3,000,000 เล่ม คือ ยอดขายหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งหมดในเมืองไทยตลอด 22 ปีที่ผ่านมา

นับตั้งแต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ฉบับภาษาไทย ปรากฏตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 โลกการอ่านของเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หลายคนที่ไม่เคยชอบอ่านหนังสือ แต่พอได้อ่านเรื่องราวของพ่อมดน้อยที่ J. K. Rowling บรรจงรังสรรค์ขึ้น ก็เหมือนโดนมนตร์สะกดจนต้องอ่านต่อจนจบ และตั้งตารอคอยว่าเล่มถัดไป แฮร์รี่ พอตเตอร์ และผองเพื่อนจะผจญภัยอย่างไร

หลายคนฝันไกลว่า อยากไปเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนฮอกวอตส์ อยากทดลองขึ้นรถไฟที่ชานชาลาที่ 9 ¾ ที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส อยากขี่ไม้กวาดบินไปบนท้องฟ้า เพื่อแข่งขันกีฬาควิดดิช

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

มนตร์เสน่ห์กว่า 4,000 หน้านี้ ทำให้ใครหลายคนหลุดเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการหนังสือเด็กบ้านเรา

แต่ความสำเร็จทั้งหมดนี้ มีเบื้องหลังสำคัญมาจากความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสรรหาผลงานดี ๆ มานำเสนอแก่นักอ่านทั่วประเทศ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวนเหล่าบรรดามักเกิ้ล ไปพูดคุยกับ 3 บุคคลที่มีส่วนผลักดันหนังสือชุดนี้ตั้งแต่แรกเริ่มต้น ทั้ง สุมาลี บำรุงสุข ผู้แปลหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ 5 ใน 7 เล่ม, พรกวินทร์ แสงสินชัย บรรณาธิการบริหารหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 6 – 7 แต่คลุกคลีกับพ่อมดน้อยตั้งแต่เล่มที่ 1 และ คิม จงสถิตย์วัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ลูกสาวของ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา เจ้าของสำนักพิมพ์ที่อยู่เบื้องหลังผลงานทั้งหมด มาร่วมพูดคุยถึงปฏิบัติการนำเรื่องราวของพ่อมดน้อยข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาะอังกฤษมายังเมืองไทย

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

หากไม้กายสิทธิ์และผ้าคลุมล่องหนของคุณพร้อมแล้ว ก็ออกเดินทางกันได้เลย..

01
มนตร์สะกดของพ่อมดน้อย

ใครจะคิดว่า จุดเริ่มต้นของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย จะมาจากจดหมายฉบับหนึ่งที่ สุมาลี นักเขียนวรรณกรรมเยาวชน ส่งมาถึง สุวดี เพื่อนที่คุ้นเคยกันมานานนับสิบปี

เวลานั้น สุมาลีกับสามีชาวอเมริกันได้โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่เมืองเดอรัม สหราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. 2539 และพอดีว่าเธออยากหาหนังสือดี ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวของเด็กอังกฤษ เพื่อส่งไปให้หลานของสามีที่สหรัฐอเมริกาเป็นของขวัญคริสต์มาส เพื่อนจึงแนะนำหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งออกมาแล้ว 3 เล่ม เพราะกำลังโด่งดังมากในหมู่เด็ก ๆ แถมทุกเล่มยังได้รับรางวัล Nestlé Smarties Book การันตีอีกต่างหาก

“ด้วยความอยากรู้ว่า ดีหรือเปล่า ก็เลยไปขอยืมห้องสมุดมาอ่าน จำได้ว่าบทที่ 1 น่าเบื่อมาก แต่เพราะทุกคนบอกว่าเล่มนี้ดี และเราเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ ก็เลยรู้ว่าบทแรกไม่จำเป็นต้องดีที่สุด แล้ว J. K. Rowling เป็นนักเขียนมือใหม่ด้วย ก็เลยอ่านต่อไป พออ่านเรื่อย ๆ ก็ชักน่าสนใจมากขึ้น สุดท้ายติดใจมาก ไปขอยืมเล่ม 2 ต่อ ปรากฏว่ามีคนคอยคิวเยอะมาก เขาบอกว่า Waiting List is such a Long List ก็เลยบอกว่าไม่ได้แล้ว ต้องไปซื้อเล่ม 2 มาอ่าน คราวนี้ยอมควักกระเป๋าเอง” สุมาลีกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

เสน่ห์หนึ่งที่ดึงดูดสุมาลีคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่นตรงความครบรส ทั้งแฟนตาซี ดราม่า อารมณ์ขัน มีฉากสืบสวนสอบสวน ผจญภัย ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องมิตรภาพของเพื่อนในโรงเรียน นับเป็นพล็อตเรื่องที่โดดเด่นเกินคาดเดา แถมภาษาก็ไม่ได้อ่านยากมากนัก แม้จะมีศัพท์สแลงค่อนข้างเยอะก็ตาม เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่ใครหลายคนอ่านแล้วมักจะติดใจ

“เรื่องชีวิตนักเรียนอังกฤษเป็นสิ่งที่คนชอบมาก แล้วยังมีเรื่องการเติบโต ลูกกำพร้าจะต้องต่อสู้ยังไง แล้วยังมีเรื่องเทพนิยายอะไรต่าง ๆ สอดแทรกเต็มไปหมด คือมันมีทุกอารมณ์ หลากหลายแนว แต่มาร่วมกันอยู่ในเล่มเดียว แล้วที่สำคัญมันไม่ใช่หนังสือที่เด็กอ่านเท่านั้น แม้แต่คนโตอ่านก็ยังชอบ บนรถเมล์ หรือในรถใต้ดิน ก็เห็นหลายคนอ่าน คือภาษาของ J. K. Rowling อาจจะไม่ได้สละสลวยนัก แต่เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งมาก”

ยิ่งอ่านไปเรื่อย ๆ สุมาลีก็ยิ่งรู้สึกเสียดาย หากหลาน ๆ ที่เมืองไทย จะไม่ได้อ่านวรรณกรรมดี ๆ เช่นนี้บ้าง เธอจึงเขียนจดหมายไปถึงสุวดี ระบุว่า ได้พบหนังสือชุดหนึ่งที่น่าสนใจมาก เพราะทำให้เด็กอังกฤษที่เลิกอ่านหนังสือแล้วกลับมาอ่านอีกครั้ง จึงอยากให้นานมีบุ๊คส์นำมาพิมพ์ โดยเธอจะรับอาสาแปลให้เอง

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

“สมัยก่อนนักแปลจะซื้อลิขสิทธิ์เองแล้วนำมาแปล จากนั้นก็ค่อยมาขอให้โรงพิมพ์ช่วยพิมพ์ให้ แต่ตั้งแต่อยู่ที่อังกฤษ พวกเอเยนต์ทั้งหลายเขาจะไม่ขายให้กับเอกชนหรือคนทั่วไปแล้ว เราต้องเป็นบริษัทหรือสำนักพิมพ์ไปซื้อลิขสิทธิ์ แล้วเขาจะมีโครงการเลยว่าไปพิมพ์กี่พันเล่ม แต่ดิฉันรู้ดีว่าคงไม่มีปัญญาตั้งบริษัทของตัวเอง จึงมาขอคุณสุวดี เพราะเห็นทำหนังสือเด็กมาตลอด แล้วก็คงจะสนใจ”

สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ในเวลานั้นแม้จะถือกำเนิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงเรื่องวรรณกรรมเยาวชนเท่าใดนัก ที่ผ่านมาเคยพิมพ์หนังสือแนวนี้มาแล้ว 38 ปก แต่ยอดขายส่วนใหญ่มักอยู่ที่ 1,000 – 3,000 เล่ม เพราะหนังสือแนวที่โด่งดังของสำนักพิมพ์นี้มักเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก โดยมีนิตยสารสำคัญอย่าง Go Genius เป็นหัวขบวน

เดิมทีสุวดีเป็นทายาทของบริษัทนานมี ผู้ผลิตเครื่องเขียนตราม้าและร้านหนังสือจีน เธอเป็นนักศึกษายุค 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เคยเดินทางเข้าป่า หลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชน กระทั่งกลับสู่เมือง สุวดีจึงตระหนักว่า ยังมีทางออกอื่นมากมายที่ช่วยสร้างสังคมที่ดี หนึ่งในนั้นคือการผลิตหนังสือดีสำหรับเด็ก เพื่อเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย

เพราะฉะนั้น พอได้ยินว่ามีวรรณกรรมที่ปลุกให้เด็กอังกฤษหันกลับมาอ่านหนังสือได้ แถมยังมีคำแนะนำมาจากสุมาลีอีกต่างหาก จึงไม่ลังเลที่จะขวนขวายหาลิขสิทธิ์ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เพื่อมาตีพิมพ์

แต่การคว้าตัวพ่อมดน้อยมานำเสนอสู่นักอ่านชาวไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนานมีบุ๊คส์ต้องแข่งขันบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สนใจ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เหมือนกัน แถมยังต้องซื้อลิขสิทธิ์พร้อมกันทั้ง 3 เล่ม เนื่องจาก J. K. Rowling ต้องการมั่นใจว่า ผลงานของเธอจะถูกตีพิมพ์ออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับว่าต้องใช้เงินประมูลจำนวนมหาศาล

“สมัยก่อน เราไม่รู้ว่าอะไรคือการประมูลต้นฉบับ แต่เราคิดแค่ว่ายังไงก็ต้องเอาให้ได้” คิม ลูกสาวคนโตของสุวดีย้อนวันวาน

ครั้งนั้น นานมีบุ๊คส์ต้องทำแผนการตลาดอย่างละเอียดว่าจะทำอย่างไรให้หนังสือชุดนี้ประสบความสำเร็จ แถมพอยิ่งประมูล ค่าลิขสิทธิ์ก็ยิ่งสูงขึ้น แต่สุวดีก็ไม่ถอย ด้วยหวังว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประตูบานสำคัญที่ช่วยเปิดโลกการอ่านให้แก่เด็ก ๆ และในที่สุดเธอก็เป็นผู้ชนะ ท่ามกลางความงงงวยของผู้คนในแวดวงหนังสือที่ไม่คิดว่า บริษัทเล็ก ๆ แห่งนี้จะหาญกล้าช่วงชิงวรรณกรรมระดับโลก 

“พอเราทำหนังสือวิทยาศาสตร์มาสักพัก จึงพบว่าพื้นฐานการอ่านหนังสือของเด็กไทยค่อนข้างต่ำ แต่คุณแม่ก็คิดว่า หากอยากให้เด็กมีพื้นฐานการอ่านดีขึ้น ก็ต้องให้เขาอ่านเยอะ ๆ และถ้าอยากให้อ่านบ่อย ๆ ก็ต้องอ่านอะไรที่สนุก จึงเป็นที่มาของการผลิตวรรณกรรมเยาวชน แล้วด้วยความที่เราเคยทำซีรีส์ผจญภัยปริศนาปีศาจ เช่น ผีกระจก ออกมาแล้วมันขายได้ แสดงว่าเด็กนั้นโหยหาความสนุก และถ้า แฮร์รี่ พอตเตอร์ เคยพิสูจน์ที่อังกฤษมาแล้ว เราก็อยากพิสูจน์เรื่องนี้ที่เมืองไทยเหมือนกัน” 

นั่นเองคือ จุดเริ่มต้นของเด็กชายผู้รอดชีวิตที่สร้างประวัติศาสตร์และจุดกระแสวรรณกรรมเยาวชนขึ้นมาในประเทศไทย

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

02
สู่ชานชาลาที่ไม่มีใครรู้จัก

แม้นานมีบุ๊คส์จะเคยผลิตวรรณกรรมเยาวชนมาก่อนถึง 38 ปก แต่สำหรับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทุกอย่างกลับแตกต่างออกไป

สุวดีตั้งใจจะเร่งผลิต แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้ง 3 เล่มให้ทันภายในครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2543 บรรยากาศในสำนักพิมพ์เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและวุ่นวาย ทุกคนถูกระดมให้มาช่วยกันสานภารกิจนี้ รวมถึงน้องใหม่อย่าง พรกวินทร์ ที่เดิมทีทางบริษัทรับมาให้ผลิตหนังสือแนวสอนภาษา แต่ครั้งนี้ต้องมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของ พิมพ์อนงค์ ริมสินธุ บรรณาธิการบริหาร คอยทำงานจิปาถะ

แต่ปัญหาคือ ทุกคนในกองบรรณาธิการรวมถึงตัวสุมาลี ไม่เคยรับผิดชอบงานใหญ่แบบนี้มาก่อน จึงมีการเสนอให้ฉีกต้นฉบับออกเป็นส่วน แล้วกระจายให้นักแปลแต่ละคนช่วยกันแปลเพื่อความรวดเร็ว

“พวกเราไม่เคยอีดิตหนังสือเล่มใหญ่แบบนี้มาก่อน ทุกคนใหม่มาก ถึงมีข้อเสนอเรื่องฉีกต้นฉบับขึ้นมา แต่ความจริงแล้วไม่ควรทำอย่างยิ่ง ยกเว้นคนแปลจะเป็นพี่น้องหรือสามีภรรยาที่ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว อาจจะฉีกแปลได้ แต่ตอนนั้นเราคิดแค่ว่า ต้องทำให้เสร็จ” พรกวินทร์อธิบาย

“ตอนนั้นดิฉันก็เลยบอกทางสำนักพิมพ์ว่า อย่าเลย ไม่อย่างนั้นจะหนักบรรณาธิการมาก เพราะต้องตรวจ 3 – 4 สำนวน แล้วการแปลชื่ออะไรต่าง ๆ คำศัพท์จะไม่เหมือนกัน ด้วยความดื้อมาก เพราะฉะนั้น ดิฉันขอแปลเองก่อน” สุมาลีช่วยขยายภาพ

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

การทำงานแปลนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ สุมาลีแปลต้นฉบับจากที่อังกฤษ แล้วส่งไปรษณีย์มายังสำนักพิมพ์ที่เมืองไทย จากนั้นต้นฉบับก็จะถูกส่งต่อไปให้ งามพรรณ เวชชาชีวะ นักเขียนและนักแปลวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งสุวดีขอแรงให้มาช่วยเป็นบรรณาธิการต้นฉบับ ก่อนมาจบที่ พิมพ์อนงค์ กับกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ ที่จะต้องตรวจสอบทุกอย่างให้ถูกต้อง เพื่อตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มและวางจำหน่ายต่อไป

ในส่วนการแปลนั้น ต้องถือว่าพลิกการทำงานของสุมาลีโดยสิ้นเชิง เพราะแต่เดิมเธอจะใช้เวลาแปลต้นฉบับเล่มหนึ่งราว ๆ ครึ่งปี จากนั้นถึงค่อยส่งให้สำนักพิมพ์ตรวจสอบรวดเดียว แต่คราวนี้ สุวดีบอกให้สุมาลี ทำตารางการทำงานให้ชัดเจน พร้อมประสานงานกับพิมพ์อนงค์ว่าจะส่งกี่บท ภายในระยะเวลาเท่าใด ซึ่งสุวดีให้อิสระสุมาลีกำหนดตารางเอง แต่ก็ต้องทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ด้วย

“สมัยนั้น การใช้อินเทอร์เน็ตก็ยังไม่คล่อง การใช้ดิกชันนารีออนไลน์ก็มีน้อย เพราะฉะนั้นดิฉันก็ต้องซื้อดิกชันนารีเล่มโต ๆ อย่าง Collins English Dictionary Complete and Unabridged มาใช้ เพราะ Cambridge Advanced Learner’s Dictionary แบบที่ใช้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยนั้นไม่พอ โดยวิธีการแปล ดิฉันจะอ่าน 3 เที่ยว เที่ยวแรกอ่านเอาเรื่องก่อน เที่ยวที่สองอ่านเอาความ และเที่ยวที่สามถึงจะแปล โดยระหว่างนั้นเราก็จดศัพท์ที่ไม่เข้าใจ หรือไม่มั่นใจเป็นลิสต์ไว้เยอะมาก อย่างคาถาแต่ละคาถาที่จะใช้ ชื่อสัตว์ต่าง ๆ เราแปลว่าอะไร ออกเสียงยังไง เพื่อความสม่ำเสมอ เวลาจะใช้คอยเปิดดูว่า เราแปลไว้แบบนี้”

แต่ถ้าศัพท์บางคำ ไม่แน่ใจหรือค้นไม่เจอก็ต้องถามเพื่อนฝูงที่รู้จัก ซึ่งบางครั้งก็มีพลาดบ้าง 

“พวกชื่ออาหาร หลายอย่างเราก็ไม่รู้จักเลย เช่น Treacle Tart ก็ต้องไปหาดู มันคืออะไร ทาร์ตน้ำตาลข้น หรือไอศกรีม ไอศกรีม ที่แบบโอ้โห มันเยอะแยะ เรียกว่า ไอศกรีม Knickerbocker Glory เกิดมาไม่เคยเห็นเลย เพราะมันเป็นอังกฤษมาก ๆ สามีเป็นคนอเมริกันเขาก็ไม่รู้จัก เราถามไม่ได้”

ด้วยเวลาที่จำกัดมาก ทำให้สุมาลีต้องทุ่มเทเวลาเกือบทั้งวันทั้งคืน เพื่อเร่งทำงานให้เสร็จทันตามกำหนด โดยใช้เวลาทำงานเฉลี่ยเล่มละ 2 เดือนครึ่ง รวมแล้วเกือบครึ่งปีกระทั่ง จนกระทั่งถึงเล่ม 3 แฮรี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน นักแปลหญิงก็ตัดสินใจยกธงขาว

“ตอนนั้นดิฉันยังสอนหนังสืออยู่ที่ Durham University ด้วย ก็ต้องแบ่งเวลาให้ได้ พอแปลส่งเราก็ส่งต้นฉบับกระดาษให้พิมพ์อนงค์ไปตรวจ จำได้ว่ามีปัญหามากเพราะเครื่องพิมพ์เสีย จะเป็นโรคประสาท พอแปลเล่มที่ 2 เสร็จก็บอก คุณเล็ก สุวดี ไม่ไหวแล้ว ขอพักก่อน เครียดมาก สามีอาจจะหย่าได้ เพราะไม่ไปไหนเลย ทำแต่งาน กับข้าวกับปลาบอกให้หาเอง คุณเล็กก็บอกว่า ไม่ได้นะ เพราะซื้อลิขสิทธิ์มา 3 เล่มแล้ว ไม่สามารถให้พัก 1 ปีได้หรอก ดิฉันเลยบอกว่าขอให้เปลี่ยนคนแปล ซึ่งเล่ม 3 เป็นเล่มที่ดิฉันชอบที่สุดด้วย แต่เราทำไม่ไหวแล้ว”

ในเล่มที่ 3 ทางนานมีบุ๊คส์ จึงมอบหมายให้ วลีพร หวังซื่อกุล นักแปลวรรณกรรมฝีมือดีอีกคนมารับผิดชอบแทน ซึ่งสุมาลีบอกว่า วลีพรแปลได้เก่งมาก อ่านแล้วถูกใจสุด ๆ เพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรื่องคำศัพท์ที่เกี่ยวกับคาถานั้นใช้ไม่พลาดเลย 

“มีคำว่า Spell ที่เป็นคาถา มีคำว่า Curse ที่แปลว่าคำสาปแช่ง มีคำว่า Jinx และคำว่า Charm ซึ่ง วลีพรไม่เคยแปลสับเลย สุมาลียังแปลสับไปสับมา เพราะตอนแรกเราไม่สนใจ ก็แปลตามเนื้อหา แต่วลีพรใช้คำศัพท์ถูกว่า Charm คือคาถาในแง่ดี Spell คือคาถาธรรมดา Jinx คือคาถาที่แกล้งคน แล้ว Curse นี่คือคำสาป น้องเขาไม่เคยแปลพลาด แปลเก่งมาก” สุมาลีย้ำคำเดิม

แม้กระบวนการแปลจะเสร็จเรียบร้อย แต่สำหรับการจัดการต้นฉบับยังถือว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ความท้าทายคือ ยุคนั้นยังไม่มี Google การค้นคว้าใด ๆ จึงทำได้ลำบากมาก โดยเฉพาะพวกชื่อเฉพาะก็ต้องอาศัยความเชื่อใจจากนักแปลเป็นหลัก 

“ตอนนั้นเรายังอยู่ในตึกเล็ก ๆ โต๊ะพี่พิมพ์กับโต๊ะพรอยู่ตรงข้ามกันเลย ขยับไปไหนไม่ได้เลย พี่พิมพ์ก็จะบอกว่า คำนี้ว่าไงดี พี่ว่ามันแปลก ๆ นะ ก็จะคุยกัน แต่เราก็จะช่วยอะไรพี่พิมพ์ไม่ค่อยได้มาก แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลักในการทำงานเหมือนกันคือ ต้องคิดถึงนักเขียนก่อนเป็นลำดับแรก เพราะความจริงแล้ว นักแปลจะต้องแปลออกมาเป็นภาษาของนักเขียน ไม่ใช่ภาษาของนักแปล หน้าที่ของ บ.ก. คือทำยังไงก็ได้ให้ภาษาของนักแปลกับภาษาของนักเขียนมารวมกัน จนเป็นภาษาที่นักอ่านโอเค” พรกวินทร์กล่าว  

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

อดีตบรรณาธิการย้ำว่า เวลานั้นเป็นเสมือนการลองผิดลองถูก เพราะทุกคนล้วนมือใหม่มาก แต่อย่างน้อยก็พยายามเรียนรู้เต็มที่ เพื่อให้หนังสือออกมาดีที่สุด

อย่างภารกิจหนึ่งที่เธอได้รับมอบหมายจากพิมพ์อนงค์ คือ การพิสูจน์อักษร

“ในกองฯ ตอนนั้นไม่มีพิสูจน์อักษร บ.ก. ต้องทำเองทุกอย่าง พอพี่พิมพ์อีดิตเสร็จ ก็อยากให้เราช่วยดูคำผิดให้ จำได้ว่ารับงานมาตอน 10 โมงเช้า ก็นั่งอ่านถึง 4 ทุ่ม เสร็จเลยทั้งหมด ซึ่งต้องบอกว่า ถ้าทำเล่มขนาดนี้ต้องมีอย่างน้อยเดือนหนึ่ง เนื่องจากตัวอักษรเยอะมาก แต่ตอนนั้นเราไม่มีประสบการณ์ และมันสนุกมาก แบบแสงออกตา พออ่านแล้วหยุดอ่านไม่ได้ ต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะฉะนั้นถ้าไปดู แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 จะพบว่ามีคำผิดเยอะมาก อย่างคำว่า พากย์ ตอนนั้นเราเขียนว่า พากษ์ ซึ่งก็มีผู้อ่านท้วงติงเข้ามา” พรกวินทร์กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

อีกเรื่องหนึ่งที่กองบรรณาธิการต้องรับผิดชอบคือ ภาพปก ซึ่งเดิมทีนานมีบุ๊คส์ตั้งใจจะวาดเอง แต่เนื่องจากทางเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อนุญาต นานมีบุ๊คส์จึงเลือกใช้ฉบับภาพปกของฉบับสหรัฐอเมริกา เพราะสวยกว่าฉบับของอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นฉบับที่ใช้แปล

“Bloomsbury เป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่มีชื่อเสียงเลย คือตอนแรกตัวแทนของ J. K. Rowling เอาเสนอขายให้ Scholastic แต่ที่นั่นบอกว่า Too Wordy, Too Literacy To be children Literature เขาบอกว่าคำมากเกินไป ตัวหนังสือมากเกินไป อย่างนี้เขาไม่รับ ก็เลยไปเสนอที่ Bloomsbury แทน ซึ่งที่นี่รับ เพราะลูกสาวของ บ.ก.อ่านแล้วติดใจ แต่ปัญหาคือเขาทุนไม่เยอะ หน้าปกก็เลยไม่สวย ตอนหลัง Scholastic ของสหรัฐอเมริกาถึงค่อยมาซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์ แล้วก็ทุ่มทุนทำปกอย่างดี ให้นักวาดมีชื่อเป็นคนทำปก เราถึงเลือกใช้ปกของสหรัฐอเมริกาแทนของอังกฤษ” สุมาลีช่วยอธิบาย

เมื่อกระบวนการจัดทำต้นฉบับเสร็จสิ้นเรียบร้อย และพร้อมจำหน่ายเล่มแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 คราวนี้ก็มาถึงโจทย์ที่ยากสุด คือ การทำอย่างไรให้หนังสือชุดนี้ไปสู่วงกว้างที่สุด

ในเวลานั้นทุกคนในแวดวงหนังสือต่างเชื่อว่า นานมีบุ๊คส์จะต้องขาดทุนอย่างแน่นอน เพราะวรรณกรรมเยาวชนเป็นหนังสือประเภทที่ขายได้น้อยมากในบ้านเรา

แต่สุวดีก็ยึดหลักที่ว่า หากตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำให้ถึงที่สุด 

“แม่เป็นคนที่มุ่งมั่นมาก แล้วก็เรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อตั้งเป้าหมาย ก็จะทำทุกอย่างให้สำเร็จ ตอนนั้นก็ปรึกษาทุกคนในวงการ คือทุกคนจะทราบว่า คุณสุวดีเป็นคนชอบถามมาก บางครั้งคู่แข่งก็ยังถามเลย ซึ่งหลายคนก็จะให้คำแนะนำ แต่จุดอ่อนที่เราพบคือ คนไม่ชินกับวรรณกรรมที่ไม่มีรูป และอย่างที่สองคือ คนไม่ชินกับเรื่องพ่อมดแม่มด จำได้เลยว่ามีโรงเรียนบางแห่งไม่อนุญาตให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เข้าโรงเรียน เพราะเป็นตัวแทนของซาตาน เราก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไร” คิมฉายภาพ

ภายใต้โจทย์ที่แสนยาก สุวดีพร้อมที่จะฉีกทุกข้อจำกัด ไอเดียที่เธอนำมาใช้ คือ นำบทที่ 1 ของหนังสือมาทำฉบับทดลองอ่าน แจกจ่ายตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมทั้งยังลงทุนเชิญร้านค้าต่าง ๆ มาร่วมประชุม เพื่อแนะนำหนังสือชุดนี้ ตลอดจนทำจดหมายข่าวประชาสัมพันธ์ ส่งไปยังสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่าง ๆ เพื่อแนะนำให้สื่อมวลชนทราบว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ พิเศษกว่าวรรณกรรมเยาวชนเล่มอื่นอย่างไร

แต่ที่ถือเป็นไฮไลต์ที่สุด คือ การจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือ โดยครั้งนั้น สุวดีไปติดต่อขอใช้พื้นที่ของรถไฟฟ้า BTS สถานีพญาไท เพื่อสร้างบรรยากาศคล้ายกับชานชาลาที่ 9 ¾ ที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส ซึ่งเป็นสถานีที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ ขึ้นเพื่อไปโรงเรียน พร้อมทั้งเชิญ กัญจนา ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาเขียนคำนิยมและร่วมอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟังในงานเปิดตัว

นอกจากนี้ภายในงานยังมีซุ้มกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เกมตามหาลูกบอลวิเศษสีทองมีปีก หรือกิจกรรมตามหาศิลาอาถรรพ์ โดยนำกุญแจมาแขวนระโยงระยาง แล้วเด็ก ๆ หาลูกกุญแจที่ไขเซฟเก่าแก่ให้ได้ รวมถึงมอบไม้กายสิทธิ์ ไม้กวาด และตุ๊กตานกฮูก แก่ผู้ที่มาร่วมงานด้วย

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์
22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

“ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมพอดี พวกเราทีมงานก็เลยใส่ชุดพ่อมดแม่มด นั่งรถไฟไปมา แจกหนังสือทดลองอ่าน อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าหนังสือเล่มนี้สำคัญมาก เพราะทำให้เด็กรักการอ่าน บวกกับเคยเห็นตัวอย่างจากเมืองนอกที่คนดังอ่านหนังสือให้เด็กฟังในที่สาธารณะ เราจึงติดต่อ คุณหนูนา กัญจนา ให้มาช่วยอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ซึ่งคุณหนูนาก็โอเค เป็นงานที่สนุกมาก และยังถือเป็นการเริ่มสร้างประเพณีว่า ทุกครั้งที่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกเล่มใหม่ ก็จะมีงานเปิดตัวครั้งใหญ่ด้วย” คิมเล่าให้ฟังต่อ

ด้วยกลยุทธ์การผลักดันหนังสือไปสู่วงกว้างของสุวดีและทีมงาน บวกกับเนื้อหาที่เปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานและจินตนาการ ทำให้กระแสของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แพร่กระจายในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว 

หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 10,000 เล่ม จำหน่ายหมดภายในระยะเวลาไม่กี่วัน และต้องพิมพ์ซ้ำแทบจะทันที เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนต่างเลือกซื้อหนังสือเล่มนี้เป็นของขวัญให้บุตรหลาน เช่นเดียวกับเด็กไทยมากมายที่ใช้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นตัวตั้งต้นให้เริ่มอ่านหนังสือ ยืนยันได้จากจดหมายจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามายังกองบรรณาธิการ บางคนถึงขั้นลงท้ายนามสกุลตัวเองว่า พอตเตอร์ เลยด้วยซ้ำ 

แต่ที่สำคัญสุดคือ เด็กบางคนที่เลิกอ่านวรรณกรรมไปแล้ว แต่เมื่อได้สัมผัสกับพ่อมดน้อยและเพื่อน ก็หันกลับมาอ่านหนังสือแนวนี้อีกครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือลูกสาวคนโตของสุวดีนั่นเอง

22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์
22 ปี 'แฮร์รี่ พอตเตอร์' กับเบื้องหลังสุดมันในการทำฉบับภาษาไทยจนกลายเป็นปรากฏการณ์

“ตอนนั้นอยู่ชั้นมัธยม แล้วก็เลิกอ่านหนังสือพวกนี้ไปแล้ว อ่านแต่การ์ตูน แต่แม่ก็ส่งต้นฉบับที่อาจารย์สุมาลีแปลมาให้อ่าน เป็นร่างแรกเลย ตอนแรกก็ไม่ได้อินขนาดนั้น แต่พออ่านไปเรื่อย ๆ ก็หยุดไม่ได้ จำได้ว่าตอนนั้นต้องไปหาหมอ แล้วจากบ้านไปขึ้นรถ ไปที่โรงพยาบาล นั่งรอหมอ จนกลับบ้าน ก็อ่านต่อรวดเดียวเลยจนจบ พอจบเล่มที่ 1 ขออ่านเล่มที่ 2 ต่อทันที แต่อาจารย์สุมาลียังแปลไม่เสร็จ พอเปิดเทอมก็เลยก็เลยไปขอยืมฉบับภาษาอังกฤษที่ห้องสมุดมาอ่านต่อ แล้วนั่นเองทำให้หันกลับมาอ่านวรรณกรรมอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่ยังรวมไปถึงเล่มอื่น ๆ ด้วย เช่น มังกรหยก ก็เลยไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมันถึงมีอิทธิพลต่อเด็กทั่วโลก เพราะแม้แต่ตัวเราก็ยังสัมผัสถึงพลังนั้นได้เลย”

หลังจากวางแผงเล่มแรกได้ 2 เดือน นานมีบุ๊คส์ก็ส่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ ถึงเหล่ามักเกิ้ล หรือคนธรรมดาตัวน้อยที่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ พร้อมจัดงาน ‘รวมพลังสร้างนักอ่านเยาวชนไทย’ ด้วยการชักชวนครูมาร่วมสัมมนา เพื่อแนะนำหนังสือต่อให้เด็ก ๆ อีกทอดหนึ่ง

และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันก็มาถึงคิวของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ซึ่งรอบนี้ นานมีบุ๊คส์ไปเปิดตัวที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เพราะเป็นโรงเรียนประจำเช่นเดียวกับโรงเรียนฮอกวอตส์ โดยมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างเช่น ซุ้มหมอดู ซุ้มเสกคาถาร่ายมนตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหาในหนังสือ โดยนี่เป็นครั้งแรกที่ทีมงานได้สัมผัสถึงกระแสคลั่งไคล้ของเด็กไทยที่มีต่อวรรณกรรมชุดนี้จริงจัง เนื่องจากมีเด็กมาร่วมงานมากถึง 2,000 คน

ปฏิบัติการพาพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือจากเกาะอังกฤษถึงเมืองไทยของนานมีบุ๊คส์ ที่ปลุกกระแสการอ่านไปทั่วประเทศ
ปฏิบัติการพาพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือจากเกาะอังกฤษถึงเมืองไทยของนานมีบุ๊คส์ ที่ปลุกกระแสการอ่านไปทั่วประเทศ

“ตอนนั้นกลับมาเมืองไทยแล้วมาที่นี่ รู้สึกตื่นเต้นมาก ไม่เคยเจอเด็กเยอะแบบนี้มาก่อน ตอนนั้นคนคลั่งแฟชั่นลายเซ็น มาให้เราเซ็นเยอะมาก จนสุดท้ายผู้บริหารของโรงเรียนวชิราวุธบอกว่าไม่รับงานแบบนี้แล้วนะ” สุมาลีย้อนประสบการณ์

“ต้องเรียกว่าถล่มทลาย คือเตรียมของไปแจกรู้สึกจะเป็นที่คั่นหนังสืออะไรสักอย่าง พอเปิดบูทมา หลังติดผนังเลย เพราะเด็กดันเข้ามาจนไปไหนไม่ได้ ต้องนั่งแบบนี้ทั้งวัน คือเราเข้าใจเลยว่าทำไมถึงบอกว่าไม่รับอีก เพราะคงกะไม่ถูกว่าเด็กจะมากันขนาดนี้ และก็ยังมีผู้ปกครองที่พาลูก ๆ มาขอลายเซ็นอาจารย์ด้วย” พรกวินทร์ช่วยเสริมเหตุการณ์

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่ากระแสคลั่งไคล้ในตัว แฮร์รี่ พอตเตอร์ จนส่งให้หนังสือติดอันดับขายดีนานนับปี หลายคนยังมองว่า วรรณกรรมชุดนี้จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่ช่วยพัฒนารากฐานการอ่านให้สังคมไทย 

สุวดีจึงใช้โอกาสนี้สานฝันที่ตั้งใจไว้มานาน ตั้งแต่จัดอบรมครูและผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เริ่มต้นโครงการ Nanmeebooks Reading Club ด้วยการผลักดันให้นักเรียนอ่านหนังสือให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ และถ้าครบก็จะได้เกียรติบัตรสุดยอดนักอ่าน จัดประกวดต้นฉบับรางวัล ‘แว่นแก้ว’ เพื่อส่งเสริมนักเขียนไทยแนววรรณกรรมเยาวชนให้เติบโตมากยิ่งขึ้น รวมถึงกล้าผลิตผลงานดีที่ฉีกแนวจากตลาด ทั้งผลงานนักเขียนรางวัลโนเบล หรือการ์ตูนความรู้สำหรับเยาวชน

เพราะฉะนั้นคงไม่ผิดหากจะบอกว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นานมีบุ๊คส์ก้าวกระโดด และทำให้เจตนารมณ์ของสุวดีเมื่อครั้งก่อตั้งสำนักพิมพ์ คือการใช้หนังสือช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมไทยกลายเป็นจริงขึ้นมา

03
คาถามัดใจมักเกิ้ล

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 หลังจากรอคอยมาเกือบปี เด็กไทยก็มีโอกาสได้พบกับพ่อมดน้อยอีกครั้งหนึ่ง ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี

คราวนี้ดูเหมือน J. K. Rowling จะท้าทายนักอ่านไม่น้อย เพราะเล่มที่ 4 หนาเกือบพันหน้า แต่ทุกคนก็ไม่ถอย เพราะอยากทราบว่า การผจญภัยในเล่มนี้จะสนุกขนาดไหน

เช่นเดียวกับการทำงานของนานมีบุ๊คส์ ก็ยังเข้มข้นไม่ต่างจากเดิม เพราะสุวดีถึงขั้นส่งทีมงานไปเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลยทีเดียว เพื่อยกระดับการทำงานให้ได้มาตรฐานขึ้น โดยเล่มนี้ สุมาลียังคงไม่หายอิ่มตัวจากการแปล 2 เล่มแรก สุวดีจึงทาบทามงามพรรณ ให้มารับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ และเพื่อน ๆ แทน

จุดเด่นของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี นอกจากพ่อมดน้อยจะต้องเผชิญหน้ากับมังกรไฟอันดุร้ายแล้ว ยังมีการเปลี่ยนชื่อตัวละครบางตัวใหม่ เนื่องจากงามพรรณพบว่า J. K. Rowling ได้มอบหมายให้ Stephen Fry อ่านเพื่อทำหนังสือเสียง และบริษัท Scholastic ผู้จำหน่ายหนังสือชุดนี้ในสหรัฐอเมริกา ยังจัดทำเว็บไซต์ระบุการออกเสียงชื่อตัวละครแต่ละตัวอีกต่างหาก ซึ่งหลายคำไม่ตรงกับที่สุมาลีเลือกใช้ 

อาทิ Hermione เพื่อนสนิทของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในตอนแรกสุมาลี เขียนว่า ‘เฮอร์ไมนี่’ เนื่องจากเพื่อนชาวอังกฤษบอกว่า เป็นชื่อเก่าดาราเก่ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ความจริงแล้ว ต้องออกเสียงว่า ‘เฮอร์ไมโอนี่’ เพราะเป็นชื่อที่มาจากสาวกรีกในนวนิยายเรื่อง โอดิสซีย์ หรือเจ้าแห่งศาสตร์มืด อย่าง Voldemort เพื่อนชาวอังกฤษอ่านว่า โวลเดอมอร์ต เพราะออกเสียงตัว T ข้างท้าย แต่ในเว็บไซต์ ให้ออกเสียงว่า โวลเดอมอร์ เพราะ J. K. Rowling ต้องการให้ออกเสียงแบบฝรั่งเศส ซึ่งสุมาลีสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะนักเขียนดังได้รับอิทธิพลจากการเรียนวิชาภาษาฝรั่งเศสในระดับปริญญาตรี

เพราะฉะนั้น กองบรรณาธิการจึงต้องกลับไปนั่งไล่ปรับแก้ ตั้งแต่เล่มที่ 1 – 3 ให้สอดคล้องกับความตั้งใจของผู้ประพันธ์ แม้นักอ่านหลายคนจะรู้สึกขัดใจไปบ้าง เพราะคุ้นชินกับชื่อเหล่านี้แล้วก็ตาม

โดยระหว่างทาง นานมีบุ๊คส์ยังได้จัดพิมพ์หนังสือพิเศษที่ชื่อ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ หรือ Fantastic Beasts and Where to Find Them ซึ่ง J. K. Rowling เขียนขึ้นเพื่อมอบให้แก่การกุศล ออกมา โดยได้นักแปลนิยายแฟนตาซีอย่าง พลอย โจนส์ มาร่วมงาน ซึ่งเธอได้เลือกใช้นามปากว่า นิลมังกร เพื่อให้สอดคล้องกับนามปากกา Newt Scamander ของ J. K. Rowling อีกด้วย

สุมาลีวกกลับมาแปล แฮร์รี่ พอตเตอร์ อีกครั้งในเล่มที่ 5 จนกระทั่งถึงเล่มสุดท้าย รวมถึงยังแปลหนังสือพิเศษอีกหลายเล่ม อาทิ ควิดดิชในยุคต่าง ๆ, นิทานของบีเดิลยอดกวี และ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป ซึ่งเป็นบทละครเวทีที่ J. K. Rowling สร้างสรรค์ร่วมกับนักเขียนอีกหลายคน

ส่วนพรกวินทร์เองก็เข้ามารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารแทนพิมพ์อนงค์ที่ขอลาออกไป หลังจากทำต้นฉบับเล่มที่ 5 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ เสร็จสมบูรณ์

ปฏิบัติการพาพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือจากเกาะอังกฤษถึงเมืองไทยของนานมีบุ๊คส์ ที่ปลุกกระแสการอ่านไปทั่วประเทศ
ปฏิบัติการพาพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือจากเกาะอังกฤษถึงเมืองไทยของนานมีบุ๊คส์ ที่ปลุกกระแสการอ่านไปทั่วประเทศ

“จริง ๆ ทำมาตั้งแต่เล่ม 5 แล้ว เหมือนตกกระไดพลอยโจน คือพี่พิมพ์ยังอยู่ แต่เพราะเล่มนั้นมันหนามาก แล้วเราทำไม่ทันกัน จึงต้องฉีกเล่มเป็น 3 ส่วน ช่วยกันอีดิต แต่พี่พิมพ์ก็ยังดูภาพรวมทั้งหมด และพอหลังจากเล่มนี้ก็มาดูแลแบบเดี่ยวเลย” บรรณาธิการบริหารคนที่ 2 ของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กล่าว

“จำได้ว่าตอนที่แปลเล่มที่ 5 แทบจะร้องไห้ เพราะบางครั้งรู้สึกว่าหมั่นไส้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะตอนนี้เขาเป็นวัยรุ่น แล้วปั่นป่วนมาก เจ้าคิดเจ้าแค้น ขี้โมโห อ่านแล้วบางทีก็ทนไม่ไหว แต่ว่าการดำเนินเรื่อง J. K. Rowling ดีมาก เขาผูกเรื่องเก่งมาก” สุมาลีช่วยเสริม

สำหรับทั้งคู่แล้ว J. K. Rowling เป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่เก่งกาจมาก วางโครงเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม และต่อให้แต่ละตอนจะทิ้งปริศนาไว้มากมาย แต่สุดท้ายทุกปมปัญหาจะถูกอธิบายและคลี่คลายจนกระจ่าง ที่สำคัญยังแฝงหลักคิดเรื่องความจริงของชีวิต ทั้งเรื่องครอบครัว เพื่อน ความรัก ความตาย หรือแม้แต่คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเด็กทุกคนปรับใช้กับชีวิตของตัวเองได้

“J. K. Rowling ได้รับอิทธิพลจากคริสต์ศาสนาเยอะ อย่างตอนสุดท้ายเขาก็เขียนให้จบอย่างมีความหวัง เพราะถ้าจบด้วยความหดหู่ ไม่มีความหวังเลย เด็กก็จะบอกว่าอยู่ไปทำไม แต่ถ้าเรามีความหวังว่าอนาคตยังมี เราก็ยังแก้ไขชีวิตของเราได้ ที่สำคัญเขาเน้นเรื่องความเมตตา ความรักมีอำนาจสูงสุด อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะไม่ยอมให้คนอื่นตายเพื่อเขา เมื่อรู้ว่าถ้าเขาตายแล้ว สงครามจะจบสิ้นสงครามได้ เขาก็พร้อมจะเดินเข้าไปให้โวลเดอมอร์ฆ่า โดยไม่สู้ แต่โวลเดอมอร์ไม่รู้ว่าความรักของแม่ยังครอบคลุมอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่โวลเดอมอร์ฆ่าจึงไม่ใช่แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่เป็นฮอร์ครักซ์ (ส่วนหนึ่งของวิญญาณ) ของเขาเอง ถึงบอกว่า J. K. Rowling ผูกเรื่องเก่งมาก” สุมาลียกตัวอย่าง

“เขาเคลียร์หมดทุกอย่าง ถ้าอ่านแต่ละเล่มจะมีปริศนาที่ตัวละครต่าง ๆ พูดทิ้งท้ายไว้ แต่สุดท้ายเขาเฉลยหมด อธิบายอย่างกระจ่าง เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้สึกว่าง่ายหรือยากไป ที่สำคัญเขาพูดเรื่องเพื่อน ทุกการผจญภัย แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เคยสู้คนเดียวเลย แม้ตอนสุดท้ายอาจจะต้องหลุดไปสู้กับโวลเดอมอร์ตามลำพัง แต่ตลอดทางก็จะมีเพื่อนที่ช่วยเขา แม้แต่เพื่อนอย่าง เนวิลล์ ซึ่งภาคแรกจะดูไม่เก่งอะไรเลย แต่ในภาค 7 กลับกลายเป็นผู้นำขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ดูผิดปกติ แต่มีเหตุผลที่เขาจะขึ้นมาได้ หรืออย่าง รอน ซึ่งอาจไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่เขาก็มีจุดเด่นที่ไม่สามารถหายไปได้” พรกวินทร์ช่วยเสริม

ด้วยเหตุนี้ แม้ตลอดหลายปี การทำงาน แฮร์รี่ พอตเตอร์ จะดูเร่งรีบเพื่อให้ทันต่อความต้องการของแฟนหนังสือ แต่สำหรับทีมงานแล้วต่างมีความสุขไปกับเรื่องราวอันแสนโลดโผนของตัวละคร

นอกจากกระบวนการจัดทำต้นฉบับที่ท้าทายแล้ว ในส่วนของการประชาสัมพันธ์หนังสือเองก็มีสีสันไม่แพ้กัน เพราะนานมีบุ๊คส์เองก็ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้แฟนคลับไม่มีทางลืมเลือนเต็มไปหมด อย่างช่วงวางแผงเล่มที่ 5 ทีมงานสังเกตเห็นว่า หลายประเทศจัดงานเปิดตัวหนังสือตอนเที่ยงคืน นานมีบุ๊คส์จึงอยากทดลองทำบ้าง ปรากฏว่ามีเด็ก ๆ มาปักหลักรออยู่ที่อาคารในซอยสุขุมวิท 31 เป็นจำนวนมาก ด้วยความหวังจะเป็นเจ้าของหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มใหม่คนแรก ๆ ของประเทศไทย 

“ตอนนั้นเรานึกว่าเที่ยงคืนแล้วทุกคนจะรีบกลับบ้าน แต่กลายเป็นวันไม่มีใครกลับเลย เพราะทุกคนมาต่อแถวขอลายเซ็นอาจารย์สุมาลี จำได้ว่าเป็นบรรยากาศที่สนุกมาก แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่พี่ ๆ ทีมงานเขาซีเรียสกันมากคือ กลัวร้านหนังสือจะเปิดกล่องก่อนเที่ยงคืน เพราะเคยมีเคสที่ลูกค้าบอกว่า ทำไมจังหวัดนี้ได้หนังสือก่อน ตอนนั้นเราก็เลยให้พี่พรช่วยเขียนกำกับอีกรอบว่า หากเปิดกล่องก่อน คุณจะถูกคำสาปจากลอร์ดโวลเดอมอร์ ซึ่งตอนนั้นหลายคนก็กลัว โดยเฉพาะพนักงานที่คลัง คือเขาไม่อยากถูกสาป ทั้งที่เป็นคนแพ็กหนังสือ” คิมกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

อีกหนึ่งไฮไลต์ที่นานมีบุ๊คส์หยิบขึ้นมาใช้อยู่บ่อยครั้ง คือ ของแถมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร อาทิ แหวนมหัศจรรย์ช่วยการอ่าน ในเล่มที่ 5 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ ซึ่งคิมเจ้าของไอเดียได้แรงบันดาลจากเทศการหนังสือที่เกาหลีใต้ หรือหรือน้ำยานำโชค ในเล่มที่ 6 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ซึ่งแผนกวิทยาศาสตร์ของนานมีบุ๊คส์ ก็หาวิธีการผลิตน้ำยาที่ผสมน้ำแล้วเปลี่ยนเป็นสีทองได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วทีมงานก็ผลิตออกมาได้สำเร็จจริงๆ

ที่สำคัญ นานมีบุ๊คส์ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเต็มไปหมด ทั้งจัดชักชวนให้โรงเรียนต่าง ๆ อ่านหนังสือผ่านเสียงตามสาย จัดประกวดซุ้มหนังสือดีเด่น รวมถึงชักชวนแฟนคลับมาร่วมทำกิจกรรม อย่างในงานเปิดตัวเล่มที่ 7 แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 คิมได้ชักชวนหนึ่งในแฟนตัวยง มาช่วยแต่งเพลงประกอบงาน หรือแม้แต่ร้านหนังสือหลายแห่งก็สรรหากิจกรรมพิเศษ เพื่อสร้างสังคมของผู้อ่านรุ่นเยาว์ให้มากขึ้น

“ในหาดใหญ่มีร้านหนังสือแห่งหนึ่งชื่อ เพลินอักษร เจ้าของคือ คุณไพรัช ทองเจือ ตอนนั้นเขามาประชุมกับแม่แล้วก็เล่าให้ฟังว่า เขาเอาของสะสมที่มีอย่างตุ๊กตารัสเซียหรือของชิ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ มาจัดปาร์ตี้ที่ร้านในวันเปิดตัวหนังสือ แล้วก็แจกของพวกนี้แก่เด็ก ๆ ที่มาร่วมงาน สนุกมากเลย” CEO ของนานมีบุ๊คส์ขยายความ

ด้วยกระบวนการทั้งหมดนี้ ทำให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นมากกว่าแค่หนังสือ 7 เล่ม แต่ยังมีเวทมนตร์ในการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต นักแปล นักอ่าน และร้านค้า เข้าไว้ด้วยกัน แม้เวลาจะผ่านมากว่าสิบปี ก็ยังไม่จางหายไปไหน

ดังเช่นการถือกำเนิดของกลุ่มแฟนคลับต่าง ๆ ทั้ง มักเกิ้ล-วี และ มักเกิ้ลไทย ซึ่งคอยทำหน้าที่รวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตลอดจนนัดพบปะหมู่แฟนคลับหลากรุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ที่สำคัญ หลายคนยังได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเรื่องนี้ จนกลายเป็นนักเขียน นักแปล นักวาดภาพประกอบ มีชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ หรือหลายคนก็เข้ามาขอมาสมัครงานที่นานมีบุ๊คส์ เพราะผูกพันกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์

“ไม่ใช่แค่กองบรรณาธิการเท่านั้นที่อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ จำได้น้องที่อยู่แผนกบัญชี ก็มาสมัครงานเพราะอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ เหมือนกัน หรือแม้แต่พวกฝ่ายคลัง เด็กติดรถ เขาก็ยังอ่าน คือมันน่าตื่นตาตื่นใจมากจริง ๆ ที่ได้รู้ว่าพวกเขาเติบโตจากหนังสือชุดนี้” พรกวินทร์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

