22 พฤศจิกายน 2019
8 K

The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

“ตั้งแต่ลูกป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน น้องโฟล์คใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลมาตลอด ทั้งคีโม ให้เลือด เกล็ดเลือด ช่วงเวลาที่ผ่านมาทรมานทั้งร่างกายและหัวใจ น้องติดเชื้อในกระแสเลือดสองครั้ง ชักจนต้องเข้า ICU น้ำและความดันในสมองสูง ภูมิต้านทานต่ำจนไม่มีเหลือ ใช้ชีวิตอยู่บนเตียงจนขาลีบ เดินเองแทบไม่ไหว 

“หลังจากคีโมครบ น้องพักฟื้นร่างกาย ฝึกเดิน แต่ยังต้องอยู่แต่ในบ้าน เพราะภูมิต้านทานต่ำ ตอนนี้โรคสงบ น้องไม่มีมะเร็งในร่างกายแล้ว

“วันนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มป่วยที่น้องได้ออกมาเที่ยว มาเจอทะเล มาทำกิจกรรมกับพี่ๆ อาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุข น้องบอกว่ามีความสุขและสนุกมาก

“มันเหมือนเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ ทำให้หัวใจเราสองคนแม่ลูกฟูขึ้น ขอบคุณกิจกรรมดีๆ ขอบคุณทุกคนจากใจค่ะ” 

แม่น้องโฟล์ค

กระดาษแผ่นเล็ก บรรจุถ้อยคำเปี่ยมความหมาย ที่บอกเล่าภารกิจของโรงพยาบาลมีสุข ไว้อย่างครบถ้วน นี่คือโครงการเล็กๆ ที่นำอาสาสมัครหลายร้อยคนเข้าไปเป็น ‘ผู้ให้’ แก่ผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลต่างๆ มาแล้วนับพันชีวิต ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

การให้ในที่นี้ไม่ใช่การให้สิ่งของ แต่เป็นการให้ความสุข เพราะเด็กเจ็บป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์และพยาบาล ไม่ได้อยู่บ้าน ไม่ได้ใกล้ชิดกับครอบครัวเหมือนอย่างเคย แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อจิตใจของพวกเขา 

ผู้ป่วยเด็กบางคนอาจรู้สึกว้าเหว่ วิตกกังวล หวาดกลัว ก่อเกิดเป็นความเครียด ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โครงการโรงพยาบาลมีสุขถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่จิตอาสาให้คนธรรมดาทั่วไปอย่างพวกเรา เข้าโรงพยาบาลไปชวนเด็กๆ ที่มีอาการป่วยไข้ให้ได้เล่นสนุกอีกครั้ง

การเล่นสนุกสำคัญอย่างไรกับผู้ป่วยเด็ก การใช้การเล่นเป็นสื่อทำให้เด็กได้เรียนรู้ ลืมความเจ็บป่วย และการจัดกิจกรรมนันทนาการจะทำให้เด็กได้รับความเพลินเพลิน ลดความกลัว ความเครียด และสามารถมีพัฒนาการต่อไปได้อย่างสมวัย นอกจากนี้ยังเป็นการแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลอีกด้วย

เราจึงชวนคุณมาเยี่ยมแผนกกุมารเวช โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ในวันนี้ เพื่อดูการทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนของเหล่าอาสาสมัคร และคุยกับ มินนี่-จามจุรี แซ่ซื้อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการโรงพยาบาลมีสุขมากว่า 10 ปี 

 มินนี่-จามจุรี แซ่ซื้อ เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา

“คนภายนอกมักมองว่างานอาสาสมัคร เป็นเรื่องของการให้ แต่ในทางกลับกัน งานอาสาสมัครแบบนี้ เป็นเรื่องของการได้รับด้วยเช่นกัน เพราะรอยยิ้ม ท่าทางตื่นเต้น และการช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีความสุข นั่นล่ะ คือผลตอบแทนของการเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาลที่พวกเราได้รับ 

“ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าและสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งจะเป็นพลังบวกที่ถูกส่งต่อไปในสังคมอย่างไม่รู้จบ” มินนี่เอ่ย ก่อนพาเราเดินตามเสียงหัวเราะสนุกสนานของเด็กๆ เข้าไปสู่ด้านในโรงพยาบาล

01

สมัครใจมาเป็นอาสา

โรงพยาบาลมีสุข ดำเนินโครงการมานานถึง 13 ปี ด้วยแรงกายแรงใจของเหล่าอาสาสมัคร เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมคนจำนวนไม่น้อยจึงเต็มใจมาทำงานนี้ แม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนเลยสักบาทเดียว

“มูลนิธิกระจกเงาเริ่มทำงานกับกลุ่มอาสาสมัครช่วงเหตุการณ์สึนามิ ในปี 2547 โดยส่งอาสาสมัครลงไปช่วยในพื้นที่ประสบภัยจังหวัดพังงาและภูเก็ต ทำให้เราค้นพบว่ามีคนมากมายในสังคมอยากช่วยเหลือคนอื่น 

“สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย การมาเป็นอาสาสมัครจึงเป็นการชวนกันปากต่อปาก เชื่อไหมว่าอาสาสมัครหลายคนของเรา เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในคืนวันศุกร์ ไปช่วยผู้ประสบภัยวันเสาร์ อาทิตย์ แล้วกลับมาทำงานต่อเลยวันจันทร์ ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางเองทั้งหมด เพราะพวกเขาสมัครใจมาเป็นอาสา ได้หรือไม่ได้ค่าตอบแทนมันจึงไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือการที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น” มินนี่เริ่มอธิบาย

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

02

พลังใจที่สำคัญไม่แพ้เข็มฉีดยา

“ในช่วงนั้น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคก็กำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่คนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความพร้อมในการตั้งรับของบุคลากรการแพทย์ ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยที่มากขึ้น

“เราทำงานกับอาสาสมัคร รู้ว่าคนจำนวนไม่น้อยในสังคมพร้อมและอยากช่วยอะไรบ้าง แต่พวกเขาก็อาจจะยังไม่แน่ใจว่าในเชิงการรักษาพยาบาล คนทั่วๆ ไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์จะสามารถช่วยอะไรได้บ้างไหม

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“เราเลยทดลองส่งอาสาสมัครเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาสั้นๆ เริ่มจากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยเน้นที่ผู้ป่วยเด็ก เพราะเด็กๆ ไม่มีความซับซ้อนมากเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นการฟื้นฟูจิตใจและอารมณ์ผ่านกิจกรรมให้แก่ผู้ป่วยเด็ก เพื่อแบ่งเบาภาระของคุณหมอ พยาบาล น่าจะเป็นงานในสเกลที่อาสาสมัครซึ่งเป็นคนทั่วไปช่วยเหลือได้

“ปรากฏว่าผลการดำเนินงานในช่วงทดลองออกมาดีมาก เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นส่งผลให้บุคลากรการแพทย์ทำงานหนักมากขึ้น ทำให้มีเวลาให้กับการรักษาพยาบาลต่อผู้ป่วยหนึ่งคนน้อยลง การดูแลด้านจิตใจทั้งเด็กและผู้ปกครองจึงถูกลดความสำคัญลง เพราะต้องให้ความสำคัญกับโรคที่เด็กเป็นมากกว่า อาสาสมัครจึงเข้ามาช่วยเสริมการทำงานในจุดนี้ได้พอดี”

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

03

โรงเรียนในโรงพยาบาล

มินนี่อธิบายต่อว่า “ก่อนจะเริ่มออกแบบกิจกรรมในโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ทีมโรงพยาบาลมีสุขจะต้องทำการบ้านร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อหาช่วงเวลา กลุ่มอายุของผู้ป่วยเด็ก รูปแบบกิจกรรม และพื้นที่ที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล ในการสร้างสุขให้เหล่าผู้ป่วยตัวน้อย”

ตรงหน้าเราคือกลุ่มเด็กๆ ที่กำลังวาดรูประบายสีกันอย่างขะมักเขม้น พื้นที่ตรงนี้คือ OPD (Out Patient Department) สำหรับผู้ป่วยนอก ซึ่งหมายถึงผู้ที่มารับการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องนอนที่โรงพยาบาล รักษาเสร็จแล้วกลับบ้านเลย 

“งานของทีมบุคลากรการแพทย์บริเวณ OPD ค่อนข้างล้นมือ เพราะแต่ละวันมีผู้ป่วยเยอะ เด็กๆ และผู้ปกครองต้องรอนานทีเดียวกว่าจะได้เข้าตรวจ สภาพดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ บางครั้งถึงขั้นก่อให้เกิดการฟ้องร้องกันได้เลย

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล
โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“สิ่งที่เราสามารถช่วยได้ในฐานะอาสาสมัคร ก็คือจัดหากิจกรรมเพลิดเพลิน การละเล่นที่เป็นประโยชน์หรือผ่อนคลายให้น้องๆ ทำในระหว่างรอคิว เด็กสมัยนี้ เข้าถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตง่าย บางทีเขานั่งจ้องจออย่างเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เราเลยอาศัยโอกาสนี้พาเขาออกมาทำกิจกรรมที่เหมาะกับวัยของเขา ที่ได้ใช้ทักษะร่างกายส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากตาดูหูฟังบ้าง”

“เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ รอพบคุณหมอ เราก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะมีเวลามากน้อยแค่ไหน กิจกรรมจึงต้องสนุก ทำง่าย และใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อชิ้นงาน อย่างพวกภาพวาดระบายสี ประดิษฐ์ถุงผ้าหรือทำโมบายจากจานกระดาษ”

มินนี่อธิบายต่อว่า กิจกรรมที่ฟังเหมือนง่ายพวกนี้ สอดแทรกการเสริมสร้างพัฒนาการให้เด็ก ทั้งในด้านร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กได้ทำงาน ฝึกการประสานความสัมพันธ์ระหว่างมือและตา ด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ด้านอารมณ์ ความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตัวเอง และทางสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเคารพกฎกติกา

“เด็กบางคนควบคุมดินสอสีไม่ได้ เพราะป่วยอยู่ มือไม่มีแรง เราก็จะให้เขาทำหน้าที่เลือกสี แล้วพี่ๆ อาสาจะระบายให้ ดินสอสีมีอยู่ไม่กี่กล่อง แต่น้องๆ มีหลายสิบคน เขาก็เรียนรู้ที่จะแบ่งปันกันใช้ สมมติอยากได้สีฟ้า ก็ต้องรู้จักอดทนรอให้เพื่อนใช้จบก่อน ถึงจะเป็นตาเรา” มินนี่เล่าด้วยความกระตือรือร้น

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

04

จินตนาการรอบเตียงผู้ป่วย

ในแต่ละโรงพยาบาลจะมี ‘ครูพี่เลี้ยง’ จากศูนย์การศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการประจำอยู่ด้วย เพื่อทำกิจกรรมกับผู้ป่วยเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง ใน IPD (In Patient Department) หรือผู้ป่วยใน ซึ่งหมายถึงผู้ที่เข้ามารักษาตัวแล้วต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 

“เพราะเด็กบางคนต้องหยุดเรียนนานเพื่อมาพักรักษาตัว ครูพี่เลี้ยงจะทำหน้าที่ติดตามเรื่องการเรียนกับครูประจำชั้นของน้องๆ ที่โรงเรียน ว่าต้องสอนอะไรหรือทำแบบฝึกหัดประมาณไหน เมื่อเด็กหายดีก็สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เลย ไม่ต้องเรียนซ้ำชั้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบางโรงพยาบาลมีครูพี่เลี้ยงแค่คนเดียว แต่ต้องดูแลผู้ป่วยเด็กหลายสิบคน นี่จึงเป็นอีกช่องวางทางการรักษา ที่อาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุขเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

อาการเจ็บป่วยเรื้อรังที่เด็กเป็น มีตั้งแต่โรคเลือด โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต ไปจนถึงโรคกระดูก

“อธิบายให้เห็นภาพคือ ทุกโรคร้ายแรงที่ผู้ใหญ่เป็น เด็กๆ สามารถเป็นได้หมดเลย ดังนั้นการออกแบบกิจกรรมของเราในส่วน IPD จึงต้องมีพี่ๆ พยาบาลด้านนันทนาการคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กแต่ละคนมีความพร้อมของสภาพร่างกายและจิตใจที่เพียงพอ

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“อย่างน้องบางคน อยู่ในช่วงให้คีโม ภูมิต้านทานจะต่ำกว่าปกติ ถ้ามาทำกิจกรรมกับเด็กคนอื่นๆ หรือเจอพี่ๆ อาสาสมัคร ก็มีโอกาสที่จะทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอลง น้องบางคนป่วยหนัก อยู่ในช่วงให้ยา อาจจะมึนๆ เบลอๆ แต่ทุกคนสู้ไม่ถอย มองโลกในแง่บวก ยังคงยิ้มแย้มและร่าเริงอย่างเด็กทั่วไป เรานับถือใจแข็งแกร่งของเขาเลยนะ”

จดหมายจากคุณแม่น้องโฟล์คที่ทุกคนได้อ่านไปตอนต้นบทความ เป็นข้อความขอบคุณพี่ๆ อาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุข จากทริปที่พาน้องๆ ผู้ป่วยเรื้อรังไปเที่ยวทะเลสัตหีบ ซึ่งกิจกรรมนอกสถานที่แบบนี้จัดขึ้นเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้เด็กป่วยได้ทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกเหนือจากแค่อยู่ในโรงพยาบาล

