ธุรกิจ : แบรนด์ HARV (บริษัท แกรนด์ดิส จำกัด)

ประเภทธุรกิจ : เฟอร์นิเจอร์

ปีที่ก่อตั้ง : ค.ศ.​ 1983 (แบรนด์ HARV เริ่ม ค.ศ. 2020)

ผู้ก่อตั้ง : ปึงจือฮวด, ไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์

ทายาทรุ่นสอง : ชาตรี และ พรรณมาศ วระพงษ์สิทธิกุล

ทายาทรุ่นสาม : ชนน วระพงษ์สิทธิกุล

ใครว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์ เป็นได้แค่โชว์รูม

แต่ไม่ใช่สำหรับ HARV Brand แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในแบบ Circular Economy ที่เน้นความยั่งยืนทั้งการผลิต การใช้งาน การตลาด จากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด

HARV มาจากคำว่า Harvest ที่แปลได้ทั้งเก็บเกี่ยวและผลผลิต เกิดจากความตั้งใจเก็บเกี่ยวสิ่งที่มีอยู่แล้วมาต่อยอด และพัฒนาจนเกิดเป็นแบรนด์ของตัวเองของ เชียร์-ชนน วระพงษ์สิทธิกุล ทายาทรุ่นสามจาก Inhome Furniture แบรนด์เฟอร์นิเจอร์จากไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด ซึ่งทำจากเศษไม้ที่เหลือจากการผลิตไม้

HARV แบรนด์แนวคิด Circular Economy ของทายาทรุ่นสาม ที่อยากเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

ไม้ปาร์ติเกิลเป็นหนึ่งในวัสดุที่ดี ราคาสบายกระเป๋า น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายได้ง่าย เหมาะกับสายแต่งห้อง ตกแต่งคาเฟ่ ออฟฟิศ และเชียร์ยังเน้นใช้เศษไม้เหลือจากโรงงานของครอบครัว เขาเลือกแปรรูปเศษไม้ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัสดุเหลือใช้และลดปริมาณขยะ ผลิตสินค้าที่เน้นความคุ้มค่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจทั้งรูปแบบโรงงาน Inhome และแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer : OEM) มาอย่างยาวนาน 39 ปี

ทุกดีไซน์ที่แบรนด์นี้ออกแบบ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของผู้ผลิต และผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

พื้นที่นี้จึงอยากเปิดให้เป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ เป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์ เป็นที่ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กับสิ่งแวดล้อม

Inhome

ย้อนกลับไปเมื่อ 39 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 1983 ครอบครัวนี้ไม่ได้ใช้วิธีบริหารงานแบบกงสีเสมือนหลายตระกูลใหญ่ แต่อากงเลือกมอบแต่ละโรงงานให้ลูก ๆ ไปดูแลกันเอง เพราะอยากให้ลูกหลานได้แสดงศักยภาพเต็มที่ และมีธุรกิจหาเลี้ยงครอบครัวได้ไปจนถึงอนาคต หนึ่งในผู้สืบทอดเลือกโรงงานไม้ซึ่งต่อยอดมาเป็นแบรนด์ Flo Furniture ส่วน คุณแม่พรรณมาศ วระพงษ์สิทธิกุล คุณแม่ของเชียร์เลือกรับช่วงต่อ Inhome Furniture จากอากงและคุณลุงมาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอักษรพิมพ์เล็กสีขาวตัดกับโลโก้แบรนด์สีแดง แสดงถึงความจริงใจและความซื่อสัตย์ที่มีให้ลูกค้า เพราะเฟอร์นิเจอร์ในแบบของ Inhome ทำจากไม้แผ่นใหญ่ ใช้วัสดุที่แข็งแรงคงทน ออกแบบเพื่อการใช้งานอย่างยาวนานและคุ้มค่า เน้นผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตามบ้านและออฟฟิศ มีสินค้าขายดีเป็นที่รู้จักอย่างตู้ทีวี ตู้รองเท้าที่จุได้เยอะและระบายอากาศได้ดี มีทั้งทำส่งออก งาน OEM และงานของแบรนด์เอง ซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิดของโรงงานที่สั่งสมมารุ่นสู่รุ่นว่า ทุกครั้งต้องตัดไม้แผ่นหนึ่งให้เหลือเศษน้อยที่สุด และนำเศษที่เหลือนั้นไปต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ เช่น เอาเศษไม้เหลือจากหน้าบานมาทำลิ้นชัก