แน่นอนความสำเร็จทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากการรวมพลังกันของทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันสร้าง ช่วยกันผลักดันจนนำมาสู่ปรากฏการณ์ที่ยากจะหาหนังสือเล่มใดทำได้เหมือน

04
พ่อมดน้อยไม่มีวันตาย

นับเวลาตั้งแต่ J. K. Rowling พา แฮร์รี่ พอตเตอร์ มารู้จักกับนักอ่านทั่วโลก ก็ผ่านมา 25 ปีแล้ว  

แต่สำหรับผู้เกี่ยวข้องทั้งสามคน ยังเชื่อเสมอว่า หนังสือชุดนี้ไม่เคยล้าสมัย และต่อให้จะผ่านไปนานอีกสักเท่าใดก็ยังอ่านสนุกเหมือนเดิม เพราะโครงสร้างหรือฉากแต่ฉากที่นักประพันธ์หญิงวางไว้ล้วนแต่กระตุ้นจินตนาการและชวนให้ติดตาม ไม่ต่างจากวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมของโลกอีกมากมาย ทั้ง เชอร์ล็อก โฮมส์, ปีเตอร์ แพน หรือ เดอะ ลอร์ด ออฟ เดอะริงส์ เลย

เชอร์ล็อก โฮมส์ เขียนมา 200 ปีแล้ว ก็ยังโด่งดังอยู่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ น่าจะเหมือนกัน อาจมีการปรับบ้างเล็กน้อย แต่ตัวละครจะยืนต่อไป เพราะหัวใจที่เขาเขียน เป็นหัวใจที่เด็กยังชอบอยู่ตลอดกาล เขาแตะความต้องการของเด็กได้ ทั้งเรื่องความรัก ความมั่นคง ความอบอุ่น แม้แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นเด็กกำพร้า แต่ก็มีชีวิตที่อบอุ่นมากในโรงเรียน มีเพื่อนที่ดี เรื่องเหล่านี้ไม่ว่ายุคไหน คนก็ยังต้องการสิ่งเหล่านี้อยู่ดี” นักแปลผู้ผูกพันกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มากว่า 2 ทศวรรษย้ำความเชื่อ

เพราะฉะนั้น โจทย์ในวันนี้ของพวกเขาคือ การทำอย่างไรก็ได้ให้เรื่องราวพ่อมดน้อยยังคงโลดแล่นในใจของนักอ่านรุ่นใหม่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในฐานะของผู้ผลิต คิมบอกว่า ช่วงสิบปีกว่าที่ผ่านมา นานมีบุ๊คส์พยายามพัฒนาและปรับปรุงหนังสือชุดนี้ให้ดีขึ้นและน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ อาทิการผลิต แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาพประกอบ 4 สี ผลงานการวาดของ Jim Kay หรือการต่อยอดเป็นหนังสือเรียนศัพท์กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ โดยสุมาลีได้นำศัพท์หรือสแลงที่น่าสนใจในหนังสือมารวบรวม เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ไปพร้อมกัน

เมื่อ พ.ศ. 2563 มีการจัดพิมพ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับ 20 ปี ซึ่งความพิเศษของหนังสือชุดนี้ คือ การใช้ภาพปกและภาพประกอบฝีมือคนไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้วาดอย่าง อาชว์-อรุษ เอ่งฉ้วน หรือ Arch Apolar เป็นแฟนที่ติดตามและเติบโตมาพร้อมกับหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ และพยายามใส่ความเป็นไทยลงในภาพวาด อาทิ ชานชาลาหมายเลข 9 ¾ ก็เลือกใช้เลขไทยนำเสนอ โดยอาชว์ถือเป็นนักวาดภาพประกอบเพียงคนเดียวที่ J. K. Rowling ชื่นชมผ่านโซเชียลมีเดีย

ปฏิบัติการพาพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือจากเกาะอังกฤษถึงเมืองไทยของนานมีบุ๊คส์ ที่ปลุกกระแสการอ่านไปทั่วประเทศ
ปฏิบัติการพาพ่อมดน้อย ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ หนังสือจากเกาะอังกฤษถึงเมืองไทยของนานมีบุ๊คส์ ที่ปลุกกระแสการอ่านไปทั่วประเทศ

เช่นเดียวกับในส่วนต้นฉบับ นานมีบุ๊คส์ก็ได้มอบหมายให้พรกวินทร์ มาเป็นบรรณาธิการอีกครั้ง ยกเครื่องและปรับปรุงมาตรฐานเนื้อหาให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องคำเรียกคาถา สรรพนาม หรือแม้แต่วิธีสะกดให้ถูกต้องตามหลักที่ราชบัณฑิตยสภากำหนดไว้ให้ ยกเว้นบางคำ เช่นชื่อตัวละคร อย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือ เฮอร์ไมโอนี่ ที่ไม่ได้มีการตัดวรรณยุกต์ออก เพราะถือเป็นสิ่งที่ผู้อ่านคุ้นเคย และอาจสร้างความสับสนได้

แต่ทั้งหมดนี้เทียบไม่ได้เลยกับ ภารกิจอย่างการทำให้เยาวชนที่ไม่เคยอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ มาก่อนได้รู้จักกับวรรณกรรมชุดนี้ เพราะสำหรับคิมแล้ว นี่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญมากที่ปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่านแก่เด็ก ๆ ซึ่งผู้ปกครองและครูควรเข้ามามีบทบาทตรงนี้มากขึ้น

“ทุกวันนี้กระแสโลก คนอ่านหนังสือน้อยลง อาจเพราะมีเครื่องมือการเลี้ยงลูกที่หลากหลายขึ้น แต่ขณะเดียวก็มีงานวิจัยระบุว่า เด็กที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มอาจกลายเป็นเด็กที่เป็นสมาธิสั้น หรืออ่านหนังสือไม่แข็งได้ เพราะฉะนั้นหากเราจะแก้ปัญหาสังคมนี้ คือต้องทำให้เด็กอาจหนังสือตั้งแต่เล็กให้ได้ คือย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน 

“แล้วหนังสือเล่มไหนที่จะดีที่สุด ซึ่งสำหรับตัวเองแล้ว หากวันนั้นไม่ได้อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คงเลิกอ่านหนังสือไปแล้ว เราจึงเข้าใจว่า เล่มแรกอาจเปลี่ยนชีวิตได้ สิ่งหนึ่งที่แม่พูดเสมอคือ ไม่ใช่คนไทยไม่รักการอ่านนะ แต่ส่วนมากเขายังหาเล่มแรกที่เป็นเล่มโปรดไม่เจอ แต่ถ้าเขาเจอแล้วก็อยากอ่านต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราคิดว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีพลังที่ช่วยปลุกไฟนี้ขึ้นมาได้”

ไม่มีใครรู้ว่า ในอนาคต เมืองไทยจะมีหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ระดับเดียวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ อีกหรือไม่ แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับการที่เด็กไทยได้พบเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เขาอยากที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่อยู่รอบตัวต่อไป

และทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของพ่อมดน้อยกับผองเพื่อน ที่ครั้งหนึ่งที่เคยร่ายเวทมนตร์มหัศจรรย์ให้กับสังคมการอ่านของเมืองไทย และเป็นความประทับใจที่จะฝังแน่นในใจของใครหลายคนตลอดไป

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