“ในทริปนอกจากจะมีน้องๆ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ได้ไปร่วมเสริมสร้างกิจกรรมในครอบครัวในทริปด้วย และแน่นอนว่ามีทีมเจ้าหน้าที่พยาบาลตามไปดูแลอย่างใกล้ชิด

“สำหรับครอบครัวปกติที่มีลูกสมบูรณ์แข็งแรง อาจจะได้ไปเที่ยวด้วยกันสัปดาห์ละครั้ง แต่ครอบครัวที่ต้องดูแลเด็กป่วยโรคเรื้อรัง บางครั้งการรักษาอาจกินเวลานับเดือน ปี หรือตลอดชีวิต การได้ไปเปิดหูเปิดตาพร้อมหน้ากันเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลย

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“มีครั้งหนึ่ง เราพาน้องไปเที่ยวทะเลบางแสน ฐานะครอบครัวของน้องค่อนข้างยากจน จึงไม่เคยได้ไปเที่ยวที่ไหน ปรากฏว่ากลับมาได้สองเดือน น้องก็เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังที่เป็นแทรกซ้อน ทั้งระบบเลือดและลำไส้มาหลายปี ทริปบางแสนจึงเหมือนเป็นความทรงจำล้ำค่าสุดท้ายของทั้งตัวน้องเอง และครอบครัว

“การมาเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุข ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ได้เห็นค่าของสิ่งที่ทำว่าจะส่งผลแก่ผู้อื่นอย่างไร ทุกกิจกรรมที่ทำ จึงไม่ใช่แค่กิจกรรม แต่เป็นเรื่องที่ให้คุณค่าทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ค่อยๆ ขัดเกลาเราให้รู้จักการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน” มินนี่พูดพร้อมรอยยิ้ม

05

ตันตนที่สร้างประโยชน์ให้สังคม

“แม้จะมีกิจกรรมพื้นฐานเป็นตัวตั้งต้นอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าอาสาสมัครที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาในโครงการโรงพยาบาลมีสุขจะต้องทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ เพราะอาสาสมัครแต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัว 

“เรามีคุณครูสอนทำคัพเค้กสมัครเข้ามาเป็นทีมอาสาสมัคร เลยเกิดเป็นไอเดียกิจกรรมใหม่ขึ้นมา คือการสอนผู้ป่วยเด็กแต่งหน้าคัพเค้ก จากวิปครีมบ้าง จากฟองดอนบ้าง ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก และจินตนาการแบบวาดรูประบายสีเลย

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล
โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“เรามีนักศึกษามหาวิทยาลัยที่เป็นแก๊งแต่งตัวคอสเพลย์ มีชุดซูเปอร์ฮีโร่เท่ๆ อยู่หลายชุด ก็จัดเป็นกิจกรรมให้ซูเปอร์ฮีโร่มาเยี่ยมให้กำลังใจ เล่นดนตรีร้องเพลงให้เด็กๆ ในโรงพยาบาลฟัง อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ที่ต่างประเทศ เวลาดารานักแสดงขวัญใจเด็กๆ ไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล และอีกหลากหลายกิจกรรมที่โรงพยาบาลมีสุขออกแบบขึ้นมาใหม่จากความสามารถเฉพาะตัว ความสนใจ และความชอบของพี่ๆ อาสาสมัคร

“เพราะเราเชื่อว่าตัวตนของทุกคน สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ชิ้นนั้นไหม” มินนี่ยิ้มพร้อมเล่าต่อว่า

“อย่างพี่ๆ พยาบาลส่วนใหญ่ในแผนกกุมารเวชที่เราทำงานด้วย เขาไม่ได้คิดว่านี่เป็นงาน แต่เป็นภารกิจในการเยียวยาเด็กสักคนหนึ่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะบางครั้งพี่ๆ พยาบาลเจอครอบครัวเด็กที่ไม่มีสตางค์จะเสียค่ารักษา เขาก็จะรวบรวมเงินกันเพื่อช่วยเท่าที่ช่วยได้ หรือบางครั้งครอบครัวเด็กขาดเหลืออะไรบางอย่าง พี่ๆ เขาก็จะแจ้งเรามา เพื่อช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ

มูลนิธิกระจกเงา เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“เราใช้วิธีระดมเงินทุนผ่าน เทใจ.com และช่วยประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ป่วยเด็กได้รับโอกาสในการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด เพราะการรักษาเด็กที่ป่วยเรื้อรังใช้เงินมหาศาล บางครอบครับจากที่พอมีสตางค์อยู่บ้าง เมื่อเด็กเข้ารับการรักษาไปเรื่อยๆ บางทีผู้ปกครองต้องลาออกจากงานมาดูแล ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว”

มินนี่ชวนเรานั่งลงดูเด็กๆ และเหล่าอาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุขที่กำลังพูดคุยหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน

“น้องบางคนที่ต้องมาโรงพยาบาลเป็นประจำ เช่น ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ต้องมาให้เลือดทุกเดือน พอเขาเจอเราบ่อยๆ เข้า เขาก็จำได้ และดีใจทุกครั้งที่มีเพื่อนเล่นในโรงพยาบาล จากวันแรกที่อาจจะอายๆ เพราะยังเป็นคนแปลกหน้ากันอยู่ เผลอแป็บเดียวกลายเป็นเพื่อนซี้กันแล้ว”

06

ปาร์ตี้ปีใหม่ในโรงพยาบาล

ช่วงนี้ลมเย็นๆ พัดพากลิ่นอายฤดูหนาวมาเป็นระลอก สัมผัสได้ถึงความรื่นรมย์ก่อนเริ่มต้นปีใหม่ ระหว่างที่เราเฉลิมฉลองกันนั้น ยังมีผู้ป่วยเด็กจำนวนไม่น้อยต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 

มูลนิธิกระจกเงา เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“เราจึงจัดกิจกรรม ‘ของขวัญปีใหม่ ส่งใจให้เด็กป่วย’ ขึ้น ที่แผนกกุมารเวชใน 8 โรงพยาบาลทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 แล้ว โดยเราเปิดรับของขวัญ ของเล่นเสริมทักษะ อุปกรณ์เครื่องเขียน ประมาณหนึ่งพันชิ้น เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ป่วยเด็ก รวมถึงรับสมัครอาสาสมัครจำนวนมากมาช่วยกันแพ็คของขวัญ รวมถึงช่วยจัดงานปีใหม่ในโรงพยาบาล

“บรรยากาศความสนุกแม้จะโกลาหลเล็กน้อย ทำให้ผู้ป่วยเด็กสดชื่นรื่นเริงและไม่เศร้าสร้อย แม้จะต้องอยู่ในโรงพยาบาลตลอดช่วงเวลาปีใหม่ ไม่ได้ไปเที่ยวอย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน แต่มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขตามสมควร รวมถึงเด็กๆ ทุกคน”

มินนี่เปิดภาพงานปีใหม่เมื่อปีที่แล้วให้เราดู มีซานตาคลอสอาสาสมัครไปเซอร์ไพรส์เด็กๆ ที่นอนป่วยบนเตียงด้วย

โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล
โรงพยาบาลมีสุข เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

“เมื่อป่วยไข้การรักษาทางกายภาพสำคัญที่สุด แต่จริงๆ แล้วเรื่องของจิตใจก็มีส่วนไม่น้อยต่อความคืบหน้าในการเยียวยารักษา 

“สิ่งที่เราค้นพบคือ เด็กๆ เชื่อฟังพี่ๆ อาสาสมัครมากเลยนะ อาจเพราะเราเป็นสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ ในแต่ละวันเขาเจอแค่คุณหมอ พยาบาล ผู้ปกครอง พอมาเจอเราที่ชวนทำกิจกรรมสนุกๆ เขาก็ลืมความเจ็บป่วย

“บางทีพยาบาลถามตอนเช้าว่าเจ็บประมาณไหน เขาบอกระดับ 8 พอทำกิจกรรมกับพี่ๆ อาสาสมัครเสร็จ ถามใหม่ว่าเจ็บประมาณไหน ความเจ็บปวดเหลือระดับ 5 เท่านั้น

“ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เกษียณอายุแล้วแต่ไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ เขาก็มาเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุขเช่นกัน อย่างน้อยได้เจอเพื่อนใหม่ ได้พูดคุยกับคนอื่น ได้มีปฏิสัมพันธ์ และสร้างประโยชน์ให้สังคม

“อย่าเฝ้าแต่รอให้คนอื่นทำ สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่ดีขึ้นไหม ขึ้นอยู่กับเราทุกคน ความสุขเล็กๆ ที่เด็กๆ ได้รับในวันนี้ จะทำให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ให้ในอนาคต เป็นความดีที่ถูกส่งต่อกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” มินนี่กล่าวทิ้งท้าย

มูลนิธิกระจกเงา เยียวยาผู้ป่วยเด็กนับพัน ด้วยการชวนอาสาสมัครไปสร้างพื้นที่แห่งความสุขในโรงพยาบาล

ใครอยากสมัครเป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลมีสุข หรือบริจาคของขวัญปีใหม่ไปให้ผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน