ธุรกิจ : บริษัท ต้นเครื่อง (1991) จำกัด และ บริษัท ทีสปูน จำกัด
ประเภทธุรกิจ : ร้านอาหาร
ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2524 (ร้านต้นเครื่อง), พ.ศ. 2563 (ร้านหางเครื่อง)
อายุ : 41 ปี
ผู้ก่อตั้ง : ดนัย-ปาริชาติ เขมสมิทธิ์
ทายาทรุ่นสอง : ดรัลรัตน์ เขมสมิทธิ์ กิจวิกัย
ต้นเครื่องเป็นร้านอาหารไทยร้านแรกในซอยทองหล่อที่มีอาหารไทยโบราณและเมนูอื่น ๆ มากกว่า 200 เมนู ก่อตั้งโดยครอบครัวเขมสมิทธิ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งเห็นโอกาสจากทำเลดีที่ยังไม่มีร้านอาหารไทยให้คนนั่งทาน
วันนี้ความพิถีพิถันและใส่ใจในการทำอาหารตามต้นตำรับต้นเครื่องถูกถ่ายทอดมายังทายาทรุ่นสองของครอบครัว สืบทอดเสน่ห์ปลายจวักมาจากแม่ หลักการบริหารร้านมาจากพ่อ พร้อมปณิธานอยากสืบสานอาหารอีสานให้คนไทยรุ่นใหม่ได้ทานในนามร้าน ‘หางเครื่อง by ต้นเครื่อง’
ในยุคสมัยที่เกิดวิกฤตโรคระบาดและเศรษฐกิจ แม้ใครต่อใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการทำธุรกิจร้านอาหารช่างท้าทาย แต่ร้านหางเครื่องถือกำเนิดขึ้นด้วยความไม่กลัวเวที ลุยทำธุรกิจด้วยแพสชัน สนุกกับการทำอาหาร เข้าครัวด้วยจังหวะชะ ชะ ช่า สะสมทักษะอย่างครบเครื่องจากต้นเครื่อง แล้วจึงต่อยอดเปิดร้านอาหารที่แซ่บ คั่ก นัว คิดค้นเมนูใหม่ไฉไลไม่แพ้ร้านของครอบครัว
The Cloud ชวน ดีน-ดรัลรัตน์ เขมสมิทธิ์ กิจวิกัย มาจับไมโครโฟนเล่าเรื่องราวการเปิดร้านหางเครื่องที่มีครัวเป็นเวที และขอชวนมิตรรักแฟนคลับร้านต้นเครื่องทุกท่าน มาล้อมวงพร้อมกดไลก์และคล้องพวงมาลัยให้นักธุรกิจสาวรุ่นใหม่ได้ใต้คอมเมนต์

ต้นตำรับอาหารชาววังของต้นเครื่อง
ดนัย และ ปาริชาติ เขมสมิทธิ์ ทำงานเป็นพนักงานประจำในวงการสื่อมาก่อน ทั้งคู่เป็นหนุ่มสายสื่อโทรทัศน์และสาวเอเจนซี่โฆษณาที่อยากลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัวเมื่อ 40 ปีก่อน ในยุคที่ซอยทองหล่อยังโล่ง ไม่ได้เป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์เหมือนทุกวันนี้ และยังไม่มีร้านอาหารไทยสำหรับสังสรรค์นั่งทานในย่านนั้น
ดีน-ดรัลรัตน์ เขมสมิทธิ์ กิจวิกัย เล่าว่า “คุณพ่อคุณแม่ไปทานก๋วยเตี๋ยวตรงข้ามร้านต้นไม้ร้านหนึ่งในซอยทองหล่อ 13 เห็นว่าทำเลดี น่าจะเปิดเป็นร้านอาหารได้ ลูกค้าน่าจะแฮปปี้ เลยขอเช่าที่ตรงร้านต้นไม้เปิดเป็นร้านอาหาร”
เกิดเป็นร้านต้นเครื่อง ร้านอาหารไทยร้านแรกที่ซอยทองหล่อ 13


ต้นเครื่อง แปลว่า หัวหน้าคนครัวในวัง
ปาริชาติ หรือคุณแม่ของดีนเรียนรู้สูตรต้นตำรับอาหารไทยชาววังมาจากคุณทวดและเพื่อนที่เคยทำงานในวัง ด้วยความชอบเข้าครัว และอยากทำอาหารให้ทุกคนเหมือนทานกันเองที่บ้านทำให้คุณแม่อยากเปิดร้านอาหาร หากแวะมาเยี่ยมเยียนที่ร้านต้นเครื่อง จะได้ลิ้มรสอาหารไทยโบราณที่หาทานได้ยาก อย่างข้าวแช่สูตรชาววัง ม้าฮ่อ หมูโสร่ง พระรามลงสรง แสร้งว่า ผักชุด
หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เคยมาชิมอาหารและมอบเกียรติบัตรเชลล์ชวนชิมให้เมนูแนะนำของร้านต้นเครื่อง คือ ห่อหมกขนมครก ซึ่งเป็นเจ้าแรกในไทยที่นำห่อหมกมาหยอดในถาดขนมครก รวมทั้งการันตีความอร่อยให้เมนูอื่น ๆ อย่างยำถวาย แก้งส้มโป๊ะแตก โรตีแกงเนื้อ
ด้วยฝีมือการทำอาหารไทยที่ประณีต พิถีพิถันของคุณแม่ เก็บรายละเอียดของอาหารไทยโบราณทุกเม็ด ข้าวแช่ต้องใส่ใจในส่วนผสมทุกอย่าง การผสมกะปิต้องใส่ใจในคุณภาพวัตถุดิบ น้ำพริกปลาย่างต้องผัดปลาให้หอม ถึงเครื่องถึงเครื่องแกง รสชาติเข้มข้นกลมกล่อม ลูกค้าจึงติดใจอยากกลับมาทานอีกจนร้านเปิดยาวนานมาถึง 41 ปี
เพลงต้นเครื่องเล่าเรื่องธุรกิจ
ดีนเริ่มต้นช่วยครอบครัวดูแลร้านต้นเครื่องหลังเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์
ก่อนการก่อตั้ง (คณะ) หางเครื่องของดีน ร้านต้นเครื่องเป็นดั่งเพลง Duet ต้นแบบ ขับร้องโดยพ่อกับแม่ที่ลูกสาวใช้ฝึกร้องคาราโอเกะ ซึมซับหลักการทำธุรกิจอันเรียบง่าย คือ ใส่ใจ ไม่ทอดทิ้งพนักงาน และรักการเข้าครัว
หนุ่มต้นเครื่อง รับรองไม่ทอดทิ้ง (พ่อ) :
“พ่อสอนว่าเราต้องมีพระเดชพระคุณกับพนักงาน”
คุณพ่อเป็นคนบริหารระบบและระเบียบ ดูแลพนักงานที่ร้าน วิธีคิดที่ดีนได้จากคุณพ่อคือการบริการของร้านอาหารไม่ได้อยู่แค่บนโต๊ะ แต่เริ่มตั้งแต่ทางเข้ารถ ต้อนรับลูกค้า ไปจนถึงการดูแลของพนักงานเสิร์ฟ ความสะอาดของห้องน้ำ ความสะดวกสบายต่าง ๆ ในร้าน
“พ่อดึงเราเข้าประชุม ให้สัมผัสประสบการณ์ว่าการสื่อสารกับพนักงานต้องทำยังไง พนักงานส่วนมากอายุเยอะกว่าเรา เป็นแม่ครัวเก่าแก่ที่อยู่มานาน เราเริ่มจากเข้าไปฟัง เรียนรู้ว่าพูดยังไงให้คนเชื่อ”
การดูแลพนักงานของร้านไม่ได้ดูแลแค่เนื้องานอย่างการเข้าครัวและเสิร์ฟอาหารเท่านั้น แต่ยังดูแลไปถึงชีวิตส่วนตัวอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่องาน เช่น ความสะอาด การดูแลสุขภาพ และหมั่นซักถามพนักงานอยู่เสมอว่า มีปัญหาหรืออยากได้การสนับสนุนอะไรในการทำงานไหม
เพราะดูแลอย่างใส่ใจเหมือนคนในครอบครัวทำให้ช่วงที่ร้านเผชิญวิกฤต เช่น เศรษฐกิจไม่ดี หรือต้องย้ายทำเลร้านเร่งด่วนจากทองหล่อ 13 ไปสุขุมวิท 49 ใน พ.ศ. 2559 พนักงานก็ยังรักใคร่กลมเกลียว พร้อมใจทำงานเป็นทีมเดียวกันเพื่อร้าน
ถ้ารักทำอาหารจริง อย่าทิ้งการเข้าครัว (แม่) :
“แม่สอนว่าเราต้องลงมือทำเอง”
สิ่งที่ดีนจำได้คือคุณแม่มักอยู่หน้าเตา ทำเองตั้งแต่เตรียมของ ขายและส่งอาหาร ปรุงรส ไปจนถึงถ่ายทอดวิชาให้แม่ครัว
เพราะแม่พาเข้าครัวสอนทำอาหารตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอเชื่อว่า “เจ้าของต้องอยู่กับร้าน ต้องเข้าครัวลงครัว ให้พนักงานเห็นว่าเราทำได้นะ ถ้าเราแค่ชิมแล้วชี้นิ้วสั่ง ไม่ได้ลงไปเอง ลูกน้องจะไม่เชื่อเรา เราต้องทำให้ดูว่าเราทำได้ ชิมแล้วรู้ว่าใส่หรือไม่ใส่อะไรลงไป รสชาติเปรี้ยวไป เผ็ดไปไหม ทำให้คนเชื่อมั่นว่าเรารู้จริง สอนเขาได้”
การลงมือทำเองยังช่วยตัดปัญหาจุกจิก เพราะการทำอาหารมีรายละเอียดเยอะ เช่น “สูตรเขียนไว้ว่าต้องใส่มะนาว 1 ลูก แต่วันนี้มะนาวลูกใหญ่ เราเลยเอาแค่หนึ่งซีกพอ เพราะได้น้ำเยอะแล้ว” ต้องหมั่นแชร์เคล็ดลับและความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดให้แม่ครัวในร้านฟัง
ร้านต้นเครื่องยังมีธรรมเนียมประจำคือ การประชุมกับพนักงานทุกคนเพื่อจดบันทึกคำติชมจากลูกค้าลงสมุด “มาแชร์กันว่าจานไหนเค็มไป หวานไป จานไหนรอนาน เพราะบางทีลูกค้าบอกพนักงานเสิร์ฟแต่ในครัวไม่รู้”
สิ่งที่ดีนได้จากคุณแม่มาเต็ม ๆ คือ “การทำร้านอาหารไม่ใช่แค่ทำเพื่อเงิน แต่ต้องใส่ใจลงไปในอาหารแต่ละจานให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด” เมื่อความใส่ใจถูกถ่ายทอดออกไป จะทำให้ลูกค้าอยากกลับมาทานอีก

เพิ่มเติมความ Zaap ที่ทานได้ทุกวัน
หลังจากช่วยครอบครัวดูแลร้านต้นเครื่องอย่างใกล้ชิดทุกวัน ดีนสังเกตว่าพักหลัง ลูกค้าที่มาส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติราว 70 เปอร์เซ็นต์ จึงเกิดคำถามว่า “ทำไมลูกค้าคนไทยน้อยจัง อยากเปิดอีกร้านที่เน้นคนไทยไปเลยเพื่อแยกกลุ่มลูกค้า”
โอกาสที่เล็งเห็นคืออาหารอีสานอย่าง ส้มตำ ยำ ไก่ย่าง คอหมูย่าง เป็นอาหารทานง่ายที่คนไทยทานได้ทุกวัน เธอจึงคุยกับคุณพ่อว่า อยากเปิดร้านอาหารอีสานแซ่บ ๆ ที่นั่งสบาย ทานง่าย มีอาหารหลากหลาย
แม้ช่วงแรกยังกลัวและลังเลอยู่บ้าง แต่ดีนตัดสินใจลงมือทำ เพราะคิดว่าถ้าอยากทำต้องลงมือเลย “เรามีแบรนด์แม่เป็นหลักประกันอยู่ มีความเช่ื่อมั่นจากแบรนด์ร้านต้นเครื่องมายาวนาน ไม่ได้เปิดแบบ No Name คิดว่าอย่างน้อยควรต่อยอดจากที่บ้าน อาจไม่ต้องทำใหญ่โตก็ได้”
เกิดเป็นร้าน ‘หางเครื่อง by ต้นเครื่อง’ มีชื่อต้นเครื่องต่อท้ายเป็นลายเซ็นการันตีความอร่อย ประสบการณ์จากร้านต้นเครื่องที่ช่วยครอบครัวลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทำอาหารไปจนถึงตกแต่งร้านใหม่ช่วงย้ายทำเลร้าน ทำให้ดีนก่อตั้งร้านนี้ได้อย่างราบรื่นขึ้น
เธอลงไปดูเองทั้งหมดตั้งแต่เลือกทำเลที่ตั้งที่ The Connect ซอยพัฒนาการ 44 เก็บรายละเอียดการก่อสร้างในการวางแปลนห้องครัว เพื่อให้ตอบโจทย์การเข้าครัวที่สุด เลือกของตกแต่งในร้านที่สื่อสไตล์อีสานแบบโมเดิร์น คิดค้นสูตรอาหารเองโดยใช้ประสบการณ์จากร้านต้นเครื่องมาใช้
‘by ต้นเครื่อง’ ที่ต่อท้ายชื่อร้านจึงไม่ได้หมายถึงแค่สูตรความอร่อย หรือการเป็นร้านในเครือเดียวกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำธุรกิจที่สั่งสมประสบการณ์ by ร้านต้นเครื่องด้วย


ครบเครื่องเรื่องวัตถุดิบ
หากครกส้มตำคือเวที
ทีเด็ดของอาหารอีสานสไตล์หางเครื่อง คือการยกพลวัตถุดิบขึ้นบรรเลงอย่างครบเครื่องสนั่นเวที
ส้มตำทั่วไปมักใส่เพียงมะเขือเทศสีดา ถั่วฝักยาว ส่วนหางเครื่องใส่ผักอีสานอย่างมะเขือหลากชนิดมาประกอบจังหวะการตำ ทั้งมะเขือเปราะ มะเขือเหลือง มะเขือเครือ แซมผักชีฝรั่ง ผักชีลาว โรยเม็ดกระถินที่หาทานยาก เติมมะกอก บีบมะนาวเป็นเสียงฉิ่งฉาบ ผสานให้มีรสนัวเปรี้ยวนุ่ม ไม่เปรี้ยวแหลมเกินไป
พร้อมกำหนดสูตรอย่างเคร่งครัดว่า เส้นมะละกอต้องฝานบางเท่านี้ ไม่ยาวเป็นสปาเก็ตตี้หรือสั้นเกิน ต้องพอดีสำหรับเคี้ยว ต้องสับมะละกอให้ได้ขนาดและความหนากำลังพอดี เลือกมะละกอไม่ให้แก่เกินไป ต้องแช่เย็นให้กรอบ ไม่เหนียว ห้ามทิ้งไว้ข้างนอกไม่งั้นจะนิ่ม เลือกถั่วฝักยาวปล้องหนากำลังดี และต้องเรียงลำดับการใส่วัตถุดิบเป็นขั้นตอนตามสูตรที่กำหนดไว้ทุกครั้ง ไม่โยนผักลงไปผิดจังหวะ เพื่อป้องกันส้มตำมีรสชาติผิดคีย์
สเปกวัตถุดิบต้องพอดี
ต้องจัดจ้านขนาดนั้น
ต้องกลมกล่อมขนาดนี้ ตำให้แซ่บ คัก นัวกำลังดี จนรู้สึกว่าจานนี้ถูกใจใช่เลย แม้ไม่ใส่ผงชูรสเลยแต่รสเข้มข้นถึงใจ
ดีนย้ำว่า “การชั่ง ตวง วัด สำคัญที่สุดในการทำอาหาร” เป็น 3 มาตรวัดที่สร้างจังหวะการตำให้รสเท่าเทียมกันทุกจาน และสร้างระบบให้ร้านอาหารพร้อมต่อยอดเพิ่มสาขาได้ง่าย “ไม่อยากหวงสูตร แม่ครัวคนอื่นต้องทำอาหารได้ดีเท่าเรา รู้สูตรเหมือนเราไปเลย ไม่งั้นเราทำธุรกิจลำบาก มือแต่ละคนอาจตวงได้ไม่เท่ากัน แต่การมีสูตรทำให้รสชาติบิดได้น้อยกว่าการกะ” ความเป๊ะของการคุมมาตรฐานรสชาติอาหารนี้ เป็นสิ่งที่เธอพัฒนาระบบเพิ่มเติมจากครอบครัว
ส้มตำของหางเครื่องยังมีเมนูที่คิดสูตรใหม่เองอีกด้วย จากร้านต้นเครื่องที่มีเมนูส้มตำทั่วไป อย่างตำไทย ตำปู หางเครื่องเพิ่มเมนูให้พิเศษขึ้น อย่างสูตรตำหลวงพระบางที่ไม่เหมือนใคร มีจุดเริ่มต้นจากการไปกินตำหลวงพระบางมาหลายที่ แต่ยังหาจานที่กลมกล่อมถูกปากไม่ได้ จึงริเริ่มทำสูตรของตัวเองให้รสไม่หวานเกินไป ใช้ปลาร้าต้มสุกสะอาดและกะปิดีไม่มีกลิ่นฉุน
การเตรียมพร้อมหลังครัวอย่างครบเครื่องสุดฝีมือ ทำให้เวลาเปิดร้านจริงไม่ตื่นเวที พร้อมตำส้มตำทุกจานให้กลมกล่อมที่สุด



Esan Fusion และหลากเมนู
ที่เกิดจากการใส่ใจแก้ปัญหา
เมื่อแม่ครัวคุ้นชินกับวัตถุดิบแล้ว ก็มักนึกสนุกหยิบจับนั่นผสมนี่จนเกิดเมนูใหม่
ดีนสังเกตว่าคนเกาหลีที่มาทานร้านต้นเครื่องชอบสั่งตำไทย ประกอบกับซีรีส์เกาหลีกำลังฮิต เธอเห็นคนเกาหลีชอบกินรามยอนกับกิมจิ เลยเอาตำไทยมาผสมกับกิมจิ ตั้งชื่อเมนูว่าตำซามีดา ล้อเสียงกับภาษาเกาหลีคือคัมซามีดาที่แปลว่าขอบคุณ ลองทานแล้วเข้ากันดี มีรสหวานของตำไทยและติดเปรี้ยวของกิมจิ เป็นเมนูที่ทั้งคนเกาหลีและไทยชอบลอง
มีสูตรสไตล์เกาหลีไปแล้ว ก็ต้องไม่ลืมเมนูแบบญี่ปุ่น ยำแซลมอนน้ำปลาร้าวาซาบิ คือยำที่เอาวาซาบิของญี่ปุ่นมาผสมกับน้ำปลาร้าของหางเครื่อง กลายเป็นน้ำยำสไตล์อีสานฟิวชันที่มีเอกลักษณ์ ทานกับแซลมอนซาชิมิแล่บาง ๆ อร่อยเด็ดจนลูกค้าติดใจสั่งซ้ำเยอะ

หลายครั้งที่การคิดค้นสูตรใหม่ของหางเครื่องเกิดจากการแก้ปัญหาอย่างละเอียดในวัตถุดิบ อย่างเมนูเมี่ยงปลานิลเผาดอกเกลือ ดีนสังเกตว่าหลายครั้งมักเจอปลานิลติดกลิ่นโคลน ทำให้ไม่อยากทานเพราะมีกลิ่น วิธีแก้ของเธอคือ “ไปหาปลานิลเลี้ยงในกระชังลอยน้ำที่อยู่ในบ่อน้ำธรรมชาติ ปลาไม่ว่ายลงไปกินอาหารที่พื้นดิน ทำให้ได้เนื้อปลาสด ไม่มีกลิ่นโคลนในเนื้อ ใช้ดอกเกลือเม็ดใหญ่เผาไปด้วย ทำให้ได้ความหอมจากสมุนไพร ทานคู่กับน้ำจิ้มทำเอง 4 ตัว น้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มถั่ว น้ำจิ้มหวาน น้ำจิ้มผักชีเปรี้ยว ๆ”

หากเป็นปลาร้าของร้านก็ต้องผ่านกรรมวิธีรับรองความสะอาด จ้างโรงงานพาสเจอไรซ์ทำโดยเฉพาะ ส่วนข้าวคั่วก็ลงมือทำเองเช่นกัน เพราะเล็งเห็นว่าอาหารอีสานทั้งหลายอย่างพวกลาบน้ำตกต้องมีข้าวคั่วทั้งหมด จึงอยากมีข้าวคั่วที่มีสัมผัสพอดี ไม่ละเอียดเป็นผงเกินไปให้ลูกค้าเคี้ยว คั่วถั่วลิสงให้มีกลิ่นหอมพอดีและไม่ดำจนไหม้เกินไป
แม้บางเมนูไม่ใช่เมนูแปลกใหม่ แต่ก็มั่นใจได้ว่ามีความพิเศษของวัตถุดิบที่คิดมาแล้วในทุกจาน
หมุน Stock ด้วยสารพันเมนูอาหารจานเดียว
หลังจากเปิดร้านมาได้สักพัก ดีนเห็นโอกาสเพิ่มเมนูอาหารจานเดียวเพื่อตอบโจทย์ทางเลือกให้หลากหลายขึ้น “เห็นร้านต้นเครื่องขายกุ้งแม่น้ำ เลยคิดว่าทำไมร้านหางเครื่องไม่เอากุ้งมาขายบ้าง เราเอากุ้งขนาดเล็กลง ราคาย่อมเยาลงมาทำอาหารจานเดียว ให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้น ไม่ต้องเดินทางไกลถึงอยุธยา เราคัดแหล่งวัตถุดิบอย่างดี ครีเอตเมนูกุ้งแม่น้ำหลากหลายมาให้แล้ว”
การเอากุ้งแม่น้ำมารังสรรค์เป็นอาหารหลายเมนู ทำให้ไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบ 1 อย่างเพื่อทำเมนูเดียว ได้หมุนเวียนสต็อกให้เร็วขึ้น ไม่ต้องเก็บวัตถุดิบค้างไว้นาน ทำให้สดใหม่ตลอด กุ้งแม่น้ำสามารถเอาไปใช้ทำเมนูสุดฮิตอย่างข้าวผัดมันกุ้งแม่น้ำที่มีความหอมมันติดไปกับข้าว กุ้งเผา ต้มยำ กุ้งทอดกระเทียม และอีกมากมาย
บางเมนูของหางเครื่องก็ตั้งต้นมาจากต้นเครื่อง เช่น ผัดไทย น้ำพริกลงเรือ พร้อมเพิ่มเติมเมนูทานง่ายอื่น ๆ อย่างกะเพราแห้ง ผัดกะเพราะไข่ข้น กะหล่ำปลีราดไข่ข้น หมูต้มบ๊วย ทุกครั้งที่เลือกทำเมนูใหม่ ดีนจะตั้งคำถามว่าทำอย่างไรให้สูตรมีเอกลักษณ์ แม้เมนูเรียบง่ายอย่างก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ก็จะตั้งคำถามว่า “ทำคั่วไก่ยังไงให้ไม่ใช่คั่วไก่ธรรมดา” ต้องเลือกไก่อย่างไร ผัดอย่างไรให้หอมกระทะ
การเพิ่มเมนูอาหารจานเดียวทำให้ร้านหางเครื่องขายดีมากขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19 และยังได้กลุ่มลูกค้าใหม่ที่ชอบทานอาหารจานเดียวอีกด้วย
เต็มอิ่มทั้งต้นและหางเครื่อง
หลายคนจะคุ้นชินกับชื่อเสียงของต้นเครื่องเรื่องอาหารไทย แต่ความจริงแล้วขนมก็อร่อยไม่แพ้กัน ที่ร้านมีบาร์ขนมหวานเล็ก ๆ ชื่อ Teaspoon ขายกาแฟ เค้ก คาราเมล คัสตาร์ดโฮมเมด เพื่อตอบโจทย์วันสบาย ๆ สำหรับคนที่ทานของคาวแล้วอยากได้ของหวานปิดท้าย
เมื่อดีนเปิดร้านหางเครื่อง เธอจึงทำโมเดลคล้ายกันคือขายขนมหวานด้วย มุมคาเฟ่ภูมิใจนำเสนอกาแฟโบราณ โอเลี้ยง ชาดำเย็น ไอติมกะทิทรงเครื่อง ขนมปังสังขยา ไข่กระทะ ครัวซองต์และเบเกอรี่ต่าง ๆ จุดตั้งต้นในการริเริ่มสิ่งใหม่อย่างของหวาน คือการสังเกตว่าอะไรเติมเต็มประสบการณ์ให้ลูกค้าได้ แล้วเพิ่มสิ่งนั้นให้การมาทานอาหารไทยเต็มอิ่มขึ้น
ท้องอิ่มแล้วก็ต้องนั่งสบาย บรรยากาศของทั้งสองร้านมีความอบอุ่นเหมือนกันแต่ตกแต่งคนละสไตล์ ต้นเครื่องตกแต่งอย่างเรียบง่าย เหมาะแก่การมากินเลี้ยง สังสรรค์เป็นหมู่คณะในวันทั่วไปหรือโอกาสสำคัญ ส่วนหางเครื่องตกแต่งสไตล์โมเดิร์นคล้าย Hidden Oasis ที่ร่มรื่นและประดับด้วยเครื่องจักสาน อย่างเก้าอี้หวาย กระด้ง บรรยากาศกึ่งคาเฟ่ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่อยากมาทานอาหารอร่อยแล้วถ่ายรูปเช็กอิน
ดีนบอกว่าการทำธุรกิจนั้นไม่ได้เริ่มแล้วทุกอย่างเพอร์เฟกต์ทันที “ตอนเปิดร้านวันแรก สูตรอาหารยังไม่คงที่ เราฟังความคิดเห็นจากลูกค้า แล้วเอาคำติชมกลับมาปรับเรื่อย ๆ จนพอดี” ความภาคภูมิใจที่สุดคือ “ดีใจที่ได้ปั้นเองกับมือ ทำให้เวลาเห็นปัญหาจะแก้ได้เลย โดยรวมแล้วปัญหาน้อย เพราะเราอยู่กับธุรกิจเอง”
แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป จาก 40 ปีที่แล้วที่ต้นเครื่องสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยการส่ง SMS ขอเบอร์และเก็บข้อมูลลูกค้าจากการกรอกบัตรสมาชิก มาถึงยุคดิจิทัลของหางเครื่อง ที่ทำการตลาดออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียและส่งอาหารผ่านแอปฯ เดลิเวอรี่ แม้ชื่อร้าน เมนู และบรรยากาศจะแตกต่างกันเล็กน้อย แต่แก่นสำคัญในการทำธุรกิจของทั้งสองร้านเหมือนกัน คือ ทำให้ลูกค้าประทับใจจนอยากกลับมาทานซ้ำ
เหมือนเพลงที่เริ่มบรรเลงคนละยุคสมัย แต่อยากฟังซ้ำเหมือนกัน
อนาคตดีนอยากอยากเปิด Kiosk เล็ก ๆ ของหางเครื่องที่ร้านต้นเครื่อง เพื่อให้ลูกค้าที่มาเยือนซื้อเมนูของอีกร้านกลับบ้านได้ด้วย
