19 กุมภาพันธ์ 2020
10 K

สิบเอ็ดโมงสี่สิบห้า วันอาทิตย์ แดดจ้าสดใส ลูกค้าเข้าคิวเป็นระเบียบ รอเวลาร้านเปิดตอนเที่ยงตรง

เขาไม่ได้เข้าคิวรอซื้อชานมไข่มุกหรือโดนัท เพราะที่นี่ขายหนังสือ

ร้านหนังสือสีเขียวน่ารักบนถนนพิกคาดิลลี (Piccadilly) แห่งนี้ เปิดบริการตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระบุปีให้ชัดคือ ตั้งแต่ ค.ศ. 1797 (พ.ศ. 2340) อายุเกือบเท่าประเทศสหรัฐอเมริกา (ที่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษใน ค.ศ. 1776)

แม้ไม่ใช่ ‘ร้านหนังสือร้านแรก’ เพราะเปิดในยุคที่มีร้านหนังสือทั้งใหญ่และเล็กอยู่แล้วบนถนนพิกคาดิลลี แต่ปัจจุบัน แฮตเชิร์ดส์ (Hatchards) เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ของลอนดอน (และของอังกฤษ) ยืนหยัดในธุรกิจมาถึง 223 ปี

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ลูกค้าตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีตั้งแต่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ นายกรัฐมนตรีและนักการเมืองคนสำคัญ ชนชั้นสูง นักเขียนใหญ่ นักเขียนเล็ก กวีชื่อดังและไม่ดัง และสามัญชนทั่วไปที่รักการอ่าน

“จะไปสัมภาษณ์ร้าน Hatchards เหรอ ถามหาฟรานซิสนะ ถ้าฟรานซิสไม่รู้ก็ไม่มีใครตอบได้แล้ว” นี่คือคำแนะนำจากหนอนหนังสือลูกค้าประจำของร้าน ที่ฉันบังเอิญรู้จัก

 ฟรานซิส เคลเวอร์ดอน (Francis Cleverdon)

ฟรานซิส เคลเวอร์ดอน (Francis Cleverdon) คือผู้จัดการร้านคนปัจจุบัน เขาดูแลที่นี่มากว่า 6 ปี และอยู่ในธุรกิจหนังสือมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เริ่มทำงานใน ค.ศ. 1971 ฟรานซิสเป็นคนอารมณ์ดีมาก เขาเล่าประวัติร้านให้ฟัง เพื่อขมวดปมตอบคำถามที่ว่า “ทำไมร้านนี้อยู่มาได้ 223 ปีโดยไม่เจ๊ง”

Hatchards น่าจะเป็นหนึ่งในสถาบันทางสังคมที่ชาวลอนดอน ‘รัก’ มากที่สุด เพราะเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความเป็นตัวตนนานกว่า 2 ศตวรรษ แถมยังเป็นร้านที่น่ารัก เข้าไปแล้วบรรยากาศเหมือนอยู่บ้าน (ฟรานซิสใช้คำว่า Homey)

คนรักหนังสือไม่ควรพลาดร้านนี้อย่างยิ่ง หากมาเยือนลอนดอน

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ลูกค้าระดับ A+++

ร้านนี้ก่อตั้งโดย จอห์น แฮตเชิร์ด (John Hatchard) อดีตเด็กฝึกงานร้านหนังสือที่ฝันอยากมีร้านเป็นของตัวเอง จอห์น หนุ่มน้อยวัย 28 ตัดสินใจเก็บเงินเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ในย่านพิกคาดิลลี อันเป็นย่านทันสมัยของลอนดอนในยุคนั้น เปิดได้ 4 ปี ธุรกิจขยับขยาย จนต้องย้ายร้านมาตำแหน่งใหม่ที่อยู่ใกล้ๆ กัน และใหญ่กว่าเดิม เป็นตำแหน่งร้านที่อยู่มาจนปัจจุบัน คือหมายเลข 187 ถนนพิกคาดิลลี

ตอนนี้ Hatchards โด่งดัง ใครๆ ก็อยากมา เพราะได้ชื่อว่าเป็น ‘ร้านหนังสือเก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ’

แต่ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้าน Hatchards ดังได้อย่างไร และอยู่รอดมาถึง 223 ปี ในขณะที่คู่แข่งร่วมยุคต่างเจ๊งกันไปหมด

คำตอบน่าจะเป็นเพราะ ลูกค้ายุคแรกๆ ของ Hatchards คือผู้มีอิทธิพลในสังคมอังกฤษ

เมื่อ Hatchards เปิดทำการใหม่ๆ ร้านนี้เป็นแหล่งพบปะของผู้ทรงอิทธิพลในวงการต่างๆ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ นักธุรกิจ นักการเงิน และนักการเมือง เพราะยุคศตวรรษที่ 18 ร้านหนังสือเป็นที่นัดพบของชนชั้นสูง

“ช่วงนั้นกลุ่มลูกค้าหลักของ Hatchards คือชนชั้นสูง พวกนี้เขาไม่ค่อยสนใจปกหนังสือ เขาจะซื้อหนังสือจากเรา แล้วเอาไปให้ช่างเข้าเล่มใหม่ ทำปกเอง ถ้าไปบ้านเขาจะเห็นห้องสมุดส่วนตัว หนังสือทุกเล่มหน้าตาเหมือนกันหมด แต่ตอนนี้ไม่มีใครทำแบบนั้นแล้ว” ฟรานซิสเล่า

ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านจนเปิดมาได้เกือบร้อยปี Hatchards เป็นทั้งร้านหนังสือ และผู้จัดพิมพ์ จอห์น แฮตเชิร์ด ผู้ก่อตั้ง มีแนวคิดหัวก้าวหน้าและอยากปฏิรูปสังคม

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1
วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

“พวกต่อต้านการค้าทาส เรียกร้องสิทธิมนุษยชน หรือชอบพรรคการเมืองที่มีนโยบายแนวนี้ จะมาชุมนุมที่ Hatchards ถ้าชอบอีกพรรคเขาจะไปร้านอื่น” ฟรานซิสหัวเราะเสียงดัง “ตอนนั้นการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมาก”

งานพิมพ์ชิ้นแรกของร้านคือใบปลิวการเมืองที่มีหัวข้อว่า Reform or Ruin: Take Your Choice ปลุกระดมให้คนร่วมกันปฏิรูปสังคม ใบปลิวนี้นำพาบุคคลสำคัญ คือ วิลเลียม วิลเบอร์ฟอร์ซ (William Wilberforce) มาที่ร้านหนังสือเล็กๆ บนถนนพิกคาดิลลี

วิลเบอร์ฟอร์ซคือรัฐบุรุษแห่งอังกฤษที่ต่อสู้ตลอดอาชีพทางการเมืองของเขาให้อังกฤษมีการเลิกทาส เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นอย่างยากลำบาก เพราะนักการเมืองอังกฤษในสมัยนั้นไม่เห็นด้วยเลย แต่วิลเบอร์ฟอร์ซทำได้สำเร็จ การเลิกทาสในอังกฤษเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1833 สิ้นสุดการค้าทาสที่ยาวนานมากว่าสองศตวรรษ

เมื่อวิลเบอร์ฟอร์ซมาซื้อหนังสือที่ Hatchards แน่นอนว่ามีการบอกปากต่อปากทั้งในหมู่นักการเมืองด้วยกัน และสามัญชนที่เห็นพ้องกับการเลิกทาส

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ลูกค้า ‘การเมือง’ ที่อุดหนุนร้าน Hatchards ยังมี ดยุคแห่งเวลลิงตัน จอร์จ แคนนิง (George Canning) เบนจามิน ดิสราเอลี (Benjamin Disraeli) วิลเลียม แกลดสโตน (William Gladstone) ทั้งหมดเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

นายกฯ แกลดสโตนเป็นลูกค้าวีไอพีที่พนักงานร้านกล่าวถึงอย่างขำๆ หยิกแกมหยอกเอาไว้ในบทสัมภาษณ์ ค.ศ.1892 ว่า ท่านเป็นลูกค้าที่เงียบขรึมและยืนยันจะต้องได้ส่วนลด 10 เปอร์เซ็นต์ อยู่เสมอ

เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นำประเทศก้าวข้ามช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นลูกค้าประจำของ Hatchards บันทึกการขายของร้านระบุว่า เชอร์ชิลซื้อหนังสือหลากหลายมาก ตั้งแต่ Wealth of Nations ของ อดัม สมิธ (Adam Smith) หนังสือรวมปาฐกถาของ วิลเลียม พิตต์ (William Pitt) ในรัฐสภาแห่งอังกฤษ เหยื่ออธรรม (Les Misérables) ของ วิกเตอร์ อูโก (Victor Hugo) The Kreutzer Sonata ของ เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) ไปจนถึงหนังสือชุด 6 เล่มที่เป็นบันทึกความทรงจำของคาสโนวา (Casanova) นักเดินทางชาวอิตาลี

เนื่องจากเชอร์ชิลมักมีงานยุ่งอยู่เสมอ ทางร้านจึงต้องคอยส่งใบแจ้งเตือนอันแสนสุภาพไปให้ (เมื่อท่านนายกฯ ลืมชำระเงิน!) ที่ร้านยังมีหมวดหนังสือ Winston Churchill โดยเฉพาะ รวบรวมหนังสือเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีผู้นี้ และหนังสือที่เป็นงานเขียนของเชอร์ชิลเอง

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1
วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ยิ่งกว่าลูกค้านักการเมือง คือลูกค้าระดับราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่สมัยเริ่มก่อตั้งร้าน ลูกค้ารายแรกๆ ของร้านคือ สมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์ มเหสีของกษัตริย์จอร์จที่ 3 มีบันทึกว่าพระองค์ทรงซื้อหนังสือประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสแบบเป็นชุด 5 เล่ม (L’Histoire de France) และหนังสือ Dying Thoughts ของ Richard Baxter

สมเด็จพระราชินีชาร์ลอตต์ยังทรงเป็นลูกค้าที่เหนียวแน่นตลอดมา ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร้านหนังสือหน้าใหม่นี้อยู่รอดมาได้

ในยุคต่อมา Hatchards ก็ยังเป็นผู้จัดหาหนังสือให้สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ หลังเคาน์เตอร์คิดเงินหน้าร้านจึงมีตราสัญลักษณ์ส่วนพระองค์ของสมาชิกราชวงศ์อังกฤษในปัจจุบัน ได้แก่ตราสัญลักษณ์ของเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ดังนั้นถ้าเห็นทั้งสามพระองค์ถือหนังสือ ก็เดาได้เลยว่า น่าจะเป็นหนังสือจาก Hatchards

หนังสือและบริการที่ร้านอื่นไม่มี

คำถามคลาสสิก คืออยู่ได้ยังไงในยุคที่มีแอมะซอน (Amazon) เพราะ Hatchards ไม่เคยลดราคา แถมคนอ่านหนังสือน้อยลง

“ไม่นะ” ฟรานซิสรีบบอก “คนอ่านหนังสือเยอะขึ้นเรื่อยๆ ปีที่แล้วเป็นปีที่มีหนังสือขายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตอนนี้แหละที่มีหนังสือถูกพิมพ์และขายมากกว่าช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์” ฟรานซิสยิ้มกว้างเมื่อเห็นคนถามทำหน้าแปลกใจ

“จริงจริ๊ง” เขายืนยันเสียงสูง

“ผมคิดว่า สาเหตุที่ทำให้ Hatchards อยู่รอดมาได้เป็นเพราะบริการ อาจเป็นคำตอบที่ไม่น่าแปลกใจ แต่มันทำยากนะ เราเป็นร้านหนังสือแบบดั้งเดิม (ฟรานซิสใช้คำว่า Old Fashioned) ที่ใส่ใจลูกค้ามาก แล้วก็แพง เพราะเราไม่เคยลดราคา ถ้าคุณอยากได้ของลดราคากระหน่ำ ที่นี่อาจไม่เหมาะ แต่ร้านหนังสือที่ลดราคาหนักๆ อาจไม่มีเล่มที่คุณอยากได้ แต่เรามี ลองเข้ามาถามดูก่อนได้”

จุดแข็งของ Hatchards คือหนังสือดีและหนังสือที่หาที่อื่นไม่ได้ ในขณะที่ร้านหนังสือทั่วไปเน้นสต็อกหนังสือที่ขายได้ เพราะไม่อยากให้ต้นทุนจม

ที่นี่มีหนังสือหลากหลาย ลูกค้าจะสนใจเรื่องอะไรก็ตาม เข้ามาร้านนี้ก็น่าจะหาหนังสือที่ถูกใจได้ จะเป็นหนังสือตำราอาหารย้อนยุค หนังสือบันทึกความทรงจำของบุคคลสำคัญทางการเมือง ประวัติศาสตร์ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรืองานเขียนบันทึกการเดินทางท่องเที่ยว Hatchards มีหมด

แต่จุดเด่นของ Hatchards คือนวนิยายยุคศตวรรษที่ 20 และกวีนิพนธ์

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ฟรานซิสกล่าวว่า “ร้านเรามีนวนิยายให้เลือกเยอะมากกกกก… (ลากเสียงยาว) ผมคิดว่าน่าจะมีแค่สองสามร้านในอังกฤษล่ะมั้ง ที่มีนวนิยายเยอะกว่าเรา เรามีนิยายของยุคศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้าด้วย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็เป็นยุคศตวรรษที่ยี่สิบ”

Hatchards ยังมีของดีระดับโอท็อปอีก คือหนังสือเล่มดังที่พิมพ์ครั้งแรกๆ หนังสือที่ปัจจุบันเลิกพิมพ์แล้ว และหนังสือที่มีลายเซ็นนักเขียนชื่อดังในอดีต ตั้งแต่ตอนเปิดร้านใหม่ๆ Hatchards ขายทั้งหนังสือโบราณ หนังสือมือสอง และหนังสือที่พิมพ์ใหม่ ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ หนังสือโบราณทุกเล่มจะผ่านการทำความสะอาดอย่างดี

“หนังสือเก่ามากๆ ที่เรามี ก็เช่นหนังสือของจอร์จ เอเลียต (George Eliot-นามปากกาของนักเขียนสตรีชื่อดังในยุควิกตอเรีย) พิมพ์ตั้งแต่ประมาณปีพันแปดร้อยห้าสิบโน่น ฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี่เรามีเรื่อง 1984, Dr. Zhivago แล้วก็ Lolita แล้วก็มีเรื่องอื่นๆ อีก เรามีหนังสือต่างๆ ที่วินสตัน เชอร์ชิลเขียน เรามีหนังสือแนวสำรวจด้วย อย่างของเซอร์แชกเกตัน (Sir Ernest Shacjketon) ที่ไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา เขาเป็นคนสำคัญมาก เรามีหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกของเขา ซึ่งก็แพงทีเดียว แต่พวกนักสะสมก็จะมาหาซื้ออยู่เรื่อยๆ”

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

หนังสือหายากเหล่านี้ ราคาเล่มละหลายพันบาท อย่างวรรณกรรมเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล ฉบับปกแข็งพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1949 ราคาสูงถึง 3,750 ปอนด์ หรือราว 153,750 บาท

แน่นอนว่า หากงบประมาณไม่ถึง Hatchards ก็มี 1984 ฉบับพิมพ์ครั้งต่อๆ มา ทั้งปกแข็งปกอ่อน ให้เลือกซื้อในราคาย่อมเยา

หนังสืออีกประเภทที่ติดอันดับขายดีที่ Hatchards มาตลอดสองร้อยกว่าปี คือนวนิยายของ เจน ออสเตน (Jane Austen)

ก่อนจะกลายเป็นนักเขียนนามอุโฆษ สาวน้อยเจน ออสเตน มาซื้อนิยายหนึ่งเล่มที่ร้าน Hatchards คือหนังสือ The Mysteries of Udolpho ของ Ann Radcliffe และได้แรงบันดาลใจกลับไปเขียนนวนิยายเล่มแรก คือ Northanger Abbey ต่อมา นักอ่านสาวน้อยผู้นี้กลายเป็นนักเขียนสตรีผู้มีชื่อติดทำเนียบนักเขียนคลาสสิกตลอดกาล เจ้าของผลงานลือลั่นอย่าง Sense and Sensibility (1811) และ Pride and Prejudice (1813)

นักเขียนชื่อดัง ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ (Charles Dickens) ตีพิมพ์หนังสือเล่มไหน ก็จะติดอับดับขายดีที่ Hatchards ทันที เพราะจัดเป็นหนังสือประเภท ‘ของมันต้องมี’ ของเหล่านักอ่านยุคนั้น

นวนิยายที่มีชื่อเสียงของเขาต่างตีพิมพ์ในช่วงร้อยปีแรกที่ Hatchards ก่อตั้ง ได้แก่ Oliver Twist (1838) Nicholas Nickleby (1839) Bleak House (1853) และ Hard Times (1854)

หนังสือเด็กเล่มดัง The Tale of Peter Rabbit ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1902 เป็นฉบับที่เบียทริกซ์ พอตเตอร์ (Beatrix Potter) ผู้เขียน จัดพิมพ์เป็นการส่วนตัวสำหรับครอบครัวและเพื่อนใกล้ชิดเพียง 250 เล่ม มีลายมือเขียนและภาพประกอบลายเส้นขาวดำ Hatchards เป็นหนึ่งในไม่กี่ร้านที่มีหนังสือเล่มนี้ขายในปัจจุบัน

นอกจากหนังสือดีหลากหลายแล้ว ‘ของแจกประจำปี’ ที่ลูกค้า Hatchards ต่างรอคอย คือแคตตาล็อกแนะนำหนังสือเด่น เพราะเป็นการแนะนำโดยผู้รู้ (คือพนักงานร้านนั่นเอง) ว่าปีนี้มีอะไรน่าอ่าน แนะนำหนังสือทุกประเภททั้งนวนิยาย สารคดี กวีนิพนธ์ และหนังสือเด็ก

Hatchards เริ่มผลิตแคตตาล็อกแนะนำหนังสือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ฟรานซิสบอกว่า ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2019) พิมพ์ประมาณ 12,000 ฉบับ ส่วนหนึ่งส่งทางไปรษณีย์ให้ลูกค้า แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะมาหยิบที่ร้าน เป็นแคตตาล็อกที่ใครๆ ก็อยากได้

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1
วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

Hatchards ยังมีบริการที่ร้านอื่นทำตามได้ยาก คือบริการ ‘หาหนังสือให้’ หนังสือบางเล่มที่สำนักพิมพ์เลิกจัดพิมพ์แล้ว หรือหาไม่ได้แล้วในท้องตลาด แต่มาที่ Hatchards เขาหาให้ได้ เพราะมีเครือข่ายผู้จัดพิมพ์ที่ทำงานร่วมกันมานาน

“ถ้าคุณหาหนังสือเล่มไหนไม่ได้ เราช่วยได้ ร้านอื่นเขาไม่มีบริการนี้ มีลูกค้ามาถามหาหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้สักสัปดาห์ละสามสี่ครั้ง ส่วนใหญ่ไม่ใช่หนังสือเล่มดังหรือสำคัญ แต่เป็นหนังสือที่เขาจำเป็นต้องใช้ แต่หาซื้อไม่ได้ เรามีเครือข่ายกว้างขวาง ส่วนใหญ่ที่เราหามาให้ก็จะเป็นหนังสือมือสอง” ฟรานซิสอธิบาย “แต่เราไม่บวกเพิ่มเยอะมากนะ ต้นทุนมาเท่าไรเราก็แทบจะส่งต่อให้นักอ่านในราคานั้นแหละ”

พนักงานที่ลูกค้ารัก

ผู้กุมบังเหียนร้าน Hatchards มีตั้งแต่ จอห์น แฮตเชิร์ด ผู้ก่อตั้ง เปลี่ยนมาถึงยุคของโทมัสและจอห์น (ลูกชาย) เฮนรี่ (เหลน) จนกระทั่งในค.ศ. 1881 จึงมีการประกาศหาผู้ช่วย

ชายหนุ่มที่มาสมัครงาน อาเธอร์ ฮัมฟรีย์ส (Arthur Humphreys) ขณะนั้นอายุเพียง 16 ปี กลายเป็นกำลังสำคัญของร้านมาอีกกว่า 40 ปี จนเมื่อครอบครัวแฮตเชิร์ดตัดสินใจขายร้านในค.ศ. 1891 เจ้าของคนใหม่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้จัดการคนปัจจุบัน (ในขณะนั้น) และอดีตผู้จัดการ ที่เล็งเห็นว่าร้านนี้จะยังไปต่อได้ และได้ให้หนุ่มน้อยอาเธอร์ ฮัมฟรีย์ส เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนร้านด้วย

ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) นักเขียนหนุ่มอัจฉริยะผู้อื้อฉาว ผู้มีชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1854 – 1900 เป็นลูกค้าประจำของ Hatchards และมาแจกลายเซ็นที่ร้านเป็นประจำ

เมื่อออสการ์ถูกขังคุกจากคดีรักร่วมเพศ คอนสแตนซ์ ภรรยาของเขาต้องพาลูกๆ หนีออกนอกประเทศ แต่ยังคงติดต่อกับอาเธอร์ ฮัมฟรีย์ส ผู้จัดการหนุ่มของ Hatchards ทางจดหมาย

จดหมายตั้งแต่ค.ศ. 1897 จากอาเธอร์ถึงคอนสแตนซ์ คอยส่งข่าวคราวความเป็นไปในประเทศอังกฤษ และส่งหนังสือเรื่องเยี่ยมของออสการ์ที่ตีพิมพ์ในช่วงท้ายของชีวิตไปให้เธอ จนมีเสียงซุบซิบว่า อาเธอร์กับภรรยาของออสการ์นั้นมีความสัมพันธ์กันเกินเพื่อน

เมื่ออาเธอร์เกษียณในค.ศ. 1924 (อายุ 59 ปี) ปรากฏว่าทางร้านได้รับจดหมายถล่มทลายจากลูกค้า ที่อวยพรให้เขาโชคดี และแสดงความเสียใจที่ต่อไปนี้เมื่อไป Hatchards จะไม่ได้เจออาเธอร์อีก ทางร้านลงประกาศในหนังสือพิมพ์ว่า ถ้าอยากส่งจดหมายไปคุยกับอาเธอร์หลังเกษียณ ให้ส่งไปได้ที่ที่อยู่นี้ รับรองว่าถึงมืออาเธอร์แน่

“สำหรับลูกค้าจำนวนมาก อาเธอร์ ฮัมฟรีย์ส คือ Hatchards” ฟรานซิสกล่าว

Hatchards ขายหนังสืออย่างสงบสุขได้อีกสิบกว่าปี สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ระเบิดขึ้นในยุโรป ปีนั้นคือ ค.ศ.1939

ช่วงสงคราม Hatchards ยังคงเปิดทำการตามปกติ แต่เกิดภาวะขาดแคลนกระดาษ แคตตาล็อกแนะนำหนังสือที่ทางร้านพิมพ์แจกจึงบางลงมาก

อย่างไรก็ตาม Hatchards ระบุในแคตตาล็อกช่วงสงครามว่า “แม้จะบางลง แต่ทางร้านพยายามคัดเลือกหนังสือดีๆ มาแนะนำให้อ่านกันเช่นเคย มีชื่อเสียงกว่า 150 ปีของร้านเป็นประกัน ขอเชิญชวนให้สั่งหนังสือล่วงหน้า เพราะไม่รู้ว่าจะมีหนังสือเพียงพอหรือไม่ หากมาเยี่ยมเยียนที่ร้าน ก็จะได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นและบริการดีเยี่ยมอย่างที่ท่านคุ้นเคย

“เพราะกระดาษขาดแคลน เราจึงส่งไปรษณีย์ให้ลูกค้าได้จำนวนน้อยลง หากท่านเลือกหนังสือได้แล้ว กรุณาส่งต่อแคตตาล็อกนี้ให้เพื่อนที่ไม่ได้รับด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง

“Hatchards ขออวยพรให้ท่านมีคริสต์มาสที่สุขสันต์ เท่าที่ภาวะสงครามจะอำนวยให้เรามีได้ และขอให้มีปีใหม่ที่สงบสุข”

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ฟรานซิสเล่าเรื่องช่วงสงครามให้ฟังว่า

“ช่วงนั้นกระดาษเป็นสินค้าปันส่วน หนังสือพิมพ์บางลงมาก จาก 20 เหลือ 8 หน้า เราต้องลดจำนวนหน้าแคตตาล็อกลงด้วย คุณภาพกระดาษแย่มาก จึงไม่เหลือรอดมาถึงตอนนี้ ช่วงสงครามยังมีการพิมพ์หนังสือ แต่เพราะกระดาษที่ใช้ไม่ค่อยดี หนังสือที่พิมพ์ช่วงนั้น ถึงตอนนี้มันจึงค่อนข้างบอบบาง”

“ร้านเราเปิดตามปกติ แต่พนักงานจำนวนมากต้องไปเข้าร่วมสงครามที่แนวหน้า พอสงครามสงบแล้วก็กลับมาทำงาน เราเสียพนักงานไปหนึ่งคนจากภาวะสงคราม ย่านพิกคาดิลลีโดนระเบิดถล่มหนัก โบสถ์ที่อยู่ใกล้ๆ เนี่ย (St James’s Church) ก็พัง ตึกข้างๆ พังหมด ดังนั้นสิ่งที่คุณเห็นตอนนี้คืออาคารที่สร้างขึ้นใหม่ ร้านเราโชคดีหน่อย ไม่โดนบอมบ์ แค่หน้าต่างพังไปแถบหนึ่ง”

ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ทำไมร้านยังเปิดอยู่อีก เราถามด้วยความแปลกใจ

“เพราะเราไม่มีอะไรทำมั้ง” ฟรานซิสหัวเราะ

“เรื่องเยี่ยมที่สุดอย่างหนึ่งของชาวลอนดอนช่วงสงคราม คือทุกคนพยายามดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่ใช่แค่ Hatchards นะที่เปิดทำการ ร้านอื่นๆ ก็เปิด หลบระเบิดก็หลบกันไป แม้มีสงคราม แต่ชีวิตเรายังต้องดำเนินต่อไป”

แคตตาล็อกยุคหลังสงครามสิ้นสุด มีหนังสือแนะนำชื่อ A Book of Mediterranean Food เขียนโดยอลิซาเบธเดวิด (Elizabeth David) และนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Foundation ของไอแซค อสิมอฟ (Isaac Asimov) ซึ่งฟรานซิสบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องแนะนำหนังสือให้หลากหลาย

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1
วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

ตำรับอาหารของ Elizabeth David เป็นการเปิดโลกใหม่ให้คนอังกฤษ หลังจากต้องใช้ชีวิตอยู่กับระบบอาหารปันส่วนช่วงสงครามมานาน และเคยชินกับอาหารเย็นๆ ชืดๆ ถือได้ว่าเป็นผู้ปฏิวัติวิธีทำอาหารของคนอังกฤษก็ว่าได้ ส่วนนิยายของอสิมอฟก็ออกมาในเวลาเหมาะเจาะ เพราะเล่าถึงการล่มสลายของอาณาจักร และความพยายามที่จะรักษาศิลปวิทยาต่างๆ ไว้ เพื่อรอวัน ‘เกิดใหม่’ อีกครั้ง ซึ่งตรงกับสังคมอังกฤษยุคหลังสงครามพอดี

“อลิซาเบธ เดวิด เป็นนักเขียนเรื่องอาหารที่เยี่ยมมากกกก… (เน้นเสียง) เธอมีอิทธิพลสูงมาก น่าจะเป็นคนที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการอาหารของอังกฤษได้มากกว่าใครๆ เราเลยแนะนำหนังสือของเธอ ส่วนอสิมอฟก็เป็นนักเขียนที่พลิกวงการนิยายวิทยาศาสตร์ ในแคตตาล็อก เราพยายามเลือกหนังสือสำคัญๆ เพราะลูกค้าจะเชื่อเราว่าควรอ่านอะไร” ฟรานซิสระบุ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ คือช่วงต้นทศวรรษ 1950 ธุรกิจของ Hatchards ซบเซาลงมาก หนังสือกลายเป็นของจำเป็นน้อยกว่าปัจจัยสี่ ลูกค้าของร้านก็หายหน้าหายตาไปมาก ฟรานซิสบอกว่า “หลังสงครามเป็นช่วงเวลามืดมนสำหรับอังกฤษ”

แต่แล้วก็มีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วย คือ เซอร์วิลเลียม คอลลินส์ (Sir William Collins) ที่เข้ามาช่วยซื้อร้านไว้ เขาเคยกล่าวว่า ทำใจไม่ได้ถ้าจะต้องเห็นร้านหนังสือแห่งประวัติศาสตร์นี้ถูกเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ

เซอร์วิลเลียมจัดหาผู้จัดการร้านมาช่วยงานได้สองคนในช่วงค.ศ. 1964 – 1965 คือทอมมี่ จอย (Tommy Joy) และปีเตอร์ กิดดี้ (Peter Giddy) ซึ่งเป็นสองคนที่กลายเป็นอีกตำนานของเหล่ากองทัพพนักงาน Hatchards

ปีเตอร์ กิดดี้ เป็นคนริเริ่มจัดหาพนักงานขายที่มีใจรักในการขายหนังสือจริงๆ เพราะก่อนหน้านั้นพนักงานขายของ Hatchards มักเป็นสาวโสดที่มาทำงานเพื่อ ‘รอเวลาแต่งงาน’ ช่วงของผู้จัดการทั้งสองนี้ถือเป็นยุครุ่งเรืองของ Hatchards จนขยายร้านไปอีกห้องหนึ่งที่อยู่ติดกัน และเป็นช่วงที่พนักงานร้าน ‘เก่ง’ จนเป็นที่รู้กันในหมู่ลูกค้า

“ผมภูมิใจในพนักงานของเรามาก สมมติลูกค้ามาปรึกษาว่า อยากเลือกหนังสือให้คนนั้นคนนี้ เล็งเล่มนี้ไว้ คุณคิดว่าไง ถ้าเราคิดว่ามีตัวเลือกที่ดีกว่า แน่นอนเราจะบอกทันที และเราจะแนะนำได้ดีด้วย” ฟรานซิสกล่าว

แต่ถ้าลูกค้าดูจะต้องการ ‘พื้นที่ส่วนตัว’ ฟรานซิสและเหล่าพนักงานจะไม่เข้าไปยุ่ง

“เราต้องเรียนรู้ที่จะอ่านสัญญาณ ว่าเมื่อไรลูกค้าต้องการหรือไม่ต้องการความช่วยเหลือ” ฟรานซิสบอก

ฟรานซิสเหลือบตามองลูกค้า 2 คนที่อยู่ห่างออกไปราวสิบก้าว เขาสังเกตเงียบๆ ครู่หนึ่ง แล้วบอกว่า

“เห็นคุณสุภาพบุรุษตรงโน้นไหม คุณผู้หญิงข้างๆ อาจจะเป็นภรรยาเขา คุณผู้ชายกำลังอธิบายให้เธอฟังว่าทำไมเขาจึงไม่ควรซื้อหนังสือเล่มนี้ เพราะเนื้อหามันไม่น่าจะมีอะไรใหม่ ดูปุ๊บก็รู้ว่าเขาไม่ต้องการให้พนักงานไปยุ่มย่าม เขาอยากใช้เวลาเลือกหนังสือเอง ดังนั้นผมและพนักงานจะไม่เข้าไปรบกวน เห็นไหม เขาวางหนังสือลงแล้ว”

“การทำงานที่นี่สนุก เราพยายามทำให้เป็นที่ที่คนอยากมาทำงานและอยากมาซื้อหนังสือ ลูกค้าของเราวิเศษมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ พวกนักเขียนก็มากันเยอะ มาซื้อหนังสือบ้าง มาเยี่ยมเยียนบ้าง บางคนก็มาแค่ถามว่า ทำไมไม่วางหนังสือใหม่ของฉันที่โต๊ะด้านหน้าล่ะหา” ฟรานซิสทำเสียงสูงล้อเลียนแล้วหัวเราะลั่น กล่าวว่า “ผมคิดว่าทำงานที่นี่สนุกมากนะ”

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

“คุณสมบัติของคนที่จะเป็นพนักงานร้านเรา คือต้องกระตือรือร้น ช่างสังเกต และมีความรู้เรื่องหนังสือดีมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นนวนิยาย พนักงานบางคนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ดีเยี่ยม บางคนเก่งเรื่องหนังสือเด็ก เราพยายามมีพนักงานที่เก่งทุกเรื่อง จะได้คอยช่วยกัน เขาจะรู้ว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น เล่มไหนสำหรับพวกมือโปร ถ้าคุณอยากเข้าใจเรื่องนี้ เล่มไหนคือเล่มที่ต้องอ่าน ดังนั้นคำแนะนำจากพนักงานของเราจึงเป็นประโยชน์แก่ลูกค้ามาก” ฟรานซิสอธิบาย

แล้วตัวเขาเองเก่งด้านไหน

ฟรานซิสทำท่านึก “อืม ผมน่าจะเก่งเรื่องนวนิยายเป็นพิเศษนะ ทำงานด้านนี้มานานแล้ว แล้วก็รู้เรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ หนังสือเด็ก…” เขานับนิ้ว

You must be good at practically everything. เราแซวฟรานซิสเล่น

เขาหัวเราะชอบใจ “อืม…ก็ผมต้องเป็นคนคัดเลือกพนักงานนี่นะ”

 ฟรานซิส เคลเวอร์ดอน (Francis Cleverdon)

223 Years and Counting

ค.ศ. 1990 Hatchards ถูกซื้อไปโดย Dillons Group กลุ่มธุรกิจผู้ค้าหนังสือรายใหญ่ของอังกฤษ และลงทุนปรับโฉมร้านใหม่ในค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นการปรับปรุงครั้งใหญ่นับจากค.ศ. 1908 จนเป็นรูปโฉมแบบที่เห็นในปัจจุบัน พรมที่เห็นในร้านปัจจุบันเป็นพรมที่ทอขึ้นเป็นพิเศษ โดยใช้ลวดลายจากหนังสือที่จัดพิมพ์โดย Hatchards ในยุควิกตอเรียน (คือยุค 1837 – 1901)

ค.ศ. 1998 Dillons Group กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Waterstones เครือข่ายร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ

เท่ากับว่า Hatchards ร้านหนังสือเก่าแก่อันเป็นที่รักของนักอ่าน อยู่ใต้ปีกอันแข็งแกร่งของอาณาจักรธุรกิจหนังสือ ไม่ใช่ร้านหนังสืออิสระที่ต้องคอยกังวลเรื่องสายป่านจะยาวจะสั้น นักอ่านคงไม่ต้องกลัวว่าร้านนี้จะ ‘เจ๊ง’ เชื่อว่า Waterstones คงไม่ปล่อยให้ Hatchards ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานต้องปิดตัวไป

เมื่อไม่ต้องห่วงเรื่องกำลังเงิน ทางร้านจึงยังมีกำลังใจรักษาวัฒนธรรมแบบ Hatchards คือการมีพนักงานที่เป็นมิตรและมีความรู้เรื่องหนังสืออย่างหาตัวจับยาก คัดหนังสือดีมานำเสนอ

อิทธิพลและน้ำใจในวงการหนังสือของ Hatchards ยังเผื่อแผ่ไปถึงนักเขียนตัวเล็กๆ ด้วย

วิธีทำธุรกิจของ Hatchards ร้านหนังสือเก่าสุดในอังกฤษอายุ 223 ปีที่เปิดมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1

“นักเขียนหน้าใหม่จะรัก Hatchards มาก เพราะเราพยายามช่วย เราจัดงานแจกลายเซ็น วางหนังสือของนักเขียนหน้าใหม่ไว้บนโต๊ะหน้าร้านเพื่อให้เด่นที่สุด แล้วก็พยายามมากๆ ที่จะแนะนำลูกค้าให้ลองซื้องานเหล่านี้ไปอ่าน ทำเลเราดี อยู่ใจกลางลอนดอน และลูกค้าค่อนข้างเชื่อถือเรามาก เพราะเราเปิดร้านมานานแสนนาน” ฟรานซิสหัวเราะ

ฟรานซิสทิ้งท้ายไว้ว่า

“สำหรับผม หนังสือทุกประเภท (Genre) น่าสนใจแตกต่างกันไป หนังสือบางเล่มมีคุณค่าทางวรรณกรรมมาก วิเศษมาก นั่นก็ดี แต่บางเล่ม แม้จะไม่โด่งดัง แต่ผมคิดว่ามันมีคุณค่าสูง หนังสือทุกเล่มมีคุณค่าในตัวเอง

“ชาวอังกฤษถูกเลี้ยงมาให้เห็นคุณค่าของการอ่าน คนทั่วไปคิดว่าเป็นสิ่งดีที่ได้อ่านบทกวี อ่านวรรณกรรม เราเป็นชาติที่โชคดี เรามีนักเขียนเก่งๆ ที่ผลิตงานเขียนชั้นเยี่ยม ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว คนอังกฤษทั่วไปพอมีกำลังซื้อหนังสือ และมีเวลาอ่านสิ่งที่ซื้อไป

ผมคิดว่าเรามีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เราอยากรู้ไปหมดว่าคนอื่นในโลกคิดอะไร (หัวเราะ) วิธีเดียวที่จะรู้ได้ก็คืออ่านหนังสือ เราอ่านทุกอย่าง ไม่เฉพาะนักเขียนอังกฤษ เราไม่หยุดอยู่ที่เดิม คนเราต้องอ่านหนังสือ ถึงจะพัฒนาต่อไปได้…”

เมื่อขอให้ฟรานซิสแนะนำหนังสือสัก 3 เล่ม ที่คนรุ่นใหม่ควรอ่าน เล่มที่เขาตอบทันทีคือนวนิยายเรื่อง 1984 ของจอร์จ ออร์เวล

อีก 2 เล่มเขาคิดอยู่นาน พึมพำกับตัวเองไปด้วยเจน ออสเตน (Jane Austen) เหรอ ไม่เอาๆ ชัดเกินไป นั่นต้องอ่านอยู่แล้ว เอาแบบเบาะๆ พอ เอาเก่าแค่ไหนดีล่ะ…” เขาหันมาทางคนถาม “ต้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยไหม หรือภาษาอะไรก็ได้”

ด้วยความเกรงใจเพราะเห็นลูกค้ายืนรอเหมือนจะคุยกับเขา ฉันรีบบอกว่า เอาเล่มเดียวก็ได้

“เดี๋ยวๆ ผมคิดออกแหละ แต่กำลังพยายามเลือกเล่มที่ไม่ยากและยาวเกินไป ไม่งั้นเด็กๆ ไม่อ่าน” ฟรานซิสยิ้ม

“เอานี่ก็แล้วกัน ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ควรอ่าน Dr. Jekyll and Mr. Hyde เพื่อจะได้รู้จักวรรณกรรมคลาสสิก หนังสือเล่มนี้ไม่ยาวมาก และได้รับความนิยมมาตลอด เขียนดีมาก ฉลาดมาก ในยุคนั้นไม่มีนักเขียนคนไหนเขียนเรื่องแบบนี้ จะอ่านสนุกๆ ก็ได้ แต่ถ้าอ่านให้ลึกซึ้ง ผมคิดว่าเป็นการศึกษาจิตใจมนุษย์ที่ดีมาก” ฟรานซิสกล่าว

“อีกเล่มที่อยากแนะนำ เอาเป็นวรรณกรรมสมัยใหม่แล้วกัน คืองานของมิค เฮอรอน (Mick Herron) เป็นนักเขียนนิยายนักสืบและสายลับที่เก่งมาก หนังสือของเขาฉลาดหลักแหลม อุดมอารมณ์ขัน เป็นนักเขียนชั้นเยี่ยมจริงๆ อย่างที่บอกว่า หนังสือทุกเล่มมีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นผมไม่ได้ตั้งใจจะแนะนำแต่หนังสือที่ได้รับรางวัล หรือดังสุดๆ”

“ลองอ่านดูนะ หวังว่าคุณจะชอบ” ฟรานซิสสัมผัสมือเป็นการอำลา เขาเดินไปรับแขกต่อ ลูกค้าเต็มร้านทีเดียว

มาลอนดอนคราวหน้า อย่าลืมแวะมาเลือกหนังสือที่ Hatchards และมองหาฟรานซิส 🙂

เอกสารประกอบการเขียน

Hatchards Brochure and Christmas Catalogue หาอ่านได้จาก www.hatchards.co.uk

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ปรารถนา สำราญสุข

อดีตเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนา สนใจเรื่อง ผู้คน วัฒนธรรม ชนพื้นเมือง การพัฒนาชนบทและพื้นที่ชายแดน ปัจจุบันเรียนมานุษยวิทยา เพื่อกลับไปเป็นนักพัฒนาที่เข้าใจผู้คนมากกว่าเดิม