“อาจารย์ช่วยสอนให้ลูกน้องผมบริการดีๆ ใส่ใจลูกค้าแบบพนักงานญี่ปุ่นหน่อยได้ไหมครับ”

สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์พิศวงนิดๆ

เพราะมีท่านผู้บริหาร 3 ท่านจาก 3 วงการกล่าวประโยคข้างต้นกับดิฉัน

นั่นทำให้ดิฉันนึกถึงคำว่า ‘โอโมเตะนาชิ’ (Omotenashi) หรือจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น คำนี้เป็นคำสำคัญที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ในการนำเสนอเพื่อขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก แข่งกับประเทศตุรกีที่ส่งอิสตันบูลและสเปนซึ่งส่งเมืองมาดริดท้าชิง

ในขณะที่ประเทศอื่นพูดเรื่องทิวทัศน์ที่สวยงาม ความพร้อมในการสร้างสนามกีฬา แหล่งเงินทุน ญี่ปุ่นกลับเลือกพูดถึง ‘จิตวิญญาณการบริการ’ และสิ่งนั้นก็สร้างความแตกต่างในสายตากรรมการ จนทำให้ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพการจัดกีฬาโอลิมปิกใน ค.ศ. 2020 นี้

Makoto Marketing ฉบับนี้ดิฉันขอยกตัวอย่างโรงพยาบาลเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวที่เป็นสุดยอด Omotenashi สุดยอดการบริการ ให้ทุกท่านเห็นภาพความใส่ใจในระดับคนญี่ปุ่น และวิธีการทำการตลาดที่แท้จริงสำหรับธุรกิจบริการค่ะ

โรงพยาบาลที่บริการยิ่งกว่า 5 ดาว

ก่อนอ่านบทความนี้​ กรุณาจินตนาการถึง ‘โรงพยาบาลที่บริการเป็นเลิศ’ ในสายตาทุกท่านนะคะ

ท่านเห็นภาพอะไรบ้าง?

พยาบาลยิ้มแย้มแจ่มใส?

คุณหมอดูอบอุ่น ใจดี พร้อมช่วยเหลือตลอดเวลา?

สุดยอดโรงพยาบาลแห่งการบริการในบทความนี้กลับเป็นโรงพยาบาลที่ไม่ยอมนำอาหารไปเสิร์ฟให้ผู้ป่วย แต่กลับขอร้องแกมบังคับให้ผู้ป่วยเดินไปทานอาหารที่ห้องอาหารเอง

โรงพยาบาลแห่งนี้ยังไม่ยอมให้ผู้ป่วยใช้ผ้าอ้อม แต่ให้ผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมแพทย์ที่นี่จะไม่ยอมให้ผู้ป่วยนอนพักอยู่บนเตียงสบายๆ ต้องให้ทานข้าวเอง อาบน้ำเอง เท่าที่คนไข้จะช่วยเหลือตัวเองได้มากที่สุด

คุณผู้อ่านคิดว่าท่านกล้าส่งคนที่ท่านรักไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้ไหมคะ?

ดิฉันกำลังจะเล่าเรื่อง Hatsudai Rehabilitation Hospital โรงพยาบาลเล็กๆ ในเมืองโตเกียว เป็นโรงพยาบาลที่เน้นเฉพาะการทำกายภาพบำบัดเท่านั้น มีจำนวนเตียงผู้ป่วยเพียง 173 เตียงค่ะ

Hatsudai, โรงพยาบาล
www.hatsudai-reha.or.jp

โรงพยาบาลแห่งนี้เคยรักษา อิวิก้า โอซิม โค้ชฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นชื่อดัง ให้หายจากอาการอัมพฤกษ์จากโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน

โรงพยาบาลแห่งนี้ยังทำสถิติการรักษาที่งดงาม ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์หายจากอาการติดเตียง และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้

ที่สำคัญ ผู้ป่วยทั่วไปใช้เวลาบำบัดโดยเฉลี่ยเพียง 3 เดือนก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม หรือใกล้เคียงกับปกติได้

โรงพยาบาลทำได้อย่างไร สุดยอดการบริการที่แท้จริงเป็นอย่างไร ตามมาอ่านกันค่ะ

Omotenashi มิใช่การรับใช้ใคร แต่คือความใส่ใจโดยไม่หวังผลตอบแทน

ในวงการกายภาพบำบัดทั่วไปนั้น ผู้ป่วย 1 คนจะมีผู้ดูแลประมาณ 1 – 2 คน อาจไม่มีพยาบาลดูแลผู้ป่วยแต่ละรายเป็นพิเศษเท่าไรนัก

แต่ที่โรงพยาบาล Hatsudai ผู้ป่วย 1 คนจะมีผู้ดูแลทั้งหมดประมาณ 10 คน มากกว่าโรงพยาบาลทั่วไปถึง 5 เท่า

ผู้ดูแลมีตั้งแต่แพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด (แก้ไขการพูด) และนักสังคมสงเคราะห์ โดยมีผู้จัดการทีมซึ่งอาจเป็นพยาบาลหรือนักกายภาพบำบัดคอยคุมอีกต่อหนึ่ง

Hatsudai, โรงพยาบาล
www.rehabili.jp

แต่ละทีมจะประชุมกันทุก 2 สัปดาห์เพื่อรายงานผลความคืบหน้าของผู้ป่วยแต่ละท่าน นอกจากนี้ ยังมีการประชุมย่อย และมีการแชร์ข้อมูลประวัติคนไข้ในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้สมาชิกทุกคนเห็นภาพตรงกัน ไม่ต้องเสียเวลาขอแฟ้มประวัติคนไข้มาเวียนกันดู

เมื่อผู้ป่วยคนใดฟื้นฟูสภาพร่างกายจนใกล้หายดี โรงพยาบาลจะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูบ้านผู้ป่วย และอธิบายให้คนในบ้านเข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนจุดอันตรายในบ้านที่ต้องระวัง เช่น บันไดสูงชัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่หายดีแล้วสามารถใช้ชีวิตปกติที่บ้านได้และไม่บาดเจ็บซ้ำอีก  

คุณป้าท่านหนึ่งมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ หลังผ่าตัดร่างกายด้านซ้ายเธอเป็นอัมพฤกษ์ไปครึ่งซีก หลังจากพูดคุยกับผู้ป่วย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทราบว่าคุณป้าชอบทำอาหารและต้องซักผ้าทุกวัน เมื่อคุณป้าใกล้หายดีเจ้าหน้าที่จึงไปที่บ้านคุณป้า สังเกตห้องครัว วัดความสูงราวตากผ้า และจำลองสภาพแวดล้อมดังกล่าวในห้องกายภาพของโรงพยาบาล เพื่อให้คุณป้าชินกับการเคลื่อนไหวและความสูงของสิ่งของรอบตัวก่อนที่จะกลับไปอยู่บ้านจริงๆ

Hatsudai, โรงพยาบาล
www.hatsudai-reha.or.jp

จุดเด่นอีกประการที่โรงพยาบาลเน้นคือ อาหาร

แค่กายภาพบำบัดทุกวันคนไข้ก็เหนื่อยและท้อมากแล้ว ทางโรงพยาบาลต้องการให้คนไข้มีกำลังใจมากขึ้น จึงเชิญอดีตเชฟโรงแรมหรือร้านอาหารหรูมาทำอาหาร มีทั้งเชฟอาหารญี่ปุ่น อาหารฝรั่ง และอาหารจีน

Hatsudai, โรงพยาบาล
www.hatsudai-reha.or.jp

ผู้ป่วยบางรายถึงกับบอกว่า ปกติเวลาเข้าโรงพยาบาลจะอยากออกจากโรงพยาบาลเร็วๆ เพราะอยากไปทานอาหารที่โน่นที่นี่ แต่พอมารักษาที่ Hatsudai แทบไม่เกิดความรู้สึกเช่นนั้นเลย

ต้นทุนค่าอาหารที่นี่สูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ กว่า 1.2 เท่า แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้ป่วยอิ่มเอมใจกับอาหารมากที่สุดนั่นเอง

การบริการของ Hatsudai จึงไม่ใช่การดูแลผู้ป่วยทุกคนเหมือนๆ กันหมด แต่คือการใส่ใจและพยายามบำบัดผู้ป่วยแต่ละคนให้ดียิ่งขึ้นอย่างแท้จริง

Omotenashi มิใช่การทำตามสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่คือการมอบสิ่งที่สำคัญสำหรับลูกค้าอย่างแท้จริง

ความฝันสูงสุดของผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต คืออะไร?

สำหรับเชฟซูชิ มันคือการกลับไปยืนแล่เนื้อปลา ปั้นข้าว อยู่หน้าเคาน์เตอร์เหมือนแต่ก่อน

สำหรับคุณแม่ มันคือการสามารถลุกขึ้นยืน อ้าแขนรับอ้อมกอดของลูกได้

สำหรับผู้ป่วยทุกคน พวกเขาอยากลุกขึ้นมาเดินได้ ทำงานได้ กลับไปใช้ชีวิตตามเดิม ได้อย่างเป็นปกติ

เป้าหมายของทีม Hatsudai คือการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้

ในการทำให้ผู้ป่วยขยับแขนขาได้อีกครั้ง โรงพยาบาล Hatsudai จึงจัดโปรแกรมกายภาพบำบัดที่หนักมาก  

ทุกๆ วัน ผู้ป่วยต้องฝึกเดิน ฝึกนั่ง ฝึกยืน นอกจากนี้ ยังมีการฝึกใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ฝึกทานอาหาร ฝึกใช้มือจับแปรงสีฟันแปรงเอง และฝึกการพูด ออกเสียง ตลอดจนฝึกความจำ

โรงพยาบาลในญี่ปุ่นบางแห่งเชื่อว่าควรให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต นอนพักนิ่งๆ แต่ Hatsudai เชื่อว่าหากให้ผู้ป่วยพักมากจนเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกห่อเหี่ยว เสียสุขภาพใจ กล้ามเนื้อก็จะตึงยึด ตัวจะยิ่งเกร็ง แข็ง หากปล่อยไปนานๆ เข้าก็จะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงจริงๆ

โรงพยาบาล Hatsudai จึงใช้วิธีฝึกให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายให้มากที่สุด

ที่โรงพยาบาลจะไม่มีชุดผู้ป่วย คนไข้ต้องเตรียมชุดใส่อยู่บ้านสบายๆ มา ทุกเช้าคนไข้ทุกคนต้องตื่นมาถอดชุดนอนและใส่ชุดของตนเอง คนไหนรักสวยรักงามหน่อยก็อาจเตรียมชุดสีสันสดใสหรือชุดโปรดมาที่นี่ จะได้มีกำลังใจในการทำกายภาพบำบัดมากขึ้นอีกแรง

นอกจากนี้ โรงพยาบาลจะไม่เสิร์ฟอาหารถึงเตียงผู้ป่วยเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป แต่พยายามให้ผู้ป่วยค่อยๆ เดินมาที่ห้องอาหารเอง จุดหมายปลายทางของผู้ป่วยทุกคนคืออาหารแสนอร่อย นั่นทำให้ผู้ป่วยพยายามออกกำลังและเดินด้วยตนเองมากขึ้น

Hatsudai, โรงพยาบาล
www.p-supply.co.jp

เมื่อถึงโต๊ะอาหารเจ้าหน้าที่ก็พยายามให้ผู้ป่วยตักและทานอาหารด้วยตนเอง พยาบาลจะเข้าไปช่วยผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น นี่ก็เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมือ แขน และนิ้ว แบบอ้อมๆ

ด้านการขับถ่ายก็เช่นกัน โรงพยาบาลจะพยายามไม่ให้ผู้ป่วยใช้ผ้าอ้อมทั้งๆ ที่สะดวกกว่า แต่กลับกระตุ้นให้ผู้ป่วยเดินไปเข้าห้องน้ำเอง

ตอนเย็นจะไม่มีพยาบาลมาคอยเช็ดตัวให้ พยาบาลที่นี่จะค่อยๆ พาผู้ป่วยไปอาบน้ำที่อ่างเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนได้แช่น้ำอุ่นอยู่ที่บ้าน

เพราะฉะนั้น นอกจากโปรแกรมกายภาพบำบัดแล้ว ผู้ป่วยทุกคนจะมีโอกาสขยับเขยื้อนตัวในแทบทุกกิจกรรมแต่ละวันของพวกเขา

หากมองเผินๆ อาจดูเหมือนโรงพยาบาลใจร้าย ไม่ยอมเข้าไปช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เจ้าหน้าที่ Hatsudai ทุกคนทำลงไปก็เพื่อให้ชีวิตในโรงพยาบาลของผู้ป่วยคล้ายกับชีวิตประจำวันเดิมมากที่สุด และเป็นการฝึกกล้ามเนื้อผู้ป่วยให้แข็งแรง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้เร็วที่สุดนั่นเอง

การบริการแบบญี่ปุ่นจึงไม่ใช่การ ‘ปรนนิบัติดูแล’ ลูกค้าให้ดีที่สุด แต่คือการมองให้ขาดว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ คืออะไร และกล้ามอบสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นให้แก่ลูกค้า

หัวใจของ Omotenashi

ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาล Hatsudai คือ คุณหมอมาโกโตะ อิชิกาว่า

Hatsudai, โรงพยาบาล
www.jarm.or.jp

อดีตท่านเคยเป็นแพทย์ผ่าตัดสมองมาก่อน แต่วันหนึ่งท่านผ่าตัดคนไข้ชายรายหนึ่ง การผ่าตัดประสบความสำเร็จด้วยดี แต่คนไข้คนนั้นลุกขึ้นมาเดินไม่ได้อีกเลย คุณหมอรู้สึกผิดเป็นอย่างมาก คุณหมออิชิกาว่าจึงเริ่มศึกษาศาสตร์ด้านกายภาพบำบัดและผันตนเองมาเป็นแพทย์ในศาสตร์นี้

ในตอนนั้น คนรอบตัวคุณหมอเข้าใจว่ากายภาพบำบัดเป็นเพียงการนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อผู้ป่วย ทุกคนต่างมองว่าอุตส่าห์เป็นถึงนายแพทย์ด้านสมอง แต่ทำไมต้องลดตัวลงมาทำด้านกายภาพบำบัดเช่นนี้ รายได้ก็คงลดลงฮวบฮาบ มีแต่คนมองหมออิชิกาว่าด้วยสายตาแปลกๆ

แต่คุณหมอก็ค้นคว้าต่อไปจนพัฒนาเป็นศาสตร์การรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต ท่านไม่ยอมปล่อยให้พยาบาลเอาแต่เช็ดเนื้อเช็ดตัวดูแลผู้ป่วยติดเตียงอีก แต่หาวิธีกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังมากขึ้น ฝึกกล้ามเนื้อมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็หาวิธีจูงใจให้ผู้ป่วยปรารถนาที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนชีวิตตนเอง

คุณหมอพยายามเปลี่ยนวิธีการดูแลของพยาบาลในทีม จนเช้าวันหนึ่งท่านไปถึงชั้นผู้ป่วยและพบว่าพยาบาล 7 จาก 12 คนไม่ยอมมาทำงาน พวกเธอรวมตัวกันต่อต้านคุณหมอ

จังหวะที่คุณหมอคิดว่า ‘จบสิ้นกัน’ นั้น

พยาบาลคนหนึ่งเดินมาบอกคุณหมอว่า

“ดิฉันรู้สึกว่าการดูแลผู้ป่วยแบบนี้สนุกดีค่ะ ดิฉันดีใจที่ได้เห็นคนไข้เปลี่ยนไปขนาดนี้ คิดดูสิคะผู้ป่วยที่นอนนิ่งๆ มาตลอด 3 ปี ตอนนี้แกลุกขึ้นและออกไปเดินเล่นได้เองแล้ว”

คำพูดนั้นของนางพยาบาลทำให้คุณหมอฮึดสู้ต่อและตัดสินใจสร้างโรงพยาบาลของท่านเอง เพื่อสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด

นั่นคือจุดกำเนิดของโรงพยาบาล Hatsudai โรงพยาบาลที่ขึ้นชื่อว่ากายภาพบำบัดโหดที่สุด ขณะเดียวกัน ก็รักษาผู้ป่วยได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น

ทีม Hatsudai

การรักษาแบบคุณหมออิชิกาว่านี้จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหลายศาสตร์ ทั้งนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักอรรถบำบัด ตลอดจนนักสังคมสงเคราะห์

ปัญหาคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ มักจะเกรงใจคุณหมอหรือแพทย์ในทีม หรือบางครั้งแพทย์บางท่านก็มีอัตตาสูง ไม่ยอมฟังความเห็นใคร