แต่แพตเทิร์นที่ลงตัวแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้ง บางทีการผลิต 3 ชิ้นอาจจะประหยัดพื้นที่ไม้มากกว่าการทำชิ้นเดียว แบรนด์ก็พร้อมจะเลือกอย่างหลัง เพื่อพยายามใช้ไม้ให้ได้ 85 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือเศษน้อยที่สุด 

ลูกชายผู้เป็นทายาทรุ่นสามเกริ่นว่า “บางทีเฟอร์นิเจอร์อาจสวยน้อยหน่อย แต่แข็งแรงใช้ได้นาน บางทีเขาก็จะเพิ่มขาตรงนั้น เพิ่มคานตรงนี้ให้ไม่แอ่น ซึ่งเป็นแนวคิดรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่ทำมาตลอด” 

ชนิดที่ว่าเรื่องดีไซน์เป็นรอง ฟังก์ชันและความคุ้มค่าต้องมาก่อน

HARV แบรนด์แนวคิด Circular Economy ของทายาทรุ่นสาม ที่อยากเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์
HARV แบรนด์แนวคิด Circular Economy ของทายาทรุ่นสาม ที่อยากเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

HARV

หลังจากเชียร์เรียนจบและทำงานประจำได้ประมาณ 3 ปี ก็ค้นพบว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง จึงตัดสินใจออกมาพัฒนาแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของที่บ้าน พร้อมทั้งต่อยอดเป็นแบรนด์ตัวเองขึ้นมา และในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เขาได้เจอกับเพื่อนมัธยมที่เคยรู้จัก แต่ไม่ได้เจอกันนานอย่าง ตาล-ณัฐฏิยา รัชตราเชนชัย ซึ่งกลับมาเจอกันอีกครั้งในงานแต่งงานของเพื่อน เชียร์ผู้มีคอนเซ็ปต์และสิ่งที่อยากทำอย่างชัดเจนแล้ว จึงชวนตาลซึ่งกำลังมีแพลนออกจากงานประจำ มารับหน้าที่ดีไซเนอร์ ทั้งคู่จึงตกลงใจร่วมสร้างแบรนด์นี้มาด้วยกัน

เตียง ตู้ และโต๊ะ ผลิตจากไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด ซึ่งทำจากเศษไม้เล็ก ๆ ที่เหลือจากอุตสาหกรรมการผลิตไม้ นำมาผสมกาวขึ้นรูปเป็นแผ่น กาวที่ใช้ก็มีหลายเกรด HARV เลือกใช้เกรด กาว E1 ซึ่งมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ต่ำ เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว ทั้งยังไม่มีกลิ่นฉุนแสบจมูกและไม่ระคายเคืองตา 

คอนเซ็ปต์หลักของแบรนด์คือ มองการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องพัฒนาและเสริมทั้งสองอย่างไปพร้อมกัน

เริ่มจากการมองหาความสัมพันธ์ใหม่ ๆ ระหว่างเฟอร์นิเจอร์กับผู้ใช้งาน เช่น ตู้ Pantry สำหรับคนดริปกาแฟที่บ้าน ตู้วางเครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ สเตชั่นแยกขยะสำหรับใช้ในครัวเรือน เพื่อตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน 

นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์ยังสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานบางส่วนตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ให้เฟอร์นิเจอร์ได้เติบโตไปกับผู้ใช้งาน เพื่อยืดอายุการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการคำนึงถึงการใช้วัสดุอย่างยั่งยืน ไม้หนึ่งแผ่นจึงถูกคิดตั้งแต่เริ่มเลยว่า ตัดส่วนไหนอย่างไร ซึ่งตาลมองว่าสิ่งนี้เป็นโจทย์ตั้งต้นในการออกแบบได้ดี

เมื่อไม้แผ่นใหญ่ถูกนำไปตัดแต่งเป็นเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นแล้ว สิ่งที่เหลือต่อจากนั้นคือ เศษไม้

HARV แบรนด์แนวคิด Circular Economy ของทายาทรุ่นสาม ที่อยากเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

HARV จึงเลือกใช้เศษไม้เหล่านั้นมาแปลงโฉมให้กลายเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ที่เน้นดีไซน์เรียบง่าย สบาย ๆ และฟังก์ชัน ไปพร้อม ๆ กับเรื่องสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นสินค้ามากมายที่เน้นขายดีไซน์และไอเดีย ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ฉีกออกจากแบรนด์เดิมอย่างสิ้นเชิง เช่น ‘PETAL STOOL’ ขาของเก้าอี้สตูลทั้ง 4 แผ่น ถูกออกแบบให้มีแพตเทิร์นการตัดและการเจาะเหมือนกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการกับเศษไม้ที่มีในโรงงาน หุ้มบุด้วยผ้ารีไซเคิลจากขวด PET 

มีเก้าอี้แล้วก็ต้องมีโต๊ะ Particle Board Scraps โต๊ะข้างจากเศษไม้ปาร์ติเกิลบอร์ด โดยโต๊ะข้างประกอบด้วยชิ้นส่วนง่าย ๆ 4 ส่วน ที่ปรับเปลี่ยนรูปทรงและลวดลายของแต่ละชิ้นได้อย่างอิสระไม่มีที่สิ้นสุด

สตูลชิ้นนี้พิเศษตรงแพ็กเกจจิ้งที่เป็นได้ทั้งกระเป๋าและเบาะ Paree Stool (มาจากคำว่า Pare แปลว่า ปอกเปลือก) จึงสื่อถึงลูกเล่นของที่นั่งเบาะ นอกจากจะใช้รองนั่งเพื่อความสบายแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเปลือกหุ้ม หรือแกะออกมาเป็นถุงผ้าไว้หุ้ม Flat Pack Stool ตัวนี้ เพื่อลดการใช้วัสดุอื่น ๆ ในการบรรจุเพื่อขนส่ง พร้อมทั้งสกรีนวิธีประกอบลงบนผ้า รับประกันว่าหมดปัญหาคู่มือหายอย่างแน่นอน และลวดลายบนเบาะยังเพิ่มความน่ารักให้มุมบ้านได้ด้วย

และโปรเจกต์สุดพิเศษ ‘RECO cabinet’ by HARV x LAMUNLAMAI ตู้เก็บของที่เป็นมากกว่าที่เก็บของ เพราะสร้างไลฟ์สไตล์ให้เจ้าบ้านได้ด้วย ผสมทั้งศาสตร์และศิลป์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว ระหว่างศาสตร์ของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และเซรามิกสไตล์ซิกเนเจอร์ของ LAMUNLAMAI กลายมาเป็นตู้ที่จะมอบศิลปะในการใช้ชีวิตและฟังเพลงให้กับผู้ใช้งาน

วัสดุที่แบรนด์มีอย่างเดียวคือไม้ การคอลแลบเลยเป็นทางที่ถูกเลือก ซึ่งเป็นการช่วยกันโปรโมต ได้เรียนรู้ Know-how หลากหลาย ได้คอนเนกชัน และได้แลกเปลี่ยนวิธีคิดซึ่งกันและกัน

“เราตั้งใจออกแบบเพื่อที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด ไปพร้อม ๆ กับคงคุณภาพการใช้งานที่ดี”

ความคุ้มค่าไม่ได้จบลงในส่วนการผลิต แต่ยังครอบคลุมไปถึงการตลาดที่คุ้มค่าด้วย เชียร์ศึกษาการลงทุน การโฆษณาอย่างละเอียดทุกครั้ง และเลือกทำ SEO เพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว

HARV แบรนด์แนวคิด Circular Economy ของทายาทรุ่นสาม ที่อยากเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

จาก Inhome สู่ HARV Brand

“ตอนแรกเขาคิดว่ามันยากเหมือนกัน” เชียร์เล่า

คุณพ่อคุณแม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ที่ลูกชายต้องการจะสื่อ แต่อดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะเนื้อไม้คนละเกรด ไม่สามารถแยกออกด้วยการมองเห็นหรือสัมผัสพื้นผิว การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เพราะเป็นสื่อหลักที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจตรงกันกับแบรนด์

นอกจากเรื่องการเข้าใจคุณภาพไม้ ยังมีอีกเรื่องที่พ่อแม่เป็นห่วง คือเรื่องการแข่งขันด้วยราคาที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งต้นทุนที่สูงขึ้น ตั้งแต่ที่จีนเปิดประเทศก็มีการนำเข้าสินค้าต่าง ๆ ในราคาถูก ขายในราคาเทียบเท่าต้นทุนของแบรนด์ การแข่งราคา และการกดราคา จึงเป็นเหมือนปัญหาสากลที่หลากหลายแบรนด์ประสบ เพื่อความต้องการเป็นที่ยอมรับของตลาด 

“แต่เราไม่อยากเข้าสู่สนามนั้น เราเลยสร้างแบรนด์เราเอง ตอนนี้ก็เหลือพิสูจน์ให้เขาเห็นอีกหน่อยว่า มันเป็นไปได้และหวังว่าคนที่เริ่มมาสนใจสิ่งแวดล้อม จะมาสนใจของของเรามากขึ้น” 

เชียร์เล่าต่อว่าในช่วงเริ่มต้นยังมีรายได้ไม่มาก แต่เขาเชื่อมั่นที่จะค่อย ๆ เติบโตไปเรื่อย ๆ เมื่อพ่อแม่เริ่มเห็นว่าเป็นชิ้นเป็นอัน ตัวเขาทำจริงจัง ก็เริ่มซัพพอร์ตมากขึ้น โดยมอบพื้นที่ส่วนหน้าโรงงานที่ว่างอยู่ ให้ขยายจากออนไลน์สู่หน้าร้าน จึงกลายมาเป็นโชว์รูมและร้านกาแฟอย่างที่เราเห็น

สิ่งที่ทำให้พ่อแม่มั่นใจไม่ใช่เพียงแนวคิดหนักแน่นของเขา แต่เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริง

แบรนด์ของทายาทรุ่นสามโรงงานเฟอร์นิเจอร์กับแนวคิด Sustainable Design ที่ตั้งใจเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์
แบรนด์ของทายาทรุ่นสามโรงงานเฟอร์นิเจอร์กับแนวคิด Sustainable Design ที่ตั้งใจเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

HARVKIND

“เราอยากสร้างคอมมูนิตี้สำหรับคนที่สนใจสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสัตว์เลี้ยง”

HARVKIND ตั้งใจเป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ไม่แม้แต่คนที่สนใจสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสัตว์เลี้ยง แต่รวมถึงคนในพื้นที่ที่เพียงแค่อยากหาร้านคาเฟ่ เพื่อนั่งผ่อนคลายจิบกาแฟ พบปะพูดคุยกับใครสักคน คนที่ต้องการพื้นที่สงบในการทำงาน หรือคุณแม่นั่งรอเวลาไปรับลูกที่โรงเรียน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงไลฟ์สไตล์ส่วนหนึ่ง แต่เป็นส่วนที่หล่อหลอมให้คอมมูนิตี้แห่งนี้เกิดขึ้น

เชียร์มองว่าร้านกาแฟในแบบ Pet Friendly จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนได้ ทำให้คนเข้าถึงง่ายมากขึ้น และเขาตั้งใจอยากให้ HARVKIND เป็นพื้นที่รองรับไลฟ์สไตล์ของชาว HARV ที่เอาใจใส่สิ่งที่อุปโภคบริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ผู้คน และสิ่งมีชีวิตรอบตัว

 เมื่อเปิดประตูเข้ามา จะเจอกับโซนแรก เป็นส่วนของคาเฟ่ มีเคาน์เตอร์ชงกาแฟ มีมุมที่นั่งไม่มากไม่น้อยให้ทุกคนได้เลือกตามมุมโปรด โต๊ะ เก้าอี้ รวมไปถึงถังขยะแยกประเภท เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นเป็นของที่แบรนด์มีขาย เหมือนให้ลูกค้าได้มาลองสัมผัสก่อนซื้อจริง

“สมัยเรียนอยู่ที่รุ่งอรุณ มีการปลูกฝังให้แยกขยะ พอโตขึ้นมาเราเห็นผลกระทบเยอะตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งโลกร้อน อากาศร้อน เลยพยายามที่จะทำเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไปไหนมาไหนเราก็พกแก้ว พยายามไม่ใช้ถุง คือพยายามทำเท่าที่เราทำได้โดยไม่ได้ยุ่งยากชีวิตเกินไป”

ความสนใจในการแยกขยะก่อเกิดเป็นไอเดียถังขยะแบบแยกประเภทในดีไซน์โมเดิร์นมินิมอล เข้ากับทุกมุมในบ้าน ถ้าหากว่าสนใจก็สอบถามรายละเอียดและจับจองกลับบ้านได้ ส่วนทางด้านขวาของโซนที่นั่งก็จะมีอาหารเพื่อสุขภาพจากน้องชาย โซนคอมบูฉะ มีรีฟิลสเตชันจากแบรนด์ Hug Organic และมีอาหารสำหรับน้องหมาจำหน่ายด้วย

ถัดเข้าไปด้านในเป็นโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ มีโต๊ะ ตู้เตียง เก้าอี้ของ HARV วางเรียงรายให้ลูกค้าได้ชมและสัมผัส 

นอกจากนี้ยังมีสตูดิโอขนาดย่อมสำหรับให้เช่าทำกิจกรรม และมีเวิร์กชอปอเนกประสงค์ เช่น จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์บ้าง กาแฟบ้าง และมีอีเวนต์เกิดขึ้นอยู่เสมอบนพื้นที่ส่วนนี้ด้วย 

แบรนด์ของทายาทรุ่นสามโรงงานเฟอร์นิเจอร์กับแนวคิด Sustainable Design ที่ตั้งใจเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์
แบรนด์ของทายาทรุ่นสามโรงงานเฟอร์นิเจอร์กับแนวคิด Sustainable Design ที่ตั้งใจเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

จาก HARV วันนี้ ถึง HARV ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ปกติแล้ว แบรนด์จะรับประกันเฟอร์นิเจอร์ภายใน 10 ปี โดยจะมีบริการรับซ่อมสินค้าหากมีปัญหา แต่ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกล HARV ตั้งใจรับคืนเฟอร์นิเจอร์ที่มีอายุการใช้งานนานเกิน 5 ปี กลับมา เพื่อนำไปบริจาคหรือส่งต่อมือสอง เพื่อให้คนนำไปต่อยอดมูลค่า

ส่วนเศษไม้ปาร์ติเกิลที่นำมาแปรรูปต่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ หากวันหนึ่งไม่เพียงพอก็มีแผนจะจัดซื้อจากโรงงานอื่น แทนที่จะใช้ทรัพยากรใหม่

ทายาทรุ่นสามคนนี้อยากให้ HARV เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ดำเนินธุรกิจแบบ Circular Business อย่างสมบูรณ์ตามหลัก 3Rs ได้แก่ Reduce, Reuse, Recycle และเป็นแบรนด์สำหรับคนที่อยากแต่งบ้าน แต่งร้าน แต่งออฟฟิศ หรือคนที่อยากมีเฟอร์นิเจอร์สวย ใช้งานได้ดี ตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้ใช้งานที่หลากหลาย ทั้งยังใช้งานได้อย่างยั่งยืนที่สุดจนค่อย ๆ เติบโตไปพร้อม ๆ กับผู้ใช้งาน

“เราอยากทำเป็นตัวอย่าง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำงานอะไร ทุกคนก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้ เราอยากทำให้เห็นว่าธุรกิจเล็ก ๆ ของเราก็ทำเรื่องแบบนี้ได้ เราอยากให้คนทำเยอะขึ้นนะ แม้จะเป็นอุตสาหกรรมเราเอง เหมือนทุกคนจะได้ช่วยกันพัฒนา ทั้งวัสดุและวิธีการทำ สุดท้ายมันต้องมี Supply Chain และถ้าคนใช้มากขึ้น พอผลิตเยอะขึ้น ราคามันก็จะถูกลง” 

เชียร์และตาลหวังเสมอว่า อยากให้คนที่ไม่เคยสนใจสิ่งแวดล้อมเลยได้ลองฉุกคิดสักนิด และอยากให้ HARV เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมากขึ้น 

“อย่างการทำธุรกิจของเรา เราไม่ได้ทำแค่เอากำไรนะ แต่เราให้คืนกับคนและสิ่งแวดล้อมด้วย”

แบรนด์ของทายาทรุ่นสามโรงงานเฟอร์นิเจอร์กับแนวคิด Sustainable Design ที่ตั้งใจเป็นมากกว่าร้านขายเฟอร์นิเจอร์

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล