หากใครอยู่ในย่านสุขุมวิท บางนา สาทร และอารีย์ อาจเคยเห็นรถบรรทุกคันเล็กหลังคาสีเขียว จอดตามคอนโดฯ เปิดท้ายขายผักผลไม้สด ดูแล้วช่างละม้ายคล้ายรถพุ่มพวง แต่หากได้เข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่ารถคันนี้มีอะไรมากกว่านั้น 

รถคันนี้มีชื่อว่า Grocery Truck เป็นรถขายผักผลไม้ที่มีขายตั้งแต่แตงโมไปจนถึงหอมใหญ่ พร้อมผักสดทั้งไทยและเทศ คอยจอดให้บริการตามจุดต่างๆ ให้คนในละแวกใกล้เคียงแวะเวียนมาหยิบตะกร้าเลือกซื้อได้ตามชอบใจ 

รถบรรทุกน่ารักๆ นี้เป็นอีกบริการหนึ่งของ Happy Grocers สตาร์ทอัพที่อาสาเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกษตรกรกับคนเมือง 

Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย

Happy Grocers ทำงานกับเกษตรกรถึงสวน ใช้แพลตฟอร์มของตนเพื่อให้เกษตรกรรายเล็กมีตลาดขายสินค้าในราคาที่สมเหตุสมผล ส่งต่อความใส่ใจจากเกษตรกรถึงมือลูกค้า ให้ความสำคัญกับเรื่องราวและที่มาที่ไปของผักแต่ละต้น จนครองใจลูกค้าประจำกว่า 1,200 คน 

ทุกอย่างนี้เริ่มต้นจากโพสต์เฟซบุ๊กโพสต์เดียว มาสู่การลองผิดลองถูกช่วงล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา จนเกิดเป็น Happy Grocers ที่นอกจากจะส่งผักอินทรีย์จากสวนเกษตรกรถึงมือลูกค้า ยังเป็นแพลตฟอร์มให้ลูกค้าที่เชื่อในเรื่องเดียวกันมาเจอกันด้วย 

Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย

โม-สุธาสินี สุดประเสิรฐ และ มุก-ปัทมาภรณ์ ดำนุ้ย สองเพื่อนนักศึกษาจากวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมดนี้ แม้ธุรกิจนี้เพิ่งเติบโตและผลิบาน แต่ด้วยความตั้งใจและวิธีการที่ชัดเจน ทำให้ Happy Grocers คว้ารางวัลจากเวที Startup Thailand League 2020 การันตีว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำนั้น ช่วยสร้างความสุขให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้จริงๆ

ลงมือทดลอง

โมและมุกเป็นเพื่อนที่มหาวิทยาลัย ทั้งคู่เริ่มทำงานร่วมกันจริงจังเมื่อครั้งไปฝึกงานที่จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมงานกับอาจารย์จาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน International Develeolment Design Summit โดยทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติจาก 14 ประเทศ จากทวีปอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย 

หลังเรียบจบ ทั้งคู่เริ่มค้นหาเส้นทางของตัวเอง โมเดินทางไปหาแรงบันดาลใจในต่างประเทศ และกลับมาทำโปรเจกต์เกี่ยวกับ Community Based Tourism ที่กระบี่ จึงเกิดไอเดียที่จะทำอะไรในช่วงล็อกดาวน์ ประกอบกับเพื่อนและคนรู้จักเริ่มบ่นว่าหาแหล่งซื้อผักผลไม้สดนอกจากห้างสรรพสินค้าไม่ได้เลย

“ตอนโควิด-19 ปีที่แล้วช่วงเดือนมีนาคม เพื่อนเราที่ทำงาน NGO ใน UN บอกว่าหาซื้อของที่ไม่เป็นพลาสติกไม่ได้ เพราะช่วงแรกๆ เดลิเวอรี่มาแรงจริงๆ ถ้าจะเน้นสั่งเดลิเวอรี่ก็จะใช้พลาสติกเยอะมาก 

“ส่วนเกษตรกรรายเล็กๆ ขายสินค้าเกษตรไม่ได้เพราะไม่รู้จักตลาด และไม่มีกำลังมากพอที่จะซื้อพื้นที่ขายของในห้าง เราเห็นว่าเกษตรกรที่รู้จัก เริ่มขายของไม่ได้ ทุกคนเริ่มบ่นว่าลำบาก”

ส่วนมุกได้ลองทำงานหลายอย่างระหว่างเรียนมหาลัย จนเรียนจบออกมาได้ไปทำงานในเอเจนซี่โฆษณา เมื่อทำไปสักพักก็เริ่มรู้ว่าไม่ใช่พื้นที่ที่เธอคุ้นเคย 

“มันไม่เหมือนกับที่เราเรียนมาเลย ที่ทุกไอเดียพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ เรายังปล่อยไอเดียไม่ได้เต็มที่ เลยอึดอัดกับสิ่งที่ทำอยู่ ตอนทำงานไม่เคยเห็นพระอาทิตย์ รู้สึกไม่มีอิสระ เราอยากเห็นพระอาทิตย์ เห็นต้นไม้ตอนเลิกงาน”

ไอเดียริเริ่มของโมในตอนนั้น บวกเข้ากับโปรเจกต์เรื่อง E-commerce ผักผลไม้ที่มุกทำส่งอาจารย์ก่อนเรียนจบ ทำให้มุกและโมได้มาเจอกันอีกครั้ง ทั้งคู่พิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาคิดจะทำได้จริงไหมผ่านโพสต์บนเฟสบุ๊กเพียงโพสต์เดียว

‘If you guys want some groceries, you can order them with me. I can delivery on the next day’ 

“ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องส่งของยังไง ซื้อที่ไหน เลยไปเริ่มที่ตลาดไทก่อน เพื่อดูว่ามันมีดีมานด์จริงไหม กลายเป็นว่าเราได้ยี่สิบออเดอร์ภายในคืนเดียว 

“เราเริ่มจากไอเดียแล้วทดลองเลย เอาเสียงตอบรับลูกค้ามาปรับ แล้วค่อยไปลงทุน เป็น Mindset ที่มีมาแต่แรกอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้มีทุนในตั้งต้น เลยเลือกเริ่มจากการพรีออเดอร์ แล้วเอาทุนตรงนั้นมา Re-invest ไปเรื่อยๆ”

Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย
Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย

เริ่มต้นตามหาที่มาที่ไป

จากประสบการณ์ทำงานกับเกษตรกรกว่า 7 เดือน โมและมุกเข้าใจเกษตรกรรายย่อย ผู้เป็นต้นทางของผลผลิตทั้งผักและผลไม้ในระบบอาหารที่คนเราบริโภคกันทุกวันนี้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ขั้นตอนไม่ใช่เพียงแค่การส่งผักจากเกษตรกรไปขายในตลาด แต่การกระจายผลผลิตไปยังพื้นที่ต่างๆ ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลางและกลไกตลาดมากกว่าที่เราเห็น

ผักจากทั่วภูมิภาคที่จะเข้ามาสู่ตลาดกลาง ไม่ว่าจากภาคไหนๆ จะต้องผ่านตลาดกลาง คือตลาดไทและตลาดศรีเมือง ผักจากเหนือจะลงไปขายภาคใต้ได้ ต้องผ่านตลาดใดตลาดหนึ่งในสองตลาดนี้ ก่อนจะเข้าสู่ตลาดทางภาคใต้ได้ เช่นเดียวกันกับภาคอื่นๆ ก็ต้องผ่านกลไกตลาดนี้เช่นกัน 

“ตลาดไทและตลาดศรีเมืองเป็นสองตลาดที่อยู่ใน Supply Chain ใหญ่ของผักที่เรากินกันทั้งประเทศ เกษตรกรขนาดเล็กเขาจะมีคนมารับหน้าสวนเพื่อส่งเข้าล้ง แล้วล้งค่อยส่งเข้าตลาดไท ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ตลาดรายย่อยทั่วไป กว่าจะถึงมือผู้บริโภคผ่านมาหลายมือมากๆ” มุกอธิบาย

ระบบพ่อค้าคนกลางและกลไกตลาดทำให้ผักผลไม้ที่มีราคาหน้าสวนแค่กิโลกรัมละ 7 บาท พุ่งสูงขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 50 – 60 นั่นหมายความว่า ผู้ผลิตตัวจริงจะไม่ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เมื่อเทียบกับน้ำพักน้ำแรงที่พวกเขาลงไป มุกและโมจึงต้องหาทางช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านั้น ศึกษาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และคิดค้นหาวิธีการทำธุรกิจที่ลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางออกให้หมด แล้วทำงานโดยตรงกับเกษตรกรหน้าสวนเลย

วิกฤตโรคระบาดทำให้ผักผลไม้ทั่วไปไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพราะการขนส่งเริ่มชะลอตัว แม้แต่ผักออร์แกนิกก็ขายได้ยาก เป็นผลจากห้างร้านทยอยปิดตัวลง ทั้งมุกและโมจึงเริ่มสนใจในผลผลิตออร์แกนิกมากขึ้น

Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย
Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย

ปัญหาของคนแต่ละกลุ่ม

“เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงตลาดไม่ได้ คนที่ทำโปรดักต์หรือผลผลิตดีๆ ไม่ได้แปลว่าเขาจะมีตลาดโดยอัตโนมัติ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะออกไปหาตลาด เกษตรกรอินทรีย์จึงยอมขายในราคาเคมีซึ่งถูกกว่า เพราะไม่รู้จะไปหาตลาดที่ไหน 

“ตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องที่มาที่ไป เขาไปให้คุณค่ากับความสวย ความงาม ความใหญ่ การไม่มีแมลง ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เลือกทำเกษตรกรรมเคมี เพราะไม่กล้าลงทุน ถ้าเปลี่ยนเป็นออร์แกนิกต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามปีรอให้ดินไม่มีเคมีแล้ว เพื่อให้ได้ Certificate แปลว่าสินค้ายั่งยืนยังมีน้อยเกินไปในตอนนี้”

เมื่อทั้งคู่ศึกษาปัญหาและเบื้องหลังของประเด็นเหล่านั้นก็พบโอกาส จนนำมาสู่การสร้างโซลูชันเพื่อแก้ Pain Point ที่ผู้บริโภคหาซื้อผลผลิตที่เชื่อใจไม่ได้ว่าจริงๆ ปลอดภัยไหม และไม่ลืมมองเรื่องความยั่งยืนด้วย

“เราหยิบประเด็น ‘ถ้าคุณอยากช่วยโลก อาจจะไม่ต้องออกไปสร้างเขื่อน ปลูกต้นไม้ แค่คุณเริ่มจากการกินอาหาร’ การที่คุณกินแต่ของสวยงามตลอดเวลา คุณอาจคิดว่าคุณได้ช่วยเกษตรกร แต่มันไม่ใช่นะ พอเรามีความคาดหวังเหล่านั้นเยอะขึ้น ก็สร้างความกดดันให้เกษตรกร งั้นเขาใช้ยาดีกว่า งั้นแอบใช้อันนี้ดีกว่า เขาถึงจะขายได้”

Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย

เชื่ออะไรให้ทำแบบนั้น

ห้างร้านขายผักผลไม้ที่ชินตา มักมีตู้กระจกแช่ผักให้สด ผลไม้เรียงรายอย่างเป็นระเบียบรอลูกค้ามาเลือกสรร หน้าตาและขนาดไม่แตกต่างกันมาก ลูกสวยๆ จะถูกเลือกไปแต่หัววัน ทิ้งไว้แค่ลูกที่ไม่เต่งตึงหรือหน้าตาไม่งามตามมาตรฐาน 

ก่อนจะมาเป็นผักผลไม้บนห้าง หรือส่งขายตามตลาดใหญ่ๆ เกษตรกรผู้เป็นเจ้าของต้องคัดเลือกผลผลิตที่ดีที่สุด สวยที่สุด ที่น่าเสียดายคือ ผลผลิตที่ขายให้ตลาดมีเพียง 40 – 50 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตทั้งหมด ผักตกเกรด ใบแหว่ง ก้านหัก ผลไม้รูปร่างบิดเบี้ยว สีไม่สดใส จะถูกคัดทิ้งตั้งแต่แรก 

จากที่เกษตรกรควรได้ค่าตอบแทนจากการขายผักผลไม้เหล่านี้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น

Happy Grocers โอบกอดผลผลิตที่เหลือเหล่านี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าหากปรับมุมมองคนในการเลือกบริโภคผักผลไม้เบอร์หลัก มาเป็นการบริโภคผักเบอร์รองร่วมด้วยได้ จะช่วยทำให้เกิดระบบอาหารที่ยั่งยืนในที่สุด

Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย
Happy Grocers สตาร์ทอัพเกษตรอินทรีย์ รถขนผักผลไม้ที่เชื่อมคนเมืองกับเกษตรกรรายย่อย

“ถ้าเราไม่เอาผักไม่สวย มันกลายเป็นขยะ แทนที่ปลูกร้อยได้อย่างน้อยแปดสิบ เพราะปกติเขาขายให้เจ้าใหญ่ๆ เบอร์สวยเขาขายได้แค่ห้าสิบเท่านั้น อีกห้าสิบขายไม่ออก เราไปรับซื้อตรงนั้นเพื่อเพิ่มรายได้ และได้ลดขยะอาหารที่เป็นต้นกำเนิดของแก๊สมีเทน”

นอกจากทำงานกับเกษตรกร Happy Grocers ยังทำงานกับเด็กๆ ช่วยให้ความรู้เรื่องการอุดหนุนเกษตรกร การบริโภคผักที่ไม่สมบูรณ์แบบ เพื่อปลูกฝังแนวคิดการบริโภคอาหารยั่งยืน 

“เราไม่สามารถคาดหวังให้มันเท่ากันหมด บางทีเราบอกเขาตรงๆ ว่า ถ้าอยากกินผักผลไม้ออร์แกนิกอาจจะมีหนอนนะ บางทีมังคุดแกะไปอาจจะมีมดวิ่งออกมา เพราะเราไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง เราเสนอลูกค้าตลอดเลยว่า เขาเอามาเคลมได้ บางคนก็เคลม บางคนก็ไม่

“ผักที่เหลือหรือขายไม่ได้ก็ทำเป็นชุด Surplus เป็น Mix Fruit ลดราคาเหลือสามร้อยบาท ลูกค้าก็เอาไปทำอวดกันเองว่า ซื้อ Surplus ของ Happy Grocers ไปทำเมนูอะไรดี บางคนซื้อแต่ Surplus ไม่ซื้ออย่างอื่นเลย แล้วก็ลงรูปในอินสตาแกรมกัน”

ทั้งสองคนยังเชื่ออีกว่า การรู้ถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่กิน ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ หรืออะไรก็ตาม จะช่วยให้คนเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่กินและมองเห็นถึงความตั้งใจของเกษตรกร 

“หากรู้ที่มาที่ไป พอลูกค้ามีปัญหา เจ้าของผลผลิตสามารถตอบได้อย่างละเอียด เขาคือ Expert ถ้าเกิดคุณไปถามเรื่องชีสกับตัวแทนจำหน่ายเขาตอบไม่ได้ ถ้าเราถาม Supplier เรา เขาตอบได้ มี Reference มีข้อมูลอ้างอิงทุกอย่างให้ครบ”

Ideal vs Reality

Happy Grocers เริ่มจากการทำงานกับเกษตรกรรายย่อยอย่างฟาร์มหรือสวนเล็กๆ ก่อน 

“แม้ว่าลูกค้าจะอยากช่วยโลกยังไง เขาก็ยังต้องการความสะดวก ถ้าเข้ามาในเว็บก็อยากซื้อของทุกอย่างในครั้งเดียว ถ้าทำงานกับแค่เกษตรกรรายเล็กๆ มันมีข้อจำกัด คุณต้องสั่งอันนี้วันจันทร์ สั่งนมวันอังคาร สั่งไข่วันพุธ ในทางปฏิบัติลูกค้าไม่มาจำหรอกว่าต้องสั่งอะไรวันไหน

“เราเลยต้องมาทำงานกันหลังบ้าน เริ่มมิกซ์ระหว่างเกษตรกร ใหญ่ เล็ก กลาง เพื่อมั่นใจว่าเราจะมีของ เลยต้องทำงานกับคนที่ส่งสินค้าให้เราได้ด้วย”

ทั้งมุกและโมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการเกษตร ช่วงแรกจึงมีปัญหาค่อนข้างเยอะ การลองผิดลองถูกในบางครั้งก็ทำให้ได้รู้ข้อเท็จจริงหลายอย่าง 

“เราเริ่มโดยสั่งของจากตลาดไท คิดว่าคนนี้เป็นเกษตรกรตัวจริง เพราะเขาเสนอว่าอยากได้อะไรก็หาให้ได้หมด เรารู้สึกว่าดีจัง รอรับออเดอร์อย่างเดียว ง่าย แต่ไม่ได้ฉุกคิดว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวังทุกอย่างก็ได้นะ”

ทั้งสองลองตรวจสอบที่มาที่ไปของผักผลไม้ที่พวกเขาได้มา เพราะการตั้งคำถามจากคนใกล้ชิด ถึงเรื่องราวของผักที่ทั้งสองคนกำลังขายอยู่ 

“มีพี่ถามว่า เรารู้เรื่องภูมิศาสตร์ของประเทศไทยไหม รู้ไหมว่าแต่ละภาคอุณหภูมิเฉลี่ยเท่าไหร่ และอุณหภูมิมันแปรผันตรงว่าผักไหน ปลูกได้ปลูกไม่ได้ เช่น แครอทไม่มีทางปลูกได้นอกจากภาคเหนือ และปลูกได้แค่หน้าหนาวเท่านั้น ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกับ Supplier คนที่ทำงานด้วยตอนนั้น เพราะแครอทของเขามาจากสระบุรี ซึ่งสระบุรีนอกจากจะไม่ได้อยู่ในภาคเหนือแล้ว มันเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมหลักด้วย” โมบอกกับเรา

“เขาถามต่อว่า แล้วรู้ไหม คะน้าดอกสีเหลืองคืออะไร เราไม่รู้ เลยฉุกคิดว่า ทำไมเราไม่รู้เรื่องโปรดักต์ที่เรากำลังขายอยู่เลย เรารู้แค่ว่ามันคือผักอะไร มาจากที่ไหนก็เพราะเขาบอกมา แสดงว่าเราตอบคำถามไม่ได้ เราไม่รู้จริง เราเลยสอบถามกลับไปที่ Supplier คนนั้นว่า อันนี้ๆ คืออะไร เขาก็ตอบเราไม่ได้ 

“การรู้แหล่งที่มาที่ไปจึงสำคัญ ไม่ใช่คนนี้บอกว่าอันนี้เป็นออร์แกนิก แล้วคุณจะเชื่อว่ามันออร์แกนิก” 

ด้วยสองกำลังสี่มือของมุกและโม Happy Grocers ไม่สามารถเป็นออร์แกนิกทุกอย่าง ทั้งสองเลยตัดสินใจว่าจะตั้งตนเป็นร้านขายผลผลิตที่โปร่งใส นอกจากสินค้า สิ่งที่จะมอบให้คือข้อมูลที่มาที่ไว้ใจได้ ชนิดไหนไม่ใช่สวนอินทรีย์ ก็สื่อสารตรงๆ อันไหนเป็นอินทรีย์ ก็บอกอย่างนั้น แล้วให้ผู้บริโภคเลือกเอง 

สตาร์ทอัพขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมเกษตรกรกับคนเมือง ส่งต่อผักผลไม้ด้วยราคาสมเหตุสมผลและความเอาใจใส่

ปรับปรุงเพื่อลูกค้าโดยพัฒนาจากฟีดแบ็ก

“เรื่องของโลจิสติกส์เราคุมเวลาไม่ได้ เพราะว่าถ้าวันนี้เรามียี่สิบออเดอร์ เราขับส่งกันเอง ออกประมาณบ่ายโมง ออเดอร์สุดท้ายดึกสุดประมาณสี่ทุ่มกว่าจะส่งเสร็จ

“เราไม่คิดถึงเรื่องเวลา เราไม่ได้คิดว่าผักต้องสดอยู่เพราะเราไม่รู้จักผักของเรา ช่วงใหม่ๆ ไปส่งแค่ยี่สิบนาที สลัดกับผักบุ้งเหี่ยวแล้ว เพราะเราไม่รู้วิธีการจัดการมันเลย”

ในตอนแรกทั้งมุกและโมยังไม่เชี่ยวชาญ อาจทำผิดทำถูกไปบ้าง ทำให้เกิดปัญหาที่ทั้งสองคนอาจมองข้ามไป แต่สิ่งที่ช่วยให้พวกเขารู้ถึงปัญหาและพัฒนาได้ไว ก็คือการฟังฟีดแบ็กจากลูกค้าโดยตรง ข้อดีของการที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ทำให้การสะท้อนความพึงพอใจได้อย่างไม่เคอะเขิน ลูกค้าส่วนใหญ่พร้อมที่จะเปิดใจ เข้าใจ และแนะนำ เพราะเห็นในความตั้งใจ เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจากวันแรกที่ธุรกิจนี้เกิดขึ้นมา 

นอกจากการรับฟังเสียงของลูกค้าเพื่อแก้จุดด้อย สิ่งที่ทำให้ Happy Grocers เป็นธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมๆ กับผักของชาวสวน คือการวางตัวเป็นผู้เรียนอยู่เสมอ

“เราตั้งตัวเองว่าเราเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว แล้วเราก็ไม่อายที่จะเดินไปบอกลูกค้าว่า ฉันทำอันนี้อยู่ คุณมีอะไรที่จะให้แนะนำไหม แล้วเขาเห็นว่าเวลาเขาให้ฟีดแบค เราทำ ไม่ใช่แค่ให้ฟีดแบคแล้วปล่อยผ่าน แต่เราพัฒนา” 

สตาร์ทอัพขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมเกษตรกรกับคนเมือง ส่งต่อผักผลไม้ด้วยราคาสมเหตุสมผลและความเอาใจใส่

บทเรียนนอกตำรา

“เพราะเราไม่ได้รีบขาย รีบรวย เราเน้นขายของสุขภาพดีให้กับลูกค้า” 

ธุรกิจที่โมและมุกทำขึ้นมาจากความตั้งใจในวันนั้น ยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่เติบโตไปพร้อมกับธุรกิจคือความใส่ใจ ทั้งในการส่งต่อสินค้า เลือกผลผลิต ทำความเข้าใจลูกค้า และทำความเข้าใจเกษตรกร นอกเหนือไปจากผลกำไร ทั้งคู่ยังได้เรียนรู้บทเรียนมากมายจากการทำธุรกิจ 

พวกเขาทำความเข้าใจธุรกิจของตัวเอง ด้วยนิยามที่ชัดเจน รู้ความต้องการและเป้าหมายที่ชัดเจน ใครคือคู่ค้า ใครคือผู้ซื้อ นิยามที่ชัดเจนจะทำให้ธุรกิจพัฒนาได้ถูกทางและตรงเป้ามากขึ้น

การรู้ความต้องการของทีมงานจึงสำคัญเท่ากับการรู้ความต้องการของลูกค้า 

“กว่าบริษัทจะโตได้ต้องวิเคราะห์ว่า Core Team ต้องการอะไรก่อน”

โมสะท้อนบทเรียนจากการทำธุรกิจ เธอเล่าว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคมก็คือการทำธุรกิจ ต้องทำให้มั่นคงเท่ากับธุรกิจทั่วไป แข่งกับธุรกิจอื่นๆ ในตลาดได้ และต้องทำให้คนอุดหนุนเพราะธุรกิจดี มิใช่การอุดหนุนเพราะช่วยสังคมอย่างเดียว

“สุดท้ายแล้วก็ต้องทำให้มีประสิทธิภาพเท่าธุรกิจปกติ เพราะเราคือธุรกิจ เพียงแต่สุดท้ายเราสร้าง Impact อะไรเท่านั้นเอง”

ธุรกิจในวันนี้

จากจุดเริ่มต้น จนถึงวันนี้ Happy Grocers กลายเป็นสตาร์ทอัพที่ครองใจลูกค้าประจำ ซึ่งกว่าเก้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์เป็นชาวต่างชาติ ส่วนจำนวนลูกค้าชาวไทยก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยเช่ารถเพื่อนำผักผลไม้ไปให้ลูกค้า เปลี่ยนมาเป็นรถบรรทุกขนาดกะทัดรัดของตัวเอง เปิดขายสินค้าอินทรีย์ที่มีคุณภาพได้ในหลายๆ พื้นที่

 โมเล่าให้ฟังว่า “เริ่มแรกเป็นรถขนปุ๋ย เราพยายามจะทดสอบว่า ลูกค้าจะชอบไหม แค่นั้นเอง ซึ่งลูกค้าโฟกัสที่เป้าหมายว่าอยากซื้อผักออร์แกนิกที่เลือกเองได้ เมื่อก่อนแบกับดินจริงๆ มาเปลี่ยนโฉมเพราะมีสถานทูตห้าแห่งติดต่อให้เราไปขายพร้อมกันทีเดียว เราเลยไม่ได้แล้ว ต้องปรับโฉม”

“First Impression สำคัญที่สุด จุดนั้นเลยทำให้เราเริ่มลงทุน ที่ผ่านมาไม่ได้ลงทุนแต่เป็นการเช่าครั้งต่อครั้ง สเต็ปถัดมาต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนจำได้ ให้คนเห็นข้อมูลครั้งเดียวก็จำเราได้ ติดสติกเกอร์ไปเลยรอบคัน ให้คนเห็นว่ารถคันนี้คืออะไร ให้มันเป็น Free Marketing ที่วิ่งได้ตามท้องถนน โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลย” มุกเสริม

ปัจจุบัน Happy Grocers มีบริการที่ครอบคลุม รองรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น 

“ตอนนี้มี Home Delivery, Grocery Truck Home Delivery มีบริการผ่าน happygrocers.co ส่งวันถัดไป มีของประมาณร้อยเจ็ดสิบสามรายการ ทั้งผักผลไม้ ชา กาแฟ ชีส โยเกิร์ต เบเกอรี่ เนื้อสัตว์ ถ้าสั่งในเว็บจะมีตัวเลือกเยอะที่สุด แต่ถ้าลูกค้ารีบก็สามารถสั่งใน Grab Mart ส่งภายในหนึ่งชั่วโมง

“เราพยายามสร้าง Online Experience เหมือนกัน ตอนนี้ล็อกดาวน์ ล็อกแบบไม่ให้ข้ามไปหาเกษตรกรเลย เราเลยพยายามทำ Virtual Farmtrip หลักๆ ช่วงนี้จะเป็นแค่ Digital Marketing ทั่วไป กิจกรรมที่เราทำทุกอาทิตย์ก็จะมี Delivery และ Truck” 

วันนี้ทั้งมุกและโม ทำให้การมาถึงของ Grocery Truck คันสีขาวหลังคาสีเขียว มีความหมายมากกว่าการมาถึงของตลาดอินทรีย์เคลื่อนที่ แต่ยังบ่งบอกความสนุกสนานและพื้นที่แห่งการแชร์เรื่องราว

“ทุกทีที่ไป ลูกค้าคนนี้ก็จะเอาลำโพงมาเปิดเพลงละตินของเขา ร้องเพลง ทุกคนก็จะเต้น เป็นคอมมูนิตี้จริงๆ มันไม่ใช่แค่การซื้อมาขายไป แต่เป็นพื้นที่ให้คนมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง มักมีคนส่งข้อความมาหาเราว่า ‘ขอบคุณนะที่มา’

“ช่วงหนึ่งที่เรามีโอกาสได้จัดออฟไลน์คอมมูนิตี้ จัดปาร์ตี้ที่บ้านของเรา แล้วบ้านก็คือจอดรถได้สี่คัน แต่คนมาสามสิบสี่สิบคน เป็นอารมณ์แบบ Networking Event 

“บางทีเราก็รู้สึกเหมือนกันนะว่า เราเป็นแพลตฟอร์มของคนที่เชื่อเหมือนๆ กัน เราดีใจและรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นสีสันในสัปดาห์นั้นๆ ของทุกคน ผักที่เราไปขายมีคุณภาพดี และยังทำให้คนได้มาเจอกันด้วย”

สตาร์ทอัพขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมเกษตรกรกับคนเมือง ส่งต่อผักผลไม้ด้วยราคาสมเหตุสมผลและความเอาใจใส่

Writer

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล