูกค้า” 

จุดขายของผ้าปูที่นอนของ Haus64 ที่มิกซ์แอนด์แมตช์สีสันได้ทั้งหมด ก็มาจากการคิดถึงจิตใจลูกค้าเช่นกัน

“เราอยากทำที่นอนให้สวย ออกแบบได้ตามสไตล์ของลูกค้าเอง เวลาไปเลือกซื้อผ้าปูมักขายเป็นชุด มีสีเดียว ซึ่งอาจจะน่าเบื่อ เราเลยตั้งใจให้ลูกค้าเลือกผสมสีในชุดได้เองตามชอบ ทำให้เวลาเราออกแบบลายผ้า เราต้องเอาทุกสีมาเทียบกันจริง ๆ เพื่อดูว่ามันผสมกันได้สวย ต่อให้เป็นคู่ที่ดูไม่เท่ากันก็ต้องออกมาไม่โดดมาก เรารู้สึกว่าการที่ได้เลือกเองเป็นชุด ๆ ชิ้น ๆ มันสนุกกว่า เหมือนได้แต่งห้อง จนมีคนคอมเมนต์ว่า ถ้าอยากจะเปลี่ยนฟีลห้องก็มาใช้แบรนด์นี้ เพราะไม่ต้องซื้อสีเดียวกันทุกชิ้น ไม่ต้องซื้อทั้งชุดใหม่ ซื้อแค่บางตัวก็ได้ สีที่เราคิดมามิกซ์กันได้หมด ลูกค้าซื้อแค่บางสี บางชิ้น แล้วก็เปลี่ยน Total Look ในห้องได้เลย หรือลูกค้าบางคนส่งรูปห้องมาให้เลย ให้เราช่วยเลือกว่าห้องสีนี้ควรใช้ผ้าสีอะไร สนุกมาก แอดมินก็ได้ช่วยลูกค้าคิดไปด้วย” 

ลูกค้าหลักของแบรนด์เป็นคุณแม่ รองลงมาก็เป็นคู่รักที่เพิ่งแต่งงานและต้องซื้อชุดเครื่องนอนใหม่ และคู่สีที่ขายดีที่สุดคือ Moonlight (สีเบจ) กับ Sand Strip (ลายเส้นสีน้ำตาล) และ Blue Dawn (สีฟ้าเทา) กับ Graphite Grid (ลายตางรางสีเทา) ที่ลูกค้าตามหาซื้อจนของหมด 

แนนเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวน่ารัก ๆ อย่างคุณแม่ลูกเล็กกลับมาซื้อเครื่องนอนซ้ำ เพราะปกติลูกนอนแล้วร้อน เหงื่อออกที่หัวเยอะจนไม่สบายตัว แต่พอเป็นผ้าปูของ Haus64 ลูกเหงื่อไม่ออกและหลับสบายขึ้น หรือลูกค้ามารีวิวว่าชอบผ้าปูแบรนด์นี้มาก ๆ เพราะไม่เกี่ยวส้นเท้าที่แตกแห้ง 

“เราเองก็เป็นคนที่มีปัญหาเรื่องนี้บ้างเหมือนกัน แต่ไม่เคยสังเกตเลย มาดูว่าทำไมมันถึงไม่เกี่ยว ก็เป็นเพราะว่าผ้าคอตตอนตามธรรมชาติมันจะเป็นใยสั้น ๆ ต่างจากผ้าใยสังเคราะห์ที่ใยมันจะค่อนข้างยาว สมมติเรามีหนังหรืออะไรคม ๆ ไปเกี่ยวก็ทำให้มันดึงออกมาทั้งเส้น มันก็จะกลายเป็นกระจุกหรือขุย ๆ ที่ผ้า ทำให้มันพัง แต่คอตตอนเป็นใยสั้น คือถ้าโดนเกี่ยวก็จะแค่หลุดออกไปนิดเดียว ไม่ได้กระจุกอยู่บนผ้า เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นอีกอินไซต์ที่เราก็ค้นพบ รวมถึงคนที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมวก็คล้ายกัน ผ้าก็จะไม่พังง่าย ถ้าเป็นผ้าอื่น ขนน้องก็จะฝัง เอาออกยาก คอตตอนจะปัดได้ง่ายหน่อย”

ความจริงใจต่อลูกค้าคือหัวใจ

ผ้าขนหนู ผ้าปูที่นอน และหมอน เป็นสินค้าที่ปกติผู้บริโภคต้องได้ลองจับลองลูบจริงก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ทำไมลูกค้าของแบรนด์ Haus64 กลับกล้าซื้อผ่านออนไลน์ แนนตอบอย่างมั่นใจว่า เพราะนโยบายที่จริงใจต่อลูกค้าที่เป็นหัวใจสำคัญคือคำตอบ

“เราบอกชัดเจนตั้งแต่แรกว่า ถ้าซื้อไปแล้วไม่พอใจ เรายินดีคืนเงิน 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ถามเหตุผลอะไรเลย ขออย่างเดียวคืออย่าเพิ่งเอาไปซัก ทุกคนก็พอใจเพราะสินค้าที่เค้าได้ตรงปกกับที่เราเคลมไว้ มีลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเยอะมาก เขาก็จะเห็นตั้งแต่การที่เราส่งของให้เขา มีห่อ มีโน้ตให้ มีดีเทล มี Care Card เขาก็ประทับใจว่าเราใส่ใจจริง ๆ 

“อาจเพราะว่าเราอยากเป็นเหมือนเพื่อนบ้านของลูกค้า วิธีการที่เราพูดในเพจก็จะเป็นการเล่าเรื่อง เหมือนเราเป็นเพื่อนบ้านที่มีอะไรมาเล่าให้ฟัง ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ สนใจไหม มีอะไรก็คุยกันได้ และเราพร้อมที่จะรับฟีดแบ็กเพื่อไปพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะรู้ว่า Input ที่ดีที่สุดก็คือลูกค้านี่แหละ 

“เขาคือคนที่ให้โอกาสเราจริง ๆ แค่เห็นผ่านฟีดแล้วอยากจะสนับสนุน หลายคนบอกว่าเขาสนับสนุนเพราะเห็นว่าเป็นแบรนด์ไทย นอกจากนี้ เรามีสุ่มโทรไปถามฟีดแบ็กลูกค้าด้วยนะ มีคนหนึ่งบอกว่าเป็นกำลังใจให้ เห็นมาตั้งแต่จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ในฐานะคนทำ เราฟังแล้วรู้สึกปลื้มใจ รู้สึกโชคดีที่ได้รับโอกาสพิเศษนี้ เพราะฉะนั้น ทุกฟีดแบ็กเลยเป็นความหวังดีที่อยากให้เราพัฒนา เขาไม่ต้องบอกเราก็ได้ จะไปว่าที่อื่นก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะบอกเรา มันก็เป็นของขวัญสำหรับพวกเราเหมือนกัน”

Haus64 แบรนด์เครื่องนอนและผ้าขนหนูที่จริงใจกับลูกค้า และมีนโยบายคืนเงินให้ 100%

จุดเริ่มต้นของบ้านเลขที่ 64

ก่อน Haus64 เกิดขึ้น แนนเคยเป็นผู้ประกอบการในลักษณะ B2B (Business to Business) ขายส่งชุดเครื่องนอนและผ้าขนหนูให้โรงแรมต่าง ๆ มาเกือบสิบปี และไม่เคยมีประสบการณ์ในการขายของให้ลูกค้ารายบุคคลหรือ B2C (Business to Consumer) มาก่อน จนช่วงโควิดที่โรงแรมจำนวนมากปิดเพราะล็อกดาวน์ ทำให้ออเดอร์ทั้งหมดตกฮวบกลายเป็นศูนย์ เธอจึงจับพลัดจับผลูมาเริ่มทำแบรนด์ใหม่อย่าง Haus64

ตอนนั้นเอง แนนเพิ่งผลิตผ้าขนหนูรุ่นที่ทำให้โรงแรมห้าดาวริมน้ำแห่งหนึ่งออกมากว่าพันชิ้น เธอตัดสินใจนำสต็อกที่มีมาขายในกลุ่มจุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส ซึ่งได้การตอบรับอย่างดีตั้งแต่ครั้งแรก 

“จำได้ว่าโพสลงกรุ๊ปประมาณ 5 ทุ่มกว่า หลังจากนั้นแค่ 1 – 2 นาทีก็มีคนทักมาซื้อ เราคิดว่าถ้าขายได้ 2 ชุดก็ดีใจแล้ว แต่หลังจากนั้นคนทักเยอะมาก วันนั้นตอบแชตจนถึงดึกดื่น”

จากที่มีแค่ผ้าขนหนูสีขาวอย่างเดียว ลูกค้าก็เริ่มถามถึงสีอื่นเรื่อย ๆ รวมถึงสินค้าอื่น ๆ เธอเลยตั้งใจทำผ้าขนหนูให้มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในหลายสี และต่อยอดมาเป็นผ้าปูที่นอน 800 เส้นที่สเปกสูงกว่าท้องตลาดทั่วไปอีกเช่นกัน 

“ปกติผ้าคอตตอนเขาจะทำสูงสุดอยู่ที่ 800 เส้น ตั้งแต่ที่เราทำธุรกิจนี้มาเกือบ 10 ปี มีแค่ 1 – 2 โรงแรมเท่านั้นที่ใช้เกรดนี้ ส่วนตัวเราเองก็ชอบแบบจำนวนเส้นเยอะ ๆ แต่พอจะเอามาขายเองก็คิดว่าถ้าเป็น 500 เส้นน่าจะชัวร์กว่า ขายได้และมีตลาดแน่นอน แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลองทำตามสัญชาตญาณของตัวเอง โดยการเอาตัว 800 เส้นมาขาย ผลตอบรับก็ออกมาดีกว่าที่คิดไว้”

ในเวลาที่ตลาดเปลี่ยนไปสนใจผ้าที่ค่อนข้างนุ่มลื่นอย่างผ้าโพลีเอสเตอร์ คอตตอนซิลค์ หรือผ้าเทนเซลกันหมด แต่ Haus64 กลับเลือกทำผ้าปูที่นอนจากผ้าฝ้ายหรือคอตตอน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแนนเชื่อว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น ด้วยความเป็นคนขี้ร้อนเป็นทุนเดิมของแนน เวลานอนตอนกลางคืน ผ้าปูที่นอนจึงควรมีคุณสมบัตินอนแล้วสบายตัว ไม่อับชื้นจนเหงื่อออก หรือต้องถีบผ้าห่มออกกลางดึก รวมถึงลักษณะพิเศษของผ้าฝ้าย 100 เปอร์เซ็นต์ คือยิ่งซักจะยิ่งคลายตัวและยิ่งนุ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เหมือนผ้าตัวอื่นที่จะค่อนข้างคงรูป แต่ในขณะเดียวกันอายุการใช้งานก็นานมากเช่นกัน 

“แนนเคยคำนวณแล้วถ้าซักอาทิตย์เว้นอาทิตย์ก็อยู่ได้แปดปีเลย ก็คิดว่ามันเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ ประหยัดด้วย แล้วก็ยิ่งใช้แล้วยิ่งนอนสบายมากขึ้นด้วย ดูแลง่ายมาก โยนเข้าเครื่องซักตามปกติเลยเพราะมันทนมาก” 

Haus64 จึงเกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจอยากทำของดี ๆ ให้บ้านคนซื้อสวยอบอุ่นเหมือนกัน ตั้งชื่อแบรนด์ว่า Haus แล้วเลือกบ้านเลขที่มาต่อท้าย โดยปัจจุบันมีผ้าขนหนู 6 สี และชุดเครื่องนอนมากกว่า 10 ดีไซน์ให้เลือกสรร คละลายและสีได้ตามต้องการ

Haus64 แบรนด์เครื่องนอนและผ้าขนหนูที่จริงใจกับลูกค้า และมีนโยบายคืนเงินให้ 100%

ขัดความเชื่อเดิมที่มีมา

จากประสบการณ์ตลอดเกือบสิบปีในตลาด B2B (Business to Business) วงการนี้มีความเชื่อมาตลอดว่าผ้าขนหนูตามบ้านต้องน้ำหนักเบาและมีคุณสมบัติตากแล้วแห้งเร็ว ไม่มีใครซื้อผ้าขนหนูหนา ๆ แบบโรงแรมไปใช้เองในชีวิตประจำวัน แต่เธอกลับมองว่ายังมีตลาดของคนที่ชอบผ้าขนหนูลักษณะนี้อยู่ ซึ่งก็เป็นข้อแตกต่างที่ทำให้สินค้าของ Haus64 ไม่เหมือนใคร

“คนที่ผลิตให้เขาห้ามเราอยู่ 3 รอบ บอกว่าจะทำเหรอ คิดดี ๆ นะ แต่เราตัดสินใจว่าจะทำ ถ้าขายไม่ออกจะยอมรับเอง เรารู้อยู่ว่าไม่ค่อยมีใครทำเท่าไหร่หรอก เพราะยกสเปกโรงแรมมาทั้งยวง ทั้งความหนัก ความหนา ความแน่น ปกติผ้าเช็ดตัวตามบ้าน คนเชื่อว่าต้องเป็นแบบบาง เพราะตากแล้วแห้งเร็ว แต่เราใช้ผ้าของตัวเอง เรารู้ว่าเช็ดตัวปุ๊บแล้วตัวแห้งเลย พอวางขาย คนซื้อไปใช้ก็รู้สึกเหมือนกัน ความเจ๋งคือมันซับน้ำได้เร็วมาก เพราะหนา เส้นใยเยอะ ซับตัวได้แห้งทันที”

แนนอธิบายว่า ปกติแล้วการผลิตผ้าขนหนูให้ออกมานุ่ม เทคนิคทั่วไปคือการคลายเกลียวเส้นใยออก แต่ผ้าจะซับน้ำได้ช้าลงเช่นกัน ทำให้ผ้าขนหนูที่นุ่มมาก ๆ ซับน้ำได้ไม่ค่อยดีนัก ผ้าขนหนูของ Haus64 จึงออกแบบมาให้นุ่มกำลังดี หนาหนักแต่ซับน้ำได้เร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็แห้งไวด้วย 

การสร้างแบรนด์ = ได้ทำในสิ่งที่อยากทำมาตลอด

ในสมัยที่เธอทำสินค้าส่งให้ธุรกิจโรงแรม ความอึดอัดใจในการลดสเปกเพื่อลดต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งที่ติดค้างในใจมาเสมอ

“เรารู้ว่าของที่เลือกมาเองดียังไง แต่โรงแรมส่วนมากต้องคำนึงถึงต้นทุนเป็นหลัก ​​สุดท้ายจะทำกี่ร้อยเส้นก็ได้ แต่ราคาต้องสู้กับอีกเจ้าหนึ่งได้ ถ้าไม่เท่าก็ต้องถูกกว่า พอมาทำ B2C เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรเต็มที่แค่ไหนก็ทำได้เลย เช่น อยากได้ผ้า 800 เส้นเราก็ทำ หรือปลอกผ้านวมที่ข้างในผูกเชือกยาก เราอยากติดแป๊กสไตล์ญี่ปุ่น ซึ่งในเมืองไทยทำไม่ได้ ต้องไปสั่งจากโรงงานที่ญี่ปุ่น เราก็ทำ อยากทำอะไรก็ใส่ลงไป เลยรู้สึกแฮปปี้กว่ามาก”

การปรับตัวจากการทำออเดอร์ส่งโรงแรมร้อยราย มาเป็นลูกค้านับหมื่นก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีเทคโนโลยีมารองรับทั้งหมด

“​​เดี๋ยวนี้มีระบบมาช่วยเยอะ ก็เลยไม่ยุ่งเท่าที่คิด น้องชายเป็นคนดู ซึ่งเขาทำระบบเก่งอยู่แล้ว อย่างเมื่อก่อนโรงแรมเราก็จะส่งออเดอร์ใหญ่ ๆ ครั้งหนึ่งที่ละ 500 – 1000 ผืน แต่ B2C เราส่งที่ละชิ้นสองชิ้น เพราะฉะนั้นระบบภายในก็จะเป็นคนละระบบ ใช้โปรแกรมขึ้นมาช่วย การรับออเดอร์ลูกค้า มีออกบิล ติดต่อขนส่ง ใช้พวกนี้มาช่วยทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น”

ยิ่งหลงใหล ยิ่งใส่ความน่าสนใจให้สินค้า

แนนบอกเราว่าพื้นฐานที่ทำให้เธออยู่ในวงการนี้มานาน ยิ่งทำให้อินในสิ่งที่ทำ

“อย่างเวลาไปเดินห้าง เห็นผ้าแล้วเราอดไม่ได้ที่จะจับ และอยากดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันอยู่ เราไปเดินงานแฟร์เกือบทุกปี เพื่อจะไปดูว่ามีอะไรใหม่ ๆ บ้าง มันก็ทำให้อินขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่อินที่สุดน่าจะเป็นความสบายและบ้านสวย ๆ เราชอบนอนบนที่นอนนุ่ม ๆ บรรยากาศดี ๆ พวกผ้าที่โดนตัวเราก็เป็นความรู้สึกหนึ่งที่เราหลงใหล”

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์โควิดที่คนต้องหันกลับมาอยู่บ้านมากขึ้นและให้รางวัลตัวเองจากการทำงานเช่นกัน 

แนนยกตัวอย่างน่าสนใจ อย่างลูกค้าวิ่งมาราธอนหนัก ทุกครั้งที่ออกกำลังกายเสร็จก็มีที่นอนดี ๆ เป็นรางวัลให้ตัวเอง หรือบางคนเพิ่งแต่งงาน เลยอยากซื้อผ้าปูที่นอนดี ๆ ให้เจ้าสาวได้นอนอย่างสบายที่สุด ลูกค้าบางคนมีลูกเล็ก ก็พบว่า Haus64 ทำให้เด็กหลับง่าย หลับสนิทยิ่งขึ้น

“จากเมื่อก่อนคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับผ้าปูที่นอนหรือการแต่งบ้านบางมุม แต่พอต้องอยู่บ้านนาน ๆ การแต่งบ้านหรือการดูแลบ้านให้สวยขึ้นก็บูมขึ้นมา เทรนด์เปลี่ยนไป ได้เห็นว่าคนหันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น เหมือนทำงานมาหนัก ๆ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกบ้านมา กลับบ้านก็อยากให้รางวัลตัวเองได้ทุกวันด้วยบ้านที่สวย ที่นอนที่นอนสบาย ผ้าขนหนูที่สัมผัสผิวแล้วนุ่ม จากเมื่อก่อนการไปเที่ยวคือรางวัล ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นชีวิตประจำวันมากกว่า”

เสียงตอบรับเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ บางครั้งคนผลิตก็อาจมองไม่เห็นด้วยตัวเอง คำชมทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ส่วนคำติก็ช่วยพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นไปอีก

Haus64 แบรนด์เครื่องนอนและผ้าขนหนูที่จริงใจกับลูกค้า และมีนโยบายคืนเงินให้ 100%

ทิศทางในอนาคตของ Haus64

การมีโชว์รูมที่ให้ทุกคนได้ลองมาเห็นสินค้าจริง ยังเป็นเรื่องที่เจ้าของแบรนด์มองว่าจำเป็น แม้การขายออนไลน์ปัจจุบันก็ดีอยู่แล้ว 

“เราไปออกงานบ้านและสวนครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งคนที่มาก็บอกว่าอยากจับผ้ามาตั้งนานแล้ว เราเลยคิดว่ายังจำเป็นอยู่ แต่เนื่องจากเรายังไม่ค่อยอยากเอาเข้าห้าง เพราะเวลาเข้าห้างก็จะต้องมีค่าการตลาด เสียค่า GP ให้ห้างเยอะ เราจะทำราคานี้ให้ลูกค้าไม่ได้ สมมติว่า 800 เส้น ชุด 4 – 5 ชิ้นธรรมดาทั่วไปเขาขายกันเฉียดหมื่น ในขณะที่เราขายแค่ 5,000 – 6,000 บาท การเข้าห้างเลยจะทำให้ลูกค้าต้องจ่ายแพงโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าถามว่าอยากมีโชว์รูมไหม ในอนาคตก็อยากมีนะ ตอนนี้เราก็มีเพื่อนสนใจเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ เขามีโชว์รูมให้ไปลองจับ มีเอาไปวางเล็ก ๆ น้อย ๆ น่าจะสักช่วงประมาณปีหน้า อาจจะได้เห็นโชว์รูมของแบรนด์เราเอง”

ส่วนอนาคตของ Haus64 แนนมีแผนที่จะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์มาเป็นของใช้ในบ้านเพิ่มเติม รวมถึงการทำ Collaboration กับดีไซเนอร์ไทย เพราะอีกความฝันของเธอ คือการนำพาแบรนด์เติบโตไปไกลถึงต่างประเทศ 

“อาจจะต้องย้อนนิดหนึ่ง วงการสิ่งทอของเมืองไทยเป็นอุตสาหกรรมขาลงมาหลายปีแล้ว ถ้าจะลงทุนเพิ่มหรืออยากเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมันก็ยากมากที่เราจะสู้จีนหรืออินเดียไหว เราคิดว่าในแง่ Economy of Scale เขาอาจจะได้เปรียบกว่า แต่ไทยเรามีของดีอย่างผ้าไทยหรือมีดีไซเนอร์เก่งๆ เยอะมาก เราเอาไอเดียเราไปขายก็ได้นี่นา ใช้การดีไซน์ ใช้ความสามารถของคนไทยในการเล่าเรื่องและความเป็นมา วัฒนธรรมของเราผ่านงานผ้าแล้วส่งออกไปตลาดโลก เรามีภูมิปัญญาอยู่ ก็เอามาปรับมาประยุกต์ให้มันใช้ได้และทันสมัย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะขยายไปหลาย ๆ ประเทศ เพราะอยากให้คนรู้จักว่าคนไทยก็ทำงานดีไซน์ได้เหมือนกัน”

แนน-พนัชกร บุญยิ่งสถิตย์ Managing Director ของ Haus64

Lessons Learned

  • ธุรกิจที่ดีคือธุรกิจที่ปรับตัวตามสถานการณ์ได้ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ตลาดใหม่ ๆ อยู่ตลอด
  • รีบมองหาโอกาสหรือช่องว่างทางการตลาดใหม่ ๆ ให้ออก จะทำให้สินค้าหรือแบรนด์ของเราแตกต่างจากเจ้าอื่นได้อย่างยั่งยืน
  • การนำอินไซต์หรือ Pain Point ของลูกค้ามาพัฒนาต่อ จะทำให้สินค้าแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้จริงและเกิดการซื้อซ้ำ
  • การสื่อสารอย่างจริงใจกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้บริโภคสัมผัสได้จริงถึงความเอาใจใส่ของผู้ประกอบการ

Writer

Avatar

ณิชากร เอื้อสุนทรวัฒนา

อดีตนักเรียนโฆษณาที่มาเอาดีทางด้านอาหาร แต่หลงใหลการสัมภาษณ์และงานเขียน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