คุณหมออิชิกาว่า ฃจึงแก้ปัญหาด้วยการทำให้ทุกคนในทีมเท่าเทียมกันหมด

ท่านสั่งห้ามเรียกแพทย์ว่า ‘คุณหมอ’ และบังคับให้ทุกคนในทีมเรียกชื่อกันและกัน แล้วลงท้ายชื่อว่า ‘ซัง’ ซึ่งแปลว่า ‘คุณ’ แม้แต่เวลาเจ้าหน้าที่เรียกคุณหมอก็ให้เรียกว่า ‘อิชิกาว่าซัง’

นอกจากนี้ อิชิกาว่าซังยังให้ทุกคนใส่ชุดยูนิฟอร์มเหมือนกันเพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกัน ในขณะที่โรงพยาบาลอื่นนายแพทย์ใส่เสื้อคลุมสีขาว แต่หมอโรงพยาบาล Hatsudai ใส่เสื้อโปโลแขนสั้น กางเกงสแล็ก กับรองเท้าผ้าใบ

Hatsudai, โรงพยาบาล
topics-jp.com

ทุกทีมจะมี ‘ผู้จัดการทีม’ ซึ่งเป็นคนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการคนได้ ผู้จัดการทีมไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ อาจเป็นนักกายภาพบำบัดหรือนักโภชนาการก็ได้ โดยจะทำหน้าที่รับฟังความเห็นของทุกคนอย่างเป็นกลาง และร่วมหาวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนให้ได้มากที่สุด

ความสุขของทุกคนในทีม Hatsudai คือการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยที่ตนเองดูแล จากผู้ป่วยที่ขยับร่างกายแทบไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยที่ยิ้มได้ ลุกขึ้นเดินได้ และจูงมือสมาชิกครอบครัวเดินออกจากโรงพยาบาลไปได้

หัวใจของการบริการที่ดีแบบ Omotenashi นั้นเริ่มจากการดูแลคนภายในให้ดี ช่วยเหลือกันและกันได้อย่างเต็มที่ หากพนักงานในองค์กรแข็งแกร่งและมีความสุข พวกเขาก็จะมีพลังในการส่งต่อบริการที่ดีให้กับลูกค้าได้

Omotenashi จึงไม่ใช่การรอรับใช้ลูกค้า ไม่ใช่การรอว่าลูกค้าจะสั่งอะไร แล้วเราจะทำตามคำสั่งนั้นให้ดีที่สุด

Omotenashi หรือจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่นที่แท้จริงนั้นเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ ‘เท่าเทียม’ กับลูกค้า มิได้เป็นผู้รับใช้ แต่เป็นคนที่ห่วงใยและคอยใส่ใจลูกค้าแต่ละคน เมื่อห่วงใยจริงๆ ก็กล้าถามความเห็นลูกค้า กล้าพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูล และกล้าเตือน

สิ่งสำคัญอีกประการในการสร้าง Omotenashi นั้น คือการเข้าใจลูกค้าและรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการที่สุด โดยที่ลูกค้าเองอาจไม่คาดคิดหรือไม่รู้ตัวมาก่อน

คนไข้หลายคนของ Hatsudai หมดหวังในการใช้ชีวิต เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยคือการได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนแต่ก่อน ทุกคนจึง ‘กล้า’ ที่จะเคี่ยวเข็ญและทำให้ผู้ป่วยฝึกกายภาพบำบัดทุกวิถีทาง

ในตอนแรกผู้ป่วยอาจท้อหรือไม่เข้าใจพนักงานที่ให้บริการ แต่วันที่พวกเขาลุกจากเตียงขึ้นมายืนด้วยขาตนเองได้อย่างมั่นใจนั้น วันนั้นจะเป็นวันที่เปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล และประทับใจการบริการของโรงพยาบาล Hatsudai ไปอย่างมิรู้เลือน

สิ่งที่ทีม Hatsudai มอบให้ผู้ป่วยจึงมิใช่แค่บริการกายภาพบำบัด แต่คือการคืนชีวิตให้กับผู้ป่วยและสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตต่อไปให้กับพวกเขานั่นเอง

รายละเอียดเกี่ยวกับโรงพยาบาล

www.hatsudai-reha.or.jp

(หากท่านที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและมีประกันสุขภาพ สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพรักษาได้ โดยประกันจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายวันละ 3 ชั่วโมง)

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย